Skip to main content
sharethis

วิไล คำเงิน ชาวบ้านคณะทำงานกองเลขาฝ่ายข้อมูล เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน จ.เชียงราย และ Philip Hirsch นักวิชาการชาวต่างชาติ ในซีรี่ส์ "NGO เป็นไงในขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน" กิจกรรมตีปี๊บ "เวทีทบทวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในประเทศไทย" โดยกลุ่มจับตาขบวนการประชาสังคมไทย

 
 
ตอนที่ 21: วิไล คำเงิน ชาวบ้านคณะทำงานกองเลขาฝ่ายข้อมูล เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน จ.เชียงราย 
 
 
 
“คนหลายคนชอบพูดถึงคำว่าภาคประชาชน แต่ในส่วนของภาคประชาชนเองเขาเป็นชาวบ้าน หมายถึงชาวบ้านที่ไม่ใช่เอ็นจีโอ ไม่ใช่นักวิชาการ แต่คนที่อยู่ในชุมชนและมีวิถีชีวิตทำมาหากินทั่วไป" 
 
“ถ้าพูดถึงพื้นที่เชียงรายเองภาคประชาชนก็มีการรวมตัวกัน รวมกลุ่มกันขึ้นมาเพื่อทำงานพัฒนา เพื่อทำงานแก้ไขปัญหาของตนเอง แล้วในส่วนหนึ่งของชาวบ้านที่ทำงานร่วมกันเขาก็พบว่ามีกระบวนการหลายอย่างที่เขาต้องเรียนรู้ ก็มีพี่น้องเอ็นจีโอส่วนหนึ่งเข้าไปหนุนเสริมในส่วนข้อมูลวิชาการและการเท่าทันนโยบาย ตลอดถึงการชวนคิดชวนคุยเรื่องการวิเคราะห์ มันก็เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างภาคประชาชนชาวบ้านกับเอ็นจีโอ”
 
“จากการทำงานที่ผ่านมาก็พบว่า เอ็นจีโอเองก็ต้องปรับบทบาทของตัวเองเหมือนกัน แต่ในส่วนของชาวบ้านเขามีกระบวนการที่จะพัฒนาตัวเองขึ้นมาพอสมควรในระดับหนึ่ง จนชาวบ้านบางคนถูกมองว่าเป็นเอ็นจีโอหรือเปล่า อันนี้คือคำถามจากสังคมภายนอก”
 
“ในส่วนของเอ็นจีโอเอง ถ้าคุณยังทำงานแบบเดิม ไม่มีกระบวนการปรับปรุงตัวและกระบวนการเรียนรู้แบบจริงจังกับชาวบ้าน คุณก็จะอยู่ไม่ได้ เพราะว่าชาวบ้านก็มีกระบวนการพัฒนาตัวเองที่ดีขึ้นไปเรื่อยๆ และก็มีการพัฒนาศักยภาพในทุกๆ ด้าน”
 
“เพราะฉะนั้นเอ็นจีโอจำเป็นต้องมีการปรับตัวเองเพื่อให้เข้ากับยุคสมัย แต่ว่าในส่วนหนึ่งถึงจะปรับตัวอย่างไร การพึ่งพิงกันระหว่างชาวบ้านกับเอ็นจีโอก็จำเป็น มีความสำคัญที่จะต้องพึ่งพิงกันในหลายๆ เรื่อง และในส่วนประเด็นปัญหาเมื่อมันแก้ได้เรื่องหนึ่ง มันก็ขยับไปอีกเรื่องหนึ่ง เพราะฉะนั้นเราก็จำเป็นที่จะต้องทำงานร่วมกัน” วิไล คำเงิน ชาวบ้านคณะทำงานกองเลขาฝ่ายข้อมูล เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน จ.เชียงราย
  
 
 000
 
 
ตอนที่ 22: Prof. Philip Hirsch (ศ.ฟิลิป เฮิอร์ซช์) The University of Sydney - School of Geosciences 
 
 
 
“ถ้าถามว่าเอ็นจีโอเป็นตัวแทนของภาคประชาชนไหม ก็แน่นอนว่าเป็นส่วนหนึ่ง แต่ว่าไม่ใช่เฉพาะในเหตุการณ์เร็วๆ แต่ว่านานมาแล้วมีปัญหาหากว่าจะมองเอ็นจีโอว่าผูกขาดในความเป็นตัวแทนของภาคประชาชน” 
 
“คำว่าเป็นตัวแทนของใคร จะต้องดูว่ามีกลไกหลายด้าน ซึ่งที่ผ่านมาถ้าดูในเชิงประวัติศาสตร์ สังคมไทยเคยมีช่วงที่ขาดแคลนจริงๆ ขาดแคลนที่ประชาชนจะมีโอกาส มีเสียงของตนเอง แล้วเอ็นจีโอหลายกลุ่มสามารถที่จะออกมาพูด อธิบาย และเรียกร้องเกี่ยวกับปัญหาที่ประชาชนต้องเผชิญอยู่ แต่ขณะเดียวกันเอ็นจีโอก็ได้ก้าวไปพูดว่าเป็นตัวแทนของภาคประชาชนทั้งหมด ตั้งแต่สมัยนั้นซึ่งมันก็ไม่ถูก”
 
“แน่นอนว่าในช่วงที่ชาวบ้านหรือว่าประชาชนทั่วไปไม่มีสิทธิไม่มีเสียงที่จะพูด บางครั้งก็จำเป็นที่จะต้องมีองค์กรเป็นบุคคลที่สาม เป็นบุคคลที่มีโอกาสในทางใดทางหนึ่ง มีการศึกษา หรือว่ามีช่องทางที่จะพูดแทน แต่แน่นอนไม่มีสิ่งที่ดีกว่า หรือว่าเป็นประชาธิปไตยมากกว่าการที่คนจะพูดแทนตัวเอง”
 
“เอ็นจีโอจะเป็นภาคประชาชนส่วนหนึ่งแน่นอนอยู่แล้ว ทุกวันนี้ก็ยังเป็นอยู่ แต่ว่ามีหลายสิ่งหลายอย่าง มีหลายองค์กร มีกลไกในสังคมไทยทุกวันนี้ของภาคประชาชนที่ไม่ใช่เอ็นจีโอ” 
 
“อีกอย่างหนึ่งคือถ้าใช้คำว่าเอ็นจีโอ เอ็นจีโอมีหลายประเภท มีหลายกลุ่มแล้วกลุ่มต่างๆ คงจะมีความเห็น มีวิธีการทำงานที่ไม่เหมือนกัน มีคนที่มีรากฐานการทำงานจากชาวบ้าน มีคนทำงานพื้นฐานบางกลุ่มอาจเรียกร้องปัญหาของคนในเมือง คำว่าภาคประชาชนคิดว่ามันกว้างเกินไปที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือว่าองค์กรใดองค์กรหนึ่งที่จะอ้างว่าเป็นตัวแทน” Prof. Philip Hirsch The University of Sydney - School of Geosciences
 
 
.....................................................
หมายเหตุ: กลุ่มจับตาขบวนการประชาสังคมไทย (Thai Social Movement Watch: TSMW) เป็นการรวมตัวกันของนักกิจกรรมทางสังคม นักพัฒนา อดีตนักพัฒนา นักศึกษา และนักวิชาการ ซึ่งมีความเกี่ยวข้อง สนใจ และห่วงใยในสภาวการณ์ของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมไทยภายใต้สถานการณ์ความ ขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net