กลุ่มหยุดยิงไทใหญ่ "เอสเอสเอ-เหนือ" เปลี่ยนเครื่องแบบเป็นกองกำลังรักษาดินแดนของกองทัพพม่า

กลุ่มหยุดยิงไทใหญ่ "SSA-N" ที่ยอมรับข้อเสนอรัฐบาลทหารพม่าจัดตั้งหน่วยพิทักษ์พื้นที่ (HGF) ทยอยเปลี่ยนเครื่องแบบที่กองทัพพม่ามอบให้อย่างเป็นทางการ ด้าน "ครูพม่าท่าขี้เหล็ก" ขอผู้ปกครองนักเรียนลงชื่อไม่เอาผิดหากเรียกเงิน

"เอสเอสเอ-เหนือ" 2 กองพลน้อยเปลี่ยนเครื่องแบบเป็นกองกำลังรักษาดินแดนของทหารพม่าแล้ว
แหล่งข่าวรายงานว่า กำลังพลสังกัดกองพลน้อยที่ 3 ของกองทัพรัฐฉานเหนือ หรือ กลุ่มหยุดยิงไทใหญ่  "เหนือ" ราว 300 – 400 นาย ภายใต้การนำของ พ.ท.ละมิ้น ที่เคลื่อนไหวบริเวณดอยเครือ รัฐฉานภาคเหนือ ได้ทำการเปลี่ยนชุดเครื่องแบบจากชุดกองทัพรัฐฉานเหนือ SSA-N ไปเป็นเครื่องแบบของหน่วยพิทักษ์พื้นที่ "Home Guard Force" หรือ HGF แล้วเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ที่ผ่านมา

ขณะเดียวกันกำลังพลหน่วยอื่นๆ ของกองพลน้อยที่ 3 ที่ยอมเปลี่ยนสถานะกองกำลังตามผู้นำ คือ พล.ต.เจ้าหลอยมาว และพล.ต.เจ้าก่ายฟ้า ซึ่งรวมถึงกองพลน้อยที่ 7 ที่มีบก.อยู่ที่เมืองกาลิ กุ๋นฮิง ต่างก็เตรียมที่จะเปลี่ยนชุดเครื่องแบบในเร็วๆ นี้ เช่นกัน

ด้านนักวิเคราะห์การเมืองไทใหญ่ท่านหนึ่งมองว่า การที่กองพลน้อยที่ 3 และ 7 ของ SSA-N เปลี่ยนชุดเครื่องแบบหน่วยพิทักษ์พื้นที่ แสดงให้เห็นว่าพวกเขายอมรับเงื่อนไขรัฐบาลทหารพม่าแล้วจริงๆ อีกทั้งยังแสดงให้เห็นว่า กลุ่มหยุดยิงไทใหญ่ "เหนือ" SSA-N ขณะนี้ได้แตกแยกเป็นสองฝ่ายอย่างชัดเจน คือ ระหว่างฝ่ายที่ยอมจัดตั้งหน่วยพิทักษ์พื้นที่ กับฝ่ายที่คัดค้านคือ กองพลน้อยที่ 1 ภายใต้การนำของ พล.ต.ป่างฟ้า

กองทัพรัฐฉาน "เหนือ" SSA-N ก่อตั้งเมื่อปี 2507 (1964) โดยการนำของเจ้าแม่นางเฮือนคำ อดีตชายาเจ้าฟ้าส่วยแต้ก แห่งเมืองหยองห้วย ภายหลังที่กองทัพรัฐฉาน "เหนือ" เจรจาหยุดยิงเมื่อปี 2532 มีกำลังพลราว 3,500 – 4,000 นาย แบ่งกำลังพลเป็น 3 กองพลน้อย คือ กองพลน้อยที่ 1, 3 และ 7

วันที่ 22 เม.ย. พล.ต.หลอยมาว ผู้นำสูงสุด SSA-N ตัดสินใจรับข้อเสนอรัฐบาลทหารพม่า นำกำลังพลในกองพลน้อยที่ 3 และ 7 กว่า 1 พันนาย เปลี่ยนสถานะเป็นหน่วยพิทักษ์พื้นที่ HGF ขณะที่กองพลน้อยที่ 1 ยังคงปฏิเสธ เนื่องจากเห็นว่าการเปลี่ยนสถานะกองกำลังไปอยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพพม่า เป็นการทำลายอุดมการณ์และเป็นการหักหลังชาติ

มีรายงานจากแหล่งข่าวภาคกลางรัฐฉานด้วยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กองทัพพม่าจัดส่งกำลังพลจากกรุงเนปิดอว์ มาถึงเมืองกะลอ – อ่องปาน ในรัฐฉานจำนวน 2 กองพล โดยมีการลือกันว่า กำลังพลดังกล่าวจะถูกส่งไปเสริมในพื้นที่เมืองเชียงตุง และเมืองยาง รัฐฉานภาคตะวันออก ขณะที่กองกำลังหยุดยิงทั้งกองทัพสหรัฐว้า UWSA และกองทัพสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตย หรือ กลุ่มเมืองลา NDAA ที่มีพื้นที่เคลื่อนไหวอยู่ในภาคตะวันออกรัฐฉานต่างเฝ้าจับตาอยู่อย่างใกล้ชิด

แปลก!! "ครูพม่าท่าขี้เหล็ก" ขอผู้ปกครองนักเรียนลงชื่อไม่เอาผิดหากเรียกเงิน
มีรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ โรงเรียนรัฐบาลพม่าในจังหวัดท่าขี้เหล็ก รัฐฉานตะวันออก ตรงข้ามอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย มีการออกเอกสารให้ผู้ปกครองนักเรียนเซ็นต์ชื่อยอมรับเงื่อนไขข้อสัญญาไม่กล่าวโทษหรือตำหนิครู กรณีหากมีการเรียกเก็บเงินจากนักเรียน

แม่ของนักเรียนชั้นมัธยมคนหนึ่งกล่าวว่า เอกสารดังกล่าวออกโดยโรงเรียนมัธยมสองแห่ง คือ โรงเรียนมัธยมหมายเลข 1 และหมายเลข 2 โดยเนื้อหาในเอกสารระบุว่า ผู้ปกครองจะต้องไม่ใส่ร้ายครู หรือแจ้งความหรือร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่ หากครูมีการเรียกเก็บเงินจากนักเรียน ซึ่งผู้ปกครองนักเรียนส่วนใหญ่ไม่สามารถอ่านเข้าใจภาษาพม่าจึงพากันลงนามเอกสารดังกล่าว แต่ผู้สามารถอ่านและเข้าใจเนื้อหาของเอกสารก็ปฏิเสธลงนาม

เธอกล่าวด้วยว่า เอกสารดังกล่าวไม่ได้ระบุถึงเหตุผลว่า ด้วยเหตุใดทางโรงเรียนจึงต้องออกกฎเช่นนั้น ซึ่งเอกสารดังกล่าวได้ถูกส่งให้ผู้ปกครองไปพร้อมกับนักเรียนมเมื่อวันที่ 12 ส.ค. ที่ผ่านมา ขณะที่ผู้ปกครองนักเรียนต่างเข้าใจกันว่า อาจเป็นการป้องกันเหตุไม่ให้ครูถูกทำลายชื่อเสียงเช่นที่เกิดขึ้นเมื่อปีก่อน

ทั้งนี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ได้มีครูจากโรงเรียนมัธยมหลายเลข 1 จังหวัดท่าขี้เหล็ก เรียกเก็บเงินนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมถึงระดับชั้นมัธยมแลกกับการสอบผ่าน ทำให้ผู้ปกครองบางคนไม่พอใจจึงมีการร้องเรียน ขณะที่บางส่วนได้ส่งข้อมูลให้สื่อในต่างประเทศรายงาน ทำให้ครูโรงเรียนดังกล่าวได้รับความอับอาย

อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองนักเรียนอีกรายเปิดเผยว่า นักเรียนยังถูกครูบังคับให้เรียนพิเศษโดยเรียกเก็บค่าเรียนสูงกว่ามาตรฐาน คือ นักเรียนระดับมัธยมต้องจ่ายคนละ 200 บาท (ราว 7,000 จ๊าต) ต่อหนึ่งวิชา ส่วนนักเรียนระดับประถมศึกษาต้องจ่ายคนละ 100 บาท (ราว 3,500 จ๊าต) ต่อหนึ่งวิชา ซึ่งในภาคเรียนแต่ละปีมี 6 วิชาเรียน ซึ่งนักเรียนที่ไม่ยอมเรียนพิเศษได้ถูกข่มขู่ตัดคะแนนจากผลสอบด้วย

"ในฐานะเป็นพ่อแม่ก็กลัวเด็กจะไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ จึงต้องยอมปฏิบัติตามความต้องการของครู ถึงแม้ว่าจะยากจนก็ตาม" แม่ของนักเรียนคนหนึ่งกล่าว พร้อมเสริมว่า "จากเหตุที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเรียนสูงทำให้เด็กบางคนถึงกับอยากออกจากโรงเรียน"

เธอเผยอีกว่า แม้ทางการจะอ้างว่าการศึกษาตั้งแต่ระดับประถมถึงระดับมัธยมเป็นการศึกษาฟรี แต่นักเรียนยังต้องจ่ายค่าลงทะเบียนในทุกเดือนมิถุนายนเป็นจำนวนเงิน 2,700 จ๊าต (ราว 100 บาท) จากนั้นต้องจ่ายอีกคนละ 1 พันบาท สำหรับเงินกองทุนโรงเรียน ซึ่งนักเรียนแต่ละคนต่างได้รับใบเสร็จค่าลงทะเบียนเรียนเป็นหลักฐาน

ตามข้อมูลสื่อของรัฐบาลทหารพม่าระบุ จังหวัดท่าขี้เหล็กมีประชากรราว 72,000 คน และโรงเรียนมัธยมหมายเลข 1 และ 2 ในจังหวัด มีนักเรียนราว 2 พันคน

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/

"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท