Skip to main content
sharethis

เมื่อสำนักงบประมาณลดงบประมาณด้านบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขให้กลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ เหลือเพียง 1,521.81 บาทต่อหัว ซึ่งลดลงกว่าเดิมถึง 545.19 บาทจากที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ สปสช. ได้เสนอให้ ครม.พิจารณาคือ 2,067 บาทต่อหัว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2553 สำนักงบประมาณได้ทำหนังสือถึงปลัด สธ. ที่ นร 0713/22862 เรื่อง ขออนุมัติจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นตามมติคณะรัฐมนตรี โดยเนื้อความในหนังสือกล่าวถึง การที่สำนักงบประมาณได้อนุมัติให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเบิกจ่ายงบประมาณได้จำนวน 348,044,795 บาท (สามร้อยสี่สิบแปดล้านสี่หมื่นสี่พันเจ็ดร้อยเก้าสิบห้าบาทถ้วน) เพื่อใช้ในการจัดบริการขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขให้แก่บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ในอัตราเหมาจ่ายรายหัวไม่เกิน 1,521.81 บาท/คน/ปี ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติในหลักการเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2553 ไปแล้วนั้น

ทั้งนี้บุคคลที่เข้าข่ายจะได้รับการคืนสิทธิการรักษาพยาบาลภายใต้กองทุนนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 457,409 คน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.บุคคลที่ครม.รับรองให้อยู่ในประเทศไทยถาวร ประมาณ 90,000 คน 2.บุคคลที่ครม.ผ่อนผันให้อยู่ชั่วคราวเพื่อรอพิสูจน์สถานะและมีแนวโน้มที่จะได้สัญชาติไทย 296,863 คน และ 3. นักเรียนที่ได้รับสิทธิเรียนฟรีตามนโยบายของรัฐบาล มีการทำทะเบียนและประวัติที่ชัดเจนแล้ว แต่ยังไม่ได้รับบริการด้านการรักษา 70,513 คน

อย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า มติครม.วันที่ 23 มีนาคม 2553 ได้อนุมัติงบประมาณให้กระทรวงสาธารณสุขจำนวน 472,823,683.30 บาท (สี่ร้อยเจ็ดสิบสองล้านแปดแสนสองหมื่นสามพันหกร้อยแปดสิบสามบาทสามสิบสตางค์) ในอัตราเหมาจ่ายรายหัวไม่เกิน 2,067 บาท/คน/ปี จึงเห็นได้ชัดว่ามีงบประมาณหายไปถึง 124,778,888.30 บาท (หนึ่งร้อยยี่สิบสี่ล้านเจ็ดแสนเจ็ดหมื่นแปดพันแปดร้อยแปดสิบแปดบทสามสิบสตางค์)

แหล่งข่าวคนหนึ่งให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า การที่สำนักงบประมาณลดงบรายหัวเพื่อใช้ในการบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขให้กลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2553 นั้น ได้ก่อให้เกิดปัญหาและผลกระทบต่อการจัดบริการสุขภาพอย่างมาก ทั้งนี้เพราะเดิมนั้น ตัวเลขงบรายหัวที่ สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ได้เสนอให้ครม.พิจารณาคือ 2,067 บาทต่อประชากรนั้นก็น้อยกว่างบรายหัวของบุคคลสัญชาติไทยในปี 2553 อยู่แล้ว เพียงแต่สปสช.คำนวณจากหลักการ เฉลี่ยความเสี่ยงร่วมกับกลุ่มประชากร 47.7 ล้านคน ที่ สปสช. ให้การดูแลอยู่ ซึ่งเป็นการยึดตามหลักการประกันสุขภาพที่ว่า รวมความเสี่ยงและเฉลี่ยความเสี่ยง (Pooling risk sharing risk) ดังนั้นตัวเลข 2,067 บาทต่อประชากร แม้จะน้อยกว่างบรายหัวของประชากร 47.7 ล้านคน แต่สามารถบริหารจัดการได้ เพราะไปเฉลี่ยความเสี่ยงกับประชากร 47.7 ล้านคน แต่เมื่อมติ ครม.ให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นจัดการงบกองทุนนี้ ระยะแรกได้มีการท้วงติงไปว่า ในระยะยาวจะมีปัญหาเรื่องงบประมาณไม่พอ เพราะมีประชากรจะเฉลี่ยความเสี่ยงในอัตราที่ต่ำ คือ 4.7 แสนคน ทั้งยังเป็นกลุ่มประชากรที่ยากจน สุขภาพไม่แข็งแรง ซึ่งเป็นผลมาจากการขาดสิทธิสุขภาพก่อนหน้านี้

แต่เมื่อสำนักงบลดงบประมาณลงเหลือเพียง 1,521.81 บาทต่อประชากร ซึ่งลดลงกว่าเดิมถึง 545.19 บาท ปัญหาก็จะยิ่งรุนแรงมากขึ้นไปอีก นั่นคือ มีงบประมาณไม่พอสำหรับการรักษาผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ดังนั้นจึงไม่สามารถทำในเรื่องการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค รวมถึงการดูแลโรคค่าใช้จ่ายสูงได้ เท่ากับว่า บุคคลกลุ่มนี้จะไม่ได้รับการดูแลเหมือนกับคนไทยที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างแน่นอน โดยเฉพาะโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น โรคไตวายเรื้อรัง โรคเอดส์ โรคหัวใจ โรคมะเร็ง การรักษาจะเป็นไปยถากรรม มีเท่าไหร่ก็รักษาเท่านั้น ใครที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการได้ ก็จะถูกปล่อยทิ้งเช่นนั้น และกลายเป็นภาระโรคที่สร้างปัญหาต่อไปอีก

ขณะเดียวกันการที่มีมติคณะรัฐมนตรีออกมาเช่นนี้ ส่วนหนึ่งคือสัญญาประชาคมที่ให้ไว้กับประชาชนและประชาชนจะเกิดความคาดหวัง ซึ่งจะส่งผลถึงจำนวนผู้มารับบริการจะมีมากขึ้น เพราะทราบว่าได้สิทธิ แต่งบประมาณที่ได้รับลดลงเป็นจำนวนกว่า 124 ล้านบาทนั้น ขณะที่รูปแบบการบริหารจัดการก็ยังมีปัญหา เท่ากับว่าปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข รวมถึงการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อตามแนวชายแดนก็ไม่สามารถทำได้ ท้ายที่สุดโรงพยาบาลจะแบกรับภาระเหมือนเดิม เพราะงบประมาณมีไม่เพียงพอ

ทั้งนี้ตามขั้นตอนนั้นแม้สำนักงบประมาณจะปรับลดงบตรงส่วนนี้ลง ทางกระทรวงสาธารณสุขต้องยืนยันในตัวเลขเดิม เพราะนี้เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลประชาธิปัตย์ โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่ให้ความสนใจและผลักดันนโยบายนี้มาตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งและสามารถผลักดันจนสำเร็จในระยะเวลาไม่นาน ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขต้องทำหนังสือชี้แจงและยืนยันตัวเลขงบรายหัวเดิมที่ สปสช.เสนอ จึงจะสามารถแก้ปัญหานี้ได้ และนี้จะเป็นบททดสอบสำคัญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขว่าให้ความสนใจ และตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องการคืนสิทธิสุขภาพให้กลุ่มคนไร้สถานะอย่างแท้จริงหรือไม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net