Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หลังจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายรวบรวมรายชื่อประชาชน 10,631 ชื่อ เพื่อเสนอ ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ... ให้รัฐสภาพิจารณา และใกล้เคียงกันนั้นคณะรัฐมนตรีก็เสนอร่างกฎหมายชื่อเดียวกันให้รัฐสภาพิจารณาอีก โดยมีเนื้อหาที่คล้ายกัน

แต่ว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ มีเสียงคัดค้านจากฝ่ายบุคลากรด้านสาธารณสุข ทั้งแพทย์ พยาบาล บุคลากรของโรงพยาบาลต่างๆ รวมทั้งองค์กรวิชาชีพ อย่างเช่น แพทยสภา ออกมาแสดงความคิดเห็นคัดค้านกฎหมายฉบับนี้กันอย่างกว้างขวาง จนกระทั่งวันที่ 29 กรกฎาคม 2553 บุคลากรด้านสาธารณสุขทั่วประเทศได้นัดหมายแต่งชุดดำเพื่อประท้วงกฎหมายฉบับนี้

ข้อคิดเห็นต่อกฎหมายฉบับนี้ที่ผู้คนในสังคมขัดแย้งกันอยู่มีหลายประเด็น โดยประเด็นเด่นๆ ที่น่าสนใจที่ฝ่ายบุคลากรทางการแพทย์ยกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ขณะที่องค์กรผู้บริโภคและเครือข่ายก็ได้ตอบเหตุผลไว้ค่อนข้างชัดเจนเช่นกัน มีดังนี้

 

ประเด็นขวัญกำลังใจของแพทย์

ฝ่ายบุคลากรทางการแพทย์เกรงว่าหากมีกฎหมายให้แพทย์ต้องรับผิดจากการวินิจฉัยโรค หรือการรักษาคนไข้ อาจส่งผลให้แพทย์เกิดความหวาดระแวงและกดดันในการให้บริการรักษาผู้ป่วย จนไม่มีกำลังใจในการทำงาน ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ก็ขาดแคลนอยู่แล้ว ยังอาจทำให้เด็กรุ่นใหม่ไม่อยากมาเป็นแพทย์ด้วย

ขณะที่ฝ่ายองค์กรผู้บริโภคเห็นว่า ร่างกฎหมายฉบับที่รัฐบาล เสนอเข้าสู่รัฐสภาไม่มีมาตราใดที่เปิดช่องให้ฟ้องแพทย์ หรือโรงพยาบาล หรือเจ้าหน้าที่อื่นในโรงพยาบาลเลย ตรงกันข้ามกลับจะช่วยแพทย์และโรงพยาบาลอย่างมาก เมื่อพิจารณามาตรา 45 ที่กำหนดว่า กรณีผู้ให้บริการถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญา ฐานกระทำการโดยประมาท หากศาลเห็นว่าจำเลยกระทำผิด ศาลสามารถนำข้อเท็จจริงต่างๆ ของจำเลยเกี่ยวกับประวัติ พฤติการณ์แห่งคดี มาตรฐานทางวิชาชีพ การบรรเทาผลร้ายแห่งคดี การรู้สำนึกในความผิด การทำสัญญาประนีประนอมตามกฎหมาย มาพิจารณาประกอบ ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายทั่วไปกำหนดไว้เพียงใด หรือจะไม่ลงโทษเลยก็ได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าร่างกฎหมายดังกล่าว พยายามป้องกันปัญหาที่อาจ เกิดขึ้นในด้านต่างๆ อย่างรอบคอบ

 

ประเด็นองค์ประกอบของคณะกรรมการ

เนื่องจากตามร่างฉบับที่คณะรัฐมนตรีเสนอ กำหนดให้มีคณะกรรมการมาจากผู้แทนสถานพยาบาลจำนวน 3 คน จากคณะกรรมการทั้งหมด 18 คน ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิสาขาอื่นๆ อีกถึง 5 คน ซึ่งทางฝ่ายบุคลากรทางการแพทย์เห็นว่าน้อยเกินไปที่จะพิจารณาในเรื่องเกี่ยวกับเทคนิคการรักษาโรค

ในประเด็นนี้ฝ่ายองค์กรผู้บริโภคเห็นว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ผู้ประกอบวิชาชีพเป็นอุปสรรคในการพิจารณาความเสียหายและทำให้ผู้เสียหายไม่ได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้นตามสิทธิ และความเห็นที่แตกต่างในประเด็นนี้ก็สามารถไปถกเถียงกันในขั้นตอนพิจารณาของรัฐสภาได้ ไม่มีความจำเป็นต้องเรียกร้องให้คว่ำกฎหมายทั้งฉบับ

 

ประเด็นที่มาของเงินกองทุน

บุคลากรทางการแพทย์จำนวนมาก เป็นห่วงว่า การให้สถานพยาบาลมีส่วนจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน ในส่วนของสถานพยาบาลเอกชนขนาดเล็กจะกระทบมาก อาจถึงขั้นต้องปิดกิจการ ส่วนในระดับสถานพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ อาจส่งผลให้ค่ารักษาพยาบาลแพงขึ้น ส่วนสถานพยาบาลของรัฐนั้น เดิมก็ประสบปัญหาขาดทุนอยู่แล้ว เกรงว่าจะขาดทุนหนักขึ้นไปอีก ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของการรักษาพยาบาล และงบประมาณของประเทศในระยะยาว

ในส่วนผลกระทบต่อสถานพยาบาลของรัฐนั้น ทางฝ่ายผู้เสนอกฎหมายเห็นว่า ถ้าเป็นสถานพยาบาลพยาบาลของรัฐ ก็คงไม่มีปัญหาอะไร เพราะต้องขอรับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลซึ่งมาจากภาษีของประชาชนอยู่แล้ว ส่วนสถานพยาบาลเอกชนนั้นน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า เพราะเมื่อมีกองทุนนี้แล้ว โรงพยาบาลเอกชนสามารถลดเงินที่ต้องจ่ายเพื่อทำประกันการให้บริการได้ และในปัจจุบันค่ารักษาพยาบาลของเอกชนก็สูงมากพอที่จะเจียดมาจ่ายสมทบกองทุนได้ไม่ยาก นอกจากนี้ยังมองในทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขได้ว่าเป็นการเปลี่ยนจากการรับภาระความเสี่ยงเป็นรายครั้ง ซึ่งมีมูลค่าสูงต่อครั้ง เปลี่ยนมาเป็นการเฉลี่ยความเสี่ยงของทั้งระบบ โดยการจ่ายเบี้ยสมทบแบบอัตราเฉลี่ยต่อคน จึงเป็นการเปลี่ยนรูปแบบการระดมทุนเท่านั้น

ทางฝ่ายองค์กรผู้บริโภค และเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ผู้เสนอกฎหมายนั้น ชัดเจนว่าต้องการผลักดันให้มีระบบเยียวยาผู้เสียหาย ในรูปแบบกองทุน ที่สามารถจ่ายเงินเยียวยาเบื้องต้นได้อย่างรวดเร็ว ทันต่อความเสียหาย ซึ่งเป็นหัวใจหลักของกฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้เพ่งโทษที่ตัวบุคคล (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งส่งเสียงสะท้อนจากผู้ปฏิบัติงานออกมา ยังชี้ให้เห็นปัญหาในทางปฏิบัติที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายฉบับนี้อีกหลายประเด็น เช่น กฎหมายนี้อาจมีส่วนทำให้ผู้ป่วยต้องเผชิญกับค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้น ขณะที่คุณภาพในการรักษาลดลง มีกระบวนการขั้นตอนที่ชักช้า บุคลากรทางการแพทย์ทำงานมีประสิทธิภาพลดลง ต้องมีภาระมารายงานพัฒนาคุณภาพ และอาจกลัวว่าจะรักษาผิดมาตรฐาน ต้องใช้เครื่องมือและงบประมาณในการวินิจฉัยโรคมาก ต้องส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลใหญ่ๆ เท่านั้น เป็นการสร้างภาระให้กับผู้ปฏิบัติงานที่ขาดแคลนอยู่แล้วมากเกินสมควร จนส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยเอง (อ่านรายละเีอียดเพิ่มเติม)

 

ข้อเสนอในปัจจุบันของกลุ่มคนที่คัดค้านนั้น เห็นว่า รัฐบาลควรถอนร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ....ออกมาชั่วคราวก่อน เพื่อพิจารณารายละเอียดของร่างพระราชบัญญัติให้เหมาะสม ลดความขัดแย้งในสังคม แล้วค่อยส่งให้รัฐสภาพิจารณาใหม่

ส่วนทางด้านภาคประชาชนที่เสนอกฎหมายฉบับนี้ เรียกร้องว่า ขอเสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาก่อน และให้ทุกฝ่ายเข้าไปพูดคุยถกเถียงกันตามขั้นตอนในรัฐสภา ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกนานมากกว่าหลักการเหล่านี้จะได้รับการยอมรับจริงๆ

 

หมายเหตุ:

ร่างกฎหมายโดย มพบ.http://ilaw.or.th/sites/default/files/ผู้เสียหายสาธารณสุข.pdf 

ร่างกฎหมายโดย ครม.http://ilaw.or.th/sites/default/files/ผู้เสียหายสาธารณสุข%20(ครม.).pdf

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net