สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 9 - 31 พ.ค. 2553

 
“ไพฑูรย์” สั่งทูตแรงงานสอบหญิงไทยถูกล่อลวงค้าประเวณีในแอฟริกาใต้
เดลินิวส์ (31 พ.ค. 53)
- ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายไพฑูรย์ แก้วทอง รมว.แรงงาน กล่าวถึง กรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจแอฟริกาใต้ช่วยเหลือแรงงานหญิงไทย 21 คน ที่ถูกแก๊งลักลอบค้ามนุษย์ล่อลวงไปค้าประเวณี ว่า เบื้องต้นได้ให้ทูตแรงงานไทยในแอฟริกาใต้ตรวจสอบว่า แรงงานเหล่านี้เดินทางเข้าประเทศแอฟริกาใต้อย่างถูกกฎหมายหรือไม่ เพื่อเรียกบริษัทจัดหางานมาสอบถามข้อเท็จจริง ในการให้ความช่วยเหลือต่อไป นายไพฑูรย์ กล่าวด้วยว่า หากแรงานไทยที่ต้องการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ มาขอข้อมูล และคำปรึกษาจากกรมการจัดหางาน เพื่อป้องกันบริษัทจัดหางานหลอกลวง และอยากเตือนแรงงานไทยว่า อย่าลักลอบเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ เพราะกฎหมายการลักลอบเข้าเมืองของประเทศต่าง ๆ มีบทลงโทษที่รุนแรง
สทท.เตรียมหาทางช่วยไกด์ตกงาน
ครอบครัวข่าว (
31 พ.ค. 53) - นายกงกฤช หิรัญกิจ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) รายงานผลการเปิดศูนย์ประสานการช่วยเหลือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จากวิกฤติจลาจล จนถึงวันที่ 24 พ.ค. ที่ผ่านมา พบว่า มีกลุ่มมัคคุเทศก์มาขอรับความช่วยเหลือจากศูนย์ประสานงานฯมากที่สุด เฉลี่ยวันละไม่ต่ำกว่า 100 ราย รวมแล้วกว่า 500 ราย โดยคาดว่าภาพรวมมัคคุเทศก์ที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์ครั้งนี้จะมี ไม่ต่ำกว่า 3,000-5,000 ราย เนื่องจากตลอดช่วง 2 เดือนที่มีการชุมนุม ไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามา บริษัททัวร์จึงไม่เรียกใช้บริการมัคคุเทศก์และขณะนี้ยังมีแนวโน้มที่จะชะลอ การเดินทางหลังจากนี้นอกจากนี้กลุ่มมัคคุเทศก์ดังกล่าว ยังไม่เข้าข่ายได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการต่างๆ ที่ภาครัฐเตรียมออกมาเลย เพราะไม่ใช่ผู้ประกอบการ แต่เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระอีกทั้งยังไม่ได้รับความช่วยเหลือจากกระทรวงแรง งาน เพราะไม่ใช่ผู้ประกันตน อีกด้วยดังนั้น สทท. เตรียมเสนอมาตรการช่วยเหลือมัคคุเทศก์อย่างเร่งด่วน ให้ที่ประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา ฟื้นฟูภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยวภายหลังวิกฤติทั้งในและ ต่างประเทศ ซึ่งมีนายอรรถชัย บุรกรรมโกวิท ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธาน ได้พิจารณาในวันนี้ ซึ่งเบื้องต้นจะขอให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ช่วยประสานงานกับกระทรวงการคลัง เพื่อออกมาตรการช่วยเหลือสินเชื่อฉุกเฉินแก่มัคคุเทศก์ที่ประสบปัญหา ไม่มีงานทำ เพราะเหตุวุ่นวายที่เกิดขึ้น ผ่านทางธนาคารออมสิน วงเงินรวม 20 ล้านบาท หรือ 30,000-50,000 บาทต่อราย โดยคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ แบบผ่อนปรน เช่นเดียวกับที่ช่วยเหลือเรื่องสินเชื่อกับผู้ประกอบการย่านราชประสงค์รวม ทั้งจะขอให้พิจารณานำเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย ที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯ มีอยู่มาใช้ในการช่วยเหลือสินเชื่อฉุกเฉินสำหรับมัคคุเทศก์ เพื่อสามารถช่วยเหลือมัคคุเทศก์ได้รวดเร็วที่สุด
แรงงานไทย เริ่มกลับเข้าทำงานใน มาเลเซีย และ สิงคโปร์ อีกครั้งหลัง การชุมนุมทางการเมืองยุติ
ไอเอ็นเอ็น (
30 พ.ค. 53) - บรรดาแรงงานไทยที่เดินทางเข้าไปทำงานในประเทศ มาเลเซีย และสิงคโปร์ เริ่มทยอยเดินทางกลับเข้าไปทำงานในทั้งสองประเทศอีกครั้ง หลังจากที่สถานการณ์ทางการเมืองของไทย กลับเข้าสู่ภาวะปกติ เนื่องจากในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา ซึ่งมีการชุมนุมของกลุ่ม นปช. แรงงานไทย โดยเฉพาะที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ภาคอีสาน และภาคเหนือ เดินทางเข้าไปทำงานในมาเลเซีย และสิงคโปร์น้อยมาก เป็นผลมาจากส่วนใหญ่ จะเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่ม นปช.
ด้าน ผู้ประกอบการที่ส่งแรงงานไทย เข้าไปทำงานในมาเลเซีย และสิงคโปร์ ใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เผยว่า ขณะนี้เริ่มมีแรงงานไทย เดินทางไปทำงานในประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับแรงงาน ทั้งบริษัทจัดหางาน บริษัททัวร์ และบริษัทที่จำหน่ายตั๋วรถโดยสาร ระหว่างประเทศกลับมาคึกคักอีกครั้ง ซึ่งผิดกับในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา ที่ขาดสภาพคล่อง เพราะแทบไม่มีแรงงานไทย มาใช้บริการเดินทางไปทำงานในมาเลเซีย และสิงคโปร์เลย ซึ่งน่าจะเกี่ยวกับปัจจัยทางการเมือง ที่แรงงานส่วนใหญ่จะเข้าร่วมชุมนุมกับ กลุ่ม นปช. และการเดินทางไม่สะดวก ขณะที่ภาพรวม บรรยากาศด้านการท่องเที่ยวที่ จ.สงขลา กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว หลังจากที่นักท่องเที่ยวมาเลเซียและสิงคโปร์บางส่วน งดการเดินทางในช่วงการชุมนุมของกลุ่ม นปช.
สมานฉันท์แรงงานไทยจี้รัฐสางปัญหา-แนะเยียวยาคนทุกข์
เดลินิวส์ (
25 พ.ค. 53) - เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 25 พ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อขอเสนอมาตรการในการเยียวยาและแก้ไขปัญหาของผู้ใช้แรงงานที่ได้รับผล กระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง โดยมีนางอัญชลี วานิชเทพบุตร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรับมอบ
สำหรับข้อเสนอของ คสรท.เกี่ยวกับมาตรการในการเยียวยาและแก้ไขปัญหาของผู้ใช้แรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ และผู้ประกอบการรายย่อยในพื้นที่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความขัด แย้งทางการเมือง มีดังนี้
1.รัฐบาลต้องจัดตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือต่อผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อรับเรื่องร้องทุกข์และประสานงานในการส่งต่อให้ได้รับการเยียวยาและแก้ ปัญหาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
2.รัฐบาลและกระทรวงแรงงานจะต้องสร้างกลไกการคุ้มครองแรงงานที่มีผลกระทบต่อ การจ้างงานในภาวะวิกฤตทางการเมือง โดยต้องตั้งคณะกรรมการระดับชาติ เพื่อแก้ปัญหาการจ้างงานในสถานการณ์ขัดแย้งทางการเมือง เยียวยาและแก้ปัญหาการเลิกจ้างที่กำลังจะเกิดขึ้น
3.ให้กระทรวงแรงงานจัดสรรงบประมาณในการตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือลูกจ้างที่ ไม่ได้รับค่าชดเชยจากสถานประกอบการ และให้กระทรวงแรงงานเรียกเก็บกับนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ เพื่อนำกลับเข้าคืนกองทุนต่อไป
4.เสนอให้ภาครัฐเป็นตัวกลางในการประสานให้จัดเวทีสาธารณะหารือร่วมกันเสนอ ทางออกในการเยียวยาและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยมีองค์ประกอบของภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้ประกอบการรายย่อย ลูกจ้างผู้ประสบความเดือดร้อน องค์กร นายจ้าง และหน่วยงานของรัฐ
จับสองนายหน้าหลอกแรงงานลงเรือประมง
เนชั่นทันข่าว (24 พ.ค. 53) -
พ.ต.อ.ณพวัฒน์ อารยางกูร ผกก.1 บก.ปคม.พร้อมกำลังจับกุม นายพิมล บุญพงษ์ อายุ 47 ปี อยู่บ้านเลขที่ 83/83 หมู่ 3 ต.บางหญ้าแพรก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร และนายมาโนช เล็กเจริญ อายุ 48 ปี อยู่เลขที่ 64/13 หมู่ 3 ต.บางหญ้าแพรก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ตามหมายจับศาลอาญาลงวันที่ 11 มี.ค.2553 ข้อหาร่วมกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปกระทำผิดฐานค้ามนุษย์ แสวงหาประโยชน์จากการบังคับใช้แรงงานทำงานประมง ร่วมกันเพื่อเอาคนลงเป็นทาสหรือให้มีฐานะคล้ายทาส และร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายและจิต ใจ โดยจับกุมนายพิมลได้ที่บ้านพัก ส่วนนายมาโนชจับกุมได้ที่ศาลหลักเมืองสมุทรสาคร
สืบเนื่องจาก นายสมอาจ จันทร์คำเครือ ผู้เสียหาย ได้เข้าแจ้งความที่ บก.ปคม.ก่อนหน้านี้ว่า ขณะที่รอรถประจำทางอยู่ที่สนามหลวง เพื่อหางานทำใน กทม.ได้พบกับนายมาโนช ซึ่งมาชักชวนให้ไปทำงานในเรือประมง โดยอ้างว่ามีรายได้เดือนละ 7,000 บาท ทำงานแค่ 1-2 เดือน ก็จะได้กลับเข้าฝั่งครั้งหนึ่ง จึงสนใจร่วมเดินทางไปทำงาน ก่อนจะถูกส่งตัวไปให้นายพิมล ที่พาไปลงเรือประมง “สาธิตนาวี 3” ออกเรือไปทำงานในอ่าวไทย แต่ระหว่างนั้นกลับถูกบังคับให้ทำงานทั้งวันทั้งคืนโดยไม่ได้รับเงินค่าจ้าง ตามที่กล่าวหา เมื่อขัดขืนก็ถูกไต้ก๋งทำร้ายร่างกายและจับโยนลงทะเลจนต้องลอยคออยู่กลาง ทะเล 1 คืน กระทั่งมีเรือตรวจการณ์ของประเทศเวียดนามมาพบและช่วยเหลือพาส่งกลับประเทศไทย
หลังจากรับแจ้งความได้จัดชุดสืบสวน กก.1 บก.ป.ลงพื้นที่รวบรวมพยานหลักฐานก่อนขออนุมัติศาลออกหมายจับผู้ต้องหาทั้ง สอง 2 จนสามารถติดตามจับกุมตัวไว้ได้ สำหรับเรือประมงลำดังกล่าวจากการสืบสวนทราบว่ามีนายสาธิต ขำสกุล เป็นเจ้าของและถูกจับกุมตัวไปแล้วก่อนหน้านี้ คงเหลือเพียงนายเล็ก และนายเขียว ไม่ทราบชื่อสกุล ไต้ก๋งและลูกอวน ที่ยังคงหลบหนีอยู่
สอบสวนผู้ต้องหาทั้งสองให้การปฏิเสธ โดยอ้างว่ามีอาชีพขายอาหารทะเลอยู่ที่ตลาดมหาชัยไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับ การชักชวนผู้เสียหายไปทำงานในเรือประมงแต่อย่างใด นำตัวส่งพนักงานสอบสวน บก.ปคม.รับไว้ดำเนินคดีต่อไป
รัฐ-ส.อ. ท.รื้อระบบแรงงาน แก้วิกฤติขาดแคลน-ชี้"เลิกจ้าง"ลดลง
แนวหน้า (
24 พ.ค. 53) - นายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการ ส.อ.ท.ชุดใหม่วันที่ 24 พฤษภาคม จะเสนอการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคอุตสาหกรรม เพื่อเร่งหาข้อสรุปแนวทางต่างๆให้ได้ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ หลังจากนั้นจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดกระทรวงแรงงาน เช่น สำนักงานประกันสังคม กรมการจัดหางาน และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อวางระบบบริหารจัดการระยะยาว ซึ่งจะมีการประสานข้อมูลแรงงานร่วมกัน ก่อนจะร่วมมือกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อฝึกทักษะให้แรงงานใหม่ก่อนป้อนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม เบื้องต้นตั้งเป้าหมายการดำเนินงานในปีแรกไว้ว่าจะมีแรงงานเข้าสู่ระบบ 50,000 คน
"ระบบการบริหารแรงงานรูปแบบใหม่นี้ จะต้องใช้ข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคมที่จะส่งจำนวนผู้ว่างงานให้กรมการจัด หางาน จากนั้น ส.อ.ท.จะรวบรวมว่ามีความต้องการแรงงานในอุตสาหกรรมใด เพื่อแจ้งกลับไปยังกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จากเดิมที่หน่วยงานเหล่านี้จะทำงานแยกส่วนกัน ทางหนึ่งจ่ายค่าชดเชยให้ผู้ว่างงานก็จ่ายไป อีกทางหางานให้ก็หาไป ไม่ได้ประสานกันเป็นระบบ" นายทวีกิจ กล่าว
ทั้งนี้ ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมยังขาดแคลนแรงงานจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้า และอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่ตัวเลขผู้ว่างงานล่าสุดจากรายงานการเฝ้าระวังสถานการณ์การเลิกจ้างและ แนวโน้มของกระทรวงแรงงาน ระบุว่า ฐานข้อมูลการขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานของผู้ประกันตน ระหว่างวันที่ 1-15 เมษายน ที่ผ่านมา มีผู้ประกันตนขึ้นทะเบียนขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน 20,624 คน เมื่อพิจารณาย้อนไปในช่วงเดือนตุลาคม 2552-มีนาคม 2553 รวมระยะเวลา 6 เดือน มีผู้ประกันตนขึ้นทะเบียนว่างงานทั้งสิ้น 270,448 คน แบ่งเป็นกลุ่มที่ถูกเลิกจ้าง 54,699 คน และกลุ่มที่ลาออกจากงานเอง 215,749 คน
"สถานการณ์การเลิกจ้างมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยข้อมูลตั้งแต่เดือนตุลาคม 2552 ถึงปัจจุบันมีจำนวนลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้มีผู้ถูกเลิกจ้างรวม 1,501 คน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีผู้ถูกเลิกจ้างทั้งสิ้น 31,084 คน" นายทวีกิจ กล่าว
ก.แรงงาน คาดมีลูกจ้างได้รับความเดือดร้อนจากการชุมนุมเพิ่ม 30,000 คน
ประชาชาติธุรกิจ (23 พ.ค. 53) -
น.ส.ส่งศรี บุญบา รองอธิบดีกรมการจัดหางาน ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบด้านการจ้างงานจากการ ชุมนุมทางการเมือง (ศชจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า หลังจากเปิดศูนย์ ศชจ. อีกครั้งตั้งแต่เมื่อวานนี้ มีลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบด้านการจ้างงาน เดินทางมาลงทะเบียนเพื่อขอรับความช่วยเหลือจาก ศชจ.เพิ่มอีกว่า 100 คน ทำให้มีลูกจ้างที่มาลงทะเบียน ตั้งแต่มีการเปิดศูนย์ครั้งแรก รวมแล้วกว่า 2,300 คน โดยในจำนวนนี้ เป็นลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างประมาณ 150 คน นอกจากนี้ยังมีนายจ้างและผู้ประกอบการมาลงทะเบียนอีกว่า 700 คน
อย่างไรก็ตาม มีการประเมินว่าลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้จะเพิ่มมากขึ้น หลังจากก่อนหน้านี้ประเมินว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณ 20,000 คน แต่เมื่อมีการเผาทำลายทรัพย์สิน และอาคารสถานที่หลายแห่ง ตัวเลขผู้ได้รับความเดือดร้อนน่าจะอยู่ที่ประมาณ 30,000 -40,000 คน ดังนั้นจึงขอให้ผู้ได้รับความเดือดร้อนรีบมาลงทะเบียนเพื่อขอรับความช่วย เหลือ ที่ ศชจ. ภายในกระทรวงแรงงาน ได้ทุกวันในเวลาราชการ โดยในวันพรุ่งนี้เวลา 10.00 น. นายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จะเรียกประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงแรงงาน เพื่อกำหนดมาตรการในการช่วยเหลือลูกจ้างที่ได้รับความเดือดร้อนต่อไป
ก.แรงงานเปิดศูนย์วันแรก ลูกจ้างลงทะเบียนกว่าร้อยราย
สำนักข่าวไทย (
22 พ.ค. 53) - กระทรวงแรงงาน เปิดศูนย์ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบด้านการจ้างงานจากการชุมนุมทางการเมือง วันแรก เดินทางมาแจ้งลงทะเบียนกว่า 100 ราย
น.ส.ส่งศรี บุญบา รองอธิบดีกรมการจัดหางาน ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบด้านการจ้างงานจากการ ชุมนุมทางการเมือง (ศชจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า หลังจากปิดศูนย์ชั่วคราวเพราะเจ้าหน้าที่ไม่สามารถมาปฏิบัติงานได้ วันนี้มีลูกจ้างที่ประสบภาวะเลิกจ้าง หรือไม่สามารถติดต่อนายจ้างได้ เดินทางมาลงทะเบียน รวมทั้งมีกลุ่มมัคคุเทศก์ หรือไกด์ ที่ต้องจัดเป็นลูกจ้างประเภทพิเศษ เพราะได้รับผลกระทบมายาวนานแล้ว เนื่องจากบริษัทขาดนักท่องเที่ยวจากเหตุการณ์ความไม่สงบหลายช่วง
การให้ความช่วยเหลือจะนำเงินจากกองทุนสวัสดิการลูกจ้างซึ่งมีประมาณ 300 ล้านบาท มาจ่ายชดเชยให้ และทันทีที่ติดต่อนายจ้างได้ จะเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนจากนายจ้างต่อไป ส่วนกรณีที่ตกงานอยากฝึกอาชีพ ทางกรมการจัดหางานก็จะส่งเข้าฝึกอาชีพตามต้องการ พร้อมมีเงินเบี้ยเลี้ยงรายวันให้วันละ 120 บาท สำหรับนายจ้างที่ประสบปัญหาจะมีจุดรับเรื่องอยู่ที่กรมทหารราบที่ 11ฯ จึงไม่ได้มาที่กระทรวงแรงงานในวันนี้
น.ส.ลลิตา ศีลธรรม ไกด์ภาษาญี่ปุ่น ของบริษัทเอกชนย่านสีลม เปิดเผยว่า วันนี้ตนกับเพื่อน 20 ราย เดินทางมาลงทะเบียนขอความช่วยเหลือที่ศูนย์แห่งนี้ด้วยเพราะไม่รู้จะหันหน้า ไปขอความช่วยเหลือจากใคร เนื่องจากบริษัทขาดลูกทัวร์ นับเป็นศูนย์เปอร์เซ็นต์หลายเดือนแล้ว ส่งผลให้มัคคุเทศก์ที่รับงานเป็นชิ้น ขาดรายได้ และไม่ใช่ความผิดของทางบริษัทที่ไม่สามารถหาลูกค้าได้ อยากให้รัฐบาลช่วยดูแลผลกระทบด้านการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นขณะนี้มากที่สุด ทางออกข้างหน้า ตนคิดว่าอาจจะผันตัวเองไปเป็นมัคคุเทศก์นำคนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่นแทน เพราะยังมีโอกาสที่จะหารายได้ ได้มากกว่า
สำหรับลูกจ้างที่ได้รับความเดือดร้อนยังสามารถมาลงทะเบียนได้อย่างต่อเนื่อง หรือติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-245-5764 เพื่อรับคำปรึกษาและลงทะเบียน
ไทยซาโก้ ปลดพนักงานกว่า 80 คน
เสียงใต้ราย (13 พ.ค. 53) -
วันเมื่อวันที่ 12 พ.ค. นายปัญญา ต่อเจริญ ผู้บริหารบริษัทไทยซาโก้ จำกัด พร้อมด้วยนายกิตติพงษ์ เหล่านิพนธ์ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดภูเก็ต พร้อมคณะเข้าพบ นายวิชัย ไพรสงบ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ที่ห้องทำงาน ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต เพื่อหารือและชี้แจงถึงกรณีการปลดพนักงานของบริษัทไทยซาโก้ จำกัด
นายปัญญา กล่าวว่า การปลดพนักงานของบริษัทไทยซาโก้ เนื่องจากบริษัทฯ ไม่สามารถนำเข้าแร่ดีบุกจากประเทศตองโก ทวีปแอฟริกาได้ ด้วยปัจจัยทางการเมืองระหว่างประเทศ ในปัจจุบันพนักงานของบริษัทมีทั้งหมด 240 คน ซึ่งการปลดพนักงานครั้งนี้อยู่ที่ 80 คน ส่วนใหญ่จะเป็นการให้สมัครใจ และจะมีการจ่ายเงินชดเชย โดยพนักงานส่วนใหญ่ที่ออกมีอายุงาน 30 ปี พอใจกับการได้เงินก้อน แต่อย่างไรก็ดีก็มีอยู่บ้าง 4-5 คน ที่ไม่อยากออก แต่บริษัทฯ ก็จำเป็นให้ออก ด้วยบุคคลเหล่านี้ขาดงานบ้าง หนีงานบ้าง บางคนไม่ขยันทำงาน ซึ่งบริษัทฯ จะพยายามเจรจาหาทางออกต่อไป
ด้านนายกิตติพงษ์ เหล่านิพนธ์ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จากการพูดคุยหลาย ๆ ฝ่ายตอนนี้ไม่มีปัญหาอะไร พนักงานที่ออกไปส่วนใหญ่สมัครใจ การลดพนักงานเป็นไปตามครรลอง ด้วยสภาวะเศรษฐกิจของโลก จำเป็นต้องลดกำลังคนให้เหมาะกับกำลังผลิต ด้านค่าชดเชยพนักงานจากการตรวจสอบมีการปฏิบัติที่ถูกต้องตามกฎหมายทุกอย่าง ที่สำคัญบริษัทฯ ได้จ่ายเงินเกินกฎหมายจาก 1 งวด เป็น 2 งวด แถมอายุงานอีก 10 วัน บางคนได้เงินชดเชยถึง 4 ล้านบาท ส่วนการช่วยเหลือพนักงานที่ต้องการทำงานต่อทางสำนักงานฯ ได้เตรียมอัตรางานไว้แล้ว
ครม.ไฟเขียวปรับแนว"เออร์รี่ฯ"วางกรอบปีงบ 54
คม ชัด ลึก (12 พ.ค. 53) -
นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (11 พ.ค.) มีมติเห็นชอบข้อเสนอมาตรการปรับปรุงอัตรากำลังของส่วนราชการ หรือ โครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด (เออร์รี่รีไทร์) ระหว่างปีงบประมาณ 2554 และปีงบประมาณ 2555 โดยปรับปรุงคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการ จากเดิมที่กำหนดให้เหลืออายุราชการตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป เป็นตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป หมายความว่าต่อไปนี้ผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการฯได้ต้องอายุ 50-58 ปีเท่านั้น
ส่วนหลักเกณฑ์อื่นๆให้คงไว้ต่อไป เช่น ผู้ที่เข้าร่วมโครงการต้องมีอายุ 50 ปีขึ้นไป และกรณีเป็นข้าราชการทหารกำหนดอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป หรือมีเวลาสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป ไม่รวมเวลาทวีคูณ
อธิบดีกรมการจัดหางาน เร่งพิสูจน์แรงงานพม่าครบล้านปี 55
มติชน (11 พ.ค. 53) -
นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ว่า สำนักบริหารแรงงานต่างด้าวรายงานการพิสูจน์สัญชาติแรงงานพม่าว่า มีแรงงานพม่าเดินทางไปพิสูจน์สัญชาติและได้หนังสือเดินทางแล้ว 82,767 คน แม้จะมีจำนวนไม่มาก แต่ทางการไทยและพม่ากำลังเร่งรัดการพิสูจน์สัญชาติให้เป็นไปตามเป้า เสร็จสิ้นภายในปี 2555 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า โดยตั้งเป้าว่าจะต้องมีแรงงานพม่าไปพิสูจน์สัญชาติ ให้ได้ด่านละ 600 คนต่อวัน รวม 3 ด่าน จำนวน 1,800 คน หรือเดือนละ 5 หมื่นคน เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้ปี 2555 จะมีแรงงานพม่าประมาณ 1.2 ล้านคน เดินทางไปพิสูจน์สัญชาติและได้รับหนังสือเดินทางทั้งหมด
นายจีรศักดิ์ กล่าวว่า แรงงานต่างด้าวที่เดินทางไปพิสูจน์สัญชาติเกือบ 1 ล้านคน จะทยอยกลับบ้าน เหลืออยู่ในไทยประมาณ 7 แสนคน แต่เมื่อแรงงานพม่าที่ได้รับหนังสือเดินทางชั่วคราวจากพม่ากลับมาไทย มักจะไม่เปลี่ยนบัตรจากสีชมพู ซึ่งหมายถึงแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายที่ได้รับการผ่อนผันให้ทำงานในไทย และห้ามออกนอกพื้นที่ มาเป็นบัตรสีเขียว ซึ่งหมายถึงแรงงานพม่าที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีอิสระเดินทางออกนอกพื้นที่ได้ เมื่อไม่เปลี่ยนบัตร ทำให้ถูกรีดไถและถูกจับกุม และเป็นช่องทางของการเก็บส่วย จึงต้องมีการปรับรูปแบบประชาสัมพันธ์เรื่องนี้ใหม่
ผบก.ศส.สตม.จับแรงงานเถื่อน 2.1 พันคน
สยามรัฐ (10 พ.ค. 53) -
พล.ต.ต.มนู เมฆหมอก ผบก.สส.สตม.พร้อม พ.ต.อ.วรวัฒน์ อมรวิวัฒน์ ผกก.2 บก.สส.สตม.ร่วมแถลงผลการจับกุมแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง ระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน 2553 ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองสามารถจับกุมแรงงานต่างด้าวได้ทั้งหมด 2,197 คน แบ่งเป็นสัญชาติกัมพูชาจำนวน 1,519 คน สัญชาติพม่าจำนวน 538 คน และสัญชาติลาวจำนวน 140 คน โดยการจับกุมดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายรัฐบาล ที่กำชับให้เจ้าหน้าที่กวดขันจับกุมแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองโดยผิด กฎหมาย ที่ผ่านมาแม้ว่ารัฐบาลจะเปิดขยายเวลาพิสูจน์สัญชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรี โดยให้ไปรายงานตัวเพื่อขอรับใบอนุญาตทำงาน แต่ก็พบว่ายังมีแรงงานต่างด้าวอีกจำนวนมากที่ลักลอบทำงานผิดกฎหมายอยู่
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท