Skip to main content
sharethis
14 ก.ค. 53 - สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนออกแถลงการณ์ "ขอคัดค้านการประกาศ 18 โครงการประเภทรุนแรง" เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติทุกท่าน ควรต้องพิจารณาทบทวนการดำเนินการเพื่อการประกาศรายชื่อโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพเสียใหม่
 

 
แถลงการณ์
เรื่อง
ขอคัดค้านการประกาศ 18 โครงการประเภทรุนแรง
 
 
            ตามที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 250/2552 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ.2552 โดยให้มีอำนาจหน้าที่ศึกษาความคิดเห็นและความต้องการของประชาชน ผู้ประกอบการ นักวิชาการ และผู้มีส่วนได้เสีย และประสานแนวทางแก้ไขปัญหา เพื่อให้เกิดประโยชน์กับทุกภาคส่วนทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย สังคม เศรษฐกิจ และการลงทุน ความดังทราบแล้วนั้น
            คณะกรรมการชุดดังกล่าวได้จัดทำข้อยุติ พร้อมเสนอผลการดำเนินการกำหนดประเภทโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพมายัง ฯพณฯ แล้วโดยมีโครงการหรือกิจกรรมฯ จำนวน 18 โครงการ ซึ่งปรากฏผ่านสื่อสารมวลชนและสาธารณะแล้วนั้น
            แต่เนื่องจากโครงการต่าง ๆ ที่คณะกรรมการฯดังกล่าวได้สรุปส่งมายัง ฯพณฯ นั้น ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่ตรงกับความคิดเห็นของประชาชน นักวิชาการ และผู้มีส่วนได้เสียจำนวนมากทั่วประเทศ อีกทั้งการสรุปผลจำนวนโครงการเป็นแต่เพียงความต้องการของกรรมการบางท่านเท่านั้น มิใช่ข้อสรุปที่เป็นเอกฉันท์ของคณะกรรมการทั้งหมด และไม่สอดคล้องกับความเห็นหรือความต้องการของประชาชนทั่วประเทศที่คณะกรรมการบางท่านได้ออกไปเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นมา แต่ผลสรุปของคณะกรรมการกลับตัดทิ้งความเห็นของภาคประชาชน แต่กลับเอื้อความต้องการของผู้ประกอบการหรือนักลงทุนและหน่วยงานรัฐบางหน่วยงาน โดยมองข้ามบริบทของเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 มาตรา 67 วรรคสอง โดยสิ้นเชิง
            โครงการหรือกิจกรรมหลายโครงการมีข้อมูลเชิงประจักษ์และมีผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนว่าเป็นโครงการที่เข้าข่ายที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ แต่ไม่ได้รับการพิจารณาหรือกำหนดให้เป็นโครงการประเภทรุนแรงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสอง เช่น
1)โครงการขุดสำรวจน้ำมันหรือปิโตรเลียม ซึ่งมีปรากฏการณ์ที่เป็นรูปธรรมแล้วของบริษัท บีพี ที่อ่าวเม็กซิโก ทำลายทรัพยากรทางทะเลและความหลากหลายทางชีวภาพไปอย่างมหาศาล รวมทั้งชุมชนชาวประมงจำนวนมาก แต่คณะกรรมการชุดดังกล่าวก็เมินเฉยมองข้ามประเด็นปัญหาดังกล่าวไป จนในที่สุดขณะนี้นำไปสู่ความขัดแย้งในสังคมเกิดขึ้นแล้วในพื้นที่เกาะสมุยและจังหวัดนครศรีธรรมราชและสงขลา
2)โครงการทำเหมืองหิน ระเบิดและย่อยหินก่อสร้าง ซึ่งเกิดขึ้นมากมายทั่วประเทศ เป็นโครงการที่เห็นผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนว่าได้ทำลายทรัพยากรหิน ดิน แร่ ภูเขาและป่าไม้ให้พังทลายเสียหายเป็นอุดจาดทัศน์มากมาย ก่อให้เกิดการฟุ้งกระจายของฝุ่นหินไปทั่วบริเวณ รวมทั้งเสียระเบิดที่กระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชนและสรรพสัตว์จำนวนมาก ดังจะเห็นตัวอย่างได้บริเวณหน้าพระลาน จังหวัดสระบุรี
3)โครงการขุดทรายหรือดูดทรายอุตสาหกรรม ในพื้นที่บนบก ในแม่น้ำและในทะเล ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมากมาย ทำให้ตลิ่งริมน้ำซึ่งเป็นพื้นที่เอกสารสิทธิ์ของประชาชนเสียหายตลอดแนวแม่น้ำ หรือทะเล ดังตัวอย่างโครงการขุดหรือดูดทรายบริเวณแม่น้ำมูล แม่น้ำชี ก่อให้เกิดความเสียหายต่อนิเวศน์ลุ่มน้ำอย่างมหาศาล
4)โครงการสนามกอล์ฟ ซึ่งเป็นโครงการที่จำเป็นต้องใช้น้ำต้นทุนจากแหล่งน้ำธรรมชาติมาใช้ในโครงการจำนวนมาก ทำให้ต้องแย่งชิงน้ำอุปโภค บริโภคของเกษตรกร ชาวบ้านจำนวนมาก รวมทั้งการต้องใช้ปุ๋ยและสารเคมีจำนวนมากในการบำรุงรักษากรีนหรือต้นหญ้าในโครงการ ซึ่งนำไปสู่การแพร่กระจายของสารเคมีลงสู่แห่งน้ำทั้งบนดินและใต้ดิน ซึ่งกำลังก่อให้เกิดความขัดแย้งตามมามากมาย อาทิ กรณีสนามกอล์ฟจังหวัดเชียงใหม่ หรือในจังหวัดชลบุรี เป็นต้น
5)โครงการที่เกี่ยวข้องกับพืชตัดแต่งพันธุกรรมหรือ จีเอ็มโอ (GMOs) ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างความหวาดกลัวให้กับผู้บริโภค และเกษตรกรจำนวนมากในด้านความปลอดภัยต่อชีวิต ร่างกาย และการกลายพันธุ์ อีกทั้งมีผลกระทบต่อการรุกคืบของการเบียดบังพันธุกรรมพืชพันธุ์พื้นเมืองของประเทศ ทำให้มีความเสี่ยงในการที่เกษตรกรและผู้บริโภคต้องตกอยู่ในอำนาจการครอบงำของนักธุรกิจต่างชาติหรือบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่เพียงแห่งเดียวที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์พืชพันธุ์เกี่ยวกับจีเอ็มโอ
6)โครงการก่อสร้างและผลิตไฟฟ้าชีวมวล (Biomass) ซึ่งกำลังนำไปสู่ความขัดแย้งของประชาชนเจ้าของพื้นที่กับผู้ประกอบการจำนวนมากทั่วประเทศ บางโครงการเป็นการทำลายทรัพยากรต้นไม้ของชาวบ้านไปโดยไม่ทันคาดคิด เช่น การใช้ฟืนจากต้นไม้ กิ่งไม้ มาเป็นวัตถุดิบในการผลิต โดยรับซื้อวัตถุดิบมาจากชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านไปตัดฟันต้นไม้ตามหัวไร่ ปลายนา ของตนเองมาขายให้กับโรงงานจนสิ้น จนนำไปสู่การลักลอบตัดต้นไม้ในพื้นที่ป่าชุมชน ป่าหวงห้าม ป่าอนุรักษ์มากมายมาขาย จนยากที่หน่วยงานรัฐที่ทำงานเฉพาะวันเวลาราชการจะควบคุม ดูแล ป้องกันได้ โดยเฉพาะในพื้นที่หลายังหวัดในภาคอีสานตอนเหนือ นอกจากนั้นบางโครงการไปก่อสร้างในพื้นที่ที่มีธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสวยงาม เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่นิยมของต่างชาติ แต่กลับมีการอนุญาตให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าวได้ เช่น โรงไฟฟ้าห้วยยาง อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของการส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกที่เหมาะสมของประเทศ นำไปสู่ความขัดแย้งมากมายในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังมีโครงการโรงงานไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมประเภทใช้ก๊าซหรือวัตถุดิบอื่นใดทุกประเภท ทุกขนาด ซึ่งมีการคัดค้านของชาวบ้าน ชุมชนต่อโครงการประเภทดังกล่าวมากมายทั่วทุกพื้นที่ แต่กลับได้รับการยกเว้นอย่างมีเจตนาเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน โดยมองข้ามสิทธิของชุมชนในแต่ละพื้นที่ เช่น โรงไฟฟ้าที่หนองแซง จ.สระบุรี โรงไฟฟ้าที่พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา เป็นต้น
7)โครงการโรงงานหลอมเหล็กและโลหะทุกประเภท ซึ่งเป็นการนำเอาเศษโลหะมาทำการหลอมใช้ใหม่ ซึ่งพบว่าทุกขนาดประเภทโครงการก่อให้เกิดปัญหาการแพร่กระจายของมลพิษจำนวนมากทั้งมลพิษทางอากาศ ทางน้ำ และเสียงดัง เป็นโครงการที่ทำให้ชุมชนโดยรอบในพื้นที่ต้องออกมาชุมนุมประท้วงมากมาย อาทิ การก่อสร้างโรงหลอมเหล็กในพื้นที่ อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี เป็นต้น
8)โครงการตัดหรือขยายหรือก่อสร้างถนนใกล้พื้นที่ป่าหรือเขตอนุรักษ์ ซึ่งต้องตัดฟันต้นไม้และทำลายความหลากหลายทางชีวภาพตลอดเส้นทางที่ตัดผ่านเป็นจำนวนมาก เป็นการขัดหรือแย้งต่อยุทธศาสตร์การป้องกันก๊าซเรือนกระจกของรัฐบาลโดยสิ้นเชิง ดังกรณีตัวอย่างการขยายถนน 4 เลนมุ่งสู่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มรดกโลก เป็นต้น นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานภาครัฐต่อหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคม และประชาชนที่เห็นเด่นชัดที่สุดโครงการหนึ่ง
9)โครงการเกี่ยวกับการก่อสร้างหรือขยายเส้นทางขนส่งมวลชน แม้จะเป็นโครงการที่ควรสนับสนุนเพราะเป็นระบบขนส่งมวลชนที่ทั่วโลกนิยม แต่การดำเนินการก่อสร้างและการดำเนินการนำมาซึ่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนจำนวนมากตามมา เพราะจะก่อให้เกิดปัญหาการจราจรตามมามากมายขณะก่อสร้าง เกิดปัญหาน้ำท่วมเพราะวัสดุก่อสร้างไปปิดกั้นทางน้ำ เกิดการแพร่กระจายของฝุ่นละออง และเสียงดัง หากไม่มีมาตรการที่ชัดเจนในการดำเนินการ และสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นกับประชาชนโดยรวมเสียก่อน อาทิ โครงการขยายเส้นทางรถไฟ ของ รฟท. โครงการก่อสร้างและขยายเส้นทางรถไฟฟ้า ของ รฟม. เป็นต้น ซึ่งกำลังจะนำไปสู่การฟ้องร้องยุติโครงการในเร็ว ๆ นี้ของภาคประชาชน
 
นอกจากนี้ ยังมีโครงการหรือกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมายที่นำไปสู่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นแล้วในสังคมไทย ที่ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และนักวิชาการที่เกี่ยวข้องได้มีการนำเสนอให้คณะกรรมการฯ ได้ทราบแล้ว แต่ไม่ได้รับการตอบรับหรือพิจารณาตามเหตุและผลของภาคประชาชน จากคณะกรรมการฯเลย แต่กลับพิจารณาหาข้อสรุปกันเอาเองโดยขาดฐานการสนับสนุนที่แท้จริงจากภาคประชาชน แต่สมอ้างว่าได้ทำการรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชนทั้ง 4 ภาคทั่วประเทศมาแล้ว แต่มิได้กล่าวถึงว่าประชาชนแต่ละพื้นที่ แต่ละท้องถิ่น เขามีข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็นประการใดบ้าง เพื่อให้คณะกรรมการฯ นำไปประกอบการกำหนดประเภทโครงการนั้น ๆ และจะมีผลนำไปสู่การลดความขัดแย้งได้หรือไม่ในที่สุด ดังนั้นการนำเสนอข้อมูล 18 ประเภทโครงการหรือกิจกรรมมายัง ฯพณฯ เพื่อดำเนินการประกาศเป็นแนวทางในการดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 วรรคสอง นั้น จึงเป็นการดำเนินการที่ขัดหรือแย้งต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 มาตรา 67 วรรคสอง โดยชัดแจ้ง รวมทั้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2552 อีกทั้งยังไม่มีกฎหมายฉบับใดมารองรับอำนาจการประกาศประเภทโครงการดังกล่าว
 
ดังนั้น สมาคมฯ จึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติทุกท่าน ควรต้องพิจารณาทบทวนการดำเนินการเพื่อการประกาศรายชื่อโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพเสียใหม่ โดยการเปิดเวทีและจัดกระบวนการรับฟังเสียงสาธารณะในทุกช่องทางอย่างรอบด้านอย่างแท้จริง ตามบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งรอให้องค์การอิสระตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง เป็นผู้ใช้อำนาจประกาศตามร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ พ.ศ...เพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และเพื่อให้ครอบคลุมกับปัญหาและความต้องการของประชาชน ชุมชนและผู้มีส่วนได้เสียทั่วประเทศได้อย่างแท้จริง อันจักนำไปสู่การลดความขัดแย้งในโครงการพัฒนาใด ๆ ได้ แต่หาก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการฯ เพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องตามแถลงการณ์นี้ สมาคมฯ จำเป็นต้องพึ่งกระบวนการยุติธรรม เพื่อนำมาซึ่งการคุ้มครองสิทธิของประชาชนภายใต้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญต่อไป
 
จึงประกาศมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน
นายศรีสุวรรณ จรรยา
(นายศรีสุวรรณ จรรยา)
นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net