Skip to main content
sharethis

 ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เผยวัยรุ่นยังใส่ใจวิชาภาษาไทย ชี้ขอให้มีวิธีการสอนสนุก หลักการจำให้เข้าใจเนื้อหาได้ง่ายเหมือนโรงเรียนกวดวิชา ร้อยละ 92.9 ใช้คำสแลง ในการแชท พูดคุย ผ่านอินเทอร์เน็ต

 
ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เผยผลสำรวจ เรื่อง “วิชาภาษาไทยในความเห็นของวัยรุ่นยุคใหม่” โดยการสุ่มตัวอย่างวัยรุ่นอายุ 13-22 ปี ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ จำนวน 1,259 คน เป็นเพศชายร้อยละ 50.4 และเพศหญิง ร้อยละ 49.6 ระหว่างวันที่ 15 - 18 ก.ค.53 เพื่อสอบถามความคิดเห็นของวัยรุ่นที่ใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ เกี่ยวกับการเรียนและการใช้ภาษาไทยในปัจจุบัน เพื่อสะท้อนให้สังคมและผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ และนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจเพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติและสังคมส่วนรวม
 
ผลการศึกษาระบุ วัยรุ่นยุคใหม่ให้ความสนใจวิชาภาษาไทยพอๆ กับวิชาอื่น ทั้งนี้ วัยรุ่นร้อยละ 40.4 เห็นว่าหากมีวิธีการเรียนการสอนที่สนุก ไม่น่าเบื่อ และมีหลักการจำให้เข้าใจเนื้อหาได้ง่ายเหมือนโรงเรียนกวดวิชา จะสามารถดึงดูดใจให้นักเรียนหันมาสนใจเรียนวิชาภาษาไทยได้มากขึ้น รองลงมาร้อยละ 19.8 เสนอให้มีกิจกรรม เช่น เกมทายคำศัพท์ และ ทอล์คโชว์ประกอบการเรียนเพื่อให้นักเรียนได้มีส่วนร่วม และร้อยละ 19.7 เสนอให้นำสื่อและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น การ์ตูนแอนนิเมชัน และอินเทอร์เน็ตมาใช้ประกอบการเรียนการสอน
 
สำหรับประเด็นเรื่องการใช้คำสแลง หรือภาษาแปลกๆ ใหม่ๆ ที่วัยรุ่นนิยมใช้พูดคุย หรือส่งข้อความถึงกันอยู่ในขณะนี้ พบว่ามีวัยรุ่นถึงร้อยละ 92.9 ที่ใช้ภาษาในลักษณะดังกล่าวโดยส่วนใหญ่จะใช้ในการแชท พูดคุย ผ่านอินเทอร์เนต และพูดคุยในกลุ่มเพื่อน โดยให้เหตุผลว่าง่าย สะดวก รวดเร็ว และสื่อความหมายได้ชัดเจนตรงตามความต้องการ อย่างไรก็ตาม วัยรุ่นส่วนใหญ่ยังเห็นว่าความรู้ความสามารถในการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องและเหมาะสมนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อตนเองอย่างมาก 
 
ส่วนความรู้สึกที่มีต่อการโพสต์ข้อความด้วยถ้อยคำที่รุนแรง หยาบคาย หรือผิดหลักภาษาไทยลงบนบล็อก หรือเว็บบอร์ดทางอินเทอร์เน็ตนั้น วัยรุ่นส่วนใหญ่ระบุว่าไม่ชอบการโพสต์ข้อความในลักษณะดังกล่าว เพราะเป็นการทำลายภาษาไทย ทำให้เกิดการจดจำแบบผิดๆ และไม่เคารพคนอ่าน 
ดังรายละเอียดต่อไปนี้
 
1. เมื่อพูดถึงวิชาภาษาไทย สิ่งที่วัยรุ่นนึกถึง 5 อันดับแรก คือ (เป็นคำถามปลายเปิดให้ผู้ตอบระบุเอง) 
- พยัญชนะ ก - ฮ และ ตัวสะกดแม่ต่างๆ ร้อยละ 18.6
- วรรณคดีไทย เช่น พระอภัยมณี รามเกียร์ติ ขุนช้างขุนแผน ร้อยละ 16.1
- บทกลอน บทกวี ทำนองเสนาะ ร้อยละ 15.8
- ครูสอนวิชาภาษาไทย ร้อยละ 9.7
- การพูด อ่าน เขียนภาษาไทยที่ถูกต้องไพเราะ ร้อยละ 9.6
 
2. ความสนใจที่มีต่อการเรียนวิชาภาษาไทยเมื่อเปรียบเทียบกับวิชาอื่น พบว่า
- ให้ความสนใจพอๆ กันกับวิชาอื่น ร้อยละ 72.3
- ให้ความสนใจน้อยกว่าวิชาอื่น ร้อยละ 18.7
- ให้ความสนใจมากกว่าวิชาอื่น ร้อยละ 9.0
 
3. วิธีการเรียนการสอนที่เหมาะสมและดึงดูดให้วัยรุ่นสนใจเรียนวิชาภาษาไทยมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ (เป็นคำถามปลายเปิดให้ผู้ตอบระบุเอง)
- สอนให้สนุก ไม่น่าเบื่อ ไม่เครียด มีหลักการจำให้เข้าใจง่าย
 เหมือนอาจารย์ที่โรงเรียนกวดวิชา (เช่น อาจารย์ปิง และ ครูลิลลี่) ร้อยละ 40.4
 
- มีกิจกรรมระหว่างการสอน เพื่อให้นักเรียนมีส่วนร่วม
เช่น เล่นเกมคำศัพท์ภาษาไทย โต้วาที ทอล์กโชว์ ฯลฯ ร้อยละ 19.8
 
- ใช้สื่อและเทคโนโลยีต่างๆ ประกอบการสอน เช่น การ์ตูนแอนนิเมชั่น  
 PowerPoint การสอนผ่านเครือข่ายอินเทอร์เนต ฯลฯ ร้อยละ 19.7
 
- ครูผู้สอนมีความคิดที่ทันสมัย เข้าใจนักเรียน และสามารถประยุกต์
  เนื้อหาให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน และยกตัวอย่างได้ ร้อยละ 14.4
 
- ให้มีการจัดการเรียนนอกห้องเรียน หรือ นอกสถานที่บ้าง ร้อยละ 2.8
 
4. การใช้ศัพท์สแลง หรือภาษาเฉพาะในหมู่วัยรุ่นในการพูดคุย เขียน หรือส่งข้อความถึงกัน พบว่า
 
- ใช้ ร้อยละ 92.9
โดยใช้ถ้อยคำเหล่านั้นเมื่อ
- ใช้ในการแชท พูดคุยผ่านอินเทอร์เนต ร้อยละ 37.2
- ใช้ในการพูดคุยกับกลุ่มเพื่อน ร้อยละ 28.2
- ใช้ในการส่ง SMS ผ่านมือถือ ร้อยละ 17.6
- ใช้ในชีวิตประจำวันตลอดเวลา ร้อยละ 9.9
- ไม่ใช้ ร้อยละ 7.1
(โดยให้เหตุผลว่า ต้องการอนุรักษ์ภาษาไทย ภาษาวัยรุ่นอ่านยาก และไม่ได้เล่นอินเทอร์เน็ต ฯลฯ)
 
5. สาเหตุหลักที่ทำให้วัยรุ่นใช้ถ้อยคำภาษาเหล่านั้น คือ (ถามเฉพาะผู้ที่ระบุว่าใช้ในข้อ 4)
 
- ง่าย สะดวด รวดเร็ว ร้อยละ 68.2
- สื่อความหมายได้ชัดเจนตรงตามความต้องการ ร้อยละ 11.4
- เท่ห์ อินเทรนด์ ตามกระแส ร้อยละ 8.5
- ใช้ตามเพื่อน ร้อยละ 8.2
- สะกดคำที่ถูกต้องไม่เป็น ร้อยละ 2.4
- ใช้ตามดารา นักร้อง ที่พูดผ่านสื่อต่างๆ ร้อยละ 0.4
- อื่นๆ อาทิ ตลกดี อยากลองใช้ดูบ้าง เคยชิน ฯลฯ ร้อยละ 0.9
 
6. ความคิดเห็นต่อประโยชน์ที่ตนเองจะได้รับหากสามารถใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้อง คือ
- เห็นว่าจะได้ประโยชน์มาก ร้อยละ 63.9
- เห็นว่าได้ประโยชน์ปานกลาง ร้อยละ 33.6
- เห็นว่าจะได้ประโยชน์น้อย ร้อยละ 2.0
- เห็นว่าจะไม่ได้ประโยชน์เลย ร้อยละ 0.5
 
7. ความรู้สึกต่อการโพสต์ข้อความด้วยถ้อยคำที่รุนแรง หยาบคาย หรือผิดหลักภาษาไทย ลงบนบล็อก หรือ 
 เว็บบอร์ด ทางอินเทอร์เนต 
- รู้สึกชอบ ร้อยละ 1.9
(โดยให้เหตุผลว่า สะใจดี อ่านแล้วเข้าใจง่าย ฯลฯ)
- รู้สึกเฉยๆ ร้อยละ 32.6
(โดยให้เหตุผลว่า ภาษาเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย ไม่เกี่ยวอะไรด้วย เป็นเรื่องปกติ เป็นภาษาที่ใช้พูดคุยกันทั่วไป ฯลฯ)
  - รู้สึกไม่ชอบ ร้อยละ 65.5
(โดยให้เหตุผลว่า เป็นการทำลายภาษาไทย ทำให้เกิดการจดจำแบบผิดๆ ไม่เคารพคนอ่าน และทำให้ดูเป็นคนมีการศึกษาน้อย ฯลฯ)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net