อภิปรายโศกนาฏกรรมราชประสงค์: นักวิชาการซัด “อำพราง - อัปลักษณ์ - อำมหิต”

19 มิ.ย.53 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดการอภิปรายทางวิชาการ เรื่อง “โศกนาฏกรรมจากราชดำเนินสู่ราชประสงค์” จัดโดย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และมูลนิธิศักยภาพชุมชน บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีผู้ร่วมฟังจำนวนมาก มีกำหนดจัดงานในวันที่ 19-20 มิ.ย.นี้ ผู้ที่สนใจสามารถติดตามการถ่ายทอดสด และอ่านบทวิเคราะห์ต่างๆ ในฉบับเต็มได้ใน www.peaceandjusticenetwork.org

 

พฤษภา 53 ข้อมูลการตายพร่าเลือน – ไม่ระบุอาวุธสังหาร
กฤตยา อาชวนิชกุล ศูนย์สิทธิมนุษยชน มหิดล ซึ่งเคยมีประสบการณ์เป็นแกนหลักในการรวบรวมข้อมูลคนเจ็บ คนหาย คนตาย จากเหตุการณ์พฤษภาเลือด 2535 กล่าวว่า วันนี้ตั้งใจใส่เสื้อรณรงค์ช่วงเหตุการณ์พฤษภามหาโหด 2535  ซึ่งมีข้อความว่า“Killers have no right to rule” และขอเรียกพฤษภาในปีนี้ว่า พฤษภาอำมหิต

จากนั้นกฤตยานำเสนอบทความเรื่อง “เชิงอรรถความตาย ในการปราบปรามประชาชนเดือนเมษา-พฤษภา 53 อำพราง อัปลักษณ์ อำมหิต” โดหยิบยกข้อมูลการตายจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติมาวิเคราะห์ ระบุว่าผู้ตาย 90 คนที่ปรากฏ ข้อมูลการตายวันที่ 10 เม.ย. มีข้อมูลครบ แต่ช่วง 14-19 พ.ค. เป็นข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนอย่างยิ่งทำให้ภาพการตายในช่วงเหตุการณ์นั้นพร่าเลือน ไม่ชัดเจน ไม่แน่ใจว่าเป็นความจงใจหรือไม่

ทั้งนี้ ในจำนวนผู้เสียชีวิต 90 คน เป็นหญิง 4 คน, อายุส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน, มีเยาวชน 2 คน อายุ 14 ปี (ชาย1 หญิง1) เจ้าหน้าที่รัฐ 10 คน ในจำนวนนี้ 5 คนเสียชีวิตวันที่ 10 เม.ย. มีทหาร 1 รายเสียชีวิตจากกระสุนปืนเมื่อวันที่ 28 เม.ย. ข่าวต่างประเทศระบุว่าเป็นการยิงกันเองของทหาร ส่วนตำรวจเสียชีวิต 2 นายที่สีลม, มีทหารอากาศนอกเครื่องแบบถูกยิงศีรษะซึ่งข่าวระบุว่าเจ้าหน้าที่เข้าใจผิดกัน, ทหาร 1 นายเสียชีวิตจากระเบิดที่ถนนสารสิน, นักข่าวต่างชาติเสียชีวิต 2 ราย สาเหตุของการเสียชีวิตประมาณ 3 ใน 4 ถูกยิง สันนิษฐานได้ว่าเป็นปืนที่ใช้ในสงคราม ตั้งใจยิงใส่หัว23 ราย หน้าอก24 ราย และมีหลายรายมีการถูกยิงมากกว่า 1 ตำแหน่ง อย่างไรก็ตามวันที่ 10 เม.ย. มีการระบุชัดเจนว่าอาวุธที่ใช้เกือบทั้งหมดเขียนว่า ปืนสงคราม แต่หลังจากนั้นไม่มีการระบุเลย

ผลชันสูตรไม่ตรงความจริง – วงการหมอเงียบฉี่ ไม่เหมือนพฤษภา 35
ส่วนปัญหาของการชันสูตรพลิกศพนั้น ข้อมูลตำรวจโรงพักพญาไท ยังระบุว่า ทางโรงพักได้ชันสูตรศพบริเวณราชปรารภ ประตูน้ำ ดินแดง  พบว่า มีบาดแผลตั้งแต่ตัวถึงศีรษะ หน้าไปหลัง หลังไปหน้า  จำนวน 22 ศพ แพทย์ระบุว่าถูก”วัตถุความเร็วสูง” โดยหลีกเลี่ยงที่จะเขียนว่ากระสุนความเร็วสูง

อย่างไรก็ตาม หลังวันที่ 10 เม.ย.พบว่าประมาณ 1 ใน 3 หรือ 31 ราย ไม่มีการชัสูตรศพ ทั้งที่เป็นสิ่งสำคัญมากในการชี้ว่าการตายของแต่ละศพเป็นอย่างไร เหตุการณ์ปี 2535 มีการชันสูตรศพอย่างครบถ้วน 39 ราย จากผู้เสียชีวิต 44 ราย ทำให้เห็นว่ารัฐบาลในสมัยนั้นใช้ความรุนแรงอย่างไร โดยได้รับความร่วมมือจากแพทย์ประจำบ้าน มีการศึกษาทางระบาดวิทยาของผู้ชุมนุมที่เข้ารักษาพยาบาล แต่การเคลื่อนไหวลักษณะนี้จากแพทย์ในเหตุการณ์ปี 2553 ไม่มีเลย ขณะเดียวกันยังมีข่าวลือมากมายที่แพทย์ทำกับผู้บาดเจ็บไม่เหมาะสม ยิ่งไปกว่านั้นยังมีกรณีที่ญาติประท้วงเพราะแพทย์ชันสูตรแล้วระบุว่า “ถูกของแข็งกระแทก” ทั้งที่เห็นอย่างชัดเจนว่าถูกยิง หรือกรณีน.ส.กมนเกด อัคฮาด ที่ระบุว่าไม่มีกระสุนในร่างกายทั้งที่มีหลักฐานว่ามี ซึ่งในเชิงระบบไม่พบความพยายามของภาครัฐและสถานพยาบาลที่จะทำเรื่องนี้ให้ชัดเจนขึ้น เพื่อให้คณะกรรมการอิสระที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตใช้เป็นหลักฐาน และน่าเสียดายที่ศพส่วนใหญ่ถูกฌาปนกิจแล้วแต่ก็ยังเหลือผู้บาดเจ็บจำนวนมากซึ่งเป็นพยานที่มีชีวิต อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการอิสระไม่น่าใช่ชุดของคณิต ณ นคร แม้ท่านจะน่านับถือ แต่ถูกตั้งคำถามในเชิงที่มาของการแต่งตั้งจากคู่กรณี

อำพราง อัปลักษณ์ อำมหิต
กฤตยากล่าวต่อว่า ความตายเหตุการณ์นี้สะท้อนอะไรบ้าง สิ่งที่พบนั้นเรียกว่า อำพราง อัปลักษณ์ อำมหิต โดยอำพรางคือเสื้อแดงถูกกระบวนการอำพรางให้กลายเป็นอื่น สิ่งสกปรก ต้อยต่ำ เป็นมลทิน  ดังนั้น การจะพูดถึงความสะอาดจึงพูดถึงมาตรฐานทางศีลธรรม และกลับมาให้อำนาจกับผู้ที่มีอำนาจอยู่เองในการทำให้สังคมอยู่ในระเบียบอย่างที่ควรเป็น โดยเห็นชัดเจนว่าในวันที่ 12 เม.ย. มีการสร้างวาทกรรมเรื่องก่อการร้ายขึ้นมาและใช้ตลอดมา ทั้งที่ในเหตุการณ์ภาคใต้ยังใช้ “ผู้ก่อความไม่สงบ” ในมาตรฐานสากล “ก่อการร้าย” มีความหมายชัดเจนกว่านี้ ส่วนความอัปลักษณ์ เช่นกรณีจุฬาฯ ช่วงนั้นตนคิดว่าสามารถทำบทละครได้เลย รายการข่าวโทรทัศน์ออกเต็มไปหมด แต่ไม่มีที่ใดที่ไปขุดเบื้องหลังในการบุกรพ.จุฬา ไม่มีการนำเสนออีกด้าน การนิยามให้เป็นแก๊งค์ป่วนเมือง เช่น การรณรงค์ด้วยรถไปทั่วกทม. เรื่องเหล่านี้ดำเนินไปต่อเนื่องมาถึงจุดที่ “มันต้องทำให้สะอาด” กระบวนการใช้อำนาจจึงทำด้วยความอำมหิต

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ "โมฆะบุรุษ"
“แต่ที่อำมหิตกว่านั้นคือสังคมจำนวนหนึ่งเห็นพ้องกับการใช้อำนาจอำมหิตเหล่านี้ เพื่อจัดการสิ่งซึ่งถูกมองว่าสกปรก เป็นมลทินออกไปให้หมด และพยายามบอกว่าให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยการลืมความอำมหิตเกี่ยวกับคนเสื้อแดงไว้ข้างหลัง” กฤตยากล่าว และว่าแผนการปรองดองก็อำมหิตเพราะเท่ากับบอกให้สังคมไทยควรทิ้งและลืมอดีตที่โหดร้ายไว้ข้างหลัง มีคนน้อยมากที่พูดถึงศีลธรรมของผู้ปกครอง ซึ่งไม่มีสิทธิเกลียดประชาชน หรืออำนาจที่ใช้กับประชาชน คำสั่งฆ่าประชาชนในเหตุการณ์ 7 ตุลา เคยมีคำอภิปรายของอภิสิทธิ์ต่อนายกฯ สมชายว่า เป็นคนหรือเปล่า อภิสิทธิ์เคยอภิปรายนายกฯ บรรหาร เรียกว่า เป็นโมฆะบุรุษ แต่กรณีที่เกิดขึ้นแล้วอภิสิทธิ์ยังอยู่ในอำนาจ ไม่แน่ใจว่าตกอยู่ในข่ายที่เคยเรียกคนอื่นเป็น โมฆะบุรุษ เช่นเดียวกันหรือไม่ และรัฐบาลนี้เป็นโมฆะรัฐบาลหรือไม่

“ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั้ง เมษา พฤษภา และเหตุการณ์ที่เกิดในภาคใต้ ประวัติศาสตร์ต่างๆ ย้ำเตือนเราซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า สังคมไทยมีวัฒนธรรมที่อดทนต่อความแตกต่างทางความคิดน้อยมาก หรือไม่มีเลย เราไม่มีระบบการศึกษาที่ทำให้คนตั้งคำถามได้เหมือนที่เราบอกว่าอยู่ในสังคมประชาธิปไตย” กฤตยากล่าวสรุปถึงมุมมองทางสังคมศาสตร์ และว่านอกจากนี้ยังมีระบบความเชื่อ กฎหมาย กลไกที่บีบให้คนกลัว ทำให้สังคมไทยเกิดความเงียบ

“อย่าลืมว่าเราอยู่ในรัฐบาลเลือกตั้ง รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลพลเรือนชุดแรกที่ทำให้เกิดการฆ่าฟันล้มตายในบ้านเมืองมากที่สุดเท่าที่ตั้งประเทศไทยมา” กฤตยากล่าวและว่า ความเป็นรัฐบาลพลเรือนแล้วยังละเมิดสิทธิ จึงทำให้การละเมิดในลักษณะเชิงโครงสร้างอย่างสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมืองกลายเป็นความปกติของประเทศไทย รวมไปถึงการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินยาวนานจนเป็นสิ่งปกติด้วย ทั้งที่ตั้งแต่แรกเริ่มนั้นไม่มีความจำเป็นและสามารถแก้ปัญหาด้วยวิถีทางทางการเมือง
 
สำหรับข้อเสนอนั้น กฤตยากล่าวว่า 1. รัฐบาลต้องคืนความยุติธรรมให้ผู้เสียชีวิตและผู้เสียหายทุกฝ่าย 2.ยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินเร็วสุด 3. ตั้งคณะกรรมการอิสระตรจสอบข้อเท็จจริง โดยที่ไม่ใช่รัฐบาลจัดตั้ง แต่ควรมีที่มาดังเช่นข้อเสนอของไกรศักดิ์ ชุณหะวัณที่ให้รัฐสภาเลือก และมาจากหลากหลายฝ่าย ควรมีตัวแทนจากกมธ.สิทธิมนุษยชนของอาเซียนด้วย

ความชอบธรรมที่ทำให้การตายสูญเปล่า
เกษม เพ็ญภินันท์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงบทวิเคราะห์ปฏิบัติการทางทหาร ว่า โดยหลักการแล้ว การใช้กำลังทหารเข้าสลายและล้อมปราบการชุมนุมทางการเมืองในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยไม่ควรเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแนวทางการเจรจาเพื่อยุติปัญหาโดยสันติยังเป็นไปได้ นอกจากนี้รัฐบาลควรถูกตั้งคำถามตั้งแต่การใช้อาวุธหนักเข้าสลายการชุมนุมแล้ว  แม้อ้างว่าผู้ชุมนุมมีอาวุธแต่เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วก็ไม่ได้มีน้ำหนัก ร้ายแรงเท่ากำลังทหารกว่า 50,000 นายพร้อมอาวุธครบมือซึ่งมากเกินกว่าข้ออ้างเรื่องการป้องกันตัว

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ความชอบธรรมที่ใช้สลายการชุมุนม รัฐใช้การกล่าวหา 3 เรื่องหลัก คือ 1. ผู้ก่อการร้าย ซึ่งเริ่มใช้ 12 เม.ย.เพื่อตอบโต้กลุ่มคนชุดดำที่โจมตีทหาร คำถามคือทำไมเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของรัฐจึงไม่ทราบและไม่มีมาตรการที่สามารถจัดการได้ แต่รัฐกลับเหมารวมและสร้างมายาคติของสังคมให้เชื่อว่าคนมาชุมนุมพร้อมจะใช้อาวุธสู้รบ เป็นผลักให้คนเหล่านี้เป็นจำเลยไม่ว่าความรุนแรงจะมาจากไหนก็ตาม 2.ผู้ร่วมชุมนุมได้รับอามิสสินจ้างจากทักษิณและเครือข่าย เรื่องนี้แม้แกนนำจะมีความสัมพันธ์อันดีกับทักษิณ แต่ไม่ได้หมายความว่าคนส่วนใหญ่ถูกซื้อมา สิ่งที่สำคัญกว่าคือประเด็นสิทธิทางการเมืองที่พวกเขาต้องสามารถแสดงออกได้ 3.แดงล้มเจ้า แม้ประเด็นนี้ไม่ได้นำมาซึ่งประเด็นทางกฎหมาย แต่สร้าง “ม็อบชนม็อบ” ทั้งในพื้นที่จริงหรือในไซเบอร์สเปซ กระตุ้นเร้าให้สังคมเผชิญหน้ากันและให้ฝ่ายหนึ่งเป็นปรปักษ์ในสังคม

“ความชอบธรรมมาจากการอ้างข้อกล่าวหาทั้งสามนำมาซึ่งการใช้กำลัง เพราะข้อหาเหล่านี้ร้ายแรงและชอบธรรมพอที่จะใช้กำลังสลายได้ และความตายของคนเหล่านี้ไม่เท่ากับตึกรามบ้านช่องที่ถูกเผา ซึ่งด้านหนึ่งมันคือความน่าสลดใจของสังคมไทย”เกษมกล่าว

เทียบมาตรฐานสากลกับการสลายการชุมนุมแบบไทยๆ
ขวัญระวี วังอุดม นักสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า เราสามารถเทียบเคียงปฏิบัติการครั้งนี้กับหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศไม่ว่า ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน, กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่กำหนดให้ประเทศไทยในฐานะรัฐภาคีมีพันธกรณีที่จะต้องเคารพและปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะสิทธิในการมีชีวิต แม้แต่หลักการสากลที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในภาวะความขัดแย้งที่จำเป็นต้องมีการใช้อาวุธก็ยังย้ำความสำคัญของสิทธิดังกล่าว และระบุว่าต้องมีสัดส่วนการใช้กำลังและอาวุธที่เหมาะสมกับสถานการณ์ ต้องเริ่มจากเบาไปหาหนัก ซึ่งศอฉ.ประกาศ 7 มาตรการเบาไปหาหนัก แต่กระสุนจริงไม่ได้แค่ยิงขึ้นฟ้า เพราะมีผู้บาดเจ็บจากกระสุนจริงตั้งแต่ช่วงบ่ายวันที่ 10 เม.ย.ที่สะพานผ่านฟ้า นอกจากนี้การปฏิบัติการทางทหารของศอฉ. มีการยิงแบบไม่เลือกเป้า ใช้อาวุธกับคนมือเปล่า มีการใช้กระสุนจริงเหนือเข่า มีการยิงรัวไม่ใช่ยิงทีละนัด รวมทั้งยังใช้กำลังเกินกว่าเหตุกรณียิงหน่วยกู้ชีพ

ส่วนหลักการการรับผิดนั้น ตามหลักสากลทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและผู้สั่งการจะต้องรับผิด แต่ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรา 17ระบุว่าเจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิด ทั้งทางแพ่ง อาญา วินัย ในเรื่องการตรวจสอบตามหลักสากลแล้วเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นรัฐบาลต้องให้ความร่วมมือกับกลไกตรวจสอบระหว่างประเทศ เพื่อให้น่าเชื่อถือและแสดงความจริงใจของรัฐบาล

ศราวุฒิ ประทุมราช นักสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงปฏิบัติการจับกุมและการคุกคามของรัฐภายในพ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยแบ่งเป็น 3 ช่วงได้แก่ 12-18 พ.ค., 19 พ.ค., และหลัง 19 พ.ค. ในช่วงแรกมักเป็นการเรียกตัวไปสอบสวนและอบรมตักเตือน ใช้หมาย ศอฉ. ส่วนในต่างจังหวัดมีการสั่งการให้ผู้ว่าฯ ใช้กลไกรัฐติดตามแกนนำ ส่วนการจับกุมนั้นเป็นไปอย่างเหวี่ยงแห มีการจับตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินทั้งก่อนและหลังสลายการชุมนุม หลังเหตุการณ์ สตช.ระบุว่าทั้งประเทศมีหมายจับ 819 ราย บางส่วนจับกุมแล้ว ช่วงสองคือวันสลายการชุมนุม  19 พ.ค. มีภาพข่าวของต่างประเทศปรากฏว่ามีการผูกตา มัดมือไพร่หลัง มัดขาผู้ชุมนุมซึ่งเหล่านี้เข้าข่ายการทรมาน และในช่วงสามคือหลังสลายการชุมนุมก็ยังปรากฏว่ามีการจับกุมดำเนินคดีต่อเนื่อง รวมถึงการคุกคามแกนนำท้องถิ่นที่เพิ่มมากขึ้น

ศราวุฒิระบุว่า หากยังประกาศใช้พ.ร.ก. อยู่ก็จะเป็นการปิดกั้นโอกาสประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิในการเรียกหาความรับผิดชอบและเรียกร้องความเสียหายจากรัฐ เป็นเงื่อนไขให้รัฐใช้อำนาจข่มขู่คุกคามได้อย่างเกินขอบเขต สร้าง “บรรยากาศแห่งความหวาดกลัว” ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการแสวงหาความจริงและความยุติธรรม จึงสนับสนุนให้ยกเลิกพรก.ฉกเฉินทั่วประเทศ รวมถึงสามจังหวัดภาคใต้ด้วยถ้าอยากจะปรองดองกับพี่น้องสามจังหวัด ควรใช้ประมวลกฎหมายอาญาฉบับเดียวกันทั่วประเทศ

สารพัดวิธีโฆษณาชวนเชื่อของ ศอฉ.
จักรกริช สังขมณี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงปฏิบัติการโฆษณาชวนเชื่อของศอฉ.ว่า สาระและวิธีการเสนอของศอฉ. ที่ออกทีวีพูลนั้นเข้าข่ายโฆษณาชวนเชื่อ นำเสนอภาพให้ประชาชนหวาดกลัว เกลียดผู้ชุมนุม ทำให้ข้อถกเถียงหลายอย่างกลายเป็นข้อสรุปไปโดยไม่ได้หาความจริง หรือตั้งคำถาม

จักกริชได้แบ่งเทคนิคการโฆษณาชวนเชื่อของ ศอฉ.ออกเป็น 1.การเลือกกล่าวโจมตีที่ตัวบุคคล มากกว่าข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ข้อเรียกร้องของเขา ศอฉ.ไม่ได้สนใจประเด็นข้อเรียกร้องผู้ชุมนุมอย่างเปิดกว้างเป็นธรรม โจมตีเป็นผู้ป่วนเมือง ผู้ไม่รู้ ไร้การศึกษา 2. ใช้คำ วลี ประโยค และพูดสอดแทรกซ้ำๆ ในแถลงการณ์ให้รับฟังไปโดยไม่รู้ตัวและทำให้เชื่อ ทำให้ผู้ชุมนุมน่ากลัวเป็นผู้ร้าย เช่น ผู้กระทำผิดกฎหมาย เหิมเกิรม ป่วนเมือง ทำตามอำเภอใจ ผู้ก่อการร้าย ผู้ก่อความไม่สงบ ผู้มีพฤติกรรมล้มเจ้า ฯลฯ เต็มไปด้วยอคติ ประณามหยามเหยียด ไม่ใช่การชี้แจงข้อมูลปกติ ในทางตรงกันข้ามยังสอดแทรกคำที่ละมุนละไมที่จะสร้างความชอบธรรมของตนเอง ปิดบังการสลายการชุมนุมด้วยอาวุธ เช่น การอำนวยการรักษาความปลอดภัย, การกระชับวงล้อม, การขอคืนพื้นที่ 3.  การตัดต่อภาพและการอ้างอิงนอกบริบท ตัดต่อภาพต่างกรรมต่างวาระเข้ามาเป็นเรื่องเดียวกัน เช่น การเตรียมการก่อวินาศกรรม 4.พูดความจริงบางส่วน เช่น กรณีคนตาย เห็นภาพ 5 คนบนถนนราชปรารภ พยายามบอกว่าตายเพียงคนเดียวที่เหลือไม่ตาย แต่สิ่งที่ควรพูดและไม่พูดคือที่ตายนั้นเพราะอะไร

5.การเบี่ยงเบนความสนใจจากประเด็นหลัก โดยไม่ได้ให้ข้อมูลที่เป็นจริง เช่น กรณีทหารซุ่มยิง มีขึ้นเพื่อแก้ต่างคลิปที่เผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ต คนหนึ่งสั่ง คนหนึ่งเล็งยิง ล้มแล้วก็ยังไม่หยุดยิง ศอฉ.อธิบายปืน ลักษณะทหาร ซ้ำไปซ้ำมา คำถามคือ มีทหารซุ่มยิงหรือเปล่า แต่กลับไปอธิบายเรื่องอื่นแทน 6.สร้างความนิยมชมชอบในตัวผู้โฆษณาชวนเชื่อ เช่น การขึ้นโฆษณาบนปกหนังสือหลายฉบับ เทคนิคเสริม ระดมคนดังมาพูดโน้มน้าวให้รักกัน โดยไม่สนใจปัญหาเชิงลึก

สื่อถูกทำให้เงียบ ทหารพอใจบอกสื่อช่วยรัฐบาล
อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ อดีตอาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงการใช้สื่อเพื่อสร้างความชอบธรรม ว่า ที่ผ่านมาสื่อทำงานโดยไม่เป็นอิสระ ถูกข่มขู่คุกคาม หวาดกลัว ขณะเดียวกันก็ไม่กล้าตั้งคำถาม “ถูกทำ” ให้เงียบเสียง ภาพสะท้อนการทำงานสื่อที่สำคัญคือการให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.อภิชาติ เพ็ญกิตติ ปลัดกระทรวงกลาโหมต่อทีวีไทยที่ว่า ขอบคุณสื่อ เพราะสื่อช่วยให้รัฐบาลอยู่ได้ ช่วยรัฐบาลสร้างความเข้าใจกับประชาชน รายงานอย่างเป็นกลาง

ในพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ม.9(3) ก็เป็นปัญหาเพราะให้อำนาจในการควบคุมสื่อ ส่วนกลไกที่ใช้ที่ทำให้เงียบที่สำคัญ คือ การปิดปากฝ่ายตรงข้าม การปิดสื่อท้องถิ่นอย่างวิทยุชุมนุมในพื้นที่สีแดงหลายจังหวัด บางสถานีส่งกำลังทหารหลายร้อยนายไปปิดสถานี จับแกนนำไป 20 กว่ารายที่เป็นผู้ดำเนินการสถานีวิทยุชุมชน มีการปิดเว็บไซต์เท่าที่เห็นคำสั่งชัดเจนมี 36 เว็บ แต่เอาเข้าจริงลือกันว่าปิดประมาณ 30,000-40,000 เว็บ เว็บไซต์ประชาไทไม่ยอมรับคำสั่งไปฟ้องศาลให้คุ้มครองชั่วคราว ศาลไม่สอบพยาน ตัดสินยกฟ้องเพราะรัฐบาลมีอำนาจได้ตามพรก.ฉุกเฉิน จะเห็นว่าพ.ร.ก.ฉุกเฉินมีอำนาจสูงกว่ารัฐธรรมนูญเสียอีก 

ในส่วนของสื่อกระแสหลัก มีนักข่าวพยายามรายงานข่าวต่างๆ อยู่แต่ถ้ารายงานมากไปก็ถูกปิดคอลัมน์ หรือรายการไปมีคำสั่งโดยตรงไปยังช่องต่างๆ ห้ามเสนอภาพทหารเล็งปืน และให้ใช้ถ้อยคำ วลี วาทกรรมของรัฐ ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นภาษาทหาร คนทั่วไปไม่ใช่แต่สื่อกระแสหลักใช้จนติดปาก ส่วนการข่มขู่คุกคามขั้นสูงสุดคือ การยิงผู้สื่อข่าว รัฐบาลต้องพิสูจน์ว่าตั้งใจยิงหรือไม่ ทำไมสื่อจึงตกเป็นเป้าหมาย ต้องการปกปิดภาพที่จะถูกเผยแพร่หรือไม่ และที่ปกปิดนั้นภาพอะไรบ้าง ท้ายที่สุดต้องยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินโดยเร็วที่สุด

ทีมอาสาบุกฉาย-แจกคลิปเหตุการณ์วัดปทุมฯ
จากนั้นทีมอาสาสมัครกู้ชีพได้มีการฉายคลิปวีดิโอเหตุการณ์ในวัดปทุมวนาราม รวมถึงแจกซีดีรวมภาพและคลิปให้กับผู้ร่วมฟังอภิปรายด้วย โดย วสันต์ สายรัศมี หรือเก่ง ได้ออธิบายคลิปให้เห็นว่าอัครเดช ขันแก้ว หรืออ๊อฟ อาสาฯ ที่ถูกยิงนั้นดิ้นอยู่นานกว่าจะเสียชีวิตโดยไม่มีใครช่วยได้เพราะเกรงจะถูกยิง ส่วนกระสุนในตัวกมนเกด อัคฮาด นั้นมีหลายนัดไม่ใช่ไม่มีกระสุนในตัวอย่างที่เป็นข่าว เธอถูกยิงขณะกำลังช่วยลุงกิตติชัยที่ถูกยิงก่อนหน้านั้นทั้งที่ยกมือยอมแพ้แล้ว, มงคล เข็มทอง หนึ่งในอาสาฯ ที่เสียชีวิตไปช่วยอัฐชัยที่โดนยิงก่อนแล้วลากเข้ามา เขาโดนยิงที่เครื่องหมายปอเต๊กตึ๊งตัดขั้วหัวใจ โดยที่ขณะนี้ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือใดๆ จากรัฐบาลด้วยเนื่องจากถูกระบุว่าเป็นผู้ก่อการร้าย

“ที่พวกผมออกมาฉายคลิปพูดคุยในเวทีเสวนาต่างๆ ก็เพราะต้องการเรียกร้องความยุติธรรมให้อาสาสมัครที่พร้อมช่วยทุกฝ่าย และที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยพูดถึงกรณีเหล่านี้เลย” เก่งกล่าว

โต้สุเทพ คนตายในวัดไม่มีอาวุธ ประชาชนมือเปล่าปีนต้นไม้ดูแนวทหาร
ส่วนกรณีที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แถลงว่า ผู้เสียชีวิตในวัดปทุมมี 1 นายมีผ้าเหลืองห่อนั้นมีอาวุธปืนและโดนยิงด้วย วสันต์กล่าวว่า ข้อเท็จจริงคือเขาเป็นประชาชนที่ขึ้นไปอยู่บนต้นไม้ในวัดเพื่อสังเกตแนวทหาร เขายังช่วยนักข่าวคนหนึ่งด้วยซ้ำ แต่สุดท้ายเขาต้องมาเสียชีวิต และในภาพจะเห็นว่าเขานอนอยู่บนจีวร เขาไม่ใช่พระแต่หลวงพ่อสละจีวรเพื่อยกศพเขาเข้าวัดอย่างทุลักทุเล

พยานวัดปทุมฯ ร้องโดนคุกคาม ต้องเร่ร่อน
หัวหน้าทีมปอเต๊กตึ๊ง หนึ่งในทีมอาสาสมัคร กล่าวถึงประวัติของเบิร์ด ลูกน้องที่ถูกยิงเสียชีวิตที่ซอยงามดูพลีว่าเริ่มทำงานอาสาตั้งแต่อายุ 13 ปี ขี่จักรยานจากบ่อนไก่มาทองหล่อ ปีนี้เพิ่งได้บัตรปอเต๊กตึ๊งอย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคม ในวันเกิดเหตุเขานั่งกินข้าวบนบ้านซอยงามดูพลี และอาสาฯที่อยู่ในพื้นที่เข้ามาบอกว่ามีคนเจ็บเยอะ เขาทิ้งจานข้าวมาช่วยคน ในระหว่างเข้าช่วยเหลือมือขวาเขาถือธงกาชาด ใช้วิธีคลานเข้าไปช่วยเหยื่อที่โดนยิง 3 คนออกมาได้ 2 คน แต่เมื่อตนเองหันไปอีกทีเบิร์ดก็โดนยิงเข้าท้ายทอยทะลุตาขวาแล้ว ข่าวออกทันทีว่าเป็นการ์ดนปช. จึงต้องหันไปประกาศบนเวที นปช. หลังตนเองออกมาให้ข่าวก็โดนติดตามราว 1 อาทิตย์ นอนบ้านไม่ได้

“ผมเป็นใครพี่ เป็นแกนนำเหรอ ทุกวันนี้ก็นอนบ้านไม่ได้ ต้องเปลี่ยนไปทุกวัน ลูกผมก็เล็ก ผมทำแล้วได้อะไร ประเทศเราจะมีกู้ภัย กู้ชีพอีกดีไหม ที่ทุกคนพูดเพราะสงสารเพื่อนเรา เราอยู่แบบพี่แบบน้อง ทางบ้านก็แอนตี้ผมมาก กลัวมีปัญหาทางบ้านเดือดร้อน ผมทำเพื่ออะไร แนะนำผมหน่อยว่าผมจะทำต่อดีไหม หรือควรเลิกทำไปเลย” หัวหน้าทีมปอเต๊กตึ๊งกล่าว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท