ชีวิต-แนวคิด-ความสัมพันธ์ ของมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จากงานศึกษาของนักวิจัยต่างชาติ

"คลาวดิโอ โซปรานเซตติ" นักศึกษาปริญญาเอกจาก ม.ฮาร์วาร์ด ผู้คลุกคลีอยู่กับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง สารถีตามตรอกซอกซอยของเมืองกรุง เปิดเผยถึงวิถีชีวิต แนวคิด และความสัมพันธ์ในฐานะผู้เป็น 'ตัวเชื่อม' ทางสังคมและวัฒนธรรม พบวินมอเตอร์ไซต์พูดถึงประชาธิปไตยในความหมายของ ‘ความยุติธรรมทางสังคม’ มากกว่าเป็นการพูดถึงประชาธิปไตยในความหมายทั่วไป

000

เมื่อวันที่ 16 ส.ค. ที่ผ่านมา ที่ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดสัมมนาบัณฑิตศึกษาเรื่อง “เจ้าของแผนที่: มานุษยวิทยาของมอเตอร์ไซต์รับจ้างในกรุงเทพฯ” นำเสนอโดย Claudio Sopranzetti (คลาวดิโอ โซปรานเซตติ) นักศึกษาปริญญาเอกมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ผู้ลงไปคลุกคลีกับวินมอเตอร์ไซค์จนได้เสื้อกั๊กของวิน ทั้งยังเคยมีประสบการณ์รับส่งผู้โดยสาร

ในช่วงแรกโซปรานเซตติ ได้อธิบายถึงการขยายตัวของท้องถนนในกรุงเทพฯ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโครงการพัฒนาของสหรัฐฯ ที่ต้องการเข้ามามีอิทธิพลเหนือลัทธิคอมมิวนิสต์ในแถบภูมิภาคนี้

โซปรานเซตติ กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกัน ปัญหาการจราจรก็เป็นปัญหาใหญ่ของกรุงเทพฯ มาตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว และมอเตอร์ไซค์รับจ้างก็เป็นระบบที่ช่วยอำนวยความสะดวกแก่คนในซอยที่ไม่มีรถยนต์ส่วนตัวหรือรถเมล์ไปไม่ถึงสามารถโดยสารออกจากซอยได้

ผู้นำเสนอกล่าวว่าในประเทศกำลังพัฒนา เศรษฐกิจนอกระบบอย่างมอเตอร์ไซค์รับจ้างมีส่วนสำคัญ ในช่วงที่มีวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง คนอยู่ในกทม.ที่ตกงานหลายคนก็หันไปทำงานนอกระบบอย่างการเป็นมอเตอร์ไซต์รับจ้างหรือเป็นพ่อค้าแม่ค้า ซึ่งในขณะเดียวกันการเป็นเศรษฐกิจ นอกระบบของ 'วินมอเตอร์ไซค์' ก็ควบคุมไม่ได้ ไม่มีการเสียภาษี ทำให้รัฐไม่ได้ประโยชน์ และทำให้เกิดผู้มีอิทธิพลขึ้น จนในช่วงปี 2546 รัฐบาลทักษิณก็มีนโยบายปรบปรามอิทธิพลมืด มีความพยายามทำให้มอเตอร์ไซค์รับจ้างที่อยู่นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบ โดยมีการลงทะเบียนมอเตอร์ไซค์รับจ้าง และมีการจัดการตัวเองโดยมีหัวหน้าวิน

โซปรานเซตติ กล่าวว่า เจ้าของวินจะมีอำนาจโดยการเป็นเจ้าของเสื้อกั๊ก เนื่องจากเสื้อกั๊กซึ่งแสดงถึงความเป็นมอเตอร์ไซค์รับจ้างนั้นมีราคาสูงและเจ้าของวินจะเป็นคนสั่งมา คนที่จะได้เสื้อกั๊กต้องมีเส้นสายหรือมีคุณสมบัติที่ดีบางคนได้เสื้อกั๊กผ่านเพื่อนหรือคนจังหวัดเดียวกัน ขณะเดียวกันการไม่มีระบบควบคุมบริเวณก็ทำให้ผู้มีอิทธิพลสามารถกลับมาได้ อย่างไรก็ตามมีสมาคมมอเตอร์ไซค์รับจ้างซึ่งเป็นเสมือนสหภาพแรงงานของคนเป็นมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ช่วยแก้ปัญหาต่างๆ เช่นเรื่องผู้มีอิทธิพล

จากงานวิจัยของ โซปรานเซตติ ทำให้ทราบข้อมูลว่า ผู้มีอาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้างส่วนใหญ่เป็นชาย อายุราว 20-40 ปี เป็นคนต่างจังหวัดที่ทำงานส่งเสียครอบครัวที่ต่างจังหวัด หลายคนให้เหตุผลที่ทำอาชีพนี้ว่า เพราะมีความอิสระ หมายถึงอิสระจากคำสั่งต่าง ๆ และอิสระที่จะไป-มา ระหว่างกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัดได้ รวมถึงความรู้สึกว่าตนมีตำแหน่งแห่งที่ในสังคม

อย่างไรก็ตาม โซปรานเซตติ กล่าวว่า บางคนก็ดูถูกมอเตอร์ไซค์รับจ้างเพราะรู้สึกว่ามอเตอร์ไซค์รับจ้างเป็นพวกขี้เกียจ เป็นคนสกปรก ไม่มีการศึกษา แต่ โซปรานเซตติ บอกว่ามอเตอร์ไซค์รับจ้างบางคนมาจากต่างจังหวัดแต่มีความรู้เรื่องถนนหนทางมากกว่าในคนที่อาศัยในกรุงเทพฯ เสียอีก ขณะเดียวกันมีมอเตอร์ไซค์รับจ้างคนหนึ่งเคยทำงานในบริษัทที่ย่านสีลมมาก่อน ในช่วงนั้นเขาไม่มีเวลาหาความรู้เลย แต่พอได้มาเป็นมอเตอร์ไซค์รับจ้างเขาก็มีเวลาหาความรู้มากขึ้น โซปรานเซตติ บอกว่ามอเตอร์ไซต์รับจ้างทั่วไปเวลาว่างจะเห็นอ่านหนังสือหรือหนังสือพิมพ์ และเป็นคนที่มีความรู้ความเข้าใจในการเมืองดีจากการที่ได้พูดคุยถกเถียงกับพวกเขามา

โซปรานเซตติ ได้พูดถึงมอเตอร์ไซค์รับจ้างในฐานะเป็น "Mediator" หรือตัวกลาง-ตัวเชื่อม ในหลายๆ เรื่อง ทั้งในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่จากการที่มอเตอร์ไซค์รับจ้างความความสัมพันธ์แน่นแฟ้นแบบเชื่อใจกันกับคนที่พื้นที่ ทำให้พวกเขาช่วยเหลือแก้ไขปัญหาระหว่างชนชั้นล่างกับชนชั้นสูงหรือ “ผู้ใหญ่” ในพื้นที่นั้นๆ เช่นมีคนที่ลูกเรียนเก่งแต่ไม่มีเงินศึกษาต่อมอเตอร์ไซค์รับจ้างก็จะเป็นตัวกลางคอยช่วยหยิบยืมจากคนที่มีเงิน แม้มอเตอร์ไซค์รับจ้างจะเป็นชนชั้นล่างในเมืองแต่ก็มีความสัมพันธ์กับชนชั้นกลาง-ชนชั้นสูง ทำให้ถึงพวกเขาจะไม่มีอำนาจสาธารณะ แต่ก็มีอำนาจที่ไม่ได้มาจากชนชั้นคืออำนาจของเครือข่าย (Network)

โซปรานเซตติ บอกอีกว่า นอกจากนี้เนื่องจากมอเตอร์ไซค์รับจ้างกลับบ้านบ่อยกว่าคนทำงานบริการอื่น ๆ ทำให้พวกเขาเป็นตัวเชื่อมระหว่างวัฒนธรรมสมัยใหม่ในเมืองกับท้องถิ่นของพวกเขา โดยเอาสินค้า แนวคิด วิถีชีวิต จากในกรุงเทพฯ กลับบ้านที่ชนบท เช่น มีบางคนพอกลับบ้านไปก็เอา พิซซ่า กับ ไก่ทอดเคเอฟซี กลับไปให้ลูก หรือบางคนก็นำข้อมูลเรื่องการเมืองที่รับรู้จากในกรุงเทพฯ ไปเล่ากับคนแถวบ้าน ขณะที่บางคนก็มีชีวิต 2 แบบ คือทำงานเป็นมอเตอร์ไซค์รับจ้างในเมืองในเวลาหนึ่ง ในอีกช่วงหนึ่งก็กลับไปทำนาที่บ้าน

ในเรื่องความสัมพันธ์ทางการเมือง โซปรานเซตติ เล่าว่าช่วงปี 2535 ซึ่งเป็นการประท้วงของชนชั้นกลางกลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้างก็มีบทบาทอยู่ส่วนหนึ่งในตอนนั้น แต่จากการพูดคุยมีคนขับมอเตอร์ไซต์รับจ้างคนหนึ่งเล่าว่าพวกเขาไปเพราะรับจ้างไป ไม่ได้มีอุดมการณ์อะไรในตอนนั้น

แต่อย่างไรก็ตาม โซปรานเซตติ เล่าต่อว่าพอหลังจากยุคของรัฐบาลทักษิณ 2 ก็มีนโยบายที่เอื้อมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จนทำให้พวกเขาเกิดแนวคิดที่ว่าการเมืองมีประโยชน์ มีความสัมพันธ์กับชีวิตของพวกเขา รวมถึงในการชุมนุมเสื้อแดงครั้งที่ผ่านมา มอเตอร์ไซค์รับจ้างก็ได้เรียนรู้และพัฒนาความคิดทางการเมืองอย่างเช่นเรื่อง 2 มาตรฐาน จากการที่เห็นว่าชนชั้นกลางและชนชั้นสูงมีโอกาสที่ดีกว่า มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่า ขณะที่พวกเขาซึ่งทำงาน 14 ชั่วโมงมีชีวิตที่ไม่ดีเท่า

ขณะเดียวกันเมื่อผู้วิจัยได้ถามถึงแนวคิดประชาธิปไตยของมอเตอร์ไซค์รับจ้าง พวกเขาก็ให้ความหมายต่อประชาธิปไตยว่า หมายถึง ความยุติธรรมทางเศรษฐกิจ ความยุติธรรมทางการศึกษา และความยุติธรรมทางการเมือง ซึ่งโซปรานเซตติ สรุปว่า ประชาธิปไตยในความหมายของกลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่เขาไปสำรวจดูจะเป็นการให้ความสำคัญต่อ “ความยุติธรรมทางสังคม” (Social Justice) มากกว่าจะเป็นการพูดถึงประชาธิปไตยแบบทั่วๆ ไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท