Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. ที่ผ่านมาสหภาพแรงงานไทยคูน ประเทศไทย นำโดย นายชัชวาล ลัมเพชร ประธานสหภาพ เข้าพบ นายสมชาย วงศ์ทอง รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เพื่อขอความช่วยเหลือหลังจากแรงงานได้รับความเดือดร้อนจากกรณีข้อพิพาทกับนายจ้างคือบริษัท ไทยคูน เวิลด์ไวด์ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) โดย นายชัชวาล กล่าวว่า ตั้งแต่เข้าสู่กระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พนักงานก็ถูกกลั่นแกล้งมาโดยตลอด ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2553 ก็ถูกบริษัทไล่ไม่ให้เข้าไปในหอพัก ซึ่งเป็นที่พักอาศัยของพนักงาน ทั้งที่มีการจ่ายค่าเช่าทุกเดือน นอกจากนี้ยังมีการจ้างชายฉกรรจ์ไปยืนเฝ้าทางเข้าออกหอพักด้วย

อีกทั้งกรณีการลอบทำร้ายกรรมการสหภาพแรงงาน ซึ่งได้มีการแจ้งความกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจไปแล้ว ทว่าคดีความก็ยังไม่คืบหน้า จนถึงขณะนี้พนักงานในฝ่ายของสหภาพเกิดความวิตกถึงความไม่ปลอดภัย จึงต้องการให้กระทรวงแรงงานเข้าไปดูแลเรื่องความเดือดร้อนดังกล่าว

สำหรับเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องของสหภาพนั้น นายชัชวาล กล่าวว่า เป็นเรื่องที่บริษัทละเลยมาตลอด และไม่มีความชัดเจนที่จะแก้ปัญหา ทำให้อัตราการเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานมีมากขึ้น โดยเฉพาะกรณีที่พนักงานต้องสูญเสียอวัยวะนิ้วมือทั้ง 4 นิ้วจากการทำงาน และบางรายถึงขั้นตาบอด ขณะนี้ยังรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล โดยที่ทางบริษัทไม่ได้ให้ความช่วยเหลือแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ (17 มิ.ย.) เวลา 10.00 น. จะมีการเจรจาไกล่เกลี่ยกันอีกครั้ง ที่สำนักงาน อบต.นิคมพัฒนา จ.ระยอง หลังจากที่มีการเจรจาไกล่เกลี่ยก่อนหน้านี้มาแล้ว 16 ครั้ง แต่ยังไม่ได้ข้อยุติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พนักงาน บริษัท ไทยคูน กว่า 400 คน จากทั้งหมดกว่า 700 คน ต้องใช้ชีวิตกินอยู่หลับนอน ริมถนนหน้าโรงงาน ในตำบลนิคมพัฒนา อำเภอนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง มานานเกือบ 1 เดือน หลังจากรวมตัวกันเรียกร้องให้นายจ้างชาวไต้หวันให้ปรับเงินเดือน และโบนัส ตามกฎหมาย แต่ก็ไร้ผล

นายจารึก บุญยัง พนักงานที่ร่วมประท้วง ยอมรับว่า การมากินอยู่หลับนอนริมถนน ทั้งอันตรายและลำบาก แต่ก็ต้องทำ เพื่อเรียกร้องให้นายจ้างยอมทำตามข้อกฎหมาย คือ การ ปรับเงินเดือนให้แก่พนักงาน และยอมจ่ายโบนัส เพื่อช่วยเหลือพนักงานที่มีรายได้น้อย

นางเบญจวรรณ ราชวงศ์ อีกหนึ่งในคนงานผู้ประท้วง บอกว่า การรวมตัวกันประท้วง ทำให้นายจ้างไม่พอใจ ไล่ออกจากหอ แล้วนำคนงานต่างด้าวเข้าไปสวมแทนคนงานไทย จึงพากันไปร้องต่อศาล นายจ้างก็อนุญาตให้เข้าไปอยู่ได้ แต่ไม่ให้อยู่ในห้องเดิม ให้ไปอยู่ชั้นล่างของหอ อยู่รวมกันอย่างแออัด ซึ่งเป็นการกลั่นแกล้งและไม่เป็นธรรม--จบ--

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net