Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

วิธีคิดที่ครอบงำสังคมโลกมาโดยตลอดคือ “วิธีคิดที่ยึดถือคุณค่าของความจริง” รอบๆ ตัวเราทุกวันนี้ ศาสตร์ทุกศาสตร์จะมุ่งไปสู่คุณค่าของความจริง ศาสตร์ด้านจุลชีวะ ด้านฟิสิกส์ยึดถือความจริงที่อธิบายได้ในเชิงประจักษ์ นักสังคมศาสตร์และนักประวัติศาสตร์ก็พยายามที่จะยึดถือคุณค่าของความจริงนี้อธิบายศาสตร์ของตนเอง ในขณะที่หลักของคุณวิทยาหรือ Axiology ซึ่งมีเรื่องของคุณค่าชนิดอื่นทั้งคุณค่าความดี คุณค่าความงาม และคุณค่าความจริงที่มนุษย์ควรจะยึดถือรวมเข้าอยู่ด้วย แต่มนุษย์ในยุคปัจจุบันมักเพ่งเล็งในเรื่องคุณค่าของความจริงเพียงอย่างเดียว

วิธีคิดแบบนักวิทยาศาสตร์ตะวันตกมักแยกหรือวิเคราะห์ทุกอย่างออกเป็น 2 ขั้วตรงข้ามกัน วิธีคิดแบบนี้ช่วงหลัง ๆ ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์สูงมาก เพราะการแยกออกเป็นขั้วสองขั้วอยู่ตลอดนี้ทำให้ไม่ได้ภาพทั้งหมดของความเป็นจริงอาทิ การแยกระหว่าง “ส่วนตัว” กับ “สาธารณะ” หรือแม้แต่การมองธรรมชาติกับมนุษย์แยกออกจากกัน เป็นเหตุให้มนุษย์โยงความคิดจะเอาชนะธรรมชาติให้ได้ เพราะธรรมชาติไม่ใช่ส่วนหนึ่งของเรา การคิดและวิเคราะห์ในลักษณะนี้ช่วงต่อมาเจอทางตัน เมื่อหาทางออกไม่ได้จึงหันมามองวิธีคิดแบบทางตะวันออกมากขึ้น

โลกตะวันออกมักมองสรรพสิ่งแบบผสมกลมกลืน กรณีสัญลักษณ์หยิน-หยาง (ชาย-หญิง , ร้อน-เย็น) ไม่ได้แบ่งออกเป็นสองขั้ว แต่มองว่าถ้าจะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ควรจะต้องมีคุณสมบัติของหยิน-หยางในภาวะที่สมดุลย์กัน แม้แต่วิธีคิดแบบพระพุทธศาสนาก็ไม่มองธรรมชาติแยกออกไปจากมนุษย์ หรืออย่างฐานความคิดแบบ Macrobiotic ก็คือการมองว่ามนุษย์เราหรือตัวเราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ

Macro หมายถึงใหญ่ Biotic เป็นเรื่องชีวิต Macrobiotic เป็นปรัชญาความเชื่อด้านอาหารผสมผสานกับแนวทางการดำเนินชีวิต ซึ่งไม่ได้หมายถึงอาหารอย่างเดียว หากแต่รวมถึงสิ่งแวดล้อมและแนวปฏิบัติทางวิทยาศาสตร์ด้วย เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้กลมกลืนกับสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต พฤติกรรมการรับประทาน การหายใจ การดื่มน้ำ ล้วนเป็นเหตุผลที่ทำให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

แนวคิดพื้นฐานวิทยาศาสตร์ตะวันตกที่มองว่าธรรมชาติแยกต่างหากออกไปจากตัวเรา เริ่มมีมาตั้งแต่เซอร์ไอแซก นิวตัน ราวสองศตวรรษมาแล้ว จนกระทั่งมาถึงยุคอัลเบิรต์ ไอน์สไตน์หรือนีลส์ บอร์ซึ่งพบว่าเราไม่สามารถที่จะอธิบายอีเล็คตรอนที่มีขนาดเล็กมากๆ ได้ จนในที่สุดต้องยอมรับว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ทำให้นักวิทยาศาสตร์เริ่มมีแนวคิดว่าหากเราจะรู้จักมันได้ก็ควรต้องรู้จักตัวเราเองเสียก่อน เป็นลักษณะจูงใจทำให้นักวิทยาศาสตร์ตะวันตกที่สำคัญหลาย ๆ คนสนใจศึกษาพระพุทธศาสนา

อันที่จริงหลักคิดอย่างวิทยาศาสตร์คิดจากหน่วยเล็กเข้าไปหาหน่วยใหญ่  ดูเหมือนจะต่างจากหลักคิดแบบนักปรัชญาหรือนักการศาสนาที่คิดจากหน่วยใหญ่แล้วแจกแจงอย่างแยบคายเข้าไปหาหน่วยเล็ก เมื่อเป็นเช่นนี้หากนักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาค้นคว้าเข้าใจธรรมชาติของเชื้อไวรัส เข้าใจธรรมชาติของสารกึ่งตัวนำ สารตัวนำยิ่งยวดฯลฯ พร้อมกับศึกษาทำความเข้าใจในพระพุทธศาสนาจะยิ่งเป็นการนำความรู้ที่ได้จากการศึกษานั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติมากยิ่งขึ้น เพราะอันที่จริงยังมีข้อถกเถียงกันว่าการคิดค้นระเบิดปรมณูของนักวิทยาศาสตร์ จนถึงปัจจุบันจะมองว่าเป็นคุณหรือเป็นโทษกันแน่ต่อโลกใบนี้

นักวิทยาศาสตร์ต้องผ่านทฤษฎี ผ่านสมมุติฐาน ผ่านการทดลองครั้งแล้วครั้งเล่า เฉกเช่นวิถีประชาหรือประวัติศาสตร์ทางสังคมที่ต้องผ่านกระแสร้อนหนาว ผ่านผู้ปกครองชุดแล้วชุดเล่า ผ่านนโยบายและแผนพัฒนาฉบับต่างๆ

พระพุทธเจ้าเมื่อยังทรงเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ทรงคิดว่าการบำเพ็ญตบะทรมานตนเองให้ลำบากคือทางแก้ปัญหา ต่อมาพระองค์ทรง “ได้คิด” ทรงค้นพ้น “ความพอดีของแนวคิด” และปฏิบัติทางสายกลางในที่สุดก็ทรงแก้ปัญหาเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดได้ เรียกว่า “บรรลุพระนิพพาน” ขนาดพระโพธิสัตย์ยังพลาดได้ นับประสาอะไรกับมนุษย์ทึบหนาอย่างเราๆ

คนจำนวนมากเคยลิ้มรสความพ่ายแพ้มาก่อนที่จะลุกขึ้นมาดังอีกครั้ง ดังชีวิตอดีตประธานาธิบดีผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งซึ่งประสบความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า ดังนี้ *

อายุ 21 ปี ล้มเหลวในการประกอบธุรกิจ  
อายุ 22 ปี พ่ายแพ้การเลือกตั้งสภานิติบัญญัติของรัฐ 
อายุ 24 ปี ล้มเหลวในการประกอบธุรกิจอีกครั้ง
อายุ 26 ปี คนรักของเขาตายจาก
อายุ 34 ปี พ่ายแพ้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
อายุ 34 ปี พ่ายแพ้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีก
อายุ 36 ปี พ่ายแพ้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
อายุ 45 ปี พ่ายแพ้การเลือกตั้งสมาชิกสภาวุฒิสภา
อายุ 47 ปี พยายามเป็นรองประธานาธิบดี แต่ไม่มีใครสนับสนุน
อายุ 49 ปี พ่ายแพ้การเลือกตั้งสมาชิกสภาวุฒิสภาอีก
อายุ 52 ปี ชนะการเลือกตั้ง ได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ในปี ค.ศ. 1861

บุคคลผู้นี้คือ อับราฮัม ลินคอล์น ประธานาธิบดีคนที่ 16 ของสหรัฐอเมริกา เขาจะไม่มีวันได้เป็นประธานาธิบดีหากไม่สร้างความหวังและกำลังใจปลุกตนเองให้ลุกขึ้นจากความล้มเหลว

มีเรื่องเล่าว่า โทมัส อันวา เอดิสัน เคยทดลองประดิษฐ์หลอดไฟฟ้าถึง 9,999 ครั้ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพื่อคนหนึ่งถามเขาว่า จะทำการทดลองต่อไปหรือไม่ เอดิสันตอบว่า ยังจะทำการทดลองต่อไป ถ้าทดลองแล้วไม่สำเร็จก็จะคิดว่าได้ค้นพบวิธีไม่ต้องทำหลอดไฟฟ้า 10,000 วิธี เอดิสันคิดอย่างนี้จริงๆ เขาคิดว่า “แม้ล้มเหลวแต่ไม่พ่ายแพ้” เขาคิดอย่างมีหวังและสร้างกำลังให้ตนเองอยู่ตลอดเวลาว่าต้องทำให้ได้ ที่สุดเขาก็ประดิษฐ์หลอดไฟฟ้าได้สำเร็จ ในปลายปี ค.ศ. 1779

สุนทรภู่กวีเอกของประเทศไทย ผลงานที่ดีที่สุดของท่านเช่น นิราศภูเขาทอง ถูกเขียนขึ้นในช่วงที่ชีวิตท่านตกต่ำที่สุด ท่านประพันธ์ไว้ว่า

เมื่อเคราะห์ร้ายกายเราก็เท่านี้              ไม่มีที่พสุธาจะอาศัย
 ล้วนหนามเหน็บเจ็บแสบคับแคบใจ      เหมือนนกไร้รังเร่อยู่เอกา

คุณค่าและความหมายของความผิดพลาดในอดีตอยู่ทีเรากำหนดให้ในปัจจุบัน อดีตไม่ได้เป็นเรื่องที่ดีหรือเลวร้ายในตัวเอง อดีตจะดีหรือเลวร้ายก็สุดแต่ว่าปัจจุบันเราเป็นเช่นไร ถ้าปัจจุบันออกมาดี อดีตก็พลอยดีไปด้วย

ความผิดพลาดล้มเหลวในอดีต จึงไม่ใช่สิ่งเลวร้ายเสมอไป หากเราสามารถแปรความล้มเหลวให้เป็นบทเรียนและปรับปรุงตนเอง ความสำเร็จในปัจจุบันจะทำให้ความพ่ายแพ้ผิดพลาดในอดีตมีคุณค่า ขอเพียงมีโอกาสและสร้างความหวังกำลังให้กันและกัน จะประสบความสำเร็จสมปรารถนา ได้รังสรรค์ความงดงาม

ปรากฏการณ์ทางสังคมและวิธีคิดที่ยึดถือคุณค่าของความจริง จึงเป็นสิ่งท้าทายที่รอการค้นหา และท้าพิสูจน์

นักวิทยาศาสตร์ชาวพุทธ คนยุคใหม่หัวทันสมัย จะว่ากระไร ?..

* Robbins, A, Unlimited Powers, Fawcett Columbine, New York, 1986, P 73 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net