ความผิดพลาดของประเทศไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

"กานดา นาคน้อย" เขียนบทบรรณาธิการจดหมายข่าว สมาคมเศรษฐศาสตร์และการเงินไทยในต่างประเทศ  โดยระบุว่า ประเทศไทยเป็นระเบิดเวลาที่รอวันปะทุ สาเหตุทางเศรษฐศาสตร์มหภาคของวิกฤตการเมืองได้สั่งสมมานานหลายปี สาเหตุที่ว่าคือปัญหาการกระจายรายได้ที่แย่ลงและการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยซึ่งเป็นผลมาจากวิกฤตเงินบาทในปี 2540

ขณะที่ฉันกำลังรวมเล่มจดหมายข่าวฉบับนี้ได้ตั้งคำถามกับตัวเองว่าควรเขียนบทความเกี่ยวกับวิกฤตการเมืองไทยหรือไม่?  วิกฤตครั้งนี้เป็นวิกฤตการเมืองซึ่งไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับจุดประสงค์ของสมาคมเศรษฐศาสตร์และการเงินไทยในต่างประเทศ  แต่อย่างไรก็ตาม  ความขัดแย้งทางการเมืองครั้งนี้ทำให้เกิดความสูญเสียทางมนุษยชนและทางเศรษฐกิจมากเป็นประวัติการณ์   มีผู้เสียชีวิตประมาณ 90 คน บาดเจ็บ 2,000 คน [1] และคาดว่าผลผลิตประชาชาติ (จีดีพี) จะปรับตัวลดลง 2.5% [2] ในเชิงปริมาณผลกระทบเหล่านี้เป็นตัวเลขที่ใหญ่มากจนฉันตัดสินใจเขียนบทความเกี่ยวกับวิกฤตการเมืองครั้งนี้   บทความนี้ตอบคำถามจากเพื่อนร่วมงานและมิตรสหายที่มักถามว่า
 

เกิดความผิดพลาดอะไรขึ้นกับประเทศไทย?

ฉันคิดว่าประเทศไทยเป็นระเบิดเวลาที่รอวันปะทุ  สาเหตุทางเศรษฐศาสตร์มหภาคของวิกฤตการเมืองได้สั่งสมมานานหลายปี  สาเหตุทางเศรษฐศาสตร์มหภาคที่ว่าคือปัญหาการกระจายรายได้ที่แย่ลงและการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยซึ่งเป็นผลมาจากวิกฤตเงินบาทในปี2540           

ประการแรก  ขอเริ่มอธิบายปัญหาการกระจายรายได้ก่อน  การกระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียมกันไม่ใช่สิ่งใหม่สำหรับประเทศไทย เพียงแต่ไม่เคยมีกลุ่มมวลชนนำมาเป็นประเด็นเพื่อเดินขบวนต่อต้าน   แล้วทำไมถึงเกิดขึ้นตอนนี้?  แม้ว่าเศรษฐกิจไทยได้เติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลา 40 ปีที่ผ่านมา   ปัญหาการกระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียมกันกลับแย่ลง จากการอ้างอิงด้วยดัชนีจินี (Gini Coefficient) เมื่อ 40 ปีที่แล้วไทยมีการกระจายรายได้ที่เท่าเทียมกว่ามาเลเซียและฟิลิปปินส์ แต่ปัจจุบันอันดับดัชนีจินีของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านดังกล่าวได้กลับตาลปัตรแม้ว่าปัญหาความไม่เท่าเทียมได้บรรเทาลงชั่วคราวในปีแรกๆของรัฐบาลทักษิณ [3]  ในทางภูมิศาสตร์ดัชนีจินีบ่งชี้ว่าปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นสาหัสกว่าภาคอื่นๆ [4] ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือกลายเป็นฐานเสียงที่แข็งแกร่งให้พรรคการเมืองของอดีตนายกฯ ทักษิณ

ประการต่อมา วิกฤตเงินบาทในปี2540 ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยในหลายอุตสาหกรรม  หลังจากที่บางบริษัทล้มหายตายจากไปในช่วงวิกฤต บริษัทใหม่ได้เกิดขึ้นมาแทน กลุ่มธุรกิจของอดีตนายกฯ ทักษิณและเพื่อนพ้องกลายเป็นกลุ่มธุรกิจที่สำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจการสื่อสารและสื่อมวลชน การแข่งขันในภาคธุรกิจเหล่านี้ไม่เพียงแต่นำความร่ำรวยมาสู่ผู้ประกอบการใหม่แต่ยังทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลข่าวสารใหม่ๆ ในราคาที่ถูกลงด้วย ข้อมูลข่าวสารใหม่ๆ เหล่านี้ทำให้กลุ่มผู้ลงคะแนนเสียงในต่างจังหวัดได้ตระหนักถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ ยิ่งไปกว่านั้น การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารใหม่ๆ ในราคาถูกผ่านโทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ตทำให้กลุ่มผู้ลงคะแนนเสียงที่ไม่พอใจ [กับการเมืองที่ผ่านมา-ผู้แปล] สามารถรวมตัวกันอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม

นอกจากนี้ประชาชนจำนวนมากมองว่าวิกฤตเงินบาทเป็นผลมาจากการบริหารงานที่ผิดพลาดโดยกลุ่มข้าราชการ  ด้วยเหตุนี้เองวิกฤตเงินบาทจึงกลายเป็นใบเบิกทางไปสู่การปฎิรูปหน่วยราชการและการแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้กลายเป็นเอกชน  ตั้งแต่ปี 2543 รัฐบาลทักษิณได้ดำเนินนโยบายปฎิรูปหน่วยราชการและแปรรูปรัฐวิาสหกิจทำให้เกิดการต่อต้านจากข้าราชการระดับสูงและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ผลสุดท้ายข้าราชการระดับสูงและพนักงานรัฐวิสาหกิจกลายเป็นเครื่องมือรณรงค์ต่อต้านรัฐบาลทักษิณให้กับนักธุรกิจด้านสื่อมวลชนที่ธุรกิจล่มสลายในช่วงวิกฤตเงินบาท ความขัดแย้งที่ยังไม่ยุติระหว่าง “กลุ่มข้าราชการที่ต่อต้านการปฎิรูป” กับ “กลุ่มที่สนับสนุนการปฎิรูป” สะท้อนชัดเจนจากการจลาจลต่อต้านข้าราชการในหลายจังหวัดเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

กล่าวโดยสรุปคือ วิกฤตเงินบาทส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยซึ่งทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญหน้ากับปัญหาความไม่เท่าเทียมของรายได้ที่สั่งสมมานาน  ปัจจุบันรัฐบาลอภิสิทธิ์ได้เสนอนโยบายเพื่อแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมของรายได้ด้วยการปฎิรูประบบภาษี  กล่าวคือด้วยการเริ่มจัดเก็บภาษีทรัพย์สินและภาษีที่ดินแบบก้าวหน้า   รัฐบาลอภิสิทธิ์จะจริงจังกับการปฎิรูประบบภาษีหรือไม่นั้นเป็นประเด็นที่ต้องติดตามกันต่อไป
 

 

เอกสารต้นฉบับภาคภาษาอังกฤษ
http://www.krannert.purdue.edu/faculty/knaknoi/otefa/OTEFA_Newsletter_June_2010.pdf

อ้างอิง:
[1] See “Toll from Thai crisis rises to 88 since March,” Press Trust of India May 24 (2010): http://www.ptinews.com/news/665679_Toll-from-Thai-crisis-rises-to-88-since-March
[2] See “Thai Growth Positive, for Now,” Wall Street Journal, May 24 (2010):
http://online.wsj.com/article/SB10001424052748704226004575263520169821394.html?mod=googlenews_wsj
[3] See Figure 3.7 in Thailand Human Development Report (2009), United Nations Development Programme:
http://hdr.undp.org/en/reports/nationalreports/asiathepacific/thailand/NHDR_2009_Thailand.pdf
[4] See Table A1.4 in Thailand Human Development Report (2009), United Nations Development Programme:
http://hdr.undp.org/en/reports/nationalreports/asiathepacific/thailand/NHDR_2009_Thailand.pdf

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท