Skip to main content
sharethis

สหภาพยุโรประบุ ผู้ลี้ภัยจากพม่าที่อยู่ในไทยอาจยังไม่ได้กลับบ้านในทันที ถึงแม้จะมีการเลือกตั้งในพม่าเกิดขึ้นครั้งแรกในรอบ 20 ปีก็ตาม 

(Irrawaddy 12 ก.ค.53) สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิระวดีได้ร้องขอให้สหภาพยุโรป (อียู) กล่าวถึงจุดยืนต่อผู้ลี้ภัยและแรงงานข้ามชาติจากพม่าที่อาศัยอยู่ในไทย หลังจากเมื่อวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์รายงานว่า นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของไทยได้กล่าวว่า “รัฐบาลพม่ากำลังจะจัดการเลือกตั้งในปีนี้ ดังนั้นเราจึงควรช่วยเหลือประชาชนที่อยู่นอกประเทศ ได้กลับคืนและกลับไปใช้ชีวิตในประเทศพม่า” ขณะที่อียูไม่ได้คาดหวังว่า การเลือกตั้ง 2010 ที่จะถึงนี้จะนำไปสู่การเดินทางกลับคืนสู่พม่าอย่างทันที โดยเฉพาะผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยง จากภาคตะวันออกของรัฐกะเหรี่ยง เพราะในขณะที่การทำสัญญาหยุดยิงระหว่างรัฐบาลทหารพม่าและผู้นำชาวกะเหรี่ยง ซึ่งดูเหมือนว่า จะไม่ปรากฏให้เห็นเป็นรูปเป็นร่างแล้ว วิกฤติความขัดแย้งในพื้นที่ยังคงมีให้เห็นอยู่จนถึงทุกวันนี้และปัญหาก็ยังไม่คลี่คลาย

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่อียูกล่าวว่า มีความยินดีกับแผนขั้นตอนการดำเนินการของไทยที่เริ่มทำมานับตั้งแต่ปี 2548 เช่นการให้ผู้ลี้ภัยจากพม่าได้พัฒนาศักยภาพและเข้าถึงการศึกษา การอบรม รวมไปถึงการให้สิทธิแก่เด็กที่เกิดในไทย โดยการออกใบสูติบัตรให้เป็นต้น พร้อมกล่าวเพิ่มเติมว่า การส่งผู้ลี้ภัยไปตั้งรกรากใหม่ยังประเทศที่สามเป็นการแก้ปัญหาให้กับจำนวนผู้ลี้ภัยในไทยได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

เจ้าหน้าที่อียูยังแสดงความคิดเห็นต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม การบังคับผู้ลี้ภัยกลับคืนประเทศต้นทางโดยใช้วิธีการบังคับ ซึ่งไม่ผ่านการตรวจสอบและวิธีการที่โปร่งใสอย่างถูกต้องแล้ว การกระทำเช่นนั้นจะเป็นการละเมิดข้อปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับผู้ลี้ภัย ซึ่งเป็นกฎหมายที่ปกป้องคุ้มครองไม่ให้ผู้ลี้ภัยถูกส่งกลับไปยังพื้นที่ที่ชีวิตและเสรีภาพของผู้ลี้ภัยอาจถูกคุกคาม

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่อียูระบุอีกว่า แม้ไทยจะไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของอนุสัญญาผู้ลี้ภัยปีพ.ศ. 2494 (The 1951 Refugee Convention) แต่ในอดีตที่ผ่านมา ไทยได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ค่อนข้างยึดถือปฏิบัติในด้านมนุษยธรรมและความถูกต้องมาโดยตลอด

ขณะที่ปัจจุบันมีผู้ลี้ภัยจำนวน 140,000 คนที่อาศัยอยู่ใน 9 ค่ายผู้ลี้ภัยตามแนวชายแดนไทย – พม่า ทั้งนี้ผู้ลี้ภัยเป็นจำนวนมากต่างต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ เป็นเวลาหลายปี ก่อนที่จะได้รับโอกาสอพยพไปอยู่ในประเทศที่สาม จากความช่วยเหลือของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) โดยผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยงที่หนีออกมาจากหมู่บ้านของตน ซึ่งเป็นพื้นที่การสู้รบในรัฐกะเหรี่ยง

ด้านแซลลี่ ท็อปสัน รองผู้อำนวยการองค์กร Thailand Burma Border Consortium (TBBC) ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานใกล้ชิดกับผู้ลี้ภัยกล่าวว่า ผู้ลี้ภัยขณะนี้ล้วนแล้วแต่ต้องพึ่งความช่วยเหลือจากคนอื่น ซึ่งนั่นเป็นเพราะข้อจำกัดภายในค่ายผู้ลี้ภัย พวกเขาต้องการโอกาสในการทำงาน และควรได้รับโอกาสการจ้างงานทั้งในและนอกค่ายผู้ลี้ภัย

“นโยบายต่อผู้ลี้ภัยควรได้รับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งนั่นจะทำให้ผู้ลี้ภัยสามารถทำอะไรได้มากขึ้น โดยเฉพาะมีส่วนช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจท้องถิ่นของไทย และควรยอมรับว่า มันต้องใช้เวลาสำหรับพวกเขาในการกลับคืนสู่บ้านเกิด เป็นที่แน่นอนว่า พวกเขาอยากกลับบ้าน ถ้าหากบ้านของพวกเขาเต็มไปด้วยความสงบและปัญหาการเมืองได้รับการแก้ไข” แซลลี่ ท็อปสันกล่าว

"เราต่างหวังว่า ในอนาคตนี้ ผู้ลี้ภัยจะได้กลับบ้าน แต่เราไม่สามารถคาดเดาการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ได้ เพราะในขณะเดียวกัน วิกฤติความขัดแย้งยังคงดำเนินต่อไปในภาคตะวันออกของพม่า และดูเหมือนว่าการเลือกตั้งจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้เลย เพราะฉะนั้น ดูเหมือนว่า การกลับคืนสู่ประเทศต้นทางของผู้ลี้ภัยจะไม่เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้แน่นอน” แซลลี่ ท็อปสันกล่าว

ขณะที่พบว่า อียูเป็นผู้บริจาครายใหญ่ที่ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยตามชายแดนไทย – พม่า ด้านเจ้าหน้าที่จากอียูเปิดเผยว่า “เรารู้สึกว่า เรามีความรับผิดชอบที่ต้องช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่อยู่ในสถานการณ์ที่ยังยืดเยื้อมายาวนาน และจำเป็นต้องพัฒนาแผนการในระยะยาว

“ผู้ลี้ภัยต้องการสิทธิ์ในการช่วยเหลือตัวเอง และส่งมอบโอกาสที่ได้รับนั้นเป็นการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศไทยผ่านทางทักษะและแรงงานของพวกเขา เหมือนกับคนอื่นๆ ผู้ลี้ภัยเองก็ต้องการมีสิทธิ์กำหนดอนาคตตนเอง และตระหนักถึงศักยภาพความเป็นมนุษย์ในตัวของพวกเขาเองเช่นกัน” เจ้าหน้าที่จากอียูกล่าว

ด้านนาย Eric Schwartz ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ด้านประชากร ผู้ลี้ภัยและโยกย้ายถิ่นฐานได้เดินทางเยือนค่ายผู้ลี้ภัยตามแนวชายแดนไทย – พม่าเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยได้แสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ของผู้ลี้ภัยในค่ายผู้ลี้ภัยตามแนวชายแดนไทย – พม่า โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่กำลังจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น

ขณะที่นักวิจารณ์แสดงความคิดเห็นว่า หากรัฐบาลพม่าไม่ปล่อยตัวนางอองซาน ซูจี ผู้นำพรรคฝ่ายค้านและนักโทษการเมืองอีกกว่า 2 พันคน การเลือกตั้งที่จะมาถึงก็จะขาดความน่าเชื่อถือและไม่ชอบธรรม อย่างไรก็ตามจนถึงขณะนี้ รัฐบาลพม่ายังไม่ออกมาประกาศวันเลือกตั้งแต่อย่างใด 

 

เกิดพายุหมุนในย่างกุ้ง สังเวย 1 ศพ

(DVB 12 กรกฎาคม 53) มีรายงานว่า พบผู้เสียชีวิตจากเหตุฟ้าผ่าที่มาพร้อมกับพายุหมุน ในพื้นที่ทางตอนใต้ของกรุงย่างกุ้งเมื่อวันพฤหัสบดี (8 ก.ค.53) ที่ผ่านมา

ข่าวได้ระบุว่า พบผู้บาดเจ็บ 6 คน หลังจากที่พายุได้พัดผ่านในเมืองกอมู (Kawhmu) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนผู้บาดเจ็บอีกคนที่อยู่ใกล้กับหมู่บ้านตานต่าบิน (Htantabin) กำลังเข้ารับการรักษาอยู่ในโรงพยาบาล หลังจากที่ถูกแรงลมของพายุดูดเข้าไป โดยชาวบ้านที่เห็นเหตุการณ์กล่าวว่า เขาถูกฉุดขึ้นไปบนฟ้าแล้วตกลงไปที่อื่น แต่เขายังไม่ตาย แต่ได้รับบาดเจ็บสาหัส

ขณะที่ชายที่เสียชีวิตในครั้งนี้ ถือเป็นเหยื่อคนที่สิบของเหตุการณ์ฟ้าผ่า มีรายงานว่าชายรายนี้เสียชีวิตคาที่ ด้านชาวบ้านในเมืองกอมูเปิดเผยว่า จำนวนของกระท่อมและบ้านเรือนหลายหลังโดยรอบได้รับความเสียหายจากพายุในครั้งนี้

ชายคนหนึ่งกล่าวว่า “มันพัดเข้ามาจนเกิดเสียงดังสนั่นซึ่งมีลักษณะคล้ายกับงวงช้าง ในช่วงเวลาประมาณ 3ทุ่ม-4 ทุ่ม โดยหมู่บ้านทะมินชาน (Taminchan) ซึ่งมีบ้านเรือนจำนวน 70 จากทั้งหมด100 หลังก็ถูกพายุพัดทำลายเสียหาย และมีผู้บาดเจ็บจำนวน 6 คน ซึ่งถูกนำส่งโรงพยาบาลแล้วเช่นกัน ลมแรงถึงขนาดกระชากบ้านของพวกเขาทั้งหลัง ออกจากตำแหน่งเดิม”

ทั้งนี้ พื้นที่ในเขตย่างกุ้งเอง กำลังอยู่ในช่วงที่ฟื้นตัวจากความเสียหายที่พายุไซโคลนนาร์กิสได้พัดถล่มเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2551 ที่ผ่านมา โดยผลพวงความเสียหายจากเหตุการณ์ภัยพิบัติในครั้งนั้นได้คร่าชีวิตของผู้คนไปกว่า 140,000 คน และทำลายพื้นที่การเกษตรและทรัพย์สินของชาวบ้านไปเป็นจำนวนมาก 

 

แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน"อ่านข่าวและบทความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊ค http://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอร์ http://twitter.com/salweenpost

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net