สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 19-25 ก.ค. 2553

เผยธุรกิจนายหน้าหาแรงงานส่งเข้าโรงงานอู้ฟู่

นายสมมาต ขุนเศษฐ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก จนหลายโรงงานแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการจ้างนายหน้าในการหาพนักงานใหม่เข้ามาทำงาน โดยหากหาพนักงานได้ 1 ราย จะได้ รับเงิน 500-1,000 บาท เนื่องจากคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) จำนวนที่ยาวถึงปลายปี ทำให้ผู้ประกอบการเริ่มเป็นห่วงว่าอาจผลิตสินค้าได้ไม่ทันตามกำหนด จึงจำเป็นต้องเร่งหาพนักงานให้พอเพียง

ทั้งนี้ ในภาพรวมของภาคอุตสาหกรรมยังขาดแคลนแรงงาน 600,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์, อิเล็กทรอนิกส์, สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม, อาหาร เป็นต้น และเป็นการขาดแคลนแรงงานระดับช่างเทคนิคถึง 80,000 ราย เนื่องจากวัฒนธรรมคนไทยต้องการให้บุตรหลานเรียนจบในระดับปริญญาตรี เพื่อเป็นเกียรติยศสำหรับครอบครัว แต่กลับไม่เป็นที่ต้องการของโรงงานอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันโรงงานบางแห่งจ่ายค่าจ้างงานช่างที่จบการศึกษาระดับ ปวช. และ ปวส. เฉลี่ยเดือนละ 10,000 บาท สูงกว่าผู้ที่จบปริญญาตรีด้านสังคมที่จ่ายค่าจ้างเพียง 8,000-9,000 บาท

นายสมมาตกล่าวอีกว่า การจ้างนายหน้าหาแรงงานเข้าสู่โรงงานนั้นส่วนใหญ่จะจ้างพนักงานหรือญาติของพนักงานในโรงงานเพราะสามารถการันตีประวัติของพนักงานคนใหม่ได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะหามาได้รายละ 10 กว่าคน เบื้องต้นนายจ้างจะจ่ายให้นายหน้า 300 บาทต่อแรงงานหนึ่งคนก่อน และเมื่อเด็กใหม่ทำงานเกิน 6 เดือนแล้วก็จะให้อีก 700 บาท เพื่อป้องกันเด็กใหม่ทำงานไม่นานแล้วออกจากงาน

"ผู้ประกอบการจะไม่ยอมส่งสินค้าล่าช้าเด็ดขาดเพราะจะเสียประวัติ และครั้งต่อไปลูกค้าจะไม่สั่งออเดอร์อีก เบื้องต้นหากผลิตสินค้าล่าช้าผู้ประกอบการก็จะส่งสินค้าทางเครื่องบินที่ใช้เวลา  1  วันถึงปลายทาง  แต่ก็จะทำให้ต้นทุนสูง  ดังนั้นนายจ้างจำเป็นต้องเอาใจใส่แรงงานอย่างมาก"

(ไทยรัฐ, 19-7-2553)

นายกฯชี้แก้ค้ามนุษย์ไม่ได้เพราะการประสานงานห่วย-ไม่เป็นตามหลักสากล

ที่สโมสรกองทัพเรือ นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีเปิดตัวแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ “บทบาทของรัฐใน การส่งเสริม คุ้มครองสิทธิ และเสรีภาพของประชาชน ผ่านแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 2” ตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันมีความตื่นตัวในประเด็นสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง และมีความก้าวหน้าตามลำดับ จะเห็นได้จากรัฐธรรมนูญปี 2540 เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมและครอบคลุมสิทธิเสรีภาพ ซึ่งรัฐได้ผลักดันให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ แต่ยังประเด็นท้าทาย เพราะเรื่องของสิทธิมนุษยชนมีหลักสัมพันธ์ใกล้ชิดกับหลักการยอมรับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  นอกจากปัญหาสังคมซึ่งมาจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมแล้ว ก็ยังมีปัญหาเรื่องการย้ายถิ่นฐานของคนไทย รวมทั้งปัญหาแรงงานต่างด้าวก็เป็นปัญหาที่มีความรุนแรง ปีนี้เป็นปีที่จะมีการจัดทำสำมะโนประชากรก็คาดหมายว่าตัวเลขที่ออกมาจากการ สำรวจน่าจะทำให้เราตื่นตัวมากที่ขึ้นในข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับจำนวนประชากร คาดว่าตัวเลขจำนวนประชากรไทยที่มีอยู่ 63 ล้านคน น่าจะต่ำจากความเป็นจริง และชื่อว่าจะมีคนต่างด้าวเป็นหลักหลายล้านคน ซึ่งจะเกี่ยวโยงกับปัญหาการค้ามนุษย์ซึ่งมีรูปแบบหลากหลาย ปัจจุบันประเทศไทยถูกจับตามองเรื่องการจัดการทั้งเรื่องทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงและความไม่สงบบริเวณชายแดน

“ปัญหาเรื่องการจัดการปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์พบว่ายังขาดระบบการประสานงานที่ยังไม่ดีพอ  ขาดประสิทธิภาพ ทำให้เกิดปัญหาเป็นระยะในการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทำให้ถูกมองว่าประเทศไทยยังไม่สามารถจัดการกับปัญหาการค้ามนุษย์ได้ดีเท่าที่ควร กระทรวงพัฒนาสังคมฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักยังประสบปัญหาการประสานงานกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงแรงงาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เวลาเกิดกรณีจับกุมหรือพบกลุ่มเข้าเมืองที่ผิดกฎหมาย หรือการเข้ามาทำงานผิดกฎหมาย ก็ยังขาดกระบวนการดำเนินการตามหลักสากลในการดูแลเพื่อแก้ปัญหาการค้ามนุษย์  ซึ่งทุกหน่วยงานจำเผ็นต้องประสานความร่วมมือ”นายกฯ กล่าว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ปัญหาที่ท้าทายสำคัญคือสภาพปัญหาความขัดแย้งที่ยังมีอยู่ในบ้านเมือง ทำให้ช่วงที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์หลายเหตุการณ์และทำให้เกิดการละเมิดสิทธิ มนุษยชน จนถึงขั้นเกิดความสูญเสีย ซึ่งเป็นปัญหาที่ทำให้ทุกฝ่ายต้องมีความตื่นตัวมากยิ่งขึ้น ในเรื่องการใช้และการจำกัดสิทธิเสรีภาพตามหลักกฎหมาย ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมากและเป็นประเด็นของความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ใน ปัจจุบัน ซึ่งนอกเหนือจากการทำงานของหน่วยงานตามปกติแล้ว รัฐบาลได้ดำเนินการจัดทำให้เกิดกระบวนการการปฏิรูป และการตรวจสอบข้อเท้จจริง โดยมีกรรมการอิสระที่ตั้งขึ้นมา แต่สิ่งสำคัญอยากย้ำให้ทุกหน่วยงานให้ความร่วมมือ

(แนวหน้า, 19-7-2553)

กทม.-แรงงานลงนามอบรม-ส่งแรงงานไทยดูแลผู้สูงอายุที่สวีเดน

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร  ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการจัดส่งผู้ดูแลผู้สูงอายุไปทำงานที่ประเทศสวีเดน โดยนายเฉลิมชัย กล่าวว่า จากการที่สภา กทม.ได้สถาปนาความสัมพันธ์สภาบ้านพี่เมืองน้องกับสภาเทศบาลรากุนด้า ประเทศสวีเดน ตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมาจนมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้น นำไปสู่ความร่วมมือในการส่งแรงงานไทยไปดูแลผู้สูงอายุที่สวีเดน ทั้งนี้ สวีเดนต้องการแรงงานดูแลผู้สูงอายุประมาณ 10,000 คน แต่จะมีการนำร่องจัดผู้ดูแลผู้สูงอายุก่อนประมาณ 60 คน จากนั้นจะขยายความร่วมมือไปยังเทศบาลอื่น ๆ ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ก่อนส่งแรงงานไปทำงานดูแลผู้สูงอายุทาง กทม.และ กระทรวงแรงงานจะมีการฝึกอบรมการดูแล-พยาบาลผู้สูงอายุ ความรู้ด้านวัฒนธรรม ภาษา และการฝึกงานในต่างประเทศก่อน ขณะนี้อยู่ระหว่างตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่าย คือ กทม., ก.แรงงาน และผู้แทนประเทศสวีเดน เพื่อคัดเลือกคุณสมบัติผู้ไปทำงาน คาดว่าจะตั้งคณะกรรมการฯ แล้วเสร็จในเดือน ก.ย.นี้ จากนั้นจะประกาศรับสมัครแรงงานไทยที่ต้องการเดินทางทำงานที่สวีเดิน มาฝึกอบรมก่อนส่งไปทำงานในต้นปีหน้า ทั้งนี้ ยืนยันว่าคนงานที่จะไปทำงานที่ประเทศสวีเดน จะได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม มีสวัสดิการคุณภาพชีวิตที่ดี นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานจะดำเนินนโยบายส่งเสริมให้แรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศโดยให้ความสำคัญกับการคุ้มครองแรงงานไทยในต่างแดน รวมทั้งหาแนวทางในการทำให้คนหางานทำในต่างประเทศเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด.

(สำนักข่าวไทย, 19-7-2553)

ทีดีอาร์ไอแนะพัฒนาทักษะแรงงานชี้ ป.ตรีตกงานอื้อ

รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย หรือ TDRI กล่าวว่า ภาพรวมความต้องการแรงงานของประเทศไทย ปี 2553 มีแรงงานที่ศึกษาในระดับสูงว่างงานเป็นจำนวนมาก ขณะมีการขาดแคลนแรงงานในระดับล่างคือมัธยม ประถมศึกษา และ ปวช.ประมาณ 3 แสนคน ซึ่งจำนวนนี้นายจ้างต้องการเข้ามาทดแทนแรงงานที่ออกไปจากระบบ เพราะประเทศไทยมีแรงงานเข้าออกงานตามฤดูกาล โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 30-35% ซึ่งโรงงานขนาดกลางจะต้องหาแรงงานมาทดแทน ขณะที่โรงงานขนาดใหญ่ต้องรักษาแรงงานไม่ให้มีการออกจากงานไม่เกิน 10%

 รศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวต่อว่า การจ้างงานในโรงงานอุตสาหกรรมยังมีการกระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ส่วนอุตสาหกรรมสิ่งทอและอิเล็กทรอนิกส์มีการขาดแคลนแรงงาน ทำให้ได้ฝีมือแรงงานในระดับที่รองลงมา โดยสาเหตุหลักคือ ที่ผ่านมาประเทศไทยใช้ระบบการจ้างงานแบบซับคอนแทค แต่หลังจากที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ทำให้แรงงานส่วนใหญ่กลับไปอยู่ในชนบทและคุ้นเคยไม่ยอมกลับมาทำงานในภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งแรงงานที่มีประสบการณ์ส่วนใหญ่จะมีอายุค่อนข้างมา เมื่อถูกออกจากงานก็จะไม่กลับเข้ามาทำงาน เนื่องจากร่างกายไม่มีความพร้อม รวมถึงหลังจากที่กลับมาก็ได้รับค่าจ้างเท่ากับแรงงานใหม่ แม้ว่าจะมีประสบการณ์เป็น 10 ปี ทำให้ยอมที่จะทำงานอยู่ในชนบทที่มีค่าจ้างต่ำกว่า แต่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่า

 “นายจ้างต้องเข้าไปพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานที่จะเข้ามาทำงานใหม่ เนื่องจากที่ออกไปแล้ว ไม่สามารถจะเข้ามาทำงานต่อได้ โดยเฉพาะแรงงานที่อยู่ในภาคเกษตรแต่ต้องมาทำงานในภาคอุตสาหกรรม เพราะแรงงานเหล่านี้จะไม่มีทักษะ ดังนั้นจึงต้องมีหน่วยงานที่จะต้องเข้าไปปรับและพัฒนาทักษะฝีมือ เพื่อเตรียมความพร้อมให้แรงงานเหล่านี้เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมได้” รศ.ดร.ยงยุทธ กล่าว

 รศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวต่อว่า วิธีแก้ปัญหาคือจะต้องรีบนำระบบการวัดความสามารถมาใช้ โดยให้ค่าจ้างตามระดับฝีมือ โดยเริ่มจากกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ส่วนสถานประกอบการขนาดกลางควรจัดทำโครงสร้างค่าจ้างที่ชัดเจน รวมทั้งโรงงานจะต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มคุณภาพของชิ้นงาน ขณะเดียวกันก็ต้องดูแลคุณภาพชีวิตของแรงงานให้ดีขึ้นตามไปด้วย ซึ่งถ้าหากมีโครงสร้างค่าจ้างที่เป็นระบบก็จะไม่มีการเรียกร้องขอปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ที่จะปรับขึ้นเพียงครั้งละ 3-4 บาท

 ด้านนายอนันตชัย คุณานันทกุล ประธานสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ถือว่าไม่ได้ขาดแคลนแรงงานเสียทีเดียว แต่ต้องพัฒนาแรงงานที่มีอยู่ให้มีทักษะเพิ่มขึ้น รวมถึงแรงงานที่เพิ่งจบมาจะไม่มีทักษะฝีมือ จึงอยากให้กระทรวงศึกษาธิการบรรจุหลักวิชาอุตสาหกรรมเข้าไปในหลักสูตร เช่น ความรู้อุตสาหกรรมเบื้องต้น เรื่องของวินัยและการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่น ส่วนกระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จะต้องฝึกทักษะพื้นฐาน และผลักดันแรงงานเหล่านี้ ให้เข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมให้ได้

(คม-ชัด-ลึก, 19-7-2553)

ภาวะการทำงานของประชากร เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2553 ผู้มีงานทำ 37.02 ล้านคน

ผลการสำรวจภาวะการทำ งานของประชากรประจำเดือนพฤษภาคม 2553 พบว่า จากจำนวนผู้มีอายุ 15 ปีขึ้นไปหรือผู้อยู่ในวัยทำงานทั้งสิ้น 53.39 ล้านคน เป็นผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานหรือผู้ที่พร้อมทำงาน 38.05 ล้านคนซึ่งประกอบด้วย ผู้มีงานทำ 37.02 ล้านคน ผู้ว่างงาน 5.86

แสนคน และผู้รอฤดูกาล 4.44 แสนคน ส่วนผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงานมี 15.34 ล้านคน
จำนวนผู้มีงานทำ 37.02 ล้านคนนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้มีงานทำในช่วงเวลาเดียวกันกับปี 2552 พบว่าจำนวนผู้มีงานทำลดลง 4.9 แสนคน (จาก 37.51 ล้านคน เป็น 37.02 ล้านคน) หรือลดลงร้อยละ 1.3 โดยผู้ทำงานในภาคเกษตรกรรมลดลง 1.49 ล้านคน (จาก 13.72 ล้านคน เป็น 12.23 ล้านคน) ส่วนผู้ทำงานนอกภาคเกษตรกรรม เพิ่มขึ้น 1 ล้านคน (จาก 23.79 ล้านคน เป็น 24.79 ล้านคน) เป็นการ

เพิ่มในสาขาการขายส่งและขายปลีกฯ มากที่สุด 4.8 แสนคน รองลงมาสาขาการก่อสร้าง 2.9 แสนคน สาขาการศึกษา 2.4 แสนคน สาขาบริหารราชการแผ่นดินฯ 1.8 แสนคน สาขาการโรงแรมและภัตตาคาร 1.0 หมื่นคน ส่วนสาขาอุตสาหกรรมที่ลดลงเป็นสาขาการผลิต 7 หมื่นคน สาขาการ

บริการชุมชนฯ ลดลง 3.0 หมื่นคน ที่เหลือกระจายอยู่ในสาขาอื่น ๆ
หากพิจารณาถึงลักษณะของการทำงานไม่เต็มเวลาจากชั่วโมงการทำงาน พบว่า ในจำนวนผู้ทำงานทั้งหมด 37.02 ล้านคน เป็นผู้ที่ทำงานน้อยกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ 7.14 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 19.3 ของผู้มีงานทำซึ่งกลุ่มผู้ทำงานเหล่านี้ คือผู้ที่ทำงานไม่เต็มเวลา หากนำมาเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปี 2552 ผู้ทำงานไม่เต็มเวลามีจำนวนลดลง 2.5 แสนคน (จาก 7.39 ล้านคน เป็น 7.14 ล้านคน) หรือลดลงร้อยละ 0.4 (จากร้อยละ 19.7 เป็นร้อยละ 19.3)

สำหรับจำนวนของผู้ว่างงานในเดือนพฤษภาคม 2553 มีจำนวน ทั้งสิ้น 5.86 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.5 และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปี 2552 มีจำนวนผู้ว่างงานลดลง 7.0 หมื่นคน หรืออัตราการว่างงานลดลงร้อยละ 0.2 แต่เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดือนที่ผ่านมา (เมษายน 2553) มีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 1.35 แสนคน (จาก 4.51 แสนคน เป็น 5.86 แสนคน) แม้ว่าภาวะการว่างงานเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาจะมีผู้ว่างงานลดลง แต่เมื่อพิจารณาถึงภาวะการว่างงานในปัจจุบันกลับจะมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งปัจจัยประการหนึ่งที่สำคัญ คือสถานการณ์ภัยแล้งในขณะนี้ หากสภาวะการฝนทิ้งช่วงยาวนานมากกว่านี้ จะทำให้จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องได้

เมื่อพิจารณาผู้ว่างงานจากประสบการณ์การทำงานพบว่า ผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนมีจำนวน 2.01 แสนคนส่วนผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน 3.85 แสนคน ซึ่งลดลง 3.4 หมื่นคน จากช่วงเวลาเดียวกันกับปี 2552 (จาก 4.19 แสนคนเป็น 3.85 แสนคน) โดยเป็นผู้ว่างงานมาจากภาคการผลิต 1.85 แสนคน ภาคการบริการและการค้า 1.41 แสนคน และภาคเกษตรกรรม 5.9 หมื่นคน

หากพิจารณาการว่างงานตามกลุ่มอายุ พบว่ากลุ่มเยาวชน หรือผู้มีอายุระหว่าง 15-24 ปี มีอัตราการว่างงานร้อยละ 6.0 ซึ่งปกติในกลุ่มนี้อัตราการว่างงานจะสูงส่วนกลุ่มวัยผู้ใหญ่ (อายุ 25 ปีขึ้นไป) มีอัตราการว่างงานร้อยละ 0.9 เมื่อเปรียบเทียบกับในช่วงเวลาเดียวกันกับปี

2552 กลุ่มเยาวชนมีอัตราการว่างงานลดลงร้อยละ 0.6 (จากร้อยละ 6.6 เป็นร้อยละ 6.0) และกลุ่มวัยผู้ใหญ่มีอัตราการว่างงานเท่าเดิมคือร้อยละ 0.9

สำหรับระดับการศึกษาที่สำ เร็จของผู้ว่างงานในเดือนพฤษภาคม 2553 พบว่า ผู้ที่จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษามีจำนวนมากที่สุด 1.69 แสนคน (ร้อยละ 2.7) รองลงมาเป็นผู้ที่จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 1.34 แสนคน (ร้อยละ 2.2) ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

1.14 แสนคน (ร้อยละ 2.0) ระดับประถมศึกษา 1.06 แสนคน (ร้อยละ 1.2) และผู้ที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา 6.3 หมื่นคน (ร้อยละ 0.5) เมื่อเปรียบเทียบกับในช่วงเวลาเดียวกันกับปี 2552 พบว่า จำนวนผู้ว่างงานลดลงเกือบทุกระดับการศึกษา โดยผู้ว่างงานในระดับอุดมศึกษาลดลง 7.5 หมื่นคน รองลงมาเป็นระดับประถมศึกษา 9 พันคน ผู้ที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษาลดลง 7 พันคน ส่วนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นเพิ่มขึ้น 2.0 หมื่นคน ระดับการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลายเพิ่มขึ้น 1.0 พันคน

หากพิจารณาอัตราการว่างงาน เป็นรายภาค พบว่าภาคใต้มีอัตราการว่างงานสูงที่สุดร้อยละ 2.4 รองลงมาเป็นภาคกลางร้อยละ 1.6 กรุงเทพมหานครร้อยละ 1.5 ภาคเหนือร้อยละ 1.4 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 1.3 ถ้าเปรียบเทียบอัตราการว่างงานในช่วงเวลาเดียวกันกับปี 2552 พบว่า เกือบทุกภาคมีอัตราการว่างงานลดลง โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอัตราการว่างงานลดลงมากที่สุดร้อยละ 0.7 รองลงมาเป็น ภาคเหนือลดลงร้อยละ 0.2 ภาคกลางร้อยละ 0.1 ส่วนภาคใต้และกรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 และ 0.1 ตามลำดับ

(สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 19-7-2553)

สหภาพ กฟผ. ดับเครื่องชนโรงไฟฟ้าบางคล้า จี้เอกชนที่แพ้ประมูลไอพีพีฟ้องศาล

นายศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(สร.กฟผ.)เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่าจากกรณีคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้เห็นชอบให้โรงไฟฟ้าบางคล้า ขนาดกำลังการผลิต 1,600 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ของบริษัท สยามเอ็นเนอยี่จำกัด ที่มีบริษัท กัลฟ์เจพี จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่99.94% ย้ายพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ไปยังนิคมอุตสาหกรรมโรจนะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จากเดิมตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลเสม็ดใต้ อำเภอบางคล้าจังหวัดฉะเชิงเทรา และให้ปรับค่าไฟฟ้าที่ขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)เพิ่มขึ้นอีก 9.49 สตางค์ต่อหน่วย เป็น 2.74 บาทต่อหน่วยนั้น

ทางสร.กฟผ.เห็นว่าเป็นการไม่ถูกต้องเนื่องจากเป็นความผิดของผู้ประกอบการเองที่ไม่สามารถทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ได้และมาอ้างว่าเกิดจากการที่หน่วยงานรัฐไปทำข้อตกลงกับชุมชนที่คัดค้านจนไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้นั้นแต่ทางโรงไฟฟ้ากลับมาอ้างเป็นเหตุสุดวิสัยที่เกิดจากหน่วยงานรัฐและขอย้ายพื้นที่ก่อสร้างรวมถึงปรับค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นด้วยซึ่งถือว่าเป็นการไม่สมควร เพราะจะเป็นการให้ประชาชนเข้ามาแบกรับค่าไฟฟ้าที่ปรับเพิ่มขึ้นนี้แทนทั้งที่ความผิดเกิดจากผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าเอง

นอกจากนี้การที่โรงไฟฟ้ามาอ้างว่า การย้ายพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่มีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ในจุดนี้ได้มีการตอบคำถามสาธารณชนหรือยังว่าเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใดทั้งที่ที่ดินก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งเดิมทางโรงไฟฟ้าสามารถนำไปทำประโยชน์อย่างอื่นหรือขายที่ดินออกไปเป็นรายได้เข้ามาได้ ในจุดนี้ได้นำมาคิดหรือหักออกหรือยัง ซึ่งการขอปรับค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นนี้ ทำให้เห็นว่าโรงไฟฟ้าไม่ต้องแสดงความรับผิดชอบและความเสี่ยงใดๆ ให้ประชาชนซึ่งเป็นผู้แบกรับภาระค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น ในขณะที่โรงไฟฟ้ากลับขายได้เพิ่มขึ้นนับ 10,000 ล้านบาท ในอายุสัญญา 25 ปี

ทั้งนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาทางสร.กฟผ.ได้เชิญผู้บริหารกฟผ.เข้ามาชี้แจงเรื่องดังกล่าวแล้วแต่ไม่ได้รับคำตอบที่น่าพอใจเนื่องจากยังยืนยันว่าดำเนินการถูกขั้นตอนตามที่อัยการสูงสุดได้มีหนังสือให้ภาครัฐสามารถเจรจากับภาคเอกชนได้ในกรณีที่ไม่สามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่แห่งเดิมได้ ซึ่งในกรณีนี้อัยการสูงสุดได้ตอบกลับมาว่าเอกชนสามารถเปิดเจรจากับภาครัฐได้ และหากจะมีการย้ายพื้นที่ก่อสร้างต้องไม่ขัดหลักเกณฑ์การประมูลไอพีพี โดยมีกรอบว่าจะต้องไม่ทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้นและโครงการสามารถดำเนินการได้ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าหรือพีดีพี

นายศิริชัย กล่าวอีกว่า จากความไม่โปร่งใสดังกล่าว ระหว่างนี้อยู่ระหว่างการหารือกับเอกชนที่ทำการประมูลไอพีพีที่ผ่านมาโดยเฉพาะผู้ถือหุ้นในบริษัทผลิตไฟฟ้า จำกัด(มหาชน) ว่าจะดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลปกครองสูงสุดหรือไม่หลังจากที่ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีให้มีการทบทวนเรื่องนี้แล้วเนื่องจากมองว่าเป็นการเอาเปรียบผู้ประมูลรายอื่น โดยการเสนอราคาค่าไฟฟ้ามาต่ำ เพื่อให้ได้ชนะการประมูลแต่เมื่อไม่สามารถดำเนินการได้ ก็สมควรที่จะต้องคืนสิทธิที่ได้ก่อสร้างโรงไฟฟ้า แล้วให้มีการเปิดดำเนินการประมูลใหม่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้เสนอราคารายอื่นๆ ได้มีการแข่งขันบนพื้นฐานที่เสมอภาคเท่าเทียมกัน โปร่งใสแก่ทุกฝ่าย

"ปกติผู้ผลิตไฟฟ้าทุกรายจะต้องศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการมาเป็นอย่างดี ว่าจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่บริษัทเลือกเอง เมื่อไม่สามารถทำได้ก็สมควรยกเลิกสัญญาและต้องเสียค่าปรับที่ทำให้การวางแผนผลิตไฟฟ้าคลาดเคลื่อน อีกทั้งเงื่อนไขการประมูลไอพีพีที่ระบุไว้ หากโรงไฟฟ้าบางคล้าไม่สามารถทำการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอที่จะต้องผ่านการอนุมัติภายในสิ้นปี 2553 ก็จะไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้ แต่ทางผู้ประกอบการกลับยื่นหนังสือขอย้ายสถานที่ตั้งไปยังพื้นที่อื่นและขอปรับค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น"

นายศิริชัย กล่าวเสริมอีกว่า ทั้งนี้หากโรงไฟฟ้าบางคล้ามีความโปร่งใสในการดำเนินงานจริงก็ควรที่จะให้มีการเปิดประมูลใหม่และหากมั่นใจว่าโครงการจะชนะประมูลก็ไม่เห็นต้องกลัวอะไร เพราะยังมีระยะเวลาเหลือพอที่จะเปิดประมูลใหม่ได้ เนื่องจากโรงไฟฟ้าที่แห่งใหม่นี้ กว่าจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ต้องเลื่อนออกไปอีก 2 ปี เป็นปี 2559  ซึ่งเรื่องนี้ก็ได้หารือกับทางผู้ว่าการกฟผ.ไปแล้ว ว่าการจะลงนามซื้อขายไฟฟ้ากับโรงไฟฟ้าบางคล้า ควรจะพิจารณาให้ดี เพราะหากมีการฟ้องร้องขึ้นมาผู้ว่าการกฟผ.จะเข้าไปมีส่วนที่จะต้องขึ้นศาลด้วย

นายวินิจ แตงน้อย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทผลิตไฟฟ้า จำกัด(มหาชน)(บมจ.เอ็กโก) เปิดเผยว่า ในเรื่องดังกล่าวนี้ทางบมจ.เอ็กโกคงจะไม่ยื่นฟ้องแต่อย่างใดถึงแม้การประมูลไอพีพีที่ผ่านมาคะแนนจะอยู่ในลำดับที่2 ก็ตามแต่จะปล่อยให้เป็นเรื่องของทางภาครัฐว่าจะพิจารณาอย่างไรส่วนผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ จะดำเนินการหรือไม่ เวลานี้ยังไม่ทราบเรื่อง

(หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 18 - 21 ก.ค. 2553)

คนงานไทยคูนจี้ ก.แรงงานเจรจาบริษัท หลังประท้วงจนถูกเลิกจ้าง

พนักงาน บริษัท ไทยคูน เวิลด์ไวด์ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด ที่ถูกเลิกจ้างเป็นรอบที่ 2 จำนวน 85 คน ยืนยันว่า ต้องการให้กระทรวงแรงงานเร่งไกล่เกลี่ยผู้ประกอบการ ให้รับพนักงานทั้งหมดกลับเข้าทำงานโดยไม่มีเงื่อนไข เนื่องจากเห็นว่า การเลิกจ้างครั้งนี้ เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ละเมิดสิทธิ์การรวมตัวอย่างสงบของแรงงาน

ทั้งนี้ บริษัท ไทยคูน เวิลด์ไวด์ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด เลิกจ้างพนักงานทั้ง 85 คน หลังจากพนักงานทั้งหมดเรียกร้องให้บริษัทชี้แจงเหตุผลในการโยกย้ายตำแหน่งงานในวันที่ 6 กรกฎาคม ที่ผ่านมา หลังกลับเข้ามาทำงานจากการถูกเลิกจ้างครั้งแรกเพียง 6 วัน

ก่อนจะมีการเลิกจ้างพนักงานทั้ง 85 คน สหภาพแรงงานไทยคูนได้ชุมนุมเป็นเวลากว่า 1 เดือน เพื่อเรียกร้องให้บริษัทปรับขึ้นเงินเดือนตามเกรฑ์การประเมิน 4 ระดับ แทนการขึ้นค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และโบนัสประจำปีที่ไม่ได้รับมานานหลายปี รวมถึงมาตรฐานความปลอดภัยในการทำงาน ซึ่งวันนี้ (20 ก.ค.) นายธานินทร์ ใจสมุทร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จะเดินทางไปยังโรงงาน เพื่อไกล่เกลี่ยกรณีการเลิกจ้างที่เกิดขึ้น

 (ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 20-7-2553)

เตือนประชาชนระวังนายหน้าเถื่อนพบกว่า 100 ราย

นายสุวรรณ ดวงตา จัดหาจังหวัดบุรีรัมย์ ออกมาเปิดเผยว่า ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ มีผู้ถูกหลอกไปทำงานต่างประเทศเข้ามาร้องทุกข์ที่ สำนักงาน 96 ราย สูญเงินไปกว่า 6,441,000 บาท โดยจำนวนเงินนี้ สามารถช่วยเหลือติดตามเงินคืนให้กับแรงงานได้ 9 ราย ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการดำเนินการ ล่าสุด ได้มีแรงงานจำนวน 10 คน เข้ามาร้องทุกข์ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดบุรีรัมย์ ว่าถูกนายหน้าเถื่อน หลอกไปขายแรงงานที่ประเทศบาห์เรน โดยเรียกเงิน รายละ 30,000-50,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 318,000 บาท โดยอ้างว่า จะสามารถจัดส่งไปทำงานที่ประเทศบาห์เรนได้ แต่กลับไม่ได้เดินทางไปทำงานจริง ตามที่กล่าวอ้างซึ่งหน่วยงานรับเรื่องราวร้องทุกข์ ได้รวบรวมข้อมูลหลักฐานเข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่เกิดเหตุ เพื่อติดตามจับกุมนายหน้าแรงงานเถื่อนมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

 (ไอเอ็นเอ็น, 21-7-2553)

สงขลา-สตูล-ปัตตานี เตรียมนำเข้าแรงงานอินโด 3,500 คน

วันนี้ (21 ก.ค.) นายไพโรจน์ โชติกเสถียร นักวิชาการแรงงานชำนาญการ สนง.จัดหางาน จ.สงขลา ระบุว่า จากภาวะการขาดแคลนแรงงานระดับล่าง ในโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำ ทางภาครัฐจึงเตรียมนำเข้าแรงงานต่างด้าวจากประทศอินโดนีเซีย จำนวน 3,500 คน เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยจะนำเข้ามาทำงานใน จ.สงขลา 2,500 คน จ.สตูล 500 คน และ จ.ปัตตานี 500 คน ทั้งนี้ ในวันที่ 22 ก.ค. จะมีการประชุมระหว่างกงสุลไทย-อินโดนีเซีย ประจำ จ.สงขลา ร่วมกับ ศอ.บต. และ หน.ส่วนราชการด้านแรงงาน และความมั่นคง เพื่อหารือแนวทางการนำเข้าแรงงานอินโดนีเซียอย่างถูกกฎหมาย และปัญหาด้านความมั่นคงที่หลายฝ่ายต่างวิตกกังวล

(เดลินิวส์, 21-7-2553)

สงขลา-สตูล-ปัตตานี เตรียมนำเข้าแรงงานอินโด 3,500 คน

วันนี้ (21 ก.ค.) นายไพโรจน์ โชติกเสถียร นักวิชาการแรงงานชำนาญการ สนง.จัดหางาน จ.สงขลา ระบุว่า จากภาวะการขาดแคลนแรงงานระดับล่าง ในโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำ ทางภาครัฐจึงเตรียมนำเข้าแรงงานต่างด้าวจากประทศอินโดนีเซีย จำนวน 3,500 คน เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยจะนำเข้ามาทำงานใน จ.สงขลา 2,500 คน จ.สตูล 500 คน และ จ.ปัตตานี 500 คน ทั้งนี้ ในวันที่ 22 ก.ค. จะมีการประชุมระหว่างกงสุลไทย-อินโดนีเซีย ประจำ จ.สงขลา ร่วมกับ ศอ.บต. และ หน.ส่วนราชการด้านแรงงาน และความมั่นคง เพื่อหารือแนวทางการนำเข้าแรงงานอินโดนีเซียอย่างถูกกฎหมาย และปัญหาด้านความมั่นคงที่หลายฝ่ายต่างวิตกกังวล

(เดลินิวส์, 21-7-2553)

ศึกษาอีกเดือนแปลงสัมปทาน 3 จี สหภาพทีโอทีขวางชี้รัฐอุ้มค่ายมือถือที่ใกล้หมดสัมปทาน

หลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคาร  นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมเห็นชอบตามที่คณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจเสนอ ให้อนุมัติการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อหาแนวทางการแปลงสัมปทานให้บริการโทรศัพท์มือถือระบบ  2  จีให้เป็นใบอนุญาตเช่นเดียวกับระบบ  3  จีที่กำลังจะมีการเปิดประมูล โดยมอบหมายกรอบเวลาให้หาข้อสรุปภายใน  1 เดือน เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อกำหนดที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทช.) เปิดประมูล 3 จีในเดือน ก.ย.นี้

ทั้งนี้ คาดว่าการแปลงสัญญาสัมปทานระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 จีเป็นใบอนุญาตจะช่วยประหยัดเงินลงทุนที่ซ้ำซ้อนได้ราว 30-40% เนื่องจากทรัพย์สินที่เกิดขึ้นจากการลงทุนจะตกเป็นของภาครัฐอย่างแท้จริง จากปัจจุบันที่ไม่เกิดผลในทางปฏิบัติ เพราะยังอยู่ในความครอบครองของผู้รับสัมปทานบางราย นอกจากนี้จะทำให้ต้นทุนที่ผลักภาระให้ผู้ใช้บริการถูกลง

"ถ้าเราสามารถทำตรงนี้ได้ นอกจากความเป็นธรรมในเรื่องการแข่งขันภายใต้ระบบเดียวแล้ว จะทำให้ประหยัดการลงทุนที่ซ้ำซ้อนในเรื่องทรัพย์สินได้ประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์ของทรัพย์สินที่มีอยู่ในปัจจุบัน หรือประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาท" นายกฯ กล่าว

ด้านนายจุติ ไกรฤกษ์  รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยว่า ครม.มอบหมายให้คณะทำงานดูแลหลักเกณฑ์ของแผนแม่บทไอซีที  ซึ่งมี  รมว.ไอซีทีเป็นประธาน เพื่อหาแนวทางและเสนอกลับมาภายใน  1 เดือน และยืนยันว่ารัฐบาลไม่ขัดขวางการประมูลใบอนุญาต 3 จีของ กทช.

"ครม.ยังไม่ได้อนุมัติให้ยกเลิกสัญญาสัมปทาน เป็นเพียงการตั้งคณะกรรมการดูแลตามหลักเกณฑ์ของแผนแม่บทไอซีทีว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร โดยไม่ให้ผลประโยชน์ของรัฐลดลง รวมถึงให้มีการใช้ทรัพย์สินที่มีอยู่ทั้งทีโอทีและ กสท ให้คุ้มค่ามากที่สุด" นายจุติกล่าว

ขณะที่ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)  กล่าวว่า  การพิจารณาของคณะกรรมการร่วมก็จะพิจารณาการแปรสัมปทานที่ดีที่สุด เสนอให้ ครม.เห็นชอบ และส่งเรื่องไปให้บริษัททีโอทีและบริษัท กสท โทรคมนาคมฯ  ดำเนินในทางปฏิบัติกับคู่สัญญาเอกชนทั้ง   3  ราย  คือ เอไเอส, ดีแทค และทรู โดยทุกอย่างต้องทำตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง  ซึ่งการแปรสัญญาณสัมปทาน นอกจากจะทำให้การแข่งขันของเอกชนเป็นธรรมแล้ว  ยังทำให้รายได้ของทีโอทีและ กสท  มีมากขึ้น เพราะหากไม่แปรสัญญาณสัมปทานโทรศัพท์มือถือ 2 จี ก่อนการเปิดประมูล 3 จี จะทำให้รายได้รัฐบาลหายไปปีละ 1 แสนล้านบาทจากการโอนย้ายลูกค้าบริการจากระบบ 2 จี ไป 3 จี

ผอ.สคร.บอกว่า การแปรสัญญาสัมปทาน  2 จี ยังทำให้บริษัท ทีโอที และ บริษัท กสท ต้องทบทวนบทบาทตัวเอง  ว่าจะเป็นผู้ให้บริการรายย่อยหรือเป็นผู้ให้บริการโครงข่าย ซึ่งที่ผ่านมาการให้บริการรายย่อยไม่สามารถแข่งขันกับเอกชนได้  ดังนั้นการให้เป็นผู้บริการโครงข่ายกับเอกชนจะเป็นรายได้หลักของบริษัททีโอทีและบริษัท กสท โทรคมนาคมฯ ซึ่งทั้ง 2 บริษัทนี้ต้องรวมโครงข่ายทั้งหมดทั้งที่เป็นของบริษัทหรือสร้างโดยสัมปทานให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดข้อพิพาท

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ กรรมการ กทช. กล่าวว่า กทช.ยืนยันอำนาจการออกไลเซนส์  2  จี  กรณีที่คู่สัญญาตกลงกันได้ โดยการให้อายุของไลเซนส์ต้องเท่ากับอายุสัมปทานที่เหลือไม่สามารถให้ได้ 15  ปีตามแนวทางของกระทรวงการคลังเพราะผิดกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม ก ทช.ไม่คิดว่าการแนวคิดของกระทรวงการคลังครั้งนี้จะเป็นการกดดัน  กทช.  และสามารถถ่วงการประมูลไลเซนส์   3 จีให้ล่าช้าออกไป เพราะ กทช.ยังคงเดินหน้าประมูลในเดือน  ก.ย.ตามกำหนดเดิมโดยไม่เปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน

ทั้งนี้  กทช.บางส่วนได้หารือกันอย่างไม่เป็นทางการเมื่อวันที่ 20 ก.ค. ถึงมติ ครม.เศรษฐกิจ และจะมีการนำเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ดพิจารณาร่วมกันอีกครั้ง

นายโสภณ ยาเอก กรรมการสหภาพรัฐวิสาหกิจ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการยกเลิกสัญญาสัมปทาน 2 จี เนื่องจากมองว่าแนวทางดังกล่าวของรัฐบาลได้เอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการมือถือรายหนึ่งซึ่งมีอายุสัมปทานใกล้จะหมดลงไป และได้สร้างความเสียหายต่อองค์กร ซึ่งต่อจากนี้สหภาพฯ จะเดินหน้าเวทีปราศรัยหรือเรียกร้องไปที่ทำเนียบรัฐบาลถึงแม้ทำผิดกฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

แต่นายสุขุม ชื่นมะนา ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เห็นด้วยที่รัฐบาลจะยกเลิกสัมปทาน แต่ทั้งนี้เอกชนต้องส่งมอบทรัพย์สินตามสัญญาสร้าง-โอน-บริการ (บีทีโอ) ให้ครบ 100% ด้วย จากปัจจุบันบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค, บริษัท ทรูมูฟ จำกัด ในฐานะคู่สัญญายังโอนทรัพย์สินดังกล่าวให้กับ กสทฯ ไม่ถึง 50% โดยอ้างว่าตู้คอนเทนเนอร์ อาคาร และเสาอากาศ เป็นสิ่งปลูกสร้าง

นายอานุภาพ ถิรลาภ นักวิชาการอิสระสื่อสารและสารสนเทศ กล่าวว่า หากรัฐบาลสามารถดำเนินการทำได้ ก็จะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคม เหมือนเป็นการล้างไพ่ โดยจะทำให้ปัญหาความวุ่นวายต่างๆ หมดไป เช่น เรื่องค่าเชื่อมโยงโครงข่าย (แอคเซสชาร์จ) หมดไป เป็นต้น.

 (ไทยโพสต์, 21-7-2553)

"ก.แรงงาน" สั่งรื้อระบบนายหน้า ลดค่าบริการ หาแหล่งเงินกู้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า จะสั่งรื้อระบบนายหน้า อีกทั้งลดค่าบริการ และจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อหวังลดการถูกบริษัทนายหน้าเถื่อนหลอกไปทำงานต่างประเทศ ขณะเดียวกันสถิติประชาชนที่ถูกหลอกทั่วประเทศ ปี 53 มีจำนวน 1,508 คน อยู่ระหว่างดำเนินคดีกว่า 300 ราย

อย่างไรก็ตาม รู้สึกกังวล และห่วงผู้ที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศ เนื่องจากอาจถูกนายหน้าจัดหางานเถื่อนหลอกลวง เอารัดเอาเปรียบ เสียค่าบริการ และค่าใช้จ่ายที่สูง ตนจึงมีนโยบายที่จะดำเนินการลดค่าบริการ และค่าใช้จ่าย โดยจะช่วยหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ในการขอสินเชื่อไปทำงานต่างประเทศ และเร่งรัดปรับปรุงศูนย์ทะเบียนคนหางาน เพื่อให้นายจ้าง หรือบริษัทจัดหางานมาคัดรายชื่อคนหางาน ซึ่งจะทำให้บทบาทของนายหน้าจัดหางานลดลง ทั้งนี้จะเร่งหาตลาดแรงงานในต่างประเทศ โดยเพิ่มการจัดส่งคนงานในลักษณะแบบรัฐต่อรัฐ และแบบรัฐกับเอกชน หรือบริษัทในต่างประเทศโดยตรง

นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า ในวันที่ 22 กรกฎาคม ทางกระทรวงฯ ได้เชิญสายและบริษัทจัดหางานทั้งหมด มาร่วมพูดคุยและขอความร่วมมือ ให้บริษัทเหล่านี้ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายค่าบริการ ทั้งนี้ หากทางบริษัทฯ ไม่สามารถที่จะตกลงกันได้ ก็จะใช้กฎหมายเข้ามาควบคุมดูแล ซึ่งตรงนี้ถือเป็นมาตรการสุดท้ายที่จะจัดการกับบริษัทฯ ซึ่ง นายเฉลิมชัย ยังได้กำชับให้เจ้าหน้าที่จัดหางานจังหวัด เร่งทำการประชาสัมพันธ์ และให้ข้อมูลทำความเข้าใจกับแรงงาน โดยให้ถือเป็นนโยบายหลัก

 (แนวหน้า, 21-7-2553)

ทูตอิราเอลสานความร่วมมือไทย เน้นแรงงาน-มั่นคง

H.E. Mr. Itzhak Shoham เอกอัครราชทูตรัฐ อิสราเอลประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่ โดยเอกอัครราชทูตรัฐอิสราเอลฯ กล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีสำหรับการเข้าเยี่ยมคารวะ พร้อมระบุว่าจะสานต่อและกระชับความร่วมมือทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคีกับไทยในทุกด้าน โดยฉพาะความร่วมมือด้านแรงงานไทยในภาคเกษตรกรรม ที่อิสราเอลมีความพอใจในคุณภาพของแรงงานไทย และกำลังหารือในการจัดทำความตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงานไทยภาคเกษตรกรรม ผ่านองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน รวมถึงความร่วมมือด้านความมั่นคงด้านการข่าว ซึ่งอิสราเอลฯสนใจที่จะร่วมมือกับหน่วยงานด้านความมั่นคงของไทย ซึ่งขณะนี้สองฝ่ายได้ทำงานร่วมกันเพื่อให้บรรลุความตกลงดังกล่าว

นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตฯ ได้แสดงความชื่นชมในความเข้มแข็งของเศรษฐกิจไทย ที่มีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว และมีปัจัยด้านดีทำให้การเติบโตมีความมั่นคง

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความยินดีและชื่นชมในความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทยและอิสราเอล พร้อมจะสานต่อและสนับสนุนความร่วมมือทั้งด้านแรงงาน ความมั่นคง วิทยาศาตร์และเทคโนโลยีกับอิสราเอลอย่างแข็งขัน โดยเรื่องความตกลงด้านแรงงาน ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานดำเนินการและให้ความสำคัญในลำดับต้นๆ

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรียังได้ให้ความั่นใจในสถานการณ์การเมืองของไทย โดยกล่าวว่า ขณะนี้การแก้ปัญหาที่กระตุ้นให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ดำเนินไปด้วยดีและได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย การดำเนินการตามแผนปรองดองของรัฐบาลมีความก้าวหน้าตามลำดับ รวมถึงการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจ ที่มีการฟื้นตัวอย่างเข้มแข็ง และคาดว่าจะเติบโตถึงร้อยละ 6 ในปีนี้

(เนชั่นแชนแล, 21-7-2553)

ป.ตรีไร้ค่าใช้วุฒิ ปวช.สมัครงาน

นายกสมาคม รร.อาชีวะเอกชน เผยแรงงาน ป.ตรี ทิ้งใบปริญญา ใช้วุฒิ ปวส.-ปวช. สมัครงานอื้อ เร่งรัฐบาลสร้างแรงจูงใจเด็กเรียนวิชาชีพเพิ่ม ขณะที่เลขาฯ กอศ.สบช่องขอแรงสนับสนุนเพิ่ม ฟุ้งสถาบันอาชีวะที่จะเกิดช่วยได้ คาด 2 ปีเห็นผลผลิตคนได้ตรงความต้องการของประเทศแน่นอน

นายวีรวัฒน์ วรรณศิริ นายกสมาคมโรงเรียนอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ในฐานะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อวางแผนผลิตกำลังคน (กรอ.ศธ.) กล่าวถึงปัญหาการผลิตบัณฑิตไม่ตรงตามความต้องของตลาดแรงงาน ว่า ปัจจุบันยังคงมีปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง และขณะนี้ยังพบว่ามีนักศึกษาที่เรียนในสายวิชาชีพ อาทิ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) แล้วเรียนต่อระดับปริญญาตรีจำนวนหนึ่ง ยอมใช้ ปวช.และ ปวส.เพื่อสมัครเข้าทำงาน เนื่องจากสถานประกอบการณ์หลายแห่งไม่ต้องการจ้างงานระดับ ป.ตรี ซึ่งนอกจาก ป.ตรี ที่ยอมเข้าทำงานโดยใช้วุฒิการศึกษาต่ำกว่าที่จบแล้ว ยังพบอีกว่า มีนักศึกษาที่จบ ป.ตรี แล้วต้องเข้าเรียนหลักสูตรอาชีพระยะสั้นต่างๆ เพื่อนำความรู้ไปประกอบอาชีพ โดยไม่ได้ใช้วุฒิที่จบในระดับ ป.ตรี ไปใช้เพื่อเข้าทำงาน ปรากฏการณ์ดังกล่าวแม้จะยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนเป็นทางการ แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่า การจัดการศึกษาในภาพรวมยังไม่สอดคล้องกับแนวทางในการพัฒนาประเทศ หากดูที่นักศึกษาจบ ป.ตรี ที่ยอมทำงานต่ำกว่าวุฒิการศึกษา ก็แสดงให้เห็นชัดเจนว่าการวางแผนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทยยังไรทิศทาง ขาดวิสัยทัศน์เชิงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาแรงงาน และยังไม่มีหน่วยงานที่ตระหนักถึงปัญหานี้อย่างจริงจัง

ดังนั้นคิดว่าสิ่งที่รัฐบาลควรทำในระยะสั้นคือต้องกล้าตัดสินใจอย่างเร่งด่วน ที่จะหามาตรการเข้ามาจัดการทรัพยากรบุคคลเพื่อให้ทันกับการตัดสินใจของผู้เรียนที่จะเลือกระหว่างสายสามัญกับสายอาชีพ เพราะการตัดสินใจดังกล่าวต้องใช้เวลาเรียน 3 ปี สำหรับ ปวช. อีก 5 ปีสำหรับ ปวส. ก่อนจะออกมาสู่ตลาดแรงงานในระยะกลาง ต้องมีการปรับแผนการศึกษาให้มีการเลือกเรียนสายอาชีพมากขึ้น โดยลบความเชื่อค่านิยมผิดๆ ที่ว่า เรียนในระดับที่สูงขึ้นมีโอกาสในการทำงานมากกว่า โดยไม่คำนึงว่าสาขาที่เรียนนั้นหาตำแหน่งงานยาก เพราะประเด็นสำคัญคือ หากเลือกตรงกับสาขาที่ได้งานก็จะมีโอกาสเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นได้เช่นกัน ขณะที่ระยะยาว สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กระทรวงแรงงาน และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ต้องทำงานประสานกันเพื่อรับมือกับปัญหานี้ โดย สศช.ต้องเป็นผู้กำหนดยุทธศาสตร์วิสัยทัศน์ว่าประเทศจะพัฒนาไปในลักษณะใด เพื่อให้กระทรวงแรงงานสำรวจความต้องการแรงงานมาป้อนตามความต้องการได้ โดย ศธ.จะมีบทบาทอย่างยิ่งในการผลิตบุคลากรให้ตรงกับตลาด

ด้าน น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นสิ่งที่ กอศ.ให้ความสำคัญมาโดยตลอด โดยเชื่อมั่นว่าปัญหาส่วนหนึ่ง จะบรรเทาลงหากสถาบันอาชีวะจัดตั้งขึ้นแล้วเสร็จ หากรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องแรงงานอยากที่จะให้ กอศ.เข้าไปช่วยแก้ปัญหาทั้งหมดอย่างต่อเนื่องเป็นรูปธรรม องค์กรของเราพร้อมที่จะเข้าไปช่วยในทุกมิติ เมื่อตอนเข้ามารับตำแหน่งมีความมั่นใจว่าอาชีวะมีศักยภาพที่จะจัดการเรื่องนี้ได้ โดยคาดว่าใช้เวลาเพียง 2 ปีก็จะเห็นผล และภายใน 4 ปีจะมีความเป็นรูปธรรมสามารถผลิตคนได้เพียงพอและตรงตามความต้องการของประเทศแน่นอน แต่ต้องได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องและศึกษารายละเอียดที่ชัดเจนต่อไป

(ไทยโพสต์, 22-7-2553)

กมธ.แรงงานขออภัยโทษกษัตริย์ซาอุฯ

นายนคร มาฉิม สส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ (กมธ.) แรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า กมธ.แรงงานอยู่ระหว่างประสานงานร่วมกับองค์กรสภาแรงงานกว่า 13 องค์กรเพื่อร่างคำขอพระราชทานอภัยโทษจากกษัตริย์ของประเทศซาอุดีอาระเบียผ่านทางอุปทูตซาอุดีอาระเบียประจำประเทศไทย เพื่อเป็นช่องทางหนึ่งในการฟื้นฟูความสัมพันธ์

“หลังเหตุการณ์ที่นายเกรียงไกร เตชะโม่ง ขโมยเครื่องเพชรจากพระราชวัง และเกิดเหตุนายโมฮัมเหม็ด อัลรูไวลี นักธุรกิจซาอุดี…อาระเบีย พระญาติกษัตริย์ไฟซาลมาเสียชีวิตอีก ยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศตกต่ำลง แรงงานไทยไม่สามารถเข้าไปทำงานได้อีก จึงได้หารือกับนายกรัฐมนตรีแล้ว หากภายใน 2 สัปดาห์ที่ประชุม กมธ.มีมติออกมาก็คงดำเนินการได้” นายนคร กล่าว

นายอิชซัค โซฮัม เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย กล่าวระหว่างเข้าเยี่ยมคารวะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่ว่า พร้อมจะสานต่อความร่วมมือกับไทยในทุกด้าน โดยเฉพาะด้านแรงงาน กำลังหารือจัดทำความตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงานไทยภาคเกษตรกรรม

ด้านนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.แรงงาน กล่าวว่า ภายใน 1 เดือนจะมีมาตรการที่เป็นรูปธรรมช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานไม่ให้ถูกนายหน้าจัดหางานเอารัดเอาเปรียบเก็บค่าใช้จ่ายรายหัวสูงเกินไป

(โพสต์ทูเดย์, 22-7-2553)

ตำรวจรวบแรงงานข้ามชาติ 58 คน กลางเมืองเชียงใหม่

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 22 กรกฎาคม 2553 พ.ต.อ.ภาณุเดช บุญเรือง รอง ผบก.ภ.จว.เชียงใหม่ พ.ต.ท.วชิระ กาญจนวิภาดา รองผกก.สภ.ช้างเผือก ได้นำกำลังชุดสืบสวน ชุดป้องกันและปราบปรามการโจรกรรม สภ.ช้างเผือก พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักงานจัดหางานจ.เชียงใหม่ บุกเข้าปิดล้อมจับกุมแรงงานต่างด้าวที่มารวมกลุ่มกันที่บริเวณถนนอัษฎาธร ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ย่านตลาดคำเที่ยง เพื่อรอผู้รับเหมาก่อสร้างนำรถกระบะมารับไปทำงานตามแหล่งต่าง ๆ

ระหว่างเข้าจับกุมแรงงานต่างด้าวที่กระจายจุดยืนอยู่กว่า 100 คนได้พากันวิ่งหลบหนีแตกกระเจิง เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวไว้ได้จำนวน 58 คนส่วนใหญ่เป็นชาวพม่า เป็นชาย 55 คน หญิง 3 คน จากนั้นนำตัวมาตรวจสอบประวัติและสอบปากคำที่สภ.ช้างเผือก เบื้องต้นพบผู้ถูกดำเนินคดีแบ่งเป็น ลักลอบหลบหนีเข้าเมือง 10 ราย ขัดคำสั่งเจ้าพนักงานด้วยการออกนอกเขตควบคุม 2 ราย และตรวจพบมีสารเสพติด หรือปัสสาวะสีม่วงรวม 5 ราย หลังสอบปากคำได้แจ้งข้อกล่าวหาลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ออกนอกเขตพื้นที่โดยไม่ได้รับอนุญาตและทำงานผิดประเภท ส่วนที่ตรวจพบปัสสาวะสีม่วงถูกดำเนินคดีในข้อหาเสพยาบ้าอีก 1 กระทง และส่งมอบตัวให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีเพื่อให้หน่วยงานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองส่งตัวกลับประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จุดที่มีการจับกุมดังกล่าว ที่ผ่านมาจะมีคนต่างด้าวจำนวนมากมายืนรอให้นายจ้างขับรถมารับไปทำงานตามไซส์งานก่อสร้างทั้งในและนอกอำเภอ โดยค่าจ้างค่อนข้างต่ำกว่าการจ้างงานแรงงานคนงานก่อสร้างในระบบ แล้วแต่จะตกลงกัน จึงทำให้มีคนงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้าเมืองและต้องการได้งานแบบเช้าไปเย็นกลับมารวมตัวเพื่อไปทำงานจากจุดดังกล่าว ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่กวาดล้างจับกุมผ่านไปสักระยะ กลุ่มเหล่านี้ก็จะกลับมาอีก

(เนชั่นแชนแนล, 22-7-2553)

เห็นชอบนำเข้าแรงงานอินโดนีเซีย 4102 คน เข้ามาทำงานในภาคใต้

วันนี้ ( 22 ก.ค.) ที่ห้องประชุมศาลากลาง จ.สงขลา นายภาณุ อุทัยรัตน์ ผอ.ศอ.บต. นายเฮรู วิจักโซโน กงสุลใหญ่อินโดนีเซียประจำ จ.สงขลา ร่วมหารือเกี่ยวกับการนำแรงงานอินโดนีเซียเข้ามาทำงานในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยแจ้งยอดขาดแคลนแรงงานในพื้นที่ จ.สงขลา ปัตตานี และ สตูล ไว้จำนวน 4,102 คน ซึ่งผลการประชุมเบื้องต้นทั้ง 2 ฝ่าย เห็นด้วยที่จะทำการนำเข้าและส่งตัวแรงงานอินโดนีเซีย โดยรัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศ จะมีการเจรจากันอีกครั้งหนึ่ง ส่วนปัญหาด้านความมั่นคง ผอ.ศอ.บต.เผยว่า ผู้ประกอบการไม่ค่อยคำนึงถึงเรื่องนี้ อีกทั้งยังมั่นใจว่าแรงงานอินโดนีเซียตั้งใจที่จะเข้ามาทำงานจริงๆ

(เดลินิวส์, 22-7-2553)

รัฐบาลผุดศูนย์เฉพาะกิจ ออกปราบแรงงานเถื่อน

นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ จัดหางานจังหวัดนครปฐม เปิดเผยว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่ง เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2553 ให้จัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจปราบปราม จับกุมและดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าทำงาน ซึ่งทำน้าที่บูรณาการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพบก กองทัพเรือ

โดยร่วมกันรับผิดชอบเรื่องของนโยบายและปฏิบัติการป้องกัน ปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองและลักลอบทำงาน รวมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการศูนย์เฉพาะกิจปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวลักลอบทำงาน เพื่อแบ่งเขตรับผิดชอบ ประกอบด้วย พื้นที่กรุงเทพมหานคร, รับผิดชอบ 25 จังหวัดในภาคกลางและภาคตะวันออก ,ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ,ภาคเหนือ ,ภาคใต้ , เพื่อปฏิบัติการภารกิจปราบปราม รวมทั้งจับกุมนายจ้าง และผู้ที่ให้ที่พักพิงแรงงานดังกล่าว กับแรงงานที่จดทะเบียนแต่ไม่มารายงานตัว และแรงงานที่จดทะเบียนแล้วไม่มาต่ออายุใบอนุญาตทำงาน

โดยขณะนี้ตรวจสอบพบว่ามีแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าทำงานกว่า 130,000 คน และแรงงานที่จดทะเบียนแล้วไม่ต่ออายุการทำงานกว่า 300,000 คน ซึ่งแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายส่วนใหญ่เป็นชาวพม่าที่เป็นชนกลุ่มน้อย ยากที่จะพิสูจน์สัญชาติเพื่อขึ้นทะเบียนแรงงาน ขณะที่แรงงานกัมพูชาและลาวพบอุปสรรคน้อยกว่า ซึ่งประเด็นสำคัญที่ต้องเตือนคือข้าราชการนอกรีด ที่ใช้รถยนต์ส่วนตัวรับจ้างขนแรงงานต่างด้าว หากมีการตรวจพบจะดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด

(แนวหน้า, 22-7-2553)

ศาลแรงงานชี้ "ทรู" เลิกจ้างไม่เป็นธรรมจริง-อดีต พนง.อุทธรณ์ต่อ ขอกลับเข้าทำงาน

จากกรณีพนักงานบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 29 คน รวมตัวยื่นขอจดทะเบียนและเป็นกรรม การสหภาพแรงงานเพื่อชีวิตทรู เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 50 แต่ต่อมาบริษัทได้มีคำสั่งเลิกจ้างพนักงาน 20 คน โดยอ้างว่าประสบภาวะขาดทุนและยอมจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมาย แต่พนักงานไม่ยอมจึงได้ดำเนินการยื่นฟ้องร้องต่อศาล ขอให้บริษัทรับพนักงานกลับเข้าทำงาน

ล่าสุด วันนี้ (22 ก.ค.) ศาลแรงงานกลางได้ออกนั่งบัลลังก์ อ่านคำพิพากษาคดีที่ 1258-1273 /2550 และ 1544-1547/2550 โดยศาลได้วินิจฉัยแล้วเห็นว่า บริษัท ทรูฯ เลิกจ้างไม่เป็นธรรมจริง แต่ไม่สามารถรับกลับเข้าทำงานได้ เนื่องจากคดีความมีอายุนานกว่า 3 ปี ประกอบกับโครงสร้างบริษัทมีการเปลี่ยนแปลง และนายจ้างก็ไม่มีความประสงค์ที่จะรับกลับเข้าทำงาน ศาลจึงสั่งบริษัท ทรูฯ จ่ายค่าชดเชยกับพนักงานทั้งหมดตามกฎหมาย 

ด้านนายอัษฎาวุธ เที่ยงทอง อดีตพนักงานบริษัท ทรูฯ กล่าวว่า ทั้งจากแรงกดดันและปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้ปัจจุบันเหลือเพื่อนพนักงานที่ยังต้องการดำเนินคดีต่อไปทั้ง หมด 9 คน โดยวันนี้อดีตพนักงานทั้ง 9 คนมีมติไม่รับค่าเสียหาย โดยจะขออุทธรณ์ต่อศาล ขอให้บริษัทรับกลับเข้าทำงาน ทั้งนี้ ยืนยันว่าพวกเขาไม่ได้เป็นปฎิปักษ์ใดๆ กับนายจ้างและบริษัท เพียงแต่ต้องการตั้งสหภาพแรงงานขึ้นเพื่อเป็นตัวกลางระหว่างองค์ กรและพนักงานให้เป็นเนื้อเดียวกันเท่านั้น แต่ผู้บริหารอาจยังไม่เข้าใจ หรือยังติดขัดกับคำว่าสหภาพแรงงาน

(ประชาไท, 22-7-2553)

คนร้าย 'ลอบทำร้าย-ยิง' กรรมการสหภาพไทยคูณ

เมื่อเวลา 20.00 น. วันที่ 22 ก.ค. พ.ต.ท.พิทักษ์ ทำนุ สารวัตรเวรสภ.นิคมพัฒนา จ.ระยอง รับแจ้งจากนายธีรชัย สุวรรณมาโน อายุ 30 ปี พนักงานบริษัทไทยคูน ว่า มีคนร้ายยิงนายธรรมรัตน์นันสอางค์ อายุ 30 ปี พนักงานแผนกคิวซี บริษัท ไทยคูน เวิลด์ไวด์ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) หนึ่งในคณะกรรมการลูกจ้าง สหภาพแรงงานฯ บาดเจ็บสาหัส นำตัวส่งร.พ.บ้านค่าย เมื่อเดินทางไปตรวจสอบพบผู้บาดเจ็บถูกยิงที่มือขวาและสะโพก กระสุนฝังใน ถูกส่งต่อร.พ.ระยอง
 
สอบสวนเบื้องต้นทราบว่า ก่อนเกิดเหตุนายธรรมรัตน์ซึ่งพักอยู่ที่สำนักงานสหภาพฯ บ.ไทยคูนตลาดนิคมพัฒนา ก.ม.12 ต.นิคมพัฒนา ออกมาโทรศัพท์ที่ตู้โทรศัพท์ ห่างจากสำนักงานประมาณ300 เมตร คนเดียว เมื่อมาถึงตู้โทรศัพท์มีวัยรุ่นไม่ต่ำกว่า 7 คน ขี่รถจักรยานยนต์ 3 คัน ตรงเข้ามารุมทำร้าย นายธรรมรัตน์เห็นท่าสู้ไม่ได้จึงวิ่งหนี กลุ่มวัยรุ่นจึงสาดกระสุนตามหลัง จนวิ่งไปล้มฟุบลงที่หน้าสำนักงานสหภาพฯ และถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล

นายชัชวาล สมเพชร ประธานสหภาพ บริษัทไทยคูนฯ เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้กลุ่มสหภาพฯ มีข้อพิพาทกับบริษัท มีการต่อรองและการเจรจา เรื่องค่าจ้างและโบนัสหลายต่อหลายครั้ง นายธรรมรัตน์เป็นหนึ่งในคณะกรรมการลูกจ้างที่เป็นแกนนำในการเจรจาและชุมนุมประท้วง เชื่อว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นสาเหตุเดียวที่ทำให้ถูกทำร้าย เพราะนายธรรมรัตน์ไม่เคยมีเรื่องบาดหมางกับใคร และก่อนหน้านี้ก็มีสหภาพฯ ถูกทำร้ายข่มขู่มาแล้วหลายคน แต่ครั้งนี้ถึงกับถูกยิงบาดเจ็บสาหัส แต่พวกเราจะต่อสู้ตามกระบวนการของกฎหมายต่อไป

 (ข่าวสด, 23-7-2553)

แรงงานไทยร้องค่าจ้างต่ำกว่าต่างด้าว

เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม นายนิคม สองคร เลขาธิการสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย นำกลุ่มลูกจ้างของห้างหุ้นส่วน (หจก.) สหไทยประเสริฐ 74 คน กล่าวภายหลังเข้ายื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ว่า บริษัท แฟนซีวูดอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) ทำธุรกิจเฟอร์นิเจอร์นำเข้าและส่งออก ได้ว่าจ้างให้ หจก.สหไทยประเสริฐ และ หจก.อื่นๆ อีก 5 แห่ง จัดหาแรงงานให้กับบริษัท ในลักษณะการรับเหมาช่วงค่าแรง แบ่งเป็นแรงงานคนไทย 500 คนและแรงงานต่างด้าว 300 คน ทั้งนี้ บริษัทแฟนซีวูดฯ ได้ปรับค่าจ้างให้กับ หจก.อื่นทั้ง6 แห่ง ในอัตรา 224 บาท แต่กลับไม่ปรับค่าจ้างให้พนักงาน หจก.สหไทยประเสริฐที่เป็นคนไทยล้วน 113 คน โดยจ่ายเพียง213 บาทเท่าเดิม เมื่อมีการเจรจา นายจ้างยืนยันว่าจะไม่ปรับค่าแรงให้ ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรม เพราะแรงงานต่างด้าวเข้าใหม่ได้ค่าจ้างสูงกว่าแรงงานไทยที่ทำงานมากว่า 10 ปี

นายชีวะเวช เวชชาชีวะ ที่ปรึกษารัฐมนตรีแรงงาน ผู้รับหนังสือ กล่าวว่า จะประสานกับบริษัทเพื่อเจรจาในวันที่ 28 กรกฎาคมนี้

(มติชน, 23-7-2553)

ออกหมายจับแก๊งตุ๋นคนอุดรฯ ไปทำงานญี่ปุ่น

ศาลจังหวัดอุดรธานี เห็นชอบออกหมายจับ 2 ผู้ต้องหา ขบวนการหลอกลวงไปทำงานประเทศญี่ปุ่น ประกอบด้วยหมายจับเลขที่ 367/ 2553 นายนภดล เทียมทิพย์จรัส อายุ 64 ปี และหมายจับเลขที่ 367.1/ 2553 นายสาธิต ปิ่นทอง อายุ 51 ปี  ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานหรือ ส่งไปฝึกงานต่างประเทศได้ และหลอกลวงให้ได้มาซึ่งทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์ เหตุการณ์เกิดขึ้นระหว่าง ส.ค.52 – เม.ย.53 ตามที่ พ.ต.ท.เทอดศักดิ์ บุญโชติ พงส.สบ.3 สภ.เมืองอุดรธานี เสนอ

ทั้งนี้ตามข้อกล่าวหาของนายธุวานนท์ ศรีทอง อายุ 33 ปี อยู่เลขที่ 36 ม.12 ต.อุ่มจาน อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี กับพวกรวม 12 คน เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อ พ.ต.ท.เทอดศักดิ์ฯ กล่าวหานายนภดล และนายสาธิต ได้หลอกว่าสามารถจัดส่งไปทำงานในตำแหน่งช่างเชื่อม และตำแหน่งต่างๆที่อู่ต่อเรือ ในเมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่นได้ ในอัตราเงินเดือน 27,000 บาท มีสวัสดิการที่พักและอื่นๆ   สัญญาทำงานนาน 2 ปี และต่อสัญญาอีกครั้งละ 1 ปี แต่จะต้องจ่ายค่านายหน้า 290,000 บาท  โดยจ่ายล่วงหน้า 95,000 บาท ที่เหลือเป็นสินเชื่อใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน

นายธุวานนท์ กับพวก ที่หลงเชื่อคนทั้ง 2 เพราะไปติดต่อเดินเรื่องที่ สนง.บริษัทจัดหางาน ที่ถูกต้องตามกฎหมายย่าน ลาดพร้าว กมท. ( บ.จัดหางาน เคเอส แมนเพาว์เวอร์ซัพพลาย จก. เลขที่ 3104 /1-2 ซอยลาดพร้าว 130) ซึ่งทั้ง 2 แสดงตัวเป็นที่ปรึกษาของบริษัท จึงตัดสินใจโอนเงินจากอุดรธานีไปให้  และได้เรียนภาษาญี่ปุ่นที่สำนักงานอีก 5 วัน และมาเรียนที่ศูนย์ฝึกฝีมือแรงงานไทยพัฒนา จ.ปทุมธานี อีก 45 วัน ก่อนจะกลับมาเตรียมเอกสารที่ จ.อุดรธานี รอการเดินทางเมษายน 53 แต่ก็ไม่ได้เดินทางไปตามสัญญา และยังหนีหน้าตามไม่พบ ไปร้องเรียนที่ กทม.หลายแห่งไม่เป็นผล 

พ.ต.ท.เทอดศักดิ์ กล่าวว่า คนหางานถูกหลอกลวงครั้งนี้มากกว่า 30 ราย สูญเงินไปมากกว่า 3 ล้านบาท แต่มาแจ้งความที่ จ.อุดรธานีเพียง 12 รายเท่านั้น ที่มีการโอนเงินจากอุดรธานี และตรวจโรคที่ รพ.เอกชนใน จ.อุดรธานี นอกจากจะใช้ สนง.จัดหางานถูกกฎหมาย เป็นสถานที่นัดหมายคนหางาน  ซึ่งไม่แน่ใจว่าบริษัทจัดหางานดังกล่าว มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ ต้องรอผลการตรวจสอบเพิ่มเติม  ยังมีการส่งคนงานที่เคยเดินทางทำงานญี่ปุ่น มาเป็นสายและนายหน้า ไปชักชวนคนสนใจมาถูกหลอก

 (โพสต์ทูเดย์, 22-7-2553)

สหภาพฯทีโอทีและ กสท. เดินหน้าค้านแปรสัมปทาน

ตัวแทนสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ.ทีโอที. บมจ.กสท. และบริษัทไปรษณีย์ไทย เข้าพบนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เพื่อสอบถามความชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางการแปรสัญญาสัมปทานกิจการโทรคมนาคม 2G เป็นการออกใบอนุญาต

โดยนายพงศ์ฐิติ พงศ์ศิลามณี ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ.ทีโอที กล่าวว่า สหภาพฯทีโอที.ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการแปรสัญญาสัมปทาน เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนว่าการแปรสัญญาสัมปทานจะมีความสอดคล้องกับ พรบ.จัดสรรคลื่นความถี่หรือไม่ อย่างไร ขณะเดียวกันการแปรสัญญาสัมปทานจะทำให้ทีโอที.และรัฐ มีรายได้ลดลง เช่น กรณีของ ทีโอที.ที่เป็นคู่สัญญากับเอไอเอส. เดิมเอไอเอส จะต้องจ่ายค่าสัมปทานโครงข่ายให้ทีโอที.ปีละ 20% ของรายได้หรือประมาณ 18,000 ล้านบาท แต่หากเป็นใบอนุญาต เอไอเอสจะมีค่าใช้จ่ายที่ส่งเข้ารัฐผ่าน กทช.เพียง 12.5% ซึ่งทีโอที.ที่เป็นเจ้าของโครงข่ายจะไม่ได้รับผลประโยชน์ แต่ในอีก 5 ปีข้างหน้าเมื่อหมดสัญญาสัมปทานแล้วรัฐเกรงว่า ทีโอที.จะไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะแข่งขันกับเอกชน ก็ควรจะส่งบอร์ด หรือผู้เชี่ยวชาญมาฝึกอบรมให้กับพนักงานทีโอที.เพื่อพัฒนาศักยภาพให้แข่งขัน ได้ เพราะเมื่อ พรบ.จัดสรรคลื่นความถี่ ออกมาบังคับใช้ คณะกรรมการ กสท.ก็จะเรียกคืนคลื่นความถี่มาจัดสรรใหม่ และเมื่อนั้น ทีโอที.ก็จะมีศักยภาพเพียงพอที่จะเข้าไปร่วมประมูลคลื่นความถี่แข่งขันกับ เอกชน ซึ่งหากปล่อยให้ทีโอที และกสท. เป็นเพียงผู้ให้เช่าใช้โครงข่ายก็จะหมดความสำคัญและขาดการพัฒนาบุคลากร

นาย พงศ์ฐิติ กล่าวว่า ขณะนี้สหภาพฯทีโอที กำลังเร่งรวบรวมข้อมูลตัวเลขความเสียหายจากกรณีการแปรสัญญาสัมปทานที่จะเกิด ขึ้นกับรัฐและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอย่างชัดเจน เพื่อประสานกับทางสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ (สรส.) เคลื่อนไหวคัดค้านเรื่องนี้ต่อไป

นอกจากนี้ สหภาพฯทีโอที. ได้ขอให้รัฐมนตรีไอซีที.เร่งแก้ไขปัญหาค่าเชื่อมโยงโครงข่าย (Access Charge) ซึ่งบริษัทเอกชนภายใต้สัมปทานของ บมจ.กสท. หยุดจ่ายค่าเชื่อมโยงโครงข่ายให้กับทีโอที. เนื่องจากเมื่อรวมความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการค้างจ่ายค่าเชื่อมโยงโครง ข่ายตามสัญญาจนถึงปัจจุบันมีมูลค่านับแสนล้านบาทแล้ว แต่ที่ผ่านมาผู้บริหารของทีโอที.ยังไม่ได้ยื่นดำเนินการฟ้องร้องเพื่อทวง เงินค้างจ่ายดังกล่าวจากเอกชนแต่อย่างใด

(ครอบครัวข่าว, 23-7-2553)

ก.แรงงาน “ออกสตาร์ท” ชุดปฏิบัติการปราบปรามแก๊งค์หลอกลวงผู้หางาน

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวในโครงการ "คลายทุกข์ สร้างสุข" ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานีว่า มีความห่วงใยคนหางานที่เดินทางไปทำงานในต่างประเทศ โดยเฉพาะชาวอุดรธานีที่นิยมไปทำงานในต่างประเทศมากที่สุด ไม่อยากเห็นคนหางานที่จะไปทำงานต่างประเทศถูกหลอกลวง ถูกเอารัดเอาเปรียบ เสียค่าบริการและค่าใช้จ่ายสูง จึงมีนโยบายลดค่าบริการและค่าใช้จ่ายคนหางานที่ไปทำงานในต่างประเทศ ดังนี้

1) หาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำในการขอสินเชื่อไปทำงานต่างประเทศ 2) ปรับปรุงศูนย์ทะเบียนคนหางาน เพื่อให้นายจ้างหรือบริษัทจัดหางานมาคัดรายชื่อคนหางาน เพื่อลดบทบาทของสาย/นายหน้าจัดหางาน 3) หาตลาดแรงงานในต่างประเทศ เพื่อเพิ่มการจัดส่งโดยรัฐ ในลักษณะการจัดส่งแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) และรัฐต่อเอกชน (G to P) และ 4) เสนอให้มีปฏิญญาสากลห้ามซื้อขายตำแหน่งงาน โดยให้ถือว่าการซื้อขายตำแหน่งงานเป็นการค้ามนุษย์

นายยวิเชียร ปิยะวรากร ปลัดจังหวัดรักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า จังหวัดอุดรธานีมีคนงานไทยไปทำงานต่างประเทศมากที่สุด เป็นการเดินทางไปทำงานโดยการจัดส่งของบริษัทจัดหางาน และกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ซึ่งนำรายได้เข้าสู่จังหวัดในแต่ละปีเป็นจำนวนกว่าสี่พันล้านบาท มีบริษัทจัดหางานที่จดทะเบียนมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในจังหวัดอุดรธานี จำนวนกว่า 19 แห่ง มีบริษัทจัดหางานจากจังหวัดอื่นที่ได้รับอนุญาตให้มาตั้งรับสมัครคนงานเป็นการชั่วคราว จำนวน 3 แห่ง โครงการ “คลายทุกข์ สร้างสุข” ของกระทรวงแรงงานครั้งนี้ ถือเป็นการสร้างแนวร่วมของส่วนราชการในการร่วมมือแก้ไขปัญหาในระดับอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน กระตุ้นให้คนหางานหันมาใช้บริการของรัฐ โดยไม่พึ่งพาสาย/นายหน้าเถื่อน

นายเฉลิมชัยฯ กล่าวว่า โครงสร้างปัจจุบัน คนหางานที่จะไปทำงานในต่างประเทศจะถูกชักชวน โดยสาย/นายหน้าเถื่อน ทำให้มีค่าบริการและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานสูง กระทรวงแรงงาน จึงจัดเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการปราบปรามผู้มีพฤติการณ์หลอกลวง ฉ้อฉลคนหางานขึ้น จำนวน 80 คน ซึ่งจะมาร่วมปฏิบัติภารกิจในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี เพื่อติดตามผลคดีและสืบเสาะพฤติกรรมของสาย/นายหน้าเถื่อน ที่มีส่วนทำให้มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเกินกว่าที่รัฐมนตรีกำหนด ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย และรวบรวมพยานหลักฐานต่าง ๆ เพื่อดำเนินคดีต่อไป

(ฐานเศรษฐกิจ, 23-7-2553)

จับนายหน้าจัดหางานเถื่อน หนีหมายจับ 25 คดี

เมื่อวันที่ 24 ก.ค.นายศุภกิจ บุญญฤทธิพงษ์ ผวจ.ลำปาง พล.ต.ต.อรรถกิจ กรณ์ทอง ผบก.ภว.จ.ลำปาง ร่วมแถลงข่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เสริมงาม จ.ลำปาง พ.ต.อ.สุวัฒน์ สิทธิพรม ผกก.สภ.เสริมงาม พ.ต.ท.จาร์บุตร วิชาเรือง สว.สส. จับกุมนางพจนีย์ หรือเจ๊แมว สินชัย อายุ 55 ปี อยู่บ้านเลขที่ 9 ถ.พระเจ้าทันใจ อ.เมือง จ.ลำปาง ในข้อจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาติ และหลอกลวงฉ้อโกงทรัพย์

ก่อนจับกุม นางพจนีย์ หรือ เจ้แมว สินชัย ได้เปิดบริษัท พจนีย์ อินเตอร์ จำกัด จดทะเบียนเกี่ยวกับธุรกิจขายตั๋วเครื่องบินไปต่างประเทศ แต่ไม่ได้ขออนุญาติจัดหางานโดยถูกต้องตามกฎหมาย แต่มีพฤติกรรมจัดหางานที่ชาวบ้านต้องการไปทำงานที่ต่างประเทศ พร้อมเรียกเก็บเงินรายละ 320,000 บาท หากรายใดไม่มีเงินสดก็จะให้ชาวบ้านนำโฉนดที่ดินโดยมีนายวิทวัส วัฒนธรรม เป็นผู้ช่วยดำเนินการ แต่อัยการส่งไม่ฟ้อง

นายศุภกิจ บุญญฤทธิพงษ์ ผวจ.ลำปาง กล่าวว่า คดีนี้รวมถึงผู้ต้องหามีหมายจับในคดีแรงงานถึง 25 คดี ถือเป็นคดีที่มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน บางคนถึงกับล้มละลายที่กู้หนี้ยืมสินมา แต่ไม่มีโอกาสได้ไปทำงานใช้หนี้จนถูกยึดในที่สุด บางรายถึงเก็บฆ่าตัวตายมาแล้ว

ผวจ.ลำปาง กล่าวว่า ตามรายงาน นางพจนีย์ ได้ติดต่อชักชวนให้ชาวบ้านในเขต อ.เสริมงาม ไปทำงานที่ต่างประเทศมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 มาแล้ว แต่ละรายชาวบ้านต้องจ่ายเงินค่านายหน้าไปเป็นจำนวนมาก แต่ทุกรายไม่ได้เดินทาง และนอกจากนั้นยังตรวจพบว่า หมายจับจาก สภ.ในสังกัดของตำรวจภูธรลำปางพบว่า มีหมายจับถึง 25 หมาย ซึ่งผู้เสียหายทั้งหมดได้รวมตัวไปร้องเรียนกับสำนักงานจัดหางานลำปาง และเจ้าหน้าที่ตำรวจเอาไว้แล้ว และผู้ต้องหาได้หลบหนีไป จนกระทั่งเมื่อวันที่ 23 ก.ค.ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เสริมงาม จ.ลำปาง สืบทราบมาว่า นางพจนีย์เดินทางมาที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อมาเป็นกำลังใจให้กับบุตรสาว ที่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร จึงควบคุมตัวมาดำเนินคดีดังกล่าว.

(ไทยรัฐ, 24-7-2553)

จับนายหน้าล่อลวงสาวไทยไปค้ากามต่างแดน

ตร.ปราบปรามค้ามนุษย์จับกุมสาวใหญ่ วัย 40 ชาวนครพนม ฐานร่วมแก๊งล่อลวงสาวไทยไปค้ากามต่างแดน โดยหลอกว่าถ้าจ่ายค่านายหน้า 300,000 บาท จะช่วยพาไปทำงานนวดแผนโบราณที่ประเทศเกาหลีใต้ โกยรายได้สูงถึงเดือนละ 70,000 บาท แต่เมื่อเหยื่อหลวมตัวหลงกลยอมเสียเงินเสียทองเดินทางไปแดนโสมขาวจริงๆ ปรากฏว่าโดนยึดพาสปอร์ตและล็อกตัวไปขังไว้ในห้องติดลูกกรงเหล็กในร้านนวดเมืองอันซัน บังคับให้ค้าประเวณีทั้งวันทั้งคืน ถ้าไม่ยอมก็ถูกลูกค้าปลุกปล้ำขืนใจ

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 23 ก.ค. นาย อิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) พล.ต.ต.ชัยวัฒน์ เกตุวรชัย ผบก.ปดส. ร่วมแถลงข่าวจับกุมนางมลิจันทร์ อินทา อายุ 40 ปี อยู่บ้านเลขที่ 95 หมู่ 17 ต.คำเตย อ.เมือง จ.นครพนม ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่ 1962/2553 ข้อหาร่วมกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปทำการค้ามนุษย์ แสวงหาผลประโยชน์จากการค้าประเวณี เป็นธุระจัดหาล่อไป หรือชักพาไปซึ่งบุคคลใดเพื่อการค้าประเวณี โดยใช้อุบายหลอกลวง ใช้กำลังประทุษร้าย และหน่วงเหนี่ยว กักขังผู้อื่น

การจับกุมครั้งนี้สืบเนื่องจากมีผู้เสียหายเข้าแจ้งความที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ (บก.ปคม.) ว่า ถูกนาง มลิจันทร์กับพวก หลอกให้ไปทำงานนวดแผนโบราณที่ประเทศเกาหลีใต้ ล่อลวงว่ามีรายได้สูงถึงเดือนละ 50,000-70,000 บาท ทำให้ผู้เสียหายสนใจ และยังชักชวนเพื่อนอีก 2 คน ร่วมเดินทางไปด้วย ทั้งหมดต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางคนละ 300,000 บาท แต่เมื่อไปถึงปรากฏว่ามีชายชาวเกาหลีใต้ มารับตัวไปทำงานที่ร้านนวดแห่งหนึ่งของนางซี จาง นิม ตั้งอยู่ที่เมืองอันซัน พร้อมกับยึดหนังสือเดินทาง และนำตัวไปกักขังไว้ในห้องพักที่มีลูกกรงเหล็กป้องกันการหลบหนี ก่อนโดนบังคับให้ค้าประเวณี

นอกจากนี้ ผู้เสียหายยังให้การอีกว่าระหว่างนั้นต้องถูกบังคับให้ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ได้พักผ่อน ทั้งยังต้องให้บริการลูกค้าที่เมาสุราและพยายามจะข่มขืน หลังจากทนทำงานอยู่ได้ประมาณ 1 เดือน จึงหลบหนีออกมาได้ เมื่อกลับมาประเทศไทยจึงเข้าแจ้งความ กระทั่งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการจับกุมดังกล่าว

จากการสอบสวนเบื้องต้น นางมลิจันทร์ให้การปฏิเสธ โดยอ้างว่าเมื่อประมาณ 9 ปีที่แล้ว เคยเดินทางไปทำงานที่โรงงานผลิตแก้วแห่งหนึ่งในประเทศเกาหลีใต้ หลังเศรษฐกิจเริ่มซบเซา รายได้ไม่ดี ตนตัดสินใจกลับมาทำสวนยางพาราที่ จ.นครพนม กรณีที่เกิดขึ้นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและไม่เคยเรียกรับเงินจากผู้เสียหาย มีแต่ผู้เสียหายมาปรึกษาว่าจะไปทำงานเกาหลีใต้ต้องทำอย่างไรบ้าง เพราะเห็นว่าตนมีประสบ การณ์ไปทำงานที่นั่นมาแล้ว และไม่ทราบสาเหตุที่ถูกแจ้งความดำเนินคดีในครั้งนี้

(ข่าวสด, 24-7-2553)

แรงงานกัมพูชาแห่พิสูจน์สัญชาติที่สงขลากว่า 700 คน

เมื่อวันที่ 24 ก.ค. ที่ผ่านมาซึ่งเป็นวันแรกของการพิสูจน์สัญชาติชาวกัมพูชา ที่บริเวณสำนักงานจัดหางานจังหวัดสงขลา ศาลากลางจังหวัดสงขลาหลังเก่า อ.เมือง จ.สงขลา เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองและแรงงาน หน่วยงานพิสูจน์สัญชาติจากกัมพูชาได้เดินทางมาทำการพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชาที่ลักลอบเดินทางเข้ามาทำงานในจังหวัดสงขลา จำนวนประมาณ 3 พันคน โดยมาประกอบอาชีพลูกเรือประมง และธุรกิจต่อเนื่องประมง สวนยางพาราและงานก่อสร้าง

สำหรับวันนี้เป็นวันแรกมีนายจ้างนำแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชามาทำการพิสูจน์สัญชาติกัมพูชา จำนวนกว่า 700 คน โดยนำเอกสารใบ ทร.31/1 ใบทะเบียนประวัติในการขึ้นทะเบียนของแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายมาให้กับเจ้าหน้าที่หน่วยงานพิสูจน์สัญชาติจากกัมพูชา หลังจากที่มีการพิสูจน์สัญชาติผ่านแล้ว ก็จะออกใบพาสปอร์ตชั่วคราวให้โดยจะออกให้ครั้งแรก 2 ปี ก่อน ครั้งต่อไปก็จะต่ออายุให้อีก 2 ปี โดยไปต่ออายุที่หน่วยงานพิสูจน์สัญชาติของกัมพูชาที่ลงมาที่จังหวัดนั้นๆ หรือจะไปต่อที่กรุงเทพมหานครก็ได้ โดยการต่ออายุเจ้าตัวไม่ต้องไปเอง โดยฝากรวมกันไปก็ได้

สำหรับค่าธรรมเนียมในการพิสูจน์สัญชาติกัมพูชาและออกใบพาสปอร์ตชั่วคราว คนละ 1,500 บาท ค่าต่ออายุครั้งละ 570 บาท ในการพิสูจน์สัญชาติชาวกัมพูชาในจังหวัดสงขลาครั้งนี้ ระหว่างวันที่ 24 – 27 กรกฎาคม 2553 คาดว่าจะมีแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชาทั้งหมดกว่า 3 พันคน มาทำการพิสูจน์สัญชาติกัมพูชาเพื่อให้เป็นแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย และสามารถทำงานอยู่ในประเทศไทยได้โดยไม่ถูกจับกุม ส่วนนายจ้างก็จะสามารถจ้างแรงงานต่างด้าวกัมพูชาได้โดยไม่ต้องกังวล และทางราชการเองก็จะสามารถดูแลแรงงานต่างด้าวที่ถูกต้องตามกฎหมายได้

(เสียงใต้รายวัน, 25-7-2553)

สปส.เตรียมความพร้อมอาสาสมัครภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อนเปิดรับสมัครมาตรา 40

สำนักงานประกันสังคม เตรียมความพร้อมก่อนเปิดรับสมัครมาตรา 40 ขยายความคุ้มครองประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบ โดยจัดการประชุมชี้แจงประชาชนกลุ่มอาชีพต่างๆ อาสาสมัครแรงงาน องค์การบริหารส่วนจังหวัด/ตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นักจัดรายการวิทยุ และเจ้าหน้าที่ประกันสังคม เพื่อสร้างเครือข่ายในการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจสิทธิประโยชน์และเงื่อนไขการให้ความคุ้มครองประกันสังคมมาตรา 40 ไปสู่ประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

โดยสำนักงานประกันสังคม ได้เร่งผลักดันให้มีการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม 2533 ให้ได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นเป็น 5 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือบาดเจ็บ(การรักษาพยาบาลสามารถใช้สิทธิบัตรทองได้เช่นเดิม) ซึ่งทางสำนักงานประกันสังคมจะจ่ายเงินทดแทนขาดรายได้เมื่อผู้ประกันตน ต้องนอนพักที่โรงพยาบาลตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป ปีละไม่เกิน 2 ครั้งๆ ละ 1,000 บาท กรณีคลอดบุตร (การคลอดบุตรสามารถใช้บัตรทองได้เช่นเดิม) แต่สำนักงานประกันสังคมจะจ่ายเงินทดแทน การคลอดบุตรให้คนละไม่เกิน 1 ครั้ง จำนวน 3,000 บาท กรณีทุพพลภาพ (การรักษาพยาบาลกรณีทุพพบภาพสามารถใช้สิทธิบัตรทอง ได้เช่นเดิม) แต่สำนักงานประกันสังคมจะให้เงินทดแทน การทุพพลภาพ 15 ปี โดยจ่ายเป็นรายเดือนๆ ละ 1,000 บาท กรณีตาย สำนักงานประกันสังคมจะให้เงินค่าทำศพ แก่ผู้จัดการศพ จำนวน 30,000 บาท และกรณีชราภาพ สำนักงานประกันสังคมจะให้เงินบำเหน็จชราภาพที่ตนเองสะสมเดือนละ 100 บาท พร้อมกับเงินดอกผลคืนทั้งหมดเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน ทั้งนี้เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนทั่วไปที่ประกอบอาชีพอิสระสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 มากขึ้น

ทั้งนี้ ข้อมูลที่ได้รับจากการแสดงความคิดเห็นข้อเสนอแนะภายในงานประชุมครั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมจะนำไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไขต่อไป เพื่อให้กลุ่มแรงงานนอกระบบได้รับการคุ้มครองประกันสังคมเพิ่มเติมมากขึ้นอย่างเหมาะสมที่สุด

(บ้านเมือง, 25-7-2553)

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท