Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ประเด็น “วิวาทะ” เรื่องนิสิตชูป้าย “เตือนความจำ” และขอยื่นหนังสือประท้วง นายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มาปาฐกถา ในงานครบรอบ 60 ปีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ 18 ส.ค. นั้น เป็นประเด็นที่ “น่าสะเทือนใจ”

1. สะเทือนใจที่นักศึกษาถูกยึดป้าย “เตือนความจำอภิสิทธิ์” ด้วยข้อความ เช่น “จะหนึ่งคน หรือแสนคน รัฐบาลก็ต้องฟัง” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ "ผมอยากเห็นรัฐบาลมีบทบาทในการคุ้มครองประชาชนมากกว่านี้" อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ "ยุบสภา คืนอำนาจให้กับประชาชน ดีกว่ารัฐบาลอยู่อย่างนี้แล้วพังไปเรื่อยๆ" อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ “หยุดปิดกั้นความคิด หยุดใช้ พ.ร.ก.”

แต่น่าสะเทือนใจยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อได้อ่านคำให้สัมภาษณ์ของ นายจรัส สุวรรณมาลา คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่ว่า “...นายวีระศักดิ์หวั่นว่าจะเป็นป้ายที่เขียนด้วยถ้อยคำหยาบคาย ด่าพ่อล้อแม่ เหมือนที่ประท้วงของกลุ่มเสื้อแดง จึงได้ยึดมา”

นี่คือทัศนคติที่ตัดสินล่วงหน้าว่า ถ้าคุณอยู่ฟากเสื้อแดงต้องไม่มีสมองคิด แม้คุณจะเป็นถึง “นิสิตรัฐศาสตร์จุฬาฯ” ที่ผมสอนคุณมาดีแล้วก็ตาม แต่ถ้าคุณประท้วงอะไรเพื่อปกป้องสิทธิทางการเมืองของคนเสื้อแดง คุณอาจหยาบคาย สูญเสียความเป็น “สุภาพชน” ไป

ทว่าเมื่อได้รู้ข้อความ “เตือนสติ” นายกฯ ตรงๆ ที่แสนสุภาพและสละสวยยิ่งกว่าข้อความ เช่น “กระชับพื้นที่” เพื่อ “คืนความสุข” ให้ “คนกรุงเทพฯ” ในป้ายประท้วงของนักศึกษาแล้ว ไม่เห็นอาจารย์ท่านนั้น “ขอโทษ” นักศึกษา ที่ตนเองเข้าใจผิด มองนักศึกษาต่ำๆ เหมือนที่มองคนเสื้อแดง

2. เหตุผลของอาจารย์สับสนครับ เช่น คำให้สัมภาษณ์ที่ว่า “แล้วสิ่งที่ต้องคิดนะ สิ่งที่ต้องคิดก็คือ นี่คือนิสิตกลุ่มหนึ่ง นิสิต 3-4 คนก็แล้วแต่ แล้วเคยถามประชาคมจุฬาฯ ไหม...เคยถามเขาไหมว่า เรามาแสดงออกในเวทีนี้ เขาจะผลักดันนโยบายนี้ ถูกที่ไหม เคยถามหรือเปล่า หรือว่าเอะอะปาวๆ ก็จะแสดงออก แสดงออก ผมก็ถามกลับว่า อยากแสดงออกแล้วทำไมต้องเลือกแค่ช่วงที่บุคคลสำคัญมา ช่วงที่คุณจาตุรนต์อยู่ ช่วงต่อจากนั้น ทำไมไม่แสดงออก.. เอ๊ะ เป็นการแสดงออกแบบเลือกที่มักรักที่ชังหรือเปล่า อย่างนี้เรียกเสรีภาพที่แท้จริงหรือ..."

ก็นิสิตเขาต้องการประท้วงนายกฯ เขาก็ต้องแสดงออกเวลาที่นายกฯ มาซิครับ ไม่เกี่ยวอะไรกับคุณจาตุรนต์ เขาจะไปยืนชูป้ายใน “ช่วงที่คุณจาตุรนต์อยู่” ให้เมื่อย “จุดยืน” (ส้นเท้า) ทำไมครับ? แล้วทำไมการชูป้ายประท้วงนายกฯ การยื่นหนังสือเรียกร้องให้นายกฯ ยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน และรับผิดชอบต่อการปราบปรามประชาชนที่มีคนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก จำเป็นที่นิสิต (จะ 1 คน หรือกี่คนก็ตาม) จะต้องถาม “ประชาคมจุฬาฯ” ด้วยหรือครับ?

ประชาคมจุฬาฯ ยิ่งใหญ่คับฟ้าเลยหรือครับ? ทำไมนิสิตจะแสดงสิทธิทางการเมืองซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่รับรองโดยรัฐธรรมนูญ จะต้องไป “ถาม” ประชาคมจุฬาฯก่อนด้วย!

ที่จริงประชาคมจุฬาฯ ควรจะขอบคุณนิสิต 3- 4 คน นะครับ ที่พวกเขาแสดงออกให้สังคมไทยและสังคมโลกได้เห็นว่า ในจุฬาฯ ยังมีคนที่ “สามารถเข้าใจได้” ว่า รัฐบาลที่ทำให้คนตาย 91 ศพ บาดเจ็บกว่า 2,000 คน และยังบังคับใช้กฎหมายแบบสองมาตรฐาน ปิดกั้นสิทธิทางการเมืองของประชาชนต่างๆ นั้น เป็นรัฐบาลที่ไม่เหลือ “ความชอบธรรม” อยู่อีกแล้ว!

3. ที่อาจารย์บอกว่า “...เราไม่ใช่แสดงเสรีภาพโดยไม่มีขอบเขตอะไรเลย นิสิตอยากแสดงออกแล้วสิทธิของผมในฐานะคนจัดงานประชุมอยู่ตรงไหน สิทธิของผมคือทำให้งานมันเรียบร้อยใช่ไหมครับ” สิทธิที่อาจารย์ต้องจัดงานให้เรียบร้อยนิสิตก็ควรเคารพครับ เหมือนสิทธิการจราจรของคนทั่วไปที่ผู้ประท้วงบนท้องถนนก็ควรเคารพ แต่บางครั้งเราอาจจำเป็นต้องเลือกว่าสิทธิอันไหนสำคัญกว่า หากการแสดงออกซึ่งสิทธิทางการเมืองมันมีค่าต่อสาธารณชนหรือสังคมโดยรวม หรือความเป็นประชาธิปไตยมากกว่า สิทธิที่รองลงมา เช่น สิทธิการจราจรในบางช่วงเวลา หรือสิทธิความสะดวกกายสบายใจส่วนบุคคลอื่นๆ ก็อาจต้องเสียสละกันบ้างใช่ไหมครับ! (ภายใต้ “เงาอำมหิต” ของอำนาจนิยม นิสิตเขาคงกลัวว่าถ้าแจ้งให้อาจารย์ทราบล่วงหน้าก่อน คงไม่ได้ชูป้ายประท้วง)

4.การตบท้าย “คำอธิบายตัวเอง” ด้วย “ภาษาอำนาจนิยม” สะท้อนถึงทัศนคติของอาจารย์... "นี่เวทีวิชาการ ผมเป็นคนรับผิดชอบงานนี้ นี่เป็นที่ของผม ถ้ามีปัญหาค่อยฟ้องทีหลัง " ...คำพูดผมหมายถึงสถานที่จัดงาน เป็นความรับผิดชอบของผม ไม่ได้หมายถึงว่าจุฬาฯ เป็นที่ของผม เป็นการตีความที่ผิดความหมาย ใครเรียนจุฬาฯ จะรู้ว่าที่จุฬาฯเป็นที่พระราชทาน"

สรุป ปัญหาอยู่ที่ทัศนคติและท่าทีของอาจารย์ เช่น ตัดสินล่วงหน้าว่าคำประท้วงจะหยาบคายเหมือนคนเสื้อแดง (ไม่ชอบคนเสื้อแดงไม่ว่า แต่ไม่ให้เกียรตินิสิตของตัวเองบ้างเลย!) จะแสดงออกทางการเมืองแบบนี้เคยถามประชาคมจุฬาฯ บ้างไหม คุณเคารพสิทธิของผมไหม และ “ท่วงทำนอง” ของคำพูด “ใครเรียนจุฬาฯ จะรู้ว่าที่จุฬาฯเป็นที่พระราชทาน" นั้น แสดงถึง “ระบบความนึกคิด” (ideology) แบบอำนาจนิยมอยู่ในที

และกล่าวอย่างถึงที่สุด ด้วยทัศนคติของคนที่เป็นถึงอาจารย์รัฐศาสตร์ดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่า “พื้นที่เสรีภาพและสิทธิทางการเมือง” ใน “พื้นที่คณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ” ถูกจำกัด (อย่างน้อยก็สำหรับนักศึกษา 3-4 คนนั้น) และอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่เสรีภาพและสิทธิทางการเมืองใน “มโนสำนึก” หรือ “ระบบความนึกคิด” ของนิสิตนักศึกษาซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ของประเทศอย่างน่าสลดหดหู่

 

ปล. อ่านข่าวประกอบที่ http://www.prachatai3.info/journal/2010/08/30744 http://www.prachatai3.info/journal/2010/08/30765 http://www.prachatai3.info/journal/2010/08/30783 และ http://www.prachatai3.info/journal/2010/08/307686    

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net