Skip to main content
sharethis

ศาลอาญายกคำร้องถอนหมายจับ 16 แกนนำ นปช. เหตุการชุมนุม 7 เม.ย. มีการบุกรุกรัฐสภา ทหารตำรวจไม่สามารถคุมสถานการณ์ได้ รัฐบาลจึงมีเหตุผลในการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน การออกหมายจับชอบด้วยกฎหมายแล้ว ด้าน 'พล.อ.อนุพงษ์' ชี้เรื่องคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นเรื่องของฝ่ายการเมืองคือรัฐบาลกับ ศอฉ. เป็นผู้กำหนด

ศาลยกคำร้องถอนหมายจับ 16 แกนนำ นปช.

เวลา 9.30 น. วันนี้ (11 พ.ค.) ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำสั่งคดีที่นายคารม พลทะกลาง ทนายผู้รับมอบอำนาจจากนายวีระ มุสิกพงศ์ แกนนำ นปช. ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนหมายจับ นายวีระ มุสิกพงศ์ กับพวกที่เป็นแกนนำและพวกรวม 16 คน

โดยเมื่อ 6 พ.ค. ศาลได้ไต่สวนพยานผู้ร้องไปจำนวน 4 ปาก คือนายคารม พลทะกลาง ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากผู้ร้อง และนายสุวิทย์ ทองนวล ผู้ช่วยนายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และนายวิเชียร ขาวขำ ส.ส.พรรคเพื่อไทย จ.อุดรธานี

วันนี้ศาลพิเคราะห์คำเบิกความพยานผู้ร้องแล้ว เห็นว่า ขณะนี้ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้มีคำวินิจฉัยลงมาว่า พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ดังนั้นถือว่าการประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาล เมื่อวันที่ 7 เม.ย. ยังคงมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายต่อไป

ส่วนกรณีที่ผู้ร้องอ้างว่าสถานการณ์การชุมนุมยังไม่ร้ายแรง ที่จะทำให้รัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น ตามที่สื่อมวลชนได้ลงข่าวเมื่อวันที่ 7 เม.ย.นั้น เหตุการณ์ปรากฎหลักฐานชัดว่ามีผู้ชุมนุม นปช.จำนวนมากบุกรุกเข้าไปภายในอาคารรัฐสภา ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ จึงมีเหตุผลที่รัฐบาลสามารถประกาศ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินได้ ขณะเดียวกันฝ่ายผู้ร้องไม่ได้นำตัวผู้ที่ถูกออกหมายจับ มาเบิกความและชี้ให้เห็นว่าได้รับผลกระทบจาก พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างไร การออกหมายจับแกนนำ นปช.ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่เห็นควรให้เพิกถอนหมายจับดังกล่าว จึงมีคำสั่งยกคำร้อง

ภายหลังนายคารม พลทะกลาง กล่าวว่า ศาลยกคำร้อง เนื่องจากต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ นอกจากนี้ไม่สามารถนำตัวแกนนำที่ถูกกออกหมายจับมาศาลได้ เพราะเกรงว่าจะถูกตำรวจจับกุม ทำให้พยานหลักฐานและคำเบิกความมีน้ำหนักน้อยลงไปด้วย แต่ไม่เสียใจเพราะพยายามช่วยเหลือแกนนำ นปช.เต็มที่

ส่วนกรณีที่แกนนำนปช.จะเข้ามอบตัวในวันที่ 15 พ.ค. หรือไม่นั้น นายคารมกล่าวว่า ยังไม่แน่ว่าแกนนำ นปช.ทั้งหมดจะเข้ามอบตัวตามกำหนดเดิมหรือไม่ แต่ได้ให้คำแนะนำไปว่าไม่ควรเข้ามอบตัว เนื่องจากถูกออกหมายจับตามอำนาจ พ.ร.บ.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งคาดว่าจะไม่ได้ประกันตัว และถูกนำตัวควบคุมยังสถานที่อื่นที่ไม่ใช่เรือนจำ

ล่าสุดเวลา 11.50 น. วันนี้ (11 พ.ค.) มีรายงานว่า ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) เผยว่าแกนนำเสื้อแดงติดต่อขอมอบตัวที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถ.พระราม 1 เวลา 14.00 น. โดยตำรวจตั้งทีมรอบสอบปากคำแล้ว

 

ป๊อกบอกคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินนานแค่ไหนเป็นเรื่องของรัฐบาลและ ศอฉ.

ขณะเดียวกัน เช้าวันนี้ (11 พ.ค.) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ให้สัมภาษณ์ก่อนออกเดินทางพร้อมด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รองผู้บัญชาการทหารบก ลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย พล.อ.อนุพงษ์ ตอบคำถามที่ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการคง พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ไว้นานแค่ไหนนั้น พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ผู้ที่กำหนดกรอบในการใช้คือรัฐบาล และศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เป็นเรื่องของการเมืองเป็นผู้กำหนด

ส่วนคำถามที่ว่า ผู้ชุมนุมเรียกร้องให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง และ ผอ.ศอฉ.เคยพูดไปชัดเจน ทั้งนี้ ศอฉ.มีความจำเป็นที่จะต้องคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้จนกว่าสถานการณ์จะเรียบร้อย เช่น การอำนวยความสะดวกของกลุ่มผู้ชุมนุม หรือการเข้าเคลียร์พื้นที่ให้เรียบร้อย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net