Skip to main content
sharethis

วสันต์ สายรัศมี หรือ เก่ง อายุ 27 ปี เป็นอาสาสมัครหน่วยกู้ชีพวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน เขาภาคภูมิใจในงานตระเวนช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ผู้เสียชีวิต ที่ทำมานานหลายปี กระทั่งเกิดความขัดแย้งทางการเมือง เขายังคงทำหน้าที่ของเขา โดยยืนยันว่าไม่ได้สนใจกับเรื่องการเมืองมากนัก ไม่ดูหน้าว่าใครเป็นใคร ไม่สนว่าใครอยู่ฝักฝ่ายไหน

สำหรับการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง เขาก็ช่วยเหลือตั้งแต่เมษายน 2552 กระทั่งเหตุการณ์เมษายนวิปโยค 2553 จนมาถึงเหตุการณ์นองเลือดในเดือนถัดมา

เก่งเป็นอาสาสมัครหนวยกู้ชีำำพที่อยู่ในเหตุการณ์ “กระชับพื้นที่” ของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เขาเข้าไปหลบอยู่ในวัดปทุมวนารามกับผู้ชุมนุมหลายพันคน หลังจากแกนนำประกาศยอมมอบตัวในช่วงบ่ายแก่ของวันที่ 19 พ.ค.53 ขณะที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ทยอยไปพักอยู่ด้านในของวัด เต๊นท์พยาบาลยังตั้งอยู่ด้านหน้าวัด อาสาสมัครยังปักหลักอยู่ตรงนั้นเพื่อดูแลผู้คนที่ทยอยเข้ามา แล้วเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นเมื่อกระสุนปืนสาดเข้ามายังผู้ชุมนุมด้านหน้าประตูวัดที่มีป้าย “เขตอภัยทาน” ขนาดใหญ่ และยังสาดเลยมาถึงเต๊นท์พยาบาลของพวกเขาด้วย

เก่งเป็นผู้ที่เสี่ยงชีวิตช่วยเหลือคนบาดเจ็บ ณ จุดปะทะสำคัญหลายแห่ง ตั้งแต่ช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 19 พ.ค. แม้แต่คนที่ตายไปแล้วเขาก็ยังพยายามเข้าไปลากเอาศพออกมาด้วยเกรงว่าศพจะสูญหายเหมือนการกวาดล้างทางการเมืองหลายๆ ครั้ง หลายคนที่ทำอย่างเขาถูกยิงเสียชีวิตไปด้วย แต่เขารอดมาได้ ช่วงเย็นของวันที่ 19 พ.ค.ในวัดปทุมฯ เก่งยังคงทำเช่นเดิม หลายคนที่ทำอย่างเขาถูกยิงเสียชีวิต แต่เขาก็รอดมาได้

วันรุ่งขึ้น เขายังคงอยู่เฝ้าศพในวัดปทุมฯ กระทั่ง หมอพรทิพย์ โรจนสุนันท์ เข้ามาตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุ และมีการลำเลียงศพไปผ่าพิสูจน์ยังโรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามถนน โรงพยาบาลซึ่งพวกเขาได้แต่มอง และไม่สามารถเอาคนเจ็บฝ่าดงกระสุนข้ามไปส่งได้เลยในคืนวันที่ 19 พ.ค.  

เขาอยู่ตรงนั้นตลอด และตามไปเฝ้าศพเพื่อนอีกที่โรงพยาบาลตำรวจรอจนญาติมารับ ทั้งยังไม่รีรอที่จะพูดในสิ่งที่เห็นกับนักข่าวที่เข้าไปสอบถามเหตุการณ์ ขณะที่อีกหลายคนที่ร่วมเหตุการณ์เลือกที่จะเงียบเพราะวิตกกังวลเกี่ยวกับอันตรายที่อาจมาถึงตัว

เขายืนยันอย่างชัดเจนตั้งแต่ต้นจนถึงตอนนี้ว่า เห็นทหารบนรางบีทีเอสที่สาดกระสุนลงมายังเขตวัด

เขายังคงทำอย่างนั้นตลอดเดือนสองเดือนหลังเหตุการณ์ ทั้งการให้สัมภาษณ์กับสื่อหนังสือพิมพ์ ทีวี กระทั่งปรากฏตัวและบอกเล่าเรื่องราวตามเวทีเสวนาทางการเมืองต่างๆ ในมหาวิทยาลัย พร้อมกับเปิดคลิปเหตุการณ์เท่าที่รวบรวมมาได้

สำหรับเก่งแล้วการสูญเสีย “เพื่อน” ที่ร่วมอุดมการณ์ช่วยเหลือผู้คน ใกล้ชิดสนิทสนม กินนอนด้วยกัน และตายต่อหน้าต่อตา กระทั่งตายคามือเขา รวมแล้วถึง 3 คน (กมลเกด อัคฮาด, อัครเดช ขันแก้ว, มงคล เข็มทอง) เป็นเรื่องยากจะยอมรับ อาจเพราะ “เพื่อน” ดูเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในชีวิตของเก่ง ผู้ที่มียายคอยผู้อุปการะเลี้ยงดูมาตลอดชีวิต ขณะที่พ่อและแม่ที่แท้จริงทิ้งเขาไปตั้งแต่ยังเล็ก เมื่อเริ่มโตเป็นวัยรุ่น เขาก็ตัดสินใจออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านกับกลุ่มเพื่อนฝูง เผชิญโชคเพียงลำพังในเมืองกรุง ยืนบนลำแข้งตนเองมาโดยตลอด อาศัยรับจ้างล้างจาน เด็กเสิร์ฟ จนทำอาหารได้ และเก็บเงินเปิดร้านของตัวเอง รวมไปถึงงานต่างๆ อีกสารพัน ตามประสาผู้โชกโชนชีวิต

ปัจจุบันเก่งมีลูกวัย 9 ขวบที่อยู่ในความอุปการะของยายและพี่เขย โดยมีเขาทำหน้าที่ส่งเสียเลี้ยงดูทั้งยายและลูกเพียงลำพัง

ตั้งแต่ออกมาให้ข้อมูลความเลวร้ายในวันที่ 19 พ.ค. ชีวิตของเขาเต็มไปด้วยความยากลำบาก เพราะต้องคอยหลบซ่อนตัวด้วยเกรงอันตรายจะเกิดขึ้นในยุคที่การลอบสังหารกลับกลายมาเป็นเรื่องธรรมดาอีกครั้ง และยิ่งสร้างความกังวลให้เพิ่มมากขึ้น เมื่อได้รับแจ้งจากญาติพี่น้องที่พักอาศัยอยู่ภายในซอยประชาอุทิศ 29 ว่าบริเวณหน้าบ้านพักมีหมายเรียกของศูนย์อํานวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ติดไว้ที่ประตู ตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีข้อความระบุว่า ให้ไปรายงานตัวที่ ศอฉ. พร้อมระบุถึงโทษจำคุก 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หากฝ่าฝืนคำสั่ง มีลายเซ็นนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธาน ศอฉ. กำกับตอนท้าย

เก่งตัดสินใจที่จะไม่ไปรายงานตัวเพราะเกรงจะถูกจับกุม โดยเขายืนยันว่าเขาไม่ได้ทำสิ่งใดผิด และแม้ไม่มีใครเข้ามาดูแล คุ้มครองชีวิตของเขาในฐานะพยานของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ เขาก็จะอาศัย “เพื่อน” ของเขาที่คอยโอบอุ้มชีวิตของเขาต่อไป และแม้ย้อนเวลาได้ เขาก็จะทำในสิ่งที่ได้ทำลงไปแล้วโดยไม่ลังเล เพราะต้องการทวงถาม “ความยุติธรรม” ให้แก่เพื่อนของเขา รวมถึงประชาชนมือเปล่าที่เสียชีวิตในฝันร้ายอันแสนยาวนานนั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net