Skip to main content
sharethis
มติชนรายงาน วันนี้ (16 ส.ค.53) เมื่อเวลา 10.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 911 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลพิพากษาจำคุก นายปรีชา ตรีจรูญ อายุ 53 ปี ผู้ร่วมชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เป็นจำเลยในความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่โดยไต่ตรองไว้ก่อน เป็นเวลา 3 ปี แต่จำเลย ไม่เคยต้องโทษอาญามาก่อน ประกอบกับจำเลยมีอาชีพเป็นหลักแหล่ง จึงสมควรให้โอกาสกลับตัวเป็นคนดี โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญา 2 ปี โดยให้จำเลยรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน เป็นเวลา 1 ปี และให้ทำงานสาธารณะประโยชน์บริการสังคมเป็นเวลา 48 ชั่วโมง
ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง สรุปว่า เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 เวลากลางวัน จำเลยกับพวกเป็นกลุ่ม พธม. ไปร่วมชุมนุมขับไล่รัฐบาลที่มีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ปิดล้อมถนนและทางเข้าออกรัฐสภาเพื่อไม่ให้ ส.ส.และ ส.ว.ออกจากรัฐสภา โดยจำเลยมีเจตนาฆ่า ร.ต.ต.เกียงไกร กิ่งสามี, ส.ต.ท.พงษ์ไท เชื้อชุมสุข ส.ต.ต.พีรเชษฐ์ ธราปัญจทรัพย์, ส.ต.ท.เศรษฐวุฒิ บัวทุม และส.ต.ท.วุฒิชัย คำปงศักดิ์ ผู้เสียหายที่ 1-5 เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยในการชุมนุมของกลุ่ม พธม. โดยวางแผนล่วงหน้าเตรียมรถกระบะโตโยต้า สีน้ำเงิน ทะเบียน วพ-1968 กรุงเทพมหานคร จำเลยได้ขับรถดังกล่าวไล่ชนผู้เสียหายทั้งห้าอย่างแรง จนผู้เสียหายล้มลง จากนั้นจำเลยขับรถกระบะถอยหลังทับผู้เสียหายที่นอนบาดเจ็บอยู่ จำเลยกระทำความผิดไปตลอดแล้ว แต่การกระทำไม่บรรลุผล เมื่อผู้เสียหายไม่เสียชีวิต เหตุเกิดที่แขวงและเขตดุสิต กทม. ขอให้ลงโทษตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215,288,289,297
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์–จำเลย แล้วข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลย ร่วมชุมุมกับกลุ่มพันธมิตร ฯ และวันเกิดเหตุ ช่วงเวลา 06.00 น. จำเลยออกมาจากบริเวณรัฐสภาเพื่อหาอาหารรับประทาน แต่ขณะนี้เห็นกลุ่มผู้ชุมนุมเริ่มได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก บางรายขาขาด ซึ่งจำเลยมองเห็นกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจ ยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่ฝูงชน ขณะที่จำเลยได้รู้สึกว่ามีสิ่งมากระทบที่บริเวณใบหน้า เมื่อลูบใบหน้ามีเลือดไหลออกมา จึงขึ้นรถขับรถยนต์กระบะ ของจำเลย โดยขณะนั้นมีผู้ชุมนุมได้กระโดดขึ้นมาท้ายรถด้วย แต่จำเลยไม่เห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ด้านข้างรถ ซึ่งเวลาดังกล่าวจำเลย เข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้ทำให้จำเลยได้รับอันตรายแก่กายที่ภายหลังพบว่าตาขวาของจำเลยได้รับบาดเจ็บจนตาบอดจากสิ่งที่มากระทบใบหน้า จึงเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่ได้ไตร่ตรองไว้ก่อน แต่เพราะบันดาลโทสะที่ได้รับบาดเจ็บและเข้าใจว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
แม้จำเลยไม่มีเจตนาฆ่า ที่ขับรถพุ่งชนเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นผู้เสียหายทั้ง 5 คน แต่การที่จำเลยขับรถพุ่งชน เป็นการกระทำที่เล็งเห็นผลที่จะให้ผู้เสียหายได้รับอันตราย และเมื่อผู้เสียหาย เป็นเจ้าหน้าที่ที่ถูกสั่งให้ปฏิบัติหน้าที่ขณะเกิดเหตุ จึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติหน้าที่โดยบันดาลโทสะ จึงพิพากษา ว่า จำเลย กระทำผิดฐานพยายามฆ่า ฯ ตามมาตรา 289 ลงโทษดังกล่าว ส่วนความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่  10 คนขึ้นไป ฯ นั้น แม้จำเลยจะเข้าร่วมชุมนุม แต่โจทก์ ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลย ร่วมกับบุคคลใดในการวางแผนก่อความวุ่นวาย พฤติการณ์ของจำเลย ยังมีเหตุที่น่าพิรุธสงสัยตามสมควร จึงพิพากษายกฟ้องข้อหานี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังฟังคำพิพากษาแล้ว นายปรีชา ไม่ได้ให้สัมภาษณ์แต่อย่างใด  
 

ปล่อยตัว"วีระ"ชั่วคราว คดีก่อการร้าย "
17 แกนนำ นปช."ปฏิเสธทุกข้อหาพร้อมสู้คดีต่อ

วันเดียวกัน มติชนรายงานว่า เวลา 10.00 น. ที่ห้องเวรชี้ ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลสอบคำให้การจำเลยคดีดำ อ.2542 / 2553 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายวีระ มุสิกพงศ์ อายุ 62 ปี ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กับพวกซึ่งเป็นแกนนำ และแนวร่วม นปช.รวม 19 คนเป็นจำเลย ในความผิดฐานร่วมกันก่อการร้าย ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน, มั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองโดยผู้กระทำความผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก, ร่วมกันชุมนุมหรือมั่วสุม ณ ที่ใดตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปในท้องที่ผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ซึ่งอัยการยื่นฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ที่ผ่านมา
 
กรณีเมื่อระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 20 พฤษภาคม  2553 ต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งหมดกับพวกที่ยังหลบหนีไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้ร่วมกับ พล.ต.ขัตติยะ  หรือเสธ.แดง อดีตผู้คุณวุฒิ กองทัพบก ซึ่งถึงแก่ความตายแล้ว ได้กระทำความผิดกฎหมายโดยนายวีระ จำเลยที่ 1 – 11 แกนนำ นปช. ได้ยุยงปลุกปั่นประชนทั่วราชอาณาจักรไทยให้เข้าร่วมชุมนุมต่อต้านรัฐบาลและบังคับขู่เข็ญ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีให้ประกาศยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่  อ้างว่าเป็นนายกฯโดยมิชอบ และให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยพวกจำเลยได้ร่วมกันจัดการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงจำนวนหลายหมื่นคนที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถ.ราชดำเนิน ตั้งแต่สี่แยกคอกวัวถึงสี่แยกมิสกวันและถนนพิษณุโลกจากสะพานชมัยมรุเชษฐถึงสี่แยกวังแดง และแยกราชประสงค์ เดินขบวนไปปิดล้อมสถานที่ต่างๆทั้งสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) รัฐสภา กรมทหารราบที่ 22 และบ้านพักของ นายกรัฐมนตรี ซ.สุขุมวิท 31  และมีการใช้อาวุธเครื่องยิงลูกระเบิด เอ็ม 79 ยิงใส่บ้านพักประชาชน
 
นอกจากนี้จำเลยกับพวกยังได้สะสมกำลังพลและอาวุธสงครามร้ายแรง มีการฝึกกำลังคนและฝึกการใช้อาวุธใช้ชื่อกลุ่มนักรบพระเจ้าตาก กลุ่มนักรบโรนิน และกลุ่มนักรบพระองค์ดำ เพื่อการก่อการร้าย สร้างความปั่นป่วนเพื่อให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน โดยใช้ยานพาหนะเคลื่อนกลุ่มผู้ชุมนุมไปตามถนนในกรุงเทพแบบดาวกระจาย ประมาณ 1 หมื่นคันเศษ สร้างความปั่นป่วนให้เกิดความเสียหายแก่การคมนาคมทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เดือดร้อนเกรงกลัวอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน ขัดขวางการใช้ชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน พวกจำเลยและกลุ่มผู้ชุมนุมยังได้ใช้เลือดจำนวนมากไปเทราดที่หน้าทำเนียบรัฐบาล หน้าพรรคประชาธิปัตย์ และบ้านพักนายกรัฐมนตรี และมีการใช้เครื่องยิงลูกระเบิดเอ็ม 79 ยิงใส่กองรักษาการณ์ของกรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ กระทรวงสาธารณสุขซึ่งใช้เป็นสถานที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ยิงใส่กองบัญชาการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยมีทหารได้รับบาดเจ็บ ใช้เครื่องยิงจรวดอาร์พีจี ยิงใส่กระทรวงกลาโหม ขว้างระเบิดใส่กรมบังคับคดี, อาคารมูลนิธิรัฐบุรุษ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ยิงปืนใส่ธนาคารกรุงเทพ ขว้างระเบิดใส่ประตูทางเข้าทำเนียบรัฐบาล และสถานที่ราชการต่างๆ อันเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของรัฐและผู้อื่น เพื่อบีบบังคับกดดันรัฐบาลให้ทำตามข้อเรียกร้อง
 
ต่อมา เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 นายอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรี ได้อาศัยอำนาจตามความใน ม.5 และ 11 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ.2548  โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และจังหวัดอื่นๆ ห้ามมิให้ชุมนุมหรือมั่วสุมกันเกิน 5 คน ขึ้นไปหรือกระทำการอันใดเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย, กีดขวางการจราจร, ปิดทางเข้าออกอาคารหรือสถานที่อันเป็นการขัดขวางการปฎิบัติงาน หรือประกอบกิจการหรือการใช้ชีวิตโดยปรกติสุขของประชาชนทั่วไป, ประทุษร้ายหรือใช้กำลังทำให้ประชาชนเดือดร้อนเสียหายเกรงกลัวอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินโดยจำเลยกับพวกรู้อยู่แล้วว่าการชุมนุมดังกล่าวเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อรัฐธรรม ซึ่งรัฐบาลสั่งให้ยุติการชุมนุมแล้ว แต่จำเลยกับพวกไม่ยุติ มีการนำกลุ่มผู้ชุมนุมบุกเข้าไปที่ทำการรัฐสภาทำร้ายร่างกายทหารและแย่งชิงอาวุธปืนเอ็ม 16 ไป 1 กระบอก, บุกรุกไปในสถานีดาวเทียมไทยคม 2 อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี
 
ต่อมา วันที่ 10 เมษายน 2553 จำเลยกับพวกและผู้ชุมนุม ได้ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฎิบัติการกดดันผู้ชุมนุมเพื่อขอเพื่อที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ และแยกราชประสงค์ โดยใช้กำลังประทุษร้ายและใช้อาวุธปืนสงคราม ระเบิดขว้าง เครื่องยิงลูกระเบิดเอ็ม 79 ยิงใส่ทหารประชาชน เป็นเหตุให้ พ.อ.ร่มเกล้า ธุวกรรม และประชาชนเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก หลังจากนั้นมีการลอบวางระเบิดเสาไฟฟ้าแรงสูงที่ อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อต้องการให้ไฟฟ้าดับทั่วกรุงเทพฯ อันเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะ
 
ต่อมา วันที่ 14 เมษายน 2553 จำเลยกับพวกได้ไปรวมตัวชุมนุมที่แยกราชประสงค์ ปิดเส้นทางการจราจร สร้างเครื่องกีดขวางรอบพื้นที่ชุมนุม โดยดัดแปลงใช้ไม้ไผ่ ไม้ปลายแหลม ยางรถยนต์ปิดกั้นเส้นทางบริเวณแยกศาลาแดง แยกหลังสวน แยกเพลินจิต แยกชิดลม แยกประตูน้ำ แยกปทุมวัน และแยกเฉลิมเผ่า มีการยิงระเบิดใส่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาสีลม และสาขาอื่นๆ และสถานที่ต่างๆไม่น้อยกว่า 50 แห่ง เพื่อสร้างความปั่นป่วนให้เกิดความหวาดกลัวแก่ประชาชนและระบบเศรษฐกิจ วันที่ 28 เมษายน จำเลยกับพวกยุยงให้ผู้ชุมนุมไปที่ตลาดไท และใช้กำลังประทุษร้ายเจ้าหน้าที่ทหารที่บริเวณหน้าอนุสรณ์สถานและสนามบินดอนเมือง ใช้อาวุธยิงทหารเสียชีวิต 1 คน บาดเจ็บ 2 คน มีผู้อื่นบาดเจ็บอีก 16 คน และในต่างจังหวัดได้ทำการปิดถนนตั้งด่านตรวจพาหนะ บังคับให้ขบวนรถไฟที่บรรทุกยุทธภัณฑ์ทางทหารไม่ให้เดินทางต่อ วันที่ 29 เม.ย.จำเลยกับพวกยังได้นำผู้ชุมนุม 200 คน ไปตรวจค้นรพ.จุฬาลงกรณ์ ทำให้แพทย์ พยาบาลไม่สามารถรักษาผู้ป่วยได้ ซึ่งเป็นการชุมนุมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ก่อให้เกิดความวุ่นวาย นำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศ  ยุยงให้ประชาชนชุมนุมโดยมิชอบ มีการใช้กำลังขัดขืนต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งมีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่มีเจตนาบิดเบือนให้เกิดการเข้าใจผิดเพื่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในพื้นที่ต่างๆทั่วราชอาณาจักร กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ
 
ต่อมา วันที่ 19-20  พฤษภาคม รัฐบาลได้ดำเนินการกระชับพื้นที่และกดดันให้จำเลยกับพวกผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่และยุติการชุมนุม แต่จำเลยกับพวกมีการสะสมกำลังพลและมีอาวุธสงครามร้ายแรงต่อสู้ขัดขวางใช้ปืนยิงต่อสู้เจ้าพนักงาน และวางเพลิงเผาทรัพย์สินของรัฐและเอกชน เผาห้างสรรพสินค้าและอาคารพาณิชย์ต่างๆทั่วกรุงเทพ เผาศาลากลางและสถานที่ราชการต่างจังหวัดหลายแห่ง เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่และประชาชนเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากเป็นข่าวครึกโครมไปทั่วโลก หลังเกิดเหตุเจ้าพนักงานยึดอาวุธปืน กระสุน และวัตถุระเบิดซึ่งเป็นของจำเลยกับพวกได้หลายรายการ
 
ชั้นสอบสวนจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้นายวีระ มุสิกพงศ์  ประธาน นปช. ซึ่งได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจากศาลเพียงคนเดียวได้เดินทางด้วยรถตู้ พร้อมครอบครัวมาถึงศาลประมาณเวลา 08.30 น. โดยมีกลุ่มคนเสื้อแดงราว 30 คน เดินทางมาให้กำลังใจ ส่วนแกนนำคนอื่นๆ  อีก 16 คนอาทิ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นพ.เหวง โตจิราการ  นายก่อแก้ว พิกุลทอง นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไทย นายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก  นายขวัญชัย ไพรพนา  ถูกนำตัวมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ
 
สำหรับแกนนำอีก 2 คน นายจตุพร พรหมพันธุ์  ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และนายการุณ หรือเก่ง โหสกุล สส.กทม. พรรคเพื่อไทย  ไม่ได้เดินทางมาศาลเนื่องจากติดประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยนิติบัญญัติ
 
สำหรับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร , พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรรัตน์, นายอริสมันต์ หรือกี้ พงษ์เรืองรอง  , นายอดิศร เพียงเกษ , นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์  หรือแรมโบ้อิสาน และนายพายัพ ปั้นเกตุ ผู้ต้องหาคดีก่อการร้ายอีก 6 คนนั้น อัยการมีคำสั่งฟ้องไว้เช่นเดียวกัน แต่เนื่องจากยังผู้ต้องหาทั้งหมดอยู่ระหว่างการหลบหนีหมายจับ ยังไม่ได้ตัวมา อัยการจึงยังไม่สามารถยื่นฟ้องได้ จึงได้ประสานให้เจ้าหน้าที่ดีเอสไอไปดำเนินการติดตามจับกุมตัวมาส่งฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลในภายหลัง
 
โดยศาลได้อ่านและอธิบายคำฟ้องให้จำเลยทั้ง 17 คนฟังจนเข้าใจ แล้วสอบถาม ปรากฎว่าจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ ขอต่อสู้คดี และได้จัดเตรียมทนายความไว้พร้อมแล้ว ศาลจึงนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 27 กันยายน นี้ เวลา 09.00 น.
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับจำเลยคดีร่วมกันก่อการร้ายอีก 18 คน ประกอบด้วยนายจตุพร พรหมพันธุ์ อายุ 44 ปี นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อายุ 35 ปี นายเหวง โตจิราการ อายุ 59 ปี นายก่อแก้ว พิกุลทอง อายุ 45 ปี นายขวัญชัย สาราคำ หรือ ไพรพนา อายุ 58 ปี นายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก อายุ 52 ปี นายนิสิต สินธุไพร อายุ 54 ปี นายการุณ หรือเก่ง โหสกุล  อายุ 42 ปี ส.ส. กทม. พรรคเพื่อไทย นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท อายุ 58 ปี  นายภูมิกิติ หรือพิเชษฐ์ สุจินดาทอง อายุ 52 ปี แกนนำ นปช.  นายสุขเสก หรือสุข พลตื้อ อายุ 34 ปี นายจรัญ หรือยักษ์ ลอยพูล อายุ 39 ปี การ์ด นปช. นายอำนาจ อินทโชติ อายุ  54 ปี นายชยุต ใหลเจริญ อายุ37 ปี หัวหน้าการ์ด นปช.  นายสมบัติ หรือผู้กองแดง มากทอง อายุ 48 ปี นายสุรชัย หรือหรั่ง เทวรัตน์ อายุ 25 ปี คนสนิทพล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก นายรชต หรือกบ วงค์ยอด อายุ 29 ปี และ นายยงยุทธ ท้วมมี  อายุ 54 ปี แนวร่วม นปช.
 
ด้านนายคารม พลทะกลาง ทนาความ นปช. กล่าวว่า ยังรู้สึกสงสัยว่าเหตุใดอัยการจึงเร่งรัดรีบฟ้องกลุ่ม นปช. เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ทั้งที่ยังมีเวลาพิจารณาพยานหลักฐานต่าง ๆ ในสำนวนจนถึงต้นเดือนกันยายน ซึ่งตนหมดความน่าเชื่อถือในตัวของอัยการสูงสุด  ไม่ทราบว่า เป็น 2 มาตรฐานหรือไม่ เพราะคดีปิดล้อมสนามบินที่กลุ่มพันธมิตรฯ เป็นผู้ต้องหา ยังยืดเยื้อมานานนับปี อย่างไรก็ตามตนเชื่อมั่นกลุ่ม นปช.จะได้รับความเป็นธรรมจากศาลต่อไป
              
 
ที่มา: มติชนออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net