Skip to main content
sharethis

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เสนอ 10 ข้อเสนอต่อการปฎิรูปประเทศไทยในประเด็นแรงงาน

เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 53 -  ที่ห้องประชุมมาลัยหุวะนันท์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการจัดเวทีสัมมนาเรื่อง "อนาคตผู้ใช้แรงงานกับการปฏิรูปประเทศไทย" โดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้เสนอ 10 ข้อเสนอต่อการปฎิรูปประเทศไทย

1. สิทธิในการเลือกตั้งในพื้นที่สถานประกอบการ :

ให้ผู้ใช้แรงงานและประชาชนที่อาศัยหรือทำงานในพื้นที่นอกทะเบียนบ้านของตน สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาในเขตพื้นที่ซึ่งตนอาศัยหรือทำงานอยู่ได้ เนื่องจากประเทศไทยมีคนทำงานจำนวนมากที่อพยพจากภูมิลำเนาเดิมเพื่อเข้ามาทำงานประกอบอาชีพทั้งในระบบราชการ ภาคเอกชน และภาคเศรษฐกิจนอกระบบ โดยที่พวกเขาไม่สามารถย้ายทะเบียนบ้านเข้ามายังพื้นที่ซึ่งตนมาทำงานได้ ด้วยข้อจำกัดหลายประการ เช่น เจ้าของบ้านเช่าไม่ยอมให้ย้ายทะเบียนบ้านเข้ามา บางคนพักอยู่ในหอพักที่สถานประกอบการจัดให้ซึ่งก็ไม่สามารถย้ายทะเบียนบ้านเข้ามาได้ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงพวกเขาคือผู้ที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งตนทำงานจะเรียกว่าถาวรเลยก็ได้ แต่พอมีการเลือกตั้งพวกเขากลับต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภาในเขตที่ตนเองไม่ได้อาศัยอยู่จริง สภาพเช่นนี้ทำให้ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งไม่ได้สะท้อนความเป็นตัวแทนของพื้นที่อย่างแท้จริงและทำให้การแก้ปัญหา การจัดสรรงบประมาณลงพื้นที่ไม่ตรงต่อความเป็นจริง

การให้คนทำงานมีสิทธิออกเสียงเลือกผู้แทนในพื้นที่ซึ่งเขาทำงานและอาศัยอยู่จริงจะทำให้ผู้แทนต้องมีความรับผิดชอบโดยตรงต่อผู้ออกเสียงเลือกตั้ง ต้องรับฟังและแก้ไขปัญหาให้กับคนที่เลือกตนเข้าไปทำหน้าที่แทน

2. การตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุน :

เพื่อให้ความช่วยเหลือจ่ายเงินชดเชยแก่คนงานที่ไม่ได้รับค่าชดเชย เนื่องจากหลายครั้ง หลายเหตุการณ์ที่สถานประกอบการปิดตัวลงอย่างกะทันหันและคนงานไม่ได้รับค่าชดเชยใดๆ ต้องไปเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในการฟ้องดำเนินคดีกับนายจ้าง ซึ่งใช้เวลานาน ในขณะที่คนงานตกงานขาดรายได้ กลับต้องรอเงินชดเชยดังกล่าวที่ล่าช้ากว่าจะได้รับ ทำให้เกิดความเดือดร้อนต่อตนเองและครอบครัวในการดำรงชีพ

จึงขอเสนอให้กระทรวงแรงงานจัดสรรงบประมาณ ในการตั้งกองทุนเพื่อให้ความช่วยเหลือลูกจ้างที่ไม่ได้รับค่าชดเชยจากสถานประกอบการโดยใช้เงินกองทุนนั้นซึ่งเป็นของกระทรวงแรงงานจ่ายให้ลูกจ้างได้ทันทีเพื่อเป็นค่าชดเชย และให้กระทรวงแรงงานไปดำเนินการเรียกเก็บกับนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการเพื่อนำกลับเข้าคืนกองทุนต่อไป

3. รัฐต้องให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 :

ซึ่งอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวกันร่วมเจรจาต่อรอง เป็นอนุสัญญาแรงงานหลัก (Core Labour Standard)ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยก็เป็นประเทศภาคีสมาชิกขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ดังนั้น ก็ควรปฏิบัติให้สมฐานะที่เป็น

ประเทศภาคีสมาชิก โดยการประกาศให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาดังกล่าว และให้มีนโยบายด้านแรงงานในการปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

4. พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (ฉบับบูรณาการร่วมของผู้ใช้แรงงาน) :

ด้วยปัจจุบันระบบวินิจฉัยทางการแพทย์มีการบิดเบือน เอื้อประโยชน์ต่อนายจ้างและเจ้าของสถานประกอบการ ทำให้เกิดผลเสียและผลกระทบต่อผู้ใช้แรงงานเป็นอย่างมาก ดังนั้น เพื่อแก้กรณีปัญหาที่เกิดขึ้นต่อผู้ใช้แรงงาน รัฐต้องจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความ

ปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยบังคับใช้พระราชบัญญัติสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (ฉบับบูรณาการร่วมของผู้ใช้แรงงาน)

5. รัฐบาลต้องยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ :

โดยให้รัฐบาลมีนโยบายในการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจให้มีศักยภาพพร้อมในการให้บริการแก่ประชาชน

กระทรวงการคลังต้องจัดตั้งกองทุนพัฒนารัฐวิสาหกิจและส่งเสริมให้มีผู้แทนของสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ในคณะกรรมการกำกับนโยบายในรัฐวิสาหกิจ (ระดับชาติ) และให้มีผู้แทนของสหภาพแรงงานในคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง

ด้วยเหตุที่ว่ากิจการที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภคและความมั่นคงของชาติถือเป็นภารกิจของรัฐ รัฐต้องบำรุงรักษาและส่งเสริมกิจการรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภคเพื่อให้สามารถบริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั่วถึงและเป็นธรรม กิจการรัฐวิสาหกิจเหล่านี้จะนำไปขายเพื่อการแสวงหากำไรไม่ได้อย่างเด็ดขาด

6. การปฏิรูปสำนักงานประกันสังคม :

ต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารงานสำนักงานประกันสังคม ให้มีความโปร่งใสมีส่วนร่วมของผู้ประกันตน และขยายการคุ้มครองไปสู่แรงงานนอกระบบ เนื่องจากสำนักงานประกันสังคมได้จัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2533 นับเป็นระยะเวลา 20 ปี ปัจจุบันสำนักงานประกันสังคมมีผู้ประกันตนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนถึงกว่าเก้าล้านคน ในขณะเดียวกันเงินกองทุนประกันสังคมก็เพิ่มขึ้นถึงห้าแสนล้านบาท แต่การบริหารงานของสำนักงานประกันสังคมยังมิได้มีการพัฒนาเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารงานเพื่อรองรับการเติบโตแต่อย่างใด

ดังนั้น เพื่อเป็นการเปิดช่องทางในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารงานในรูปแบบขององค์การมหาชนเพื่อความเป็นอิสระภายใต้กำกับดูแลของรัฐ เพื่อให้เกิดการบริหารงานที่คล่องตัว โปร่งใส เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ

7.กรณีค่าจ้างที่เป็นธรรม :

"ค่าจ้าง" ไม่ได้เป็นเพียงตัวชี้วัดค่าตอบแทนสำหรับคนงานเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวชี้วัดสินค้าและบริการที่เข้าออกในระบบเศรษฐกิจอันเป็นผลมาจากการดำเนินงานของกลไกการผลิตด้วยเช่นกันเศรษฐกิจจะมั่นคงอยู่ได้ก็เพราะค่าจ้างของคนงานที่ส่งผลต่อเนื่องถึงสมาชิกในสังคมกลุ่มอื่นๆ และส่งผลให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ในสถานการณ์ปัจจุบันค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทยอยู่ในระดับที่ต่ำมาก ไม่พอเพียงต่อการดำรงชีพของคนงานในแต่ละวัน โดยขบวนการแรงงานไทยได้พยายามผลักดันให้เกิดค่าจ้างที่เป็นธรรมมาอย่างต่อเนื่อง โดยให้คนงานและครอบครัวดำรงชีพอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐแต่อย่างใด

รัฐบาลควรกำหนดมาตรฐานค่าจ้างที่เท่าเทียมกันหรือใกล้เคียงกัน สำหรับงานประเภทเดียวกันในภูมิภาคอาเซียน เพื่อมิให้เกิดการย้ายฐานการผลิตภายในภูมิภาคไปสู่ประเทศที่มีมาตรฐานค่าแรงต่ำกว่า อันจะส่งผลกระทบต่อพี่น้องผู้ใช้แรงงานที่ต้องถูกเลิกจ้างหากมีการย้ายฐานการผลิต ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิด "งานที่มีคุณค่า" (Decent Work) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ที่ดำเนินการให้มีการส่งเสริมแก่ทุกรัฐบาล องค์กรนายจ้างและองค์กรลูกจ้างที่เป็นสมาชิกในการเสริมสร้างงานที่มีคุณค่า (Decent Work Deficits) ในแต่ละประเทศ

8. การคุ้มครองแรงงานนอกระบบ :

ในสถานการณ์ปัจจุบันเศรษฐกิจนอกระบบเติบโตอย่างรวดเร็วมาก เนื่องจากการค้าเสรีและการแข่งขันทางธุรกิจที่รุนแรง ส่งผลให้รูปแบบการดำเนินเศรษฐกิจต้องมีการปรับตัว ผู้ประกอบการจำนวนมากเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วยการลด ต้นทุนการผลิต ทำให้เกิดรูปแบบการจ้างงานในลักษณะเหมาค่าแรง การจ้างเหมาช่วง การกระจายหน่วยการผลิต สถานการณ์ดังกล่าวขยายตัวไปทุกมุมโลก และส่งผลกระทบต่อมาตรฐานแรงงาน สิทธิแรงงานและความมั่นคงในอาชีพ แรงงานนอกระบบมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจของทุกประเทศทำให้เศรษฐกิจในภาพรวมเจริญเติบโตขึ้น แต่ในความเป็นจริงแรงงานนอกระบบ หรือแรงงานในภาคเศรษฐกิจนอกระบบยังไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิจากรัฐ อยู่กับเงื่อนไขการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม

ด้วยเหตุดังกล่าวนี้จึงขอเสนอให้รัฐบาลออกกฎหมายคุ้มครองแรงงานนอกระบบ ภายใต้หลักมาตรฐานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศและงานที่มีคุณค่า (Decent Work) และต้องขยายการคุ้มครองการบริการทางด้านสาธารณสุข ในรูปแบบของประกันสังคมให้คุ้มครองถึงแรงงานทุกระบบอย่างทั่วถึง โดยได้รับมาตรฐานเดียวกันกับแรงงานในระบบและจ่ายเงินสมทบตามอัตราส่วนที่เหมาะสม

9. การคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ :

แม้จะมีการลงนามรับรองในปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของแรงงานต่างด้าวไปแล้วสภาพการจ้างงานและการคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติและแรงงานทั่วไปยังไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน รัฐบาลต้องบังคับให้มีการคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันกับสิทธิแรงงานในประเทศนั้นในสายอาชีพเดียวกัน ทั้งในเรื่องของค่าจ้าง สิทธิคุ้มครองตามกฎหมาย สิทธิในการรวมตัวการร่วมเจรจาต่อรอง สิทธิในการเข้าถึงการบริการด้านสาธารณสุขและอาชีวอนามัย ทั้งนี้เพื่อรองรับการย้ายถิ่นในการทำงาน หรือการอพยพแรงงานในอนาคตอันใกล้นี้

10. การจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กในย่านอุตสาหกรรม :

การเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยจึงเป็นพื้นฐานที่สำคัญ ในการพัฒนาให้เด็กเติบโตเป็นประชากรที่มีคุณภาพของประเทศ ผู้เลี้ยงดูต้องมีปัจจัยที่สำคัญ คือ รายได้เวลา และความรู้ ซึ่งครอบครัวของผู้ใช้แรงงานมีปัจจัยเหล่านี้จำกัด รัฐจึงมีความจำเป็นที่ต้องเข้ามาสนับสนุน และในสถานการณ์ปัจจุบันศูนย์เลี้ยงเด็กในย่านอุตสาหกรรมต่างๆ ยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้แรงงานและการบริการก็ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้ใช้แรงงาน

ดังนั้น รัฐต้องจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กในย่านอุตสาหกรรมต่างๆ ในปริมาณที่เพียงพอ และมีคุณภาพที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้แรงงาน โดยอย่างน้อยที่สุดต้องมีศูนย์เลี้ยงเด็กในย่านอุตสาหกรรมแต่ละแห่งไม่น้อยกว่าหนึ่งศูนย์ และศูนย์เลี้ยงเด็กเหล่านั้นต้องมีการบริการที่ยืดหยุ่น โดยเฉพาะเกี่ยวกับเวลาเปิดทำการและปิดทำการที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้ใช้แรงงาน

ที่มาข่าว: มติชน ฉบับวันที่ 16 ส.ค. 2553

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net