อดีตผู้ช่วยส่วนตัวนางซูจีได้รับการปล่อยตัวแล้ว

อดีตผู้ช่วยส่วน ตัวนางซูจีได้รับการปล่อยตัว
อูวินเต่ง วัย 69 ปี อดีตผู้ช่วยส่วนตัวของนางอองซาน ซูจี ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำกาทา (Katha) ภาคสะกายแล้วในวันนี้ หลังจากที่ถูกกุมขังเป็นเวลานานกว่า 14 ปี

เท็ดหน่าย เลขาธิการร่วมสมาคมช่วยเหลือเพื่อนนักโทษพม่า (Assistance Association for Political Prisoners - Burma) เปิดเผยว่า อูวินเต่งได้รับการปล่อยตัวแล้วในเช้าวันนี้ อย่างไรก็ตาม สมาชิกครอบครัวของอูวินเต่งในกรุงย่างกุ้งเปิดเผยว่า อูวินเต่งยังเดินทางกลับไม่ถึงบ้าน

อูวินเต่งเข้าร่วมกับพรรคเอ็นแอล ดีในปี 2531 ในปีเดียวกับที่นางซูจีก่อตั้งพรรคเอ็นแอลดี ทั้งนี้ อูวินเต่งเคยดำรงตำแหน่งเป็นทหารยศร้อยเอกในกองทัพพม่า แต่ในปี 2513 เขาถูกไล่ออกจากกองทัพและถูกจับกุม และถูกตั้งข้อหาว่า มีส่วนร่วมคบคิดกับร้อยเอกโอจ่อมิ้น ซึ่งถูกประหารในข้อหาทรยศชาติ

มีรายงานว่า อูวินเต่งเคยถูกกุมขังอย่างน้อย 3 ครั้ง หลังการประท้วงของนักศึกษาปี 1988 (2531) โดยถูกกุมขังอยู่ในเรือนจำอินเส่งระหว่างปี 1989 – 1995 (2532 - 2538) และในปี 2539 ได้ถูกศาลพม่าตัดสินจำคุกอีกเป็นเวลา 14 ปี ในข้อหาให้ข้อมูลบิดเบือนแก่นักข่าวต่างชาติ

ในปี 2551 อูวินเต่งได้รับการปล่อยตัว แต่เป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆเท่านั้น เพราะหลังจากได้รับการปล่อยตัวได้ไม่นานก็ถูกเจ้าหน้าที่จับกุม อีกครั้ง โดยที่ทางการไม่แจ้งเหตุผลใดๆแก่ครอบครัวของอูวินเต่งแต่อย่างใด (Irrawaddy 15 ก.ค.53)

ครอบครัวของผู้ ต้องสงสัยคดีวางระเบิด ถูกห้ามเข้าฟังการพิจารณาคดีในชั้นศาล
นายเพียวไวอ่อง ผู้ต้องสงสัยคดีลอบวางระเบิดในช่วงงานสงกรานต์ของพม่าที่ผ่านมา ตามที่ทากงารพม่าระบุ ถูกนำตัวขึ้นศาลเมื่อวานนี้ ขณะที่ครอบครัวของเขาถูกกีดกันไม่ให้เข้าฟังการไต่สวนคดีในชั้นศาล โดยนายเพียวไวอ่อง ซึ่งมีอาชีพเป็นวิศวกรได้ตกเป็นผู้ต้องสงสัย และถูกจับกุมตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา และขณะนี้ถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำอินเส่ง

นายจ่อโฮ ทนายความของนายเพียวไวอ่องเปิดเผยว่า ถึงแม้ครอบครัวของผู้ต้องสงสัยในคดีลอบวางระเบิดจะได้รับอนุญาต จากศาลให้สามารถเข้าร่วมการพิจารณาคดีในชั้นศาลได้ แต่ปรากฏว่า เมื่อถึงเวลาการพิจารณาคดี กลับพบว่า เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองระดับเขตกลับไม่อนุญาตให้เข้าไปในห้องพิจารณา คดี

“ครอบครัวของนายเพียวไวอ่อง ทำได้แค่เพียงรออยู่นอกห้องพิจารณาคดี เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปร่วมฟังการพิจารณาคดีจากนายโซ โซเต่ง เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองระดับเขต แม้ก่อนหน้านี้ทางศาลจะประกาศอนุญาตให้ทุกคนสามารถเข้าร่วมฟังได้”นายจ่อโฮกล่าว 

ด้านนายเพียวไวอ่องขณะนี้ กำลังเผชิญกับข้อกล่าวหาลอบวางระเบิดเมื่อวันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งในเหตุการณ์ครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตจำนวน 9 รายและบาดเจ็บอีกจำนวนนับร้อย นอกจากนี้เขายังโดนตั้งข้อหาเป็นสมาชิกของกลุ่มกบฏต่อต้านรัฐบาล รวมไปถึงข้อหาละเมิดพระราชบัญญัติเกี่ยวกับคนเข้าเมือง และพระราชบัญญัติเกี่ยวกับอิเล็คทรอนิค โดยเขาได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมดตั้งแต่ต้น

ด้านนายจ่อโฮ ทนายความของนายเพียวไวอ่องกล่าวว่า เขาเตรียมเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐเข้ามาตรวจสอบ กรณีที่นายเพียวไวอ่อง ลูกความของเขาถูกทรมานทั้งด้านร่างกายและจิตใจด้วยเช่นกัน ขณะที่การพิจารณาคดีนายเพียวไวอ่องในครั้งต่อไปจะมีขึ้นในวันที่ 22 กรกฎาคมที่จะถึงนี้

ด้านภรรยาของนายเพียวไวอ่องเปิดเผย ว่า ขณะนี้สามีของเธอถูกขังเดี่ยวเป็นเวลา 23 ชั่วโมงต่อวัน และได้รับอนุญาตให้ออกมาเดินเล่นวันละ 1 ชั่วโมงเท่านั้น

ทั้งนี้ รัฐบาลพม่ากล่าวหาว่า นายเพี่ยวไวอ่องเป็นสมาชิกของกลุ่มนักศึกษาพม่า (Vigorous Burmese Student Warriors - VBSW) ที่เคยเข้าบุกยึดสถานเอกอัครราชทูต พม่าเมื่อปี 2542 ส่วนเหตุลอบวางระเบิดที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 เมษายนที่ผ่าน ซึ่งตรงกับในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของพม่ากลายเป็นเหตุลอบระเบิดที่มี ผู้เสียชีวิตมากที่สุดในรอบ 5 ปี

มีรายงานเช่นเดียวกันว่า พ่อลูกคู่หนึ่งซึ่งได้บันทึกภาพหลังเกิดเหตุการณ์ระเบิดไว้ ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าควบคุมตัวไว้เช่นเดียวกัน โดยทั้งสองกำลังถูกตั้งข้อหาเป็นสมาชิกขององค์กรผิดกฎหมาย และข้อหาละเมิดพระราชบัญญัติเกี่ยวกับอิเล็คทรอนิค ซึ่งจนถึงขณะนี้ ทั้งสองพ่อลูกยังถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำอินเส่ง ซึ่งเป็นเรือนจำที่ได้ชื่อว่าเลวร้ายที่สุดในพม่า 
(DVB 15 ก.ค. 53)

 
ตึกต่อเติมของมหา’ลัยในรัฐฉาน พังถล่ม
มีรายงานข่าวแจ้งว่า ซีกหนึ่งของอาคารเรียนในมหาวิทยาลัยด้านคอมพิวเตอร์ ในเมืองตองยี เมืองหลวงของรัฐฉาน ได้พังถล่มลงมา หลังจากที่เพิ่งมีโครงการปรับปรุง แต่ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด

แหล่งข่าวคนหนึ่งเปิดเผยว่า การปรับปรุงส่วนของตึกดังกล่าวเพิ่งแล้วเสร็จไปเมื่อเร็วๆ นี้  ขณะที่ทีมผู้ก่อสร้างกำลังอยู่ในขั้นตอนดำเนินการตามแผนส่งมอบอาคารกลับคืนให้ทางมหาวิทยาลัย แต่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นก่อน

ด้านเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยปฏิเสธ ที่จะให้รายละเอียดใดๆแก่สำนักข่าวอิรวดีถึง โดย

อาจารย์ในมหาวิทยาลัยท่านหนึ่งกล่าวแต่เพียงว่า “แม้ตึกจะถล่มลงมาแต่ก็ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ” ด้านแหล่งข่าวรายงานว่า ขณะนี้ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยกำลังพยายามหาสาเหตุการพังถล่มของตึกในครั้งนี้

มหาวิทยาลัยด้านคอมพิวเตอร์แห่งนี้ ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองตองยี เมืองหลวงของรัฐฉานประมาณ 4 ไมล์ (6.4 กิโลเมตร) โดยมหาวิทยาลัยดังกล่าว เปิดการเรียนการสอนครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2543 โดยมีสถานะเป็นเพียงวิทยาลัยเทคนิคคอมพิวเตอร์ของรัฐบาล และต่อมาในปี พ.ศ.2550 ก็ได้รับการยกระดับให้เป็นมหาวิทยาลัย

ในรัฐฉานนั้น พบมีมหาวิทยาลัยเฉพาะด้านเทคโนโลยีอยู่ 4 แห่ง มหาวิทยาลัยด้านคอมพิวเตอร์อีก 4 แห่ง และอีก 1 วิทยาลัยการศึกษา นอกจากนั้นยังมีมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนหลักสูตรอื่นๆ ตามปกติอีก  4 แห่งด้วยเช่นกัน

ตามข้อมูลสื่อของรัฐบาลระบุว่า ในประเทศพม่า มีมหาวิทยาลัยทั้งหมด 192 แห่ง โดยในปี พ.ศ. 2548 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศได้ กล่าวว่า การศึกษาของพม่าเป็นไปมาตรฐานการศึกษาสากล

อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์กลับชี้ให้เห็นว่า ในระหว่างที่ตัวเลขของมหาวิทยาลัยเพิ่มจำนวนขึ้น แต่คุณภาพในการศึกษาพม่ากลับต่ำลง

ทั้งนี้ หลังจากเหตุการณ์ลุกฮือประท้วงของนักศึกษาในปี 1988 (พ.ศ. 2531) มหาวิทยาลัยในพม่าถูกสั่งปิดโดยรัฐบาลทหารเป็นระยะ เวลาเกือบ 2 ปี รวมถึงเหตุการณ์การประท้วงของนักศึกษาในปี 1996 (พ.ศ. 2546) มหาวิทยาลัยก็ถูกสั่งปิดอีก 3 ปีด้วยเช่นกัน (Irrawaddy13 ก.ค.53)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท