เทศกาลรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย : ไม่ใช่เพื่อตัวบุคคล

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
หลังจากรางวัลซีไรต์ประจำปี 2553 นี้ มีการประกาศผลรอบแรกในวันที่ 13 กรกฎาคม 2553 ที่ผ่านมา    มีหนังสือกวีนิพนธ์เข้ารอบแรกจำนวน 6 เล่ม เรียงตามลำดับอักษรดังนี้
  1. ฉันอยากร้องเพลงสักเพลง ของ ศิริวรณ์ แก้วกาญจน์
  2. เดินตามรอย ของ วันเนาว์ ยูเด็น
  3. ในความไหวนิ่งงัน ของ นายทิวา
  4. เมืองในแสงแดด ของ โกสินทร์ ขาวงาม
  5. ไม่มีหญิงสาวในบทกวี ของ ซะการีย์ยา อมตยา
  6. รูปฉายลายชีพ ของ โชคชัย บัญฑิต
 
จากผลงานกวีนิพนธ์ที่ส่งเข้าประกวดในครั้งนี้ทั้งหมดจำนวน ผลงาน ดังรายนามต่อไปนี้
เดิน ๓๘ ก้าว ถึงนิพพาน   ฉมณคิด แผนสมบูรณ์  จงเจริญการพิมพ์
เดินตามรอย  วันเนาว์ ยูเด็น      แพรว
เทวาลัยมนสิการ  พันดา ธรรมดา   นกเช้า
เพลงใฝ่เงาฝัน  วัฒนา ธรรมกูร   สาระตน
เพียงเสียงนกบนดาวเคราะห์น้อย  แสงศรัทธา ณ ปลายฟ้า   ชายขอบ
เพียงฝุ่นทรายว่ายล่วงถึงดวงดาว     ศิลาดล  นกเช้า
เมล็ดฝัน พันธุ์กวี  สิทธิเดช กนกแก้ว   ร้อยแก้ว
เมืองในแสงแดด  โกสินทร์ ขาวงาม   ใบไม้ป่า
ตกต้องตามฤดูกาล  ยอดฉัตร บุพศิริ   ไม่ประสงค์
10  เหมือนหนึ่งมนุษย์ มีเลือดคนละสี  ธาร ธรรมโฆษณ์   ข้าวเจ้า
11  แผ่นดินที่ฉันมีวิถีจิตนิยม  ชูชาติ ครุฑใจกล้า   ธรรมเมธี
12  โลกแห่งเวลาอาลัย  ภูวดล ภูภัทรโยธิน   สมุดไทย
13  โลกแห่งรัก  กานติ ณ ศรัทธา   รูปจันทร์
14  โลกยนิทาน   ธีรภัทร เจริญสุข   นานมีบุ๊คส์
15  โลกหมุนเร็วขึ้นกว่าเดิม  กฤตย์ดิศร กรเกศกมล   นานมีบุ๊คส์
16  ใต้ดวงตะวันสีดำ  เชาว์ศิลป์ จินดาละออง   ดาริกา
17  ในความไหวนิ่งงัน  ทิวา   ออน  อาร์ต ครีเอชั่น จำกัด
18  ในท้องปลาวาฬ  มูหัมหมัดฮาริส กาเหย็ม   ไม่ประสงค์
19  ไม่มีหญิงสาวในบทกวี  ซะการีย์ยา อมตยา  หนึ่ง
20  ไฮกุ อยู่ในหัวใจเธอ  เมธา เมธี   อมตะสตูดิโอ
21  กระจกเงา-เกิดเพื่อแพ้  รุ่งฟ้า ตะวันออก    ------
22  กรีดลงแก้ม  ลัดดา สงกระสินธ์   ลูกข่าง
23  กวีนิพนธ์ของคนบ้า  กิติคุณ คัมภิรานนท์   นานมีบุ๊คส์
24  กวีนิราศแฟนตาเซีย  เชษฐภัทร วิสัยจร   สามสี่ศูนย์
25  กอปร  อุเทน มหามิตร   ชายขอบ
26  กาพย์ห่อโคลงนิราศแม่ฮ่องสอน  ภักดี ชมภูมิ่ง   พี วาทิน พริ้นติ้ง
27  ขวดใสใบเล็กทั้งสี่ใบ  นิศรัย หนูหล่อ   นาคร
28  ขวัญแม่น้ำมูล  ไศล ภูลี้   เข้มข้น
29  คณะสัตว์ประหลาด  อาณัติ แสนโท   ไม่ประสงค์
30  คนกับโลก  สองขา   มติชน
31  คนทางนี้  ไวกูณฐ์ มาลาไทย   ข้าวเจ้า
32  คำแพงรุ่นสุดท้าย   ธรรม ทัพบูรพา  ข้าวเจ้า
33  คือตัวตนของคนนี้  บัวกันต์ วิลามาศ   ขอบประเทศ
34  ฉันรักเธอ  ไพฑูรย์ พรหมวิจิตร   หนึ่ง
35  ฉันอยากร้องเพลงสักเพลง   ศิริวร แก้วกาญจน์    ผจญภัย
36  ดินแดนไม่มหัศจรรย์  พจนาถ พจนาพิทักษ์   รากแก้ว
37  ทอรัก ถักโลก  วรภ วรภา      ยิปซี
38  ทะเล่อทะล่า 2-3 บรรทัด  อุเทน มหามิตร   ชายขอบ
39  นาฎกรรมแห่งการเฝ้ามอง  เจริญขวัญ   หัวใจเดียวกัน
40  นิราศในร้านเสริมสวย  สิงหา สัตยนนท์   ภาพคำ
41  นิราศยุโรป  สฤณี อาชวานันทกุล   ชายขอบ
42  นิราศรัฐ ก. ไก่   กานต์ ณ กานท์   คอมมอนเซ็นต์ กรุ๊ป
43  นิราศหาดหินงาม  เดชา สามารถ   เม็ดทราย พริ้นติ้ง
44  บทเพลงของการโบกบิน  ชัยพร ศรีโบราณ   ราชพฤกษ์
45  บทเพลงลมบ้าหมู  สุพัฒน์ คำย้าว   ใต้ดินศยาม
46  บทกวีแห่งคืนค่ำ  กิติคุณ คัมภิรานนท์   ลายสือ
47  บทกาพย์พระรัตนตรัย  กัญญา เชื้อพุก    ---
48  บนพื้นผิวแผ่นดินที่กำลังแตกกระจาย  อรอาย อุษาสาง   ตากับยายในพระจันทร์
49  บันไดดาว  กฤษณพล ศรีบูรพา   ข้าวเจ้า
50  บางโทนสีแห่งชีวิต  โสตถิเทพ แสวงประเทือง      แพรว
51  ประเทศของเราและเรื่องเล่าหลายๆเรื่อง  อภิชาติ จันทร์แดง   ชายขอบ
52  ปรากฎการณ์  พลัง เพียงพิรุฬห์   สกอร์ปิโอ พับลิชชิ่ง
53  ผรุสวาทคำฉัน (ท์)   อินเดียน อิงค์   จรัญสนิทวงศ์การพิมพ์
54  ผืนแพรแรทอง  วันเนาว์ ยูเด็น   กุลสตรี
55  ฝั่งฟ้าประกายดาว  โรม ลาวัณย์   สิยา วรรณราชู
56  ฝากแผ่นดิน  ก้องภพ รื่นศิริ   นัดพบ
57  ฝากโลกนี้ไว้ในหัวใจเธอ  กอนกูย   ข้าวเจ้า
58  พงศาวดารพิภพ  ธีรภัทร เจริญสุข   นานมีบุ๊คส์
59  พระจันทร์ทอเหนือทุ่งข้าว  พิเชษฐ์ศักดิ์ โพธิ์พยัคฆ์   ประกายพรึก
60  พิราบสีเหลือง  ภู-ติ-รัก   โฟ-บาร์ด
61  มกรา"52  ตุล ไวฑูรเกียรติ   ชายขอบ
62  มรสุมประเทศนี้ยังยาวนาน  วิสุทธิ์ ขาวเนียม   ลายแฝด
63  มหาวิหารแห่งสุวรรณภูมิ  บัญชา อ่อนดี   พิมพ์ไพร
64  รูปฉาย ลายชีพ  โชคชัย บัณฑิต   มิ่งมิตร
65  ลมใต้ไฟ  สายธารสิโป   หัวใจเดียวกัน
66  ลมมลายู  วิสุทธิ์ ขาวเนียม   นาคร
67  ส่งลูกไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า  หทัยภรณ์ กสิกิจนำชัย   ------
68  สวนสงบ  พรชัย แสนยะมูล   ไม้ยมก
69  สัมผัสบำบัด  อรุณวดี อรุณมาศ   วิศัลยา
70  สายรุ้ง รุ่งเยือน  ณรงค์ยุทธ โคตรคำ   เคล็ดไทย
71 หนทางและที่พักพิง  อังคาร จันทาทิพย์   ผจญภัย
72  หนามที่บ่งไม่ออก  สมศักดิ์ ศรีเอี่ยมกูล   ใบตอง
73  หยาดน้ำรำพึงฝัน  ชาคร บัวเกตุ   ธรรมเมธี
74  อุดมคติแห่งสยาม  สายฝน ตรีณาวงษ์   จรัญสนิทวงศ์การพิมพ์
 
คณะกรรมการคัดเลือก

๑.อาจารย์วรรณา  นาวิกมูล
ภาควิชาวรรณคดี คณะมนุษยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

๒.อาจารย์พวงแก้ว  ลภิรัตนกุล
นักวิชาการวรรณกรรม

๓.ผศ.ดร.ญาดา  อารัมภีร
นักวิชาการวรรณกรรม กรรมการสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย

๔.นายโกศล  อนุสิม
กวี นักเขียน

๕.นายสุภาพ  พิมพ์ชน
นักวิจารณ์

๖.อาจารย์ ดร. อารียา หุตินทะ
ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์
มหาวิทยาลัยศิลปากร

๗.อาจารย์ ดร. ปรมินท์ จารุวร
ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คณะกรรมการตัดสิน

๑.รองศาสตราจารย์ ดร.สรณัฐ  ไตลังคะ
นายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศ ไทย

๒.นางชมัยภร  แสงกระจ่าง
นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศ ไทย

๓.นายอดุล  จันทรศักดิ์
ศิลปินแห่งชาติ  สาขาวรรณศิลป์

๔.นายประภัสสร  เสวิกุล
อดีตนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศ ไทย

๕.รองศาสตราจารย์สุรภีพรรณ ฉัตราภรณ์
ภาควิชาภาษาอังกฤษ คณะอักษรศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

๖.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เสาวณิต วิงวอน
ภาควิชาวรรณคดี คณะมนุษยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

๗.ประธานคณะกรรมการคัดเลือก

 
หมายเหตุ ข้อมูลข้างต้นจาก http://www.thaipoetsociety.com/index.php?topic=2002.0
 
พร้อมกันนี้ยังมีข้อสังเกตของคณะกรรมการคัดเลือก ที่มีต่อหนังสือเข้ารอบแรกดังกล่าว และมีข้อสังเกตถึงภาพรวมของหนังสือที่ส่งเข้าพิจารณาคัดเลือก ซึ่งข้อสังเกตของคณะกรรมการนี่เองที่สร้างความคลางแคลงใจต่อ “สาธารณชน” ทั้งในเรื่องที่เป็นหลักการและเหตุผล และเป็นคำครหาบรรดามี ที่คณะกรรมการหรือกรรมการบางท่านถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาของการตัดสินการประกวดทุกอย่าง
แต่ข้อสำคัญที่สมควรจะกล่าวถึงมากที่สุด นอกเหนือจากพวกคำครหาเกี่ยวกับการเล่นพรรคเล่นพวก หรือผู้มีบารมีมากอำนาจที่สามารถเขียนใบสั่งให้ดันเล่มไหนเข้า ดึงเล่มไหนออกได้ตามอำเภอใจ ซึ่งดารากวีรุ่นใหญ่ไม่เคยรู้สึกรู้สาอะไร นอกจากจะยิ้มหัวพลางบ่นทีเล่นทีจริงไปทำนองว่า พอไม่ได้รางวัลก็โกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยง หากว่ากันตามมารยาทแล้ว เป็นคำพูดที่ไร้ความรับผิดชอบ และไม่สมควร แต่เราจะไม่สนใจมันล่ะไอ้พวกคำครหาเหล่านี้ ที่จะกล่าวนั้นคือ ปัญหาของคำว่า “สร้างสรรค์” ที่ต่างฝ่ายที่ร่วมสังฆกรรมกันล้วนบิดเบือนด้วยหลักการและเหตุผลอย่างผู้เชี่ยวชาญ
 
เคยรู้สึกไหมว่า ซีไรต์แต่ละปีที่มีการส่งประกวด ตัดสินใจ และยกยอปอปั้นกันหน้าสื่อแล้ว ค่าคุณอะไรในทางจรรโลงใจแก่สังคมนั้นหาได้ยากเต็มที ทั้งที่บางครั้งเนื้อหาของผลงานซีไรต์ปีนั้นก็บรรยายถึงความเป็นไปของสังคมอย่างแยบคาย ลุ่มลึก และชวนให้ครุ่นคิด นี่ไม่นับประเด็นทางการตลาดที่มีการสั่งซื้อสั่งพิมพ์หนังสือรางวัลซีไรต์ให้นักอ่านที่เชื่อมั่นในกระบวนการตัดสินรางวัลซื้อนะ และยังไม่ต้องนับรวมไปถึงการยอมรับในผลงานของหนังสือรางวัลซีไรต์ในวงวรรณกรรมด้วยกันเอง พอมีประกวดที ตัดสินกันทีก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ถกเถียงกันที เหมือนรางวัลซีไรต์ได้ลดทอนคุณค่าของคำว่า “สร้างสรรค์” ลงทุกครั้ง ทั้งโดยหลักการและหลักปฏิบัติ
 
หลักการ
 
ฝ่ายที่ร่วมสังฆกรรมรางวัลซีไรต์มีใครบ้าง 1.ผู้ส่งผลงาน 2.สำนักพิมพ์ 3.คณะกรรมการที่รวมถึงสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยและสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย 4.ผู้สนับสนุนรางวัล
 
ประเด็นก็คือ เราคุยกันไม่จบไม่สิ้นสักที เพราะประเด็นย่อยมันแยะไปหมด ทั้งที่คุยกันทุกปี ไม่รู้เป็นยังไง
แต่ประเด็นสำหรับบทความนี้ คือ ปัญหาทางเทคนิคของคำว่า “สร้างสรรค์” อันเป็นใบหน้าของรางวัล     ซีไรต์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
 
รางวัลซีไรต์ มีชื่อเต็มว่า รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน
เรามาดูคำว่า “สร้างสรรค์” กันก่อน เพื่อคิดร่วมกันว่า อย่างไรจึงจะเป็นการสร้างสรรค์ ที่ไม่ได้มีความหมายตรงตามตัวอักษร
 
ปัญหาก็คือ มีบางคนให้คำจำกัดความของคำนี้ว่า เป็นการสร้างขึ้นใหม่ ไม่เหมือนใคร ไม่เคยมีใครทำมาก่อน อย่างกรณีมีบางคนแสดงทัศนะว่า บทกวีฉันทลักษณ์ ไม่ถือเป็นการสร้างสรรค์ เพราะรูปแบบฉันทลักษณ์นั้นมีมาแต่โบราณกาลแล้ว มันไม่ใหม่นี่หว่า ของเก่าดุ้น ๆ หรือบางคนว่า กลอนเปล่า หรือบทกวีไร้ฉันทลักษณ์ ไม่ถือเป็นกวีนิพนธ์ อันนี้เป็นตัวอย่างที่ห่างไปหน่อย แต่มันน่าขำดีที่ยังมีการพูดเรื่องอย่างนี้อยู่ในทศวรรษนี้ แล้วคำว่า “สร้างสรรค์” มันคืออะไร คำจำกัดความที่ว่า เป็นการสร้างขึ้นใหม่นั้น ใช้อธิบายได้มากน้อยแค่ไหน
 
ก่อนอื่นมาดูกันว่า ถ้าเราใช้คำจำกัดความว่า เป็นการสร้างขึ้นใหม่ ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน เป็นคำอธิบายตั้งต้น ถามว่า ภาษาที่เราใช้หรือรูปแบบการประพันธ์นั้น คุณสร้างมันขึ้นมาเองหรือ คุณไม่ได้เป็นผู้ประดิษฐ์อักษร นี่ตื้น ๆ และถามว่า สิ่งที่คุณยืนยันว่าสร้างขึ้นใหม่และยังไม่เคยมีใครทำมาก่อนนั้น มีสิ่งใดมายืนยันได้อย่างเป็นข้อเท็จจริงว่าคุณสร้างมันขึ้นจริง ไม่เคยมีใครทำมาก่อน เพราะโลกของข้อเท็จจริงมันไม่ได้พิสูจน์อยู่แล้วว่า คุณสร้างหรือคุณแค่ก๊อปปี้ หรือประยุกต์มา
 
เพราะฉะนั้นปัญหาก็คือ คำว่า “สร้างสรรค์” ไม่ได้หมายถึง การสร้างขึ้นใหม่ ไม่เหมือนใคร ไม่เคยมีใครทำมาก่อน อย่างตายตัว เพียงแต่นัยยะของคำ อาจหมายถึง การนำปัจจัยที่มีอยู่มาปรับเปลี่ยน ดัดแปลง หรือสานต่อ ต่อยอดขึ้นมาก่อให้เป็นความงามประการหนึ่ง ที่ดึงดูดใจ อะไรก็แล้วแต่ ที่ไม่ใช่ใหม่ทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์และใหม่ถอดด้ามโดยปัจเจกบริสุทธิ์ เห็นไหมล่ะว่า มีคำว่าปัจเจกเสนอหน้ามาด้วย ทั้งที่ปัจเจกบุคคลทำหน้าที่นำเอาปัจจัยที่มีอยู่มาสานต่อ ต่อยอด ไม่ได้สร้างใหม่ทั้งหมด ดังนั้น คำว่า “สร้างสรรค์โดยปัจเจก” เป็นคำที่สื่อความผิดพลาดอย่างร้ายแรงและก่อปัญหาตามมา
 
คราวนี้มาดูอีกคำหนึ่งที่เกี่ยวกับกระบวนการตัดสินรางวัลซีไรต์ เห็นไหม มีคำว่า “ตัดสิน” นี่แหละคือคำที่มีปัญหาและลดทอนคุณค่าอีกคำหนึ่ง
 
หลักปฏิบัติ
 
ลองจินตนาการดูว่า ถ้ารางวัลซีไรต์ (อาจหมายถึงรางวัลอื่นด้วย) มีกระบวนการอย่างอื่นที่จะประเมินว่าหนังสือที่ได้รางวัลคือเล่มใด โดยไม่ใช่คำว่า “ตัดสิน” คงเป็นเรื่องยาก...
 
เพราะเราต่างเคยชินอยู่กับการยกอำนาจให้ผู้อื่นตัดสินอยู่ชั่วนาตาปีแล้ว
 
ยกตัวอย่างคณะกรรมการรอบคัดเลือกได้เลือกสรรมาแล้วว่า มีหนังสือที่มีสมควรผ่านเข้ารอบมาจำนวนหนึ่ง ถามว่า คณะกรรมการใช้หลักการประเมินคุณค่าของงานอย่างไร มีกรอบมีหลักการอยู่ก่อนแล้ว อันนี้ไม่ได้แตะเรื่องรสนิยมนะ แล้วจึงนำมาประเมินโดยการคัดผลงานที่คุณภาพไม่ถึงเกณฑ์ออกไป เลือกหยิบผลงานที่เข้ากรอบให้ผ่านรอบแรกมา ใช่หรือไม่
 
ตอบตามตรงว่า นี่มันผิดมหันต์ นี่ไม่ใช่กระบวนการประเมินคุณค่างานศิลปะ แต่เป็นการลดทอนคุณค่างานศิลปะอย่างไม่น่าเชื่อว่ามันจะต่ออายุให้ตัวเองได้ยาวนานปานนี้ แต่ประธานคณะกรรมการรอบคัดเลือกและต้องทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการรอบตัดสินคนหนึ่งก็ได้ออกมาชี้แจงอย่างซื่อตรงว่า
การประเมินคุณค่าของงานศิลปะไม่ว่าแขนงใด ย่อมไม่มีสูตรสำเร็จเหมือนสูตรเคมีหรือคณิตศาสตร์ที่มีกฎเกณฑ์ตายตัว
 
อันที่จริง คำกล่าวในข่ายเดียวกันนี้ของคณะกรรมการล้วนฟังดูมีเหตุผลแต่มันใช้การไม่ได้ ข้อนี้ใคร ๆ ก็รู้ แต่ที่เขาต้องการคำตอบไม่ใช่หลักการที่คุณพูด เขาต้องการตรวจสอบจิตสำนึกของคนที่เป็นคณะกรรมการว่า มีสำนึกในกระบวนการสร้างสรรค์แค่ไหน เพราะกระบวนการประเมินคุณค่างานศิลปะอย่างสร้างสรรค์นั้น มันต้องยกเอาผลงานออกมาวางก่อน ใช้งานศิลปะเป็นสิ่งตั้งต้นในการประเมิน ไม่ใช่เอากรอบของตัวเองไปประเมินงานศิลปะ ที่เขาแสดงความกังวลกันหลายคนนั้น มันอยู่ตรงนี้ จึงเห็นได้ว่า คณะกรรมการนั่นเองที่เป็นอุปสรรคในกระบวนการสร้างสรรค์
 
เช่นนี้เราจะพอเห็นได้บ้างแล้วว่า ปัญหาของกระบวนการประเมินงานศิลปะโดยเฉพาะรางวัลซีไรต์ มีการปฏิบัติที่คลาดเคลื่อนไปจากหลักการซึ่งก็ถูกบิดเบือนอีกทอดหนึ่ง โดยเฉพาะตรงการเลือกใช้คำว่า “ตัดสินรางวัล” นั่นเอง นี่อาจเป็นเพียงปัญหาทางเทคนิคเท่านั้นแหละ แต่มันกลับไม่หยุดอยู่แค่เรื่องทางเทคนิค...
 
เพราะเมื่อคณะกรรมการรอบตัดสินเป็นผู้ตัดสินว่าหนังสือเล่มใดจะได้เป็นเดอะวินเนอร์ ทันทีทันใดกระบวนการสร้างสรรค์อย่างที่มันควรเป็นก็ตายลงทันที เนื่องจากโดยนัยยะของคำว่า “ตัดสิน” แล้ว มันได้อำนาจดุจเดียวกับผู้พิพากษา ชี้ถูกผิดดีชั่ว และยังเป็นการใช้อำนาจโดยไม่ถูกหลักการดังกล่าวข้างต้นอีกด้วย
 
และขณะเดียวกันนั่นเอง คณะกรรมการก็ยังมีหน้ามาบอกให้อ่านเล่มที่ไม่ได้เป็นเดอะวินเนอร์อย่างหน้าชื่นตาบาน จะบ้าหรือเปล่า คนอ่านที่เขาคาดหวังกับกระบวนการตรงนี้ไว้สูง เขาจะไปแสวงหาสิ่งที่ไม่ใช่ทำไมกัน เสียเวลาเปล่า.. เขาก็รอสิ รอเล่มเดียวนั่นแหละ
 
สำหรับปัญหาที่แท้จริง ที่คอยรังควานและสร้างความด่างพร้อยให้รางวัลนี้คือ คำว่า “สร้างสรรค์” นี่แหละ
 
ในเมื่อเราต่างตระหนักตรงกันว่า ไม่มีปัจเจกใดที่จะสร้างสรรค์ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือไม่มีปัจเจกใดจะสร้างสรรค์ได้เทียบเท่าพระเจ้า (อันนี้ค่อนข้างงมงาย) เหมือนกับถ้าไม่มีสุนทรภู่ คงไม่มีเนาวรัตน์ ถ้าไม่มีเนาวรัตน์ จะมีจิระนันท์ไหม จะมีไพวรินทร์ไหม  ในทางกลับกัน ถ้าไม่มีจิตร ภูมิศักดิ์ โองการแช่งน้ำจะยังเป็นที่รู้จักมาถึงทศวรรษนี้หรือไม่ ฉะนั้นเราจะเห็นถึงกระบวนการสร้างสรรค์ที่ถักทอต่อยอดซึ่งกันและกันมาอย่างต่อเนื่อง หรือจะกล่าวอย่างเป็นอุดมคติหน่อยว่า สายธารแห่งการสร้างสรรค์ไม่เคยหยุดนิ่ง
 
ดังนั้น เดอะวินเนอร์ซีไรต์ที่แท้จริง ไม่ใช่เจ้าของผลงานกวีนิพนธ์เล่มนั้นเล่มนี้ หากแต่เป็นทุก ๆ องคาพยพต่างหากเล่า
 
สรุปอย่างคร่าวได้ว่า รางวัลซีไรต์ต้องเป็นรางวัลของกระบวนการสร้างสรรค์ แม้นว่าเดอะวินเนอร์จะมีเพียงเล่มเดียว แต่ขอให้สาธารณชนตระหนักว่าเป็นรางวัลแห่งกระบวนการ หาใช่รางวัลของปัจเจกบุคคลเท่านั้น
 
ลองจินตนาการดูว่า ถ้ามีผลงานส่งเข้าประกวดรางวัลนี้แค่สามเล่ม คงน่าเกลียดตายเลย เพราะฉะนั้น      ผู้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดรางวัลซีไรต์ จึงเป็นองคาพยพหนึ่งในกระบวนการสร้างสรรค์นี้ด้วยเช่นกัน
 
และที่อยากเสนออีกข้อหนึ่งคือ คณะกรรมการควรตระหนักด้วยว่า เจ้าของผลงานที่ตกรอบ รวมถึงสาธารณชนย่อมมีสิทธิ์เรียกร้องให้คณะกรรมการชี้แจงรายละเอียดในกระบวนการประเมินคุณค่าผลงานด้วย เขามีสิทธิ์จะซักถามจนกว่าจะพอใจ ว่าทำไมอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ใช่พอเห็นเป็นเล่มที่ตกรอบ กรรมการก็จะชี้แจงแบบเหมารวม ไม่กล้าแม้จะเอ่ยชื่อผลงาน อธิบายมาเลยไม่ได้หรือว่าผลงานเล่มนั้นบกพร่องตรงไหน เล่มนี้เขียนไม่ถูกฉันทลักษณ์ (ซึ่งเรื่องฉันทลักษณ์นี่ เท่าที่อ่านข้อสังเกตของคณะกรรมการรอบคัดเลือก ก็ชวนให้เป็นที่สงสัยอยู่หลายประการ) แต่พอเป็นเล่มที่เข้ารอบก็จะชี้แจงเป็นเล่ม ๆ เป็นเอกเทศไปอย่างชัดเจน ไม่ทราบว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของคณะกรรมการหรืออย่างไร
 
นอกจากนี้ สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย และสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ก็ควรจัดงานพบปะนักเขียนทุกคนที่ส่งผลงานเข้าร่วมประกวด เพื่อมาแสดงความยินดีร่วมกัน หรือเพื่อซักถามกันอย่างเป็นหลักเป็นฐาน ไม่ใช่เชิญแต่นักเขียนที่ได้เข้ารอบคัดเลือกเท่านั้น มันลดทอนคุณค่าต่าง ๆ นานาที่นักเขียน กวีพึงมีร่วมกันอย่างน่าขมขื่น
 
อีกข้อหนึ่ง คือ หนังสือที่เป็นเดอะวินเนอร์จะต้องมีการจัดพิมพ์เนื้อหาในส่วนที่ให้รายละเอียดของชื่อและเจ้าของผลงานที่ส่งประกวดทุกเล่มในปีนั้น ๆ อยู่ด้วย เช่นปีนี้ ต้องมีรายชื่อผลงานและเจ้าของผลงานทั้ง 74 ผลงานพิมพ์เพิ่มเข้ามาในเล่มที่เป็นเดอะวินเนอร์ด้วย เพราะเราพึงตระหนักว่า ถ้าไม่มีผู้ตกรอบ ก็ย่อมปราศจากเดอะวินเนอร์  
 
นี่เป็นชะตากรรมร่วมกัน หาใช่เป็นพื้นที่ให้ใบหน้าปัจเจกบุคคลงอกงามแต่เพียงผู้เดียว
 
ปัญหาเฉพาะหน้านี้ก็คือ คณะกรรมการรอบตัดสินควรสรรหากรรมวิธีที่จะนำมาซึ่งกระบวนการสร้างสรรค์ที่เอื้อประโยชน์แก่สังคมส่วนรวม ยกตัวอย่าง ถ้าท่านเห็นว่า หนังสือที่ผ่านรอบแรกเข้ามานั้น ยังไม่เป็นตอบคำถามจิตสำนึกของคำว่าสร้างสรรค์ของท่านไม่ได้ ควรมีข้อยกเว้นให้ คณะกรรมการชุดหนึ่งชุดใด กลับไปสู่กระบวนการประเมินคุณค่าในรอบคัดเลือกใหม่ได้ ไม่ใช่ว่าเขาคัดเลือกมาให้เลือกตัดสิน 6 เล่ม ท่านก็งมอยู่กับแค่ 6 เล่มนั้น โดยไม่ไยดีเล่มที่ตกรอบ เพราะไม่ใช่หน้าที่
 
แล้วจะมีหน้าออกมาบอกสาธารณชนอีกหรือว่า ควรอ่านทุกเล่ม ไม่ใช่รออ่านเฉพาะเดอะวินเนอร์เท่านั้น.
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท