นิธิ เอียวศรีวงศ์: ทำไมการเมืองไทย จึงไม่ลงตัว

“นิธิ” อภิปรายตอบโจทย์ทำไมการเมืองไทยจึงไม่ลงตัว เชื่อใช้เวลาอย่างน้อยเป็นสิบปีปรับดุลยภาพทางการเมือง ชี้ “การปรองดอง” ส่วนต่างๆ ต้องร่วมกันคิด ไม่ใช่รัฐบาลทำ และไม่ใช่การคิดแทนสังคม พร้อมเสนออยากเป็นประชาธิปไตยต้องเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

เมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่ภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดกิจกรรม “เสวนาวิชาการในดวงใจ” โดยสัปดาห์นี้เป็นการเสวนาหัวข้อ "ทำไมการเมืองไทย จึงไม่ลงตัว” โดยมี ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์เป็นวิทยากร

 

การต่อสู้เพื่อที่ยืนครึ่งขา และการปรับจุดดุลยภาพที่กินเวลานาน

โดยนิธิ เริ่มต้นด้วยการกล่าวว่า มีคนเสนอว่าปรากฏการณ์ในตอนนี้คือการต่อสู้ระหว่างชนชั้นกลางในชนบทและชนชั้นกลางระดับล่างในเมือง กับ ชนชั้นกลางในเมือง ซึ่งผมคิดว่ามันง่ายเกินไปที่จะสรุปเช่นนั้น เพราะในระบบการเมือง ชนชั้นกลางในชนบทและชนชั้นกลางระดับล่างอยู่นอกเวที ถ้าชนชั้นกลางในเมืองเปิดพื้นที่ให้คนกลุ่มนี้ได้ยืนเพียงครึ่งขา ก็จะไปเบียดพื้นที่ของชนชั้นสูง นักวิชาการ กองทัพ ฯลฯ ซึ่งพวกเขาไม่ยอมให้โดนเบียด ดังนั้น มันจึงสะเทือนการจัดรูปแบบของเวทีทั้งหมด

กลุ่มที่ออกหน้าทางการเมืองในปัจจุบันมีทั้งกลุ่มที่ออกมาเรียกร้องให้ทุกคนมีสิทธิ์มีเสียงเท่าเทียมกัน ไม่มีการใช้อำนาจนอกระบบ กับอีกกลุ่มที่ยังต้องการให้มีเครื่องมือปกป้องตัวเอง จึงไม่ยอมรับความเท่าเทียม เพราะเชื่อว่าถ้าตัวเองยังไม่มีอำนาจในการปกป้องตนเองก็จำเป็นต้องขอยืมอำนาจนอกระบบมาใช้

ถ้าถามว่าจะใช้เวลาเท่าใดในการปรับจุดดุลยภาพทางการเมือง น่าจะกินเวลาประมาณ 5-7 ปี แบบพออยู่ได้ อย่างเช่นในสมัยรัชกาลที่ 5 ใช้เวลา 48 ปีในการปรับตัวเองเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กว่าจะมาพูดถึงการปกครองระบอบต่างๆ เพราะเห็นข้อบกพร่องของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ 2475 เมื่อปี 2490 ก็กันกลุ่มเจ้าไม่ให้ขึ้นมาบนเวที แต่พอ 2520 กลับเปิดโอกาสให้กลุ่มเจ้าขึ้นมาบนเวทีแล้วขับพลเรือนกลุ่มนั้นออกไป

แต่ผมคิดว่าเหตุการณ์ตอนนี้กว่าจะปรับเข้าสู่จุดดุลยภาพได้ใช้เวลาค่อนข้างนาน อย่างน้อยเป็น 10 ปี และอาจนานกว่าครั้งอื่นๆ ในประวัติศาสตร์ เพราะความขัดแย้งครั้งนี้ทุกฝ่ายได้ช่วยกันทำลายสิ่งที่เป็นรากฐานสำคัญบางอย่างของการเมืองไปเยอะมาก การที่เสื้อแดงสามารถลากเอาองคมนตรีมาพูดจาแบบนั้นบนเวทีได้ การที่อาญาสิทธิ์ต่างๆ ถูกท้าทาย ไปจนถึงการฉีกรัฐธรรมนูญปี 2540 การหาจุดลงตัวคงต้องผ่านความขัดแย้งอีกหลายอย่าง และไม่รู้ว่าจะเห็นตัวกลางใดที่จะมาตัดสิน เช่น ศาล เพราะคนที่สังคมนับถือก็มีสี ส่วนคนที่ไม่มีสีก็ไม่เป็นที่นับถือ

ความยากก็คือเหตุการณ์ “พฤษภาฯ มหาโฉด” ที่เกิดขึ้นมันตัดจุดลงตัวที่ทุกฝ่ายพอจะรับได้ให้น้อยลง เพราะตอนนี้ไม่มีใครไว้วางใจใครได้เลย โอกาสใช้ความสงบมีน้อยมาก แต่ตราบใดก็ตามที่ใช้ความรุนแรง ต้นทุนทางสังคมที่ต้องจ่ายก็ย่อมจะสูงเสมอ

ในทางกลับกัน ถ้ากลุ่มเสื้อแดงชนะ พรรคเพื่อไทยได้ขึ้นมาเป็นรัฐบาล ผมคิดว่าไม่เป็นไร แต่ถ้าเสื้อแดงใช้ความรุนแรง ต้นทุนที่จะจ่ายก็จะเสียมาก เพราะคุณอภิสิทธิ์ที่ใช้ความรุนแรงก็เสียต้นทุนที่สูงเช่นกัน

 

ประชาธิปไตยคือการต่อรองที่เท่าเทียม

หลังนิธิอภิปรายจบ ได้ให้ผู้ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยน ผู้เข้าร่วมคนหนึ่งได้ตั้งคำถามว่า หากมีพรรคการเมืองจากกลุ่มอาชีพต่างๆ ที่เป็นตัวแทนของชนชั้นนั้นๆ หากขึ้นมาบนเวทีแล้วจะมีหลักประกันอะไรที่เขาจะไม่ขูดรีดเหมือนกับนักการเมืองที่เคยทำมาแล้วในอดีต

นิธิกล่าวว่า “ผมรับประกันเลยว่าเขาทำแน่และถ้าจะคิดเช่นนี้ก็ไม่เป็นไร เพราะประชาธิปไตยคือการต่อรองที่เท่าเทียมกัน แต่ประชาธิปไตยที่แท้จริงคือการยกเลิกระบบกดขี่และให้อำนาจที่มากขึ้นในการต่อรองต่างหาก เราควรมีระบบในการคุมคนชั่วได้มากกว่าได้หวังให้คนดีขึ้นมามีอำนาจ ในขณะเดียวกันก็ให้อำนาจในการต่อรองกับคนชายขอบ คนจนดักดานที่ไม่มีต้นทุนหรือโอกาสในเศรษฐกิจได้ต่อรองได้ด้วยเช่นกัน”

“การวัดว่าเขามีอำนาจในการต่อรองนั้นมีกลไกในการต่อรองหลายอย่าง โดยเฉพาะการเลือกตั้งที่ให้อำนาจในการต่อรองมากที่สุด อย่างน้อยก็ในทางทฤษฎี แม้จะไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดแต่ก็ขาดไม่ได้แต่ตัวมันเองอย่างเดียวก็ไม่พอ อีกอันหนึ่งคือสื่อที่คุณสามารถแสดงออกและใช้ในการต่อรอง อีกประการคือมหาวิทยาลัยที่ไม่สามารถตอบคำถามให้กับคนชายขอบได้ เช่น ไฟฟ้าไม่พอจะทำอย่างไร ไม่ใช่บอกว่าต้องสร้างโรงไฟฟ้า ควรบอกข้อดีข้อเสียกับคนที่ได้รับผลกระทบด้วย ไม่ใช่แค่บอกแต่ข้อดีอย่างเดียว”

 

ปรองดองต้องไม่คิดแทนสังคม เสนอเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ต่อมามีผู้ตั้งคำถามว่านิธิ มีมุมมองเรื่องแผนปรองดองและแผนปฏิรูปอย่างไร นิธิตอบว่า ผมคิดว่าควรแบ่งเป็นสองอย่างคือ หนึ่ง แผนปรองดอง มันหมายถึงการที่เราทะเลาะกันแล้วจะมาปรองดองกันได้อย่างไร ผมคิดว่าคุณอภิสิทธิ์ไม่มีความชอบธรรมในการปรองดองนอกจากการลาออก สอง แผนปรองดองควรเปิดให้ภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามาช่วยคิด ไม่ใช่การคิดแทนสังคม คือไม่ใช่รัฐบาลเป็นคนทำ แต่เป็นสังคมต่างหากที่ควรถกเถียงและหาทางออกร่วมกัน

การที่เราชอบพูดว่าเราเป็นเมืองพุทธแต่กลับไม่พูดถึงผู้ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ที่ผ่านมา ผมคิดว่าเมื่อไรที่ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะเห็นอะไรๆ เพิ่มขึ้นอีกเยอะ เพราะเมื่อคนมันดื้อขึ้นก็จะมีต่อต้านอำนาจมากขึ้น คุณก็ยืดเวลามากขึ้นไปอีก กลายเป็นวงจรอุบาทว์แล้วก็ลงเอยในลักษณะที่ใช้ความรุนแรง

 

ชี้รัฐธรรมนูญถูกฉีกไปค่อนเล่ม อยากเป็นประชาธิปไตยต้องเลิก พ.รก.ฉุกเฉินโดยเร็ว

นิธิอภิปรายต่อไปว่า ประเทศไทยตอนนี้ไม่เป็นประชาธิปไตยเพราะฉีกรัฐธรรมนูญไปค่อนเล่ม เหลือแค่ราชอาณาจักรแบ่งแยกไม่ได้เพียงมาตราเดียว ถ้าคุณอยากเป็นประชาธิปไตยคุณต้องยกเลิกโดยเร็ว แต่คนไทยจำนวนไม่น้อยที่ไม่เดือดร้อนกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวมทั้งสื่อมวลชน ไม่ไม่ค่อยเข้าใจว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร หรือ ชนชั้นกลางในเมืองอยากได้อำนาจนอกระบบมาคุ้มครองตัวเอง

ผมคิดว่าในกรณีของการจับกุมคุณสมบัติและคุณสมยศ เมื่อไรที่ปล่อยให้ทหารจัดการภายใต้ พ.ร.ก.นี้ ทหารก็จะจัดการแบบไม่รู้เรื่อง การจับกลุ่มคนพวกนี้มันขาดทุน ซึ่งพลเมืองคิดหรือใช้อำนาจจะไม่ทำเช่นนั้น

 

ตอกทีวีสาธารณะไม่เป็นมืออาชีพ ราวทีวีสมัยอยุธยา

นิธิตอบคำถามเรื่องสื่อว่า สื่อที่ขายในตลาดตอนนี้เป็นธุรกิจชนิดหนึ่ง สิ่งที่คุมสื่อผมคิดว่าไม่ใช่รัฐแต่เป็นทุน อย่างที่ ศอฉ. ส่งหนังสือมาว่าอย่าลงเรื่องนั้นเรื่องนี้ เจ้าของธุรกิจก็จะคำนวณผลลัพธ์ว่าควรจะทะเลาะกับ ศอฉ. ดีหรือไม่ แต่เรามีสื่อแบบใหม่ที่ก็ยังไม่ลงตัวทั้งทางธุรกิจและการจัดการ แต่ก็ทำให้คนตัวเล็ก ๆ สามารถมีพื้นที่ต่อรองหรือสื่อสารได้ ส่วนทีวีธารณะของบ้านเรานอกจากจะไม่เป็นมืออาชีพทางเทคนิคแล้วการทำข่าวและการผลิตรายการก็ยังไม่เป็นมืออาชีพ เช่น การพูดถึงเมืองไทยก็ยังเป็นเมืองไทยในอดีตที่มีวัฒนธรรมหยุดนิ่ง ราวกับว่าเป็นทีวีสมัยกรุงศรีอยุธยา

 

เชื่อเสื้อแดงไม่ได้ล้มเจ้าตามผัง ศอฉ.

นอกจากนี้มีผู้ถามนิธิ เรื่องแผนผังขบวนการล้มเจ้า ที่ ศอฉ. เคยนำเสนอ นิธิตอบคำถามนี้ว่า ผมคิดว่าเวลาที่ใช้คำว่า “เจ้า” นั้น หมายถึงอะไรกันแน่ ถ้าหมายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ผมคิดว่าเสื้อแดงไม่ได้ล้มเจ้า เพราะจะเป็นการเคลื่อนไหวที่โง่ที่สุด แต่คำว่า “เจ้า” ที่ ศอฉ. ใช้ ไม่ได้หมายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์เพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงองคมนตรีและการใช้อำนาจขององคมนตรีด้วย

การไม่ยอมรับการรัฐประหารแล้วกลุ่มเสื้อแดงต่อต้านสิ่งนี้ไหม ผมคิดว่าเขาต่อต้าน ถ้าเขาจะต่อต้านหรือทำจริงก็คงเก็บไว้ลึกซึ้งภายในจนไม่มีใครรู้ต่างหาก แต่เราไม่สามารถพูดถึงพระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญได้อย่างเต็มที่ เพราะคนสับสนระหว่างการอาฆาตมาดร้ายในมาตรา 112 กับการบังคับให้จงรักภักดีซึ่งไม่มีในรัฐธรรมนูญ

ในช่วงท้ายของการเสวนามีผู้ถามนิธิว่า “เราจะอยู่ท่ามกลางคนรอบข้างที่สามารถทะเลาะกันเพราะความคิดเห็นทางการเมืองไม่ตรงกันนี้ได้อย่างไร” นิธิตอบว่า ว่าเราต้องเรียนรู้ว่าความคิดเห็นทางการเมืองแม้ว่าจะเลิศหรูอย่างไร สักวันหนึ่งความเชื่อนั้นมันก็จะเปลี่ยนไป แต่สิ่งที่สำคัญคือความเป็นเพื่อนที่อยู่ถาวรมากกว่าความคิดทางการเมือง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท