Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในเชิงปริมาณเราภูมิใจกันว่า คนไทยกว่าร้อยละ 90 เป็นชาวพุทธ แต่ในเชิงคุณภาพ เราถามตัวเองตลอดมาว่า ทำไมสังคมพุทธจึงเต็มไปด้วยอบายมุข และภายใต้คำโฆษณาว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา เรากลับพบเห็นแต่ความงมงายไร้เหตุผล โดยการยืนยันความเป็นศาสนาแห่งเมตตาธรรมและสันติภาพ เรากับกลับกำลังเผชิญกับความเกลียดชังและความรุนแรง

ผู้เขียนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ได้เห็นความรุนแรงจนชินตา คือครอบครัวที่อยู่หลังบ้านผู้เขียนเอง สามีมักเมากลับบ้านแทบทุกคืน แล้วก็พาลทะเลาะกับภรรยา เสียงด่าทอตบตีดังสนั่น แต่พอรุ่งเช้ากลับได้ยินเสียงสามีร้องบอกภรรยาว่า “พระมาแล้ว มาใส่บาตรได้แล้ว” ทำให้น่าคิดว่าความเป็นชาวพุทธที่ใส่บาตรพระทุกวัน กับความรุนแรงในครอบครัวเป็นเป็นวิถีชีวิตประจำวัน 2 วิถีที่ดำเนินไปอย่างคู่ขนานกัน

ในปีนี้ก็เช่นทุกปี เราเห็นการรณรงค์ “งดเหล้าเข้าพรรษา” เพราะว่าสังคมพุทธบ้านเรานั้น มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุสูงจากการเมาแล้วขับ ทำให้ปีหนึ่งๆ รัฐต้องเสียงบประมาณกว่าหมื่นล้านบาท แต่นอกเหนือจากความรุนแรงในครอบครัว อบายมุขจะดำรงอยู่คู่กับสังคมพุทธแล้ว ความรุนแรงทางการเมืองก็ดำรงอยู่คู่กับสังคมพุทธมาอย่างยาวนานด้วยเช่นกัน

ยิ่งกว่านั้น เมื่อเกิดความรุนแรงทางการเมือง เช่น เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 นอกจากชาวพุทธส่วนใหญ่และพุทธศาสนาเชิงสถาบัน เช่น สถาบันสงฆ์ จะ “วางเฉย” ต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นแล้ว ยังปรากฏว่ามีพระนักเทศน์ชื่อดังออกมาพูดต่อสาธารณะว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” ซ้ำในประวัติศาสตร์ความรุนแรงเดือนเมษา-พฤษภา 53 ยังมีวลีทองหลุดออกมาจากพระชื่อดังอีกว่า “ฆ่าเวลาบาปมากกว่าฆ่าคน”

ทั้งที่เมื่อพิจารณาคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว เราจะหาไม่พบในพระไตรปิฎกเล่มไหนๆเลยว่า การฆ่าคนไม่บาป หรือบาปน้อยกว่าการฆ่าเวลา พุทธศาสนายืนยันว่าการฆ่ามนุษย์เป็นบาปเสมอ ไม่ว่าจะฆ่าด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม

การห้ามฆ่าตามหลักศีล 5 ข้อที่ 1 นอกจากเพื่อปกป้องสิทธิในชีวิตของมนุษย์ (และสัตว์อื่นๆ) แล้ว ยังเป็นข้อเรียกร้องขั้นต่ำสุดของ “สันติวัฒนธรรม” ซึ่งเป็นวิถีแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในสังคม พุทธศาสนาถือว่ามนุษย์มีสิทธิในชีวิต ซึ่งเป็นสิทธิตามธรรมชาติที่ไม่อาจเพิกถอนได้ เนื่องจากสิทธิดังกล่าวมีมาพร้อมกับการเกิดมาเป็นมนุษย์

นักวิชาการทางพุทธศาสนาบางคนอธิบายว่า สิ่งที่แสดงว่ามนุษย์มีสิทธิตามธรรมชาติ คือ มนุษย์มี “ตัวตนทางศีลธรรม” (moral self) ซึ่งคนอื่นๆ ต้องเคารพ หมายถึงตัวตนที่แสดงศักยภาพทางศีลธรรม เช่น การมีมโนสำนึกผิดชอบชั่วดี ใฝ่ปรารถนาและมีศักยภาพที่จะพัฒนาตนเองให้ดีงาม ตั้งแต่ความดีงามระดับพื้นฐานไปจนถึงความดีงามระดับสูงสุด คือความมีอิสรภาพจากความทุกข์

การฆ่าเป็นสิ่งที่ผิดก็เพราะเป็นการทำลายโอกาส (ซึ่งเป็นไปได้ตลอดเวลา) ที่ตัวตนทางศีลธรรมของปัจเจกบุคคลจะได้พัฒนาให้เต็มเปี่ยม และสามารถสร้างสรรค์สิ่งที่ดีอื่นๆ แก่โลก

ฉะนั้น เงื่อนไขแรกสุดที่ปัจเจกบุคคลจะมีโอกาสพัฒนาตัวตนทางศีลธรรมให้งอกงามเต็มเปี่ยม คือการเคารพในตัวตนทางศีลธรรมของกันและกันโดยการไม่ฆ่า ไม่ทำร้าย หรือทำทารุณกรรมต่อกัน หากแต่พึงมีคุณธรรมคู่กับศีลข้อที่ 1 คือ เมตตา หรือความรัก ความเป็นมิตรไมตรี ปรารถนาความสุข ความดีงามแก่กันและกัน อยู่ร่วมกันอย่างมีภราดรภาพอันเป็นวิถีแห่งสันติวัฒนธรรม

แต่วันนี้สังคมพุทธบ้านเราดูราวกับเป็นสังคมที่ไร้หัวใจ เรากำลังเห็นภาพการฆ่าเป็นเรื่องปกติ ผู้นำที่ลุแก่อำนาจนั้นตัดสินใจเชิงนโยบายในทางที่ทำให้เกิดการฆ่าได้อย่างง่ายดาย สังคมนี้ไม่ได้ส่งเสียงห้ามปรามการฆ่าอย่างจริงจังพอ และไม่เรียกร้องอย่างเข้มข้นให้ผู้ฆ่าและผู้สั่งฆ่าประชาชนต้องรับผิดชอบใดๆ

อาจารย์ ดร.ประมวล เพ็งจันทร์ เคยพูดกับผู้เขียนว่า

“มันเป็นเรื่องน่าเศร้าที่ในสังคมพุทธ เราได้ยินแต่เสียงเทศนาที่ฟังดูดีมีเหตุผล แต่ไม่แน่ว่าผู้เทศนานั้นมีหัวใจที่เชื่ออย่างลึกซึ้งในสิ่งที่ตนเองพร่ำสอนคนอื่นหรือไม่ มีหัวใจที่รู้ร้อนรู้หนาวต่อความอยุติธรรม ความทุกข์ ความเจ็บปวด และความตายของเพื่อนมนุษย์หรือไม่ เมื่อไม่มีหัวใจเชื่ออย่างลึกซึ้งในคุณค่าของมนุษย์ และอ่อนไหวต่อความไม่เป็นธรรม ความเจ็บปวดของเพื่อนมนุษย์ ศาสนาก็ไม่มีอยู่จริง”

ที่จริงแล้วคนที่รักประชาธิปไตยและคระหนักในคุณค่าแห่ง “เสรีภาพ” และคนที่เป็นชาวพุทธที่ตระหนักในคุณค่าแห่ง “ตัวตนทางศีลธรรม” ของคนอื่นๆ ย่อมรู้สึกอย่างลึกซึ้งจริงจังต่อการปกป้องชีวิตของประชาชน

ฉะนั้น การที่จะเดินหน้าปรองดองโดยละเลยที่จะพิสูจน์ความผิดในการฆ่าประชาชนอย่างถึงที่สุด และละเลยที่จะเรียกร้องความรับผิดชอบต่อการฆ่าและการสั่งฆ่าประชาชน นับเป็นเรื่องที่เหลือเชื่ออย่างยิ่งที่เรายังจะหลอกตัวเองว่า สังคมเราเป็นสังคมประชาธิปไตย และเป็นสังคมพุทธ!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net