Skip to main content
sharethis

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ร่วมองค์กรเครือข่ายด้านสิทธิเเรงงาน เเละสิทธิมนุษยชน ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯ จี้ตรวจสอบกรณีข่าวกองกำลังกะเหรียง DKBA ละเมิดสิทธิเเรงงานข้ามชาติที่ถูกผลักดันออกจากประเทศไทย 

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2553 เวลา 10.30 น. มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เเละคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เเละองค์กรเครือข่ายด้านสิทธิเเรงงาน เเละสิทธิมนุษยชน ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เรื่อง "จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้ตรวจสอบข้อกล่าวอ้างว่าเเรงงานข้ามชาติที่ถูกผลักดันออกจาก ประเทศไทย ต้องเผชิญกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากกองกำลังกะเหรียง DKBA" ต่อนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอให้ตรวจสอบข้อกล่าวอ้างว่า กองกำลังกะเหรียง DKBA ละเมิดสิทธิเเรงงานข้ามชาติที่ถูกผลักดันออกจากประเทศไทยบริเวณเเนวชายแดนไทย-พม่า เนื้อหาของจดหมายเปิดผนึก มีดังนี้

จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้ตรวจสอบข้อกล่าวอ้างว่าเเรงงานข้ามชาติที่ถูกผลักดันออกจากประเทศไทย ต้องเผชิญกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากกองกำลังกะเหรียง DKBA

ด่วนที่สุด
๑๙ กรกฎาคม ๒๕๕๓

เรื่อง ขอให้ตรวจสอบข้อกล่าวอ้างว่าเเรงงานข้ามชาติที่ถูกผลักดันออกจากประเทศไทยต้องเผชิญกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากกองกำลังกะเหรียง DKBA

กราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
สิ่งที่ส่งมาด้วย
๑. บทรายงานข่าว สำนักข่าว อัล จาซีรา วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๓ เรื่อง "เเรงงานพม่าในวังวนหายนะ ("Migrants Caught in Vicious Cycle")
๒.บทรายงานหนังสือพิมพ์ The Nation ฉบับวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๓ หน้า ๑๕ เรื่อง "โกงเเรงงานผิดกฎหมาย: การกวาดล้างหนุนสินบนชายเเดน" ("Illegal Labour Scam: Crackdown Boosts Border Rackets,")
๓. บทรายงานหนังสือพิมพ์อิรวดี ฉบับวันที่๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๓, เรื่อง "กองกำลังกะเหรี่ยงพุทธทำกำไร จากการกวาดล้างเเรงงานข้ามชาติในประเทศไทย," (DKBA Profits from Migrant Worker Crackdown in Thailand,)
๔. รายงานขององค์กรฮิวแมนไรท์วอช ( Human Right Watch ) เรื่อง "ความทุกข์ของเเรงงานข้ามชาติระหว่างถูกส่งตัวกลับที่ชายเเดนไทย-พม่า" ( "Extortion During Deportation at the Thai-Burma Border"), กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ จากเรื่อง The Tiger to the Crocodile, หน้า ๖๙ เป็นต้นไป

เมื่อไม่นานมานี้ บรรดาสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศ และองค์กรฮิวเเมนไรท์วอช (Human Rights Watch) ได้ออกรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์แรงงานข้ามชาติที่มาจากประเทศพม่า ลาว และกัมพูชา ที่มีอยู่กว่า ๒ ล้านคนในประเทศไทย โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติที่มิได้ยื่นคำขอพิสูจน์สัญชาติภายในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ ตามที่รัฐบาลกำหนด ได้ถูกกวาดจับเเละผลักดันกลับไปประเทศพม่าผ่านจุดผ่านแดนในจังหวัดตาก โดยอ้างว่าแรงงานที่ถูกส่งกลับต้องเผชิญกับการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงในประเทศพม่าโดยกองกำลังกะเหรี่ยง DKBA

รายงานดังกล่าวข้างต้นระบุว่า เมื่อแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า (ซึ่งมีจำนวนถึงร้อยละ ๘๐ ของเเรงงานข้ามชาติทั้งหมดในประเทศ) ถูกผลักดันออกจากประเทศไทย ทางอำเภอเเม่สอด จังหวัดตาก แรงงานเหล่านั้นมักจะถูกผลักดันออกไปโดยผ่านด่านต่างๆตามแนวชายแดนจังหวัดตาก-อำเภอเมียวดีในฝั่งพม่า ในพื้นที่ที่ควบคุมโดยกองกำลังกะเหรี่ยง DKBA แรงงานที่ถูกผลักดันเล่าว่า เมื่อเข้าไปในฝั่งพม่า พวกเขาจะถูกควบคุมตัวและถูกบังคับให้นำเงินจำนวนมากมาเสียค่าไถ่เพื่อที่จะแลกกับการปล่อยตัว มีแรงงานจำนวนมากจะถูกส่งต่อไปยังนายหน้าที่จะจัดการให้พวกเขาได้กลับเข้าประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง ไม่ว่าจะในฐานะแรงงานที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย หรือในฐานะแรงงานที่ถือหนังสือเดินทางชั่วคราวที่ทางการพม่าออกให้ตามบันทึกความเข้าใจ (MoU) ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลพม่า ที่เพิ่งมีการนำมาใช้อย่างจริงจังในเมื่อเร็วๆ นี้

จากการให้ปากคำแก่ผู้สื่อข่าว แรงงานหลายคนระบุว่า กองกำลังกะเหรี่ยง DKBA ได้ทำการขู่เข็ญทำร้ายพวกเขา บางครั้งมีการซ้อม-ทรมาน และกระทำการอันทารุณโหดร้ายผิดมนุษยธรรมเเละย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อบังคับให้พวกเขาจ่ายเงิน แรงงานบางคนต้องถูกบังคับใช้แรงงาน จนกว่าจะหาเงินมาชำระค่าไถ่ให้แก่กองกำลังดังกล่าวได้ ยิ่งไปกว่านั้นยังมีรายงานว่าแรงงานหญิงบางคนถูกส่งให้นายหน้าและถูกขายเข้าสู่การค้ามนุษย์เพื่อให้บริการทางเพศ ในขณะที่เเรงงานชายบางคนถูกบังคับให้เป็นลูกหาบของกองกำลังทหาร ส่วนพวกเด็กๆ ก็ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบต่างๆ เช่นเดียวกับผู้ใหญ่

การที่เจ้าหน้าที่ของทางราชการได้ผลักดันแรงงานข้ามชาติออกนอกประเทศให้ตกไปอยู่ในการควบคุมของกองกำลังกะเหรี่ยง DKBA และมีผลทำให้ผู้ที่ถูกผลักดันต้องตกอยู่ในชะตากรรมอันเลวร้ายเช่นนี้ ย่อมทำให้เจ้าหน้าที่ของไทยที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองบางคนที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการส่งตัวแรงงานข้ามชาติกลับประเทศพม่าในพื้นที่อำเภอแม่สอด ตกอยู่ในฐานะเป็นผู้มีส่วนร่วมหรือรู้เห็นเป็นใจกับการกระทำละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าวของกองกำลังกะเหรี่ยง DKBA

การที่เมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๕๓ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้ออกคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ ๑๒๕/๒๕๕๓ เรื่อง การจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจปราบปราม จับกุม เเละดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวลักลอบทำงาน ซึ่งจะตามมาด้วยการกวาดจับและส่งแรงงานข้ามชาติกลับประเทศพม่าอย่างขนานใหญ่ อาจส่งผลให้สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในลักษณะดังกล่าวข้างต้นเลวร้ายยิ่งขึ้น

ที่ผ่านมานโยบายของรัฐบาลในการกวาดจับแรงงานข้ามชาติที่ “ผิดกฎหมาย” และผลักดันส่งกลับออกไปนอกประเทศ นอกจากไม่สามารถลดการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายของแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านได้แล้ว ยังมีผลทำให้แรงงานข้ามชาติซึ่งเป็นกำลังแรงงานที่จำเป็นสำหรับการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายเเรงอีกด้วย ทั้งโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เเละนายจ้าง แรงงานที่หลบเลี่ยงการจับกุมหลายรายต้องเสียชีวิตไปเพราะอุบัติเหตุ หรือจากการกระทำที่เกินเลยของเจ้าหน้าที่บางคน การกวาดล้างจับกุมยิ่งเป็นการผลักดันให้แรงงานจำต้องตกอยู่ในอำนาจครอบงำของนายจ้างและนายหน้าค้ามนุษย์ หรือไม่ก็ต้องตกเป็นเหยื่อการทุจริตคอร์รัปชั่นที่ทำกันอย่างเป็นระบบของเจ้าหน้าที่บางคน ซึ่งมักเกิดขึ้นในทุกขั้นตอนของการจับกุมและการผลักดันออกนอกประเทศ

สาเหตุสำคัญประการหนึ่งของปัญหาก็คือ กระบวนการพิสูจน์สัญชาติเเรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า ที่ดำเนินการโดยรัฐบาลของ ฯพณฯ และรัฐบาลพม่าไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร มีแรงงานจำนวนนับแสนคนต้องตกหล่นจากกระบวนการดังกล่าว กลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย ต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ เพื่อมิให้ถูกจับกุมเเละไม่ให้ถูกผลักดันออกนอกประเทศ เเรงงานเหล่านี้ต้องตกอยู่ในสภาพที่ไม่อาจได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมายและไม่ได้รับการปกป้องจากเจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อเกิดปัญหาหรือเป็นเหยื่อของอาชญากรรม ก็ไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้ ต้องเป็นเหยื่อของการขูดรีดเอารัดเอาเปรียบที่ทำกันอย่างเป็นระบบโดยนายจ้างเเละเจ้าหน้าที่บางคน ส่งผลให้เเรงงานถูกเเบ่งเเยกจากสังคมไทย ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ฐานะที่เป็นแรงงานที่ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน ทำให้พวกเขาและครอบครัวไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณะและปัจจัยพื้นฐาน เช่น การศึกษา เเละบริการด้านสาธารณสุข รวมทั้งถูกปฏิเสธสิทธิมนุษยชนพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญเเห่งราชอาณาจักรไทย เเละกฎหมายอื่นๆ ซึ่งเป็นสิทธิที่มนุษย์ทุกคนพึงได้รับอีกด้วย

จากสภาพปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดกับแรงงานข้ามชาติ ทั้งที่ถูกส่งกลับไปประเทศพม่า และที่ยังอยู่ในประเทศ ข้าพเจ้าจึงเรียนมายัง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้โปรดพิจารณานโยบายต่อแรงงานข้ามชาติ และการปฏิบัติ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติ ทั้งความจำเป็นที่ประเทศไทยยังคงต้องอาศัยแรงงานข้ามชาติซึ่งคิดเป็นจำนวนถึงร้อยละ ๕- ๑๐ ของเเรงงานทั้งหมด ซึ่งรัฐบาลจะต้องรับผิดชอบ ต่อปัญหาการขาดการเเคลนเเรงงาน ”ที่จดทะเบียนแรงงานเเล้ว” ที่กำลังเกิดขึ้น รวมทั้งปัญหาเเรงงานข้ามชาติจำนวนมากที่ไม่ได้ยื่นความจำนงในการพิสูจน์สัญชาติ กลายเป็นแรงงานที่ "ไม่จดทะเบียนแรงงาน" ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเนื่องจากความล้มเหลวของรัฐบาลในการประชาสัมพันธ์อย่างมีประสิทธิภาพในการสร้างความเข้าใจให้กับนายจ้างเเละเเรงงานข้ามชาติเกี่ยวกับการพิสูจน์สัญชาติ

นอกจากนั้น กระบวนการพิสูจน์สัญชาติและการจัดหา “แรงงานใหม่ๆ” จากประเทศเพื่อนบ้าน ตามบันทึกความเข้าใจ (MoU) ฉบับใหม่นั้น กระบวนการทั้งสองยังล่าช้า ซับซ้อน มีค่าใช้จ่ายสูง เเละไม่โปร่งใส นายจ้างที่ต้องการเเรงงาน “ถูกกฎหมาย” ต้องเสียเงินจำนวนไม่น้อย เพื่อให้ได้แรงงานที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติและเดินทางเข้าประเทศไทยอย่างถูกต้อง จึงมีผลทำให้นายจ้างหันไปจ้างแรงงานที่ไม่ถูกกฎหมายโดยการรู้เห็นเป็นใจของเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นบางคนที่ทุจริต

ในฐานะที่ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นประธานคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนเเห่งสหประชาชาติ จึงสมควรที่จะดำเนินการทุกวิถีทาง เพื่อปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนที่เป็นที่ยอมรับนับถือกันในสากล ปฏิบัติตามสนธิสัญญา และกลไกสิทธิมนุษยชนในระดับภูมิภาคที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี รัฐบาลพึงปฏิบัติตามคำมั่นที่ได้ให้ไว้ต่อนานาชาติในคราวที่สมัครเป็นประธานคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนเเห่งสหประชาชาติ โดยเฉพาะด้านการส่งเสริม คุ้มครองสิทธิของคนชายขอบ เช่น เเรงงานข้ามชาติ ทั้งยังควรปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของผู้รายงานพิเศษเเห่งองค์การสหประชาชาติด้านสิทธิเเรงงาน ที่เเถลงต่อสาธารณะเมื่อ วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ เเสดงความห่วงใยต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายเเรง ที่อาจเกิดจากการผลักดันเเรงงานข้ามชาติกลับประเทศพม่า เเละควรเชิญผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนของผู้อพยพมาเยือนประเทศไทยด้วย เพื่อหารือนโยบายแรงงานข้ามชาติดังกล่าวในช่วงเวลาที่จำเป็นยิ่งเช่นนี้

อนึ่ง มูลนิธิสิทธิมนุษยชนเพื่อการพัฒนา (มสพ.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เเละ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เเละผู้ลงนามข้างท้าย ใคร่ขอเสนอเเนะเพิ่มเติม เพื่อประกอบการพิจารณาดังนี้

๑. รัฐบาลควรตรวจสอบการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อเเรงงานข้ามชาติ ตามที่ปรากฏในจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ อย่างจริงจังและโปร่งใส และควรลงโทษหากมีเจ้าหน้าที่เเละบุคคลเกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าว ทั้งควรหยิบยกปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อแรงงานข้ามชาติที่ถูกส่งกลับประเทศพม่าขึ้นหารือกับรัฐบาลพม่าเพื่อให้มีการแก้ปัญหาอย่างจริงจังด้วย

๒. รัฐบาลควรยุติการผลักดันเเรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าออกนอกประเทศ จนกว่าจะมีการตรวจสอบข้อกล่าวอ้างว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าวให้ถ่องแท้เสียก่อน เเละควรดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อประกันว่าการส่งกลับเเรงงานข้ามชาติกลับประเทศพม่าในอนาคต จะเป็นไปด้วยความปลอดภัย

๓. รัฐบาลควรยกเลิกนโยบายกวาดจับแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ ๑๒๕/๒๕๕๓ พร้อมเปิดให้มีการจดทะเบียนเเรงงานข้ามชาติใหม่ เพื่อเปิดโอกาสให้เเรงงานข้ามชาติที่ยังมิได้จดทะเบียน และยังไม่ได้ยื่นความจำนงในการพิสูจน์สัญชาติ ซึ่งมีอยู่ประมาณ ๑-๑.๔ ล้านคนสามารถเป็นผู้ที่ทำงานได้อย่าง "ถูกต้องตามกฎหมาย" เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติต่อไป

จึงกราบเรียนมาเพื่อทราบ เเละโปรดพิจารณาดำเนินการโดยเร่งด่วน เพื่อรักษาชื่อเสียงอันดีของประเทศ เเละยืนยันว่าประเทศไทยเคารพหลักสิทธิมนุษยชนของบุคคลทุกคน ดังที่รัฐบาลได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ต่อนานาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนพื้นฐานของเเรงงานข้ามชาติ ชนกลุ่มน้อย เเละผู้ด้อยโอกาส

ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง

นายสาวิทย์ แก้วหวาน
(เลขาธิการ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์)

นายสมชาย หอมลออ
(เลขาธิการ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา)

นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย
(ประธาน คณะกรรมการ สมานฉันท์แรงงานไทย)

สำเนาถึง
๑) ประธานกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าว (กบร.)
๒) เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ
๓) ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๔) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
๕) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
๖) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
๗) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
๘) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
๙) ผู้บัญชาการ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
๑๐) ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา
๑๑) ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
๑๒) ประธานคณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

 

รายงานข่าว "เเรงงานพม่าในวังวนหายนะ ("Migrants Caught in Vicious Cycle") 
โดยสำนักข่าว อัล จาซีรา วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๓ (มีคำแปลภาษาไทย)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net