Skip to main content
sharethis

ออง ซาน ซูจี ซึ่งถูกกักบริเวณในบ้านพักริมทะเลสาบ ในย่างกุ้ง เลี้ยงอาหารคนงานที่มาซ่อมแซมบ้าน ในโอกาสวันเกิดปีที่ 65 ส่วนสมาชิกพรรคเอ็นแอลดีจัดทำบุญเลี้ยงพระ ปล่อยนก และปลูกต้นไม้ 2 หมื่นต้น ผู้นำหลายประเทศส่งสารอวยพรวันเกิด ขณะที่หลายเมืองทั่วโลก ร่วมจัดกิจกรรมอวยพรวันเกิด “ออง ซาน ซูจี”

 

เมื่อ 18 มิ.ย. แนวร่วมปลดปล่อยพม่าในฟิลิปปินส์ (Free Burma Coalition Philippines) จัดชุมนุมหน้าสถานทูตพม่าในกรุงมะนิลา เพื่อฉลองวันเกิดนางออง ซาน ซูจี ปีที่ 65 (ที่มาของภาพ: Burma Partnership)

เมื่อ 18 มิ.ย. ที่ปราก สาธารณรัฐเช็ค นักกิจกรรมร่วมกันระบายสีกำแพงที่ย่านกลางเมือง เป็นภาพนางออง ซาน ซูจี และเชิญชวนผู้คนที่นั่นเขียนอวยพรวันเกิดออง ซาน ซูจี (ที่มาของภาพ: Burma Partnership)

ในช่วงวันเกิดของนางออง ซาน ซูจี ปีนี้ สถานีโทรทัศน์เสียงประชาธิปไตยแห่งพม่า (DVB) สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ซึ่งมีที่ตั้งที่ประเทศนอร์เวย์ เผยแพร่มิวสิควิดีโอเพลง “Morther 64” แต่งโดยศิลปินพม่ากลุ่ม Generation Wave เพลงนี้แต่งในโอกาสวันเกิดของนางออง ซาน ซูจี ปีที่ 64 หรือเมื่อปีที่แล้ว (ที่มา: DVBTVEnglish/youtube.com)

 

ออง ซาน ซูจี เลี้ยงอาหารคนงานก่อสร้างในวันเกิดปีที่ 65

นางออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ และปัจจุบันถูกกักบริเวณในบ้านพักริมทะเลสาบอินยา ในนครย่างกุ้ง ฉลองวันเกิดปีที่ 65 ที่บ้านพักเมื่อวาน (19 มิ.ย.) ด้วยการเลี้ยงอาหารกลางวันบรรดาคนงานก่อสร้าง ที่มาช่วยซ่อมแซมเรือนพักขนาด 2 ชั้นที่นางพำนักอยู่ โดยไม่สามารถเดินทางไปร่วมงานเลี้ยงที่สมาชิกพรรคฝ่ายค้านร่วมกันจัดให้ โดยรัฐบาลทหารพม่าอนุญาตให้ผู้สนับสนุนนำของขวัญไปให้กับนาง แต่ต้องมีการบันทึกภาพการเข้าออกในบริเวณบ้านพักไว้

ในย่างกุ้งแม้ว่านางซูจีจะไม่ได้มาร่วมงานด้วย ได้ผู้สนับสนุนซูจีกว่า 300 คน ได้จัดงานฉลองเล็กๆ ที่บ้านพักแกนนำพรรค NLD คนหนึ่ง มีการทำบุญเลี้ยงพระ จุดเทียน 65 เล่ม ปล่อยนกพิราบ 65 ตัว ปลูกต้นไม้ 20,000 ต้น รวมทั้งแจกของให้กับเด็กยากไร้

ทั้งนี้ พม่าขยายเวลาในการกักบริเวณนางซูจี เมื่อปีที่แล้ว หลังจากนางถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดฐานละเมิดกฎการควบคุมตัว เมื่อมีชายจอห์น ยิตทอว์ ชาวอเมริกันว่ายน้ำไปยังบ้านพักของนาง

 

นักกิจกรรมหลายประเทศอวยพรวันเกิดพร้อมเรียกร้องปล่อยตัว “ออง ซาน ซูจี”

นอกจากนี้มีรายงานการจัดงานวันเกิดให้กับนางออง ซาน ซูจี ในหลายประเทศ ทั้งในลอนดอน ประเทศอังกฤษ ดับลิน ในไอร์แลนด์ ไทเป ในไต้หวัน ปารีสและสตาร์สบูร์ก ในฝรั่งเศส เบลเยี่ยม หลายเมืองในสวีเดน บาร์เซโลน่าในสเปน ทรอนด์เฮม แบร์เกน และคริสเตียนซุน ในนอร์เวย์ โตรอนโตในแคนาดา นิวยอร์กและวอชิงตันดีซี ในสหรัฐอเมริกา ซิดนีย์ในออสเตรเลีย โอ๊คแลนด์ในนิวซีแลนด์ กรุงเทพ ตาก และเชียงใหม่ ในประเทศไทย มะนิลา และดาเวาในฟิลิปปินส์ นิวเดลี ในอินเดีย

นอกจากนี้มีการจัดงานวันเกิดให้ออง ซาน ซูจี ที่กรุงปราก สาธารณรัฐเช็ค โดยเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. นักกิจกรรมได้เขียนภาพนางออง ซาน ซูจีที่ย่านกลางเมือง และเชิญชวนผู้คนเขียนข้อความอวยพรวันเกิดนางออง ซาน ซูจี ที่เขตปกครองพิเศษฮ่องกงนักกิจกรรมพยายามประท้วงที่อาคารที่ตั้งสถานทูตพม่าในฮ่องกง เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนางออง ซาน ซูจี นอกจากนี้มีการจัดวันเกิดให้นางออง ซาน ซูจี ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ที่ประเทศสิงคโปร์ ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และที่เมืองบูชอน ทางตะวันตกของกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ด้วย

 

ผู้นำหลายประเทศส่งสารอวยพรวันเกิดออง ซาน ซูจี

ด้านนายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เรียกร้องให้ผู้นำรัฐบาลทหารพม่าปล่อยตัวนางซู จี และนักโทษการเมืองคนอื่นๆ ทั้งหมด โดยกล่าวว่า นักโทษการเมืองทั้งหมดในพม่า รวมทั้งนางซูจี ควรได้รับการปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไขโดยเร็วที่สุด เพื่อให้ได้เข้าร่วมกระบวนการทางการเมืองในขณะที่พม่ากำลังจะมีการเลือกตั้งในปีนี้

ด้านประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา บารัก โอบาม่า ระบุในสารอวยพรวันเกิดของนางออง ซาน ซูจี ว่าขอส่งสารแสดงความปรารถนาดีของข้าพเจ้าไปยังนางออง ซาน ซูจี ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเพียงคนเดียวที่ยังถูกจองจำ ในโอกาสที่วันคล้ายวันเกิดของท่านเวียนมาในปีที่ 65 ในวันที่ 19 มิ.ย. ขอชื่นชมความมุ่งมั่น ความกล้าหาญ และการเสียสละส่วนตัวทุ่มเททำงานเพื่อมนุษยชนและการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยในพม่า จะเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเราทุกคนผู้ยืนอยู่เคียงข้างเสรีภาพและความยุติธรรม

ด้านกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาส่งคำอวยพรไปถึงนางออง ซาน ซูจี โดยนายฟิลิป โครวลีย์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ กล่าวในแถลงการณ์ว่า การต่อสู้อย่างทรหดของนางซูจี เพื่อสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคนในพม่า เพื่อให้พวกเขาได้มีเสรีภาพ จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับประชาชนไปจนวาระสุดท้ายของโลก

รัฐบาลอังกฤษออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลทหารพม่าปล่อยตัวนางซูจีทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข โดยนายวิลเลียม เฮก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ กล่าวว่า การกักบริเวณนางออง ซาน ซูจี ต่อไปพร้อมกับนักโทษการเมืองอีกกว่า 2,100 คนในพม่า เป็นการฝ่าฝืนกฎสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และทำให้การเลือกตั้งในปลายปีนี้ไร้ความสง่างาม ส่วนนายเจเรมี บราวนี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ฝ่ายเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า รัฐบาลทหารพม่าควรยอมรับข้อเสนอการเจรจาของนางออง ซาน ซูจี เพื่อช่วยนำพาประเทศไปสู่การมีรัฐบาลพลเรือนที่โปร่งใสตรวจสอบได้

 

“ดิ เอลเดอร์” เรียกร้องปล่อยตัวออง ซาน ซูจี

ด้านกลุ่มผู้นำอาวุโสโลก หรือดิ เอลเดอร์ ก่อตั้งโดยเนลสัน แมนเดลา อดีตประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ และมีสมาชิกเป็นผู้นำเก่าของนานาประเทศ เช่น นายโคฟี่ อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ นายจิมมี่ คาร์เตอร์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ อาร์กบิชอป เดสมอนต์ ตูตู เดินทางมาประชุมร่วมกันที่แอฟริกาใต้ และออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลทหารพม่าปล่อยตัวนางออง ซาน ซู จี ผู้นำประชาธิปไตยที่ยังถูกกักบริเวณ

อาร์กบิชอปตูตู กล่าวว่า “ความแตกแยกร้าวลึกในสังคม” อันเกิดจากการปกครองโดยรัฐบาลทหารพม่ามากว่าครึ่งศตวรรษ และเรียกร้องให้มีการปรองดองเพื่อ “สร้างสรรค์สันติภาพและความมั่งคั่งให้กับประชาชนพม่า”

จิมมี่ คาร์เตอร์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และผู้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2002 กล่าวว่า ในขณะที่นางออง ซาน ซูจี ถูกจองจำมาหลายปี ขอเรียกร้องไปยังประชาคมโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นส่วนของพม่าในอาเซียนให้ตระหนักว่า นี่เป็นการกดขี่และเป็นการชี้นำที่ผิดของรัฐบาลทหารพม่าที่กีดกันนางออง ซาน ซูจี และนักกิจกรรมทางการเมืองนับพันๆ ให้พ้นจากการเป็นส่วนหนึ่งของอนาคตประเทศของพวกเขา

ทั้งนี้กลุ่มประเทศอาเซียนหรือสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถูกวิจารณ์อย่างหนักอันเนื่องมาจากอาเซียนมีนโยบายไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิกรวมทั้งพม่า

 

อดีตนักโทษการเมืองส่ง จม. ถึง นสพ.อังกฤษ ลั่นชาวพม่าต้องการและรอคอยเสรีภาพ

นอกจากนี้ นายวินติน (Win Tin) หนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรคเอ็นแอลดีอาวุโสอายุ 81 ปี ซึ่งเพิ่งถูกปล่อยตัวในเดือนกันยายนปี 2551 หลังถูกรัฐบาลทหารพม่าจองจำ 19 ปี ได้เขียนจดหมายด้วยลายมือส่งไปถึงหนังสือพิมพ์ดิ อินดิเพนเดนท์ (the Independent) ของอังกฤษ นายวินตินเขียนจดหมายว่า “ข้าพเจ้าต้องการกล่าวซ้ำและป่าวประกาศข้อความของนางออง ซาน ซูจีที่ว่า ‘โปรดใช้เสรีภาพของท่านเพื่อบอกเล่าเรื่องของพวกเรา’ ข้าพเจ้าอยากเพิ่มข้อความเข้าไปอีกว่า โปรดนำเสรีภาพมาให้พวกเรามากยิ่งๆ ขึ้นไปอีก เพื่อพม่า อันเป็นประเทศของเรา พวกเรากระหายเสรีภาพ พวกเรารอคอยบางคน บางองค์กร บางชาติจะนำเสรีภาพมาสู่พวกเรา”

ขณะที่หนังสือพิมพ์ดิการ์เดียน (the Guardian) ของอังกฤษเผยแพร่ภาพที่ไม่เคยตีพิมพ์ที่ไหนของนางออง ซาน ซูจี เพื่อระลึกถึงวันเกิดของเธอ โดยเป็นภาพที่ได้รับจากครอบครัวของนางออง ซาน ซูจี เป็นภาพของนางออง ซาน ซูจี ก่อนที่จะกลับไปยังพม่าในปี 1988 เป็นภาพก่อนที่จะถูกกักบริเวณภายในบ้าน

 

ที่มาของข่าว:

World unites to honour Suu Kyi, DVB, 19 June 2010, http://www.dvb.no/news/world-unites-to-honour-suu-kyi/10348

Aung San Suu Kyi's desperate plea to the world, By Andrew Buncombe, Asia Correspondent, The Independent, Friday, 18 June 2010 http://www.independent.co.uk/news/world/asia/aung-san-suu-kyis-desperate-plea-to-the-world-2003669.html

Aung San Suu Kyi: the unseen photo album, the Guardian, 17 June 2010, http://www.guardian.co.uk/world/gallery/2010/jun/17/aung-san-suu-kyi-photographs

Aung San Suu Kyi’s 65th Birthday Celebrated In Over 22 Cities Worldwide, Burma Campaign, 18 Jun 2010 http://www.burmacampaign.org.uk/index.php/news-and-reports/news-stories/aung-san-suu-kyis-65th-birthday-celebrated-in-over-22-cities-worldwide/2

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net