Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 53 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร จัดสัมมนาทางวิชาการ ปอกเปลือก “อุตสาหกรรมวัฒนธรรม” ประจำวัน ณ ห้องประชุม 207 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) โดยในช่วงเช้า มีสัมมนาในหัวข้อ “อุตสาหกรรมวัฒนธรรม: จากแนวคิดถึงนโยบายวัฒนธรรม” นำเสนอโดย ดร.เกษม เพ็ญภินันท์ ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ วิริยะ สว่างโชติ นักวิจัยอิสระ ดำเนินรายการและให้ความเห็นโดย รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล สถาบันศาสนา วัฒนธรรมและสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ


อุตสาหกรรมวัฒนธรรม (culture industry)

ดร.เกษม เพ็ญภินันท์ นำเสนอในหัวข้อ “อุตสาหกรรมวัฒนธรรม: อดอร์โนและหลังจากนั้น” โดยเริ่มต้นจากการทบทวนแนวคิด “อุตสาหกรรมวัฒนธรรม” อันมีฐานคิดมาจากนักคิดคนสำคัญสองคนคือธีโอดอร์ อดอร์โน (Theodor Adorno) กับแม็กซ์ ฮอร์ไคเมอร์ (Max Horkheimer) โดยที่ฐานคิดหลักๆ มาจากอดอร์โน ในหนังสือเล่มสำคัญที่ชื่อ Dialectic of Enlightenment หนังสือซึ่งตีแผ่ “มายาคติของการรู้แจ้ง” และ “การรู้แจ้งที่กลับกลายเป็นมายาคติ” กล่าวคือ การพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่าง “มายาคติ” (myth) กับ “การรู้แจ้ง” (enlightenment) อันมีความสัมพันธ์คือ มนุษย์เคลื่อนย้ายการอธิบายโลกจากที่เคยเชื่อเรื่องของตำนาน เทพนิยายปรัมปรา อำนาจเหนือธรรมชาติต่างๆ มาสู่การที่มนุษย์สามารถ “รู้แจ้ง” ด้วยการใช้เหตุผล แต่ต่อมา ปรากฏว่าการรู้แจ้งของมนุษย์กลับกลายเป็นมายาคติซึ่งกลับมาควบคุมมนุษย์เอง ในศตวรรษที่ยี่สิบพบว่ามนุษย์เคลื่อนไปสู่ความป่าเถื่อนครั้งใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวโดยนาซี นักคิดทั้งคู่จึงเริ่มกลับมาดูประวัติศาสตร์มนุษยชาติใหม่ โดยมุ่งพิจารณาไปที่การควบคุมธรรมชาติและการจัดการกับสภาพแวดล้อมของมนุษย์ ซึ่งพบว่าสิ่งที่ทำให้มนุษย์กลับมาสู่ความป่าเถื่อนอีกครั้งหนึ่งคือชุดของระบบเหตุผล ในแง่ที่เหตุผลกลายไปเป็นเครื่องมือ (instrumental reason) ปรากฏการณ์สำคัญสองอันที่นักคิดทั้งสองท่านวิเคราะห์การที่เหตุผลถูกลดทอนเป็นเครื่องมือ อย่างแรกคือ การขึ้นมาของลัทธิฟาสซิสม์ (fascism) และ สอง ความคิดเรื่องอุตสาหกรรมวัฒนธรรม (culture industry)

ผู้นำเสนอกล่าวถึงนิยามของ “อุตสาหกรรมวัฒนธรรม” ว่าหมายความถึง กระบวนการผลิตอย่างเป็นอุตสาหกรรมของสิ่งต่างๆ ตั้งแต่สินค้าไปจนถึงความเคยชินในการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งมีความสัมพันธ์ระหว่างผลิตภัณฑ์ต่างๆ และการล่อลวงมวลชนที่ทำให้เป็นลักษณะทางวัฒนธรรม โดยกล่าวเสริมว่า สำหรับอดอร์โนและฮอร์ไคเมอร์ อุตสาหกรรมวัฒนธรรมไม่ได้หมายถึงการทำวัฒนธรรมให้เป็นอุตสาหกรรม แต่หมายถึงวิธีคิดหรือวิธีจัดการกระบวนการผลิตทั้งหมดมีลักษณะที่เป็นอุตสาหกรรม กระบวนการผลิตที่ไม่ได้ผลิตแค่ของแต่ละชิ้น ทีละชิ้นๆ แต่เป็นกระบวนการผลิตแบบจำนวนมาก (mass) ทำให้สินค้าแพร่กระจายไปในตลาดในสังคม แล้วทุกคนก็ต่างบริโภค ซึ่งการบริโภคหรือการใช้สินค้าที่มีลักษณะมวลชนเหล่านี้มันหล่อหลอมให้ทุกคนคิดว่ามีลักษณะของการใช้สินค้าที่คล้ายหรือเหมือนกัน มีลักษณะการใช้ชีวิตที่เหมือนกัน และทุกคนสามารถจะเหมือนกันหรือคล้ายกันได้ กล่าวคือ “เป็นการหล่อหลอมความเป็นวัฒนธรรมให้เกิดขึ้น ซึ่งวัฒนธรรมในแง่นี้หมายถึงสิ่งที่ผูกโยงเข้ากับลักษณะของการใช้ชีวิต”

ไม่เพียงแต่การบริโภคในตัวเองอย่างเดียวที่ทำให้ลักษณะทางวัฒนธรรมเกิดขึ้นได้ แต่ต้องพิจารณารวมถึงอิทธิพลต่างๆ โดยเฉพาะอิทธิพลของสื่อด้วย ซึ่ง ดร.เกษม กล่าวถึงอดอร์โนว่าได้พูดถึงสื่อไว้อยู่มาก เป็นต้นว่า “ชีวิตของผู้คน รูปแบบการดำรงชีวิตของผู้คนไม่ได้ต่างจากสิ่งที่เห็นผ่านสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ภาพยนตร์ หรือโทรทัศน์ สิ่งเหล่านี้สำหรับอดอร์โนและฮอร์ไคเมอร์ คือ การล่อลวงมวลชน (mass deception) นี่คือการล่อลวงที่ผู้คนใช้ชีวิตไม่ได้แตกต่างกัน”

“แนวคิดอุตสาหกรรมวัฒนธรรม เป็นประเด็นที่ไม่ได้เกิดขึ้นมาเพื่อวิเคราะห์ปรากฏการณ์ทางสังคมวัฒนธรรมของระบบทุนนิยม แต่ต้องการตั้งคำถามในเชิงวิพากษ์ และอธิบายการแปรสภาพของสังคมในระบบทุนนิยม พูดง่ายๆ ว่าต้องการกระแทกหรือวิพากษ์สิ่งที่เป็นพลวัตในสังคมทุนนิยมเอง ซึ่งนำไปสู่ภาวะที่เรียกว่าความถดถอยของมนุษยชาติ” ดร.เกษม กล่าว

อุตสาหกรรมวัฒนธรรมหลังอดอร์โนและอุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรม (cultural industries)
ดร.เกษม กล่าวต่อมาถึงประเด็นหลักที่พบในงานจำนวนมากที่นำงานของอดอร์โนมาใช้ว่าประกอบไปด้วย กรณีแรก ความเข้าใจต่อแนวคิดหรือคอนเซ็ปต์เรื่องวัฒนธรรมที่แตกต่างนำไปสู่การตีความใหม่เกี่ยวกับเนื้อหาทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะกระบวนการลอกเลียนแบบหรือแบบแผนต่างๆ ที่พยายามจะสร้าง กรณีที่สอง การเชื่อมโยงระหว่างสินค้ากับสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับสินค้านั้นให้เกิดขึ้นและสัมพันธ์กันจนปฏิเสธความสำคัญของสินค้าอีกอันหนึ่งไม่ได้ เช่น อาหารบางชนิดต้องทานคู่กับเครื่องดื่มบางชนิดจึงจะอร่อยขึ้น เป็นต้น กรณีที่สาม การสร้างภาพลักษณ์และสามัญสำนึกของผู้คนต่อสิ่งที่รับรู้ เพื่อให้ยอมรับความน่าเชื่อถือหรือเชื่อว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเช่นนั้นจริงๆ เช่น กรณีของเจ้าหญิงไดอาน่า และสี่ การวิพากษ์บทบาทของสื่อผ่านการเผยข้อเท็จจริงที่สื่อทำ เพราะด้านหนึ่ง สิ่งที่สื่อทำนั้นเป็นดราม่าอย่างมากเพื่อที่จะขายได้

หลังจากแนวคิดของอดอร์โนแพร่หลายไป เบอร์นาร์ด มีแอจ (Bernard Miège) นักทฤษฎีสำคัญทางด้านสื่อศึกษา (media studies) เสนอการกลับมาคิดถึงด้านบวกของแนวคิด “อุตสาหกรรมวัฒนธรรม” ของอดอร์โนและฮอร์ไคเมอร์ โดยเสนอแนวคิดเรื่อง “อุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรม” (cultural industries) ซึ่งเปลี่ยนจากมุมมองเชิงวิพากษ์ไปสู่แง่มุมเชิงสร้างสรรค์ หรือกล่าวได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงทรรศนะต่อวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ในสังคมร่วมสมัยจากความถดถอยหรือความผุกร่อนของคุณค่าอันดีงามของวัฒนธรรมที่เป็นมรดกทางความคิดในยุคการรู้แจ้ง มาสู่การสร้างสรรค์เชิงมูลค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมก่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการสร้างคุณค่าทางวัฒนธรรมให้เกิดขึ้นผ่านการผลิตและบริโภคผลิตภัณฑ์นั้นๆ ในทำนองเดียวกัน ดร.เกษม กล่าวสรุปแนวคิด อุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรม ว่าหมายถึง “การนำเอาคุณค่าทางวัฒนธรรมมาผนวกเข้ากับมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเติบโตผ่านผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม หรือสินค้าที่แฝงลักษณะทางวัฒนธรรมเข้าไป”

เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ (creative economy)
ดร.เกษม กล่าวว่าความคิดเกี่ยวกับ “เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์” เป็นความคิดซึ่งต่อยอดมาจากพลวัตของการผสมกลมกลืนระหว่างความคิดเรื่อง ความหลากหลายทางวัฒนธรรม (cultural diversity), อุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรม, และมรดกโลก (world heritage) โดยที่ความคิดเรื่องมรดกโลกยังอยู่ ขณะที่ความหลากหลายทางวัฒนธรรมกับอุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรมนั้นผสมผสานกันจนนำมาสู่ความคิดเรื่อง “เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์” ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นภาคต่อของอุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรมในเชิงนโยบาย โดยวิธีการคือมุ่งไปที่การสร้างสรรค์ที่มีอยู่ในสังคมนั้นเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ

ส่วน “อุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์” ดร.เกษม กล่าวว่า (ในความหมายที่ยูเนสโกใช้ด้วยนั้น) หมายถึง การจัดวางนโยบายที่เน้นมูลค่าทางเศรษฐกิจ และการผลิตผลิตภัณฑ์เชิงวัฒนธรรมเพื่อให้เป็นอุตสาหกรรม มีเป้าหมายคือเพื่อตอบโจทย์เรื่องความมั่งคั่งของประเทศ เรื่องการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยเชื่อว่าความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ดังกล่าวจะทำให้คุณภาพชีวิตของคนในสังคมดีขึ้น เพราะจะสามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความไม่เสมอภาคทางสังคมและเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจได้

ในตอนท้าย ดร.เกษม กล่าวสรุปถึงลักษณะสำคัญของเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์สามประการ ประกอบไปด้วย ประการแรก เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์เป็นเรื่องที่โยงกับการดำเนินชีวิต เพราะความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่อยู่กับตัวมนุษย์ ถ้ามีการผลิตสิ่งที่สร้างสรรค์ออกมาได้จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ประการที่สอง องค์ประกอบต่างๆ ที่เกี่ยวกับการสร้างสรรค์เป็นเรื่องขององค์กร เรื่องคุณค่าทางสังคมและเศรษฐกิจ และยังเป็นการสร้างอัตลักษณ์ สร้างบุคลิกลักษณะบางอย่างด้วย และ ประการที่สาม การสร้างสรรค์ไม่ได้เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลอย่างเดียวแต่เป็นเรื่องของสังคมและองค์กรที่จะสนับสนุนให้เกิดขึ้น การขับเคลื่อนเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์จึงเป็นมิติเชิงนโยบาย โดยที่รัฐและภาคส่วนต่างๆ ในสังคมมีส่วนร่วมกันขับเคลื่อน ไม่ได้มีแต่รัฐที่เป็นผู้เริ่มต้นผลักดันแต่อย่างใด

บทสำรวจนโยบายอุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรม
วิริยะ สว่างโชติ เท้าความถึงช่วงที่เริ่มทำวิจัยชิ้นนี้ว่าตอนแรกเมื่อไปค้นเอกสารนั้นไม่พบคำว่า “นโยบายอุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรม” (cultural industries policy) ตรงๆ จึงย้อนกลับไปดูที่คนผลิตนโยบาย ซึ่งก็คือรัฐและ/หรือรัฐบาล จากการสำรวจเอกสาร วิริยะ พบว่าประเทศที่พูดถึงเรื่องนโยบายอุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรมประเทศแรกๆ คืออังกฤษ แต่ก็ไม่ได้ใช้คำว่านโยบายสาธารณะ แต่ใช้คำว่านโยบายศิลปะ โดยประกาศใช้ครั้งแรกในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

เขากล่าวต่อมาว่า ในปี 1945 หรือก่อนสงครามโลกครั้งที่สองยุติ กิจกรรมทางศิลปะ-วัฒนธรรมที่อังกฤษสนใจมีเพียงห้องสมุดกับพิพิธภัณฑ์ พอหลังสงครามโลกครั้งที่สองรัฐเข้ามาในส่วนนี้มากขึ้น โดยมีเหตุผลสำคัญคือการฟื้นฟูประเทศ ฟื้นฟูสภาพโครงสร้างพื้นฐานทั่วไปจากสงคราม ซึ่งรัฐบอกว่าฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องเข้ามาบริหารจัดการกิจกรรมทางวัฒนธรรมด้วย

ขณะที่ก่อนหน้านั้น ในอังกฤษมีสภาศิลปะ (Arts council) ซึ่งถูกตั้งขึ้น (ก่อนกระทรวงศิลปะ) โดย จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes) นักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญที่ผลักดันให้รัฐสนับสนุนศิลปะ แต่สภาศิลปะมุ่งสนับสนุนแต่ศิลปะชั้นสูง ในแง่นี้เงินที่รัฐสนับสนุนก็ไปสนับสนุนเพียงศิลปะชั้นสูง หลังจากสภาศิลปะมีบทบาทอยู่ราว 10 ปีก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องดังกล่าว ซึ่งบทบาทของรัฐบาลควรจะดูแลคนข้างล่างในส่วนของกิจกรรมศิลปะด้วย จึงเป็นผลให้พรรคแรงงานไม่ค่อยพอใจสภาศิลปะและตั้งกระทรวงศิลปวัฒนธรรมขึ้นมาคานอำนาจในที่สุด นอกจากนั้น พรรคแรงงานซึ่งมุ่งดำเนินนโยบายด้านสวัสดิการสังคมก็มองการสนับสนุนกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมในมุมมองแบบเดียวกับการพัฒนาการให้บริการสาธารณะพื้นฐาน

วิริยะ กล่าวถึงพัฒนาการต่อมาว่า ในช่วงยุค 1960-1970 พร้อมๆ ไปกับปรากฏการณ์การเติบโตของวงดนตรี เดอะ บีทเทิ่ลส์ (The Beatles) พรรคแรงงานเริ่มให้เงินสนับสนุนส่วนอื่นๆ เพิ่มเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นสถาบันด้านการบันทึกเสียง สถาบันด้านสื่อภาพยนตร์ จนอาจกล่าวได้ว่าแนวคิดเรื่องนโยบายศิลปะได้เปลี่ยนไปสู่แนวคิดเรื่องนโยบายวัฒนธรรม อันมีกลุ่มองค์กรแรกๆ ที่กล่าวถึงเรื่องนโยบายวัฒนธรรมคือ ยูเนสโก ในช่วงประมาณตั้งแต่ปี 1968 เป็นต้นมา ยูเนสโกให้ทุนสนับสนุนศิลปวัฒนธรรมไปทั่วโลก โดยมีนักวิชาการชาวอังกฤษคนสำคัญที่เข้าไปเกี่ยวข้องคือ ริชาร์ด ฮอกการ์ต (Richard Hoggart) ผู้ซึ่งมีมุมมองในการให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมสมัยนิยม (popular culture) เพราะเป็นวัฒนธรรมที่เข้าถึงกิจกรรมการใช้ชีวิตของผู้คน

อย่างไรก็ดี วิริยะ กล่าวว่า ในขณะนั้นก็มีข้อวิพากษ์วิจารณ์อยู่มาก เป็นต้นว่า การกล่าวว่างานของยูเนสโกไปวางบทบาทให้รัฐเข้ามาบริหารจัดการอย่างสำคัญมาก มองรัฐดีเกินไปในการจัดการทางวัฒนธรรม รวมถึงมีงานของคนอย่าง เบอร์นาร์ด มีแอจ ที่ทั้งวิจารณ์ยูเนสโกและวิจารณ์ความคิดของธีโอดอร์ อดอร์โนด้วย ถึงกระนั้น วิริยะ ยังเห็นว่าบทบาทของยูเนสโกมีอยู่ค่อนข้างมากในเรื่องนโยบายวัฒนธรรม เช่น การเกิดขึ้นของหอภาพยนตร์ การเกิดขึ้นของศูนย์วัฒนธรรมหรือคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติในหลายๆ ประเทศ เป็นต้น

ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจกับเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์
“ในช่วงทศวรรษที่ 1970-80 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ รัฐสวัสดิการล่มสลายในยุโรป แต่อุตสาหกรรมวัฒนธรรมไม่ได้ตก อุตสาหกรรมดนตรี อุตสาหกรรมภาพยนตร์โตมาก กลายเป็นว่าอุตสาหกรรมวัฒนธรรมซึ่งแม้จะอยู่ในตลาดนั้นไม่ได้รับผลกระทบ มันไม่ตกแถมยังโตขึ้น การจ้างแรงงานมากขึ้นด้วย ส่วนในช่วงทศวรรษที่ 80-90 เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว รัฐจึงเริ่มมองว่าจะเข้าไปจัดการอย่างไรดี จะดึงความสำคัญขึ้นมาอย่างไร โดยเริ่มพูดถึงในเชิงนโยบาย รัฐจึงมีบทบาทมากขึ้น หรือโดยสรุปก็คือ บทบาทของรัฐบาลเปลี่ยน จากรุ่นแรกที่มองว่าอยู่ในแนวคิดนโยบายสาธารณะ (public policy) ไปสู่นโยบายเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจ (economic development policy) การจ้างงาน การสร้างอัตราการเจริญเติบโต ส่วนบทบาทของรัฐในช่วง 20 ปีหลัง นโยบายทางด้านวัฒนธรรมหรือนโยบายที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรมหรือที่ปัจจุบันเรียกกันว่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์กลายเป็นนโยบายที่ถูกชูขึ้นเป็นหลัก .. ซึ่งพบเห็นมากมายทั้งในอังกฤษ แคนาดา ออสเตรเลีย จนมาถึงเกาหลีใต้” วิริยะ กล่าวสรุปพัฒนาการแนวคิดเรื่องอุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรม

“ตัวแบบ (model) เหล่านี้กระจายตัวไปทั่วทุกหัวระแหง ตั้งแต่อังกฤษยันจาไมก้า ผมเพิ่งอ่านหนังสือเล่มหนึ่งที่ศึกษาเร็กเก้ในจาไมก้า เขาบอกว่าในปีหนึ่งๆ มีการแสดงดนตรีเร็กเก้ที่เก็บค่าตั๋วเป็นหมื่นกว่าครั้ง” ก่อนที่จะกล่าวจบโดยสามารถเรียกเสียงหัวเราะได้จากผู้ชมผู้ฟังด้วยว่า “ถ้าคุณคิดว่าเร็กเก้เป็นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของรัฐบาล คุณต้องให้เงินสนับสนุนในการทำไร่กัญชาด้วย”


นโยบายวัฒนธรรม นโยบายหาเงินเข้าประเทศ? วัฒนธรรมใคร? วัฒนธรรมจะไปทางไหน?

รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล กล่าวว่า เมื่อพูดถึงนโยบายวัฒนธรรม พูดแล้วอาจแสลงใจเพราะว่านโยบายวัฒนธรรมในทางหนึ่งก็คือนโยบายหาสตางค์เข้าประเทศ ถึงกระนั้น รศ.ดร.ไชยันต์ เสนอให้คิดถึงว่านโนบายวัฒนธรรมควรจะไปในทิศทางไหน โดยมีประเด็นให้พิจารณาสองประเด็น ประกอบด้วย หนึ่ง วัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจกับความสำคัญของวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับด้านจิตใจ และสอง เมื่อทบทวนพิจารณานโยบายวัฒนธรรมของประเทศต่างๆ พบว่าเป็นการปะทะถกเถียงกันของแนวคิด

ประเด็นแรก ในส่วนของวัฒนธรรมที่โยงเรื่องปากเรื่องท้องหรือเศรษฐกิจ รศ.ดร. ไชยันต์ กล่าวว่า จากสิ่งที่ผู้เสนอทั้งสองท่านกล่าวไปแล้วว่ายูเนสโกที่ชอบพูดเรื่องการพัฒนาศิลปวัฒนธรรม ตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่มีคนวิจารณ์อยู่มากว่าการผลักดันให้เอาภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาชาวบ้าน หรือวัฒนธรรมต่างๆ มาสร้างมูลค่าเชิงเศรษฐกิจนั้น โดยเฉพาะการผลักดันในประเทศกำลังพัฒนา ไม่ค่อยนำไปสู่ผลงอกเงยทางเศรษฐกิจอะไรเลย ซึ่งประเทศไทยก็เคยรับความคิดนี้และยังมีอยู่ แต่ก็ไม่เกิดผลอะไร และรวมไปถึงประเด็นเรื่องลิขสิทธิ์ เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา มันก็ไม่สามารถผลักดันได้ดังที่ยูเนสโกตั้งไว้ ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง ประเด็นเรื่องการพยายามโยงเรื่องวัฒนธรรมไปกับความเจริญรุ่งเรืองทางจิตใจ ประเด็นนี้คุณวิริยะได้แสดงให้เห็นแล้วว่าก็มีความไม่ลงรอย มีความเข้าใจที่ไม่ตรงกันในเรื่องวัฒนธรรมอยู่ ดังกรณีของสภาศิลปะ (ในอังกฤษ) ที่มุ่งไปสู่ศิลปะชั้นสูง หรือวัฒนธรรมของคนชั้นสูง

รศ.ดร.ไชยันต์ กล่าวต่อมาว่า สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ การถกเถียงว่าจะดึงจะพาวัฒนธรรมไปทางไหน ในบทความของคุณวิริยะแสดงให้เห็นลักษณะเฉพาะของอุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรมในประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในอังกฤษ ในกรณีของแคนาดาที่ใช้อุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรมในแง่ที่ต่อต้านหรือพยายามหลีกหนีวัฒนธรรมอเมริกัน กรณีของออสเตรเลียภายใต้ความรู้สึกอ่อนด้อยทางวัฒนธรรมต่ออังกฤษ ก็มีการสร้างโอเปราเฮาส์ หรือประเด็นการส่งเสริมความหลากหลายของชนพื้นเมืองในระยะหลัง เป็นต้น รวมไปถึงกรณีของเกาหลีใต้ซึ่งมีการส่งออกสินค้าวัฒนธรรมซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากดังที่ทราบกันในปัจจุบัน “การที่ฮุนไดจะไปแข่งกับโตโยต้าก็แข่งกันไป จะซัมซุงอะไรก็แข่งกันไป แต่สำหรับอันนี้ (อุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรม) นี่เหนือกว่าญี่ปุ่นไปแล้ว”

รศ.ดร. ไชยันต์ เสนอให้คิดต่อไปว่า ไม่เพียงแต่จะคิดเรื่องการหาเงินหาทองเข้าประเทศจากเรื่องวัฒนธรรม แต่ควรต้องถามต่อไปเพื่อพิจารณาถึงสิ่งที่เรียกว่า “วัฒนธรรมไทย” คืออะไร? การผลักดันเรื่องอุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรมหรือเศรษฐกิจสร้างสรรค์มีความหมายอย่างไรต่อประเทศไทย? จะสร้างความเจริญงอกงามทางจิตใจจากอะไร?

“ผมอยู่เชียงใหม่ คนสารภีในอำเภอที่ผมอยู่ ไม่เคยดูโขนเลย ไม่รู้จักเลย ยิ่งไปแม่ฮ่องสอน แพร่ น่าน ลำปาง เขาไม่รู้จัก ไม่สนใจ และผมคิดว่าภาคอีสานก็เหมือนกัน ในทำนองเดียวกัน การที่เขาไม่รู้จักโขนก็มากเท่าๆ กับที่เขาไม่รู้จักมโนราห์ และในทำนองกลับกัน .. ทีนี้ จะทำอย่างไรต่อลักษณะจำเพาะของวัฒนธรรม ในแต่ละเขต ในแต่ละถิ่น แล้วเราจะให้มาร่วมวงทางจิตใจกันได้อย่างไร?”

“ไม่ว่าเราจะคิดอะไร นโยบายทางวัฒนธรรมจะไปทางไหน มันมีตัวอย่างให้เราสามารถเรียนรู้ได้ ทั้งความขัดแย้ง ข้อถกเถียง และทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว” รศ.ดร. ไชยันต์ ให้ข้อคิดเห็นส่งท้าย


อุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรมไทยจะไปถึงไหนกัน?

ในช่วงท้ายสุด ดร.เกษม วิจารณ์อุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรมของไทยว่า “กรณีของไทยมีปัญหามากกว่า เพราะ หนึ่ง คุณคิดอะไรไม่ได้นอกจากขายของเก่ากิน (ผู้ฟังหัวเราะ) อย่างน้อย จินตนาการทางวัฒนธรรมที่จะบอกว่าอะไรเป็นอะไรคุณก็ไม่มีแล้ว อันที่สอง ซึ่งอาจกระทบต่อนโยบายของคุณทักษิณโดยตรง เวลาพูดถึงครัวไทยเป็นครัวโลก หรือกรุงเทพฯเมืองแฟชั่น พื้นฐานในแง่ที่จะไปส่งเสริมมูลค่าทางเศรษฐกิจมันไม่มี เราคิดว่ากรุงเทพฯ เป็นเหมือนปารีสหรือมิลาน แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่”

ขณะที่ วิริยะ กล่าวถึงแนวโน้มที่เป็นไปได้สำหรับเรื่องแฟชั่นว่าน่าจะไปส่งเสริมสิ่งที่เรียกว่า “สตรีทแฟชั่น” (street fashion; แฟชั่นที่มาจากผู้คนทั่วๆ ไปที่เดินถนน ไม่ได้ถูกกำหนดอย่างเบ็ดเสร็จมาจากนิตยสารแฟชั่นหรือสตูดิโอเสื้อผ้าที่มีชื่อเสียง-ประชาไท) “เรามีสตรีทแฟชั่นอยู่ทุกหัวระแหงในกรุงเทพฯ .. เรามีแรงงานทางด้านสิ่งทอที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน .. เรามีตลาดส่งออกสำคัญอย่างจตุจักร .. แล้วสตรีทแฟชั่นในกรุงเทพฯ แฟชั่นตามข้างถนนในกรุงเทพฯ คือโอท็อป ไม่ต้องคิดไปปั้นหม้อปั้นอะไร .. พอดีผมทำงานวิจัยกับนักสังคมวิทยาวัฒนธรรมจากมิลาน เขามาศึกษาเรื่องแฟชั่นในกรุงเทพฯ เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องโมเดลจากมิลานหรอกครับ มิลานเอาโมเดลเราไปแล้ว”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net