Skip to main content
sharethis
 
 
แม่สอด/ ในบ้านไม้ไผ่หลังเล็กที่ตกแต่งอย่างดี อ่อง เท็ต (Aung Htet) เผยถึงเรื่องราวของเขาให้ฟังว่า อะไรที่เป็นตัวกดดันให้ครอบครัวของเขาต้องหนีมาที่เมืองไทยเพื่อความปลอดภัย
 
คล้ายกับผู้อพยพคนอื่นๆ ในค่ายผู้อพยพที่นี่ เขาคือนักโทษการเมืองผู้มีชื่อเสียงที่ได้รับโทษเนื่องจากเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยในประเทศพม่า หลังจากได้รับการปล่อยตัว และถูกจับใหม่อีกหลายเที่ยว เขาเห็นว่าในพม่าอนาคตสำหรับครอบครัวของเขาชั่งริบหรี่ ทันทีที่เขาถูกตามถูกรังควานจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ พวกเขาจึงหนีมายังชายแดนโดยมีความหวังว่าจะได้ไปเริ่มต้นครอบครัวใหม่ในประเทศที่สาม
 
จนกระทั่งถึงสิ้นเดือนนี้ อ่อง เท็ต (Aung Htet) รู้สึกว่าความสัมพันธ์ของเขาดีขึ้น ครอบครัวของเขาสร้างวิถีความเป็นอยู่ในค่าย สร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านและพบวิถีทางในการอดทนต่อการได้ย้ายไปอยู่ในประเทศที่สาม แต่อย่างไรก็ตาม ความเป็นอยู่อันเปราะบางของพวกเขาก็เปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมือทันทีที่ได้รู้ถึงความคิดเห็นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ที่บอกว่าผู้อพยพชาวพม่าสมควรที่จะกลับไปยังประเทศของเขาหลังการเลือกตั้งภายในประเทศ
 
อ่อง เท็ตบอกว่า "ก่อนหน้านี้ พวกเรามีความหวังว่าเราสามารถจะไปตั้งต้นใหม่ และเด็กๆ ของเราก็จะมีอนาคตที่ดี แต่ว่าในเวลานี้ พวกเราไม่เพียงแต่กังวลเรื่องการย้ายไปประเทศที่สามเท่านั้น แต่ว่าเรายังมีความกังวลเพิ่มขึ้นว่าเราอาจจะถูกบังคับให้กลับไปที่พม่าด้วย"
 
"ตั้งแต่ที่รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ กษิต ภิรมย์ กล่าวคำพูดเช่นนี้ ความกลัวก็แพร่กระจายในหมู่ผู้อพยพที่มาจากประเทศพม่า และไปเพิ่มความรู้สึกที่ว่าอนาคตของพวกเขาอาจจะเป็นเรื่องยาก"
 
เมื่อถามว่าอะไรจะเกิดขึ้นหากพวกเขาถูกส่งกลับไปยังประเทศ อ่อง เท็ต เปิดเผยว่า "เรากลับไปไม่ได้หรอก เราไม่มีทางเลือกสำหรับระบอบการปกครองแบบนี้" เขาบอกอีกว่านักโทษการเมืองเป็นที่รู้จักดีของหน่วยข่าวกรองของกองทัพพม่า และพวกเขาทั้งหมดก็อยู่ในบัญชีดำ"ถ้าหากว่าพวกเราถูกส่งกลับไป พวกเราก็จะกลายเป็นนักโทษและถูกขังลืม เด็กๆ ของเราก็จะไม่มีอนาคต"
 
ตามข้อมูลของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองในประเทศพม่า (the Assistance Association for Political Prisoners-Burma) เปิดเผยว่ามีนักโทษการเมืองมากกว่า 2,100 คนในพม่า ผู้สังเกตการณ์บางคนบอกว่าหลังจากการเลือกตั้ง จะมีการนิรโทษกรรมสำหรับนักโทษการเมืองเกิดขึ้น ดังนั้นพวกเขาสามารถกลับประเทศได้โดยที่ไม่ต้องถูกตามรังควาน กลุ่มผู้ลี้ภัยในค่ายอุ้มเปี้ยม (Umpium) ใน อ.พบพระ จ.ตาก บอกว่าพวกเขาไม่คิดว่าจะมีการนิรโทษกรรมเกิดขึ้น และถ้าหากพวกเขากลับประเทศพวกเขาก็จะถูกลงโทษ
 
ครอบครัวของ ซอ ทู (Saw Htoo) ก็เป็นกังวลในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน ที่บ้านของเขาในฝั่งพม่านั้น เมื่อไหร่ก็ตามที่หมู่บ้านถูกสงสัยว่าให้การสนับสนุนกองกำลังสหภาพแห่งชาติกระเหรี่ยง (KNLA) บ้านของพวกเขาก็จะถูกเผาเป็นจุล พวกเขาจึงต้องหนีมาที่ประเทศไทยเพื่อความปลอดภัย
 
ซอ ทู บอกว่าพวกเขาไม่ต้องการลี้ภัยไปประเทศที่สาม แต่ต้องการที่จะอยู่ที่ค่ายนี้เพื่อกลับไปที่บ้านหากสถานการณ์ที่นั่นปลอดภัย "การเลือกตั้งไม่สามารถนำสันติสุขมาสู่รัฐกระเหรี่ยงได้ มันไม่ได้ทำอะไรที่เป็นการช่วยเหลือชาวกระเหรี่ยงเลย ถ้าหากว่าพวกเขาจะส่งเรากลับไปที่นั่น พวกเราจะอ้อนวอนต่อพวกเขาว่าอย่าทำแบบนั้นเลย" 
 
ข่าวล่าสุดนั้น ทหารบางส่วนของกองกำลังกระเหรี่ยงพุทธปฏิเสธที่จะเข้าร่วมเป็นกองกำลังป้องกันชายแดนของประเทศพม่า ซึ่งมันยืนยันถึงสิ่งที่ ซอ ทู กำลังเป็นกังวล รายงานยังบอกอีกว่ามีการยิงปืนใหญ่อย่างหนักจากกองทัพพม่าเพื่อเป็นการตอบโต้ที่กระเหรี่ยงพุทธปฏิเสธคำสั่ง
 
"ถ้าหากรัฐบาลทหารพม่าจู่โจมกองพันกระเหรี่ยงพุทธที่ 907 ภายในสัปดาห์นี้ เราก็จะเห็นการต่อสู้อย่างหนักในบริเวณชายแดน ซึ่งนั่นจะทำให้เราไม่สามารถกลับบ้านได้อย่างปลอดภัยเป็นเวลานาน"ซอ ทู เปิดเผย
 
ในเวลาเดียวกัน ทหารพม่ายังได้เผาหมู่บ้านในตอนเหนือของรัฐกระเหรี่ยง ซึ่งอยู่ติดกับกองพลน้อยที่  5 ของสหภาพแห่งชาติกระเหรี่ยง แหล่งข่าวบริเวณชายแดนยังบอกอีกว่าทหารขับไล่ชาวบ้านออกจากหมู่บ้านกว่า 500 คน และฆ่านายแพทย์ไป 1 คน
 
แถลงการณ์ของสหภาพแห่งชาติกระเหรี่ยงเปิดเผยว่า "ทหารของ SPDC ยังคงกระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนในรัฐกระเหรี่ยงและพื้นที่อื่นๆ บริเวณรอบๆ ภายในเดือนนี้การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยทหารพม่าเพิ่มมากขึ้นในหลายเมือง
 
ผู้อพยพคนหนึ่งบอกว่า "ความกังวลและเป็นห่วงของประชาคมนานาชาติไม่ได้ทำให้ประเทศไทยยับยั้งการบังคับผู้อพยพให้กลับคืนสู่ประเทศของพวกเขาได้เลย"
 
"ถ้าหากว่ารัฐบาลพม่าจัดให้มีการเลือกตั้ง มันจะเป็นข้ออ้างให้ไทยส่งพวกเรากลับไป พวกเขาจะหาทางทำลายกลุ่มก้อนของพวกเราและส่งเรากลับประเทศ พวกเขาฉลาดมาก"
 
ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประเทศไทยส่งผู้อพยพข้ามพรมแดนกลับไปยังประเทศต้นทาง ซึ่งทำให้ได้รับคำติเตือนจากนานาประเทศ ในปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ของไทยผลักดันชนกลุ่มน้อยโรฮิงยาออกจากน่านน้ำของประเทศไทย หลังจากที่พวกเขาหลบหนีเข้ามาเพื่อความปลอดภัยของพวกเขา และในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ม้งลาวอพยพมากกว่า 4,000 คนก็ถูกส่งกลับประเทศโดยที่พวกเขาไม่ต้องการ ซึ่งในจำนวนนี้รวมไปถึงผู้อพยพ 158 คนที่ได้รับคำเชิญเพื่อให้ไปตั้งรกรากในประเทศที่สามได้
 
ในปีนี้ ผู้อพยพชาวกระเหรี่ยงมากกว่า 3,000 คนบอกว่าพวกเขาไม่มีทางเลือก แต่ว่าพวกเขาก็ต้องกลับไปที่รัฐกระเหรี่ยงทั้งๆ ที่มีความกลัวว่าจะมีกับระเบิดอยู่ที่ไหนสักแห่ง หรือว่าแม้กระทั่งการข่มขู่คุกคามทหารของกระเหรี่ยงพุทธก็ตามที ผู้อพยพหลายคนบอกว่าพวกเขาไม่สามารถทนกับแรงกดดันของเจ้าหน้าที่ไทยผู้ที่บอกให้พวกเขากลับบ้านได้
 
กลุ่มที่มีความเสี่ยงอื่นๆ ในค่ายผู้อพยพคือ ทหารพม่า SPDC ที่หนีทัพออกมา ผู้อพยพรายหนึ่งผู้ที่เคยมีตำแหน่งระดับสูงในกองทัพพม่าเปิดเผยว่าเขากลัวมากถ้าหากไทยจะส่งเขากลับ
 
"ในความคิดของพวกเขา (รัฐบาลทหารพม่า) การหนีทัพคือสิ่งเลวร้ายที่สุด ถ้าหากว่าผมถูกส่งกลับแน่นอนว่าพวกเขาคงจะขังลืมผม หรือไม่ก็ได้รับโทษตายก็ได้"
 
และผู้อพยพหลายคนเห็นว่า การส่งกลับนั้นก็เหมือนกับ "โทษประหารชีวิต" พวกเขาบอกว่าผู้ถูกส่งกลับเหล่านั้นจะถูกจับกุมจากหน่วยข่าวกรองของพม่าในทันทีทันใด และจะถูกจำคุกมากกว่า 15 ปีขึ้นไป
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net