Skip to main content
sharethis

ท่ามกลางกระแสการผลักดันโครงการสะพานเศรษฐกิจสตูล – สงขลา เชื่อมสองฝั่งทะเลอันดามัน – อ่าวไทย ผ่านสารพัดเมกะโปรเจ็กต์มูลค่ารวมกันแล้วนับแสนล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือน้ำลึกปากบารา รถไฟรางคู่ ท่อและคลังน้ำมัน เขตอุตสาหกรรมแสนกว่าไร่

อันเป็นทิศทางที่จะนำจังหวัดสตูลไปสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมชนิดเต็มรูปแบบ ในขณะที่ธุรกิจการท่องเที่ยว ทั้งบนบกและในทะเลของจังหวัดสตูล กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว มีการกระจายรายให้กับคนในพื้นที่ค่อนข้างทั่วถึง

อนุสรณ์ หมัดตาหมีน 1 ใน 7 ผู้ประกอบการสอนดำน้ำบนเกาะหลีเป๊ะ เพชรเม็ดงามกลางทะเลสตูล บอกเล่าให้เห็นภาพรวมการเติบโตการท่องเที่ยวจังหวัดสตูลในวันนี้ ดังนี้

อนุสรณ์ หมัดตาหมีน

………………………………………………………..

 

- นักท่องเที่ยวรู้จักเกาะหลีเป๊ะตั้งแต่เมื่อไหร่

ประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว เริ่มแรกคนไทยยังไม่ค่อยรู้จักเกาะหลีเป๊ะ คนที่มาท่องเที่ยวที่นี่ช่วงแรกๆ เป็นพวกแบคแพคต่างชาติ ส่วนใหญ่มาแบบเดี่ยวๆ หลังจากนั้นนักท่องเที่ยวก็เริ่มเข้ามา ผมก็เข้ามาช่วงนั้น พวกเรามากับเรือไม้ ตอนนั้นยังไม่มีเรือเฟอร์รี่ ยังไม่มีเรือสปีดโบ๊ท นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเข้ามาในช่วงเทศกาล

นักท่องเที่ยวที่นิยมมาที่นี่จริงๆ เมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว สภาพการท่องเที่ยวเริ่มเปลี่ยนไป มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้น มีสถานบันเทิงมากขึ้น ลักษณะความเป็นธรรมชาติลดลง พวกนักท่องเที่ยวยุคแรกๆ ที่ชอบความเป็นธรรมชาติของที่นี่ ก็กลับมาเที่ยวน้อยลง

ก่อนนั้นเกาะหลีเป๊ะยังมีความเป็นธรรมชาติอยู่มาก ตอนนี้อะไรก็เข้ามามากขึ้น เกาะค่อยๆ เสื่อมโทรมลง นักท่องเที่ยวกลุ่มเดิมๆ ก็จะหาที่เที่ยวใหม่ๆ ตอนนี้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะมุ่งไปที่เกาะพยาม จังหวัดระนอง ที่นั่นน้ำไม่ใสเหมือนเกาะหลีเป๊ะ หาดทรายออกสีแดงๆ แต่เทียบกับเกาะหลีเป๊ะแล้ว ค่าใช้จ่ายถูกกว่ามาก เพราะอยู่ใกล้ฝั่ง ตอนนี้ที่เกาะพยามสิ่งอำนวยความสะดวกยังไม่ค่อยมี พวกรถ พวกไฟฟ้าก็ยังไม่มี

 

- ตอนนี้นักท่องเที่ยวกลุ่มไหนที่เข้ามาเที่ยวเกาะหลีเป๊ะ 

ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากยุโรป ตั้งแต่ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมนี และโซนสแกนดิเนเวีย ส่วนนักท่องเที่ยวจากสหรัฐอเมริกากับอังกฤษค่อนข้างน้อย แต่ละปีมาไม่กี่คน สองสามปีมานี้นักท่องเที่ยวจากรัสเซีย เริ่มเข้ามามากขึ้น

 

- มีกลุ่มทุนจากข้างนอกเข้ามาลงทุนบ้างหรือไม่ 

ก็มีกลุ่มทุนใหญ่ๆ จากข้างนอกเข้ามาลงทุน โดยให้คนในพื้นที่ออกหน้าแทน เขายังไม่กล้าเข้ามาตรงๆ จะมาในรูปแบบลงทุนแล้วให้คนในพื้นที่ออกหน้า ทุนที่เข้ามามีทั้งทุนท้องถิ่นจากบนฝั่ง และทุนระดับประเทศ

 

- เริ่มมีปัญหาเกิดขึ้นบ้างหรือยัง

เริ่มแรกที่นักท่องเที่ยวเข้ามายังไม่มีไฟฟ้าใช้ ทุกที่ทุกรีสอร์ทใช้ไฟปั่นกันหมด ในส่วนของชาวบ้านการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จะแจกแผ่นโซล่าเซลล์ให้ ถนนหนทางยังไม่มี เป็นทางเดินเล็กๆ เลาะเลี้ยวเข้าไปในหมู่บ้าน ยังไม่มีการตัดถนนหนทาง ต้นไม้ก็มีมาก ช่วงหลังมีการก่อสร้างมากขึ้น ก็เริ่มถางเริ่มตัดต้นไม้ ตอนนี้มีแนวโน้มว่าต้นไม้อาจจะหมด ทุกอย่างกลายเป็นธุรกิจไปหมดแล้ว ไม่ค่อยมีใครสนใจเรื่องอื่น

เกาะหลีเป๊ะไม่มีน้ำตก น้ำตกมีที่เกาะอาดัง เกาะราวี แหล่งน้ำบนเกาะหลีเป๊ะเป็นน้ำซับ ขุดบ่อลงไปประมาณ 5 – 6 เมตร น้ำจะซึมออกมา ที่ผ่านมามีน้ำใช้ตลอดปี ในส่วนของรีสอร์ท จะเจาะน้ำบาดาลขึ้นมาใช้

ปีนี้ 2553 ปัญหาเรื่องน้ำเริ่มมีแล้ว น้ำกำลังจะแห้ง ชาวบ้านไม่มีน้ำใช้ ผู้ประกอบการต่างคนต่างเจาะน้ำบาดาลขึ้นมาใช้กันทั้งนั้น

เรื่องขยะตอนนี้ถือว่าเป็นปัญหาหนัก เพราะการจัดการไม่มีประสิทธิภาพ ความจริงหน่วยงานของรัฐต้องเข้ามาดูแล เมื่อรัฐจัดเก็บภาษีภาษีต่างๆ เป็นรายได้เข้ารัฐไปแล้ว รัฐควรเข้ามาดูแลเรื่องเหล่านี้ ผมไม่เข้าใจว่าทำไมถึงไม่เข้ามาจัดการ จะอ้างว่าไม่ใช่หน้าที่ของรัฐไม่ได้ รัฐท้องถิ่นอย่างองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสาหร่าย ผมไม่เห็นเข้ามาจัดการเรื่องพวกนี้สักเท่าไหร่ ตอนนี้ปล่อยให้คนบางกลุ่มจัดเก็บขยะ ผมว่าไม่ถูกต้อง รายได้จากการจัดเก็บควรเข้ารัฐ ไม่ใช่เข้ากระเป๋าใครคนใดคนหนึ่ง

 

- องค์การบริหารส่วนตำบลตั้งอยู่ที่ไหน

องค์การบริหารส่วนตำบลตั้งอยู่ที่เกาะสาหร่าย ส่วนเกาะหลีเป๊ะเป็นหมู่ที่ 7 ขึ้นกับตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ตอนนี้ดูเหมือนองค์การบริหารส่วนตำบล ยังวางระบบอะไรไม่ชัดเจน คล้ายๆ กับยังไม่กล้าเข้ามาจัดการ เพราะผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบลไม่ใช่คนบนเกาะหลีเป๊ะ เลยไม่กล้าเข้ามายุ่ง

 

- การสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ปากบาราจะมีผลกระทบกับเกาะหลีเป๊ะหรือไม่

ระยะทางจากปากบารามายังเกาะหลีเป๊ะประมาณ 60 กิโลเมตร ถ้าหากมีการสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ปากบารา ผมคิดว่าผลกระทบไม่น่าจะมีกับคนบนเกาะ ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงน่าจะเป็นคนบนฝั่งมากกว่า เกาะหลีเป๊ะเป็นเพียงจุดรองรับนักท่องเที่ยวเท่านั้น

คนยังคิดไปไม่ถึงว่า จะเกิดอะไรขึ้นหลังจากมีท่าเรือน้ำลึกที่ปากบารา เพราะคนที่นี่ยังไม่เข้าใจว่า อะไรคือท่าเรือน้ำลึก อะไรคือท่าเรือท่องเที่ยว เหมือนกับคนที่ท่าเรือปากบารายังไม่รู้ว่าท่าเรือน้ำลึกเป็นอย่างไร แตกต่างจากท่าเรือท่องเที่ยวอย่างไร คนยังไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น หลังจากมีท่าเรือน้ำลึก

ตอนนี้ชาวบ้านเขาแค่รู้ว่า ถ้ามีท่าเรือน้ำลึกเกิดขึ้น อาชีพประมงที่อ่าวปากบาราของเขาจะหายไป เท่านั้นเอง

 

- ประเด็นที่กังวลและถกเถียงกันอยู่ในขณะนี้คือ ผลกระทบต่อการท่องเที่ยว บางกลุ่มมองว่าถ้าท่าเรือน้ำลึกเกิดขึ้น จะทำให้กระแสและทิศทางน้ำเปลี่ยน ส่งผลกระทบโดยตรงกับทรัพยากรการท่องเที่ยวใต้น้ำ อีกประเด็นที่เป็นห่วงกันคือภาพพจน์ของแหล่งท่องเที่ยว เพราะถ้าหากเกิดท่าเรือน้ำลึก นักท่องเที่ยวต่างประเทศอาจจะไม่เข้ามา 

ผมถามว่า ถ้าพวกเราชาวบ้านบอกว่าไม่เอาท่าเรือน้ำลึก เราจะหยุดโครงการนี้ได้ไหม อย่าลืมว่าโครงการนี้เป็นโครงการระดับชาติ เขามองเห็นเม็ดเงินที่จะได้รับจากการพัฒนาตรงนี้มากมายมหาศาล มากกว่ารายได้ของคนในหมู่บ้านเล็กๆ อย่างเกาะหลีเป๊ะ ที่เทียบแล้วเป็นแค่เศษเงินเล็กๆ น้อยๆ

เวลามีการประชุมเกี่ยวกับโครงการนี้ เราไม่เคยได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุม ผู้ประกอบการท่องเที่ยวบนฝั่งในจังหวัดสตูลก็เข้าร่วมน้อย ไม่ค่อยมีใครสนใจ ข้อมูลที่รับรู้ส่วนใหญ่จะได้จากสื่อ จากข่าวทั่วๆ ไป จากข่าวในท้องถิ่น บางทีก็จากคำบอกเล่า องค์การบริหารส่วนตำบลก็ไม่ได้เข้าไปมีบทบาทตรงนี้ ทั้งที่น่าจะทำหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนรับรู้ เรื่องที่กำลังจะเกิดขึ้นกับท้องถิ่น

 

- นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มาพูดที่หาดใหญ่ จังหวัดสงขลาหลายรอบว่า คนใต้จะเอาหรือไม่เอาอุตสาหกรรม ถ้าไม่เอาอุตสาหกรรมจะได้คิดกันว่าจะพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างไร ยกเว้นจังหวัดสตูล คนสตูลส่วนใหญ่บอกว่าเอาท่าเรือน้ำลึกปากบารา ในส่วนนี้รัฐบาลจะเดินหน้าต่อไป 

คนเขาเอาท่าเรือน้ำลึกปากบารา เพราะเขาไม่ได้มองว่า สตูลเป็นจังหวัดท่องเที่ยว ไม่รู้และไม่เข้าใจว่า การท่องเที่ยวแบบยั่งยืนทำอย่างไร เขาไม่มีวิสัยทัศน์ที่จะพัฒนาจังหวัดสตูลไปสู่การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน อย่างที่เห็นอยู่ในตอนนี้ บนเกาะหลีเป๊ะต่างคนต่างพยายามเอาสิ่งอำนวยความสะดวกเข้ามา ทั้งที่นักท่องเที่ยว ทั้งที่คนต่างประเทศรณรงค์ให้กลับคืนสู่ธรรมชาติให้มากที่สุด โดยเฉพาะธรรมชาติในแหล่งท่องเที่ยว

ดูอย่างประเทศสิงคโปร์ เขาพยายามซื้อดินซื้อทรายไปสร้างชายหาดเทียม แต่คนไทยกลับคิดไปอีกแบบ อยากให้ศิวิไลซ์ไปหมดทุกอย่าง ทั้งที่มันไม่ใช่ทิศทางที่ควรจะเป็น

สิ่งที่ควรจะคิดกันตอนนี้ก็คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้แหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดสตูล รวมทั้งเกาะหลีเป๊ะคงความเป็นธรรมชาติให้ได้มากที่สุด ห้ามก่อสร้างอาคารด้วยอิฐหินทรายปูน ใครอยากสร้างด้วยไม้สร้างไปเลย หลังคามุงจาก อย่าพยายามใช้กระเบื้อง อิงกับธรรมชาติให้มากที่สุด 

ผมว่ามาคิดกันแบบนี้จะดูดีกว่า ที่สำคัญมันจะเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดสตูล ของเกาะหลีเป๊ะดังไปทั่วโลก

ว่ากันเฉพาะแหล่งท่องเที่ยว วันนี้เหมือนกันทุกที่ไม่ว่าจะเป็นเกาะกูด เกาะหมาก เกาะพะงันทำเหมือนกันหมด จนไม่มีเอกลักษณ์เฉพาะของตัวเอง

เราจะโทษองค์การบริหารส่วนตำบลอย่างเดียวคงไม่ได้ เพราะบนฝั่งในเมืองทำอะไรกันบ้าง หลายหน่วยงาน ต่างทำแต่งานของตัวเอง ไม่มานั่งคุยกันว่าทิศทางจริงๆ ของจังหวัดเราควรจะไปทางไหน ควรจะทำควรจะจัดการกันอย่างไร

เราไม่เคยสนใจว่า อนาคตจะเกิดอะไรขึ้นกับแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดสตูล จะเกิดอะไรขึ้นกับเกาะหลีเป๊ะ

ถ้าคิดจะสร้างเมกะโปรเจ็กต์ ทำโครงการขนาดใหญ่ คิดจะสร้างโรงแรมหรือที่พักให้หรูหรา เพื่อเอาเงินเยอะๆ มันอาจจะไม่ใช่ก็ได้

ผมเชื่อว่า ทุกอย่างอยู่ที่การจัดการกับทรัพยากรที่เรามีอยู่ให้เหมาะสมมากกว่า สร้างที่พักให้หรูแค่ไหน นักท่องเที่ยวก็สามารถเลือกไปเที่ยวที่อื่นได้ เพราะที่อื่นก็มีที่หรูหราให้พัก ไม่จำเป็นต้องมาที่เกาะหลีเป๊ะ หรือจังหวัดสตูล

ถ้าคุณสร้างห้องหนึ่งหลัง ตัวเรือนเป็นไม้ ฝาไม้ไผ่ หลังคามุงจาก อยากถามว่าต้นทุนเท่าไหร่ แล้วมาอัพเกรดขายห้องสามสี่พัน แบบนี้มีคนทำมาแล้ว ทุกอย่างทำด้วยไม้ ห้องพัดลม ปล่อยไฟฟ้าครึ่งคืน ทำไมเขาขายห้องได้หลายพันบาท บางแห่งทำห้องซีเมนต์อย่างดี ติดแอร์ ต้นทุนสูง กลับขายห้องได้คืนหนึ่งไม่เกินสองพันบาท มันต่างกันมาก หักต้นทุนแล้ว กำไรใครได้เยอะกว่า

นักท่องเที่ยวที่มาที่นี่ เพราะต้องการกลับสู่ธรรมชาติ ผมคิดว่าจังหวัดสตูลเรา คิดหาอะไรที่เป็นธรรมชาติมาเป็นจุดขายดีกว่า หาทางปลูกต้นไม้เพิ่ม เน้นขายบริการน่าจะดีกว่าไปพัฒนาในรูปแบบอื่น

 

- ผู้ประกอบการท่องเที่ยวในจังหวัดสตูลมีการรวมตัวกันเป็นองค์กรหรือไม่

ที่นี่ไม่มีการรวมกลุ่มกันชัดเจน เท่าที่เห็นก็มีชมรมเรือหางยาวเกาะหลีเป๊ะ ที่เหลือก็ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างทำกันเอง ที่มีอยู่ในระดับจังหวัดก็สมาคมการท่องเที่ยว แต่เขารวมตัวดูแลผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มเท่านั้น

สำหรับเกาะหลีเป๊ะ ตอนนี้มีกิจการร้านค้า ร้านนวด คลับบาร์ ผับต่างๆ ประมาณ 200 กว่าราย เรือทุกประเภทมีทั้งหมดประมาณ 200 กว่าลำ 

รายได้ที่จะถึงชาวบ้านจริงๆ เป็นรายได้จากเรือหางยาว แต่ก็ไม่ทั้งหมด เพราะชาวบ้านบางคน โดยเฉพาะชาวเลไม่ได้มีเรือเป็นของตัวเอง รายได้ที่ได้มาต้องแบ่งกับเจ้าของเรืออีกที เขาไม่คิดจะมีเรือเป็นของตัวเอง ไม่อยากลงทุน ได้แค่ค่าแรงก็พอใจแล้ว

ถ้าหากคนบนเกาะคิดจะทำธุรกิจเรือหางยาวเอง คนข้างนอกจากเกาะบูโหลน จากปากบารา ไม่ได้นำเรือเข้ามาวิ่งทำมาหากินถึงเกาะหลีเป๊ะหรอก สังเกตได้เลยเรือที่มาจากข้างนอก เป็นเรือของตัวเอง ไม่ได้เป็นเรือของเถ้าแก่เหมือนคนบนเกาะ

 

- นอกจากเกาะหลีเป๊ะแล้ว มีเกาะไหนรับนักท่องเที่ยวอีกบ้าง

ก็มีเกาะบูโหลน อยู่ในอำเภอละงู ส่วนเกาะสาหร่ายไม่มีที่พักรับนักท่องเที่ยว มีแต่ที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน ส่วนเกาะปูยูมีรีสอร์ทอยู่บ้างแต่ไม่มาก เกาะอาดังกำลังจะเปิดรีสอร์ทหรูในฤดูการท่องเที่ยวหน้า เกาะตะรุเตามีที่พักของอุทยานแห่งชาติเกาะตะรุเตา

สำหรับเกาะหลีเป๊ะ ถ้าหากไม่มีอะไรมากระทบ การท่องเที่ยวคงไปได้ดี ตอนนี้ นักท่องเที่ยวที่มา ไม่มีห้องพัก ห้องพักเต็มหมด ปีที่แล้วห้องพักไม่พอ ปีนี้มีห้องพักเพิ่มขึ้นมาเท่าไหร่ ก็ไม่พอรองรับนักท่องเที่ยว

ตอนนี้มีเรือขนนักท่องเที่ยวเข้ามายังเกาะเพิ่มขึ้นหลายบริษัท สมมติว่า เรือมาวันละ 4 บริษัท ลำละ 50 คน แต่ละบริษัทจัดเรือวิ่งหลายเที่ยว รับนักท่องเที่ยวมาจากหลายจุด ตั้งแต่ท่าเรือปากบารา อำเภอละงู มาจากท่าเรือตำมะลัง อำเภอเมืองสตูล มาจากหาดยาว จังหวัดตรัง จากเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ มาจากเกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย และมาจากที่อื่นๆ อีก

วันหนึ่งๆ มีนักท่องเที่ยวเข้ามาที่เกาะหลีเป๊ะเท่าไหร่ ลองคิดดูเอาเอง ผมคิดเล่นๆ วันหนึ่งก็ไม่น่าจะต่ำกว่า 300 คน ถ้าต่ำกว่า 300 คน บริษัทเรืออยู่ไม่ได้

พอนักท่องเที่ยวเข้ามากๆ ตลาดมันก็เปลี่ยนไปอีกแนว นักท่องเที่ยวแบบแบคแพคน้อยลง เปลี่ยนเป็นนักท่องเที่ยวที่มากันเป็นครอบครัว มีกลุ่มคนวันเกษียณ ส่วนใหญ่มาจากยุโรป มีฐานะทางเศรษฐกิจระดับกลางขึ้นไปจนถึงระดับสูง

นักท่องเที่ยวชาวไทยก็เช่นกัน คนมีฐานะทางเศรษฐกิจดีๆ เริ่มเข้ามาเยอะ เห็นได้จากตอนนี้มีห้องราคาแพงๆ ไว้บริการ จากเมื่อก่อนมีแต่นักท่องเที่ยวระดับล่าง มาแบบประหยัด แบบแบ็กแพ็ก ทุกวันนี้ราคาห้องแพงสุด อยู่ที่ 15,000 – 20,000 บาท ราคาต่ำสุดอยู่ที่ 350 บาท ถ้าลูกค้ามาพักหลายคืนก็ลดราคาให้อีก

ลูกค้าที่มาพักนานๆ จะเป็นกลุ่มคนที่เข้ามาทำงาน อีกกลุ่มคือ กลุ่มที่เข้ามาพักผ่อนระยะยาวอย่างกลุ่มวัยเกษียณ พวกนี้จะอยู่นาน 3 – 4 เดือน บางคนอยู่จนหมดวีซ่าถึงจะกลับ ส่วนกลุ่มที่เข้ามาทำงานจะอยู่ไม่เกินสองเดือน พวกนี้จะวิ่งหางานตลอด ไม่ได้มาทำงานที่เกาะหลีเป๊ะที่เดียว แต่ย้ายไปทำงานตามแหล่งท่องเที่ยวอื่นด้วย

ส่วนใหญ่รับงานจ๊อบตามบาร์ หรือร้านดำน้ำ พวกนี้จะอยู่ไม่นาน เพราะไม่ได้ใช้วีซ่าทำงาน พอวีซ่าหมดก็ต้องกลับประเทศ เป็นพวกทำงานไปเที่ยวไป มาเที่ยวแล้วก็หาเงินนิดหน่อยเป็นค่าตั๋วเครื่องบินค่าที่พัก นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มีความรู้ พอจะหาเงินเที่ยวได้สบาย

 

- สภาพของเกาะหลีเป๊ะเป็นอย่างไร

บนเกาะมีโรงเรียนขยายโอกาส จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีเด็กนักเรียนประมาณ 300 กว่าคน มีสถานีอนามัย มีสายตรวจตำรวจ มีที่ว่าการอำเภอส่วนหน้า มีมัสยิด มีสำนักสงฆ์ มีโบสถ์คาทอลิก

ชาวเลบนเกาะรับได้ทุกศาสนา ผู้ประกอบการบนเกาะหลีเป๊ะส่วนใหญ่ หรือเกือบทั้งหมด นับถือศาสนาพุทธ จะมีพระจากบนฝั่งสลับสับเปลี่ยนกันมาอยู่ที่สำนักสงฆ์บนเกาะตลอด โดยมีผู้ประกอบการคอยดูแล

 

- มีปัญหาพิพาทที่ดินเหมือนกับแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ บ้างหรือไม่ 

เนื้อที่บนเกาะหลีเป๊ะประมาณ 2,000 กว่าไร่ บางส่วนมีเอกสารสิทธิ์ มีเพียงคนบนเกาะเท่านั้นที่ได้เอกสารสิทธิ์ ไม่มีคนนอกเกาะ ปัญหาที่เกิดจากที่ดิน จึงเป็นปัญหาในหมู่ญาติๆ

ในส่วนของที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ถ้าหากใครซื้อต้องรีบทำเลย เพราะบางทีพี่ขายที่ดินไปแล้ว คนที่เข้ามาซื้อปล่อยทิ้งไว้ น้องก็เอาไปขายคนอื่นอีก ที่แปลงเดียวกลายเป็นมีเจ้าของหลายคน อาจจะมีบ้างที่คนซื้อมีปัญหา ซื้อแล้วจ่ายเงินไม่ครบ เจ้าของที่เลยเอาที่คืน

อีกปัญหาที่เกิดขึ้นคือ พี่ขายแล้วไม่แบ่งเงินให้น้อง ไปไล่น้องออกจากเกาะ ปัญหาที่ตามมาคือ เมื่อขึ้นไปอยู่บนฝั่งก็ไม่มีที่อยู่ เมื่อไม่มีที่อยู่ก็ต้องกลับมาบุกรุกที่สาธารณะ โดยนายทุนจะให้ทุนทรัพย์ในการบุกรุก รุกไปเท่าไหร่ที่ดินก็ตกไปเป็นของนายทุนหมด ท้ายที่สุดชาวบ้านก็ไม่มีที่อยู่อาศัยเหมือนเดิม

 

สถิติการท่องเที่ยวจังหวัดสตูล


จำนวนนักท่องเที่ยว
ปี 2544 – 2550

นักท่องเที่ยวชาวไทย
(หน่วย : คน)

นักท่องเที่ยวต่างชาติ
(หน่วย : คน)

รวมนักท่องเที่ยว
(หน่วย : คน)
 

เพิ่มขึ้น / ลดลง
ร้อยละ

2544

344,536

58,767

403,303

-

2545

357,529

64,713

422,242

+4.70

2546

386,510

56,835

443,345

+5.00

2547

431,139

55,176

486,315

+9.70

2548

531,666

50,391

582,057

+19.69

2549

609,112

50,086

659,198

+13.25

2550

698,521

44,712

743,233

+12.74
 


รายได้จากการท่องเที่ยว
ในปี 2544 – 2550 ปี

รายได้จากการท่องเที่ยว
(หน่วย : ล้านบาท)
 

เพิ่มขึ้น / ลดลงร้อยละ

color:black">2544

color:black">621.89

color:black">-

color:black">2545

color:black">836.74

color:black">+34.55

color:black">2546

color:black">899.32

color:black">+7.48

color:black">2547

color:black">976.91

color:black">+8.63

color:black">2548

color:black">1,420.86

color:black">+45.45

color:black">2549

color:black">1,667.20

color:black">+17.34

color:black">2550

color:black">1,798.20

color:black">+7.85
 

ที่มา: สำนักงาน ททท.ภาคใต้ เขต 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net