Skip to main content
sharethis

แบ่งกลุ่มจ่ายค่าจ้างแรงงาน  ส.อ.ท.ปฏิวัติภาคอุตสาหกรรมสู่ระดับสากล

นายสมพงศ์ นครศรี รองประธานอาวุโส สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยในฐานะประธานคณะทำงานศึกษาการปรับโครงสร้างค่าแรงในภาคอุตสาหกรรม ให้สอดคล้องกับลักษณะการทำงานของแรงงาน ว่า ขณะนี้ ส.อ.ท.ได้เริ่มมีการศึกษาโครงสร้างค่าแรงในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม และเรื่องความต้องการแรงงาน รวมทั้งลักษณะงานของแรงงานในแต่ละกลุ่มอาชีพ เพื่อหาจุดที่เหมาะสมสำหรับการจ่ายค่าแรง เหมือนกับการจ่ายค่าจ้างแรงงานของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่มีรายได้จากการส่งออกสินค้าภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก

"ส.อ.ท.คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะสามารถสรุปข้อมูลได้ทั้งหมด เพื่อนำไปสู่การปรับค่าจ้างแรงงาน โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม เพื่อดึงให้แรงงานที่มีอยู่ในระบบมีความต้องการอยู่ในระบบจ้างงานต่อไป ไม่หันเหไปประกอบอาชีพอื่น และยังกระตุ้นให้แรงงานที่จบการศึกษามีความต้องการเข้ามาทำงานในภาคแรงงานมากขึ้น"

ขณะเดียวกัน ในระยะยาว ประเทศไทยต้องมีการพัฒนาแรงงานที่ไร้ฝีมือให้เป็นแรงงานมีฝีมือให้มากขึ้นเพ่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ ซึ่ง ส.อ.ท. ได้เริ่มศึกษาการปรับโครงสร้างแรงในกลุ่มช่างฝีมือ 10 กลุ่มคือกลุ่มช่างก่อสร้างไม้ และปูน ช่างเชื่อม และช่างไฟฟ้าเป็นต้น คาดว่าภายใน 2 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะมีช่างฝีมือเพิ่มขึ้น รวมทั้งค่าแรงก็จะปรับสูงขึ้นตามความสามารถด้วย

นายสมพงศ์กล่าวว่า ปัจจุบันแรงงานในกลุ่มช่างทองและช่างอัญมณี มีการทดสอบวัดระดับฝีมือเพื่อจ่ายค่าแรงตามความสามารถในการทำงานแล้วส่วนกลุ่มช่างไม้ จะมีการทดสอบวัดระดับฝีมือแรงงาน โดยแบ่งเป็นระดับๆ เช่น ระดับ 1 สามารถวัดไม้ได้ ระดับ 2 ใช้เครื่องมือช่างได้ และระดับ 3 แค่เห็นแบบก่อสร้าง แล้วก็สามารถทำงานได้เลย ซึ่งในแต่ละระดับจะได้ค่าแรงต่างกันไป

นายวัลลภ วิตนากร เลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทยกล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกสิ่งทอในปีหน้าจะไม่มีการเติบโต โดยมูลค่าการส่งออกจะคงที่ระดับ 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพราะประเทศไทยขาดแคลนแรงงาน ซึ่งขณะนี้อุตสาหกรรมสิ่งทอขาดแคลนแรงงาน 30,000 ราย ทำให้ไม่สามารถรับคำสั่งซื้อที่เข้ามาจากทั่วโลกได้ ในปีหน้ากลุ่มสิ่งทอจะยังคงเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานอีก 60,000 ราย

"กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารของ ส.อ.ท.ได้เข้าหารือกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ในการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน ด้วยการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานของ 1 คน ให้สามารถทำงานได้หลายอย่างมากขึ้น จากเดิมที่มีความสามารถทำได้เพียงด้านเดียวโดยมีเป้าหมายเพิ่มขีดความสามารถแรงงานให้แรงงาน 1 คน ให้สามารถทำงานได้หลายอย่างมากขึ้น จากเดิอมที่มีความสามารถทำได้เพียงด้านเดียวโดยมีเป้าหมายเพิ่มขีดความสามารถแรงงานให้แรงงาน 1 คน ให้สามารถทำงานได้เท่ากับ 3 คน หรือเท่ากับสามารถเพิ่มสัดส่วนแรงงานได้ 30% ซึ่งจะช่วยลดปัญหาขาดแคลนแรงงานได้"


(ไทยรัฐ, 16-8-2553)

แรงงาน-ไอซีทีผนึกกำลังรับรองคนไอที

นางเมธินี เทพมณี ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า กระทรวงไอซีที ได้ร่วมกับคณะกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เตรียมจัดทำระบบรับรองแรงงานวิชาชีพไอทีระดับอาเซียน รองรับอีก 5 ปีข้างหน้า หรือปี 2558 ที่จะเกิดการเคลื่อนย้ายของแรงงานไปในบรรดาประเทศสมาชิก ด้วยมาตรฐานความรู้ความสามารถ และค่าแรงที่ยอมรับได้

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานจะจัดทำระบบการสอบ และออกใบรับรองกลางที่เป็นมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งต้องเริ่มจากการจัดทำมาตรฐานในประเทศก่อน เริ่มด้วย 3 ตำแหน่ง คือ ผู้จัดการโครงการ (โปรเจค แมเนเจอร์) นักวิเคราะห์ระบบ (ซิสเต็ม อนาลิสต์) และผู้ดูแลความปลอดภัยระบบ

"กระทรวงแรงงานจะใช้เวลา 2 เดือน หากมาตรฐานผ่าน ก็จะเสนอเข้าคณะกรรมการมาตรฐานฝีมือแรงงานชุดใหญ่ และต้องมี ก.พ.รับรอง" นางเมธินี กล่าว

นายมนู อรดีดลเชษฐ์ คณะทำงานร่างกรอบนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ระยะ พ.ศ.2554-2563 (ไอซีที 2020) กล่าวว่า แนวทางดำเนินการดังกล่าวจะเป็นเพียงการส่งเสริมสนับสนุนให้สอบใบรับรอง ไม่ได้เป็นข้อบังคับ ซึ่งยังเป็นห่วงอนาคตที่จะมีเอาท์ซอร์สงานไอที แต่ไทยจะไม่มีอำนาจต่อรอง จึงต้องสร้างมาตรฐานขึ้นมา สามารถรับรองได้

"อนาคตยังมีอันตรายจากเว็บเครือข่ายสังคม (โซเชียล เว็บ) ที่จะมีคนทำงานจากโซเชียล เว็บ มีเฮด ฮันเตอร์บนเว็บ ก็จะเลือกบุคลากรไอทีจากประเทศอื่น ยกเว้นถ้าไทยมีเซอร์ติฟิเคต ก็จะสร้างความมั่นใจได้มากขึ้น ถือเป็นการเตรียมพร้อมรับมือตลาด ซึ่งทั้งฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์เหมือนกัน ต้องสร้างมาตรฐานที่ยอมรับ และมีรัฐบาลรับรอง" นายมนู กล่าว

ส่วนร่างกรอบนโยบายไอซีที 2020 ที่กระทรวงไอซีที มอบหมายศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) จัดทำเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาไอซีทีของไทยในระยะเวลา 10 ปีนั้น ได้ดำเนินการตั้งแต่เดือน มิ.ย.2552 มีกำหนดเสร็จภายในเดือน ส.ค.2553 ประกอบด้วย 7 ยุทธศาสตร์หลัก คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศและการสื่อสารแห่งอนาคต ไอซีทีเพื่อสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ การพัฒนาทุนมนุษย์ไอซีทีสำหรับปี 2020 การพัฒนาอุตสาหกรรมไอซีที ไอซีทีเพื่อการให้บริการของภาครัฐ ไอซีทีเพื่อความเท่าเทียมทางสังคม และไอซีทีเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

(กรุงเทพธุรกิจ, 16-8-2553)

กรมสวัสดิการฯ เตรียมแจ้งข้อหาผู้เกี่ยวข้องเหตุอาคารก่อสร้าง ม.บูรพาถล่ม

ก.แรงงาน 16 ส.ค.- นางอัมพร นิติสิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวถึงความคืบหน้าเหตุอาคารก่อสร้างคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จ.ชลบุรี ถล่มลงมาทับคนงานทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 คน และบาดเจ็บ 8 คนว่า จากรายงานของผู้อำนวยการศูนย์ความปลอดภัยในการทำงาน และทีมวิชาการ ที่ไปตรวจที่เกิดเหตุตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมา พบว่านั่งร้านของอาคารดังกล่าวไม่สามารถรับน้ำหนักคอนกรีตได้ ประกอบกับคอนกรีตยังไม่แห้งสนิทแล้วมีการเทคอนกรีตซ้ำ จึงพังถล่มลงมาทับคนงาน ซึ่งมีทั้งหมด 35 คน และส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย ซึ่งหลังเกิดเหตุได้หลบหนีไป สำหรับการก่อสร้างอาคารดังกล่าวมีบริษัท บิลเลี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 53/9 ม.2 แขวงบางพรม เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ มีนายกฤษฎา ปฏิยัตต์โยธิน เป็นวิศวกร และนายสำเรียง โพศรีทัศ เป็นผู้ควบคุมงาน ซึ่งเจ้าหน้าที่เตรียมเรียกผู้เกี่ยวข้องมาสอบสวนโดยเบื้องต้นนอกจากข้อหาทำการประมาททำให้ผู้อื่นเสียชีวิตแล้ว ยังมีความผิดฐาน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานมาตรา 41 และกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการจัดการด้านความปลอดภัยฯ เกี่ยวกับการใช้ค้ำยันที่ต้องมีวิศวกรรับรองและห้ามเข้าไปพักอาศัยอยู่ใต้คอนกรีตที่มีการก่อสร้าง หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ พร้อมฝากเตือนบริษัทก่อสร้างต่าง ๆ ให้เพิ่มความระมัดระวังและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

(สำนักข่าวไทย, 16-8-2553)

ครม.ทุ่มซื้อใจขรก.ใหม่ ปรับฐานงด.เท่าเอกชน

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมครม.ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติอนุมัติให้มีการปรับฐานระบบเงินเดือนของข้าราชการเป็นครั้งแรกให้มีความยืดหยุ่นเท่ากับเอกชน โดยเริ่มในส่วนของเงินเดือนแรกเข้าและปรับเงินเดือนแรกเข้าให้เป็นช่วงสำหรับตำแหน่งที่มีความสามารถพิเศษ รวมถึงการออกกฎก.พ. สำหรับข้าราชการที่อายุครบ 60 ปี และหน่วยงานภาครัฐ ที่ไม่ใช่การประกาศใช้ทั่วไป สามารถต่ออายุได้ แต่ต้องมีเหตุผลที่ชัดเจน ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 20 ราย เช่น นายช่างกรมที่ดิน ที่ยังทำโครงการค้างอยู่

 ต่อมา ทีมโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมกันแถลง โดย นายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกฯ กล่าวว่า กพ.ให้เหตุผลการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุของข้าราชการพลเรือนสามัญ เพื่อจูงใจให้มีข้าราชการเข้ามาอยู่ในระบบ ป้องกันสมองไหลไปยังภาคเอกชน สำหรับแนวทางการปรับอัตรเงินเดือนแรกบรรจุ กำหนดให้ เพิ่มความถี่ในการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุ ในชั้นต้นให้ปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุขั้นต่ำให้สูงขึ้น โดยลดความแตกต่างของภาคราชการและภาคเอกชนลงประมาณครึ่งหนึ่งของความแตกต่างเดิม โดยกพ.วางเป้าทยอยปรับฐานเงินเดือนให้เทียบเท่าเอกชนภายใน 5 ปี อย่างไรก็ตาม กพ.ขออนุมัติงบประมาณ 200 ล้านบาทเพื่อเป็นค่าชดเชยให้ข้าราชการได้รับเงินเดือนแรกบรรจุเดิมโดยมีผลภายในวันที่ 1 ต.ค. 53 เพื่อป้องกันปัญหาความลักลั่นกับข้าราชการแรกบรรจุใหม่ที่จะเริ่มดำเนินการในวันที่ 1 เม.ย. 2554

 พร้อมกันนี้ ครม.เห็นชอบให้แก้กฎกระทรวงว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน โดยกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไประดับอาวุโส ให้ได้รับเงินเดือนไม่เกิน 37,830 บาท หรือที่กพ.กำหนด เว้นแต่ผู้นั้นดำรงตำแหน่งในสายงานที่กำหนดไว้ในมาตรฐานกำหนดตำแหน่งให้ได้รับเงินเดือนขั้นสูง กรณีที่ผู้ใดได้รับเงินเดือนสูงกว่า 37,830 บาท ให้ได้รับเงินเดือนตามที่ได้รับอยู่ นอกจากนี้ ผู้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ ให้ได้รับเงินเดือนไม่เกิน 67,560 บาท หรือที่ ก.พ.กำหนด เว้นแต่ผู้นั้นดำรงตำแหน่งในสายงานที่กำหนดไว้ในมาตรฐานกำหนดตำแหน่งให้ได้รับเงินเดือนขั้นสูง กรณีที่ผู้ใดได้รับเงินเดือนสูงกว่าอัตรา 67,560 ให้ได้รับเงินตามที่ได้รับอยู่ ส่วนผุ้ดำรงตำแหน่งประเภทสายงาน และระดับอื่นที่ก.พ.กำหนด ให้ได้รับเงินเดือนในอัตราที่ก.พ.กำหนด

 ข่าวแจ้งด้วยว่า ครม.เห็นชอบการปรับบัญชีเงินเดือน ค่าจ้าง และค่าตอบแทนรายเดือนบุคลากรภาครัฐ ซึ่งครม.เคยรับหลักการไปแล้วให้ปรับขึ้น 5 เปอร์เซนต์ โดยมีผลวันที่ 1 เม.ย. 54 โดยใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2554 วงเงิน 13,000 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตาม ได้มีการแนบเอกสารร่างพระราชกฤษฏีกาการปรับบัญชีเงินเดือนข้าราชการ บุคลากรภาครัฐทั้งระบบเข้ามาด้วย อาทิ ข้าราชการพลเรือน ครู ตำรวจ ทหาร อัยการ ศาลยุติธรรม องค์กรอิสระ โดยเฉพาะในส่วนของประธานสภาผู้แนทนราษฎร ประธานและรองประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้าน สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีการอ้างว่าขอปรับอัตราเงินเดือนเกิน 5 เปอร์เซนต์ เพือรักษาจุดยึดโยงของค่าตอบแทน

 วันเดียวกัน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในงาน "ก้าวที่ยั่งยืนสู่ชีวิตใหม่ปลอดหนี้นอกระบบ" และเปิดตัว" บัตรลดหนี้ วินัยดีมีวงเงิน" โดยนายกรัฐมนตรีได้ประกาศแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบแบบยั่งยืน

 ด้านนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ยอดลูกหนี้ที่ขึ้นทะเบียนหนี้นอกระบบผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารออมสิน ระหว่างวันที่ 1-30 ธันวาคม 2552 และวันที่ 1-29 มกราคม 2553 มีจำนวน 1,183,355 ราย จำนวนมูลหนี้ 122,672.19 ล้านบาท เจรจาประนอมหนี้สำเร็จจำนวน 602,803 ราย เจรจาไม่สำเร็จจำนวน 182,862 ราย และ ยุติเรื่องจำนวน 397,690 ราย ธนาคารและสถาบันการเงินชุมชนอนุมัติสินเชื่อแล้วจำนวน 412,741 ราย อยู่ในระหว่างดำเนินการจำนวน 75,066 ราย

 กระทรวงการคลังต้องการช่วยเหลือไม่ให้ลูกหนี้กลับไปใช้หนี้นอกระบบอีกครั้ง และเพื่อเป็นการเสริมสร้างวินัยในการใช้เงินและการผ่อนชำระเงินกู้รายเดือน จึงจัดให้มีบัตรลดหนี้ วินัยดีมีวงเงิน ซึ่งเมื่อธนาคารอนุมัติเงินกู้แล้ว ธนาคารจะมอบบัตรลดหนี้ วินัยดีมีวงเงิน เป็นบัตรสำหรับสมาชิกซึ่งเข้าร่วมโครงการหนี้นอกระบบของกระทรวงการคลัง ซึ่งบัตรมีรหัสแท่ง (barcode) สำหรับใช้ในการชำระเงินกู้รายเดือนผ่านเคาน์เตอร์ของทุกธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกหนี้และหากลูกหนี้จ่ายผ่อนชำระเงินกู้รายเดือนตรงตามกำหนด เป็นระยะเวลา 1 ปี ธนาคารจะมีวงเงินสำรองฉุกเฉินให้ในเดือนที่ 13 ซึ่งผู้ถือบัตรสามารถนำบัตรไปกดเอาเงินสดจากตู้ atm ของทุกธนาคารที่ร่วมโครงการ (ยกเว้น ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และธนาคารอาคารสงเคราะห์) ได้ไม่เกิน 4 ครั้งต่อ 1 ปี

 นอกจากนี้บัตรลดหนี้ วินัยดีมีวงเงินยังเป็นบัตรเพื่อแสดงสิทธิการประกันชีวิตที่ทางธนาคารที่อนุมัติเงินกู้ได้จัดให้แก่ลูกหนี้ทุกคนโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ เพื่อเป็นหลักประกันให้แก่ครอบครัวผู้ถือบัตรสำหรับผู้ที่ลงทะเบียนหนี้นอกระบบกับกระทรวงการคลังแต่ไม่ได้รับอนุมัติสินเชื่อเนื่องจากไม่มีรายได้ ไม่มีอาชีพ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอนั้น กระทรวงการคลังได้ขอความร่วมมือจากกระทรวงแรงงานในการ ช่วยจัดหางานในพื้นที่ของลูกหนี้ เพื่อลูกหนี้จะสามารถสร้างศักยภาพในการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินในระบบต่อไปในอนาคต

 นอกจากโครงการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบนี้แล้ว กระทรวงการคลังจะศึกษาเกี่ยวกับการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและพัฒนาระบบการเงินระดับฐานราก (microfinance) เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชนอย่างยั่งยืนและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่มีอยู่ในปัจจุบัน ระบบการเงินระดับฐานรากจะเปิดโอกาสให้แก่ผู้ที่ไม่ได้รับโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงินและแหล่งเงินทุน

(แนวหน้า, 17-8-2553)

ดันตั้งศูนย์ข้อมูลพัฒนาแรงงานทั้งระบบ

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมว่า ขณะนี้ได้ขอความร่วมมือตรวจสอบข้อมูลกับทางสภาอุตสาหกรรม เพื่อขอทราบจำนวนตัวเลขการว่างงานที่แท้จริงในภาคอุตสาหกรรมว่ามีการขาดแคลนแรงงานกลุ่มไหนบ้าง จำนวนเท่าใด โดยแยกเป็นแรงงานที่มีฝีมือ และแรงงานไร้ฝีมือ หรือแรงงานที่มีความสามารถเฉพาะด้าน จากนั้นจะนำตัวเลขมาวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางแก้ไขต่อไป เพราะจากข้อมูลที่พบนั้นยังมีความต้องการแรงงานอยู่มาก แต่อีกด้านก็พบว่ามีคนตกงานมากเช่นกัน จึงอยากให้ทุกภาคส่วนเอาตัวเลขที่แท้จริงมาพูดคุยกัน

 นอกจากนี้กระทรวงได้ลงนามบันทึกความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการในการฝึกวิชาชีพทางอาชีวศึกษา และลงบันทึกความร่วมมือกับสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เพื่อให้ผู้ว่างงานมีโอกาสทำงานและเปลี่ยนอาชีพไปสู่ภาคเกษตรกรรม

 อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาได้นำเรื่องกระบวนการแก้ไขปัญหาแรงงานเข้าหารือกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี โดยเสนอให้มีการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลแรงงาน ซึ่งจะใช้ข้อมูลของกระทรวงแรงงานทั้งหมด พร้อมด้วยอาสาสมัครแรงงาน (อสร.) ให้ตรวจสอบทุกพื้นที่ทุกตำบลว่ามีแรงงานเท่าไหร่ ชำนาญด้านไหน มีผู้ประกอบการต้องการแรงงานประเภทไหน จำนวนเท่าไหร่ จากนั้นให้รวบรวมข้อมูลไปที่แรงงานจังหวัดเพื่อส่งต่อมายังศูนย์ข้อมูลแรงงานของกระทรวงแรงงาน ซึ่งศูนย์นี้จะสามารถตรวจเช็กข้อมูลเรื่องแรงงานในจังหวัดต่างๆ ได้ครอบคลุมทั่วประเทศได้ทันที

 “การตั้งศูนย์ข้อมูลแรงงานเหมือนการรวมศูนย์ของทุกกรมมาอยู่ที่นี่ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในเรื่องข้อมูลด้านแรงงานในแต่ละพื้นที่ ต่อไปไม่สามารถหลอกได้ว่ามีแรงงานว่างงานเท่าใด  ข้อมูลที่กล่าวอ้างมานั้นจริงหรือไม่ โดยหากมีข้อมูลที่สมบูรณ์การทำงานเชื่อมโยงของทุกกรมก็จะสะดวกยิ่งขึ้น ทำให้การทำงานด้านนโยบายเดินหน้าไปได้อย่างเต็มที่ สามารถพัฒนาแรงงานที่ตรงต่อความต้องการของตลาดได้ทันที โครงการนี้น่าจะเริ่มได้ประมาณเดือนตุลาคมนี้ โดยจะนำงบประมาณส่วนกลางของปี 2554 มาใช้ดำเนินการ” นายเฉลิมชัย กล่าว

(คม-ชัด-ลึก, 17-8-2553)

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. ....  ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. ....  ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนนำเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดเกี่ยวกับการใช้ชื่อทางธุรกิจ ชื่อ คำแสดงชื่อ หรือคำอื่นใดในธุรกิจของผู้รับใบอนุญาตจัดหางาน การโฆษณาการจัดหางาน และการแต่งตั้งพนักงานอัยการหรือเจ้าหน้าที่กรมการจัดหางานเพื่อให้มีอำนาจฟ้องคดีให้แก่คนหางานหรือทายาทโดยธรรม (ร่างมาตรา 6-ร่างมาตรา 9)

2. กำหนดเกี่ยวกับการจัดตั้งสำนักงานทะเบียนจัดหางานกลาง สำนักงานทะเบียนจัดหางานจังหวัด และสำนักจัดหางาน (ร่างมาตรา 10-ร่างมาตรา 11)

3. กำหนดให้การจัดหางานต้องได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน ทั้งนี้ ใบอนุญาตจัดหางานมี 3 ประเภท คือ ใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานทำงานในประเทศ ใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ และใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศ โดยผู้ขออนุญาตต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดและต้องวางหลักประกันอันสมควรเพื่อประกันความเสียหายที่เกิดจากการดำเนินการของผู้ขออนุญาต จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งแสนบาทหรือไม่น้อยกว่าห้าล้านบาทแล้วแต่กรณี (ร่างมาตรา 12-ร่างมาตรา 14 และร่างมาตรา 21)

4. กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานทำงานในประเทศเรียกหรือรับค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายจากคนหางานได้ก็ต่อเมื่อนายจ้างรับคนหางานเข้าทำงานแล้ว ในกรณีที่คนหางานไม่ได้งานตรงตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจัดหางาน ผู้รับใบอนุญาตไม่มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าวและต้องจัดการให้คนหางานเดินทางกลับ หากผู้รับใบอนุญาตไม่ดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้นายทะเบียนจัดการให้คนหางานเดินทางกลับโดยใช้จ่ายเงินจากหลักประกันที่ ผู้รับใบอนุญาตได้วางไว้ แต่ในกรณีที่คนหางานไม่ประสงค์จะเดินทางกลับ ผู้รับใบอนุญาตไม่ต้องรับผิดชอบในการจัดการให้คนหางานเดินทางกลับ (ร่างมาตรา 30-ร่างมาตรา 31)

5. กำหนดห้ามมิให้ผู้รับใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศประกอบธุรกิจตามที่กำหนด และจะรับสมัครหรือประกาศรับสมัครคนหางานเป็นการล่วงหน้าได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน (ร่างมาตรา 33-ร่างมาตรา 34)

6. กำหนดแนวทางปฏิบัติและการดำเนินการให้แก่ผู้รับใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศในเรื่องการจัดส่งคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ การจัดให้นายจ้างในต่างประเทศส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อ ช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ และการเรียกหรือรับค่าบริการจากคนหางาน (ร่างมาตรา 35-ร่างมาตรา 36)

7. กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องให้ความช่วยเหลือคนหางานในกรณีที่คนหางานไม่ได้ทำงานตรงตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจัดหางาน และกำหนดสิทธิเรียกร้องของคนหางานในกรณีที่คนหางานได้ทำงานแล้วแต่ได้ค่าจ้างต่ำกว่าหรือได้ตำแหน่งงานหรือสิทธิประโยชน์อื่นไม่ตรงตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจัดหางาน (ร่างมาตรา 40)

8. กำหนดแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้รับใบอนุญาตในกรณีที่คนหางานได้ค่าจ้าง ตำแหน่งงาน และสิทธิประโยชน์อื่นตรงตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจัดหางาน แต่ไม่ปฏิบัติตามสัญญา หรือคนหางานได้ทำงานจนสัญญาจัดหางานสิ้นสุดลงแล้ว แต่คนหางานไม่ยอมเดินทางกลับภายในระยะเวลาที่กำหนด และกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องคืนค่าบริการและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เรียกเก็บจากคนหางาน ตามอัตราส่วนหรือความรับผิดชอบของผู้รับใบอนุญาตที่มีต่อคนหางาน (ร่างมาตรา 45)

9. กำหนดแนวทางปฏิบัติและการดำเนินการให้แก่ผู้รับใบอนุญาตจัดหาคนหางานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศในเรื่องการประกอบธุรกิจอื่น การแจ้งและชำระค่าธรรมเนียมการจ้างคนต่างด้าวให้ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว รวมทั้งกำหนดผู้รับผิดชอบในการจัดส่งคนหางานต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร ซึ่งหน้าที่ดังกล่าวอาจตกแก่นายจ้าง ผู้รับใบอนุญาต หรือนายทะเบียน แล้วแต่กรณี (ร่างมาตรา 47-ร่างมาตรา 50)

10. กำหนดให้การดำเนินการทดสอบฝีมือคนหางานต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และกำหนดแนวทางปฏิบัติหรือการดำเนินการของผู้รับใบอนุญาตดำเนินการทดสอบฝีมือคนหางานในเรื่องการแสดงใบอนุญาตดำเนินการทดสอบฝีมือคนหางาน การทดสอบฝีมือคนหางาน ผู้ควบคุมการทดสอบ ค่าทดสอบฝีมือ การจัดให้มีสมุดทะเบียนบัญชีและเอกสารเกี่ยวกับกิจการของตน รวมทั้งกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตฯ มีสิทธิในการอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพัฒนาการจัดหางานและคุ้มครองคนหางานกรณีที่นายทะเบียนไม่ออกใบอนุญาตหรือไม่ต่อใบอนุญาตดังกล่าวได้ (ร่างมาตรา 52-ร่างมาตรา 57)

11. กำหนดแนวทางปฏิบัติหรือการดำเนินการของผู้ที่ประสงค์จะเดินทางไปทำงานในต่างประเทศด้วยตนเองโดยมิได้ทำสัญญาจัดหางานกับผู้รับใบอนุญาต  การพาลูกจ้างไปทำงานในต่างประเทศของนายจ้าง การส่งลูกจ้างไปฝึกงานในต่างประเทศของนายจ้าง และการรับสมัครเพื่อหาลูกจ้างในประเทศเพื่อไปทำงานในต่างประเทศของนายจ้างในต่างประเทศ รวมทั้งกำหนดให้คนหางานมีหน้าที่แจ้งเป็นหนังสือให้สำนักงานแรงงานไทยในประเทศที่คนหางานไปทำงาน สถานทูตไทย สถานกงสุลไทยที่รับผิดชอบในการดูแลคนไทยในประเทศนั้น หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบในการดูแลคนหางาน แล้วแต่กรณีทราบภายในระยะเวลาที่กำหนดนับแต่วันที่คนหางานเดินทางไปถึง (ร่างมาตรา 59-ร่างมาตรา 63)

12. กำหนดให้มี “กองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ” ในกรมการจัดหางาน เพื่อใช้จ่ายในกิจการที่กำหนด กำหนดให้มีคณะกรรมการกองทุนฯ วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง องค์ประชุมและอำนาจหน้าที่ (ร่างมาตรา 64-ร่างมาตรา 70)

13. กำหนดให้มี “คณะกรรมการพัฒนาการจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน” กำหนดอำนาจหน้าที่ และให้อำนาจคณะกรรมการในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการมอบหมาย (ร่างมาตรา 75-ร่างมาตรา 77)

14. กำหนดอำนาจของนายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่ และกำหนดให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย นายทะเบียน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาและมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา รวมทั้งกำหนดให้นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจในการควบคุมหรือกำกับดูแลให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ เช่น การยึดหรืออายัดเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการจัดหางาน (ร่างมาตรา 79-ร่างมาตรา 80)

15. กำหนดโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 88-ร่างมาตรา 111)

16. กำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อรองรับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการกองทุนและคณะกรรมการพัฒนาการจัดหางานและคุ้มครองคนหางานให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และกำหนดให้ใบอนุญาตและใบอนุญาตดำเนินการทดสอบฝีมือคนหางานมีผลใช้ต่อไป รวมทั้งกำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อรองรับบรรดาคำขอและคำอุทธรณ์ที่ได้ยื่นไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเป็นคำขอหรือคำอุทธรณ์ที่ได้ยื่นไว้ตามพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 112-ร่างมาตรา 116)


(ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี, 17-8-2553)

หนุน ร่าง พ.ร.บ.กองทุนการออมฯ ช่วยแรงงานมีเงินออมช่วงสูงวัย

กรุงเทพฯ 17 ส.ค.- เครือข่ายบำนาญภาคประชาชนรวมตัวหนุน ร่าง พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ  เพราะเป็นประโยชน์ต่อแรงงานทั้งในและนอกระบบ  มีเงินเก็บสะสมสามารถนำมาใช้ได้เมื่อถึงวัยสูงอายุ เรียกร้องรัฐบาลผลักดันให้ออกเป็นกฎหมายบังคับใช้โดยเร็ว

เครือข่ายบำนาญภาคประชาชนจัดเสวนา "บำนาญแห่งชาติถ้วนหน้าที่ไม่เหลื่อมล้ำ" มีนักวิชาการ เอ็นจีโอ แรงงานอิสระเช่น วินรถจักรยานยนต์ แท็กซี่ เข้าร่วม เพื่อรวมตัวเรียกร้องรัฐบาลออกกฎหมายกองทุนการออมแห่งชาติ 

รศ.วรเวศม์ สุวรรณรดา อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.กองทุนการออกแห่งชาติ ในทางปฏิบัติดีมากแต่ให้กับแรงงานระบบเท่านั้น ที่ปัจจุบันมีอยู่ 2 ใน 3 ของแรงงานทั้ง 35 ล้านคนในประเทศ ถือว่าเป็นกฎหมายที่มาทันเวลาและเหมาะสม จากการศึกษาพบยังมีข้อจำกัดสำหรับแรงงานที่ต้องโยกย้ายงานทำให้แรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคมต้องออกจากระบบเนื่องจากตกงานมาประกอบอาชีพอิสระและหางานทำได้ย้ายกลับเข้าสู่ระบบอีกครั้ง โดยคนกลุ่มนี้จะย้ายสิทธิไปมา เงินสะสมที่เกิดจากการย้ายงานเปลี่ยนไปมาอาจไม่เพียงพอในบั้นปลายชีวิต  ทางเครือขายจึงเสนอให้รัฐบาลมอบสิทธิตามร่าง พ.ร.บ.นี้เปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิแม้จะเป็นแรงงานในระบบก็สามารถจะออมเงินเข้ากองทุนนี้ได้ ซึ่งเงื่อนไขที่กำหนดไว้ เช่น ออมเงินเดือนละ 50 บาท รัฐบาลสนับสนุนตั้งแต่ร้อยละ 25 ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ ตามขั้นของอายุถึง 60 ปี และนำเงินมาใช้เป็นบำนาญได้ ส่วนคนที่เป็นแรงงานในระบบที่สะสมเข้ากองทุนประกันสังคมนั้นแรงงานสะสม นายจ้างสมทบ ซึ่งกลุ่มในระบบจะไม่ได้สิทธิเงินส่วนของรัฐบาล มองว่าตรงนี้ไม่เท่าเทียม โดยจะเสนอให้มีความเท่าเทียมกันหมด

นายสำเร็จ มูระคา รองประธานชมรมเพื่อนบนท้องถนน อายุ 38 ปี อาชีพขับแท็กซี่ กล่าวว่า ในกลุ่มแท็กซี่ซึ่งเป็นแรงงานนอกระบบ ได้รับสวัสดิการจากรัฐเพียง 2 อย่างคือ สวัสดิการรักษาพยาบาล 30 บาท และเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 500 บาท ซึ่งพบว่าคนขับแท็กซี่เป็นผู้สูงอายุร้อยละ 20 จากทั่วประเทศ กว่า 100,000 คน  ไม่มีหลักประกันในชีวิตจึงสนับสนุนให้รัฐออกกฎหมายนี้ ทั้งนี้ หลังการเสวนาวันนี้ ตัวแทนเครือข่ายฯ จะประสานงานขอเข้าพบ นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  เพื่อยื่นหนังสือผลักดันให้รัฐบาลออกกฎหมายนี้โดยเร็ว

(สำนักข่าวไทย, 17-8-2553)

กงสุลพม่าวอนนายจ้างไทย แจ้งสิทธิ-ข้อมูลแก่ลูกจ้างชาวพม่า

กงสุลพม่าประจำประเทศไทยขอความร่วมมือกับนายจ้างให้แจ้งข้อเท็จจริงกับแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า เพื่อที่แรงงานต่างด้าวจะได้มีความเข้าใจอย่างถูกต้องเกี่ยวกับการจัดระบบแรงงานต่างด้าว และตัวแรงงานต่างด้าวเองก็ควรปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามกฎที่ตั้งขึ้น พร้อมขอบคุณประเทศไทยที่ผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่าได้อยู่ทำงานในประเทศไทย

MR.WIN ZEYAR TUN กงสุลพม่าประจำประเทศไทย ได้พูดคุยกับนายจ้าง/สถานประกอบการในพื้นที่อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ในการประชุมพิสูจน์สัญชาติและการนำเข้าแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ที่อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ผ่านMR.SAW AUNG ZAW HTWE ล่ามประจำจำสถานทูตพม่า ว่าการพิสูจน์สัญชาติและการนำเข้าแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ได้เริ่มโครงการมาหลายปีแล้ว แต่เพิ่งเห็นผลเป็นรูปธรรมเมื่อปี 2552 ที่ผ่านมา โดยตั้งแต่ปี 2552 ทางการพม่าได้ออกเล่มพาสปอร์ตสำหรับแรงงานต่างด้าวไปแล้วเกือบแสนเล่ม แต่ในความเป็นจริงถือว่ายังน้อยอยู่มากถ้าเทียบกับจำนวนแรงงานต่างด้าวที่มีอยู่ในขณะนี้ โครงการนี้จะสำเร็จได้ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ซึ่งกรมการจัดหางานและสถานทูตพม่าก็ได้ร่วมมือกันมาโดยตลอด ส่วนปัญหาที่พบมากในขณะนี้คือ แรงงานต่างด้าวได้รับข่าวสารแบบผิดๆจนทำให้กลัวไม่กล้าไปทำพาสปอร์ต เพระเกรงว่าหากให้ข้อมูลที่แท้จริงไปแล้วทางการพม่าจะไปเก็บเงินกับครอบครัวหรือญาติที่อยู่ในประเทศพม่า อีกปัญหาหนึ่งคือแรงงานต่างด้าวกลัวว่าหลังจากที่ทำเล่มพาสปอร์ตไปแล้วตนต้องไปจ่ายภาษีให้กับทางการพม่า ดังนั้นในนามสถานทูตพม่าประจำประเทศไทยขอยืนยันว่าจะไม่มีการเก็บภาษีหรือมีเจ้าหน้าที่ไปเก็บเงิน

กับครอบครัวของแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในประเทศพม่า แต่อย่างใด และขณะนี้ก็ยังไม่พบว่ามีใครมาฟ้องร้องกรณีดังกล่าวกับทางการมาก่อน ทั้งนี้อยากจะขอความร่วมมือให้นายจ้าง/สถานประกอบการพูดคุยชี้แจงถึงข้อเท็จจริงกับแรงงานต่างด้าวให้มีความเข้าใจอย่างถูกต้อง รวมทั้งตัวแรงงานต่างด้าวก็ขอให้กรอกข้อมูลที่เป็นจริง เพื่อที่ทางการพม่าจะได้ไปทำการพิสูจน์สัญชาติได้อย่างถูกต้องต่อไป นอกจากนี้ MR.WIN ZEYAR TUN กงสุลพม่าประจำประเทศไทย ได้กล่าวขอบคุณประเทศไทยที่ผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่าทำงานอยู่ในประเทศไทยได้

(สำนักประชาสำพันธ์เขต 3, 18-8-2553)

ปธ.อุตดันตั้งรง.ในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์

นายสุรศักดิ์ ลิ่มวิไลกุล" ประธานสภาอุตสาหกรรมบุรีรัมย์ เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจจ.บุรีรัมย์ ในช่วงนี้ว่า ชาวบ้านใน จ.บุรีรัมย์ ต้องการให้เกิดการจ้างงาน โดยจะต้องสนับสนุนและจัดให้มีโรงงานอุตสาหกรรมมาตั้งในเขตพื้นที่จังหวัด เพราะส่วนใหญ่ประชาชนจะประกอบอาชีพเกษตรกรรมมากกว่า 80 % เพื่อรองรับแรงงานภาคการเกษตรในฤดูว่างงาน ลดปัญหาการละทิ้งถิ่นฐานอพยพไปทำงานยังต่างจังหวัด และที่สำคัญหากประชาชนระดับรากหญ้าจะได้มีอาชีพ มีงานทำ และ มีรายได้ ก็จะมีกำลังซื้อทำให้ส่งผลดีกับทุกภาคธุรกิจสามารถอยู่รอดได้เช่นกัน

ในส่วนของจังหวัดบุรีรัมย์ ภาวะเศรษฐกิจ เริ่มปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเห็นได้จากโครงการก่อสร้างบ้านจัดสรร ทาวน์เฮาส์ พบว่าการก่อสร้างมีเพิ่มขึ้น ส่งผลให้แรงงานในพื้นที่มีงานหรือการใช้แรงงานมากขึ้นหลังจากที่ซบเซาต่อเนื่องในห้วง 2-3 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้การใช้แรงงานภาคเกษตรและภาคการก่อสร้าง ก็มีมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะการจ้างแรงงานวันละ 150 -170 บาท

อย่างไรก็ตาม มูลค่ามูลรวมของเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ ยังต้องรอเม็ดเงินอัดฉีดจากภาครัฐเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการก่อสร้างเส้นทางคมนาคม หรือการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐควรมีมากกว่าที่ผ่านมา ส่วนการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรที่เกี่ยวข้องกับพืชเศรษฐกิจหลักของจังหวัด มีพื้นที่ปลูกทั้งข้าว อ้อย ยางพารา และมันสำปะหลัง ภาครัฐควรให้ความสำคัญต่อการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตพืชเศรษฐกิจหลักดังกล่าว เพื่อให้จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นแหล่งผลิตพืชอาหาร พืชพลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และก้าวเข้าสู่การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมการเกษตรต่อไป

(เนชั่นแชนแนล, 19-8-2553)

เอกชนโวยรัฐขยับค่าแรง ดันต้นทุนพรวด-เสี่ยงเจ๊ง

นายทวี ปิยะวัฒนา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า การที่รัฐบาลมีนโยบายจะปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการระดับล่าง จะทำให้ภาคเอกชนต้องปรับขึ้นเงินเดือนตามไปด้วย รวมถึงรัฐบาลยังเตรียมปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นไม่ต่ำกว่าวันละ 250 บาท ที่จะมีผลในเดือนเมษยายน 2554 นั้น ถือเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมให้มีต้นทุนสูงขึ้น เพราะปัจจุบันมีการใช้แรงงานทั่วประเทศราว 15 ล้านคน และอยู่ในระบบอุตสาหกรรมจำนวนมากราว 70-80% โดยแต่ละปีผู้ประกอบการก็จะมีการปรับค่าแรงปกติทุกปี เมื่อมีนโยบายดังกล่าวก็จะทำให้การปรับเงินเดือนเพิ่มเป็นปีละ 2 ครั้ง

"รัฐบาลควรพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงตามทักษะความสามารถ และฝีมือของแรงงาน ไม่ใช่ปรับขึ้นให้เท่ากันทั้งหมด ซึ่งไม่ยุติธรรมต่อแรงงานที่อยู่มาก่อน นโยบายดังกล่าวของรัฐบาลถือเป็นการทำให้นายจ้างต้องปรับขึ้นเงินเดือนให้ลูกจ้างถึง 2 เด้ง ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นอีก ถ้าเป็นเช่นนี้ผู้ประกอบการคงเจ๊งกันพอดี" นายทวี กล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม ก็มีการจ่ายค่าแรงให้กับแรงงานตามระดับฝีมืออยู่แล้ว เช่น ช่างเชื่อมที่มีฝีมือดีจะได้รับค่าแรงถึงวันละ 600 บาท เป็นต้น ถ้ามีนโยบายดังกล่าวออกมาอีก ก็ต้องปรับขึ้นให้อีก ซึ่งจะทำให้ค่าแรงของแรงงานเหล่านี้สูงขึ้นอีก และขณะนี้ ส.อ.ท.ได้มีการตั้งคณะทำงานศึกษาการปรับโครงสร้างค่าแรง ในแต่ละภาคอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับลักษณะการทำงานของแรงงานอยู่แล้ว เพื่อหาจุดที่เหมาะสมสำหรับการจ่ายค่าแรง เมื่อรัฐบาลมีนโยบายดังกล่าวออกมาก็ถือเป็นการซ้ำซ้อนกันอีก

(แนวหน้า, 19-8-2553)

ยังไม่มีข้อสรุปแก้ปัญหาแรงงานประมง เตรียมหารือต่อก่อนเสนอนายกฯ

กรุงเทพฯ 18 ส.ค.- หลังจากผู้เกี่ยวข้องในกิจการด้านประมง ร่วมหาแนวทางแก้ปัญหาด้านแรงงานประมงวันนี้ยังไม่มีข้อสรุปที่จะนำไปเสนอนายกรัฐมนตรีได้ เนื่องจากมีการเสนอแนวทางที่น่าสนใจจำนวนมาก เตรียมตั้งกรรมการชุดเล็กพิจารณาข้อสรุป ด้านนักวิชาการแนะควรสรุปแนวทางเสนอรัฐบาลให้ได้ภายใน 6 สัปดาห์

นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวภายหลังจากปิดการสัมมนาผู้ประกอบการภาคประมง เพื่อพิจารณารูปแบบและแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านแรงงานประมง ว่าสถานการณ์และปัญหาการค้ามนุษย์รูปแบบของแรงงานประมง เป็นเรื่องที่น่าห่วงใย และกำลังเป็นประเด็นที่ถูกจับตามองจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา หรือกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป และอาจมีผลกระทบรุนแรงต่อการค้าของไทย รวมถึงการถูกกีดกันทางการค้าในสินค้าประเภทประมง หากพบว่ามีการค้ามนุษย์ ใช้แรงงานเด็ก รวมถึงการใช้แรงงานบังคับ จึงสนับสนุนให้มีการเร่งทำงานของผู้เกี่ยวข้องเพื่อเสนอแนวดังกล่าวต่อรัฐบาลต่อไป
   
ด้าน ดร.สายสุรี จุติกุล กรรมการที่ปรึกษาอนุกรรมการพิจารณาแนวทางและมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ รูปแบบของแรงงานประมง ว่า ที่ประชุมยังไม่สามารถหาข้อยุติเพื่อรายงานต่อนายกรัฐมนตรีผ่านรัฐมนตรีว่าการ พม.ได้ เนื่องจากมีความเห็นและข้อเสนอที่น่าสนใจหลากหลาย อาทิ เสนอให้มีการตั้งศูนย์ดูแลแรงงานประมงในพื้นที่ที่มีการทำประมง ดังนั้น จะเสนอตั้งชุดทำงานชุดเล็กเพื่อให้พิจารณาข้อเสนอและรายละเอียดที่ได้จากการประชุมวันนี้ก่อน โดยจะเสนอรายชื่อคณะกรรมการชุดนี้ต่อ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ประธานคณะกรรมการประสานและกำกับการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พิจารณา และเริ่มทำงาน อย่างไรก็ตาม ควรจะสรุปข้อเสนอเพื่อให้ พม.เสนอต่อนายกรัฐมนตรีได้ภายใน 6 สัปดาห์

(สำนักข่าวไทย, 19-8-2553)

สหภาพแรงงานโลกสนับสนุนสหภาพแรงงานคนทำยางยื่นข้อเรียกร้อง

19 ส.ค. 53 – สหพันธ์แรงงานนานาชาติของคนงานในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ ยาง, พลังงาน, เหมืองแร่ และคนงานทั่วไป (ICEM) และ United Steelworkers (USW) รวมถึงสหภาพแรงงานต่างๆ ทั่วโลก ส่งจดหมายเปิดผนึก สนับสนุนสหภาพแรงงานคนทำยางแห่งประเทศไทย ยื่นข้อเรียกร้องคุ้มครองแรงงานชั่วคราว และข้อเรียกร้องด้านการประกันสุขภาพหลังการเกษียณอายุ

 

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) หนุนรถเมล์ NGV

รัฐสภา-นายวีระพงษ์วงแหวนรองประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 ส.ค. สหภาพได้ประชุมถึงเรื่อง การเช่าซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน และมีมติว่าจะทำหนังสือเปิดผนึกเสนอให้แก่นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะคณะทำงานพิจารณาโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน โดยมีข้อเรียกร้องของพนักงาน 3 ข้อ คือ 1.สหภาพยืนยันให้รัฐบาลเช่าซื้อรถเมล์เท่านั้น 2.ขอให้รัฐบาลเร่งทยอยนำเข้ารถเมล์ครั้งละ 500-600 คัน เพื่อนำมาใช้แทนรถเมล์ที่หมดสภาพการใช้งานก่อน ซึ่งจะลดปัญหาการนำรถเถื่อนมาให้บริการ และชะลอการใช้ตั๋วโดยสารอิเล็กทรอนิกส์จนกว่าจะได้รับมอบรถเมล์ครบตามจำนวน เพื่อลดการปรับลดพนักงานอย่างกะทันหัน 3.การเออร์ลี รีไทร์พนักงานขอให้เป็นไปด้วยความสมัครใจ ไม่มีการข่มขู่

(สยามรัฐ, 19-8-2553)

มะกันสุ่มตรวจโรงงานไทยใช้แรงงานเด็ก-ผิดกฎหมาย

นายอาทร พิบูลธนพัฒนา เลขาธิการ สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทยเปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ระหว่างวันที่ 18-27 สิงหาคมศกนี้ ทางกระทรวงแรงงานของสหรัฐอเมริกาโดยการประสานงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ไอแอลโอ) จะเข้ามาสุ่มตรวจอุตสาหกรรมกุ้งของไทยทั้งโรงงานแปรรูป(ห้องเย็น)สถานแปรรูปกุ้งเบื้องต้น(ล้ง)ฟาร์มเลี้ยงกุ้งรวมถึงตลาดกลางซื้อขายกุ้งมีเป้าหมายสำคัญเพื่อตรวจสอบว่าอุตสาหกรรมกุ้งของไทยมีการใช้แรงงานเด็กและแรงงานผิดกฎหมายหรือไม่

เรื่องดังกล่าวถือเป็นการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง หลังจากในเดือนเมษายน 2551 สื่อต่างประเทศได้ประโคมข่าวว่าอุตสาหกรรมกุ้งในเอเชียมีการทารุณกรรมแรงงานเป็นเรื่องปกติ พบเห็นได้ใน2 ประเทศคือไทย และบังกลาเทศโดยมีการประณามอุตสาหกรรมกุ้งของไทยว่ามีการใช้งานเยี่ยงทาสอ้างแหล่งที่มาจากองค์กรโซดาลิตี้เซ็นเตอร์ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน หรือเอ็นจีโอองค์กรหนึ่งต่อมาในเดือนมิถุนายนปีเดียวกันทางสหรัฐฯได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบข้อเท็จจริงในไทยในลักษณะสุ่มตรวจโรงงานไม่มีการแจ้งล่วงหน้าแต่ไม่พบมีการกระทำผิดตามข้อกล่าวหาแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดีในเดือนกันยายน 2552 สำนักกิจการแรงงานระหว่างประเทศของกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ได้เผยแพร่รายงาน 3 ฉบับ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการละเมิดและการใช้แรงงานเด็ก และแรงงานผิดกฎหมายในการผลิตสินค้า 122 รายการ ใน58 ประเทศทั่วโลก โดยระบุในส่วนของประเทศไทยมีอุตสาหกรรมกุ้ง และอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มของไทยมีการใช้แรงงานเด็กและแรงงานผิดกฎหมาย ขณะที่อุตสาหกรรมน้ำตาลและหนังสือ/ภาพยนตร์ลามกมีการละเมิดแรงงานเด็กซึ่งรัฐบาลไทยได้ชี้แจงทำความเข้าใจไปแล้วว่าอุตสาหกรรมไทยไม่มีการใช้แรงงานเด็กหรือแรงงานผิดกฎหมาย

"แม้เราจะชี้แจงไปแล้ว รวมทั้งร่วมสุ่มตรวจโรงงาน ประชุมร่วมกันก็หลายครั้งแต่เขายังข้องใจ ซึ่งในรอบนี้ทางเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานท่านทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทยและทีมงานด้านเศรษฐกิจของสถานทูตจะลงสุ่มตรวจอีกครั้ง ซึ่งทางเราก็พร้อมให้ตรวจเพื่อแสดงความบริสุทธิ์เบื้องต้นได้ให้สมาชิกของสมาคมประสานไปยังสถานแปรรูปกุ้งเบื้องต้นหรือล้งเพื่อซักซ้อมความเข้าใจในการลงบัญชีจ่ายค่าจ้างแรงงานให้ถูกเพราะหากไม่เคลียร์จะมีปัญหาได้"นายอาทร กล่าวและว่า

ทางสมาคมยังมั่นใจว่าการตรวจสอบครั้งนี้จะผ่านไปด้วยดีและไทยจะสามารถรักษาตลาดสหรัฐฯที่เป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งในสินค้ากุ้งของไทยมีสัดส่วนประมาณ50%ของการส่งออกในภาพรวมเอาไว้ได้ แต่หากไม่ผ่านอาจเกิดปัญหาตามมาเช่นในชั้นแรกรัฐบาลสหรัฐฯอาจสั่งห้ามหน่วยงานราชการ หรือรัฐวิสาหกิจซื้อกุ้งไทยจากบริษัทที่ตรวจพบมีการละเมิดแรงงาน แต่คงไม่แบนทั้งประเทศ

ด้านนายกาสชัย แจ่มขจรเกียรติอุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทยกล่าวว่าในครั้งนี้ทางกระทรวงแรงงานสหรัฐฯและเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ของสหรัฐฯ จะมาสุ่มตรวจเรื่องการใช้แรงงานในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มด้วยซึ่งโรงงานสมาชิกของสมาคมก็พร้อมที่จะให้ตรวจ ซึ่งเชื่อว่าจะพ้นข้อครหา และยังสามารถรักษาฐานการส่งออกเครื่องนุ่งห่มไปยังตลาดสหรัฐฯที่เป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งคิดเป็นสัดส่วนการส่งออกกว่า40% เอาไว้ได้เพราะที่ผ่านมาโรงงานเครื่องนุ่งห่มของไทยซึ่งผลิตสินค้าป้อนให้กับแบรนด์ดังๆปกติทางเจ้าของแบรนด์จะส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบมาตรฐานแรงงานและมาตรฐานโรงงานทุก 6 เดือน หรือทุก 1 ปีอยู่แล้ว

อนึ่ง ช่วงเวลาใกล้เคียงกันคือระหว่างวันที่ 16-22  สิงหาคมศกนี้ คณะเจ้าหน้าที่รัฐสภาสหรัฐฯได้เดินทางเยือนประเทศไทยส่วนหนึ่งมีกำหนดการเยี่ยมชมโรงงานผลิตสินค้าสำคัญ เช่นสิ่งทอ เครื่องประดับเงิน และโรงงานแปรรูปกุ้งเพื่อรับทราบข้อมูลนำไปประกอบการพิจารณาในการปฏิรูปโครงการจีเอสพี(สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร)ของรัฐสภาสหรัฐฯและส่วนหนึ่งเพื่อการตรวจสอบข้อมูลว่าประเทศไทยให้ความคุ้มครองและบังคับใช้แรงงานตามมาตรฐานสากลหรือไม่

(ฐานเศรษฐกิจ, 19-8-2553)

ประกาศคำเตือนเกี่ยวกับการถูกหลอกลวงไปทำงานที่ประเทศเฮติ

ด้วยกระทรวงการต่างประเทศได้รับการสอบถามและตรวจสอบจากประชาชนทางโทรศัพท์ว่า มีกลุ่มบุคคลชักชวนให้สมัครไปทำงานที่ประเทศเฮติ โดยอ้างว่า สหประชาชาติได้มอบหมายให้กองทัพไทยจัดกำลังพลเพื่อเดินทางไปช่วฟื้นฟูเฮติ จึงต้องการหาคนงานไปทำงานก่อสร้าง โดยมีค่าตอบแทนที่สูง แต่ผู้สนใจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสมัครงานก่อน กระทรวงฯ จึงได้ดำเนินการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวกับกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน และได้รับแจ้งว่า ไม่มีบริษัทจัดหางาน บุคคล หรือกลุ่มบุคคลใด ขออนุญาตจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานที่ประเทศเฮติ อีกทั้งยังไม่มีบุคคล หรือบริษัทเอกชน หรือส่วนราชการใด ๆ ของไทย ได้รับอนุญาตให้รับสมัครหรือจัดหาคนเข้าไปทำงานฟื้นฟูในเฮติแต่อย่างใด

กระทรวงการต่างประเทศจึงขอประกาศเตือนคนไทยที่ถูกชักชวนได้เดินทางไปทำงานที่ประเทศเฮติ ให้ตรวจสอบข้อมูลก่อนการสมัครงาน โดยสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ที่ www.doe.go.th หรือโทรสายด่วน 1694 และสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนเดินทางได้ที่เว็บไซต์กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ที่ www.consular.go.th

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th

(RYT9, 20-8-2553)

12 แรงงานลำปางถอนแจ้งความ บ.เอกชน

นางสาวลักษณา สิริเวชประเสริฐ จัดหางานจังหวัดลำปาง เปิดเผยว่า จากกรณีที่ คนหางานในพื้นที่ อ.เถิน และ อ.แม่พริก ถูกนายหน้าจัดหางานของบริษัทแห่งหนึ่ง เข้ามาหลอกว่า จะสามารถนำคนหางานไปทำงานในเหมืองแร่ ประเทศลาวได้ โดยได้เรียกเก็บเงินก่อน รายละ 15,000 - 20,000 บาท โดยมีแรงงานชาวลำปาง จำนวน 25 ราย ถูกหลอกเก็บเงิน ไปกว่า 350,000 บาท ล่าสุดขณะนี้ ตนได้รับรายงานมาว่า แรงงานจำนวน 12 ราย ได้ไปถอนแจ้งความที่ สภ.แม่พริกและ สภ.เถิน ลำปางแล้ว หลัง บริษัทดังกล่าวได้ชดใช้เงินคืนให้ครึ่งหนึ่งของยอดเงินที่จ่ายไป ส่วน คนงาน อีก 13 ราย ทางสำนักงานแรงงานจังหวัดลำปาง จะได้ดูแลและให้ความช่วยเหลือต่อ ซึ่งหาก นายหน้า ยังไม่มีการตกลงกับคนหางานที่เหลือเพื่อคืนเงิน ก็จะต้องดำเนินการตามกฎหมาย หรือ ส่งฟ้องดำเนินคดีต่อไป

(ไอเอ็นเอ็น, 20-8-2553)

ร้อง "ชินวรณ์" เลิกประกาศปิดหลักสูตร ป.ตรีต่อเนื่อง

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พระนคร วิทยาเขตเทเวศร์ ยื่นหนังสือจี้ เสมา 1 ยกเลิกประกาศ ศธ.ว่าด้วยการปิดหลักสูตรปริญญาตรี ต่อเนื่อง และร้องเรียนปัญหาการเทียบโอนหน่วยกิต......

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 19 ส.ค. ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีอาจารย์และนักศึกษาหลักสูตรปริญญาตรีต่อเนื่อง และหลักสูตรปริญญาตรีต่อเนื่อง (เทียบโอน) คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม สาขาไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหการคอมพิวเตอร์และเครื่องกล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) พระนคร วิทยาเขตเทเวศร์ ประมาณ 150 คน มายื่นหนังสือถึง นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รมว.ศึกษาธิการ เพื่อขอให้ ยกเลิกประกาศ ศธ.ว่าด้วยการปิดหลักสูตรปริญญาตรี ต่อเนื่อง และร้องเรียนปัญหาการเทียบโอนหน่วยกิต โดยนายวีระชัย ถาวรทนต์ เลขานุการ รมว.ศธ. ได้รับหนังสือร้องเรียนแทน พร้อมทั้งให้ตัวแทนนักศึกษาเข้าไปหารือที่ห้องประชุม ศธ. โดยนายตฤณ ดิษฐลำภู อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม

มทร.พระนคร วิทยาเขตเทเวศร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเปิดหลักสูตรปริญญาตรีต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2518 เพื่อเปิดโอกาสให้ ผู้ที่จบ ปวส.ได้เรียนต่อถึงระดับปริญญาตรี แต่ล่าสุดนายชินวรณ์ได้ออกประกาศ ศธ. เมื่อเดือน มิ.ย. ปี 2553 สั่งปิดปริญญาตรีต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นการปิดกั้นสิทธิทางการศึกษาตามรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ทำให้ผู้ที่เรียนจบ ปวส. และแรงงานในภาคอุตสาหกรรมประมาณ 200,000 คน หมดโอกาสเรียนต่อระดับปริญญาตรี ซึ่งหากนายชินวรณ์ยังไม่ พิจารณายกเลิกประกาศดังกล่าว หรือไม่ดำเนินการใดๆใน 15 วัน จะยื่นเรื่องฟ้องศาลปกครองต่อไป

นายตฤณกล่าวด้วยว่า ก่อนหน้าที่นักศึกษาจะมาร้องเรียนที่ ศธ. อธิการบดี คณบดี และอาจารย์ ได้ขู่นักศึกษาว่าจะให้ติด F ตนและนักศึกษาต่างกังวลในเรื่องนี้ จึงอยากให้ ศธ.ช่วยดูแลด้วย อย่าให้ เกิดปัญหากับนักศึกษา

(ไทยรัฐ, 20-8-2553)

แห่แจ้งจับนายหน้าอ้างบ.เชฟร่อนฯตุ๋นทำงานนอก

ประชาชนชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชจำนวน 40 คน ได้เดินทางเข้าร้องเรียนสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครศรีธรรมราช กรณีถูกนายวีรศักดิ์ เพ็ชรแกมแก้ว อ้างว่าเป็นผู้บริหารของบริษัท เคซีเอ ดอยแท็ก ดริลลิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ในเครือบริษัทเชฟร่อน สำรวจและผลิตประเทศไทย จำกัด
 
โดยผู้ร้องเรียนแจ้งว่าโดนนายวีรศักดิ์ฯ มาเปิดจุดรับสมัครคนงาน บริเวณตึกแถวหน้า รพ.เชียรใหญ่ อ.เชียรใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช อ้างว่าจะส่งไปทำงานที่ประเทศแอฟริกา มีรายได้สูงเดือนละหลายแสนบาท ก่อนจะเรียกค่าดำเนินการเบื้องต้นคนละ 35,000 บาท มีผู้สนใจสมัครงานกับบริษัทและเสียค่าใช้จ่ายให้กับนายวีระศักดิ์ฯ ไปแล้วแต่เรื่องก็เงียบหายไปหลายเดือน จนมีการตรวจสอบพบว่าเป็นการแอบอ้างหลอกลวงต้มตุ่น

ต่อมาในวันที่ 10 ส.ค.53 ผู้เสียหาย 11 คน ได้เข้าแจ้งความกับ ร.ต.อ. วิโชติ ศรีทองฉิม ร้อยเวร สภ.เชียรใหญ่ ให้ดำเนินคดีกับนายวีรศักดิ์ฯ และในวันนี้ (20 ส.ค.53) ผู้เสียหายได้เข้าแจ้งความและให้ปากคำกับพนักงานสอบสวน อีก 29 คน รวมผู้เสียหาย 40 คน รวมเงินค่าเสียหายที่โดนต้มตุ๋นมูลค่า 1,400,000 บาท (หนึ่งล้านสี่แสนบาท)

หลังจากลงบันทึกประจำวันเรียบร้อยแล้ว ร.ต.อ. วิโชติ ศรีทองฉิม พนักงานสอบสวนเจ้าของคดีได้แนะนำให้ผู้เสียหายทั้งหมดเดินทางเข้าร้องเรียนกับสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อเป็นหลักฐานและขอความช่วยเหลืออีกทางหนึ่ง โดยตำรวจจะทำการสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อเสนอขออนุมัติหมายจับนาย วีระศักดิ์ เพ็ชรแกมแก้ว พร้อมพวกในข้อหาร่วมกันหลอกลวงประชาชนต่อไป

สำหรับการตรวจประวัติของนายวีระศักดิ์  พบว่าเคยทำงานเป็นคนขับรถจักรกลหนักของบริษัทบริษัท เคซีเอ ดอยแท็ก ดริลลิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ในเครือบริษัทเชฟร่อน สำรวจและผลิตประเทศไทย จำกัด จริง แต่ได้ลาออกไป 8 เดือนแล้ว ภูมิลำเนาเดิมอยู่ อ.นาบอน จ.นครศรีธรรมราช และเคยย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ จ.สงขลา ก่อนจะมาได้ภรรยาที่ อ.เชียรใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช และแอบอ้างบริษัทเคซีเอ ดอยเทค จำกัด เปิดรับสมัครคนงานไปทำงานในประเทศแอฟริกาในลักษณะการหลอกลวงต้มตุ่นดังกล่าว

นายอุทัย กาญจนโรจน์ อายุ 23 ปี อยู่บ้านเลขที่ 207/1 ม.7 ต.ทุ่งใส่ อ.สิชล นครศรีธรรมราช 1 ในผู้เสียหาย แจ้งว่า เรียนจบระดับ ปวส.จากสถานศึกษาแห่งหนึ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อทราบข่าวการเปิดรับสมัครคนงานไปทำงานในประเทศแอฟริกาตนจึงปรึกษากับอาจารย์ที่สอนในสถานศึกษารวมทั้งเพื่อน ๆ ที่จบในรุ่นเดียวกันก่อนจะตัดสินใจทั้งตน อาจารย์ และเพื่อน ๆ ไปสมัครงานและจ่ายเงินคนละ 35,000 บาท เพื่อเป็นค่าดำเนินการในการจัดทำหนังสือเดินทาง ค่าฝึกอบรมก่อนเดินทาง โดยจะส่งหลักฐานของผู้สมัครทั้งหมดไปให้สำนักงานใหญ่ของบริษัท เคซีเอ ดอยแท็ก ดริลลิ่ง (ประเทศไทย) จำกัดดำเนินการให้
 
“แต่เวลาผ่านมาหลายเดือนกลับไม่มีการดำเนินการใด ๆ เลย ผู้เสียหายจึงตรวจสอบกับบริษัท เคซีเอ ดอยแท็ก ดริลลิ่ง (ประเทศไทย) จำกัดจึงทราบข้อเท็จจริงว่าเป็นการแอบอ้างชื่อบริษัทที่นายวีระศักดิ์ฯ เคยทำงานอยู่มาหลอกลวงต้มตุ๋นเปิดรับสมัครคนงาน และทางบริษัทฯ ดังกล่าวแจ้งว่านายวีระศักดิ์ฯ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีอำนาจในบริษัท เคซีเอ ดอยแท็ก ดริลลิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด แต่อย่างใด เมื่อรู้ภายหลังว่าเป็นการหลอกลวงต้มตุ๋น จึงเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เชียรใหญ่ ก่อนจะรวมตัวกันมาร้องเรียนที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครศรีธรรมราชด้วย” นายอุทัยฯ กล่าว

(โพสต์ทูเดย์, 21-8-2553)

คกก.ความปลอดภัยในการทำงานฯ พบ รมว.แรงงานจันทร์นี้รับนโยบายปี 54

กรุงเทพฯ 21 ส.ค.- คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เตรียมเข้าพบ รมว.แรงงาน วันจันทร์ 23 ส.ค.นี้ เพื่อรับนโยบายและทิศทางการดำเนินงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยฯ สำหรับปี 2554 หลังกฎกระทรวงฯ ความปลอดภัยในการทำงานมีผลบังคับใช้ 5 ม.ค.2554

นางอัมพร นิติศิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ในฐานะกรรมการคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน กล่าวถึงกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2553 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมา และจะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาตรงกับวันที่ 5 มกราคม 2554 ว่า สาระสำคัญของกฎกระทรวงฉบับนี้ คือสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป ให้นายจ้างจัดให้มีระบบการจัดการด้านความปลอดภัยในการทำงานของสถานประกอบการ

นางอัมพร กล่าวว่า ปัญหาด้านความปลอดภัยที่เกิดขึ้นมักเป็นปลายเหตุและการวินิจฉัยปัญหามีความซับซ้อนในเชิงวิทยาศาสตร์ในการวิเคราะห์ถึงสาเหตุ ทำให้บางกรณีไม่สามารถระบุถึงปัญหาต้นเหตุแท้จริงเพื่อการเตรียมป้องกันปัญหา สำหรับปี 2554 คณะกรรมการฯ มีความเห็นพ้องต้องกันว่า หน่วยงานภาครัฐในคณะกรรมการชุดนี้ เช่น กรมควบคุมโรค กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมโยธาธิการและผังเมือง และกรมควบคุมมลพิษ ควรมีการบูรณาการทำงานด้วยกันในลักษณะคณะทำงานเฉพาะกิจฯ ที่จะร่วมกันออกปฏิบัติการเมื่อเกิดปัญหาขึ้น เพื่อค้นหาสาเหตุจากมิติการมองปัญหาตามวิชาชีพที่แตกต่าง จะช่วยในการวิเคราะห์ปัญหาได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยเฉพาะปัญหาสารเคมีรั่วไหล อุบัติเหตุจากการทำงานในที่อับอากาศ และยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานขององค์กรภาครัฐด้วย

ทั้งนี้ ในวันจันทร์ที่ 23 สิงหาคม 2553 เวลา 14.00 น. ผู้แทนคณะกรรมการความปลอดภัยฯ จะเข้าพบนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อรับทราบนโยบายและทิศทางการดำเนินงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานต่อไป

(สำนักข่าวไทย, 21-8-2553)

เหยื่อทางแรงงานในลิเบีย แฉเล่ห์บริษัทจัดหางาน ไม่กลัวคุกท้าฟ้อง “ก.แรงงาน”

ความคืบหน้ากรณีผู้ใช้แรงงานไทยที่ไปตกระกำลำบากทำงานเยี่ยงทาส แต่ไม่ได้รับเงินเดือน ไม่ได้รับสวัสดิการโดยเฉพาะเรื่องที่พักอาศัยแร้งแค้น กินอยู่อย่างอดๆ อยากๆ ซึ่งได้ร้องเรียนถึงความเดือดร้อนมายัง นายชัชวาล คงอุดม อดีตส.ว.กรุงเทพมหานคร และคอลัมนิสต์อาวุโส นสพ.สยามรัฐ ตามที่เสนอข่าวไปก่อนหน้านี้นั้น


ล่าสุด เมื่อวันที่ 19 ส.ค.53 นายวรวุฒิ วิชัย อายุ 49 ปี ภูมิลำเนาเดิมอยู่ ต.โคกกลาง อ.ลำปลายมาศ  จ.บุรีรัมย์ หนึ่งในแรงงานไทยที่ถูกหลอกไปทำงานที่ประเทศลิเบีย เปิดเผยกับ สยามรัฐ ว่า  การตัดสินใจไปทำงานที่ประเทศลิเบีย กับบริษัท ARSEL-BENA WA TASHEED JOINT VENTURE ผ่านบริษัท จัดหางานเงินและทองพัฒนา จำกัด  เนื่องจากมีนายหน้ามาติดต่อ โดยเสนอเงินเดือนในอัตราที่สูงประมาณ 20,400 บาท และยังมีค่าทำงานล่วงเวลาอีก  ซึ่งเห็นว่าเป็นรายได้ที่ดี จึงยอมจ่ายค่ารายหัว เป็นเงินก้อนโตถึง 1.3 แสนบาท เมื่อเดือนพ.ค.52 ในช่วง 3 เดือนแรกที่ไปทำงานนั้นได้รับเงินเดือนตามที่ตกลงในสัญญาคือ 600 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 20,000 บาท) แต่หลังจากนั้นเงินเดือนที่ได้รับถูกเปลี่ยนสกุลเป็นเงินดีน่าห์ของลิเบีย  ทำให้ได้รับเงินเดือนลดน้อยลงมาก และจ่ายไม่ตรงตามเวลาตลอด  อีกทั้งแต่ละวันต้องทำงานไม่ต่ำกว่า 10 ชั่วโมง ตามสัญญาแค่ 8 ชั่วโมง  โดยไม่ได้รับเงินล่วงเวลา


“เวลาที่ประสบอุบัติเหตุจากการทำงานก็ไม่ได้รับการดูแลแต่อย่างใด โดยบริษัทนายจ้างได้บอกมาว่า ทำงานที่นี่ ห้ามป่วย ห้ามหยุด ห้ามลา หากหยุดงาน 1 วัน ถูกหักค่าแรง 3 วัน ผมทำงานเป็นช่างปูน เพื่อก่อสร้างบ้านจัดสรร เมื่อได้รับอุบัติเหตุจากการแบกปูนจากชั้น 1 ขึ้นไปชั้น 4 ส่งผลทำให้บริเวณสันหลังทรุดกระดูกทับเส้นประสาท ทางบริษัทกลับไม่เหลียวแล เพียงแค่พาไปเอกซเรย์ แต่ไม่ได้ช่วยเหลือค่ารักษาแต่อย่างใด ยาก็ต้องซื้อกินเอง นอกจากจะไม่ได้เงินยังต้องควักเงินซื้อยาเองด้วย”  เหยื่อแรงงานทาส ระบายความรู้สึก


นายวรวุฒิ  ระบุอีกว่า หลังจากประสบอุบัติเหตุได้โทรศัพท์ไปขอรับความช่วยเหลือที่บริษัทจัดหางาน เงินและทองพัฒนา จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดส่งตนไปทำงานที่ประเทศลิเบีย กลับถูกปฏิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือ  จึงขอความช่วยเหลือไปยังสถานทูตไทยประจำประเทศลิเบีย ก็ได้รับคำตอบว่า จะต้องรอคิว  ซึ่งมีจำนวนมาก แล้วเรื่องก็เงียบหายไป  ก็ไม่ได้ติดตามต่อ เพราะมีกรณีที่เพื่อนแรงงานไทยด้วยกัน เข้าไปปรึกษาที่สถานทูตกรณีดังกล่าวแล้วถูกส่งตัวกลับทันที โดยทางบริษัท อ้างเหตุผลว่า เพราะมีปัญหากับทางสถานทูต จึงต้องถูกส่งตัวกลับ ทั้งนี้ตนมั่นใจว่าจะได้รับเงินเดือนจึงไม่อยากมีปัญหา แต่เมื่อทำงานจนครบกำหนดสัญญาจ้าง 1 ปี กลับไม่ได้รับค่าจ้างที่ค้างอยู่ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 47,000 บาท โดยทางบริษัทของประเทศลิเบีย อ้างว่าขาดสภาพคล่องทางการเงิน เพราะรัฐบาลลิเบียติดค้างเงินบริษัท ส่งผลให้การจ่ายเงินมีความล่าช้า


อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เดินทางกลับมายังประเทศไทยแล้ว ได้ดำเนินการติดตามทวงถามเงินค้างจ่ายไปที่บริษัท จัดหางานเงินและทองพัฒนา จำกัด  กลับได้รับคำตอบว่า ในเมื่อทำงานครบตามสัญญาจ้างแล้ว จะเอาอะไรอีก จึงได้แจ้งเรื่องไปที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดบุรีรัมย์ ปรากฏว่า เมื่อเรื่องไปถึงบริษัทจัดหางานดังกล่าวแล้ว ได้มีการติดต่อขอเจรจา โดยบริษัทยื่นข้อเสนอว่าจะให้เงินจำนวน 5,000 บาท เพื่อให้ถอนเรื่องจากสำนักงานจัดหางาน แต่ตนไม่ยอม เพราะเห็นว่าเราต้องเสียค่าหัวจำนวนมากและยังค้างเงินเดือนอีก บริษัทจึงยื่นข้อเสนอใหม่ว่า ให้เงินเพิ่มอีก 10,000 บาท รวมเป็นเงิน 15,000 บาท  แต่ตนได้ปฏิเสธ ทั้งนี้บริษัทดังกล่าวยังท้าทายด้วยว่าจะร้องต่อกระทรวงแรงงานก็แจ้งไปได้เลย เพราะกระทรวงแรงงานไม่สามารถทำอะไรบริษัทได้ อย่างมากก็แค่ถอนใบอนุญาต ตนจึงได้ยื่นเรื่องไปยังกรมการจัดหางานเมื่อวันที่ 11 ส.ค.53


“ผมและเพื่อนแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบ คิดว่าเรื่องน่าจะไม่มีความคืบหน้า จึงได้รวมกลุ่ม โดยยื่นหนังสือขอความช่วยเหลือมายังนสพ.สยามรัฐ   เพื่อขอให้มีการติดตามเรื่องดังกล่าว อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ผมมีหนี้สินจากการกู้ยืนเงินนอกระบบเพื่อเดินทางไปทำงานที่ประเทศลิเบียเป็นเงิน 1.3 แสนบาทโดยต้องเสียดอกเบี้ยถึงร้อยละ 3 และเพื่อปลดหนี้จากการกู้เงินไปทำงานที่ลิเบีย  ผมจึงได้เข้าโครงการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ โดยได้รับเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจาก ธกส. จำนวน 1 แสนบาท แต่ยังไม่เพียงพอ”


นายวรวุฒิ กล่าวว่า ขณะนี้ชีวิตลำบากมาก สืบเนื่องจากเคยได้รับอุบัติเหตุขณะที่ทำงานแบกปูนจากชั้น 1 ไปยังชั้นที่ 4 ทำให้กระดูกเอวเคลื่อนไปทับเส้นประสาท ทำงานไม่ได้กว่า 1 เดือน ซึ่งอยู่ระหว่างการประสานงานเพื่อรับการรักษาจากโรงพยาบาลศิริราช  อีกทั้งมีบุตรอีก 2 คน ที่ต้องรับผิดชอบ แม่ยายก็เป็นอัมพาต ต้องอาศัยภรรยาเป็นผู้หาเงินมาเลี้ยงครอบครัวคนเดียว  จึงอยากให้รัฐบาลช่วยเหลือในเรื่องเงินที่ยังค้างจ่าย เพื่อนำเงินตรงนี้มาเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัวต่อไป

(สยามรัฐ, 21-8-2553)

แรงงานไทยกลับจากกาต้าร์สุดช้ำ นายจ้างเลื่อนจ้างเงินเดือนหลังกลับไทย

แรงงานไทยทั้ง 18 คน เดินทางไปทำงานรับเหมาก่อสร้างและช่างไฟฟ้าที่ประเทศกาตาร์ และเป็นแรงงานล็อตแรกที่ได้เดินทางกลับมาถึงไทย หลังหมดสัญญาว่าจ้าง แต่บริษัทยื้อตัวไม่ให้กลับ อ้างว่าไม่มีเงินจ่าย แต่แรงงานไทยไม่ยอม เพราะจ่ายเงินเดือนไม่ตรงเวลา และไม่มีสวัสดิการแรงงาน โดยให้พักในตู้คอนเทรนเนอร์ ท่ามกลางอุณหภูมิความร้อนที่สูงกว่า 60 องศาเซลเซียส บางคนถึงกลับ เป็นโรคประสาท ล่าสุดยังมีแรงงานไทยอีกกว่า 200 คนที่ต้องการกลับประเทศ

(ช่อง 7, 21-8-2553)

สปส.แนะนายจ้างขึ้นทะเบียนและนำส่งเงินสมทบลูกจ้าง

สำนักงานประกันสังคม (สปส.) มีภารกิจหลักในการให้ความคุ้มรองดูแลลูกจ้าง(ผู้ประกันตน) ในสถานประกอบการทุกแห่งที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ซึ่งนายจ้างมีหน้าที่ในการแจ้งขึ้นทะเบียนนายจ้างและแจ้งขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนให้กับลูกจ้างครบทุกคน "ภายในเวลา 30 วัน นับตั้งแต่ที่รับลูกจ้างเข้าทำงาน โดยไม่มีข้อยกเว้นว่าการจ้างนั้นจะเป็นช่วงทดลองงานหรือไม่" หากนายจ้างแจ้งขึ้นทะเบียนลูกจ้างล่าช้าเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดจะทำให้ฐานข้อมูลของลูกจ้างที่เป็นข้อมูลหลักในการใช้ปฎิบัติงานไม่ถูกต้อง ส่งผลกระทบให้ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนหรือได้รับประโยชน์ทดแทนที่ล่าช้า ดังนั้นนายจ้างมีหน้าที่ต้องหักเงินสมทบจากค่าจ้างของลูกจ้างทุกเดือน ในอัตราร้อยละ 5 ของค่าจ้าง พร้อมจ่ายเงินสมทบในส่วนของนายจ้างและลูกจ้างให้กับสำนักงานประกันสังคมภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป เพื่อที่ลูกจ้างจะได้รับความคุ้มครองจากกองทุนเงินทดแทนและกองทุนประกันสังคม

ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคม ขอความร่วมมือให้นายจ้างแต่ละสถานประกอบการนำส่งเงินสมทบตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เนื่องจากพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ได้กำหนดให้ รัฐบาล นายจ้าง ลูกจ้าง จะต้องนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม สำหรับเงินสมทบส่วน ของนายจ้างและลูกจ้าง จะต้องคำนวณจากค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับตามความเป็นจริงซึ่งฐานค่าจ้างที่นำมาคำนวณเงินสมทบขั้นต่ำ 1,650 บาท สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท หากนายจ้างหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติถือว่ามีความผิดฐานขัดคำสั่วของพนักงานเจ้าหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลได้ที่สำนักเขตพื้นที่/จังหวัด/สาขา ที่ท่านสะดวก (เจ้าหน้าที่ให้บริการทุกวัน เวลา 07.00-19.00 น. ระบบโทรศัพท์ตอบรับอัตโนมัติให้บริการ 24 ชั่วโมง)

(บ้านเมือง, 22-8-2553)

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net