Skip to main content
sharethis

บรรณาธิการสื่อแห่งหนึ่งในพม่าเผยทางการพม่าควบคุมการนำเสนอข่าว "วันวีรชน" และคณะกรรมการเซ็นเซอร์ตรวจเนื้อหาที่จะนำเสนออย่างกวดขัน ไม่สามารถใช้ภาพ "นายพลออง ซาน" เป็นหน้าปกได้ สามารถรายงานได้เฉพาะ "พิธีการ" ขณะที่เนื้อหาเกี่ยวกับ "วันวีรชน" ถูกตัดทิ้งบางส่วน


สมาชิกพรรคประชาธิปไตยพม่า รอเข้าร่วมพิธี "วันวีรชน" อยู่ที่ฐานเจดีย์ชเวดากองด้านทิศเหนือ
ซึ่งใกล้กับสุสานวีรชน ถนนอาซานี เมื่อ 19 ก.ค. ที่ผ่านมา
(ที่มาของภาพ: มิซซิมา)

วานนี้ (22 ก.ค.) องค์กรพันธมิตรสื่อในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ซีป้า (SEAPA) มีรายงานเพื่อแจ้งเตือนสื่อมวลชนทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า ทางการพม่าเซ็นเซอร์สื่ออย่างเข้มงวดในช่วง "วันวีรชน" ที่ผ่านมา

โดยซีป้า อ้างรายงานข่าวจาก "มิซซิมา" (Mizzima) สื่อพม่าซึ่งมีที่ตั้งนอกประเทศพม่า รายงานโดยอ้างคำพูดของบรรณาธิการสื่อฉบับหนึ่งในพม่าซึ่งเปิดเผยว่ามีเพียงนิตยสาร 10 ฉบับเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตจากทางการพม่าให้เข้าร่วมพิธีรำลึกวันอาซานี หรือวันวีรชน ขณะที่มีการเซ็นเซอร์สื่อที่จะนำเสนอเรื่องนี้ด้วย

มีผู้สื่อข่าวของสื่อต่างประเทศและภายในประเทศจำนวน 50 คนเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้รายงานข่าวพิธีรำลึกวันวีรชนที่สุสานวีรชน ถ.อาซานี ใกล้กับฐานเจดีย์ชเวดากอง ในนครย่างกุ้ง สหภาพพม่า บรรณาธิการผู้นี้ยังเปิดเผยด้วยว่า คณะกรรมการพัฒนาเมืองอนุญาตให้ผู้สื่อข่าวจากนิตยสาร 10 ฉบับรายงานข่าวนี้

"เราไม่สามารถเข้าไปในสุสานวีรชนเพื่อรายงานข่าว แต่เราสามารถสัมภาษณ์บรรดาสมาชิกพรรคการเมืองก่อนที่พวกเขาจะเข้าไปในพื้นที่หวงห้ามนั้น เราไม่สามารถเข้าไปในสุสานวีรชนได้แต่เราสามารถถ่ายภาพสมาชิกพรรคการเมืองก่อนที่พวกเขาจะเข้าไปที่นั่น" บรรณาธิการนิตยสารรายสัปดาห์ฉบับหนึ่งซึ่งไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปทำข่าว กล่าวกับ "มิซซิมา"

อย่างไรก็ตาม สื่อที่ไม่ได้รับอนุญาตให้รายงานข่าวก็ต้องรอรับการตรวจเซ็นเซอร์เรื่องที่จะนำเสนอซึ่งเกี่ยวข้องกับวันวีรชนด้วย

จากข้อมูลของบรรณาธิการข่าวแห่งหนึ่ง ระบุว่า คณะกรรมการเซ็นเซอร์ได้ทำการเซ็นเซอร์ข่าวและบทความทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับวันวีรชน ไม่อนุญาตให้แสดงภาพนายพลอองซานที่หน้าปก ทั้งนี้นายพลอองซานได้รับความนับถือในฐานะบิดาเอกราชของพม่า ซึ่งถูกลอบสังหารในวันที่ 19 ก.ค. ปี 2490 พร้อมกับรัฐมนตรีหลายคน

"เราไม่สามารถเขียน 'วันวีรชนที่ถูกลืม' หรืออะไรที่ใกล้เคียงแบบนี้ เรารายงานได้แต่พิธีวันวีรชน และไม่สามารถตีพิมพ์บทความและรายงานที่หน้าปกได้" บรรณาธิการผู้นี้อธิบาย

นิตยสาร "นิวสไตล์" ตั้งใจว่าเดือนนี้จะตีพิมพ์สกู๊ปพิเศษจำนวน 200 หน้าสำหรับวันวีรชน แต่มีอยู่ 70 หน้า ที่คณะกรรมการเซ็นเซอร์ไม่อนุญาตให้เผยแพร่ ซึ่งทำให้การตีพิมพ์นิตยสารฉบับเดือนนี้ซึ่งมีเนื้อหาลดทอนลงต้องล่าช้า

"เราพยายามที่จะรำลึกถึงวันวีรชนซึ่งถูกลืม เราตีพิมพ์นิตยสารในเดือนนี้ให้เป็นเรื่องพิเศษเนื้อหาหลักเกี่ยวข้องกับเรื่องวันวีรชน แต่คณะกรรมการเซ็นเซอร์ตัดส่วนนี้ทิ้งอย่างน้อย 7-8 เรื่อง" เขากล่าวกับ "มิซซิมา"

"เราไม่มีความสุขกับพวกเขาที่ห้ามพวกเราทำงานที่ควรทำ" เขากล่าว

นอกจากนี้ นิตยสาร "เดอะ วอยซ์" ฉบับ 16 ก.ค. สามารถตีพิมพ์ข่าวเกี่ยวกับวันวีรชน โดยพาดหัวว่า "พรรคการเมืองได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมพิธีวันวีรชน"

ทั้งนี้หลังเหตุการณ์ลอบสังหารนายพลออง ซาน และบรรดารัฐมนตรี คู่อริของเขาคือ อู ซอว์ และผู้ติดตามของเขา ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ลอบสังหารบุคคล 9 คนดังกล่าว สำหรับผู้ถูกลอบสังหารในวันนั้นประกอบด้วย นายพลออง ซาน ตะขิ่นมยะ มันบะข่าย เจ้าจ่ามทุน อูราซัค อูบะจ่อ อูบะวิน อูโอนหม่อง และโกทะเว

มีรายงานด้วยว่าออง ซาน ซูจี ลูกสาวของนายพลออง ซาน ไม่สามารถเข้าร่วมพิธีวันวีรชนได้เนื่องจากยังต้องโทษถูกกักบริเวณ

 

แปลจาก
Junta media watchdog tightens censorship around Martyrs' Day, Mizzima, 21 July 2010,
http://www.mizzima.com/news/inside-burma/4132-junta-media-watchdog-tightens-censorship-around-martyrs-day.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net