Skip to main content
sharethis

เครือข่ายนักศึกษาใต้ยื่นจดหมายเปิดผนึก แม่ทัพภาค 4 กรณีเสียชีวิตของนายสุไลมาน  แนซา ในห้องควบคุมตัว จี้ภาครัฐตั้งคณะกรรมการอิสระในการตรวจสอบเพื่อแสดงความจริงใจและสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่

7 มิ.ย. 53 ข การเสียชีวิตในระหว่างการถูกควบคุมตัวจากเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใด ย่อมก่อให้เกิดคำถามตามมามาก  อย่างกรณีอีหม่ามยะผา  กาเซ็ง  ในอดีตที่ผ่านมาซึ่งเป็นบทเรียนที่ควรแก่การจดจำของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่แห่งความขัดแย้ง  แต่เหตุการณ์เฉกเช่นเดิมกลับมาเกิดขึ้นอีกครั้งในกรณีนี้คือการเสียชีวิตของนายสุไลมาน  แนซา  ซึ่งเสียชีวิตขณะเข้ากระบวนการซักถามซึ่งตกเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคงในศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ (ศสฉ.)  ค่ายอิงคยุทธบริหาร  จังหวัดปัตตานี  ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่ควบคุมตัวอ้างถึงการเสียชีวิตของนายสุไลมาน ว่าเป็นการผูกคอฆ่าตัวตายในห้องพัก

จากกรณีนี้ทำให้กลุ่มองค์กรทางด้านสิทธิมนุษยชน  และกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ตั้งข้อสงสัยต่อการเสียชีวิตในครั้งนี้  รวมถึงสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้(สนน.จชต.) โดยในครั้งมีนายกริยา  มูซอ  เลขาธิการ สนน.จชต.  เป็นตัวแทนในการยื่นจดหมายเปิดผนึกแก่แม่ทัพภาคที่ 4   ที่ค่ายสิรินธร  จ.ปัตตานี  เมื่อเช้าวันอาทิตย์ที่ 6 มิ.ย. 53 เพื่อขอให้ภาครัฐแสดงความโปร่งใสและแสดงความรับผิดชอบในการใช้อำนาจในการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย  โดยมีนายกองค์การบริหารองค์การนักศึกษา มอ.ปัตตานี นายอับดุลเลาะ  สารีมา  อ่านจดหมายเปิดผนึกให้ตัวแทนแม่ทัพภาคที่ 4   พล.ต.อุดมชัย  ธรรมสาโรรัชต์  รองแม่ทัพภาคที่ 4  และรอง ผอ.รมน.ภ.4  รับทราบถึงข้อเสนอของทางสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้  มีทั้งหมด 7 ข้อเสนอ

1. ขอให้ภาครัฐตั้งคณะกรรมการอิสระในการตรวจสอบกรณีการตายของ นายสุไลมาน แนแซ  โดยคณะกรรมการอิสระดังกล่าวต้องมาจาก 3 ฝ่าย คือ  1.) องค์กรภาคประชาชนสังคม  2.) ทีมแพทย์ที่เคยชันสูตรผลิกศพ   3.)  ตัวแทนจาก กอ.รมน. โดยกรรมการอิสระชุดนี้ต้องได้รับการยอมรับจากคนในพื้นที่และภาคประชาสังคม  และเมื่อ แต่งตั้งเสร็จแล้วให้ประกาศต่อสาธารณชน
2. ให้หน่วยงานที่ควบคุมตัวผู้เสียชีวิตออกมาแสดงคำรับผิดชอบโดยออกมา  ขอโทษผ่านสื่อต่อสาธารณชนในการดำเนินการกระบวนการควบคุมตัวผิดพลาด
3. ให้ภาครัฐเร่งเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตโดยเต็มความสามารถเพราะครอบครัวของผู้เสียชีวิตตกอยู่ในสภาวะไร้ที่พึ่ง
4. ให้ภาครัฐคำนึงถึงสภาวการณ์ในการควบคุมตัวของผู้ต้องสงสัยจากเจ้าหน้าที่โดยที่ภาครัฐเปิดโอกาสให้มีทีมจิตเวชที่มาจากภาคประชาสังคม ในการตรวจสอบสภาพจิตของผู้ถูกควบคุมตัว อาทิตย์ละครั้ง
5. ให้ภาครัฐพิจารณาถึงสภาพสถานที่ควบคุมตัวของผู้ต้องสงสัย ต้องให้มีความเหมาะสมโดยคำนึงถึง ผู้ที่ถูกควบคุมตัวเป็นแค่ผู้ต้องสงสัยไม่ให้อยู่ในสภาวะเครียดและกังวลในกระบวนการควบคุมตัวและเพื่อให้มีความโปร่งใส และรอบคอบมากยิ่งขึ้น ให้มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดในห้องพักของผู้ที่ถูกควบคุมตัว
6. เมื่อเกิดปัญหา ข้อพิพาท และข้อสงสัย ที่เป็นความสนใจอย่างมากของคนในพื้นที่ รัฐต้องเป็นผู้เริ่มในการเปิดพื้นที่ในการมีส่วนร่วมและเปิดพื้นที่ในการพูดคุย ทำความเข้าใจกับภาคประชาสังคมผ่านสาธารณชนเพราะรัฐเป็นผู้ที่บริหารอำนาจและควบคุมอำนาจจึงต้องแสดงความจริงใจในการเป็นผู้เริ่มการเปิดพื้นที่ดังกล่าว
7. ขอวิงวอนต่อภาครัฐในการเปิดพื้นที่ เพื่อตรวจสอบภาครัฐเพื่อแสดงความจริงใจและสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เพื่อสร้าง สมดุลอำนาจให้เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ตามหลักประชาธิปไตย
เครือข่ายนักศึกษาในพื้นที่คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ภาครัฐจะผดุงความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมและส่งเสริมให้ประชาชนได้รับการเคารพในศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ภายใต้ความหลากหลายทางพหุวัฒนธรรม และความเสมอภาคทางสังคม
 

สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.)
สมาพันธ์นิสิตนักศึกษา  จังหวัดปัตตานี (สนป.)
สมาพันธ์นิสิตนักศึกษา  จังหวัดยะลา (สนย.)
สมาพันธ์นิสิตนักศึกษา  จังหวัดสงขลา (สนส.)
สมาพันธ์นิสิตนักศึกษา  จังหวัดนราธิวาส (สนน.)
องค์การบริหารองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

ที่มา: http://www.bungarayanews.com/news/view_news.php?id=465

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net