Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ ๙ พ.ค. ศกนี้สำนักข่าวบีบีซีได้สัมภาษณ์นางอิเมลดา มาร์คอสภรรยาม่ายวัย ๘๐ ปีของอดีตประธานาธิบดี-จอมเผด็จการเฟอร์ดินานด์ มาร์คอสแห่งฟิลิปปินส์ (ผู้ชนะเลือกตั้ง ๒ ครั้งนับแต่ ค.ศ. ๑๙๖๕ แต่หันมาประกาศกฎอัยการศึก ระงับรัฐธรรมนูญ ยุบสภาและรวบอำนาจปกครองเบ็ดเสร็จจาก ค.ศ. ๑๙๗๒ – ๘๖ จนถูกการปฏิวัติโดยอำนาจประชาชน – People Power Revolution – โค่นขับออกนอกประเทศ) เธอลงสมัครและเพิ่งได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. จังหวัด Ilocos Norte ซึ่งเป็นบ้านเกิดของตระกูลมาร์คอสในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา

ตอนหนึ่งของคำสัมภาษณ์ อิเมลดาผู้ผ่านประสบการณ์การเมืองมาโชกโชนได้กล่าวสรุปแก่นแท้ของ "อำนาจ" ให้ฟังว่า: -

"เมื่อมาร์คอสประกาศกฎอัยการศึกได้ ๓ ปีและยังไม่สั่งประหารชีวิตใครเลยสักคน ฉันเข้าไปหาเขาแล้วบอกว่า  ′เฟอร์ดินานด์ จะมีอำนาจไว้เพื่ออะไรเมื่อคุณไม่แม้แต่สั่งประหารชีวิตใครเลยสักคน?′"

"เขาบอกกับฉันว่า: ′อิเมลดา ศิลปะในการใช้อำนาจนั้นน่ะคือไม่มีวันที่จะใช้อำนาจ แต่ต้องให้มันเป็นที่รู้สึก มันก็เหมือนปืนที่มีกระสุนพันนัดน่ะแหละ พอเธอใช้ปืนเข้า  เธอก็จะไม่มีกระสุนพันนัดอีกต่อไป เธอจะเหลือแค่ ๙๙๙ นัด ศิลปะในการใช้อำนาจก็คือไม่มีวันใช้อำนาจ แต่ต้องให้มันเป็นที่รู้สึก′"

(ดูวีดิโอสัมภาษณ์นางอิเมลดา มาร์คอสได้ที่ news.bbc.co.uk/2/hi/asia-pacific/8670594.stm โดยเฉพาะนาทีที่ ๑:๑๒ – ๑:๔๒)
           
รัฐบาลของนายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเพิ่งใช้ "อำนาจ" ภาวะฉุกเฉินที่ยังผลให้มีคนตายไปทั้งสิ้น ๘๘ คน บาดเจ็บ ๑,๘๘๕ คน
               
น่าสงสัยว่าตอนนี้รัฐบาลเหลือ "อำนาจ" เท่าไหร่กัน? ไม่เพียงเฉพาะอำนาจยิงของปืนที่สิ้นเปลืองกระสุนไปเท่านั้น แต่ที่สำคัญคืออำนาจในการครองใจประชาชน ให้พวกเขายอมทำตามคำสั่งรัฐบาล เพราะเห็นว่านี่เป็นรัฐบาลของพวกเขาเอง
               
ถ้ามองแบบอิเมลดา "อำนาจ" นั้นก็ลดถอยน้อยลงไป ๘๘ ศพกับอีก ๑,๘๘๕ คน ยังไม่นับญาติมิตรและผู้เห็นอกเห็นใจคนเหล่านั้น อีกทั้งผู้เรียกร้องต้องการความจริงและความยุติธรรมในประเทศและทั่วโลก
               
ดูเหมือนจำนวนผู้บาดเจ็บล้มตายร่วม ๒ พันคนจะเป็น "ความดีความชอบ" เพียงอย่างเดียวของรัฐบาลในการบริหารจัดการความขัดแย้งในบ้านเมืองรอบ ๒ เดือนที่ผ่านมา
           
และรัฐบาลที่มี "อำนาจ" เหลือแค่นี้และมี "ความดีความชอบ" ต่อประเทศและประชาชนไทยอย่างแสนสาหัสขนาดนี้ก็ยังออกอาการลุแก่อำนาจ เที่ยวข่มเหงรังแกไล่ล่าจับกุมคุมขังฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองทั่วประเทศด้วยข้อกล่าวหาร้ายแรงอย่าง "ก่อการร้าย" และ "ล้มเจ้า" โดยที่ในหลายกรณีไม่ปรากฏหรือแสดงพยานหลักฐานอย่างชัดเจน
               
ถามจริง ๆ เถอะผู้บริหารรัฐบาลบ้าอำนาจหรือกลัวผลกรรมตามสนองจนสติแตกไปแล้วหรือไง?
           
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโฆษณาสั่งการประณามถากถางทางทีวีอยู่ปาว ๆ ข้างเดียวดังมีวาจาสิทธิ์วันละหลายเพลานั้นนาน ๆ เข้าอาจส่งผลข้างเคียงให้เคลิบเคลิ้มจนพูดจาเลอะเทอะสมองเละเทะเป็นวุ้นเจเล่ได้!

กรณี "พี่ยิ้ม" หรือผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยถูกศอฉ.กล่าวหาจับกุมคุมขังเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของอาการลุแก่อำนาจดังกล่าว
           
ผมรู้จักพี่ยิ้มมานานตั้งแต่ครั้งเรียนหนังสือและทำกิจกรรมร่วมกันที่ธรรมศาสตร์หลัง ๑๔ ตุลาฯ ๒๕๑๖ ได้ผ่านประสบการณ์สารพัดมาด้วยกันไม่ว่ารัฐประหารและฆ่าหมู่ ๖ ตุลาฯ ๒๕๑๙, เข้าป่าต่อสู้เผด็จการ, ออกจากป่ากลับมาเรียนหนังสือ, ทำงานฝ่ายข่าวต่างประเทศกองบก.หนังสือพิมพ์เศรษฐกิจการเมืองที่มีพี่วิชัย บำรุงฤทธิ์เป็นบก.และพี่ปรีดี บุญซื่อเป็นหัวหน้าฝ่าย ฯลฯ

ก่อนจะแยกย้ายไปสอนหนังสือและเรียนต่อคนละที่ละทางโดยผมเข้าสอนที่รัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ และไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา ส่วนพี่ยิ้มเข้าสอนที่อักษรศาสตร์ จุฬาฯและไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยบริสทอล ประเทศอังกฤษ

ครั้นกลับมาเจอกันที่เมืองไทย ก็ยังได้ร่วมงานวิชาการและกิจกรรมกันเป็นระยะสืบมา

ในฐานะเพื่อนเก่าแก่ ผมมีเรื่องอยากบอกเล่าเกี่ยวกับพี่ยิ้ม ๒ – ๓ อย่างคือ: -

๑) พี่ยิ้มเป็นนักวิชาการทางประวัติศาสตร์ที่มีคุณภาพชั้นแนวหน้าและใส่ใจค้นคว้าวิจัยจริงจัง

ก่อนจะมาเป็นนักวิชาการ พี่ยิ้มเป็นนักหนังสือพิมพ์มาก่อน ผมเห็นว่าจุดเด่นคือพี่ยิ้มได้ใช้ทักษะสืบสวนสอบสวนแกะรอยเส้นสายสัมพันธ์ในกองทัพแบบนักข่าวสายทหารมาประยุกต์วิเคราะห์เครือข่ายสายสัมพันธ์ของกลุ่มทหารในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ตั้งแต่คณะราษฎร ๒๔๗๕ มาจนถึงคณะรัฐประหาร ๒๔๙๐ และคณะปฏิวัติ ๒๕๐๑ ว่าแบ่งกลุ่มแบ่งสายเชื่อมโยงกับนักการเมืองพรรคฝ่ายต่าง ๆ รวมทั้งนักหนังสือพิมพ์และนักเคลื่อนไหวมวลชนอย่างไร

ผลงานค้นคว้าวิจัยที่ว่านี้ปรากฏเป็นวิทยานิพนธ์มหาบัณฑิตด้านประวัติศาสตร์ของพี่ยิ้มเรื่อง "การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ต่อต้านรัฐสมัยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม (พ.ศ. ๒๔๙๑ – ๒๕๐๐)" ซึ่งเสนอต่อบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ และต่อมาตีพิมพ์เป็นเล่มชื่อ แผนชิงชาติไทย: ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐสมัยจอมพลป.พิบูลสงครามครั้งที่สอง (พ.ศ. ๒๔๙๑ – ๒๕๐๐) (พิมพ์ ๒ ครั้งในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ และล่าสุด ๒๕๕๐)

ในฐานะที่ผมเขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเกี่ยวกับขบวนการปัญญาชน-วัฒนธรรมฝ่ายซ้ายไทยในช่วงดังกล่าวเช่นกัน (Commodifying Marxism: The Formation of Modern Thai Radical Culture, 1927 – 1958) ผมได้ใช้ประโยชน์จากงานของพี่ยิ้มในการค้นคว้าข้อมูลและเข้าใจการเมืองสมัยนั้นมาก และเห็นด้วยเต็มที่กับการประเมินของอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริในคำนำเสนอของหนังสือ แผนชิงชาติไทย ฉบับพิมพ์ครั้งหลังว่างานของพี่ยี้มเล่มนี้:

"น่าจะเป็นหนังสือที่ดีที่สุด ละเอียดลออที่สุด เป็นวิชาการที่สุดที่เรามีอยู่ในภาษาไทยเกี่ยวกับ ′รัฐประหาร ๒๔๙๐′ และ ′ระบอบทหาร/ระบอบพิบูลสงคราม′ กับการเมืองไทยในช่วง พ.ศ. ๒๔๙๑ – ๒๕๐๐ อันมีอำมาตยาธิปไตยทหารเป็นผู้นำ" 
 
งานค้นคว้าวิจัยและเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ในชั้นหลังของพี่ยิ้มก็พยายามสืบสานต่อจากที่ทำไว้เดิมโดยเฉพาะเรื่องประวัติศาสตร์ขบวนการสังคมนิยม-คอมมิวนิสต์ในประเทศไทยและระดับโลก, ขบวนการนักศึกษาประชาชนช่วงก่อนและหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาฯ ๒๕๑๖, การรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ ๖ ตุลาฯ ๒๕๑๙, การเข้าป่าของนักศึกษาปัญญาชนและความขัดแย้งแตกแยกในขบวนการคอมมิวนิสต์ไทยหลัง ๖ ตุลาฯ เป็นต้น (ดูรายละเอียดได้ที่ www.arts.chula.ac.th/~history/viewteacher.php?id=5)
              
และยังมีวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของพี่เรื่อง  "Portuguese Lançados in Asia in the sixteenth and seventeenth centuries" (ค.ศ. ๑๙๙๘) กล่าวได้ว่าพี่ยิ้มน่าจะเป็นนักประวัติศาสตร์ไทยรุ่นปัจจุบันคนเดียวที่เรียนรู้ภาษาโปรตุเกสและค้นคว้าวิจัยประวัติความสัมพันธ์สยาม-โปรตุเกสสมัยอยุธยามาโดยตรง
 
๒) พี่ยิ้มเป็นผู้รักความเป็นธรรมและสังคมประชาธิปไตยอย่างแน่วแน่มั่นคง

ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะประสบการณ์ครบเครื่องในอดีตในฐานะ "คนเดือนตุลาฯ",ประกอบกับศรัทธามั่นคงต่ออุดมการณ์สังคมประชาธิปไตย (social democracy) และความรู้ความเข้าใจบทเรียนจากประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยพุทธทศวรรษที่ ๒๔๙๐ อย่างลึกซึ้ง ดังนั้นนอกจากสอนหนังสือและทำงานวิชาการแล้ว พี่ยิ้มก็ยังสนับสนุนเข้าร่วมการเคลื่อนไหวประท้วงของชาวบ้าน-ชุมชน-คนงานผู้เสียเปรียบและลุกขึ้นเรียกร้องความเป็นธรรมเป็นนิจศีล ไม่ว่าสมัชชาคนจน, กลุ่มชาวบ้านอนุรักษ์บ่อนอก-บ้านกรูด, คนงานหญิงไทรอัมพ์, พรรคแนวร่วมสังคมประชาธิปไตย เป็นต้น

เดิมทีพี่ยิ้มก็คัดค้านนโยบายและการกระทำบางด้านของรัฐบาลทักษิณ เช่น การส่งทหารไทยไปอิรัก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีฆ่าหมู่ที่ตากใบ เมื่อมีการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลทักษิณระยะแรก พี่ยิ้มจึงเห็นด้วย แต่พอพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและคุณสนธิ ลิ้มทองกุลหันไปเรียกร้องให้ถวายพระราชอำนาจคืนโดยอ้างมาตรา ๗ ในรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ พี่ยิ้มก็รับไม่ได้และเปลี่ยนท่าที เพราะมันซ้ำรอยวิธีการที่พวกขวาจัด-อนุรักษ์นิยมในอดีตอ้างอิงสถาบันกษัตริย์สมัยรัชกาลที่ ๗ มาขัดขวางทำลายเค้าโครงเศรษฐกิจแนวสังคมนิยมของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๖ และต่อมาก็ฉวยใช้กรณีสวรรคตของรัชกาลที่ ๘ มาใส่ร้ายป้ายสีอาจารย์ปรีดีและก่อรัฐประหารโค่นระบอบประชาธิปไตยลงเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๐ อันเป็นบทเรียนเลวร้ายทางประวัติศาสตร์ที่พี่ยิ้มค้นคว้าศึกษามาโดยตรง

รัฐประหารของ คปค. เมื่อ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ที่อ้างเหตุประการหนึ่งว่าเพราะรัฐบาลทักษิณกระทำการ "หมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์" จึงย่อมเหมือนตอกย้ำลงไปว่าประวัติศาสตร์รัฐประหาร ๒๔๙๐ กำลังเกิดซ้ำรอยต่อหน้าต่อตาอีกครั้งหนึ่งแล้ว และทำให้พี่ยิ้มออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหารครั้งนั้นร่วมกับขบวนการ นปก.-นปช. ในที่สุด
 
๓) พี่ยิ้มเป็นคนซื่อตรงจริงใจต่อความเชื่อของตัวและมีท่าทีการเมืองแบบเดินสายกลาง
               
พี่ยิ้มเป็นคนจริงใจ ซื่อ ๆ ตรง ๆ การเคลื่อนไหวทางการเมืองของพี่ก็เริ่มจากความเชื่อดังกล่าวข้างต้นอย่างบริสุทธิ์ใจ ทำไปตามความเชื่อและสิทธิเสรีภาพตามกฎหมายที่พึงมี โดยไม่คำนึงถึงชื่อเสียง อำนาจและผลประโยชน์ส่วนตัว บ่อยครั้งจึงอาจถูกเข้าใจผิด มองไปทางร้ายและเข้าเนื้อเสียหายได้ แต่เอาเข้าจริงพี่ยิ้มเป็นคนที่เดินสายกลางหรือ moderate ทางการเมือง ไม่ได้ตั้งเป้าเรียกร้องอย่างสุดโต่งสุดขั้วหรือถอนรากถอนโคนแต่อย่างใด พูดจาโต้เถียงออกจะนิ่ม ๆ ทื่อ ๆ ตะกุกตะกักติด ๆ ขัด ๆ บ้างด้วยซ้ำไป
               
การที่ชื่อพี่ยิ้มไปโผล่หราในแผนผังเครือข่ายล้มเจ้าของ ศอฉ. จึงเป็นเรื่องชวนฮาเหลวไหลสิ้นดี เพราะเอาเข้าจริงยังมีนักวิชาการรายอื่นที่แสดงทรรศนะต่อต้านรัฐประหาร คปค. อย่างสุดโต่งสุดขั้วถอนรากถอนโคนดุเดือดเลือดพล่านเสียวไส้กว่าพี่ยิ้มมากและต่อมาเมื่อเปลี่ยนรัฐบาล เขาก็ได้ลาภยศตำแหน่งตอบแทนตามสมควร จนถึงแก่ ส.ว. คำนูณ สิทธิสมาน เคยร้องทัก แต่เขากลับไม่ปรากฏชื่อในแผนผังศอฉ.
               
หรือจะเป็นเพราะว่าหนังสือต้านรัฐประหารเล่มโด่งดังของนักวิชาการท่านนั้น ตีพิมพ์เผยแพร่โดยสำนักพิมพ์ "อะอาอั๊ด" ซึ่งว่ากันว่าได้เม็ดเงินหนุนหลังทั้งที่ขาดทุนเดือนละเป็นแสนจากบิ๊กการเมืองชื่อ  "เออิน" คนเดียวกับที่มีภาพถ่ายยืนโอบกอดเล้าโลมกับ ฯพณฯ ผู้นำรัฐบาลผสมชุดนี้เมื่อแรกตั้งรัฐบาลลงหราในหนังสือพิมพ์หลายฉบับนั่นแหละ?
               
ใครจะไปรู้ว่าขืนใส่ชื่อนักวิชาการท่านนั้นลงแผนผังฯไปด้วย ก็อาจมีคนทะลึ่งลากเส้นเชื่อมโยงต่อจนเลยเถิดถึง ฯพณฯ ผู้นำรัฐบาลเข้าให้จนได้ มันก็จะ "อิ๊บอ๋าย" กันไปใหญ่เท่านั้นเอง!?!
               
การเล่นรังแกพี่ยิ้มด้วยการเอาชื่อแกใส่แผนผังฯ, จับกุมคุมขัง, และยึดหนังสือตำราวิชาการไม่ให้แกอ่านเตรียมสอนตามหน้าที่รับผิดชอบของอาจารย์ จึงสะท้อนลักษณะ "เจเล่" ของมันสมอง ศอฉ. ยิ่งกว่าอื่น
               
ไม่อยากเชื่อเลยว่านี่คือวิธีการใช้อำนาจของคนที่เคยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเดียวกับผม!
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net