Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
 
“หากไม่มีการปฏิวัติในวันนั้น (19 กันยา) ณ วันนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็คงเป็นนายกฯ...คงรวยเป็นล้านล้านติดอันดับผู้ร่ำรวยที่สุดในโลก... ส.ส.พรรคไทยรักไทย...คงทำทุกอย่างเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ องค์กรอิสระถูกพันธนาการด้วยทรัพย์สิน และ พ.ต.ท.ทักษิณ คงใหญ่คับฟ้า...
ประเทศจะเป็นอย่างไร...คงจะยากจนไม่มีเงินคงคลัง...คงเกิดเหตุนองเลือดของคนไทยด้วยกันเองก่อน..หากมองว่าประเทศเป็นเช่นนี้เพราะรัฐประหารของคณะปฏิรูป... ก็ไม่เป็นธรรม (เพราะ) คณะปฏิรูปใช้ความกล้าหาญในการปฏิวัติและสิ่งที่ทำในวันนั้นถือว่าถูกต้อง หาก คมช. ไม่ทำในวันนั้นประเทศจะเลวร้ายกว่าที่เป็นอยู่นี้...การปฏิวัติเป็นแนวทางที่ถูกต้อง แต่อาจจะมีจุดอ่อนบ้าง
เพราะเราไม่ได้หวังครองอำนาจ หวังแค่มาแก้ปัญหาเท่านั้น มีการมอบอำนาจให้รัฐบาลบริหารประเทศ โดยไม่เข้าไปก้าวก่ายกันใดๆเลย....
                                                 
พล.อ. สมเจตน์ บุญถนอม หัวหน้าสำนักงานเลขาธิการ
             คณะรัฐประหาร 19 กันยา มติชนรายวัน 19 กันยายน 2552 น. 11
 
“3 ปีที่ผ่านมาคงต้องบอกว่าน่าสงสารประเทศไทย มันเกิดภาวะความขัดแย้งกันในด้านการเมือง
ขณะเดียวกัน เราเผชิญกระแสเศรษฐกิจโลกซึ่งมีปัญหามาก...ปัจจัยภายในเรื่องความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและความสามัคคีของคนในชาติเป็นสิ่งสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย...ภาคธุรกิจ นักธุรกิจยังมีความหวัง ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นในประเทศไทย เราก็อยู่ไม่หนีไปไหน เรายังคงรักประเทศไทย ตายที่ประเทศไทย พวกเราต้องช่วยกันทำ ช่วยกันแก้...
 
ดุสิต นนทะนาคร, ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
 มติชนรายวัน19 กันยายน 2552 น. 11
 
“หลักในการปกครองประเทศมี 2 อย่างสำคัญ คือ..1. การยึดถือหลักกฎหมาย กฎเกณฑ์เพื่อ
สร้างความเป็นธรรม 2…เรื่องปากท้อง นักการเมืองเข้ามาบริหารประเทศต้องดูแลประชาชน...
ในช่วงปลายรัฐบาลทักษิณ หากอดใจรอไม่ทำการรัฐประหาร อีกไม่นาน พ.ต.ท.ทักษิณก็อยู่
ไม่ได้ด้วยตัวเอง เพราะปัญหารุมเร้ามากมาย...แต่คนไทยใจร้อน สุดท้ายยิ่งเป็นการซ้ำเติมวิกฤต
                                                                                   
คณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด
            มติชนรายวัน 19 กันยายน 2552 น. 11
 
 
“1. รัฐประหารได้แก้ปัญหาเก่าที่มีอยู่ในสังคมหรือไม่ 2. ได้แก้ปัญหาตามที่อ้างไว้ในเหตุผล
ในการรัฐประหารหรือไม่ และ 3. ได้สร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาในสังคมหรือไม่...ประชาธิปไตยก่อนหน้ารัฐประหารได้สะท้อนความต้องการของประชาชน แต่ไม่สามารถจัดการปัญหาการคอร์รัปชั่นได้ แต่อำนาจรัฐประหารก็ไม่สามารถจัดการปัญหาการคอร์รัปชั่นได้เช่นกัน... แต่สิ่งที่ตามมาจากรัฐประหารครั้งนี้ทำให้เกิดเรื่องใหญ่ 2 เรื่อง คือ 1. การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ องคมนตรีและศาลเพิ่มขึ้น...สิ่งที่ตามมาก็คือ การปิดเว็บไซต์และดำเนินคดีเกี่ยวกับการหมิ่นมากขึ้น 2. เกิดปัญหาการตีความเรื่องความยุติธรรมเกิดประเด็นสองมาตรฐาน... ก่อนรัฐประหารมีการครอบงำสื่อ แต่รัฐประหาร สื่อก็เอาด้วยกับฝ่ายรัฐประหาร ไม่นำเสนอข่าวด้านอื่นมากนัก จนเกิดความขัดแย้งระหว่างเสื้อเหลืองกับเสื้อแดงเราเคยโทษว่า พ.ต.ท.ทักษิณใช้บริษัทซื้อโฆษณาสื่อ ปัจจุบัน รัฐบาลก็ซื้อโฆษณาผ่านสื่อ...
 
ดร.พิชญ์ พงศ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
                                                 มติชนรายวัน 19 กันยายน 2552 น. 11
 
“หลังรัฐประหาร ทักษิณ และ “ระบอบทักษิณ” ถูกขุดคุ้ยเบื้องหลังความเลวร้ายทั้งจริงและไม่จริงมาขยี้ขยายอย่างต่อเนื่อง เขาถูกอายัดทรัพย์... ถูกดำเนินคดีหลายคดีพรรคไทยรักไทยถูกยุบ...แต่ทักษิณสู้... ด้วยศักยภาพของเขาที่สั่งสมทั้งเงินทุนบารมีและศรัทธาจากประชาชนมานานกว่า 5 ปี สงครามระหว่างคนที่ไม่เอาทักษิณกับคนที่นิยมทักษิณจึงดุเดือดเลือดพล่าน และเผาผลาญความสงบสุขของประเทศไทยมาเป็นเวลา 3 ปีเต็ม...ความผิดพลาดที่สุดของ พล.อ.สนธิ และกลุ่มอำนาจที่ไม่เอาทักษิณ ก็คือทุกคนประเมินทักษิณต่ำไป... การใช้วิธีรัฐประหารก็เหมือนกับการเลื่อยต้นไม้ใหญ่ไม่ให้เกะกะสายตาแต่รากลึกของทักษิณทำให้ต้นไม้แห่งอำนาจของเขาเบ่งบานขึ้นอีกทักษิณ จึงฆ่าไม่ตาย...อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและกลุ่มคนที่ไม่เอาทักษิณพยายามที่จะก้าวข้ามทักษิณ แต่ผ่านไป 3 ปี ไม่มีใครก้าวข้ามพ้นทักษิณ ได้เลย... 3 ปีหลัง 19 กันยายน 2549 นอกจากคนได้รู้ว่าเบื้องหลังการรัฐประหารครั้งนี้ ซับซ้อนกว่าที่เราคิดและคนที่ร่วมในขบวนการกำจัดทักษิณ มากกว่า พล.อ.สนธิ เพียงคนเดียว การรัฐประหารยังฉุดดึงประเทศไทยสู่ความแตกร้าวอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อนไม่เคยมีครั้งใดที่คนไทยจะเกิดความขัดแย้งมากเท่าครั้งนี้สังคมแห่งรอยยิ้มกลายเป็นสังคมของความเกลียดชัง..... เวลา 3 ปีเต็มได้พิสูจน์แล้วว่าการรัฐประหารครั้งที่ผ่านมาคือความผิดพลาดที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย
                                                                       
บทความ “3 ปี 19 กันยา ก้าวข้ามแต่ไม่พ้นทักษิณ”
                                                                        มติชนสุดสัปดาห์. 18-24 กันยายน 2552 หน้า 9
 
 
 
1.
           
โลกยุคโลกานุวัตร (Globalization) ที่ดำเนินมาจนถึงขณะนี้ 19 ปีนับตั้งแต่สหภาพโซเวียต ล่มสลายและในเวลาไล่เลี่ยกันนั้นกำแพงเบอร์ลินที่กั้นกางเยอรมนีตะวันออกและตะวันตกก็พัง ทลายลง เปิดโอกาสให้ทั่วทั้งโลก (ยกเว้นเพียงบางประเทศเช่น เกาหลีเหนือ และคิวบา) หันไปใช้ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีร่วมกัน สิ่งหนึ่งที่ตามมากับระบบเศรษฐกิจที่เหมือนกันทั้งโลก (Global economy) ก็คือการสร้างมาตรฐานเดียวกันในการติดต่อค้าขายและลงทุนแต่ละด้าน และด้วยเหตุดังกล่าว ระบบการเมืองการปกครองในฐานะที่เป็นโครงสร้างส่วนบน (Superstructure) ที่บริหารจัดการระบบเศรษฐกิจในฐานะที่เป็นฐาน (Base) ก็ย่อมจะมีความมั่นคงด้วยในเชิงกติกาเหมือนๆ กัน เช่น รัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศจะเปลี่ยนทุกๆ 4 หรือ 5 ปี นั่นหมายถึงอาจมีการเปลี่ยน แปลงนโยบายการเมืองและเศรษฐกิจทุกๆ ช่วงเวลาดังกล่าว ขึ้นอยู่กับว่าพรรคใดได้รับเลือกตั้งเป็นเสียงข้างมาก หรือเป็นรัฐบาลผสม พรรคใดผสมกับพรรคใด มีนโยบายเศรษฐกิจแบบใด [1]
แน่นอน ไม่มีใครทราบสิ่งเหล่านี้ได้อย่างชัดเจนว่านโยบายเศรษฐกิจและการเมืองจะเปลี่ยนไปอย่างไร แต่สิ่งที่แน่นอนคือ กติกาของแต่ละประเทศคล้ายคลึงกัน คือ นั่นคือ ระบอบการเมืองเป็นประชาธิปไตยเหมือนกัน เช่น
1. เป็นระบอบการปกครองที่ประชาชนทุกคนมีสิทธิ เสรีภาพเท่าเทียมกัน และทุกคนมีความเสมอภาคภายใต้กฎหมายเดียวกัน ไม่มีระบบอภิสิทธิชน
2. สังคมปกครองด้วยระบบกฎหมายที่นอกจากเคารพและคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาคของทุกคน ยังเกิดจากความเห็นชอบของคนส่วนใหญ่ และไม่อาจเปลี่ยนแปลงไปมาด้วยคนเพียงไม่กี่คนโดยมีการใช้กำลังบีบบังคับและทำลายกฎเกณฑ์ที่คนส่วนใหญ่ได้กำหนดไว้
3. เป็นระบอบการปกครองที่ถูกกำหนดโดยเสียงของคนส่วนใหญ่ และเนื่องจากมีประชา กรเป็นจำนวนมาก ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยจึงได้เกิดระบบตัวแทน เพื่อเข้าไปทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ซึ่งแตกต่างกันในแต่ละประเทศ บ้างมีการเลือกตั้งโดย ตรง บ้างก็โดยอ้อม ตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งทำหน้าที่แทนประชาชนมีวาระการทำงานที่ชัด เจนเพื่อให้ประชาชนได้คัดเลือกตัวแทนเข้าทำงานตามวาระ หากไม่พอใจก็ไม่เลือกอีก หรือผลัก ดันให้ต้องลาออกไปหรือเกิดการตรวจสอบจับกุมลงโทษก่อนวาระการดำรงตำแหน่งสิ้นสุดลง
นั่นคือระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative Democracy) และเนื่องจากสังคมในระยะหลังๆมีประชากรมากขึ้น และมีอาชีพที่หลากหลาย มีผลประโยชน์มากขึ้นและสลับซับ ซ้อนมากขึ้น ตัวประชากรเองก็มีความตื่นตัวมากขึ้น และสนใจปัญหาต่างๆมากขึ้น ระบบข่าว สารและการสื่อสารพัฒนาไปทั้งปริมาณ ความเร็ว ความสะดวกและรูปแบบที่หลากหลาย สมาชิกในสังคมจึงรับรู้และสนใจกิจการบ้านเมืองมากขึ้น ได้พัฒนาความเป็นพลเมืองที่เข้มแข็งและเข้าไปมีบทบาทในการกำหนดหรือผลักดันหรือคัดค้านนโยบาย การออกกฎหมาย ตลอดจนตรวจสอบการทำงานของนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างจริงจัง เรียกว่าประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (Participatory Democracy) จะพบว่าโลกในระยะหลังๆ ประชาธิปไตยทั้งสองแบบได้เข้ามาเติมเต็มให้การเมืองมีประสิทธิภาพมากขึ้นและสามารถตอบสนองความต้องการของผู้คนได้มากขึ้น ไม่ใช่มีอย่างอื่นขาด ทิ้งอีกอย่างหนึ่ง แต่เป็นการนำเอาสิ่งที่เป็นระบบและสิ่งที่อยู่นอกระบบให้เข้ามาทำงานร่วมกัน กระทั่งทำให้ส่วนที่อยู่นอกระบบมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น และสามารถพัฒนาส่วนดังกล่าวให้เป็นระบบมากขึ้น
และ 4. รัฐโดยส่วนใหญ่มักแบ่งการบริหารออกเป็น 2 ระดับ คือ รัฐบาลกลางและการปกครองท้องถิ่น เนื่องจากปัญหาต่างๆมีความหลากหลายและสลับซับซ้อน รัฐบาลกลางจึงไม่อาจดูแลและรับผิดชอบกิจการทุกด้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ การที่ประชากรในแต่ละท้องถิ่นใกล้ชิดและรู้ปัญหาท้องถิ่นของตนเองดีกว่าคนนอก อีกทั้งมีความรู้สึกผูกพันกับท้องถิ่นของตนเอง การบริหารและจัดการท้องถิ่นโดยคนท้องถิ่นเองจึงมีความสำคัญ ด้วยเหตุดังกล่าว รูปแบบการบริหารประเทศจึงแบ่งออกเป็น 2 ระดับ และเป็นแบบประชาธิปไตยทั้งคู่ ส่วนรัฐบาลกลางจะควบคุมท้องถิ่น และกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นมากแค่ไหน ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองระดับเป็นแบบใดก็ขึ้นอยู่กับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์และดุลกำลังของแต่ละระดับในแต่ละประเทศ [2]
ตัวอย่างเช่น อังกฤษเป็นรัฐ-ชาติที่เก่าแก่มีชุมชนเมืองและท้องถิ่นที่เข้มแข็งยาวนาน มีการต่อสู้ช่วงชิงกันระหว่างราชสำนัก ชนชั้นขุนนาง ภายหลังมีชนชั้นนายทุนและชนชั้นกลางเข้าร่วม มีการสร้างรัฐจักรวรรดิที่ยึดครองอาณานิคมทั่วโลก มีรายได้มากพอที่จะกระจายสู่ท้องถิ่น และยอมให้การปกครองท้องถิ่นมีความเป็นอิสระระดับหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม เมืองและบริเวณรอบโรงงานอุตสาหกรรมได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เกิดปัญหาชีวิตความเป็นของเมืองมากมาย ทำให้เกิดความจำเป็นในการปฏิรูปการบริหารจัดการท้องถิ่น ขณะที่สหรัฐสร้างประเทศจากชาวยุโรปที่อพยพหลบหนีระบอบอำนาจนิยมไปสร้างชุมชนใหม่ในทวีปใหม่ที่เปี่ยมด้วยอุดมการณ์แบบประชาธิปไตย จึงมีการปกครองตนเองในระดับท้องถิ่น และรวมตัวกันเป็น 13 รัฐที่ต่อสู้กับนโยบายล่าอาณานิคมของอังกฤษจนได้รับเอกราช การปกครองท้องถิ่นของชุมชนในสหรัฐจึงแข็งแกร่ง มีความเป็นอิสระสูง จากนั้นจึงรวมกันเป็นรัฐต่างๆและสร้างสหพันธรัฐขึ้นมา สหรัฐจึงไม่รู้จักคำว่ากระจายอำนาจ เพราะรัฐบาลกลางเกิดหลังท้องถิ่น และแต่ละรัฐรวมกันเป็นสหรัฐอเมริกาในเวลาต่อมา กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ การปกครองท้องถิ่นที่เข้มแข็งเกิดก่อนการสร้างรัฐบาลกลางในภายหลัง ส่วนเยอรมนีเป็นแว่นแคว้นศักดินาเล็กๆจำนวนมาก ที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูงแต่เดิม แต่เนื่องจากพัฒนาอุตสาหกรรมล่าช้า ไม่อาจแข่งขันกับประเทศที่พัฒนาไปก่อนได้ ที่สุดก็กลายเป็นรัฐเผด็จการนำโดยฮิตเล่อร์ก่อสงครามเพื่อแย่งชิงอำนาจ หลังจากพ่ายแพ้ จึงถูกชาติมหาอำนาจคือ อังกฤษ ฝรั่งเศส สหภาพโซเวียต และสหรัฐแบ่งดินแดนออกเป็น 4 ส่วนให้เข้ายึดครอง และเพื่อป้องกันมิให้เยอรมนีเป็นรัฐเผด็จการที่เข้มแข็งและก่อสงครามได้อีก ประเทศที่เข้ายึดครองนำโดยสหรัฐจึงทำให้เยอรมนีเป็นสหพันธรัฐ มีกองทัพที่อ่อนแอ แต่มีประชาธิปไตยระดับชาติที่เข้มแข็ง สร้างการปกครองท้องถิ่นแบบประชาธิปไตยที่เข้มแข็งจนถึงปัจจุบัน ที่กล่าวมานี้ คือ ตัวแบบทั้ง 3 ที่แตกต่างกัน [3]
 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าลักษณะ, ที่มา และรูปแบบของประชาธิปไตยทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติของทั้ง 3 ประเทศจะแตกต่างกัน แต่ในห้วงเวลา 60 ปีเศษที่ผ่านมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง (พ.ศ. 2488) การปกครองแบบประชาธิปไตยทั้ง 2 ระดับของทั้ง 3 ประเทศต่างเข้ม แข็ง, เป็นปึกแผ่น และต่างฝ่ายต่างสนับสนุนกันในการธำรงระบอบประชาธิปไตยของประเทศไว้
 
2.
           
3 ปีที่แล้ว ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญทางการเมืองในประเทศไทย นั่นคือ การทำรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เป็นการล้มล้างรัฐบาลพรรคเดียวครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ แต่เป็นรัฐประหารครั้งที่ 10 ของประเทศนี้
            แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ประเทศไทยผ่านการทำรัฐประหารและกบฏมาแล้วถึง 21 ครั้ง ในห้วง 2 ศตวรรษที่ผ่านมา นับตั้งแต่เริ่มยุคโลกานุวัตรในปี ค.ศ. 1990 (พ.ศ. 2533) ประเทศไทยมีรัฐประหาร 2 ครั้ง ครั้งแรกยังพอเข้าใจได้เพราะเกิดขึ้นเมื่อยุคโลกานุวัตรเกิดได้ไม่นานคือ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 และประชาชนไทยได้ลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาลทหารอย่างกล้าหาญในปีถัดมา และนายทหารที่แต่งตั้งตนเองเป็นนายกรัฐมนตรีที่สั่งสังหารประชาชนที่เดินขบวนก็ต้องลาออกจากตำแหน่งไปด้วยความอัปยศ
แต่แล้วหลังจากนั้น 15 ปี คือ ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2549 ก็ได้เกิดรัฐประหารอีกครั้ง เป็นรัฐประหารที่คนจำนวนมากไม่เคยคาดคิดว่าจะเกิดขึ้นอีกแล้วในประเทศนี้ เพราะเบื่อหน่ายเหลือเกินกับการเสนอเหตุผลเก่าๆซ้ำซาก ประเภทจาบจ้วงสถาบัน, ทุจริตคอรัปชั่น, สร้างความแตกแยก ฯลฯ แต่ยึดอำนาจแล้วก็ไม่ได้แก้ไขสิ่งที่กล่าวอ้าง ซึ่งอาจเป็นเพราะเป็นเหตุผลที่ยกเมฆหรือคณะรัฐประหารไม่เคยสนใจแก้ไขปัญหาอะไรจริงจังนอกจากแสวงหาประโยชน์เพื่อตนเอง
และหลังจากการยึดอำนาจครั้งนี้ก็ไม่มีอะไรที่แตกต่างจากครั้งก่อนๆ ยกเว้นผลของการเลือกตั้งทั่วไป 1 ปีหลังจากนั้นก็สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับรัฐประ หาร และต้องการให้รัฐบาลเก่ากลับมา แม้ว่าพรรคการเมืองที่พวกเขารักจะถูกยุบไป แต่เขาก็เลือกพรรคใหม่ที่เป็นคนของพรรคเก่าให้ชนะการเลือกตั้ง นี่คือเจตนารมณ์ของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยที่เสียงส่วนใหญ่จะต้องได้รับความเคารพและเสียงส่วนน้อยต้องยอมรับกติกา และเฝ้ารอเวลาจนกว่าจะมีการเลือกตั้งครั้งต่อๆไป และระหว่างนั้น ทุกฝ่ายก็สามารถมีบทบาทตรวจ สอบการทำงานของรัฐบาลและสภาฯและแสดงความเห็นคัดค้านได้อย่างต่อเนื่อง
 
3.
 
รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และการลุกขึ้นของคนเสียงน้อยต่อต้านผลการเลือกตั้ง และทำทุกอย่างเพื่อล้มล้างรัฐบาลที่ชนะการเลือกตั้ง โดยเฉพาะใช้กำลังเข้ายึดทำเนียบรัฐบาล และสนามบิน โดยได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายอำมาตยาธิปไตยตลอดปี พ.ศ. 2551 และการต่อสู้ของกลุ่มคนเสื้อแดงเพื่อทวงประชาธิปไตยกลับคืนตลอด 9 เดือนที่ผ่านมาในปีนี้ ได้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า 3 ปีที่ผ่านมาคือ ช่วงเวลาของการต่อสู้ระหว่างระบอบประชาธิปไตยกับระบอบอำมาต ยาธิปไตย คือ ความไม่แน่นอนของระบอบการเมือง การสลับไปมาระหว่างระบอบการเมืองต่างๆเนื่องจากการต่อสู้กันยังไม่ยุติ ยังไม่มีฝ่ายใดได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาด คือระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนช่วงชิงได้มาหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปี พ.ศ. 2535 นึกว่าจะมั่นคงสถาพร แต่แล้วก็ถูกทำลาย 15 ปีหลังจากนั้น และเมื่อได้กลับคืนมา 1 ปีหลังจากนั้น อีกปีต่อมา อำนาจของประชา ชนก็ถูกปล้นไปอีกครั้งตราบจนกระทั่งบัดนี้
ด้วยเหตุดังกล่าว ครบรอบ 3 ปี ของรัฐประหาร 19 กันยายน จึงตอกย้ำอีกครั้งว่าระบอบการเมืองของไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตย หรือหากจะเป็นดังเช่นหลายปีก่อนก็ขาดความมั่นคง แม้ระบอบประชาธิปไตยจะดำเนินยาวนานจาก พ.ศ. 2538 ถึง 2549 หรือ 11 ปีติดต่อกัน แต่ในที่สุด รัฐประหารก็กลับคืนมาอีกครั้ง
หลายสิบปีก่อน ระบอบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญถูกทำลายบ่อยครั้งโดยคณะรัฐ ประหาร อย่างมากที่สุด แผ่นดินนี้ก็ถูกล้อเลียนเพียงว่าเป็นดินแดนที่มี 4 ฤดู คือ ฤดูร้อน ฤดูฝน ฤดูหนาว และฤดูรัฐประหาร ไม่ใช่ 3 ฤดูดังปรากฏในหนังสือวิชาภูมิศาสตร์ หรือถูกล้อเลียนว่า ประเทศไทยเปลี่ยนรัฐธรรมนูญบ่อยเหมือนเปลี่ยนผ้าอนามัย ฯลฯ แต่บัดนี้ โลกเดินทางเข้าสู่ยุคโลกานุวัตรมา 2 ทศวรรษแล้ว การล้อเลียนเลือนหายกลายเป็นความสงสัย ความไม่เชื่อ ไม่เชื่อว่าเหตุใดระบอบการเมืองของประเทศนี้จึงยังคงล้าหลัง ไม่ยอมหลุดพ้นจากวงจรอุบาทว์ทางการ เมือง (Vicious cycle) นั้นเสียที
           
4.
 
คำตอบก็คือ นักรัฐศาสตร์และนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์สาขาต่างๆที่ศึกษาสังคมไทยมิได้ศึกษาหาความจริงเกี่ยวกับสังคมนี้อย่างจริงจัง เช่น ตรงไหนที่กฎหมายบอกว่าตรงนี้เป็นสีขาว นักวิชาการก็บอกว่าใช่แล้ว สีขาว โดยไม่ได้ศึกษาอย่างละเอียดว่าจริงหรือไม่ ด้านหลังสีอะไร หรือเป็นสีขาวตลอดเวลาหรือไม่ ฯลฯ ตรงไหนที่กฎหมายหรือสังคมบอกว่าห้องนั้นไม่ให้เข้าไปดู หรือองค์กรนั้นอยู่นอกการค้นคว้า นักวิชาการก็เชื่อตาม ฯลฯ เมื่อมีคนป่วยไข้บ่อยครั้ง หมอศึกษาหาสาเหตุผิดพลาด อาการป่วยไข้ก็ไม่หายฉันใด สังคมที่เจ็บป่วย และการเมืองที่ล้าหลังก็ย่อมต้องประสบชะตากรรมต่อไป หากค้นหาต้นเหตุของปัญหาไม่พบ ฉันนั้น
            ตำรารัฐศาสตร์ส่วนใหญ่มักเขียนว่าระบอบประชาธิปไตยนั้นแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรม 3 มิติ คือ 1. ด้านอุดมการณ์ 2. ด้านสถาบัน และ 3. ด้านวิถีชีวิต หมายความว่า ในมิติแรก ประชาชนทั่วทั้งสังคมมีอุดมการณ์อยากได้ระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองของประเทศ ในมิติที่สอง จะต้องมีการปกครองด้วยระบบกฎหมาย เป็นนิติรัฐ เคารพกติการ่วมกัน คือ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด มีรัฐสภา มีการเลือกตั้ง มีพรรคการเมืองแข่งขันกันด้วยนโยบาย มีองค์กรต่างๆคอยตรวจสอบการบริหารงานของรัฐบาล และถ่วงดุลการใช้อำนาจ ฯลฯ และในมิติที่สาม ประชาชนในสังคมมีความเชื่อ ความคิดและท่วงทำนองแบบประชาธิปไตยในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ผู้คนเคารพกฎหมาย ไม่มีระบบอภิสิทธิ์ แต่ละคนเชื่อมั่นในสิทธิและเสรีภาพของตนเอง ไม่ละเมิดหรือลิดรอนสิทธิเสรีภาพของคนอื่นๆ ผู้ใหญ่ไม่ลิดรอนสิทธิเสรี ภาพของเด็กๆ ชายเคารพหญิงในฐานะที่ทุกคนเท่าเทียมกัน การประชุมมีการเคารพกฎเกณฑ์กติกาและใช้เสียงข้างมากในการเลือกตั้ง ผู้นำที่ได้รับการเลือกตั้งแต่ละระดับจะลาออกเมื่อถูกเปิดโปงว่าได้กระทำความผิดในการบริหารงานหรือเรื่องชีวิตส่วนตัว ฯลฯ
            ประเทศจะเป็นประชาธิปไตยได้ควรมีทั้ง 3 มิติ ตัวอย่างเช่น การกล่าวว่าแต่ละคนมีอุดม การณ์อยากให้สังคมเป็นประชาธิปไตย มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ มีการอนุญาตให้จัดตั้งพรรคการเมือง การแข่งขันกันหาเสียง และการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีการจัดตั้งองค์ กรต่างๆจำนวนมาก แต่ปรากฏว่าได้มีกลุ่มบุคคลบางกลุ่มเดินขบวนขอร้องให้อำนาจนอกระบบออกมาล้มระบอบประชาธิปไตย และเมื่อได้เกิดการรัฐประหาร มีหลายคนที่ไปชื่นชมยินดีกับฝ่ายรัฐประหาร และมีคนออกมาคัดค้านการกระทำอันผิดกฎหมายนี้น้อยมาก ฯลฯ ตัวอย่างที่ยกมานี้เห็นได้ชัดว่า อุดมการณ์ของผู้นำและประชาชนต่อระบอบประชาธิปไตย ยังแข็งแกร่งไม่พอที่จะลุกขึ้นมาคัดค้านรัฐประหาร ยังมีผู้นำและประชาชนจำนวนที่จะต่อสู้เพื่อปกป้องประชาธิปไตย สถาบันทางการเมืองต่างๆรวมทั้งรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดนั้นเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมา เป็นสิ่งที่ประดิษฐ์ขึ้น เมื่อใจไม่ปรารถนา สถาบันเหล่านั้นก็หมดความหมาย เมื่อทหารนำรถถังออกมา โดยไม่มีใครคัดค้าน ข้าราชการก็ไม่ประท้วง สถาบันที่อยู่ในระบอบประชาธิปไตยก็หมดความหมาย และเมื่อวิถีชีวิตของผู้คนสวนทางกับประชาธิปไตย ความรู้สึกนึกคิดและการกระทำเป็นแบบเผด็จการ ฯลฯ ระบอบประชาธิปไตยก็ไม่อาจดำรงอยู่ต่อไปได้
            นอกจากเราจะมองประชาธิปไตยแบบแนวราบ ที่มองเห็น 3 มิติ หรือ 3 ด้าน (คือด้านจุดมุ่งหมาย ด้านสถาบัน และด้านการปฏิบัติหรือท่วงทำนอง) เราอาจมองประชาธิปไตยได้อีกแนวหนึ่ง คือ แนวดิ่ง นั่นคือ มองว่าระบอบประชาธิปไตยสามารถแบ่งได้เป็น 2 ระดับ คือ ระดับชาติและระดับท้องถิ่น และประชาธิปไตยควรมีอยู่ในทั้ง 2 ระบอบนี้
 
5.
 
77 ปีที่ผ่านมา ระบอบการเมืองไทยขาดเสถียรภาพ มีการสลับไปมาระหว่างระบอบอำนาจนิยมกับระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งถูกโค่นล้มด้วยรัฐประหารถึง 10 ครั้ง มีกบฏรวม 11 ครั้ง มีการลุกขึ้นของประชาชนต่อต้านอำนาจนิยมครั้งใหญ่ 3 ครั้ง และมีรัฐ ธรรมนูญรวม 18 ฉบับ
            ขณะที่ประชาธิปไตยระดับชาติล้มลุกคลุกคลาน ประชาธิปไตยท้องถิ่นกลับอยู่ในสภาพที่ยากลำบากยิ่งกว่าหลายเท่า เพราะยังไม่ทันได้ปฏิสนธิ ก็ถูกถุงยางอนามัยสกัดกั้นเสียแล้ว
ในสังคมยุคศักดินา นักวิชาการสำนักวัฒนธรรมชุมชนพูดถึงความรักความสามัคคีและความเป็นพี่น้องกันของสังคมชนบท และยกย่องสภาพดังกล่าวพร้อมกับเชิดชูให้สังคมสมัยใหม่หวนกลับไปหาหรืออนุรักษ์วัฒนธรรมชุมชนไว้ต่อไป ในความเป็นจริง นั่นเป็นเพียงสายสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมของชุมชนหมู่บ้าน เป็นความรักความอบอุ่นในหมู่ไพร่ทาสที่อยู่ร่วมกันในชนบท สำนักวัฒนธรรมชุมชนละเลยความสัมพันธ์ทางชนชั้นในสังคมศักดินายุคนั้น ไม่ยอมมองว่าคนในชนบทถูกกดขี่ขูดรีดโดยชนชั้นเจ้าที่ดินที่อยู่ในเมือง ไม่ยอมความสัมพันธ์ทางอำนาจในสังคม ที่ว่าชาวนาเป็นไพร่ หรือทาส ไพร่ทาสที่ไม่มีสิทธิเสรีภาพ ไม่มีที่ดินทำกินของตนเอง ต้องทำนาของคนอื่น ต้องทำงานรับใช้เจ้านาย และเมื่อรัฐต้องการแรงงานและทำสงคราม ไพร่ทาสก็จะถูกเกณฑ์ไปทำงานและทำการสู้รบโดยไม่เคยรับค่าตอบแทนใดๆ [4]
สังคมศักดินาไทยไม่มีเสรีชน ทุกคนมีสังกัด ต้องทำงานรับใช้เจ้านาย คือ ขุนนาง หรือวัด หรือวัง สังคมมีทาสรับใช้ มีไพร่หลวง ไพร่สม ไพร่ส่วย ระบบนายสิบ นายร้อย นายพันในหมู่บ้านต่างๆมาจากการแต่งตั้งโดยเจ้านาย คนเหล่านั้นทำหน้าที่ควบคุมกำลังไพร่พลในแต่ละหมู่บ้านและตำบล สังคมดังกล่าวไม่มีการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่มีลักษณะการจัดการแบบประชาธิปไตยอย่างน้อย 2 อย่างปรากฏในเอกสารประวัติศาสตร์ คือ 1. ชุมชนมีที่ดินส่วนรวม (ที่ภาษาล้านนาเรียกว่า ของหน้าหมู่) เช่น ในป่าหรือบริเวณรอบๆหมู่บ้านที่ใครสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ แต่ไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของและผูกขาดการใช้ เหตุใด ยุคนั้น รัฐไม่เข้าไปครอบครองที่ดินในเขตป่าเขาทุกแห่ง เช่นปัจจุบัน คำตอบคือเพราะรัฐในอดีตมีเครื่องไม้เครื่องมือและกำลังจำกัด แม้จะประกาศว่าป่าเขาทั้งหมดเป็นของรัฐ แต่รัฐก็ไม่มีกำลังมากพอที่จะไปดูแลมิให้คนอื่นเข้าไปใช้สอย เพียงการล้อมรั้ว หรือปักป้าย รัฐก็ไม่มีความสามารถพอ เราจะเห็นว่าสงครามของรัฐศักดินาในอดีต มีทั้งการยึดครองไพร่พล ทรัพย์สิน และที่ดิน จะพบว่าเมื่อมีปัญหาหลายอย่าง ก็ทำได้เพียงขั้นแรกคือกวาดต้อนผู้คนและทรัพย์สินกลับไป ขั้นที่สอง เข้ายึดครองพื้นที่ปล่อยให้คนในพื้นที่นั้นปกครองกันเอง และส่งบรรณาการให้แก่รัฐที่ชนะตามเวลาที่กำหนด ขั้นที่สาม ส่งคนไปปกครองเพื่อควบคุมโดยตรง และจัดระบบการบริหาร จะขนทรัพย์สิน กำลังไพร่พล หรืออย่างอื่นกลับไปปีละเท่าใด ฯลฯ จากขั้นที่สามจึงพัฒนาไปสู่ขั้นที่ลึกซึ้งกว่านั้น นั่นคือการส่งบุคลากรจำนวนมากเข้าไปควบคุมและเปลี่ยนแปลงท้องถิ่นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อผลประโยชน์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
2. การจัดการระบบเหมืองฝาย ชาวนาในแต่ละหมู่บ้านหรือคนที่ใช้ประโยชน์จากเหมืองฝายแห่งหนึ่งจะเลือกกรรมการบริหารและหัวหน้าเหมืองเพื่อดูแลรับผิดชอบปริมาณน้ำที่ชาวนาแต่ละคนในย่านนั้นจะได้รับด้วยความเสมอภาคกัน และมีกฎเช่น หัวหน้าเหมืองจะต้องเป็นคนท้ายเหมืองเพื่อจัดระบบการจัดสรรน้ำให้สมาชิกที่อยู่ท้ายเหมืองได้รับปริมาณน้ำอย่างยุติธรรม มิใช่กักน้ำไว้ให้สมาชิกที่อยู่ตอนเหนือทั้งหมด และเมื่อสิ้นสุดฤดูการเก็บเกี่ยว สมาชิกแต่ละคนก็จะนำข้าวมาแบ่งปันให้ผู้รับผิดชอบเหมืองฝายทุกคนเป็นค่าบริหารระบบการแบ่งสรรน้ำ โปรดสังเกตว่า นี่คือ ระบบการบริหารจัดการน้ำ ที่เป็นแบบประชาธิปไตย แต่โครงสร้างทางอำนาจที่เกี่ยวกับการถือครองปัจจัยการผลิตก็ยังเป็นเช่นเดิม คือ เจ้าของที่ดินเป็นผู้ปกครอง คนที่ไม่มีที่ดินทำกินก็คือราษฎรผู้ถูกปกครอง น่าสนใจเพียงว่าระบบศักดินาปล่อยให้การจัดการปริมาณน้ำเป็นแบบประชาธิปไตย แต่การถือครองที่ดินอันเป็นปัจจัยการผลิตหลักตลอดจนการแบ่งปันผลผลิตกลับมีลักษณะชนชั้นและไม่เป็นประชาธิปไตย [5]
            เมื่อสังคมไทยเคลื่อนตัวเข้าสู่ยุคทุนนิยม โดยมีการยกเลิกระบบไพร่-ทาส แต่ความสัม พันธ์แบบเดิมระหว่างเจ้าที่ดินกับผู้เช่าที่ดินยังอยู่ ที่ดินส่วนใหญ่ยังอยู่ในมือของเจ้าที่ดิน ไม่มีการปฏิรูประบบการถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดิน คนที่ไม่ต้องเช่าที่ดินก็คือคนที่บุกรุกเข้าไปแผ้วถางพื้นที่ป่าเขา โรงงานที่เกิดขึ้นใหม่ได้ต้อนรับแรงงานเสรีที่เคยเป็นไพร่-ทาส ขณะเดียวกัน อำนาจการปกครองที่เคยเป็นของเจ้าเมืองในท้องถิ่นก็ถูกยึดครองโดยรัฐ และรัฐได้แต่งตั้งข้าราชการจากส่วนกลางไปดูแลท้องถิ่นทุกระดับ สำหรับผู้ใหญ่บ้านและกำนันที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชา ชน แต่หลังจากนั้น เนื่องจากพวกเขาอยู่ในตำแหน่งจนเกษียณอายุโดยไม่มีการเลือกตั้งทุกๆ 4-5 ปี ตำแหน่งของผู้นำท้องถิ่นทั้งสองประเภทในทางปฏิบัติจึงเป็นเสมือนข้าราชการส่วนภูมิภาค พวกเขาไม่ใช่ส่วนหนึ่งของการปกครองท้องถิ่น แต่ทำงานรับใช้คำสั่งของส่วนกลางเป็นหลัก [6]
            ด้วยเหตุนี้ ท้องถิ่นจึงขาดอำนาจในการบริหารและจัดการตนเอง อำนาจหลักอยู่ในมือของข้าราชการแต่งตั้ง สุขาภิบาลที่ควรจะเป็นของท้องถิ่นก็อยู่ในมือของข้าราชการแต่งตั้ง เมื่อบวกเข้ากับการที่วัดทั่วประเทศสังกัดกรมศาสนา โรงเรียนทุกระดับสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ หลักสูตรทั้งหมดถูกส่วนกลางกำหนด อำนาจการจัดการถนน สะพาน แม่น้ำ ไฟฟ้า ป่าไม้ แร่ธาตุ และทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆถูกครอบครองและควบคุมโดยกรมกองและกระทรวงต่างๆซึ่งสังกัดรัฐบาลกลาง เทศบาลที่ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2476 สุขาภิบาลที่ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2495และองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2498 ฯลฯ ถูกควบคุมโดยข้าราชการส่วนภูมิภาคโดยเฉพาะนายอำเภอและผู้ว่าฯ (นายอำเภอเป็นประธานสุขาภิบาล และผู้ว่าฯเป็นนายก อบจ. โดยตำแหน่ง) ก็เท่ากับว่าสังคมนี้ไม่มีประชาธิปไตยระดับท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นด้านไหน
เมื่อบวกกับคำสั่งที่ห้ามพูด เรียนเขียนอ่านภาษาท้องถิ่นโดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคอีสาน รัฐที่รวมศูนย์อำนาจเช่นนี้จึงเข้าไปยึดกุมชีวิตแทบทุกๆด้านของท้องถิ่น ข้าราชการส่วนภูมิภาคดูแลรับผิดชอบงานแต่ละด้านในท้องถิ่น แต่พวกเขามาอยู่ในแต่ละท้องที่ไม่กี่ปีก็ย้ายไปจังหวัดอื่น ชีวิตการทำงานของพวกเขาจึงเน้นที่การเรียนรู้ปัญหา แต่ไม่ต้องรับผิดชอบปัญหา การพยายามปรับตัว การรอฟังคำสั่ง การไม่กล้าคิดงานใหม่ๆ กระทั่งกลายเป็นความเคยชินที่จะทำ งานไปเรื่อยๆ คอยรอรับและดูแลผู้บังคับบัญชาที่เดินทางเข้ามาดูงานหรือท่องเที่ยวในพื้นที่ หรือวิ่งเต้นที่จะย้ายไปจังหวัดที่ตนเองปรารถนาหรือขอเลื่อนตำแหน่ง หรือเสียเวลาแก้ไขปัญหาครอบครัวที่ต้องอยู่ห่างกัน ฯลฯ แต่ก็ไม่เป็นปัญหาเพราะได้รับเงินเดือนสม่ำเสมอ มีการขึ้นเงิน เดือนเป็นระยะๆ ระบบข้าราชการส่วนภูมิภาคที่บริหารแต่ละท้องถิ่นจึงไม่อาจแก้ไขปัญหาหลักๆของท้องถิ่นได้ มีเพียงการสรรหาคำพูดเพราะๆประเภท ”กำลังหาทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน” “เราให้ความสนใจปัญหาเหล่านี้มาก” “ชุมชนต้องเข้มแข็ง” “ประโยชน์สุขของประชาชนคือเป้าหมายหลัก” ฯลฯ เพื่อให้คนพูดดูดี ดูมีความรับผิดชอบสูงและมุ่งมั่นในการทำงานเพื่อส่วนรวม
            ปรากฏการณ์ที่ดำเนินตลอดมา คือ ระบบการทำงานของข้าราชการส่วนภูมิภาคไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญ มีแต่เพิ่มจำนวนข้าราชการมากขึ้น มีหน่วยงานเพิ่มมากขึ้น แทนที่จะกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นให้มากขึ้น
อำนาจที่เพิ่มขึ้นจากการรวมศูนย์อำนาจสู่ส่วนกลาง ด้านหนึ่ง ทำให้กระทรวงมหาดไทยผลักดันกฎหมายกำหนดรูปแบบการจัดตั้งองค์กรท้องถิ่นที่เป็นแบบเดียวกันทั้งประเทศ โดยไม่เปิดโอกาสให้ท้องถิ่นเลือกจัดรูปแบบการบริหารของเขาเอง และการเปลี่ยนแปลงแก้ไขใดๆที่ริเริ่มจากท้องถิ่นแทบเป็นไปไม่ได้เลย อีกด้านหนึ่ง การเติบโตดังกล่าวตั้งแต่สมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ในทศวรรษที่ 2500 ได้ทำให้แต่ละกระทรวงมีทั้งอำนาจ งบประมาณ ภารกิจ และบุคลากรเพิ่มขึ้น ผลก็คือรัฐไทยกลายเป็นรัฐรวมศูนย์อำนาจมากแต่อำนาจแยกออกเป็นส่วนๆ (Fragmented) ตามกระทรวงต่างๆ ด้านที่เหมือนกันที่รวมศูนย์อำนาจและหาประโยชน์ใส่ตัว แต่ด้านที่ต่างกันคือ นโยบายและการทำงานขาดความเป็นเอกภาพ การแก้ไขปัญหาและแผนการการจัดการท้องถิ่นต่างๆขึ้นอยู่กับแต่ละหน่วยงาน ดังจะพบเห็นกรณีถนนหลายสายมีการขุดตลอดปีเพราะมีงานหลายอย่าง และงบประมาณได้รับการอนุมัติหรือเบิกจ่ายไม่พร้อมกัน เป็นต้น [7]
            เมื่อประชาชนไม่สามารถควบคุมการบริหารงานใดๆของส่วนภูมิภาค เพราะข้าราชการส่วนภูมิภาคมาจากการแต่งตั้ง ประชาชนไม่มีอำนาจในการเลือกตั้งใดๆ รูปแบบการทำงาน การกำหนดนโยบายและเป้าหมาย ตลอดจนงบประมาณรวมทั้งบุคลากรจึงถูกกำหนดจากส่วนกลางเป็นหลัก ไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลง ขบวนการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯในทศวรรษที่ 2510 และทศวรรษที่ 2530 จึงไม่เคยประสบผลสำเร็จเลย แม้แต่จังหวัดเดียว การเปลี่ยนแปลงการปกครองท้องถิ่นที่พัทยา (เป็นรูปแบบผู้จัดการเมือง) ในปี พ.ศ. 2518 และการกำหนดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ในปี พ.ศ. 2521 ทั้งสองอย่างนี้เกิดจากการริเริ่มของกระทรวงมหาดไทยซึ่งดูแลและรับผิดชอบการปกครองท้องถิ่น เนื่องจากเมืองพัทยาสกปรกมาก และกรุงเทพฯเป็นเมืองที่ใหญ่เกินไป ต้องเผชิญปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้นๆๆ จึงมีการนำเอารูปแบบจากต่างประเทศมาใช้ เป็นการเปลี่ยนแปลงจากบนสู่ล่าง แต่เมื่อประชาชนในท้องถิ่นเรียกร้องขอสิทธิในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ส่วนกลางกลับบอกว่าเป็นไปไม่ได้ [8]
 
6.
 
ในช่วงเวลา 11 ปีที่รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง (พ.ศ. 2538-2549) ไม่มีกบฏหรือรัฐประหาร แต่มีรัฐธรรมนูญฉบับ ปี 2540 ที่ได้รับการยกย่องมากว่าเป็นประชาธิปไตยมากกว่าฉบับอื่นๆ สังคมไทยเขยิบเข้าสู่การเมืองแบบประชาธิปไตย 2 ระดับขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งเนื่องจากการที่รัฐธรรม นูญฉบับ พ.ศ. 2540 กำหนดให้มีการสถาปนาประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่น เช่น ให้มีกฎหมายกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น (มาตรา 284); สมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นจะต้องมาจากการเลือกตั้ง (มาตรา 285); องค์กรปกครองท้องถิ่นมีหน้าที่บำรุงรักษาศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น (มาตรา 289); และจัดการและบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ (มาตรา 290)
            กฎหมายสูงสุดฉบับดังกล่าวได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญต่อท้องถิ่นเป็นลำดับ เช่น การจัดตั้ง อบต. เริ่มในปี 2537; การเลือกตั้งนายก อบจ. โดยอ้อม (พ.ศ. 2541); การกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ (พ.ศ. 2542); พ.ร.บ.การเลือกตั้งนายกเทศมนตรีโดยตรง (พ.ศ. 2543); พ.ร.บ.การเลือกตั้งหัวหน้าฝ่ายบริหารท้องถิ่นโดยตรงทุกระดับ พ.ศ. 2546 ด้วยเหตุนี้ จึงได้เกิดการปฏิรูปครั้งสำคัญในระดับท้องถิ่นของประเทศในช่วงเวลาที่สังคมไทยไร้รัฐประหารและกบฏ จากสถิติที่รวบรวมได้ล่าสุด ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2551 องค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.)ทั่วประเทศมีจำนวน 7,853 แห่ง เป็นการปกครองรูปแบบพิเศษ 2 แห่ง, อบจ. 75 แห่ง อบต. 6,157 แห่ง และเป็นเทศบาล 1,619 แห่ง หมายความว่าทั่วประเทศมีนายก อบจ. นายก อบต. และนายกเทศ มนตรีเทศบาล (ทั้ง 3 ระดับคือนคร-เมืองและตำบล) ทั้งหมดรวมกันถึง 7,853 คน คนเหล่านี้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน มีความใกล้ชิดกับประชาชน และดำรงตำแหน่ง 4 ปีก็ต้องให้ประชาชนตัดสินอนาคตของพวกเขาอีกครั้ง ยังไม่นับจำนวนสมาชิกสภาท้องถิ่นขององค์กรเหล่านั้นซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนเช่นกันรวมประมาณ 20,000 คน [9]
            เมื่อเรานำเอาแนวคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตย 3 มิติมาใช้ จะพบว่า การเกิดขึ้นของ อปท. จำนวนเกือบ 8 พันแห่งทั่วประเทศเป็นการเปลี่ยนของมิติที่ 2 นั่นคือ การเปลี่ยนด้านสถาบัน กล่าวคือ มีองค์กรในท้องถิ่นเกิดขึ้นทั่วประเทศ ขณะเดียวกัน ก็มีการเปลี่ยนแปลงของมิติแรกบ้าง นั่นคือ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ต้องการเห็นการกระจายอำนาจ จึงกำหนดให้มีการออกกฎหมายกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ ขณะเดียวกัน ก็มีการเปลี่ยนแปลงของมิติที่ 3 ด้วย เช่น ประชาชนในท้องถิ่นสามารถเลือกตัวแทนของเขาเข้าไปเป็นสมาชิกในสภาท้องถิ่น สามารถเลือกหัวหน้าฝ่ายบริหารเข้าไปบริหารงานของท้องถิ่น สามารถกำหนดโครงการ แผนงาน และงบประมาณ สามารถคัดค้านโครงการที่ตนเองไม่เห็นด้วย และต่อจากนี้ คนในท้องถิ่นได้ตระหนักว่าการบริหารท้องถิ่นหลายส่วนจะสำเร็จได้ด้วย อบต. หรือเทศบาล และ อบจ. งานหลายอย่างไม่ต้องพึ่งพาอำเภอหรือจังหวัดซึ่งเป็นหน่วยราชการส่วนภูมิภาคอีกต่อไป ในอดีต ชาวบ้านเคยร้องของบฯช่วยเหลือการพัฒนาโครงการต่างๆ ต้องรอแล้วรอเล่า ก็ไม่มา บัดนี้ พวกเรารู้แล้ว ว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นทั้งด้านความคิด สถาบัน และวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นเอง ฯลฯ
            อย่างไรก็ตาม การรวมศูนย์อำนาจที่ยาวนาน, มากเกินไป และแยกออกเป็นส่วนๆ ในสังคมไทยดังที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น ได้ส่งผลกระทบหลายด้านที่การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นไม่อาจเกิดขึ้นอย่างขนานใหญ่ในเวลาอันสั้น ตัวอย่างเช่น
            ประการแรก ในด้านอุดมการณ์ การรวมศูนย์อำนาจมากเกินไปและยาวนานเกินไปในด้านการศึกษาและวัฒนธรรมทำให้คนทั่วประเทศรู้จักแต่ชาติ แต่มีความรู้ความเข้าใจน้อยมากเกี่ยวกับท้องถิ่นของตนเอง เช่น ทุกอย่างนอกบ้านของตนเองเป็นของหลวง ไม่มีอะไรที่เป็นของท้องถิ่น วัดเป็นของกรมศาสนา โรงเรียนเป็นของกรมสามัญ ถนนเป็นของกรมทางหลวง โบราณสถานเป็นของกรมศิลปากร ฯลฯ ด้วยเหตุนั้น คนท้องถิ่นจำนวนมากจึงไม่เห็นคุณค่าของของเก่า ไม่รู้จักประวัติหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ไม่เห็นคุณค่าหรือขอความรู้จากคนแก่ เห็นทุกอย่างในท้องถิ่นเป็นของล้าสมัย เมื่อไม่รู้ไม่เห็นคุณค่า ก็ขาดความรักและความภาคภูมิใจต่อท้องถิ่นของตนเอง ขาดอุดมการณ์ ขาดความมุ่งมั่นที่จะอุทิศตนเองเพื่อแผ่นดินเกิด ฯลฯ
ประการที่สอง ขาดความรู้และประสบการณ์ในการบริหารจัดการ เพราะท้องถิ่นอยู่ใต้การปกครองของผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอและผู้ว่าฯ ซึ่งต้องขึ้นต่อการแต่งตั้งและการบังคับบัญชาจากส่วนกลาง ขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนในท้องถิ่น ไม่เคยมีการร่วมคิดร่วมวางแผนร่วมทำ ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่จึงเป็นคนเกาะรั้วยืนดู ถูกปิดกั้นโอกาส ขาดความรู้และประสบการณ์มาเป็นเวลานาน ทุกอย่างกลายเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ รอคอยฝนจากฟ้า ไม่มีงบ ก็ทำอะไรไม่ได้ หรือจะทำอะไรก็ต้องได้รับอนุญาต ระยะหลังๆ มีการประชุมที่จ่ายเบี้ยเลี้ยง มีการเกณฑ์ให้ไปที่ตัวจังหวัดหรือที่กรุงเทพฯ ได้ไปเที่ยวทะเล ได้รับเงิน มีการแจกสิ่งของ ฯลฯ งานส่วนรวมจึงกลาย เป็นงานจ้างวาน รัฐและผู้มีฐานะจากส่วนกลางมีเมตตานำเสื้อกันหนาวและผ้าห่มไปแจก จนถึงบัดนี้ก็ยังมีข่าวการแจกสิ่งของ แทนที่จะให้ท้องถิ่นดูแลตัวเอง ช่วยเหลือตัวเอง ฯลฯ
ประการที่สาม ขาดทั้งอุดมการณ์และมากด้วยผลประโยชน์ส่วนตัว ไม่ว่าท้องถิ่นไหนก็เหมือนกับครอบครัวหรือปัจเจกชน นั่นคือ การช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่เนื่องจากท้องถิ่นถูกลิดรอนอำนาจมานาน ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ด้านการศึกษา สาธารณสุข วัด ตำรวจ และการบริหารดูแลทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและศิลปวัฒนธรรมเกือบทั้งหมดเป็นข้าราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคที่คุ้นชินกับระบบการบริหารแบบรวมศูนย์อำนาจมานาน ได้รับประโยชน์ทั้งอำนาจและชื่อเสียงตลอดจนความหวังที่จะก้าวหน้าในสายอาชีพ อีกทั้งการศึก ษาและวัฒนธรรมในอดีตไม่เคยอธิบายความสำคัญและบทบาทของท้องถิ่น มีแต่ดูถูกท้องถิ่นและคนท้องถิ่น เน้นแต่บทบาทและอำนาจของข้าราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ระบบราชการจึงขาดทั้งความคิดที่จะกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ถ่ายโอนภารกิจต่างๆให้แก่ อปท. ยกมาตรฐานหรือกฎเกณฑ์ต่างๆมากมายขึ้นมาเพื่อป้องกันมิให้เกิดการกระจายอำนาจ หรือถ่วงเวลาการกระจายอำนาจ และทั้งหวั่นเกรงว่าผลประโยชน์และอำนาจที่เคยได้รับจะลดลงหากมีการกระจายอำนาจ อีกด้านหนึ่งก็คือเพราะดูถูกดูหมิ่นท้องถิ่นมานาน จึงไม่เคิยคิดว่า คนท้องถิ่นจะมีความรู้ความ สามารถในการบริหารจัดการกิจการเหล่านั้นได้ดีพอ
ประการที่สี่ ขาดความมุ่งมั่นทางการเมืองที่จะผลักดันภารกิจนี้ให้บรรลุผล ที่ผ่านมา สังคมไทยยังไม่เคยมีรัฐบาลใดที่แสดงเจตนารมณ์อย่างแรงกล้าและแสดงความมุ่งมั่นทางการเมือง(Political commitment) ที่จะกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น พรรคการเมือง 4 พรรคที่ชนะการเลือกตั้งและร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลในปี พ.ศ. 2538 ได้ประกาศหาเสียงว่าจะจัดการเลือกตั้งผู้ว่าฯโดยประชาชน แต่ทำได้เพียงหาเสียง รัฐบาลในระหว่างพ.ศ. 2544-49 โดดเด่นในด้านนโยบายเศรษฐกิจสำหรับคนระดับล่าง และได้ปฏิรูปการปกครองท้องถิ่นด้านสถาบัน แต่ขาดด้านการให้การศึกษาและวัฒนธรรมเกี่ยวกับการกระจายอำนาจแก่สังคมไทย
ปัญหาทั้ง 4 ข้อโดยเฉพาะข้อสุดท้ายเกี่ยวพันโดยตรงสภาวะ 3 ด้านทางการเมือง คือ หนึ่ง รัฐรวมศูนย์อำนาจยาวนานได้สร้างปัจจัยต่างๆไว้มากมายซึ่งขึ้นต่อและกลายเป็นแรงต้านมิให้เกิดการกระจายอำนาจ สอง การแทรกแซงทางการเมืองของกองทัพหลายครั้งไม่เพียงแต่ทำลายความเข้มแข็งของพรรคการเมืองและพลังประชาธิปไตย แต่ได้ทำให้ฝ่ายประชาธิปไตยหันไปสนใจผลประโยชน์เฉพาะหน้าหรือปัญหาเร่งด่วนอื่นๆ จนในที่สุด ก็ไม่สนใจประเด็นการกระจายอำนาจเพราะเกรงจะได้รับการต่อต้านจากระบบราชการซึ่งเป็นเครื่องมือของการรัฐประหาร และ สาม ฝ่ายรัฐประหารหรือฝ่ายอำมาตยาธิปไตยได้เล็งเห็นบทบาทของระบบราชการในการควบคุมอำนาจทางการเมืองและอำนาจการบริหาร จึงได้ส่งเสริมให้ระบบราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคแข็งแกร่ง และให้รางวัลทุกครั้งที่เกิดรัฐประหาร และไม่เคยส่งเสริมการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ปัจจัยทั้งสามส่วนนี้หนุนเนื่องกัน และทั้งไม่เคยสนใจพัฒนาประชาธิปไตยระดับท้องถิ่น
 
7.
 
ขอยกตัวอย่างในห้วง 5 ปีที่ผ่านมาสัก 8 กรณีที่ชี้ให้เห็นว่าแม้จะมีการสถาปนาการปกครองท้องถิ่นขึ้นมาแล้วในสังคมไทย แต่ประชาธิปไตยระดับท้องถิ่นก็ยังมีข้อจำกัดจำนวนมาก โดยเฉพาะความอ่อนแอด้านอุดมการณ์และวัฒนธรรมทางการเมืองจนส่งผลต่อวิถีชีวิตของผู้คน
กรณีแรก ปัญหาเชียงใหม่ หากศึกษาเอกสารของแต่ละฝ่าย จะพบว่าไม่มีใครมองเห็นความหนักหน่วงของปัญหาเอกนครระดับภูมิภาคของเมืองนี้ (Regional primate city) ที่ยังคงไม่ได้รับการแก้ไข และการเติบโตของอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจบนถนนนิมมานเหมินท์โดยทุนและลูก ค้าจากกรุงเทพฯ ในช่วง 2-3 ปีมานี้ สะท้อนให้เห็นว่าความแตกต่างระหว่างรายได้ของชนชั้นสูงและชนชั้นล่างตลอดจนการที่เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางทุกอย่างของภาคเหนือและอำนาจของท้องถิ่นที่มีข้อจำกัดเปิดโอกาสให้ทุนที่มีกำลังเหนือกว่าและลูกค้าที่มีกำลังซื้อจากส่วนกลางเลือกใช้จุดๆหนึ่งนอกกรุงเทพฯเพื่อบรรลุภารกิจของตน
คนที่ไปเยือนเชียงใหม่จะพบความเป็นกรุงเทพฯหลายด้าน เช่น สภาพรถติดที่นับวันรุน แรง กรุงเทพฯน้อยที่ถนนและซอยย่านนิมมานเหมินท์ และสภาพของเมืองที่โฆษณาว่าเป็นเมืองเก่าแก่ เป็นศูนย์กลางศิลปวัฒนธรรมล้านนา แต่แทบไม่เห็นลักษณะเหล่านั้นหลงเหลืออยู่อย่างเป็นธรรมชาติ ไม่มีใครสนใจข้อเสนอที่ให้แบ่งเขตเมืองกับเมืองใหม่ออกจากกัน ให้เขตเมืองเก่าหลงเหลือความเป็นเมืองเก่าไว้ ส่วนเมืองสมัยใหม่ให้ไปสร้างที่อื่น เช่น ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง ฯลฯ แยกกันชัดเจน ทั้งหมดนี้ตอกย้ำความอ่อนแอของการปกครองท้องถิ่น หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือการปกครองท้องถิ่นเพิ่งเริ่มต้นเมื่อไม่นานนี้เอง ส่วนการบริหารส่วนภูมิภาคที่มีมายาวนานนับร้อยปีไม่เคยปกป้องอัตลักษณ์ของท้องถิ่น แต่เป็นเครื่องมือที่รับใช้ส่วนกลางอย่างซื่อสัตย์ตลอดมา หลายคนมองว่า เชียงใหม่นับวันจะเป็นกรุงเทพฯมากขึ้น ไม่มีอัตลักษณ์ของเชียงใหม่อีกต่อไป แต่อีกฝ่ายหนึ่งก็อธิบายว่า การปกครองแบบเมืองขึ้นก็ย่อมเป็นเช่นนี้แหละ [10]
กรณีที่สอง ปัญหาปัตตานี รัฐปัตตานีเคยเป็นอิสระเช่นเดียวกับรัฐล้านนาในภาคเหนือ แต่ได้ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของสยามรัฐในปี พ.ศ. 2328 (รัชกาลที่ 1) และตกอยู่ใต้ระบบเทศาภิ บาลในสมัยรัชกาลที่ 5 แม้ว่าท้องถิ่นต่างๆจะลุกขึ้นต่อต้านการทำลายท้องถิ่นและการรวมศูนย์อำนาจ เช่นกรณีกบฏผีบุญในภาคอีสาน กบฏแพร่ในภาคเหนือ และกบฏพระยาแขก 7 หัวเมืองที่ปัตตานีในปี พ.ศ. 2445 และแม้ว่าจะถูกปราบปรามอย่างรุนแรง แต่จิตใจและอัตลักษณ์ของท้อง ถิ่นหาได้หมดสิ้นไปไม่ การบริหารท้องถิ่นด้วยระบบเทศาภิบาลและระบบบริหารราชการส่วนภูมิภาคหลังจากนั้นได้พัฒนาไปตามแนวคิดที่ Lord Acton (ค.ศ. 1834-1902) ได้กล่าวไว้คือ “อำนาจย่อมก่อให้เกิดการฉ้อฉล ยิ่งมีอำนาจมาก การฉ้อฉลอำนาจก็ยิ่งมีมากขึ้น” เมื่อขุนนางถูกส่งไปปกครองในท้องถิ่น ห่างไกลจากการควบคุมและตรวจสอบของอำนาจรัฐส่วนกลาง การกดขี่ข่มเหงผู้ถูกปกครองจึงเกิดขึ้น ยิ่งพี่น้องส่วนใหญ่ในดินแดน 7 หัวเมืองนับถือศาสนาและพูดภาษาที่ต่างออกไป มีขนบธรรมเนียมประเพณีที่ต่างออกไป การดูถูกเหยียดหยาม การไม่เคารพต่อท้อง ถิ่นและการใช้อำนาจบาตรใหญ่จึงเกิดขึ้น กลายเป็นความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ [11]
จากการเปิดเผยของศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี เหตุการณ์รุนแรงในพื้นที่ 4 จังหวัดคือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา นับตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2547 จนถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2552 มีเหตุการณ์ยิง ระเบิด วางเพลิงและการก่อกวนอื่นๆ รวมถึง 8,908 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 3,471 คน บาดเจ็บ 5,740 คน รวมผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐเกือบ 1 หมื่นคน และแนวโน้มของเหตุการณ์ความรุนแรงรายวันและรายเดือนในปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้น [12]
ปัญหาความรุนแรงต่อเนื่องในภาคใต้เกิดจากปมเงื่อนสำคัญ 2 ด้าน ด้านหนึ่ง คือ นโยบายการรวมศูนย์อำนาจของรัฐบาลทุกชุดที่ผ่านมา รูปธรรมของนโยบายที่รวมศูนย์อำนาจก็คือการใช้คนจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเข้าไปทำงานในพื้นที่ โดยประชาชนในพื้นที่ไม่มีส่วนร่วม ไม่รับฟังข้อเสนอของคนในพื้นที่ และติดตามด้วยการใช้กำลังปราบปรามคนในท้องถิ่น ผู้นำท้องถิ่นในสมัยฮัจญีสุหลงได้เคยเสนอข้อเรียกร้อง 7 ประการต่อรัฐบาลไทย แต่แล้วรัฐบาลในปี พ.ศ. 2490 ก็ไม่เพียงละทิ้งการเจรจาเพื่อหาทางแก้ปัญหา กลับเข้าจับกุมและปราบปรามคนในพื้นที่ 3 จังหวัด และนโยบายของรัฐบาลหลังจากนั้นเรื่อยมาก็ไม่เคยเปลี่ยนจากเดิมในสาระสำคัญ
อีกด้านหนึ่ง คือ ระบอบประชาธิปไตยที่ไร้เสถียรภาพในระดับประเทศ ขณะที่ระบบราชการที่ควบคุมกำลังทหาร ตำรวจ และพลเรือน ตลอดจนองค์กรประชาชนที่ระบบราชการจัดตั้งขึ้นมีความต่อเนื่องยาวนาน สามารถสะสมกำลังและปฏิบัติงานในกรอบนโยบายการรวมศูนย์อำนาจของระบบราชการ ขณะที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีอำนาจเพียงไม่กี่ปีก็ถูกโค่นล้ม ไม่มีโอกาสเสนอทางเลือกใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างจริงจังหรือการเปิดทางเจรจาเพื่อหาทางยุติความรุนแรงทั้งปวงให้ได้
การยกเลิกศูนย์อำนวยการบริหารกิจการชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในปี พ.ศ. 2546 และจัดตั้งกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอสสส.จชต) และตั้งคณะกรรม การอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ขึ้นมาแทนเพื่อแสวงหาสันติภาพในภาคใต้ ด้านหนึ่ง เป็นภาวะปกติของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งย่อมแสวงหาหนทางใหม่ๆในการแก้ไขปัญหา จะผิดหรือถูกก็ต้องลงไปสำรวจค้นคว้าโดยไม่เลือกข้าง แล้วก็ค่อยๆหาทางแก้ไขต่อไป [13] แต่อีกด้านหนึ่ง สังคมไทยที่เป็นรัฐราชการ (Bureaucratic polity) มายาวนาน มีระบบราชการที่แข็งแกร่งและแนวคิดเรื่องการรวมศูนย์นาจและการครอบงำท้องถิ่นมีมายาวนานมาก การแสวงหาหนทางใหม่ๆจะเกิดขึ้นได้อย่างไรในเมื่อแม้แต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้นยังถูกล้มล้างโดยคณะรัฐประหาร และความรุนแรงของเหตุการณ์ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นช่วงรัฐบาลของพรรคไทยรักไทยหรือคณะรัฐประหารหรือรัฐบาลอื่นก็ไม่ได้แตกต่างกัน [14] รัฐบาลชุดปัจจุบันซึ่งถือว่ามีฐานที่แข็งแกร่งในภาคใต้ก็ไม่มีบทบาทใดๆที่แตกต่างจากนโยบายของรัฐบาลอื่นๆในสาระสำคัญ สะท้อนให้เห็นความล้าหลังของระบอบการเมือง และนโยบายรวมศูนย์อำนาจที่ไม่มีการปรับตัวมาเป็นเวลานาน
กรณีที่สาม ปัญหามาบตาพุด คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่ให้ระงับการดำเนิน งานของโครงการอุตสาหกรรมรวม 76 โครงการ มูลค่า 4 แสนล้านบาทในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียงเป็นเขตควบคุมมลพิษในช่วงปลายเดือนกันยายน 2552 ไม่เพียงแต่สะท้อนให้เห็นจุดอ่อนในการบริหารของรัฐ หากสะท้อนให้เห็นภาวะที่ประชาธิปไตยอ่อนแอในการเมืองทั้ง 2 ระดับของประเทศ
นับตั้งแต่รัฐบาลพลเอกเปรม กำหนดให้พื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมในปี พ.ศ. 2524 ทุ่มงบประมาณมากมายในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เขตนี้พร้อมกับต้อนรับการลงทุนมูลค่ามหาศาลจากต่างประเทศ แม้โรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากที่เกิดขึ้นจะได้สร้างอาชีพและรายได้แก่คนงานจำนวนมากและช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของพื้นที่ แต่เวลาผ่านไป ชุมชนที่อยู่รอบๆก็ได้พบว่าโรงงานเหล่านั้นสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนมากขึ้นๆเป็นลำดับ
 
 “ที่ผ่านมา การควบคุมโรงงานอุตสาหกรรมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องพูดว่า
 ไร้ประสิทธิภาพโดยสิ้นเชิง กรณีที่เกิดเหตุการณ์ก๊าซรั่ว เกิดอุบัติภัยในโรงงาน เรื่อง
 การลักลอบทิ้งขยะเปื้อนสารเคมีในที่สาธารณะ และการระบายมลพิษในอัตราที่น่ากลัว
 สิ่งเหล่านี้ปล่อยให้เกิดขึ้นมา...ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537
 ประชาชนยื่นหนังสือร้องเรียนและต่อสู้เรียกร้องมาตลอด แต่ไม่ได้รับการแก้ไข
 ฝ่ายรัฐเองพิจารณาเร่งปรับปรุงกระบวนการเพื่อรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่มาบตาพุด
 เป็นไปอย่างล่าช้า ประชาชนเผชิญกับอากาศเป็นพิษ ป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจ โรคมะเร็ง
 บ่อน้ำที่ชาวบ้านใช้อุปโภคบริโภคในอดีตกลับตื้นเขิน สารอันตรายปนเปื้อน ประชาชนได้
 รับผลกระทบต้องล้มป่วย เข้ารับการรักษา...ที่โรงพยาบาลมาบตาพุดซึ่งมีเพียง 30 เตียง...
            ชาวมาบตาพุดต้องทนรับชะตากรรมมานาน เขตแนวกันระหว่างโรงงานกับชุมชน
 ถูกละเมิด น้ำประปาที่ใช้ดื่มกินไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐ บ่อน้ำตื้นเขินใช้ไม่ได้ น้ำ
 ประปาขาดแคลนบ่อยครั้ง ต้องซื้อน้ำ มลพิษในอากาศไม่มีการกำหนดค่ามาตรฐานมานาน
 เพิ่งจะมากำหนดเมื่อปี 2550….
 รัฐบาลอนุมัติให้ขยายพื้นที่ก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมโดยไม่ฟังเสียงประชาชน
 เปลี่ยนสีผังเมือง จากสีเขียวซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยเป็นสีม่วงซึ่งสามารถสร้างโรงงานอุตสาหกรรม
 ได้และก่อให้เกิดผลกระทบเรื่องมลพิษแก่ประชาชนรอบโรงงาน...
                                     สุทธิ อัชฌาศัย, ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก
 
             “พล.อ. ชาติชายต้องการให้เมืองระยองโชติช่วงชัชวาล มีนายทุนกว้านซื้อที่ดิน ชาว
 บ้านขายที่ดินได้เงินมากมาย ความเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ปัญหาต่างๆเริ่มทวีความรุนแรง
 จากวันนั้นถึงวันนี้ รัฐบาลไม่ได้ใส่ใจหรือให้ความสำคัญในเรื่องสาธารณูปโภคและความอยู่
 กินดีของประชาชน ไม่ได้เตรียมวางแผนกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น...
                                     สุทธา เหมสถล, แกนนำชุมชนมาตาพุด-บ้านฉาง
 
 “อุตสาหกรรมทำลายวิถีชีวิตคนท้องถิ่น คนรุ่นผมที่มีอายุ 60 กว่าปี มีความรู้แค่ ป. 4
 จะไปทำงานโรงงานก็ไม่ได้ ต้องทำสวนพุทรา ปลูกแตงโม มันสำปะหลัง และประมงชายฝั่ง
 แต่ปัจจุบัน ปัญหามลพิษได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชน บ่อน้ำตื้นที่ชาวบ้านใช้มาตั้งแต่
 บรรพบุรุษ ใช้การไม่ได้เพราะมีสารปนเปื้อน ใช้ในการเกษตรก็ไม่ได้ มิหนำซ้ำยังลักลอบ
 ปล่อยน้ำเสียลงคลองอีก ขยะสารพิษจากโรงงานก็ลอบทิ้งในที่สาธารณะ...
 เจริญ เดชคุ้ม, ชาวเกาะกก-หนองแตงเมต ต.มาบตาพุด [15]
 
ถ้อยคำข้างต้นไม่เพียงชี้ให้เห็นการละเลยของรัฐในการควบคุมโรงงานอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนมานาน และไม่เพียงชี้ให้เห็นความล้มเหลวของภาครัฐในการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 (มาตรา 56) และรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 (มาตรา 67) แต่ยังสะท้อนว่าท้องถิ่นมีอำนาจจำกัดมาก รัฐบาลมีนโยบายจะสร้างนิคมอุตสาหกรรมที่ใดในท้องถิ่น ในช่วงปี พ.ศ. 2524 ก็มี อบจ. และเทศบาลแล้ว แต่ อปท. ก็มีอำนาจจำกัด ไม่มีปากเสียงในการออกความเห็นใดๆมากนักทั้งๆที่จะเกิดนิคมฯในพื้นที่ของตนเอง ครั้นมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 แล้วและได้มีประชาชนเป็นจำนวนมากที่ได้รับความเดือดร้อนจากโรง งานอุตสาหกรรม แต่การร้องเรียนของคนในท้องถิ่นก็ไม่เคยได้รับความสนใจจากหน่วยงานส่วนภูมิภาคหรือส่วนกลาง จนในที่สุด พวกเขาก็ได้ค้นพบวิธีการต่อสู้ทางกฎหมาย
กรณีที่สี่ ปัญหาผบ.ตร. ความล้มเหลวของนายกรัฐมนตรีในการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้จนถึงขณะนี้ไม่เพียงแต่สะท้อนให้เห็นความขัดแย้งในหมู่ชนชั้นนำ หากยังสะท้อนให้เห็นถึงผลประโยชน์มหาศาลที่จะได้รับจากตำแหน่งนี้หากฝ่ายใดได้ครองตำแหน่งดัง กล่าว แต่มีอีกประเด็นหนึ่งที่สังคมไทยละเลยตลอดมาก็คือ ระบบการรวมศูนย์อำนาจของตำรวจที่มีมาตั้งแต่รัฐบาลจอมพล ป.ในช่วงทศวรรษที่ 2490 เนื่องจากงบช่วยเหลืออันมหาศาลของรัฐบาลสหรัฐ และนับตั้งแต่กรมตำรวจก็ได้กลายเป็นกำลังส่วนหนึ่งระบอบเผด็จการทหารเรื่อยมา มีระบบการรวมศูนย์อำนาจทั่วประเทศ ทั้งๆที่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ตำรวจซึ่งมีหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของประชาชนควรจะอยู่ใกล้ชิดกับประชาชนให้มากที่สุด นั่นคือสังกัด อปท. แต่รัฐราชการไทยกลับหวงอำนาจอย่างรุนแรงไม่ยอมกระจายอำนาจการบริหารตำรวจให้แก่ อปท. แม้แต่น้อย และด้วยเหตุนี้ ยามเมื่อระบอบอำมาตยาธิปไตยยังดำรงอยู่ และฝ่ายประชาธิปไตยต้องการให้อำนาจเป็นของประชาชน และตำรวจควรจะปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน กลับกลายเป็นว่าการรวมศูนย์อำนาจยิ่งเข้มข้น และการแย่งชิงตำแหน่ง ผบ.ตร.ก็ยิ่งยอมกันไม่ได้ [16]
กรณีที่ห้า ปัญหากำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ระบบกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านที่สถาปนาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2432 ที่ให้พวกเขามาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน แต่ให้อยู่ในตำแหน่งจนถึง 60 ปี เป็นรูปแบบที่ผู้นำสยามได้มาจากการไปดูงานที่เมืองพม่าที่ขณะนั้นเป็นอาณานิคมของอังกฤษ การเป็นทวิลักษณะของกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านที่ขึ้นต้นด้วยการเลือกตั้งโดยประชาชน แต่จบลงด้วยการเป็นคนของระบบราชการถูกใช้ในรัฐเมืองขึ้น แต่เมื่อสยามรัฐนำมาใช้ นั่นก็คือการจัดตั้งระบบรวมศูนย์อำนาจที่แนบเนียนด้วยการใช้คนท้องถิ่นปกครองกันเอง แต่กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านไม่มีอำนาจอะไรในการพัฒนาท้องถิ่น ไม่มีงบประมาณใดๆ นอกจากรอคอยคำสั่งจากข้าราชการส่วนภูมิภาคและส่วนกลาง
ระบบรวมศูนย์อำนาจและท้องถิ่นที่ถูกทำให้อ่อนแออย่างยาวนานก่อให้เกิดปัญหานานัปการในสังคมไทย เริ่มตั้งแต่การหลั่งไหลของแรงงานจากชนบทสู่เมืองหลวงที่ไม่เพียงรวมศูนย์อำนาจการเมือง หากยังรวมศูนย์งบประมาณ, เงินทุนและความเจริญทุกๆด้าน จนเกิดสภาพเอกนคร (Primate city) ที่กรุงเทพฯ ซึ่งใหญ่โตกว่าเมืองใหญ่อันดับสองของประเทศเช่นเชียงใหม่หรือโคราชถึง 30 เท่า (ประชากร 12 ล้านคน – 3 ถึง 4 แสนคน); เชียงใหม่กลายเป็นเอกนครระดับภาค; การพัฒนาที่ไม่เท่าเทียมกันในสังคม; ปัญหาสังคมชนบทที่พ่อแม่จำนวนมากเข้าไปทำงานในเมืองทิ้งลูกหลานให้อยู่กับคนชรา; ส่วนคนหนุ่มสาวอพยพเข้าเมืองไปเรียนหนังสือและทำงาน; และทุนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ร่วมกันหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น ฯลฯ
การเกิดขึ้นของ อบต. และเทศบาลตำบล แม้ว่าการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นยังอยู่ในระยะเริ่มต้นแต่ได้เปิดโอกาสให้คนท้องถิ่นรู้จักบริหารท้องถิ่นของตนเองอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน หลายปัญหาโดยเฉพาะสิ่งก่อสร้างที่ขาดแคลนในชนบทได้รับการแก้ไขจากการมี อบต. และเทศบาล ตลอดจน อบจ. และยังจะต้องอาศัยเวลาเพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบและควบคุมการบริหารงานของ อปท. ได้มากขึ้นในอนาคต ดังนั้น การกำหนดให้กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านมีวาระในการดำรงตำแหน่งและในที่สุดก็ให้ยกเลิกสถาบันนี้ (และให้ตำรวจมาขึ้นกับ อปท.ในอนาคต) จึงเป็นทิศทางที่ถูกต้องเพื่อประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่น การถอยหลังกลับไปสู่การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านหลังรัฐประหาร 19 กันยา กระทั่งมีการเพิ่มเงินเดือน รวมทั้งการให้มีกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านในเขตเทศบาล ก็คือการไม่ยอมพัฒนาประชาธิปไตยระดับท้องถิ่นให้มากขึ้น และการพยายามรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางอีกครั้ง (Recentralization) [17]
กรณีที่หก ปัญหารถไฟ ระบบรถไฟของสยามได้รับการพัฒนาเป็นอันดับต้นๆของเอเชียในสมัยรัชกาลที่ 5 และได้เชื่อมต่อกับเมืองสำคัญๆทั่วประเทศในรัชกาลต่อมา แต่หลังจากนั้น เส้นทางคมนาคมอื่นๆกลับได้รับการพัฒนารุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ทิ้งให้บริการรถไฟล้าหลัง 1 ศตวรรษผ่านไป แทบทุกเมืองในสังคมไทยมีปัญหาจราจรติดขัด มีจำนวนยวดยานทุกชนิดเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล รถไฟฟ้าเพิ่งเปิดบริการสำหรับคนเมืองหลวง ส่วนต่างจังหวัด รถไฟซึ่งควรจะเป็นยานพาหนะที่ประหยัด สะดวก ราคาต่ำ ปลอดภัยและตรงเวลาที่สุดกลับกลายเป็นยวดยานของคนจนในต่างจังหวัดและนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ เส้นทางรถไฟยังคงมีเพียงสายหลักไม่กี่สายจากกรุงเทพฯถึงเมืองสำคัญๆในชายแดนแต่ละทิศ ทั้งหมดนั้นดำเนินการเสร็จสิ้นเมื่อ 80 ปีที่แล้ว รัฐบาลจอมพล ป. มีโครงการที่จะสร้างทางรถไฟจากสถานีเด่นชัย จังหวัดแพร่ต่อไปยังอำเภองาว ลำปาง พะเยา เชียงราย แม่สาย และเชียงแสน เมื่อปี พ.ศ. 2496 บัดนี้ผ่านไป 56 ปี ทุกอย่างคงเดิม
รถไฟถึงเชียงใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2464 ผ่านไปแล้ว 88 ปี ไม่มีรถไฟไปถึงอำเภอฝาง ปาย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ไม่มีรถไฟไปเมืองน่าน หรือตาก ไม่มีรถไฟวิ่งไปมาภายในตัวเมือง ไม่มีรถไฟวิ่งไปมาระหว่างอำเภอต่างๆกับตัวจังหวัด ภาคอื่นๆก็เป็นเช่นนี้เหมือนกันหมด ปัจจุบัน รถไฟไทยมีระยะทางที่เปิดการเดินทางเพียง 4,346 กิโลเมตร เป็นเพียงเส้นทางหลักที่เคยเปิดนานแล้ว แต่ไม่เคยมีเส้นทางรองที่ได้รับการขยาย ขณะที่โครงข่ายทางหลวงทั่วประเทศเชื่อมโยงทุกจังหวัดมีถึง 1,476 เส้นทาง มียานพาหนะที่จดทะเบียนในประเทศมีจำนวนถึง 26.42 ล้านคันในปี พ.ศ. 2551 และมีอัตราเพิ่มเฉลี่ย 8% ต่อปีในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา [18]
โลกเล็กลง ประชากรมีจำนวนมากขึ้นๆ สังคมและประเทศต่างๆต้องการระบบคมนาคมที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวดเร็วยิ่งขึ้น บรรทุกผู้โดยสารให้มากขึ้น ปลอดภัยมากขึ้น และใช้พลัง งานให้น้อยลง มีเพียงบางประเทศในโลกที่ทางหลวงและยวดยานบนทางหลวงกับกิจการรถไฟแตกต่างกันอย่างมหาศาล
ความล้าหลังของกิจการรถไฟไทยสะท้อนความล้าหลังของระบบความคิดของผู้นำประเทศและความล้าหลังของระบบการเมืองการบริหาร สังคมไทยเป็นสังคมที่มีแต่การรณรงค์ ผู้นำออกมาขี่จักรยานครั้งหนึ่งบนถนน ผู้คนซื้อจักรยาน แทบทุกคนมีจักรยานที่บ้าน คนส่วนใหญ่ปรารถนาจะได้ขี่จักรยานออกมานอกบ้าน แต่มีสักกี่คนที่กล้าขับขี่ออกมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อไปทำงานแต่ละวัน มีคนไม่มากนักที่ขี่จักรยานเพื่อออกกำลัง ก็เพราะมีแต่การรณรงค์ การสร้างภาพ แต่ไม่มีการแก้ไขต้นตอของปัญหา ยวดยานวิ่งเต็มท้องถนน รถติดเป็นส่วนใหญ่ ทางจักรยานมีน้อยและถูกยึดครอง ยวดยานแล่นเร็วและเต็มไปด้วยอันตรายสำหรับคนขี่จักรยาน อากาศมีแต่ฝุ่นและควันพิษ ฯลฯ คนในท้องถิ่นเคยคิดไหมว่าท้องถิ่นควรบริหารอย่างไร; อปท. ไม่มีอำนาจบริหารจัดการระบบคมนาคม; ข้าราชการส่วนภูมิภาคมาแล้วก็ไป; สมาชิกสภาผู้แทนในอดีตเคยรับฟังปัญหาของประชาชนอย่างจริงจังหรือไม่; เคยไปดูงานต่างประเทศแล้วได้เห็นหรือไม่ว่าเขาจัดการระบบคมนาคมอย่างไร; ผู้นำระดับประเทศมีความรู้หรือว่าสนใจแต่ผลประโยชน์ส่วนตัวเกี่ยวกับทางหลวงและรถยนต์และเครื่องบิน; ระบบรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งขาดความมั่นคงถูกรัฐประหารโค่นล้มจะบริหารประเทศอย่างไร และที่ผ่านมาเคยมีคณะรัฐประหารชุดใดที่สนใจรับฟังความเห็นของประชาชนส่วนใหญ่และมุ่งแก้ไขปัญหาต่างๆของพวกเขาให้หมดไป ฯลฯ [19]
กรณีที่เจ็ด จุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจ 1 ทศวรรษที่ผ่านมานับแต่มีการประกาศใช้รัฐธรรม นูญฉบับ พ.ศ. 2540 ที่ส่งเสริมการกระจายอำนาจ กำหนดให้ อปท. มีหน้าที่ดูแลศิลปวัฒนธรรมและทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ ตั้งแต่นั้น ท้องถิ่นบางแห่งก็เริ่มแสดงอัตลักษณ์ของท้องถิ่นด้วยความสำนึกรักและภาคภูมิใจ แน่นอน อาจมีบางพื้นที่ที่พยายามปกป้องอัตลักษณ์ของท้องถิ่นก่อนหน้านั้นด้วยซ้ำ หลายภาคส่วนจึงเริ่มสนใจท้องถิ่นและเห็นว่านั่นคือช่องทางที่จะส่งเสริมการท่อง เที่ยว แต่การที่มีจุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจหลายจุดเกิดขึ้น
โปรดสังเกตว่าญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ดำเนินนโยบายกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างแข็งขันเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2490 แต่สังคมไทยกลับเดินหน้าเข้าสู่ระบอบเผด็จการทหารและระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบพร้อมทั้งควบคุมท้องถิ่นให้อ่อนแอและอยู่ในโอวาทมาเป็นเวลานานอย่างน้อย 3 ทศวรรษเศษ (2490-2531) แต่สิ่งที่สังคมไทยมีคือเป็นสังคมที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้านการเกษตรและทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ทั้งปี ผิดกับญี่ปุ่นที่มีอากาศหนาวเหน็บ ประชากรหนาแน่น ขาดทรัพยากรธรรมชาติ สหรัฐวางแผนให้ญี่ปุ่นเป็นรัฐที่ยกเลิกกระทรวงกลาโหม ส่งเสริมการเกษตรให้ชาวนาญี่ปุ่นอยู่ได้ เร่งรัดพัฒนาอุตสาหกรรมและดำเนินนโยบายกระจายอำนาจ ส่งเสริมท้องถิ่นให้บริหารจัดการท้องถิ่นของตนเอง แต่สหรัฐกลับทำให้ไทยเป็นรัฐทหาร ดำเนินนโยบายรวมศูนย์อำนาจ ใช้ระบบราชการควบคุมและปกครองทุกพื้นที่ ให้ไทยเป็นแหล่งต้อนรับการลงทุนของโลกทุนนิยมโดยเฉพาะสหรัฐและญี่ปุ่น จากนั้น จึงส่งเสริมการท่องเที่ยว
การโหมกระพือข่าวสงกรานต์เชียงใหม่ในช่วงปี พ.ศ. 2503-05 การประชุมนานาชาติที่เชียงใหม่เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในแถบเอเชีย-แปซิฟิก ในปี พ.ศ. 2512 คือ การเปิดยุคทำสังคม ไทยให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว และต่อจากนั้น ก็มีการกำหนดคำขวัญของแต่ละจังหวัด แน่นอน ความภูมิใจของผู้คนในแต่ละจังหวัดย่อมแตกต่างกัน เช่น ประเพณี ผู้นำ วีรชน วีรกรรม อาหาร สถานที่ที่เคารพหรือน่าเยี่ยมชม ฯลฯ แต่เหตุใดคำขวัญของแต่ละจังหวัดจึงเน้นไปที่แหล่งท่อง เที่ยว คำตอบก็คือเพราะกระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบจังหวัดต่างๆจึงกำหนดให้ผู้ว่าฯและนาย อำเภอคิดคำขวัญตามนโยบายของรัฐ (และตามที่สหรัฐผลักดัน) นั่นคือส่งเสริมการท่องเที่ยว สะท้อนให้เห็นบทบาทอันจำกัดของคนในท้องถิ่นหรือ อปท. ที่ไม่สามารถกำหนดอัตลักษณ์หรือคำขวัญของตนเองได้เอง
การเติบโตของแม่สาย, ปาย, ตลาดสามชุก, เมืองน่าน, วัดร่องขุ่น เชียงราย, หรือตลาดน้ำอัมพวา สมุทรสงคราม ฯลฯ ทั้งหมดนี้แยกไม่ออกจากการท่องเที่ยวที่ผู้คนที่มีรายได้ดีต้องการพัก ผ่อนหย่อนใจ ท้องถิ่นที่เติบโตเกิดจากหลายปัจจัย แต่ที่สำคัญก็คือมีความงดงาม แปลกใหม่ เป็นผลงานของปัจเจกที่ทุ่มเททำงาน หาใช่เกิดจากองค์กรใดของท้องถิ่นหรือเกิดจากการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น, หลายพื้นที่เก็บรักษาสิ่งที่มีอยู่เดิมไว้มิใช่ด้วยสำนึกรักและอนุรักษ์ท้องถิ่น แต่เพราะความไม่เท่าเทียมกันในการพัฒนาประเทศ ขณะเดียวกัน เมื่อมีบางเมืองเติบโตอย่างรวดเร็วและไร้ทิศทางเกิดปัญหา คนส่วนใหญ่ก็จะรีบฉกฉวยหาโอกาสใหม่ๆ ละทิ้งวิถีชีวิตดั้งเดิม ขณะที่ท้องถิ่นที่ไม่ได้รับการพัฒนาอาศัยข้อดีที่ตนเองไม่ถูกทำลาย กลายเป็นทางเลือกใหม่ที่สังคมสมัย ใหม่โหยหา แต่ด้วยความแตกต่างระหว่างท้องถิ่นกับส่วนกลาง ในที่สุดทุนสมัยใหม่ก็รุกเข้าไปครอบงำท้องถิ่น การไปเยือนมิใช่ไปด้วยความเคารพและช่วยกันรักษาท้องถิ่นแต่เป็นเพียงการไปหาดู “ของแปลกใหม่” ดังนั้น ท้องถิ่นจึงต้องเข้มแข็ง และส่วนกลางต้องสนับสนุน ไม่ใช่ครอบงำ
การโฆษณาว่าเชียงใหม่เป็นเมืองประวัติศาสตร์ แต่กลับเต็มไปด้วยอาคารสูงและความทันสมัย การพัฒนาที่รวดเร็วและมากเกินไปเกิดปัญหาด้านลบต่อเชียงใหม่ และทำให้แรงผลักดันด้านบวกที่จะอนุรักษ์ลำพูน ลำปาง พะเยา-แพร่-น่าน และศึกษาบทเรียนด้านลบจากเชียงใหม่-เชียงราย ความทันสมัยเกินไปของเชียงใหม่ผลักดันให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหนีออกจากเมืองไปเสาะหาชุมชนเล็กๆที่งดงามและเงียบสงบจนได้พบเมืองปาย ที่ปัจจุบันเติบโตมากเกินไปเพราะปัจจัยภายนอก มีคนมีเงินจากต่างถิ่นบุกเข้าไปลงทุนและเปลี่ยนแปลงสร้างปัญหาหลายด้านให้แก่ท้องถิ่นนั้น และอปท. ก็ไม่มีอำนาจมากพอที่จะปกป้องอัตลักษณ์ของตนเองไว้ได้
หรือกรณีตลาดน้ำและแหล่งหิ่งห้อยหรือถนนนิมมานเหมินท์ที่เชียงใหม่ กองทัพนักลงทุนและนักซื้อของจากเมืองหลวงที่เข้าไปพร้อมกับค่านิยมสมัยใหม่และเรือหางยาวและยวดยานที่บุกเข้าไปในช่วงวันหยุดได้เปลี่ยนโฉมหน้าชุมชนดั้งเดิม ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนท้องถิ่นและคุณภาพของสิ่งแวดล้อม, เกิดความขัดแย้งระหว่างท้องถิ่นกับปัจจัยภายนอก - ท้องถิ่นที่มีทั้งส่วนที่อยากเปลี่ยนแปลงและส่วนที่อยากจะอนุรักษ์ และอปท.ที่มีอำนาจจำกัดและต้องเผชิญทั้งปัญหาและแรงกดดันหลายด้าน ตลอดจนปัญหาการจัดความรู้เพื่อความสมดุลระหว่างเก่ากับใหม่ ฯลฯ
การผุดขึ้นของพิพิธภัณฑ์ต่างๆทั้งระดับชาติ ส่วนภูมิภาค และท้องถิ่นมีทั้งด้านที่เป็นความตื่นตัวสำนึกรัก แต่ก็มีทั้งการหางบประมาณเพื่อสร้างให้เป็น “ผลงาน” หรือตามแฟชั่น หรือข้อขัดแย้งระหว่างคุกกลางเมืองเชียงใหม่ซึ่งเกิดขึ้นหลังการรื้อคุ้มหลวงของเจ้าเมืองเชียงใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 และบัดนี้ผ่านไป 100 ปีเศษ คนท้องถิ่นเรียกร้องขอให้รื้อคุกสร้าง “ข่วงหลวง” กลางเมืองแทน แต่ฝ่ายกรมราชทัณฑ์กลับอ้างความเก่าแก่ของอาคารคุกควรเก็บไว้เป็นพิพิธภัณฑ์ ขณะที่สำนักงานอำเภอเมืองที่อยู่ใกล้ๆก็ต้องการเพื่อขยายพื้นที่สำนักงาน; กรณีเมืองมรดกโลก แต่ถูกพ่อค้าแม่ค้าบุกรุก จนเขตเมืองเก่ากลายเป็นเมืองใหม่ สูญเสียอัตลักษณ์และทำผิดกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้จนเกือบต้องสูญเสียความเป็นเมืองมรดก ย่อมสะท้อนให้เห็นความล้มเหลวของระบบการบริหารจัดการที่รวมศูนย์อำนาจแบบแยกส่วน (หน่วยงานใครหน่วยงานมัน) และท้องถิ่นที่ถูกทำให้อ่อนแอตลอด 1 ศตวรรษที่ผ่านมา [20]
กรณีที่แปด ประเด็นการเลือกตั้งผู้ว่าฯโดยตรงจากประชาชน การที่ญี่ปุ่นผงาดขึ้นเป็นประเทศที่เจริญก้าวหน้าและคุณภาพของประชากรมีความมั่นคงปลอดภัยมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก จะเป็นเพราะสาเหตุใดก็ตาม แต่ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือญี่ปุ่นมีระบบการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นที่พัฒนาแล้วเหมือนกับประเทศตะวันตกที่พัฒนาทั้งหลาย ญี่ปุ่นไม่มีระบบบริหารราชการส่วนภูมิภาคที่คอยแทรกแซงและควบคุมการปกครองท้องถิ่นไว้เช่นของไทย สหรัฐเข้ายึดครองญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พร้อมกับสถาปนาระบบผู้ว่าฯเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนในทุกๆจังหวัดทั่วประเทศ รัฐไทยนำแนวคิดโอท็อปจากจังหวัดหนึ่งของญี่ปุ่นมาใช้ในไทย แต่ลืมไปว่าทุกๆจังหวัดของญี่ปุ่นมีผู้ว่าฯที่ขึ้นตรงต่อประชาชนและรับใช้ท้องถิ่นตามวาระ 4 ปี ขณะที่ผู้ว่าฯของไทยย้ายไปมา วันๆต้องคอยดูทิศทางการเมือง รอรับคำสั่ง คำว่าประชาชนและท้องถิ่นมาหลังสุด ปัญหาต่างๆในท้องถิ่นก็กวาดไว้ใต้พรม ไม่ต้องเหนื่อย เพราะอยู่ไม่นานก็ต้องย้าย
การรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯในช่วงกลางทศวรรษ 2530 ไม่ได้รับการสนองตอบจากรัฐ แต่กระทรวงมหาดไทยแก้ไขปัญหาด้วยการจัดตั้ง อบต. ในปี พ.ศ. 2537 ส่วนการเลือกตั้งผู้ว่าฯก็ไม่มีการให้ความสนใจเลยจนถึงปัจจุบัน ไม่ใช่เพราะประชาชนไม่พร้อม แต่เพราะรัฐราชการที่คุ้นชินกับระบบการรวมศูนย์อำนาจและระบอบอำมาตยาธิปไตยไม่พร้อมที่จะปล่อยอำนาจให้อยู่ในมือของผู้ว่าฯที่มาจากการเลือกตั้ง การเลือกตั้งนายก อบจ. ทั่วประเทศที่ให้มีอำนาจจำกัด โดยเฉพาะโครงการและงบประมาณทั้งหมดจะต้องได้รับการอนุมัติโดยผู้ว่าฯ จึงนำไปสู่การควบคุมทางกฎหมาย และบีบบังคับให้นายก อบจ. ต้องคอยเกรงอกเกรงใจผู้ว่าฯ เนื่องจากอำนาจที่เหนือกว่าดังกล่าว และเมื่อรัฐประหารและระบอบอำมาตยาธิปไตยหวนคืนสู่อำนาจ ระบบผู้ว่าฯแต่งตั้งก็คือเครื่องมือสำคัญของระบอบอำมาตยาธิปไตยในการควบคุมกำลังของท้องถิ่นในทุกๆจังหวัด จะยึดอำนาจหรือไม่ก็ไม่สำคัญ แต่ที่สำคัญคือหากมีระบบผู้ว่าฯเลือกตั้งโดยประชาชน ก็เท่ากับว่าระบบการบริหารส่วนภูมิภาคจะต้องสิ้นสุดลง เท่ากับนำสังคมไทยก้าวไปสู่ระบบการบริหารที่ทัด เทียมกับประเทศอารยะที่มีเพียงการบริหารราชการส่วนกลางและการปกครองท้องถิ่น การไม่มีระบบการบริหารส่วนภูมิภาคย่อมจะทำให้ท้องถิ่นไม่ถูกครอบงำและแทรกแซง เกิดการแข่งขันกันระหว่างจังหวัดต่างๆ สามารถปกครองตนเองได้และพัฒนาท้องถิ่นให้ก้าวหน้าไปได้อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกัน ก็จะทำให้ส่วนกลางสูญเสียอำนาจในการครอบงำและแทรกแซงท้องถิ่นโดยเฉพาะการควบคุมด้านงบประมาณและการใช้ทรัพยากรแต่ละด้านดังที่เคยได้ทำยาวนานในอดีต
นี่คือตัวอย่างสำคัญอีกอันหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าเหตุใดประชาธิปไตยท้องถิ่นจึงพัฒนาอย่างล่าช้า และรัฐราชการแบบรวมศูนย์ที่ส่วนกลางและระบอบอำมาตยาธิปไตยไม่ยอมกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น อีกทั้งไม่ยอมให้ประชาธิปไตยในระดับชาติก้าวหน้าต่อไปอย่างมั่นคง แต่ต้องล้มลุกคลุกคลานตลอดมา
ในแง่นี้ ความสัมพันธ์อันเหนียวแน่นระหว่างประชาธิปไตยทั้ง 2 ระดับจึงมีความสำคัญยิ่งในการส่งเสริมซึ่งกันและกัน การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในระดับประเทศโดยละเลยประชาธิป ไตยในระดับท้องถิ่นจึงเท่ากับการลิดรอนกำลังของตนเองหรือไม่เพิ่มกำลังให้แก่ตนเองในระยะยาว ส่วนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยระดับท้องถิ่นนั้นแทบเป็นไปไม่ได้เพราะยากที่จะเกิดขึ้นในสังคม ไทยที่เป็นรัฐรวมศูนย์อำนาจอย่างมากมายาวนาน และประชาธิปไตยเกิดขึ้นครั้งแรกในระดับชาติเมื่อปี พ.ศ. 2475 และจนบัดนี้ ภารกิจการสร้างประชาธิปไตยระดับชาติก็ยังไม่บรรลุ ความสนใจของคนจำนวนไม่น้อยในสังคมไทยตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ก็คือ ทุ่มเทความสนใจทั้งหมดไปที่การสร้างประชาธิปไตยระดับชาติ แต่ให้ความสนใจต่อประชาธิปไตยระดับท้องถิ่นน้อยมาก หรือไม่เห็นความสำคัญเลย
 
 
 
เชิงอรรถ
 
[1]  Diane Perrons, Globalization and Social Change. People and Places in a Divided World. London: Routledge, 2004, Chapter 1: Analyzing globalization and social change.
[2] David Beetham, Democracy: A Beginner’s Guide. Oxford: Oneworld, 2005 and Paul Ginsborg, Democracy: Crisis and Renewal. London: Profile Books, 2008
[3] Alan Norton, International Handbook of Local and Regional Government. A Comparative Analysis of Advanced Democracies. Aldershot: Edward Elgar, 1994 Chapters 4, 7, and 8
[4] ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, วัฒนธรรมไทยกับขบวนการเปลี่ยนแปลงสังคม. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์ฯ, 2534
[5] ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และพรพิไล เลิศวิชา, วัฒนธรรมหมู่บ้านไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สร้างสรรค์, 2537 บทที่ 1 ภาคเหนือ หน้า 39-80
[6] ธเนศวร์ เจริญเมือง, 100 ปี การปกครองท้องถิ่นไทย, พ.ศ. 2440-2540. พิมพ์ครั้งที่ 6 กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2550
[7] ธเนศวร์ เจริญเมือง, รัฐศาสตร์ที่ยังมีลมหายใจ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์พิราบ, 2547 บทที่ 4: รัฐไทย – รัฐที่กระจายอำนาจล่าช้า หน้า 75-96
[8] ธเนศวร์ เจริญเมือง, บรรณาธิการ. เลือกตั้งผู้ว่าฯ. เชียงใหม่: โครงการศึกษาการปกครองท้องถิ่น, คณะสังคมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2537
[9] ข้อมูลจากส่วนวิจัยและพัฒนาระบบรูปแบบและโครงสร้าง สำนักพัฒนาระบบรูปแบบและโครงสร้าง, กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น, กระทรวงมหาดไทย 15 สิงหาคม พ.ศ. 2551 http://www.thailocaladmin.go.th/work/apt150851.pdf 9/24/2009
[10] โปรดดู ณัฐกร วิทิตานนท์, “ขอคน “เชียงใหม่” กำหนดอนาคตของตัวเอง.” http://www.prachatai.com/journal/2009/02/20107 และ ดวงจันทร์ อาภาวัชรุตม์, เมืองยั่งยืนในเชียงใหม่. เชียงใหม่: สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ธันวาคม 2548 และ ธเนศวร์ เจริญเมือง, ประวัติศาสตร์และพัฒนาการการปกครองท้องถิ่น: เทศบาลนครเชียงใหม่ (พ.ศ. 2476-2549). กรุงเทพฯ: วิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่น สถาบันพระปกเกล้า, มกราคม 2550
[11] ครองชัย หัตถา, ประวัติศาสตร์ปัตตานี สมัยอาณาจักรโบราณถึงการปกครอง 7 หัวเมือง. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์, 2551 และพรรณงาม เง่าธรรมสาร, วิกฤตมณฑลปัตตานี พ.ศ. 2465: บทเรียนสมัยรัชกาลที่ 6. กรุงเทพฯ: โครงการความมั่นคงศึกษา, สกว. มิถุนายน 2551
[12] คณะทำงานวาระทางสังคม, ความรู้และความไม่รู้ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2552. กรุงเทพฯ: สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กันยายน 2552 หน้า 25
[13] แผนงานร่วมศึกษาเสริมสร้างสุขภาพ กรณี 3 จังหวัดภาคใต้, คณะทำงานวาระทางสังคม, ความรู้และความไม่รู้ จังหวัดชายแดนภาคใต้. บทนำโดย ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, โครงการตลาดวิชามหาวิทยาลัยชาวบ้าน, กรกฎาคม 2549; นิธิ เอียวศรีวงศ์, บก. มลายูศึกษา ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับประชาชนมลายูมุสลิมในภาคใต้. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์อมรินทร์, มิถุนายน 2550; จาตุรนต์ ฉายแสง, จาตุรนย์บนทางดับไฟใต้. กรุงเทพฯ: สนพ.มติชน, 2551; และวารสาร Deepsouth. เล่มที่ 1-4, 2550-2552.
[14] มติชนรายวัน. วันที่ 21 ตุลาคม 2552 หน้า 9
[15] มติชนรายวัน. วันที่ 30 กันยายน, 2 ตุลาคม 2552 หน้า 9 และ The Nation. October 1, 2009 p. B1
[16] พล.ต.อ.วิสิษฐ์ เดชกุญชร, “ตำแหน่ง ผบ.ตร. ใครสาบ?” มติชนรายวัน. วันที่ 18 สิงหาคม 2552 หน้า 6; มติชนสุดสัปดาห์. ฉบับวันที่ 28 สิงหาคม-3 กันยายน 2552 หน้า 20 และฉบับวันที่ 4-10 กันยายน 2552 น. 9, 14-15 และโปรดดูแนวคิดเรื่องตำรวจในรัฐประชาธิปไตย เช่น Michael D. Lyman, The Police An Introduction. 3rd ed. NJ: Pearson Prentice Hall, 2005 Chapter 2: Historical Foundations, Chapter 3: Contemporary Police System
[17] นิธิ เอียวศรีวงศ์, “กำนันผู้ใหญ่บ้าน” มติชนรายวัน. วันที่ 28 พฤษภาคม 2552 น.6; สุวัฒน์ คงแป้น, “สภาองค์กรชุมชน” มติชนรายวัน. วันที่ 21 มิถุนายน 2552 น. 9; และเพ็ญนภา จันทร์แดง, “มองกำนันผู้ใหญ่บ้านหลังแก้ไข พรบ. ลักษณะปกครองท้องที่” มติชนรายวัน. วันที่ 27 กรกฎาคม 2552 หน้า 10
[18] ดวงจันทร์ อาภาวัชรุตม์, โลกร้อนกับประเทศไทย. เชียงใหม่: สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ธันวาคม 2551 หน้า 206-226
[19] ดวงจันทร์ อาภาวัชรุตม์, เมืองในสังคมไทย. ปรับปรุงครั้งที่ 2 เชียงใหม่: สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2551 หน้า 201-228
[20] พรรณงาม เง่าธรรมสาร และปรีดา คงแป้น, เรียบเรียง. ย้อนมอง...สามชุกตลาดร้อยปี กว่าจะถึงวันนี้. เอกสารในการรับรางวัลอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ของยูเนสโก 11 ธันวาคม 2552, และสุภาภรณ์ อาภาวัชรุตม์ และดวงจันทร์ อาภาวัชรุตม์, บก. เรื่องเล่าชาวกาด. เล่ม 1-6 (พ.ศ. 2546-2552) เชียงใหม่: มูลนิธิสถาบันพัฒนาเมืองเชียงใหม่
 
 
                       

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net