Skip to main content
sharethis
คณะกรรมการปกป้องสื่อระหว่างประเทศ(CPJ) ส่งจดหมายเปิดผนึกลงวันที่ 7 มิ.ย.53 ถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีไทย และนำไปเผยแพร่ต่อในเว็บไซต์ของซีพีเจ กรณีที่มีผู้สื่อข่าวตกเป็นเป้าโจมตีจนถึงขั้นเสียชีวิตและบาดเจ็บหลายรายในการรายงานข่าวการปะทะกันระหว่างทหารและผู้ชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง เมื่อเดือน เม.ย.และพ.ค.ที่ผ่านมา พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลไทยจัดตั้งกรรมการอิสระขึ้นเพื่อไต่สวนข้อเท็จจริงและนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ
 
นายโจเอล ไซมอน ประธานคณะกรรมการปกป้องสื่อระหว่างประเทศ ระบุว่า กรณีของนายฮิโระ มูราโมโต้ ช่างภาพของสำนักข่าวรอยเตอร์ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตในเหตุการณ์รุนแรงบริเวณสี่แยกคอกวัวเมื่อวันที่ 10 เม.ย. นั้นตนได้สนทนากับเจ้าหน้าที่การทูตของไทยรายหนึ่งซึ่งยืนยันว่ารัฐบาลไทยมีเทปบันทึกภาพเหตุการณ์ปะทะที่ได้จากกล้องวงจรปิดบริเวณที่เกิดเหตุ แต่ไม่ยอมนำมาเปิดเผยต่อสาธารณะ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยนำภาพที่ถูกบันทึกในวิดีโอมาแสดงต่อคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงรวมถึงบรรดาทูตและผู้สื่อข่าวด้วย
 
นอกจากนี้ คณะกรรมการปกป้องสื่อฯ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้ความร่วมมือในการสืบหาข้อเท็จจริงของทั้ง 2 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากได้รับรายงานของเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการปกป้องสื่อฯ ว่ารัฐบาลและกองทัพไทยไม่อนุญาติให้นายทหารที่อยู่ในเหตุการณ์ขณะที่นายมูราโมโต้เสียชีวิตให้สัมภาษณ์กับทางคณะกรรมการปกป้องสื่อฯ ทั้งที่การให้ข้อมูลของนายทหารดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อการสืบสวนข้อเท็จจริง
ส่วนกรณีอื่นๆที่คณะกรรมการปกป้องสื่อฯ ต้องการความกระจ่างจากรัฐบาลไทย ได้แก่
 
การเสียชีวิตของนายฟาบิโอ โพเลงกิ ช่างภาพข่าวชาวอิตาลี ซึ่งถูกยิงเข้าที่ท้องในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่19 พ.ค.และเพื่อนร่วมงานของโพเลงกีระบุว่าผู้สื่อข่าวซึ่งติดปลอกแขนสีเขียวของสมาคมนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยตกเป็นเป้าโจมตี และระบุถึงกรณีตัวอย่างอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนพ.ค.ซึ่งมีผู้สื่อข่าวทั้งที่เป็นชาวไทยและชาวต่างชาติบาดเจ็บจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมรวมทั้งสิ้น 7 ราย โดยกรณีที่เข้าขั้นร้ายแรงได้แก่
 
       - ในวันที่ 14 พ.ค.นายเนลสัน แรนด์ ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ France24 ถูกยิงถึง 3 ครั้งขณะกำลังบันทึกภาพการต่อสู้ระหว่างกองกำลังความมั่นคงของรัฐบาลและผู้ชุมนุมเสื้อแดง แต่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าผู้ยิงเขาอยู่ฝ่ายทหารหรือฝ่ายผู้ชุมนุม
 
       - ในวันที่ 19 พ.ค.นายแชนด์เลอร์ แวนเดอร์กริฟท์ ผู้สื่อข่าวอิสระชาวแคนาดา บาดเจ็บสาหัสเพราะถูกสะเก็ดระเบิดเอ็ม 79 ทะลุเข้าที่ศีรษะและหลังขณะกำลังวิ่งไปใกล้บริเวณที่มีการชุมนุมและเป็นการวิ่งไปพร้อมกับทหารและผู้สื่อข่าวรายอื่นๆ
 
       - ในวันที่ 19 พ.ค.นายมิเชล มาส ผู้สื่อข่าวชาวดัทช์ จากสถานีโทรทัศน์และวิทยุเนเธอร์แลนด์ถูกยิงที่ไหล่ขณะกำลังบันทึกภาพทหารใช้กำลังรุนแรงกับผู้ชุมนุม และเขาเปิดเผยกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่าเขาเชื่อว่าเขาถูกทหารไทยยิงจากด้านหลังเพราะวิถีกระสุนมาจากทางฝ่ายทหาร
 
คณะกรรมการปกป้องสื่อฯ ระบุด้วยว่า การที่รัฐบาลใช้อำนาจแทรกแซงสื่อโทรทัศน์ในช่วงค่ำวันที่19 พ.ค. เพื่อมิให้นำเสนอเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และการสั่งปิดสื่ออื่นๆ เช่นเว็บไซต์หนังสือพิมพ์อิสระ "ประชาไท" รวมถึงการปิดสถานีโทรทัศน์และสถานีวิทยุชุมชนของคนเสื้อแดงหลายแห่งโดยใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นการคุกคามสิทธิสื่อขั้นร้ายแรงเพราะเป็นการบังคับใช้กฎหมายที่มิได้มีการแจ้งข้อหาใดๆ เช่นเดียวกับการคุมตัวนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์เรดนิวส์ ที่ค่ายทหารในจังหวัดสระบุรีตั้งแต่วันที่ 24 พ.ค.เป็นต้นมา
 
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการปกป้องสื่อฯ ได้กล่าวประณามสื่อในรูปแบบต่างๆ ของผู้ที่มีส่วนร่วมในความขัดแย้งทุกฝ่ายที่ปลุกระดมให้เกิดความรุนแรง รวมถึงประณามการกระทำของผู้ชุมนุมกลุ่มเสื้อแดงจำนวนหนึ่งซึ่งก่อเหตุเผาอาคารสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 จนทำให้ผู้สื่อข่าวและเจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่งต้องหลบหนีจากที่เกิดเหตุด้วยเฮลิคอปเตอร์ จึงเสนอให้รัฐบาลไทยดำเนินการทางกฎหมายกับผู้กระทำความผิดในกรณีนี้อย่างรวดเร็วและโปร่งใส ขณะเดียวกันคณะกรรมการปกป้องสื่อฯ ก็กำลังติดตามสอบสวนและสืบหาข้อเท็จจริงกรณีที่ผู้สื่อข่าวชาวไทยและน้กสิทธิมนุษยชนร้องเรียนว่ากองกำลังติดอาวุธฝ่ายผู้ชุมนุมพุ่งเป้าทำร้ายผู้สื่อข่าวเพื่อป้ายความผิดให้กับรัฐบาลไทยอยู่เช่นกัน
 
นอกจากนี้ ซีพีเจยังระบุด้วยว่าการปิดกั้นสื่อที่แสดงความคิดเห็นตรงข้ามกับรัฐบาล รวมถึงการใช้สื่อเผยแพร่ข้อมูลของฝ่ายรัฐเพียงอย่างเดียวโดยไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายตรงข้ามได้ชี้แจงไม่อาจทำให้เกิดความปรองดองขึ้นได้ในสังคมไทยและหากนายอภิสิทธิ์ยึดมั่นในหลักนิติรัฐตามที่กล่าวไว้จะต้องจัดให้มีคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับสื่อมวลชนโดยเฉพาะและกระบวนการสอบสวนควรเปิดโอกาสให้สาธารณชนมีส่วนร่วมรวมถึงดำเนินไปอย่างถูกต้องตามหลักกฎหมายสากล
 
ทั้งนี้ คณะกรรมการปกป้องสื่อระหว่างประเทศ (CPJ) เป็นองค์กรอิสระ ไม่แสวงหาผลกำไร ก่อตั้งเมื่อปี 2524 โดยกลุ่มผู้สื่อข่าวต่างประเทศในสหรัฐอเมริกา องค์กรนี้สนับสนุนเรื่องเสรีภาพสื่อทั่วโลกด้วยการปกป้องสิทธิของผู้สื่อข่าวในการรายงานข่าวโดยปราศจากความกลัวต่อการแก้แค้น ตอบโต้ด้วยกำลังทหาร
 
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net