การเลือกตั้งในพม่า ผลกระทบต่อแรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

แม้จะมีการกำหนดวันเลือกตั้งในพม่าอย่างแน่นอนแล้วในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2553 หรืออีก 3 เดือนข้างหน้า ถือได้ว่าเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 20 ปี แต่สำหรับแรงงานอพยพข้ามชาติและผู้ลี้ภัยจากพม่าที่ทำงานหรือลี้ภัยอยู่ในประเทศไทยมากว่า 20 ปีเช่นกัน กล่าวได้ว่านี้เป็นประเด็นที่ทั้งสำคัญและไม่สำคัญในคราเดียวกันสำหรับคนที่มิถูกเรียกว่า “ประชาชนพม่า” การเลือกตั้งมีนัยสำคัญเกี่ยวกับความเป็นพลเมืองของพม่า แต่กรณีของแรงงานข้ามชาติหรือผู้ลี้ภัยก็ตาม พวกเขาและเธอต่างอยู่ในสถานะของ “ศัตรู/ความเป็นอื่นของรัฐบาลพม่า” ซึ่งรัฐบาลมิได้สนใจหรือให้ความสำคัญอยู่แล้ว แต่ก็คงมิสามารถปฏิเสธได้เช่นกันว่าการเลือกในพม่ามีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อแรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัยจากพม่าในไทยอย่างมิสามารถแยกขาดจากกันได้  แน่นอนเวลากล่าวถึงประเด็นนี้พบว่ามีตัวแสดงอย่างน้อย 7 กลุ่มที่ต่างมีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง

 

(1) กองกำลังชนกลุ่มน้อยต่างๆ โดยเฉพาะไทใหญ่ (SSA) ปะโอ (PNO) และคะฉิ่น (KIA)

ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา เราทราบดีว่าบรรดากองกำลังของชนกลุ่มน้อยทั้งหลายตามแนวชายแดนจีนและไทย ได้ปฏิเสธข้อเสนอของรัฐบาลทหารพม่าที่ขอให้วางอาวุธและเข้ามาร่วมในกระบวนการทางการเมืองโดยถูกต้องตามกฎหมายมาโดยตลอด ชนกลุ่มน้อยมองว่านี้เป็นเพียงลูกไม้ของกองทัพพม่าที่จะยึดครองประเทศที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์แห่งนี้อย่างเบ็ดเสร็จมากกว่า นอกจากนั้นแล้วการสนับสนุนการเลือกตั้งหรือยอมรับรัฐธรรมนูญยิ่งเป็นการเพิ่มความชอบธรรมให้กับความไร้มนุษยธรรมของรัฐบาลพม่ามากยิ่งขึ้น ฉะนั้นทั้ง SSA, PNO หรือ KIA ต่างเรียกร้องให้คว่ำบาตรการเลือกตั้งพม่า ล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายน 2553 สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (RCSS) ซึ่งเป็นองค์กรทางการเมืองของกองทัพรัฐฉาน ได้เสนอวิธีการคว่ำบาตรการเลือกตั้ง 3 วิธีได้แก่ หนึ่ง ไม่ออกไปใช้สิทธิ สอง หากถูกกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้นำชุมชน บีบบังคับให้ไปหย่อนบัตรลงคะแนน ก็ให้เขียนหรือ กาในช่องไม่ใช้สิทธิหรือไม่เลือกบุคคลใด สาม ทำการประท้วงคัดค้านการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตามวิธีการเหล่านี้ยิ่งนำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลพม่าและกองกำลังชนกลุ่มน้อยมากยิ่งขึ้น โอกาสที่กองทัพพม่าจะเปิดศึกกับชนกลุ่มน้อยเป็นไปได้สูงมาก และนั่นหมายถึงผลกระทบต่อประชาชนคนเล็กคนน้อยที่ไม่ได้เกี่ยวข้อง ที่ในที่สุดแล้วจะได้รับผลกระทบจากการสู้รบมากยิ่งขึ้น กรณีนี้ดูได้จากสถิติของผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (IDPs) ที่ตัวเลขเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ล่าสุดเมื่อสิ้นปี 2552 พบว่ามี IDPs ในพม่ากว่า 470,000 คน (อยู่ในเขต free fire zone กว่า 230,000 คน) โดยอยู่ในรัฐฉานกว่า 135,400 คน และรัฐกะเหรี่ยง 125,100 คน ตัวเลขคนกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะผันตนเองไปเป็นผู้ลี้ภัยและแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น เพราะส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตที่ยิงได้เสรี ความช่วยเหลือการคุ้มครองดูแลจึงเป็นไปได้ยากยิ่ง

 

(2) ประชาชนพม่าที่ออกมาประท้วงตอนขึ้นราคาน้ำมัน ปี 2550

ในเวลานี้ประชาชนในพม่าส่วนใหญ่โดยเฉพาะกลุ่มที่ออกมาประท้วงทางการเมืองตอนปี 2550 ก็ยังคงไม่เชื่อถือในความจริงใจของรัฐบาลทหารพม่าที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งในช่วงปลายปี แต่ก็คงไม่มีใครกล้าออกมาวิจารณ์อย่างเปิดเผยในที่สาธารณะเพราะหวั่นเกรงที่จะถูกจับขังคุก ความไม่จริงใจของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาอาจดูได้จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลยังไม่สามารถแก้ไขได้ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องน้ำมันแพง ภาวะราคาอาหารถีบตัวสูงขึ้น หรือปัญหาเงินเฟ้อ เป็นต้น อย่างไรก็ตามมีความเป็นไปได้ในรูปการณ์หนึ่งว่านักศึกษา/ปัญญาชนจะกลายเป็นผู้นำในการออกมาประท้วงอีกครั้งหนึ่ง ดังที่มีข่าวว่าเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2553 ที่ผ่านมามีกลุ่มนักศึกษาในเมืองย่างกุ้งจำนวน 7 คน ได้ออกมาเดินแจกใบปลิวให้กับประชาชนตามสถานที่ต่างๆในเมืองย่างกุ้ง โดยในใบปลิวดังกล่าวได้มีการเรียกร้องให้ประชาชนชาวพม่าคว่ำบาตรการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้น ข้อความในใบปลิวระบุว่า กำหนดการเลือกตั้งของรัฐบาลทหารที่กำลังจะมีขึ้นในปีนี้เป็นเพียงการสร้างภาพและเป็นเรื่องโกหกเท่านั้น นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้บรรดานักศึกษาออกมารวมตัวกันจัดตั้งสหภาพนักศึกษาเพื่อรณรงค์และต่อต้านการเลือกตั้ง

สำหรับในส่วนของบรรยากาศและสภาวการณ์ทางการเมืองในเวลานี้เอง ก็สามารถมองได้เช่นกันว่ายังไม่สามารถเอื้ออำนวยให้เกิดเหตุการณ์แบบพลิกผันสมัยปีพ.ศ.2533 ที่นางอองซานซูจี ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย ในขณะนี้แม้จะมีกฎหมายพรรคการเมือง มีคณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง และมีพรรคการเมืองมากมายแล้ว แต่พรรคการเมืองในพม่าก็ไม่สามารถหาเสียงได้ เพราะยังคงมีกฎห้ามการชุมนุมทางการเมืองบังคับใช้อยู่ เช่นเดียวกันกับเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งถูกจำกัดจำเขี่ยอย่างยิ่ง จนแทบไม่เหลือหนทางที่พรรคการเมืองพรรคหนึ่งพรรคใดจะสามารถสื่อสารกับผู้มีสิทธิออกเสียงได้อย่างเต็มที่ถึงแนวนโยบายของตนเอง

ในขณะเดียวกันการกุมอำนาจเบ็ดเสร็จของรัฐบาลทหารในพม่าก็ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่รู้สึกว่า ไม่ควรคาดหวังการเปลี่ยนแปลงใดๆจากการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ หลายคนตระหนักว่าการเปลี่ยนแปลงหากจะเกิดขึ้นได้ จำเป็นจะต้องค่อยเป็นค่อยไปคืบคลานไปจากสภาพย่ำแย่อย่างที่เป็นอยู่ไปทีละด้าน ในส่วนที่ส่งผลสะเทือนต่อพรรคการเมืองของทหารและกองทัพน้อยที่สุด ซึ่งหากเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันขึ้น กองทัพที่เต็มไปด้วยความหวาดระแวงก็จะตอบโต้กลับทันทีแบบที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วบ่อยครั้ง และโอกาสที่ประชาชนจะถูกปราบปรามอย่างรุนแรงก็จะเป็นไปได้เร็วขึ้น และนั่นหมายถึงการอพยพลี้ภัยมายังประเทศเพื่อนบ้านก็มิใช่เรื่องที่จะเป็นไปไม่ได้

 

(3) นักศึกษา/นักการเมืองพม่าพลัดถิ่นในประเทศต่างๆ

นับตั้งแต่ที่พม่าได้ประกาศให้มีการเลือกตั้งภายในปีนี้ พบว่า กลุ่มนักศึกษา/นักการเมืองที่ลี้ภัยทางการเมืองพม่าที่ลี้ภัยมาอยู่ในพื้นที่ชายแดนไทย–พม่าหรือในประเทศเพื่อนบ้านต่างๆ เช่น ฟิลิปปินส์ , ญี่ปุ่น ได้จัดประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศพม่าบ่อยครั้ง โดยเฉพาะประเด็นที่รัฐบาลทหารจะจัดการการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2553 โดยในที่ประชุมส่วนใหญ่มีมติไม่ยอมรับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในประเทศพม่า รวมทั้งการโจมตีรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย สิ่งที่คนกลุ่มนี้ดำเนินการ

คือการรณรงค์ใช้สื่ออินเตอร์เน็ตเคลื่อนไหวเรียกร้องไม่ให้ประชาชนไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง รวมถึงรณรงค์ให้นานาประเทศไม่รับรองผลการเลือกตั้งดังกล่าว มีการส่งผ่านข้อมูลจากโลกภายนอกกลับไปยังประชาชนพม่าหรือแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยที่สามารถเข้าถึงสื่ออินเตอร์เน็ตได้ เพื่อเป็นเครื่องมือในการจัดตั้งเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกเพื่อสร้างแนวร่วมประชาชนพม่ามากยิ่งขึ้น นี้ยังมิรวมถึงกรณีของนักเคลื่อนไหวจากพม่าในประเทศต่างๆได้ออกมาชุมนุมประท้วงต่อต้านการเลือกตั้งในพม่ากล่าวประณามรัฐบาลทหารพม่า พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศนั้นๆ แสดงจุดยืนต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่าด้วยเช่นกัน

 

(4) รัฐบาลไทย

สำหรับรัฐบาลไทยแล้ว การเลือกตั้งในพม่าถือเป็นเครื่องมือหนึ่งในการแสดงถึงความเป็นประเทศประชาธิปไตย ฉะนั้นรัฐบาลไทยก็จะใช้ประโยชน์ในการเป็นข้ออ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมในการผลักดัน/ส่งกลับ/จัดการกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติและโดยเฉพาะกลุ่มผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมากว่า 20 ปี และประเทศพม่าไม่ยอมรับ ดังที่มีข่าวออกมาเมื่อตอนปลายเดือนกรกฎาคม 2553 ว่า สภาความมั่นคงแห่งชาติได้มีการหารือกับรัฐบาลพม่าว่า หากสถานการณ์ในพม่าเรียบร้อยก็จะมีการส่งกลับผู้ลี้ภัยชาวพม่าอยู่ตามค่ายต่างๆ ประมาณ 1.4 แสนคนกลับไปยังประเทศพม่า เพียงแต่ขณะนี้ยังไม่มีการกำหนดวันเวลาที่แน่นอน ซึ่งคิดว่าภายหลังการเลือกตั้งน่าจะดีขึ้นและน่าจะมีการพูดคุยกันได้มากขึ้น

 

(5) อาเซียน

อาเซียนเป็นอีกตัวแสดงหนึ่งที่ทำให้การเลือกตั้งในพม่าได้กลายเป็นกลไกที่มีความชอบธรรมมากขึ้นโดยมิรู้ตัว และนั่นจะยิ่งทำให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่าดำรงอยู่ต่อไป และการอพยพโยกย้ายถิ่นของประชาชนในพม่าก็จะยังคงดำเนินไปซ้ำแล้วซ้ำเล่า ดูได้จากกรณีการประชุมสุดยอดผู้นำสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ครั้งที่ 16 เมื่อเมษายน 2553 ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ส่วนใหญ่ชาติสมาชิกอาเซียนต่างเห็นพ้องว่า แม้พม่าจะยังไม่เป็นประชาธิปไตย แต่การที่ประเทศพม่ากำลังจะมีการเลือกตั้งอยู่แล้ว เหตุใดจึงต้องเรียกร้องหรือไม่เห็นด้วยกันอีก หน้าที่ของอาเซียนน่าจะทำเพียงการจับตาดูการเลือกตั้งพม่าให้เป็นประชาธิปไตยแทนมากกว่า นอกจากนั้นแล้วแม้ว่าอาเซียนจะมีการจัดตั้งกลไกอาเซียนทางสิทธิมนุษยชนขึ้นมาก็ตาม สิ่งสำคัญมากกว่าคือ ทุกประเทศในอาเซียนได้ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างไร กล่าวกันตามจริงแล้วอำนาจของคณะกรรมาธิการชุดนี้ทำหน้าที่เพียง promotion คือ ส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักสิทธิมนุษยชนมากขึ้น ส่งเสริมให้อาเซียนไปลงนามปฏิญญาต่างๆ แต่ในเรื่อง protection ยังไม่เด่นชัด คือเมื่อเกิดการละเมิดขึ้นมา คณะกรรมาธิการก็ทำอะไรไม่ได้ ทำได้แค่รายงาน จะรับเรื่องร้องเรียนก็ไม่ได้ ไต่สวนก็ไม่ได้ ออกมาตรการอะไรก็ไม่ได้ โอกาสที่จะทำ protection ได้ น้อยมากและจำกัดมาก อีกประการหนึ่งแน่นอนเราคงมิสามารถปฏิเสธได้ว่าอุปสรรคจำกัดบทบาทของอาเซียนคือ เรื่องผลประโยชน์ของประเทศสมาชิกอาเซียนกับพม่า เช่น ประเทศไทยซื้อก๊าซธรรมชาติจากพม่า ไฟฟ้าที่ไทยใช้อยู่ก็มาจากพม่า การค้าทั้งไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ ต่างก็มีผลประโยชน์กับพม่า ฉะนั้นการใช้ท่าทีแข็งกร้าวต่อรัฐบาลพม่าจึงเป็นใช่เรื่องที่ดีแต่อย่างใด

 

(6) สื่อมวลชนพลัดถิ่น

การเกิดขึ้นของสื่อออนไลน์แบบ facebook , twitter , blog หรือแม้กระทั่ง website ข่าวต่างๆ ในยุคนี้ ช่วยทำให้ประชาชนในพม่ารวมทั้งที่อาศัยอยู่ในประเทศอื่นๆ เช่น แรงงานข้ามชาติ มีโอกาสรับรู้ข้อมูลการสื่อสารที่รวดเร็ว เข้าใจสถานการณ์ในพม่าที่ถูกปิดกั้นมากขึ้น และอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงบางอย่างได้เร็วขึ้น เพราะปัจจุบันสื่อมวลชนในพม่าไม่มีเอกชนรายใดเป็นเจ้าของ ทุกอย่างบริหารโดยรัฐบาลทหารพม่าหมด ไม่มีสื่อโทรทัศน์เป็นของเอกชน สื่อกลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือกรณีที่ในพม่ามีแม็กกาซีนมากกว่า 200 หัว แต่บทความทุกเรื่องก็ยังต้องส่งไปให้คณะกรรมการสื่อสิ่งพิมพ์ของรัฐบาลเซ็นเซอร์ก่อนเผยแพร่ ฉะนั้นการเข้ามาของสื่อออนไลน์จึงมีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงในพม่าเป็นอย่างยิ่ง

 

(7) ชาติมหาอำนาจต่างๆที่เข้ามาลงทุนธุรกิจในพม่า

สถานการณ์การเมืองโลกขณะนี้ เป็นไปได้ว่าทุกชาติมหาอำนาจไม่ว่าจะยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน อินเดีย ฯลฯ ดูจะต้องการให้เกิดการเลือกตั้งในพม่าในเร็ววัน เนื่องจากเป็นการแสดงให้เห็นว่าพม่ามีความเป็นประชาธิปไตยขึ้นมา โอกาสที่ชาติมหาอำนาจจะเข้าไปทำธุรกิจกับรัฐบาลพม่าก็จะเป็นไปได้อย่างสะดวกเต็มที่ โดยที่ไม่ต้องถูกประชาคมโลกกล่าวหาว่าทำธุรกิจกับรัฐบาลมือเปื้อนเลือด เพราะถือว่าพม่ามีการเลือกตั้งขึ้นมาแล้ว ฉะนั้นกระบวนการเลือกตั้งจึงเป็นวิธีการ/เครื่องมือที่ทำให้การทำธุรกิจมีความชอบธรรมมากยิ่งขึ้น นั่นหมายถึงการกดขี่ประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆก็จะเกิดเร็วขึ้นง่ายขึ้น ด้วยข้ออ้างของ “การพัฒนา” เช่น การให้สัมปทานป่าไม้ที่อยู่ในพื้นที่ชนกลุ่มน้อย ดังนั้นแล้วโอกาสที่ประชาชนจะถูกละเมิดสิทธิ ถูกกดขี่ ยึดที่ดิน บีบบังคับเป็นแรงงาน ก็จะดำเนินต่อไป และเป็นปัจจัยที่จะเร่งให้ประชาชนเดินทางออกนอกประเทศมากยิ่งขึ้น

แน่นอนที่กล่าวมาทั้งหมดคงเป็นแค่เสี้ยวหนึ่งของการมองการเลือกตั้งในพม่าผ่านมุมมองผู้เกี่ยวข้องฝ่ายต่างๆ แต่สำหรับประชาชนในพม่าแล้ว เราคงมิสามารถปฏิเสธได้ว่านี้คือการสร้างสังคมแห่งความกลัวรูปแบบใหม่ที่ชอบธรรมขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เป็นสังคมที่ยิ่งจะทำให้ผู้คนเลือกที่จะยอมจำนนกับระบอบที่เป็นอยู่เป็นไป แม้ว่าไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งแต่ก็เลือกที่จะนิ่งเพื่อให้ชีวิตอยู่รอดได้ต่อไป สำหรับกรณีของแรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัยแล้วในประเทศไทยแล้ว การเลือกตั้งในพม่าแม้เป็นประเด็นที่ไม่สามารถแสดงให้เห็นชัดได้ว่าจะช่วยทำให้ชีวิตแรงงานข้ามชาติหรือผู้ลี้ภัยดีขึ้นอย่างไร เมื่อเทียบกับเรื่องการพิสูจน์สัญชาติหรือเรื่องอื่นๆที่ทำให้พวกเขาและเธอมองเห็นอนาคตที่โยงใยอ้างอิงมีสายสัมพันธ์กับบ้านเกิดได้ชัดเจนกว่า แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า อนาคตของพวกเขาและเธอนั้นเรื่องของการเลือกตั้งในพม่าเป็นอีกตัวแปรที่สำคัญยิ่งนัก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท