Skip to main content
sharethis

 

25 ส.ค. 53 - ที่บริเวณหน้าโรงแรมไดมอนด์พลาซ่า อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี มีชาวบ้านประมาณ 800 คน จากตัวแทน 16 เครือข่ายองค์กรภาคเอกชนภาคใต้ที่ร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ชุมนุมบริเวณหน้าโรงแรมพร้อมชูป้ายผ้าคัดค้านการประชุมสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อ(ร่าง)แผนแม่บทรองรับ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ พ.ศ. 2553-2562 ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมไดมอนด์

ตามสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฐานะหน่วยงานหลักของประเทศ ในการดำเนินการตามอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในส่วนของภาคใต้และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ รวม 15 จังหวัด

ขณะที่ในห้องประชุมแผนแม่บทมีตัวแทน นักวิชาการและองค์กรภาคเอกชนเข้าร่วมประชุมประมาณ 100 คน กำลังดำเนินการประชุมในช่วงแรก โดยมีนายจิรวัช สิงห์ดี รอง ผวจ.สุราษฎร์ธานี เป็นประธานในพิธีเปิดต้องดำเนินการไปอย่างเร่งรีบก่อนที่จะปล่อยให้มีการประชุมในส่วนของนักวิชาการ

ในขณะที่ผู้ชุมนุมได้ชูป้ายผ้าแสดงข้อความต่าง ๆ ไม่เห็นด้วยโดยเฉพาะเกี่ยวกับอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แผนพัฒนาภาคใต้ที่มีอุตสาหกรรมเหล็ก ปิโตรเคมี ที่รัฐบาลอ้างเป็นการนำร่องพัฒนาก็ตาม ผู้ชุมนุมอ้างว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานไฟฟ้าและทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง ทำให้สูญเสียงบประมาณจำนวนมากและมีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะคนในพื้นที่ต้องแลกกับความเสี่ยงกัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้าและกากนิวเคลียร์

โดยผู้ชุมนุมได้เรียกร้องให้หยุดการดำเนินงาน และทบทวนการร่างแม่บทดังกล่าว และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นหรือเสนอแนะต่อการดำเนินการ

ออกแถลงการณ์ค้าน ย้ำกระบวนการไม่โปร่งใส

ทั้งนี้ความเห็นของ 16 องค์กรภาคประชาชนใต้ที่ออกมาคัดค้านแผนแม่บทนี้นั้นได้ให้เหตุผลว่า ตามที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดทำ (ร่าง) แผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ พ.ศ.2553-2562  (พฤษภาคม 2552) โดยใช้งบประมาณเบื้องต้น 9,942 ล้านบาท  เครือข่ายประชาชนภาคใต้มีความเห็นร่วมกันต่อกระบวนการจัดทำร่างแผนแม่บทฯ แนวคิดและเนื้อหาของแผนแม่บทฯ และโครงการต่างๆที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทฯ ดังนี้ 

1) กระบวนการจัดทำร่างแผนแม่บทฯ
เป็นร่างแผนแม่บทที่ไม่มีความโปร่งใสในการจัดทำร่างแผนแม่บทฯ ที่ให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ   และผู้มีส่วนได้เสีย มีส่วนร่วมในการจัดทำร่างแผนแม่บทฯ 
การจัดทำร่างแผนแม่บทฯจัดทำโดยเฉพาะส่วนราชการ นักวิชาการและองค์กรเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง  แต่ประชาชนคนยากจน ผู้ด้อยโอกาสในสังคม และคนไทยส่วนใหญ่ ไม่ได้รับรู้ข้อมูลอย่างเข้าใจและมีส่วนร่วมในการจัดทำร่างแผนแม่บทฯ และพัฒนาโครงการต่างๆ
ร่างแผนแม่บทฯ จึงมีเนื้อหาและข้อเสนอของโครงการที่ไม่นำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สาเหตุของปัญหา แต่ไปเน้นการซื้อขายคาร์บอน ที่จะได้เงินจากกองทุนต่างๆมาพัฒนาโครงการ  

ดังนั้นเครือข่ายประชาชนภาคใต้ไม่เห็นด้วยกับร่างแผนแม่บทฯทั้งฉบับ  จนกว่าจะผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการจัดทำแนวคิด เนื้อหา และโครงการทั้งหมด เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของโลกร้อนที่มาจากทิศทางการพัฒนาประเทศของการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่  การส่งเสริมให้ภาคเอกชนและภาครัฐลงทุนการปลูกป่าซื้อขายคาร์บอนเครดิต และละเลยการแก้ไขปัญหาของชาวประมงพื้นบ้าน และเกษตรกรรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงใจ และต้องมีการทบทวนแผนแม่บทฯทุกๆ 2 ปี

2) แนวคิด เนื้อหา และโครงการของร่างแผนแม่บทฯ
งานศึกษาของสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่สังเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องและจัดทำร่างแผนแม่บทฯ ได้ชี้ให้เห็นของสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างชัดเจนว่าประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจก 3 ชนิดหลัก ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และไนตรัสออกไซด์    ตามข้อมูลของสถาบันทรัพยากรโลก หรือ World Resources Institute (WRI) ในปี พ.ศ. 2548 ภาคเศรษฐกิจของไทยที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด ได้แก่
• ภาคพลังงานและอุตสาหกรรม ซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันคิดเป็นร้อยละ 72.47 โดยปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2 เป็นหลัก
• ถัดมาคือภาคการเกษตร ซึ่งปล่อยก๊าซมีเทน และไนตรัสออกไซด์เป็นหลัก คิดเป็นร้อยละ 25.28 ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของไทย
• และสุดท้ายคือกิจกรรมกำจัดของเสียและสิ่งปฏิกูลซึ่งปล่อยก๊าซมีเทนและ CO2 คิดเป็นร้อยละ 2.3 ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด
ในร่างแผนแม่บทฯ ได้สรุปประเด็นยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานงานไว้ดังนี้
 ยุทธศาสตร์ที่ 1 ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องปรับตัวต่อความเสี่ยงและผลกระทบ ที่อาจจะเกิดต่อฐานทรัพยากร และต่อระบบนิเวศน์และภาคเศรษฐกิจต่างๆ โดยให้ความสำคัญต่อแนวทางการรักษาความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงในภาคการเกษตร การท่องเที่ยว การบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ และการเตรียมความพร้อมด้านการสาธารณสุข 
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การมีส่วนร่วมกับประชาคมโลกในการบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งจากมุมมองของการเป็นสมาชิกที่ดีของประชาคมโลก และการรักษาความสามารถในการแข่งขันทางการค้าและการท่องเที่ยว ประเทศไทยต้องเพิ่มศักยภาพและโอกาสให้แก่ภาคเศรษฐกิจรายสาขา ให้สามารถเป็นหนึ่งในผู้นำในภูมิภาคในการเข้าสู่การผลิตคาร์บอนต่ำ ให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และดำรง การผลิตอย่างยั่งยืนภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การจัดการกับปัญหาดังกล่าว ต้องมีการบูรณาการเฝ้าระวังการป้องกัน และการจัดการปัญหา ที่ต้องอาศัยความร่วมมือและการทำงานร่วมกันของหลายหน่วยงาน

แต่เมื่อมาพิจารณาแผนงานและโครงการแล้ว  เครือข่ายประชาชนภาคใต้มีความเห็นว่าไม่ได้นำไปสู่การแก้ไขปัญหาโลกร้อนที่ต้นเหตุ  และสร้างความไม่เป็นธรรมต่อชาวประมงพื้นบ้าน เกษตรกรรายย่อย และชุมชนที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมและพลังงานขนาดใหญ่  ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  และผลกระทบจากการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้น   เครือข่ายฯจึงมีข้อคิดเห็นและข้อเสนอดังนี้
1) แผนงานและโครงการที่เกี่ยวกับ REDD ในการใช้กลไกการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเพื่อการปลูกป่า  ไม่ได้นำไปสู่การแก้ไขปัญหาสิทธิของประชาชนและชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ป่า และได้รับผลกระทบจากคดีเพ่งและคดีอาญา   ข้อหาชาวบ้านบุกรุกทำลายป่าอันเป็นสาเหตุทำให้โลกร้อน เช่น กรณีชาวบ้านเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด จ.ตรัง ซึ่งทำกินในพื้นที่ดั้งเดิมที่ตกทอดมรดกมา  แต่ต้องเสียค่าชดใช้ให้แก่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นจำนวนเงินกว่าล้านบาท  ในทางตรงกันข้ามโครงการที่ระบุในร่างแผนแม่บทฯ ได้ให้หน่วยงานของรัฐ เช่น กรมอุทยานฯและกรมป่าไม้เป็นผู้ดำเนินการโครงการทั้งการปลูกป่า และพื้นฟูป่า  ทั้งที่ประสบการณ์ของประเทศไทยสรุปได้ว่าหน่วยงานของรัฐและภาคธุรกิจเอกชนไม่สามารถดูแลรักษาป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ   นอกจากประชาชนในชุมชนที่รวมกลุ่มปกป้องดูแลป่าชุมชนไปพร้อมกับการได้รับการรับรองสิทธิทำกินอย่างมั่นคง 
2) ผู้ที่ถูกลืมในร่างแผนแม่บทฯ คือชาวประมงขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาพัฒนาเศรษฐกิจภาคบริการและการท่องเที่ยว และจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  ในร่างแผนแม่บทฯ แผนงานและโครงการไม่ได้มุ่งเน้นสนับสนุนและส่งเสริมให้ชาวประมงขนาดเล็กต้องเตรียมความพร้อมในการปรับตัวและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างไร  ทั้งนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพิจารณาปัจจัยคุกคามทรัพยากรประมงและชายฝั่งทะเล  ที่มีผลกระทบต่อชาวประมงขนาดเล็ก เช่น เครื่องมือประมงทำลายล้าง   การพัฒนาอุตสาหกรรมประมง  และโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง  เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่อการปรับตัวและเสริมศักยภาพของชาวประมงขนาดเล็กในการรับมือกับภัยพิบัติด้วยภูมิปัญญาของชุมชนที่มีศักยภาพในการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้อย่างยั่งยืน
3) แผนงานและโครงการของร่างแผนแม่บทฯไม่ได้นำไปสู่การยกเลิกการลงทุนด้านอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อุตสาหกรรมพลังงานและไฟฟ้า   เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมี อุตสาหกรรมในกลุ่มธุรกิจพลังงาน หรือโครงการตามแผนพัฒนาภาคตะวันออก และแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้  รวมถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจในภาคอื่นๆ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอัตราที่สูงสุด คือร้อยละ 72.47 ซึ่งใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล  และมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาก    

ดังนั้นเครือข่ายประชาชนภาคใต้จึงมีข้อเสนอให้ยกเลิกโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ตามแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ทั้งของรัฐและเอกชนที่มีผลกระทบต่อชุมชนและทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งทะเล   ควรเปิดเผยโครงการสัมปทานขุดเจาะน้ำมันในทะเลที่มีผลกระทบต่อการประมง  และการท่องเที่ยว  ตลอดจนให้นิคมอุตสาหกรรมมีการบำบัดน้ำเสียให้หมดก่อนปล่อยน้ำลงสู่ทะเล และกระทบต่อชุมชน

4)  ร่างแผนแม่บทฯ ไม่ได้ให้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเกษตรกรรายย่อยและประเด็นความมั่นคงทางอาหารที่เป็นผลิตอย่างยั่งยืนเพื่อบริโภคตามความต้องการในประเทศ  และไม่ให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นในการพัฒนาระบบการผลิตและการจัดการเมล็ดพันธุ์ของเกษตรกรที่จะรับมือกับภัยพิบัติและสภาวะโลกร้อน  ในขณะที่ร่างแผนแม่บทฯ กลับให้ความสำคัญกับการปรับตัวของภาคเกษตรในเชิงพาณิชย์และเกษตรอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น การให้ความสำคัญกับการปรับปรุงพันธ์พืชเศรษฐกิจ (เพื่อการส่งออก) ไม่กี่ชนิด เช่น ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง และ ข้าวโพด  และมีแนวโน้มสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อช่วยด้านการปรับตัวในแง่ของการปรับปรุงพันธุ์พืชให้ทนต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงมากขึ้น   ซึ่งจะนำไปสู่การผูกขาดการจัดการเมล็ดพันธุ์โดยบรรษัทการเกษตรขนาดใหญ่ และการใช้เทคโนโลยีตัดต่อพันธุกรรมพืชซึ่งยังคงเป็นประเด็นถกเถียงและไม่เป็นที่ยอมรับในสังคมไทย

โดยสรุปเครือข่ายประชาชนภาคใต้มีความเห็นว่ารัฐบาลและภาครัฐต้องตระหนักในการรับรองสิทธิชุมชนของเกษตรกรรายย่อย ชาวประมงขนาดเล็ก กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้ด้อยโอกาสในสังคม ซึ่งเป็นประชาชนกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  ที่ไม่มีทางเลือกของการดำรงชีวิตและเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมทั้งจากนโยบาย กฎหมาย โครงการพัฒนา และร่างแผนแม่บทฯฉบับนี้ 

เพราะฉะนั้นการแก้ไขปัญหาโลกร้อนของประเทศไทย   จำเป็นต้องแก้ไขปัญหาที่สาเหตุของโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม  ซึ่งนโยบายของรัฐมุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และอุตสาหกรรมธุรกิจพลังงาน ตลอดจนการพัฒนาเศรษฐกิจของภาคเกษตรกรรมเพื่อการส่งออก ที่ได้ทำลายความมั่นคงทางอาหาร ฐานทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ของประเทศตังแต่ป่าต้นน้ำจนถึงชายฝั่งทะเล 
ประเทศไทยมีส่วนร่วมต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะเป็นได้จริงคือรัฐบาล และภาครัฐต้องตระหนักต่อการปรับเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาประเทศไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว  ให้เกิดการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้อุดมสมบูรณ์ และแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม  โดยให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติโดยตรง คือ เกษตรกรรายย่อย ชาวประมงขนาดเล็ก และกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ   ในการปรับตัวและร่วมแก้ไขปัญหาจากฐานความรู้และภูมิปัญญาของชุมชนท้องถิ่น  โดยภาครัฐมีบทบาทส่งเสริมสนับสนุนและบูรณาการกับชุมชนอย่างจริงจัง

 
หยุด!...แผนพัฒนาภาคใต้.....หยุด!โลกร้อน
หยุด!ตอแหล................แผนแก้โลกร้อน
ปัญหาโลกร้อนเป็นของคนทั้งโลก....ความยากลำบากของการแก้ปัญหาเรื่องโลกร้อน....ทั้งในเวทีระดับโลกและระดับประเทศมีความเหมือนกัน ตรงที่กลไกการเจรจาในเวทีโลกและกลไกของรัฐบาลไทยไม่มีความจริงใจที่จะแก้ปัญหาทั้งๆที่รู้ปัญหาดี
   แผนแม่บทแก้โลกร้อนที่ปัดความรับผิดชอบ ทำหน้าที่ ปกป้องอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าที่ปล่อย  
คาร์บอนฯสูง ก็ยากที่จะฝันถึงว่า...เราจะแก้ปัญหาโลกร้อนได้จริง
70กว่า%ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯในประเทศไทย มาจากภาคพลังงานและอุตสาหกรรม น่าเสียดายที่เรากำลังเสียงบประมาณมากมายกับการทำแผนแม่บทที่ไม่ได้ตอบโจทย์การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอย่างแท้จริง เพราะทั้งรัฐบาลและสภาพัฒน์ฯต้องการให้ แผนพัฒนาภาคใต้ที่มีอุตสาหกรรมเหล็ก ปิโตรเคมี นำร่องการพัฒนา ซึ่งล้วนเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานไฟฟ้าและทรัพยากรสิ้นเปลือง ทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จึงถูกปักธงสร้างในพื้นที่ภาคใต้เป็นหลัก โดยเฉพาะโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้ถูกเลือกให้มาเป็นทางออกในการแก้โลกร้อน แต่คนในพื้นที่ต้องแลกกับความเสี่ยงจากกัมมันตภาพรังสีทั้งจากโรงไฟฟ้าและกากนิวเคลียร์ ( 500,000 ปี)
แผนพัฒนาภาคใต้ และแผนพีดีพี.   เป็นตัวการสำคัญที่ทำลายฐานเศรษฐกิจ ทำลายฐานทรัพยากร และสิ่งแวดล้อมของชาวใต้ ที่ส่วนใหญ่ทำเกษตร ประมง ท่องเที่ยวมายาวนาน ชาวมาบตาพุต ชาวบ้านแม่เมาะและอีกหลายพื้นที่กำลังเผชิญกับแผนพัฒนาที่ไม่เป็นจริง ที่ถูกกำหนดโดยคนที่ไม่เคยเห็นคุณค่าของชีวิตคนและสิ่งแวดล้อม ...พร้อมเอาชีวิต ทรัพยาการ และอนาคต ไปแลกกับตัวเลขจีดีพี.ในกระดาษ
อย่าโม้...ว่าจะแก้โลกร้อนด้วยการจับชาวบ้านออกจากป่า...ค้าคาร์บอนเครดิต
อย่าโม้...ว่าเราจะสร้างสังคมที่เป็นธรรม ลดความเลื่อมล้ำ ลดความขัดแย้ง
ตราบใดที่รัฐบาลยังไม่ทบทวนทิศทางของแผนพัฒนาภาคใต้ และแผนพีดีพี....และยืนยันที่จะเดินหน้าผลักดัน นั้นหมายถึง รัฐกำลังจุดไฟแห่งความขัดแย้งกองใหม่ด้วยมือของรัฐเอง
               ..หยุดแผนพัฒนาภาคใต้   หยุดโลกร้อน ....
                   หยุดตอแหล...แผนแก้โลกร้อน
                       เพื่อสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน สมดุล และเป็นธรรมอย่างแท้จริง
                                                                  
                                                                                                25 สิงหาคม 2553
                                                                                        ประชาชนต้องกำหนดอนาคตเอง
 
 
1.     เครือข่ายผลกระทบนโยบายสาธารณะนครศรีธรรมราชเครือ
2.     ข่ายปฎิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด จ.ตรัง 
3.     เครือข่ายองค์กรชุมชนจัดการทรัพยากรพื้นที่ชุ่มน้ำ จ.สุราษฎร์ธานี - ชุมพร  
4.      เครือข่ายรักษ์ละแม จ.ชุมพร  
5.     กลุ่มประทิวรักษ์ถิ่น จ.ชุมพร  
6.     เครือข่ายอนุรักษ์อ่าวบ้านดอน จ.สุราษฎร์ธานี 
7.     ศูนย์การเรียนรู้วิถีธรรมชาติเพื่อชุมชน    
8.     เครือข่ายคัดค้านโครงการท่อก๊าชจะนะ จ.สงขลา 
9.     เครือข่ายปกป้องและคุ้มครองสุขภาวะจากผลกระทบ  จ.นครศรีธรรมราช
10. กลุ่มศึกษาการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี นครศรีธรรมราช 
11.  เครือข่ายผลกระทบนโยบายสาธารณะ นครศรีธรรมราช  
12. สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดสตูล 
13. เครือข่ายพันธมิตรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมจังหวัดประจวบฯ 
14. เครือข่ายองค์กรประชาชน จ. สุราษฎร์ธานี
15. โครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา (สจน.)
16. เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้
 
 

ที่มาข่าวบางส่วนจาก:

16 เครือข่ายฯภาคใต้ต้านประชุมแผนแม่บทภูมิอากาศ (เนชั่นทันข่าว, 25-8-2553)
http://breakingnews.nationchannel.com/read.php?newsid=464900&lang=T&cat=

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net