Skip to main content
sharethis

แถลงการณ์ร่วมเพื่อผลักดัน
การดำเนินการพิสูจน์สัญชาติแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า
และนโยบายการจัดการแรงงานข้ามชาติ

 

กำหนดเวลาการพิสูจน์สัญชาติ กระบวนการพิสูจน์สัญชาติและการส่งกลับ

1. รัฐบาลควรขยายระยะเวลาการพิสูจน์สัญชาติออกไป เพื่อให้แรงงานข้ามชาติสามารถเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติได้ และเพื่อยุติการส่งกลับครั้งใหญ่ เพราะจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่ต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติ

2. ภาครัฐควรควบคุมบริษัทเอกชนที่ช่วยดำเนินการในการพิสูจน์สัญชาติให้กับนายจ้างและแรงงานข้ามชาติ เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทเหล่านี้ได้แสวงหาประโยชน์จากแรงงานข้ามชาติโดยเรียกเก็บค่าบริการสูงเกินสมควร  และภาครัฐควรบังคับให้บริษัทเอกชนเหล่านี้ต้องจดทะเบียนกับกรมการจัดหางาน และควรจัดตั้งเครื่องมือในการรับเรื่องร้องเรียนจากแรงงานข้ามชาติในแง่ของการแสวงหาประโยชน์

3. รัฐบาลควรเจรจาอย่างต่อเนื่องกับรัฐบาลพม่าในการให้ดำเนินการพิสูจน์สัญชาติในประเทศไทย เพื่อให้กระบวนการทำได้ง่ายขึ้นและใช้ระยะเวลาน้อยลง รวมทั้งเพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นต่างๆ และเพิ่มความปลอดภัยให้กับแรงงานข้ามชาติและจูงใจแรงงานข้ามชาติคนอื่นๆ ในการเข้าสู่การพิสูจน์สัญชาติ

4. กระทรวงแรงงานควรหารือกับองค์กรที่ทำงานสนับสนุนแรงงานข้ามชาติเพื่อกระตุ้นการสร้างความตระหนักเรื่องการพิสูจน์สัญชาติให้กับแรงงานข้ามชาติ โดยจะต้องทำสื่อเพื่อสร้างความเข้าใจทั้งในภาษาของแรงงานข้ามชาติและภาษาไทย มีเป็นรูปแบบที่เข้าใจง่าย การทำงานร่วมกันกับองค์กรที่มีประสบการณ์และทำงานใกล้ชิดกับชุมชนแรงงานข้ามชาติเพื่อหาช่องทางในการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพได้มากขึ้น

5. รัฐบาลควรหาวิธีการจัดการพูดคุยเพื่อหาวิธีการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนสำหรับแรงงานข้ามชาติที่ไม่ผ่านหรือไม่ได้พิสูจน์สัญชาติ และควรเปิดให้ทุกฝ่ายได้ร่วมในการจัดทำแนวทางการจัดการและเสนอข้อคิดเห็นต่อแนวทางดังกล่าว รวมทั้งควรจะต้องคำนึงถึงพันธกรณีตามกติกาด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศต่อแรงงานข้ามชาติเหล่านี้

การจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ

6. รัฐบาลควรเปิดจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติอีกครั้งเพื่อให้แรงงานข้ามชาติสามารถเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติได้ ทั้งนี้ประมาณการณ์ว่ายังจะมีแรงงานข้ามชาติอย่างน้อย 1 ล้านคน ไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติได้ การเปิดจดทะเบียนผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้อาศัยอยู่และทำงานในประเทศไทยได้จะทำให้ช่วยจัดการระบบให้แก้ปัญหาได้มากขึ้น

แรงงานภาคบังคับ

7. แรงงานข้ามชาติที่ได้รับใบอนุญาตทำงานในประเทศไทยควรมีสิทธิเปลี่ยนนายจ้างเพื่อป้องกันการแสวงหาประโยชน์และการตกเป็นแรงงานภาคบังคับ  และจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานให้เกิดผลอย่างแท้จริง

แถลงเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2553 

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.)

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net