Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

คงไม่มีถ้อยคำใดที่จะเรียกขานเหตุการณ์การชุมนุมของคนเสื้อแดงตั้งแต่ 12 มีนาคม จนถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2553 ที่จบลงด้วยโศกนาฏกรรมแห่งชาติ ที่มีทั้งการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนเกียรติภูมิของชาติในสายตาของนานาอารยประเทศได้เหมาะสมเท่ากับคำว่า “พฤษภาอำมหิต” เพราะเป็นปรากฏการณ์ที่มีผู้คนล้มตายถึง 89 ศพ บาดเจ็บเกือบสองพันราย และผู้ที่สูญหายอีกจำนวนหนึ่งซึ่งยังไม่ทราบจำนวนที่แท้จริง

นอกจากชีวิตที่ต้องบาดเจ็บล้มตายลงแล้วยังมีการเผาอาคารห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ ศาลากลางจังหวัด อาคารสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ฯลฯ สร้างความเดือดร้อนและเสียหายแก่ทั้งภาครัฐและประชาชนที่ต้องทำมาหากินและติดต่อราชการงานเมืองต่างๆเหลือคณานับ ความผิดพลาดต่างๆ ของแต่ละฝ่ายถูกโหมกระหน่ำจากฝ่ายตรงข้ามประหนึ่งว่าอีกฝ่ายหนึ่งมิใช่มนุษย์ร่วมโลกเดียวกัน จึงต้องทำลายลงเสียให้ย่อยยับ

ฝ่ายรัฐบาลมุ่งเน้นไปที่การเยียวยาและช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหายเท่านั้น แต่คนตาย    คนบาดเจ็บที่มิใช่เจ้าหน้าที่ตำรวจทหารกลับไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร เพราะมองว่าพวกนี้คือศัตรูทั้งๆที่เป็นคนไทยร่วมชาติด้วยกันแท้ๆ มิหนำซ้ำยังฉวยโอกาสสั่งไล่ล่าจับกุมผู้คนอย่างเหวี่ยงแห มีการตั้งข้อหาผู้ก่อการร้ายแบบไม่เลือกหน้า หลังจากที่ใช้ผังล้มเจ้าฉบับขายหัวเราะแล้วไม่ได้ผล
สีหน้าท่าทางของผู้ที่เดินทางกลับจากการชุมนุมมีสีหน้าเรียบเฉย แววตาบ่งบอกถึงความคับแค้นใจ  แน่นอนว่าหากเหตุการณ์ยังดำเนินไปเช่นนี้ ย่อมไม่เป็นผลดีต่อใครและใครแน่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยของเรา โอกาสที่เกิดซ้ำอีกย่อมมีขึ้นอย่างแน่นอน หากรัฐบาลและผู้คนในสังคมยังไม่รีบแก้ไขกันเสียตั้งแต่ปัจจุบัน

ไม่น่าเชื่อว่าจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เห็นธาตุแท้ของผู้คนในสังคมบางส่วนที่เห็นดีเห็นงามกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในใจกลางเมืองหลวง ไม่น่าเชื่อคนที่ปากก็พร่ำแต่การรักษาศีลภาวนากลับปลุกระดมให้รัฐเข้าใช้กำลังปราบปรามเอาชีวิตผู้คน ไม่น่าเชื่อผู้ที่มีอาชีพที่จะต้องรักษาชีวิตคนไข้กลับเรียกร้องให้ทำลายชีวิตผู้ที่คิดเห็นต่างจากตนเอง

ในทำนองกลับกันผู้ที่ปากก็พร่ำว่าต่อสู้ด้วยความสันติอหิงสาแต่กลับมีการใช้ความรุนแรงเป็นระยะๆ       จนท้ายที่สุดก็คือการเผาทำลายอาคารร้านค้าและสถานที่ราชการ แม้จะอ้างว่าเป็นการต่อสู้กับฝ่ายรัฐบาลที่ใช้กำลังเข้าปราบปราม ก็ไม่อาจยอมรับว่าเป็นการต่อสู้แบบสันติอหิงสาได้

ที่น่าเศร้าที่สุดแม้แต่ในเขตวัดวาอารามที่ถือเป็นเขตอภัยทานแต่กลับถูกทำร้ายจนถึงแก่ชีวิต จำนวน 6 ศพ 2 คนเป็นเจ้าหน้าที่อาสาสมัคร และ 1 ในนั้นคือ น้องเกดพยาบาลอาสาผู้ยอมเสี่ยงชีวิตเข้าช่วยผู้อื่นจนตัวตาย ซึ่งรัฐบาลก็ออกมาปฏิเสธว่าเป็นฝีมือของโจรมิใช่เสียชีวิตจากฝีมือของเจ้าหน้าที่ทั้งๆที่มีพยานนับ    สิบรายและรูปถ่ายยืนยันว่าทั้งหมดถูกยิงมาจากบนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส

ที่น่าผิดหวังมากที่สุดอีกเช่นกันก็คือท่าทีของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกลับออกมาแก้ต่างให้รัฐบาลว่าเหตุฆ่า 6 ศพที่วัดปทุมวนาราม แค่ภาพทหารขึ้นไปยืนบนรางรถไฟฟ้า ยังบอกไม่ได้ว่าใครยิง ซึ่งพูดอีกก็ถูกอีก แต่ในฐานะเป็นประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนนั้นไม่พูดประโยคนี้ยังจะดีเสียกว่า เช่น อาจพูดว่าเป็นเรื่องที่จะต้องพิสูจน์หาความจริงต่อไป ฯลฯ มิใช่รีบออกมาปกป้องรัฐบาลเช่นนี้

แต่ก็เป็นที่น่าดีใจที่ทางองค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) ซึ่งเป็นองค์การเอกชนก่อตั้งขึ้นในกรุงลอนดอนในปี 2504 มีจุดประสงค์ ในการค้นคว้าและดำเนินการป้องกันและยุติการทำร้ายสิทธิมนุษยชน และเพื่อแสวงหาความยุติธรรมสำหรับผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ ได้เข้ามาสืบสวนหาข้อเท็จจริงกรณี “พฤษภาอำมหิต” นี้แล้ว ซึ่งก็เชื่อว่าความจริงไม่น้อยก็มากจะต้องปรากฏขึ้น เพราะความน่าเชื่อถือขององค์การนิรโทษกรรมสากลนั้นเหนือกว่าคณะกรรมการสอบสวนที่รัฐบาลตั้งขึ้นอย่างแน่นอน ดังจะเห็นได้จากการที่คณะกรรมการสอบสวนของรัฐบาลคราวเมษายนคราวที่แล้วยังสรุปไม่ได้เลยว่าใครเป็นผู้ขับรถแก๊สไปจอดแถวแฟลตดินแดง

การดำเนินการของขององค์การนิรโทษกรรมสากลซึ่งมีสมาชิกกว่า 2.2 ล้านคนนี้ ใช้วิธีรณรงค์เรียกร้องความเห็นพ้องจากมหาชนเพื่อใช้ในการเพิ่มความกดดันต่อบุคคลหรือองค์การที่ละเมิดสิทธิ ซึ่งองค์การนิรโทษกรรมสากลนี้มีผลงานมากมาย ที่เด่นๆ ก็คือ ในปี 2521 องค์การนิรโทษกรรมสากลได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพสำหรับ "การรณรงค์ต่อต้านการทรมาน" และรางวัลองค์การสหประชาชาติในสาขาสิทธิมนุษยชน (United Nations Prize in the Field of Human Rights) ในปี 2522 ล่าสุดก็คือรายงานประจำปี 2553: เกี่ยวกับสภาวะสิทธิมนุษยชนทั่วโลก (Amnesty International Report 2010: State of the World’s Human Rights) รวบรวมข้อมูลการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ และแน่นอนว่าผลการตรวจสอบที่มีขึ้นในเหตุการณ์ “พฤษภาอำมหิต”นี้ คงจะต้องปรากฏในรายงานประจำปีของปีต่อๆไปอย่างแน่นอน

ในชั้นต้นนี้ เมื่อ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา นายเคลาดิโอ คอร์ดัน รักษาการเลขาธิการองค์การนิรโทษสากลได้กล่าวว่ากองทัพยิงใส่ผู้ชุมนุมอย่างไม่เลือกหน้า และมีบางกรณีที่เล็งเป้าหมายใส่ผู้ชุมนุมที่ไม่มีอาวุธ นอกจากนี้ยังไม่ทราบว่ามีผู้ชุมนุมจำนวนเท่าใดที่ถูกคุมขังอย่างไม่เป็นทางการพร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลไทยให้เปิดเผยว่ามีจำนวนคนเท่าใดกันแน่ที่ถูกควบคุมตัวอยู่

ผมเชื่อว่าวิธีที่จะทำให้ความขัดแย้งไม่ขยายตัวรุนแรงออกไปมากกว่านี้ ก็คือการทำความจริงให้ปรากฏขึ้นให้ได้ ผู้คนจะอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติสุขได้ แน่นอนว่าผู้คนในสังคมนั้นต้องอยู่อย่างเท่าเทียมกันใน ”ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” มิใช่ถูกมองอย่างหมิ่นแคลนจากเพื่อนร่วมชาติว่าถูกชักจูงหรือถูกซื้อเหมือนกับวัวควาย และถูกเอารัดเอาเปรียบในหยาดเหงื่อและแรงงานของเขาที่หล่อเลี้ยงความร่ำรวยให้แก่ผู้ที่ดูถูกเหยียดหยามเขาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน มิหนำซ้ำยังยังถูกเลือกยิงเหมือนหมูหมากาไก่เสียอีก

การทำความจริงให้ปรากฏพร้อมกับหาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะเป็น “ไอ้”หรือ”อี”ใด ไม่ว่าจะเป็น”นายกรัฐมนตรี” “รองนายกรัฐมนตรี” “อดีตนายกรัฐมนตรี”หรือ”แกนนำเสื้อแดง”  คนใดที่มีส่วนทำให้การการบาดเจ็บล้มตายและความเสียหายแก่ทรัพย์สินและเศรษฐกิจของประเทศอันมีมูลค่ามหาศาล จะต้องถูกนำตัวมาลงโทษ จึงจะนำความสงบสุขที่แท้จริงมาสู่ประเทศของเราได้
หากไม่ทำเช่นนี้แล้วผมเชื่อว่าความยุ่งยากก็จะตามมาไม่เป็นที่สิ้นสุด ประเทศไทยที่เคยสงบร่มเย็นเป็นอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวกันมาช้านาน อาจจะถึงคราวจบสิ้นด้วยการแตกเป็นเสี่ยงๆ เพราะน้ำมือของคนเพียง 2 คน คือ อภิสิทธิ์กับทักษิณ ที่เสพย์ติดอำนาจอยู่บนกองเลือดและซากศพของเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยและประชาชนนั่นเอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net