Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เกษียร เตชะพีระ นำเสนอรายงานการเสียชีวิตของช่างภาพอิสระชาวอิตาลี จากรายงานการสืบสวนเรื่อง “Thailand: Licence to Kill” ที่ประมวลเสนอข้อมูลจากประจักษ์พยานเกี่ยวกับอาชญากรรมต่อสื่อมวลชนทั้งไทยและเทศที่เกิดขึ้นในช่วงเหตุการณ์เมษา-พฤษภาอำมหิต

ฟาบิโอ โพเลนกี ช่างภาพอิสระชาวอิตาลีวัย ๔๘ ปี ทำงานถ่ายภาพให้นิตยสารใหญ่หลายแห่งเช่น Vanity Fair, Vogue, Marie Claire และ Elle เป็นต้น ตลอด ๒๙ ปีที่ประกอบวิชาชีพนี้ เขาเที่ยวตระเวนถ่ายภาพไปราว ๗๐ ประเทศทั่วโลก เขาเคยนำภาพถ่ายไปแสดงนิทรรศการทั้งที่ Cité des Sciences et de l’Industrie อันเป็นพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ณ กรุงปารีสและในงาน Paris Book Expo เขายังเป็นผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์และร่วมงานสร้างภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับพ่อลูกนักมวยชาวคิวบาที่พ่อเป็นแชมป์มวยโอลิมปิก ส่วนลูกเป็นแชมป์มวยแห่งชาติของคิวบาด้วย

อิซาเบลลา โพเลนกี น้องสาวของฟาบิโอ เล่าในการแถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ศกนี้ว่า ฟาบิโอเป็นคนมีจิตวิญญาณเสรี เปิดใจกว้าง คบหาง่าย ยึดมั่นคุณค่าที่ตนเชื่อถือ และรักสันติ เขารักเมืองไทย อยากอยู่ในเมืองไทย และได้เลือกเมืองไทยเป็นบ้าน เพราะเขารักผู้คนที่นี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเธอรู้สึกขอบคุณคนไทยบางคนที่เสี่ยงชีวิตช่วยนำฟาบิโอส่งโรงพยาบาล

สองวันก่อนเสียชีวิตด้วยคมกระสุนกลางถนนระหว่างทหารบุกล้อมปราบที่ชุมนุมราชประสงค์ของ นปช. ฟาบิโอได้เขียนข้อความสั้น ๆ ไว้ในหน้า Facebook ของเขา ซึ่งอิซาเบลลาอ่านให้ฟังทั้งน้ำตาว่า:

“ทุก ๆ วันเหมือนของขวัญที่เราได้มา ฉะนั้นจงทำให้ดีที่สุดเพื่อที่จะได้เป็นสุข ด้วยรักแด่ทุกคน”

0 0 0

เมื่อเดือนกรกฎาคมศกนี้ Reporters Without Borders (ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน) อันเป็นองค์กร เอ็นจีโอระหว่างประเทศที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพของสื่อสิ่งพิมพ์และประณามการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั่วโลก ได้เผยแพร่รายงานการสืบสวนเรื่อง “Thailand: Licence to Kill” (ประเทศไทย: ใบอนุญาตฆ่า http://en.rsf.org/IMG/ pdf/REPORT_RSF_THAILAND_Eng.pdf ) เขียนโดย Vincent Brossel & Nalinee Udomsinn เพื่อประมวลเสนอข้อมูลจากประจักษ์พยานเกี่ยวกับอาชญากรรมต่อสื่อมวลชนทั้งไทยและเทศที่เกิดขึ้นในช่วงเหตุการณ์เมษา-พฤษภาอำมหิตที่ผ่านมารวม ๑๐ กรณี โดยยกกรณีการตายของ ฟาบิโอ โพเลนกีขึ้นมาเป็นอันดับแรกสุด รายงานระบุข้อมูลเกี่ยวกับกรณีนี้ไว้ที่หน้า ๔ – ๕ ว่า: -

ช่างภาพ ฟาบิโอ โพเลนกี ถูกยิงตายราว ๑๐.๔๕ น. วันที่ ๑๙ พฤษภาคมใกล้สวนลุมพินี ห่างใจกลางที่ชุมนุมเสื้อแดงราวหนึ่งกิโลเมตร โพเลนกีถูกยิงในสภาพสวมหมวกกันน็อคขณะเกิดการปะทะอย่างรุนแรงระหว่างทหารกับผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่ป้องกันบังเกอร์อยู่ มีผู้อื่นถูกสังหารอีก ๔ คนในช่วงการปะทะนี้

มาซารุ โกโตะ ช่างภาพชาวญี่ปุ่นซึ่งเป็นพยานรู้เห็นการตายของโพเลนกี เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ Reporters Without Borders ฟังว่า: -

ถาม: คุณช่วยบรรยายสภาพที่คุณเป็นพยานรู้เห็นการตายของฟาบิโอให้หน่อยได้ไหม?

มาซารุ โกโตะ: ผมเห็นฟาบิโอหนแรกกลางเดือนเมษายนระหว่างการชุมนุมในกรุงเทพฯซึ่งผมอาศัยอยู่มา ๙ ปีแล้ว เรากลายเป็นเพื่อนกัน…ผมอยู่ใกล้เขาตอนเขาถูกฆ่า เราอยู่ตรงแยกถนนสารสินตัดกับราชดำริในกรุงเทพฯ ใกล้สวนลุมพินี กองทัพเริ่มโจมตี นปช.ที่นั่นเช้าวันนั้น ฟาบิโอกับผมกำลังถ่ายภาพจากฝั่งนปช. คุณจะว่าเราอยู่ตรงแนวหน้าสุดก็ได้ กองทัพเริ่มระดมยิงหนักหน่วงขึ้นราว ๑๐ โมง ผมอยากออกจากแยกนั้นเพราะผู้ชุมนุมคนหนึ่งเพิ่งบอกผมว่าพลซุ่มยิงกำลังจะยิงใส่เรา เรากำลังถอนตัวอยู่ทีเดียวเมื่อผมสังเกตเห็นร่างคน ๆ หนึ่งอยู่บนถนนลาดยางข้างหลังผม ผมรู้ทันทีว่านั่นคือฟาบิโอ ผมบอกไม่ถูกว่ากระสุนยิงมาจากไหน

ผมไม่แน่ใจว่าเขาถูกฆ่าเพราะเป็นนักข่าวหรือเปล่า กระสุนที่ยิงสวนกันไปมาหนาแน่นมากตอนนั้น ไม่มีการยับยั้งชั่งใจกันต่อไปแล้วไม่ว่าจะในฝ่ายทหารหรือ นปช.

 

ภาพฟาบิโอถูกยิง
โดย Masuro Goto
www.masarugoto.com/#mi=2&pt=1&pi=10000&s=25&p=0&a=0&at=0

 
ถาม: กล้องถ่ายรูปของฟาบิโอหายไป คุณรู้ไหมว่าเกิดอะไรขึ้น?

มาซารุ โกโตะ: เมื่อเขาถูกยิง เราพยายามดึงเขาให้พ้นวิถีกระสุน มีการเผยแพร่ภาพวีดิโอที่พวกเรากำลังลากเขาในตอนหลัง คุณจะเห็นชายคนหนึ่งแต่งตัวเหมือนนักข่าวกุมมือข้างหนึ่งของฟาบิโอและกล้องของเขาไว้ ตั้งแต่นั้นมาเราก็ไม่เจอกล้องถ่ายรูปนี้เลย เรากำลังหามันอยู่

ถาม: คุณคิดว่าฟาบิโอถูกหมายหัวในฐานที่เป็นนักข่าวหรือเปล่า?

มาซารุ โกโตะ: มีข่าวลือแพร่สะพัดตั้งแต่กลางพฤษภาคมว่าพลซุ่มยิงไม่ทราบฝ่าย อาจเป็นฝ่ายกองทัพหรือนปช.ก็ได้ กำลังจะฆ่านักข่าว คนบางคนอาจอยากให้วิกฤตเลวร้ายลงเพื่อประโยชน์ของตน พอฆ่านักข่าวได้ คุณก็จะยกระดับความวุ่นวายขึ้นไปอีก แต่ผมไม่มีหลักฐานว่าข่าวลือนี้มีข้อเท็จจริงอะไรรองรับ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยได้แนะนำว่าอย่าไปที่บางแห่งที่ถือว่าอันตรายเกินไป

ถาม: คุณคิดว่าทางตำรวจไทยชันสูตรพลิกศพอย่างถี่ถ้วนไหมหลังฟาบิโอตาย?

มาซารุ โกโตะ: ศพของเขาถูกฌาปนกิจอย่างรวดเร็วหลังเขาตาย ผมไม่แน่ใจว่าตำรวจได้ชันสูตรพลิกศพอย่างถี่ถ้วนหรือเปล่า

0 0 0

ทาง Reporters Without Borders ได้สัมภาษณ์บุคคลอีกคนหนึ่งเกี่ยวกับการตายของโพเลนกี คือ นักถ่ายทำภาพยนตร์สารคดีชาวสหรัฐฯชื่อ แบรด คอกซ์ เขาอยู่ในที่เกิดเหตุการยิงและตัวเองก็ได้รับบาดเจ็บจากกระสุนปืนด้วย คอกซ์เป็นผู้สร้างหนังสารคดีเรื่อง “ใครฆ่าเจีย วิเจีย?” เกี่ยวกับกรณีฆาตกรรมนักเคลื่อนไหวสหภาพแรงงานชาวเขมรคนหนึ่งซึ่งหนังดังกล่าวถูกสั่งห้ามฉายในกัมพูชา 



Bradley Cox

 ถาม: เกิดอะไรขึ้นครับ?

แบรด คอกซ์: ผมไม่เคยพบฟาบิโอมาก่อน ตอนนั้นผมเลือกไปอยู่ตรงแยกถนนตัดกันทางฝั่งบังเกอร์เสื้อแดง มีการระดมยิงจากฝ่ายกองทัพมาหนักทีเดียว พวกเสื้อแดงก็ตอบโต้ด้วยระเบิดเพลิงและระเบิดทำเอง กระสุนนัดหนึ่งยิงถูกยางรถยนต์ข้างหน้าผมห่างหัวผมแค่ ๔๐ เซนติเมตร พอเกือบ ๑๑ โมง ผมเห็นการเคลื่อนไหวบางอย่างบนถนนโพ้นออกไป ผมก็เลยไปดูแล้วกลับมาที่เขตเสื้อแดง ตอนกลับนี่แหละที่ผมรู้สึกปวดแปลบที่เข่าขวาและรู้ตัวว่าถูกยิงเข้าแล้ว แต่ดูเหมือนจะไม่หนักหนานัก ผมหันกลับเพื่อพยายามมองว่ามันยิงมาจากไหนและตอนนั้นแหละที่ผมเห็นฟาบิโอกองอยู่กับพื้นห่างไปไม่ถึง ๑๐ เมตร ผมเริ่มถ่ายหนังไว้เมื่อนักข่าวคนอื่นและพวกเสื้อแดงลากเขาไปหาที่กำบังแล้วเอาเขาขึ้นมอเตอร์ไซค์ แต่มันก็สายไปเสียแล้ว

ฟาบิโอถูกบรรทุกซ้อนหลังมอเตอร์ไซค์ส่งโรงพยาบาล

 ถาม: เกิดอะไรกับกล้องถ่ายรูปของเขา?

แบรด คอกซ์: ในฟิล์มหนังที่ผมถ่ายคุณจะเห็นชายคนหนึ่งดูเหมือนจะเป็นนักข่าวเข้าไปช่วยฟาบิโอและถือกล้องของเขาอยู่ แต่ไม่ได้ยื่นกล้องคืนให้มา (ชมหนังข่าวเหตุการณ์ตอนนี้ได้ที่ www.youtube.com/ watch?v=BhPydgjZ9GI)



ถาม: ฟาบิโอถูกหมายหัวในฐานที่เป็นนักข่าวหรือเปล่า?

แบรด คอกซ์: ผมพูดไม่ได้เต็มปากเต็มคำว่าใครยิงฟาบิโอกับผม ผมคิดว่าเราถูกยิงโดยกระสุนจากทหารหรือพลซุ่มยิง ตอนที่พวกเขายิงเรา มีคนอยู่บนถนนแถวนั้นไม่มากนักและพวกเสื้อแดงที่อยู่ใกล้ที่สุดก็ห่างออก ไปกว่า ๑๐ เมตร ดังนั้นผมจึงไม่เข้าใจว่าทำไมเราถึงถูกยิงใส่ เราตกเป็นเป้าหมายหรือโดนลูกหลงกันแน่? ผมก็ไม่รู้ ผมกำลังถือกล้องถ่ายหนังตัวใหญ่อยู่และก็เห็นได้โดยง่ายว่าผมเป็นชาวต่างชาติ แต่ฟาบิโอเขาใส่ชุดดำ เป็นไปได้ไหมว่าพวกนั้นหลงเข้าใจผิดไปว่าเขาเป็นพวกเสื้อดำคนหนึ่ง?

 0 0 0

ผมต้องขอเก็บคำถามเหล่านี้ไว้เขียนถึง "ความตายที่รอคำตอบของฟาบิโอ” สัปดาห์หน้า

 

.....................................
บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกใน มติชนรายวัน 6 สิงหาคม 2553 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net