Skip to main content
sharethis

ศอฉ.มอบ มท.หากำหนดช่วงวันให้ประชาชนคืนอาวุธโดยไม่มีความผิด ก่อนมีปฎิบัติการเพื่อปราบปรามอาวุธปืนเถื่อนในอนาคต  ยันจำเป็นต้องคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้เจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ เผยเชื่อ 6 ศพ ในวัดปทุมฯ ไม่ได้มาจากอาวุธทหาร ชี้ต้องว่าไปตามหลักฐาน

ศอฉ.ให้ มท.หาวิธีตามคืนอาวุธ

วันนี้ (2 มิ.ย.) เวลา 18.00 น.ที่กองบัญชาการกองทัพบก พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก ในฐานะโฆษกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) แถลงผลการประชุม ศอฉ.ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ผอ.ศอฉ.เป็นประธานการประชุม โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมรับฟังด้วยว่า 

ที่ประชุม ศอฉ.มีความเป็นห่วงเรื่องอาวุธปืนสงครามที่มีการยึดไปจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งได้แสดงบนเวทีการชุมนุม แต่ไม่มีการส่งคืนตามที่กองทัพร้องทุกข์กล่าวโทษกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ จากนั้นมีการตรวจยึดจับอาวุธบางส่วนแต่ไม่ครบ 68 รายการที่แจ้งหายไป โดยที่ประชุมให้กระทรวงมหาดไทยไปตรวจสอบข้อมูลวิธีการปฏิบัติรูปธรรมว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้ประชาชนนำอาวุธสงครามหรืออาวุธปืนเถื่อนที่อยู่ในครอบครองมาคืนเจ้าหน้าที่รัฐ โดยกำหนดวันเวลาที่ชัดเจนว่าช่วงเวลาใดจะไม่มีควมผิด และหลังจากการดำเนินการเรื่องนี้แล้วคงจะกำหนดวันปฏิบัติภารกิจเต็มรูปแบบ เพื่อปราบปรามอาวุธปืนเถื่อนในอนาคต ซึ่งกระทรวงมหาดไทยรับเรื่องและจะมาชี้แจงต่อที่ประชุมอีกครั้ง

ส่วนการยกเลิกประกาศพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) พ.อ.สรรเสริญกล่าวว่า ที่ประชุมเห็นว่ายังมีความจำเป็น เพราะเจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติภารกิจดูแลความปลอดภัยให้ประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ และทำงานง่ายขึ้น ถามว่ากระทบการดำรงชีวิตประชาชนหรือไม่ ก็มีแต่น้อยมาก แต่อาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ประเทศ 

พ.อ.สรรเสริญกล่าวด้วยว่า ที่ประชุมได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่สังกัดใน ศอฉ.ทำรายละเอียด เงื่อนไขที่แต่ละหน่วยเห็นว่าจะตั้งเป็นหลักเกณฑ์ว่าเมื่อถึงเวลานี้แล้วจะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เช่น ตำรวจ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ต้องไปทำเงื่อนไขหลักเกณฑ์การสืบสวนสอบสวนผู้ต้องหาคดีต่างๆ ว่าดำเนินการถึงขั้นไหนแล้วถึงเหมาะสมที่จะประกาศยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งไม่นัดหมายวันที่ชัดเจนว่ามาเสนอเมื่อไหร่ แต่ ผอ.ศอฉ. เร่งรัดให้เร็วที่สุด คาดว่าจะมีผลในเร็วนี้

“ที่เราต้องคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะมีความจำเป็น แต่ทั้งนี้คงต้องมีการประเมินว่าแต่ละหน่วยงานจะมีความสัมฤทธิ์ผลในงานย่อยของตัวเองถึงขั้นไหนถึงจะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้ หรือการดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดจะต้องทำถึงขั้นไหนถึงจะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้ อย่างไรก็ตามหลังการประเมินทางเจ้าหน้าที่ก็จะส่งข้อมูลให้ ศอฉ.พิจารณาและมอบให้รัฐบาลพิจารณาอีกครั้ง” โฆษก ศอฉ.กล่าว และให้ข้อมูลด้วยว่าการติดตามคดีของนายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง แกนนำคนเสื้อแดง ไม่ได้มีการพูดถึงในที่ประชุม

 

เชื่อ 6 ศพ ไม่ใช่เพราะอาวุธทหาร แต่ไม่สามารถอธิบายศพทุกรายได้ 

ต่อคำถามถึงเหตุยิง 6 ศพที่วัดปทุมวนารามฯ ซึ่งผลการชันสูตรเป็นอาวุธสงคราม โฆษก ศอฉ.ตอบว่า ส่วนตัวเชื่อมั่นว่าผลการพิสูจน์ไม่ใช่ว่าเกิดจากปืนทราโว้หรือปืนเอ็ม 16 มีลักษณะการยิงกระสุนปืนบนลงล่าง และล่างขึ้นบนหลากหลายลักษณะ ที่ผ่านมา ศอฉ.ไม่สามารถอธิบายศพทุกราย ซึ่งต้องว่าไปตามหลักฐาน เราพร้อมเข้าสู่กระบวนการ แต่สิ่งที่ยืนยันคือวันนั้นหลังเจ้าหน้าที่เข้าไประยะหนึ่งแล้วหยุดการเคลื่อนไหว เพื่อปล่อยให้ประชาชนออกจากทางแยกปทุมวันไปทางสนามศุภชลาศัย จึงมองไม่เห็นเหตุผลว่าจะไปฆ่าคนเพื่อประโยชน์อะไร 

ดังนั้น ที่วัดปทุมวนารามฯ เจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งยังเข้าไม่ถึงพื้นที่ จะมีภาพที่อยู่บนรางรถไฟ แต่รางรถไฟก็มีภาพกลุ่มชายชุดดำใส่ไอ้โม่งมีอาวุธสงครามยิงมาที่เจ้าหน้าที่ และยิงโต้ตอบกลับไป ซึ่งมีรอยกระสุนทั้งพื้นที่ที่ยิงไปและกระสุนที่เขาโต้ตอบ ซึ่งเป็นการยืนยันว่ามีชายชุดดำที่มีอาวุธสงครามอยู่จริง ทั้งนี้ สื่อมวลชนก็ทราบดีว่ามีคนอาศัยเขตอภัยทานนำอาวุธสงครามมาซ่อนไว้

 

บช.น.เผย เตรียมออกหมายจับเพิ่มบุคคลที่มีภาพถ่าย-ภาพเคลื่อนไหว เหตุเพลิงไหม้

ด้าน พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) กล่าวว่า ตำรวจจะดำเนินการขยายผลเกี่ยวกับอาวุธสงครามที่มีการค้นพบจากสถานที่ต่างๆ โดยจะดำเนินการนำมาคืนให้ครบตามที่สูญหายไป นอกจากนี้จะมีการออกหมายจับเพิ่มเติมกับบุคคลที่มีภาพถ่ายและภาพเคลื่อนไหวที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเผาอาคารมาลีนนท์ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง 3 และเซ็นทรัลเวิลด์ รวมถึงจะมีการตรวจสอบสถานที่ต่างๆ ที่ถูกเผา และชายชุดดำที่ปรากฏตามสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งทางตำรวจจะออกหมายจับต่อไป 

นอกจากนี้จะมีการรายงานให้ ศอฉ.รับทราบถึงจำนวนผู้ที่ถูกดำเนินคดี ทั้งกรณีที่ทำความผิดตามการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินและการกระทำผิดตามกฎหมายอาญา เช่น การวางเพลิง มีอาวุธปืนสงครามต่างๆ ว่ามีชื่ออะไรบ้างและควบคุมตัวอยู่ที่ไหน และจะนำข้อมูลดังกล่าวมาเปรียบเทียบกับข้อมูลที่มีการแจ้งคนหาย รวมถึงการตรวจสอบบุคคลที่สูญหายด้วย โดยจะมอบให้กับสถานีตำรวจทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดตั้งแต่เดือนมีนาคม จนถึงปัจจุบันว่ามีคนสูญหายไปอย่างไรบ้าง เพื่อตรวจสอบให้เกิดความชัดเจนกรณีที่มีการอ้างว่ามีประชาชนสูญหาย

 

แจงร่วม มท.-DSI ตามล่าตัว "แกนนำเสื้อแดง"

โฆษก บช.น.กล่าวอีกว่า ตำรวจจะดำเนินการติดตามจับกุมกลุ่มแกนนำคนเสื้อแดงที่ยังหลงเหลืออยู่อย่างต่อเนื่อง โดยจะทำงานร่วมกับทางกระทรวงมหาดไทย กรมสอบสวนคดีพิเศษ ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในนครบาลและตำรวจภูธรจะต้องประเมินการปฎิบัติหน้าที่ของตัวเองเพื่อหาตัวชี้วัดในการคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินว่าจำเป็นต้องใช้อยู่หรือไม่ ในส่วนงานของตำรวจนั้นก็ต้องชี้แจงว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้หรือไม่ เช่น เหตุอาชญากรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงว่ายังคงเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน ซึ่งทางตำรวจจะรวบรวมข้อมูลและนำไปสนธิกับข้อมูลอื่นเพื่อให้รัฐบาลพิจารณาตัดสินใจในการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

สำหรับการสร้างสถานการณ์ที่จังหวัดเชียงใหม่หลังจากที่ประกาศยกเลิกเคอร์ฟิว พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า ที่ประชุม ศอฉ.มีการพูดถึงเรื่องนี้ โดยได้ให้กระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะที่เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์โดยตรง รวมถึงตำรวจภูธรภาค 5 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค (กอ.รมน.ภาค) ไปตรวจสอบเพิ่มเติม ทั้งกรณีการติดตามจับกุมเพิ่มเติม และการสร้างความเข้าใจในพื้นที่ และนำข้อมูลมารายงาน ศอฉ.

ต่อคำถาม เจ้าหน้าที่ได้มีการรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวัดปทุมวนารามฯ จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 6 รายหรือไม่ พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า มีพนักงานสอบสวนดำเนินการเรื่องนี้ โดยแยกเป็น 2 ส่วน คือการชันสูตรพลิกศพ ต้องดูผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย และสำนวนคดี ซึ่งในที่ประชุม ศอฉ.ได้รายงานเป็นภาพกว้างๆ ว่ามีหลักฐานเพิ่มเติมอย่างไร

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net