Skip to main content
sharethis

 

ท่ามกลางการเรียกร้องเพื่อขอเพิ่มสวัสดิการ ค่าจ้าง โบนัส ของคนทำงานนับตั้งแต่ปี 2539 ที่ทางบริษัทไทยคูณเปิดกิจการมา 14 ปี ซึ่งนายจ้างไม่เคยคิดที่จะจัดให้คนทำงานเลย ยังมีเสียงของความเจ็บปวดของคนทำงานอีกหลายสิบคนที่นิ้วขาด ตาบอด และมีบาดแผลที่เกิดจากเหล็กแทงทิ่มเข้าหางตา แขนขา ที่คอยบอกเล่าประสบการณ์การทำงานอย่างเจ็บปวดให้ผู้เข้าไปถามไถ่เยี่ยมเยือนฟัง

บริษัทไทยคูณ เวิลด์ไวด์ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2539 ทะเบียนเลขที่ 0107546000172 (เดิมเลขที่ 40854600018) ทุนจดทะเบียน 6,035,039,000.00 บาท นำเข้าตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2546 ที่ตั้งอยู่เลขที่ 99 หมู่ 1 ตำบล นิคมพัฒนา อำเภอนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง 21180 นายจ้างเป็นชาวไต้หวันกรรมการบริษัทฯ ผู้มีอำนาจในหนังสือรับรอง คือ 1.นายหวง เหวิน สง 2.นางลู เยน เจียน 3.นายหยาง โป๋ หลง 4.นายเจิน เตอ จีน 5.นายสุรพล ขวัญใจธัญญา 6.นายจิรวัฒน์ หวาง 7.นายพิพัฒน์ หวังพิชิต 8.นายหวง ปิ่น หลุน ประกอบกิจการจำหน่ายเหล็กลวด, เหล็กลวดอบอ่อน, สกรูและสลักเกลียว ส่งขายต่างประเทศเช่น จีน อินเดีย อเมริกา เวียดนามปากีสถาน ฯลฯ ขายในประเทศเช่น บริษัทไทยวา บริษัทเมอร์เจอไทยบริษัททาทา บริษัทโนวาเสตียล บริษัทโกเบ

มีพนักงานทั้งหมด 779 คน (รวมพนักงานไต้หวัน) และยังมีพนักงานที่เป็นซับคอนแทรกชาวไทยและกัมพูชารวม 413 คน มีการจ้างงานเป็นพนักงานรายวันขั้นต่ำ 178 บาทต่อวัน และรายเดือนค่าจ้างเฉลี่ยที่ 6,000 กว่าบาท ส่วนพนักงานที่เป็นซับคอนแทรกคนไทยและกัมพูชาได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 178 บาทต่อวันและสวัสดิการชุดทำงาน อุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากการทำงานบ้างแต่ไม่เท่าพนักงานประจำ

นายไพรัตน์ อนุอัน คนงานไทยคูณฯ เล่าถึงเหตุการณ์ที่ต้องเป็นคนพิการนิ้วขาดว่า ตนทำงานมานาน 10 ปีแล้ว รับค่าจ้างประมาณเดือนละ 8,600 บาท เนื่องจากค่าจ้างไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพ เพราะมีภาระครอบครัวต้องรับผิดชอบ ทำให้ต้องทำงานวันละ 16 ชั่วโมงทุกวันไม่เว้นวันหยุด คือทำงานตั้งแต่เวลา 24.00 -16.00 น. คนทำงานส่วนใหญ่ก็ต้องทำงานล่วงเวลากันทุกคน วันที่เกิดอุบัติเหตุเป็นช่วงกลางคืนเมื่อเดือนกันยายน 2552 เนื่องจากเครื่องจักรเสียและหยุดทำงาน จึงเข้าไปตรวจสอบเบื้องต้น ซึ่งจริงๆ ก็ทำเป็นปกติเพราะก็เคยเป็นอย่างนี้ตลอด เมื่อเข้าไปดู เครื่องจักรเกิดเลื่อนทำงานเลยหนีบนิ้ว เขาจึงรีบดึงมือออกแล้วไปหาเพื่อนเพื่อให้นำส่งโรงพยาบาล

“ไม่มีฝ่ายบุคคล ไม่มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย คือไม่มีผู้บริหารเพราะเป็นวันอาทิตย์ จึงขอให้รถบริษัทขับไปส่งโรงพยาบาล เขาพาไปโรงพยาบาลบ้านค่าย ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็กไม่มีอุปกรณ์ผ่าตัด หรือแพทย์ ก็ได้มีการทำใบส่งตัวไปโรงพยาบาลจังหวัดระยอง แต่คนขับรถไม่กล้าพาไปกลัวนายจ้างจะเอาผิด จึงพาผมกลับมาหอพักเพื่อนอนพัก วันต่อมาผมก็ไปโรงพยาบาลระยองเอง แพทย์ก็เย็บแผลให้บอกว่ากระดูกไม่เป็นอะไร แต่เมื่อกลับมาพักที่หอพัก ประมาณ 2-3 วัน นิ้วผมคล้ำดำเกือบเน่า ผมก็ไปที่บริษัทให้รถนำส่งโรงพยาบาลอีก แต่ไม่ได้รับอนุญาตผมเลยขับรถไปเอง ตอนนี้ก็กำลังประเมินความสูญเสียนิ้ว ทางกองทุนประเมินว่าสูญเสียประมาณ 3% ก็เห็นว่าเดือนกันยายนปีนี้จะได้เงินทดแทนค่าเสียนิ้ว"

นายพรโพธิ์เจริญ ศรีละเลิง คณะกรรมการความปลอดภัยฝ่ายลูกจ้างเล่าว่า ตนเองก็ได้รับบาดเจ็บจากการทำงานเหมือนกัน "เห็นที่หางตาผมไหม เป็นแผลเป็นเย็บไปหลายสิบเข็ม โดนเหล็กเส้นตะหวัดใส่เกือบโดนตา มีคนที่ตาบอดอีกราย ตอนนี้ไปพักฟื้นต่างจังหวัดเพิ่งโดนเมื่อไม่นาน ยังไม่ได้ประเมินความสูญเสียจากกองทุนเลย"

นายไพรัตน์เล่าต่ออีกว่า กรณีพี่หมูซึ่งตาบอดเขาทำงานไม่มีเวลาพักเลย ช่วงที่โดนเหล็กหักมาทิ่มตาบอดก็เป็นช่วงพักกินข้าว พี่หมูแกกินข้าวไปทำงานไป คือต้องวิ่งดูเครื่องทำงานตลอดเวลา เพราะเครื่องต้องทำงานหยุดไม่ได้ มีกฎระเบียบที่ใช้ประเมินการทำงานด้วยว่าหากเครื่องจักรตัวใดหยุดทำงานจะถูกตัดแต้มการปรับขึ้นค่าจ้างว่าขาดประสิทธิภาพ ไม่รับฟังคำสั่งหัวหน้างาน ทำให้คนงานส่วนใหญ่ไม่กล้าหยุดกินข้าวแม้ว่าจะเป็นเวลาพัก แกก็กินข้าวคำสุดท้ายพอดีเครื่องติดเหล็ก ก็เลยรีบไปดูเหล็กเป็นลวดขนาด 17 เมตร เกิดหักเลยตวัดเข้าที่ตาทำให้ตาบอด นายหมูก็เป็นอีกรายที่นิ้วขาดเหมือนกัน

นายพรโพธิ์เจริญเล่าว่า เดือนเมษายนที่ผ่านมามีคนที่ได้รับอุบัติเหตุประมาณ 10 กว่ารายภายในเดือนนั้น ซึ่งก็ถือว่าลดลง เพราะปกติมี 20-30 รายทีเดียว พอมีคนงานตาบอด นายจ้างก็จัดให้มีแว่นตา แต่ก็เป็นพลาสติกธรรมดา หากพูดถึงอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยตอนนี้ก็มี ถุงมือผ้าธรรมดา ที่ขายตามตลาดนัดคู่ละ 3 บาท กำหนดให้ใช้เดือนละไม่เกิน 13 คู่ แต่ละแผนกไม่เหมือนกัน เพราะบางแผนกก็ให้แค่ 3-4 คู่ต่อเดือน โดยคนงานต้องมีซากมาเปลี่ยนทุกครั้งต้องตรวจดูว่าสภาพขาดประมาณไหนประเมินก่อนถึงมีสิทธิเปลี่ยนให้ใหม่แต่ต้องไม่เกินกำหนด

เขาพูดถึงเครื่องแบบว่า บริษัทมีชุดทำงานให้ เป็นกางเกงผ้าโทเร เสื้อแขนยาว และเสื้อยืด ภายใต้การทำงาน 1100-700 องศา โดยประมาณรองเท้าหนังที่เย็บตะปูทะลุเพราะมีคนโดนมาแล้ว มีบางแผนกก็ได้รับหน้ากากอนามัย 3M แต่เนื่องจากมีไม่เพียงพอทางบริษัทมีนโยบายให้ใช้ร่วมกัน ผลัดกันใช้ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเมื่อไรบริษัทจะเปลี่ยนไส้กรอกหน้ากากให้ใหม่ นี่คือสวัสดิการด้านความปลอดภัย หากเพื่อนป่วยก็จะติดกันครบในแผนก นอกจากนี้ ปัญหาที่เกิดอุบัติเหตุคิดว่ามาจากแสงสว่างไม่เพียงพอด้วย เพราะเคยมีพนักงานตรวจแรงงานมาตรวจแล้วเสนอให้เพิ่มไฟให้สว่างแต่ทางบริษัทไม่ได้ดำเนินการ

นายชัชวาล สมเพชร ประธานสหภาพแรงงานไทยคูณแห่งประเทศไทย กล่าวว่าสภาพการทำงานของคนงาน ในส่วนของสวัสดิการตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 สิทธิในการลาป่วย นายจ้างกำหนดว่าลาได้แต่ต้องมีใบรับรองแพทย์ ส่วนห้องพยาบาลในโรงงานก็มีเตียงพยาบาลไม่เพียงพอ มีพยาบาลมาประจำเฉพาะวันและเวลาทำงานปกติ ไม่มีแพทย์ และยาสามัญประจำบ้านก็มีไม่เพียงพอ

ปัญหาหนักที่คนงานสะท้อนมากคือสภาพแวดล้อมในการทำงานไม่ดี มีกลิ่นเหม็นของสารเคมีที่ใช้ล้างสนิมและอากาศไม่ถ่ายเท และแสงสว่างไม่เพียงพอ อุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยไม่ได้มาตรฐาน มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยเช่น นิ้วมือขาด นิ้วเท้าขาด ตาบอด และมีข้อสงสัยว่าคงมีคนงานอาจป่วยเป็นโรคที่เกิดจากการทำงาน ซึ่งบริษัทฯ เองก็ไม่ดูแลเท่าที่ควร ซึ่งเดิมทำงานในวันหยุดจะได้ 3 เท่าบริษัทฯ ก็มายกเลิก พนักงานลืมตอกบัตรก็ถูกหักเงิน ส่วนการปรับค่าจ้างไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน และเลือกปฏิบัติซึ่งพนักงานบางคนไม่เคยได้ปรับขึ้นค่าจ้างเลย

จากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้พนักงานได้รวมตัวกันจัดตั้งสหภาพแรงงานเมื่อต้นปี 2552 เพราะบริษัทฯไม่เคยให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาให้กับพนักงาน ซึ่งตลอดเวลาที่ทำงานมาบริษัทฯ มีผลผลิตเพิ่มขึ้นตลอดและรายได้จากการขายก็เพิ่มขึ้น ยกเว้นปี 2552 ที่วิกฤตเศรษฐกิจเกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งเป็นผลให้บริษัทฯ ขยายโรงงานทุกปีเพิ่มเป็น 16 อาคาร ทำการผลิตครบวงจรและซื้อเครื่องจักรเข้ามาใหม่เป็นจำนวนมาก และซื้อสินค้ามากักไว้เวลาราคาถูก แต่บริษัทฯ จะอ้างว่าขาดทุนทุกปี

ต้นปี 2553 เป็นต้นมาบริษัทฯ มีงานเข้ามาเป็นจำนวนมาก พนักงานทุกคนก็ช่วยกันทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อต้องการให้ได้รับค่าจ้างและสวัสดิการเพิ่มขึ้น ทำให้สหภาพแรงงานฯ ต้องยื่นข้อเรียกร้องให้กับบริษัทฯ เพื่อปรับปรุงเกี่ยวกับสหภาพการจ้างของปี 2553

สหภาพแรงงานฯ ได้ยื่นข้อเรียกร้องให้กับบริษัทฯเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2553 ทั้งหมด 3 ข้อดังนี้ (1) ให้บริษัทฯ ปรับค่าจ้างประจำปีให้กับพนักงานทุกคน ทุกระดับในอัตรา 7% /คน ( 2) ให้บริษัทฯ จ่ายเงินโบนัสประจำปีให้กับพนักงานทุกคน ทุกระดับ ในอัตรา 4 เดือน/คน /ปี (3) สภาพการจ้างอื่นใด ที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาในข้อเรียกร้องนี้ ให้คงสภาพไว้เหมือนเดิม

หลังจากที่ยื่นข้อเรียกร้องแล้วบริษัทฯไม่ได้เจรจาภายใน 3 วัน ทำให้สหภาพแรงงานฯต้องแจ้งข้อพิพาทแรงงานให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยองเข้ามาไกล่เกลี่ยตามที่กฎหมายกำหนด เนื่องจากผลการไกล่เกลี่ยหลายครั้งไม่สามารถตกลงกัน หลายต่อหลายครั้งกลับตัวแทนบริษัทฯ ก็ยังไม่ได้ตอบรับ จนถึง วันที่ 25 เม.ย. 2553 สมาชิกสหภาพแรงงานจึงได้ทำการประชุมใหญ่วิสามัญ เพื่อลงมติลับในการขอใช้สิทธิ์นัดหยุดงานตามกฎหมาย

ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2553 ทางบริษัทได้เรียกนัดประชุมพนักงานทั้งหมดเพื่อทำการแถลงการณ์ชี้แจงเรื่องการขาดทุนของบริษัทฯ และก็ยังคงให้ความหวังกับพนักงานอีกเช่นเคยว่าสิ้นปี 2553 ว่าหากบริษัทได้กำไรจากการประกอบกิจการก็จะเจรจาเรื่องจ่ายเงินโบนัสประจำปีกันอีกครั้งหนึ่ง

หากดูข้อมูลทางบริษัทได้มีการขยายการก่อสร้างโรงงานเพิ่ม รวมถึงการนำเครื่องซื้อเครื่องจักรในการผลิตเป็นต้น ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2553 หลังจากเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานครั้งที่ 9 แล้วยังไม่ได้ผลสรุป ทางสหภาพแรงงานฯได้ทำการยื่นหนังสือต่อตัวแทนฝ่ายบริหารของบริษัทและเจ้าหน้าที่ประนอมข้อพิพาท เพื่อขอใช้สิทธิ์นัดหยุดงาน แต่ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2553 ที่หน้าบริษัท ทางฝ่ายบริหารได้มารอแจ้งพนักงาน ว่าใครที่ต้องการเข้าไปทำงานในโรงงานจะต้องทำการเซ็นต์ชื่อ แต่ถ้าพนักงานท่านใดที่เห็นด้วยกับมตินัดหยุดงาน ก็ให้ทำการสแกนบัตรพนักงาน พร้อมกับห้ามไม่ให้พนักงานเข้าไปในโรงงาน และการเข้าประชุมเพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานครั้งที่ 10 แต่ก็ไม่สามารถหาข้อตกลงกันได้

นายชัชวาล เล่าอีกว่า ในช่วงนี้บริษัทฯก็มีมาตรการชักชวนไม่ให้พนักงานมาร่วมชุมนุม เช่น โทรศัพท์ไปตาม และบริษัทฯได้ให้ทหารเรือจากสัตหีบมายืนอยู่หน้าบริษัทฯและภายในโรงงาน ซึ่งบริษัทฯ รู้จักกับผู้นำท้องถิ่น และคนมีสีจำนวนมาก ทำให้เป็นที่หวั่นเกรงของพนักงานที่มาชุมนุม ตลอดเวลาที่มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงาน บริษัทฯก็อ้างว่าขาดทุนและข่มขู่ว่าจะปิดโรงงานทั้งที่ไม่ยอมให้คนที่มีอำนาจตัดสินใจเข้ามาเจรจาเพื่อหาข้อยุติ ข้อเรียกร้องดังนี้

1. ให้บริษัทฯปฏิบัติตามกฎหมายเช่น - ยกเลิกลาป่วย 1 วันต้องมีใบรับรองแพทย์ - จัดเตียงพยาบาลให้เพียงพอ มีแพทย์ และยาเพียงพอ - ปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่ดีมีกลิ่นเหม็นของสารเคมีที่ใช้ล้างสนิมและอากาศไม่ถ่ายเทไม่สะดวก ให้ดีขึ้นกว่าเดิม พร้อมทั้งเพิ่มแสงสว่างให้เพียงพอ - จัดอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยให้ได้มาตรฐาน แก้ไขปัญหาที่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยเช่น นิ้วมือขาด นิ้วเท้าขาด ตาบอด และเป็นโรคที่เกิดจากการทำงาน บริษัทฯก็ควรดูแลเป็นอย่างดี - ยกเลิกการหักเงินค่าจ้างกรณีลืมตอกบัตรลงเวลา

2. ให้บริษัทฯส่งคนที่มีอำนาจตัดสินใจเช่น ประธานบริษัทฯมาเจรจาเพื่อหาข้อยุติในข้อเรียกร้อง

3. ให้บริษัทฯจ่ายค่าจ้างและสวัสดิการพนักงานเหมาค่าแรงทั้งคนไทยและคนกัมพูชาให้ได้เท่ากับพนักงานประจำของบริษัทฯ

4. ให้ตรวจสอบการที่ทหารเรือว่าเอาเวลาราชการมาทำงานให้กับนายจ้างว่าถูกต้องหรือไม่

โดยสหภาพแรงงงานไทยคูน ประเทศไทยเรียกร้องให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกส่วน ให้เข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหา เพื่อให้เกิดความถูกต้อง รวมถึงขอการสนับสนุนการต่อสู้ในครั้งนี้จากพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ประชาชนและสื่อมวลชนทุกท่านในเพื่อเป็นกำลังใจสำหรับผู้ที่ถูกกระทำให้ได้ประสบผลสำเร็จในการต่อสู้ในครั้งนี้ด้วย

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2553 ได้มีการทำข้อตกลงสภาพการจ้างระหว่างฝ่ายนายจ้างบริษัทไทยคูณ เวิลด์ไวด์ กรุ๊ป ประเทศไทย กับฝ่ายลูกจ้าง สหภาพแรงงาน ไทยคูน (ประเทศไทย) โดยมีข้อตกลงดังนี้ บริษัทฯ ตกลงปรับเปลี่ยนวิธี และหลักเกณฑ์การพิจารณาการปรับขึ้นเงินประจำปีคงเหลือ 5 เกรด และจ่ายโบนัสประจำปีให้กับคนงานที่ร่วมหยุดงานทุกคนๆละ 2,000 บาท โดยจ่ายวันที่ 5กรกฎาคม 2553 โดยมีผลบังคับใช้ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2555

ต่อมาเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2553 นางสาวดวงดาว วิเศษสมบัติ กรรมการสหภาพแรงงานไทยคูณฯได้เล่าว่า นายจ้างได้มีการประกาศเลิกจ้าง กรรมการสหภาพแรงงาน และกรรมการลูกจ้างราว 9 คน ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2553 ในข้อกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมก้าวร้าว ไม่เชื่อฟังคำสั่งของผู้บังคับบัญชา และไม่สามารถทำงานร่วมกันได้ มีทัศนะคติในการทำงานเป็นลบ

“คำกล่าวหานี้หนูไม่รู้ว่าเขาคิดตอนไหน เพราะว่าเราเป็นแกนนำชุมนุมของคนงานหรือ เราเพิ่งกลับเข้าไปทำงานไม่เท่าไรเลย ยังไงคงต้องต่อสู้เพื่อพิสูจน์และขอกลับเข้าทำงานไม่เช่นนั้นสหภาพแรงงาน สมาชิกจะเป็นอย่างไร และหนูไม่รู้ว่าทำผิดอะไรถึงถูกเลิกจ้าง” ดวงดาวกล่าว

ขณะนี้นายจ้างได้เลิกจ้างคนงาน และกรรมการสหภาพแรงงาน เพิ่มอีก รวม 85 คนในข้อหาชุมนุมหน้าบริษัทฯ ก่อความไม่สงบ โดยการติดตั้งเครื่องเสียง โดยมีนายชัชวาล สมเพชรประธานสหภาพแรงงานฯเป็นผู้ประกาศโฆษณาให้ร้ายบริษัทฯโดยจงใจให้บริษัทฯเสียหาย ซึ่งถือเป็นการผิดกฎระเบียบข้อบังคับในการทำงาน

นายชัชวาลกล่าวว่า จริงๆ แล้วเป็นการรับฟังการชี้แจงของทางสหภาพแรงงานกรณีที่บริษัทฯมีการเลิกจ้าง เพื่อทำความเข้าใจต่อสมาชิกและเป็นช่วงที่คนงานเลิกงานแล้ว และชี้แจงไม่นานนัก ตรงนี้เองได้มีคนของฝ่ายนายจ้างยืนถ่ายรูปคนงานมายืนรับฟังการชี้แจง และต่อมาก็ประกาศเลิกจ้างคนงานในวันที่ 13 กรกฎาคม 2553 ซึ่งในวันที่ 14 กรกฎาคม 2553 คนงานได้เข้าร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ที่สำนักงานแรงงานจังหวัดระยอง เพื่อให้บริษัทฯรับคนงานกลับเข้าทำงานโดยเร็ว

“ผมคิดว่าครั้งเป็นการกลั่นแกล้งเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เมื่อกลับเข้าไปทำงานคนงานหลายคนถูกโยกย้ายงานกัน” นายชัชวาลกล่าว

ล่าสุด เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2553 คนงานไทยคูณฯได้เดินทางมาขอเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน แต่ไม่ได้พบ โดยมอบหมายให้นายธานินทร์ ไกรสมุทร ที่ปรึกษาฯมารับหนังสือแทน โดยกำหนดว่าจะเข้าไปคุยกับทางนายจ้างในวันอังคารหน้า (20 ก.ค. 53) เพื่อให้รับคนงานกลับเข้าทำงาน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net