ชาวบ้านฮือต้านอนุกรรมาธิการฯ เหมืองแร่-กังขามีเอี่ยวบริษัทศึกษาอีไอเอเหมืองโปแตซ

กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีต้านคณะอนุกรรมาธิการฯ เหมืองแร่ กังขาอนุกรรมาธิการฯ เป็นประธานกรรมการบริษัทศึกษาอีไอเอเหมืองโปแตซอุดรธานี

วานนี้ (27 ก.ค.53) เวลา 09.00 น.กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีกว่า 200 คนได้รวมตัวกันที่ศาลากลางหมู่บ้านโนนสมบูรณ์หมู่ 12 ต.ห้วยสามพาด อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี  เพื่อเดินขบวนรณรงค์ สร้างความเข้าใจให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้ทราบถึงเหตุผล ที่มาในการทำงานของคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาเรื่องร้องเรียนของราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ ซึ่งมีเบื้องหลังและสายสัมพันธ์ที่โยงใยกับโครงการเหมืองแร่โปแตซ จ.อุดรธานี โดยขบวนรณรงค์มีเป้าหมายไปที่บริเวณหน้าบริษัทเอเชีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศในขบวนรณรงค์ยังคงคึกคัก แม้จะมีสายฝนโปรยปรายลงมาไม่ขาดสาย และชาวบ้านหลายคนต้องสละเวลาในการลงนาปักดำ โดยมีการเผาหุ่นเขียนชื่อว่าเรืองศักดิ์ วัชรพงศ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกคณะอนุกรรมาธิการฯ เนื่องจากมีเบื้องหลังเป็นประธานกรรมการบริษัท โกลเด้น แพลนจำกัด ที่บริษัทโปแตช ว่าจ้างให้เป็นที่ปรึกษาและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี โดยกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ได้ออกแถลงการณ์ด้วย (ดูล้อมกรอบ)

การรณรงค์ของชาวบ้านครั้งนี้เกิดขึ้นเนื่องจากชาวบ้านทราบว่า คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาเรื่องร้องเรียนของราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ ภายใต้คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา  มีแผนลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อมูล ข้อเท็จจริงกรณีปัญหาเหมืองแร่ทองคำ  อ.วังสะพุง  จ.เลย และพื้นที่ดำเนินโครงการเหมืองแร่โปแตซ  จ.อุดรธานี ในวันที่ 26 และ 27 ก.ค. 53 ตามลำดับ ทำให้เกิดความไม่พอใจของชาวบ้านทั้ง 2 พื้นที่  เพื่อต่อต้านคณะอนุกรรมาธิการฯ ชุดดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่า คณะอนุกรรมาธิการฯ ชุดนี้ มีความไม่ชอบธรรม ขาดความเป็นกลาง และไม่มีความโปร่งใสในการทำงาน

โดยเวทีตรวจสอบข้อมูลในวันที่ 26 ที่บ้านนาหนองบง อ.วังสะพุง จ.เลย ได้ถูกยกเลิกเนื่องจากชาวบ้านกลุ่มรักษ์บ้านเกิดจำนวนกว่า 100 คน ได้เข้าไปร่วมในเวทีเพื่อซักถามถึงความชอบธรรมและความโปร่งใสของคณะอนุกรรมาธิการ ชุดดังกล่าวทั้งยังมีการยื่นหนังสือร้องเรียนถึงบทบาทในการทำงานขออนุฯกับปัญหาเหมืองทองคำ ซึ่งท้ายที่สุดก็ไม่มีคณะอนุกรรมาธิการฯ คนใดตอบข้อซักถามหรือรับหนังสือร้องเรียนฉบับดังกล่าว

ด้านนายสุรพันธ์ นุวิชัยวัฒน์ เลขานุการกลุ่มรักษ์บ้านเกิด กล่าวว่า โครงการเหมืองแร่ทองคำนี้มีผลกระทบเกิดขึ้นมากมายกับชาวบ้าน ทั้งยังไม่มีหน่วยงานไหนมาช่วยแก้ไข ขณะเดียวกันก็ยังมีปัญหาในเรื่องของการขอขยายพื้นที่ทำเหมืองไปอีก แล้วการที่คณะอนุฯชุดนี้ลงมาก็คงจะช่วยอะไรไม่ได้ นอกจากช่วยให้ขยายพื้นที่ทำเหมืองได้เร็วขึ้นและเกิดผลกระทบมากเพิ่มขึ้น เพราะความไม่โปร่งใส และการมีเบื้องหลังที่เอื้อต่อกลุ่มบริษัท นั่นเอง

ส่วนนางมณี บุญรอด รองประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่า ชาวบ้านที่นี้จะไม่ยอมรับคณะอนุฯที่เกิดขึ้นมาเพื่อผลักดันให้เกิดโครงการเหมืองแร่อย่างเด็ดขาด และการมาในครั้งนี้ก็เกิดจากการเชิญของฝ่ายบริษัท จัดต้อนรับ และให้ข้อมูลกันในสำนักงานของบริษัทโปแตช เป็นการแสดงถึงความไม่เป็นกลาง และมีเบื้องหลังที่เอื้อประโยชน์กันอย่างชัดเจน โดยชาวบ้านไม่มีส่วนรู้เห็น หรือมีส่วนรวมใดๆ

ด้านนายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีกล่าวว่า คณะอนุฯชุดนี้ ควรกลับไปทบทวน รายงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.)  รายงานของคณะกรรมการสิทธิฯ และงานศึกษาของเครือข่ายนักวิชาการกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา ซึ่งเนื้อหาของรายงานเหล่าดังกล่าวได้ศึกษาปัญหาของเหมืองแร่โปแตช ที่มีทั้งข้อมูล ข้อเท็จจริง และข้อเสนอที่เป็นทางออก อีกทั้งสถานการณ์ในปัจจุบันก็อยู่ในขั้นตอนของการทำยุทธศาสตร์เหมืองแร่โปแตชทั้งภาคอีสาน หรือ SEA ที่ตั้งคำถามถึงความจำเป็นต่อการพัฒนาโครงการเหมืองแร่โปแตช  รวมไปถึงการศึกษาอย่างรอบด้านในทุกประเด็น  ดังนั้นคณะอนุฯชุดนี้จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเกิดขึ้น นายสุวิทย์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่คณะอนุกรรมาธิการฯ ถูกล้มเวทีที่ จ.เลย ประกอบกับการที่ทราบข่าวว่า กลุ่มอนุรักษ์ฯได้ดำเนินกิจกรรมขบวนรณรงค์เพื่อเปิดโปงการทำงานที่ไม่เป็นธรรม ความไม่โปรงใส ตลอดจนขาดความเป็นการกลาง  คณะอนุกรรมาธิการฯ ชุดดังกล่าวจึงระงับแผนการเดินทางมาลงพื้นที่ จ.อุดรธานี ตามกำหนดการเดิมไปโดยปริยาย

แผนผัง "ความสัมพันธ์กลุ่มบุคคลผู้มีผลประโยชน์จากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในประเทศไทย" ที่กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีนำมาเผยแพร่

 

แถลงการณ์
เบื้องหลังอนุกรรมาธิการฯ มีสายสัมพันธ์ธุรกิจ “เหมืองแร่” 
ลงพื้นที่สร้างภาพหวังผลผลักดันโครงการ “โปแตซ”

 

จากสถานการณ์การผลักดันโครงการเหมืองแร่โปแตซ ในเขตพื้นที่ อ.เมือง และ อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี โดย บริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น ตลอดช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมานั้น ได้ส่งผลกระทบให้คนในชุมชนขัดแย้งแตกแยกกันอย่างรุนแรงระหว่างกลุ่มชาวบ้านฝ่ายที่คัดค้านโครงการฯ และฝ่ายที่สนับสนุนโครงการฯ ซึ่งมีสาเหตุที่สำคัญมาจากการยุยง ส่งเสริมของบริษัทฯ โดยใช้อามิสสินจ้างและสร้างข้อมูลที่เป็นเท็จมอมเมาชาวบ้านให้หลงเชื่อ เพื่อที่จะผลักดันโครงการฯให้สำเร็จ

ท่ามกลางความขัดแย้งแตกแยกกันอย่างรุนแรงของคนในชุมชน จนไม่สามารถหาหนทางเยียวยาแก้ไขปัญหาได้ บริษัทโปแตซ ยังไม่ลดความพยายามที่จะผลักดันโครงการฯ ผ่านกระบวนการที่ไม่ชอบธรรมมาอย่างต่อเนื่องโดยไม่คำนึงถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น นำมาซึ่งการเชิญคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาเรื่องร้องเรียนของราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ ภายใต้ คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ให้ลงมาพื้นที่ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2553 เพื่อรับฟังข้อมูล ข้อเท็จจริง จากฝ่ายบริษัทและชาวบ้านที่สนับสนุนโครงการฯ เพียงฝ่ายเดียว อีกทั้งยังจัดทำการกันอย่างปกปิดภายในบริเวณสำนักงานของบริษัทฯ   ไม่เปิดเผยให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับรู้อย่างทั่วถึง การกระทำของบริษัทโปแตซในครั้งนี้จึงเปรียบเสมือนการจุดชนวนความรุนแรงและตอกย้ำความขัดแย้งในพื้นที่ให้เพิ่มขึ้นอีก

นอกจากนี้ในคณะอนุกรรมาธิการฯ ซึ่งมีบทบาทในการตรวจสอบกรณีปัญหาร้องเรียนจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ กลับมีอนุกรรมาธิการฯ บางคนที่มีสายสัมพันธ์กับกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมเหมืองแร่ เช่น นายเรืองศักดิ์   วัชรพงศ์ อนุกรรมาธิการฯ มีเบื้องหลังเป็นประธานกรรมการบริหารบริษัทโกลเด้นแพลนจำกัด ซึ่งได้รับการว่าจ้างจากบริษัทโปแตซ ให้เป็นที่ปรึกษาและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเหมืองแร่โปแตซจังหวัดอุดรธานี ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (นางวันเพ็ญ   วิโรจนกูฎ) เบื้องหลังสายสัมพันธ์ดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เที่ยงธรรมของคณะอนุกรรมาธิการฯ

กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี จึงมีความเห็นว่า การลงพื้นที่ของคณะอนุกรรมาธิการฯ ในครั้งนี้ขาดความโปร่งใส ไม่เป็นกลาง อีกทั้ง ยังเป็นเครื่องมือในการสร้างภาพให้กับบริษัทโปแตซ ในการหวังผลประชาสัมพันธ์เพื่อผลักดันโครงการฯ และเบื้องหลังของคณะอนุกรรมาธิการบางคนฯ ที่มีสายสัมพันธ์กับกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมเหมืองแร่ แต่กลับมีบทบาทที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนของชาวบ้านผู้ประสบปัญหาจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ ฉะนั้นบทบาทของคณะอนุกรรมาธิการฯ จึงหมดความชอบธรรมในการดำเนินงานลง  ณ  บัดนี้ 

 

ด้วยจิตคารวะ
กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี
27 กรกฎาคม 2553

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท