Skip to main content
sharethis

 

7 พ.ค.53 เวลาประมาณ 9.30 น. ที่ศาลอาญา ถนนรัชดา นายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมทนายความได้ยื่นฟ้อง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จำเลยที่1 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผอ.ศอฉ. จำเลยที่2 และพ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก  ศอฉ. จำเลยที่ 3 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90, 157, 328 กรณีศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)  เผยแพร่แผนผังเครือข่ายล้มเจ้า ซึ่งมีชื่อของนายสุธาชัยปรากฏอยู่ นอกจากนี้ยังได้ยื่นฟ้องศาลแพ่งในข้อหาละเมิด ให้ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 300,554.80 บาท พร้อมอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี และขอให้ศาลเปิดการไต่สวนฉุกเฉินเพื่อขอคุ้มครองชั่วคราว ต่อมาเวลาประมาณ 15.30 น. ศาลไต่สวนฉุกเฉินโดยไต่สวนโจทก์เพียงปากเดียวพร้อมพยานเอกสารอีก 5 ชิ้น และนัดฟังคำสั่งในวันจันทร์ที่ 10 พ.ค.นี้

ทั้งนี้ เนื้อหาในคำฟ้องฐานความผิดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หมิ่นประมาทโดยการโฆษณาระบุว่า สืบเนื่องจากที่นายอภิสิทธิ์ (จำเลยที่ 1) ใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และมอบหมายให้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ (จำเลยที่ 2) เป็นประธานกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน ในฐานะ ผอ.ศอฉ. โดยมี พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ทำหน้าที่เป็นโฆษก ศอฉ.

จำเลยทั้งสามที่มีอำนาจหน้าที่ใน ศอฉ.ได้กระทำผิดกฎหมาย โดยการร่วมกันจัดทำแผ่นปลิวโฆษณาระบุว่า แผ่นปลิวดังกล่าวเป็นแผนผังของ  ศอฉ. ซึ่งแสดงเครือข่ายที่มีพฤติการณ์ส่อล้มสถาบัน โดยมีรายชื่อของโจทก์ปรากฏอยู่ในเครือข่ายนั้นด้วย ทั้งที่จำเลยทั้งสามก็ทราบดีอยู่แล้วว่า โจทก์มิได้เป็นเครือข่ายขบวนการดังกล่าว การกระทำของจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายจึงเป็นการกระทำโดยเจตนาทุจริต ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และปฏิบัติโดยทุจริตทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย

นอกจากนี้ จำเลยทั้งสามยังได้ทำการโฆษณาแจกจ่ายแผ่นปลิวดังกล่าวให้กับผู้สื่อข่าว หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และสื่อมวลชนทั่วไป ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชังจากประชาชนทั่วไป ซึ่งตามความจริงแล้ว โจทก์ไม่ได้เป็นบุคคลที่มีพฤติการณ์ต้องการจาบจ้วง และล้มล้างสถาบันแต่อย่างใด ทั้งนี้ การกระทำของจำเลยทั้งสาม ไม่ได้เป็นการปฏิบัติหน้าที่ในการระงับ หรือป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย แต่เป็นการทุจริต เลือกปฏิบัติเกินสมควรแก่เหตุ และไม่ใช่กรณีที่จำเป็น ดังนั้นจำเลยทั้งสามจึงไม่ควรได้รับความคุ้มครองใดๆ ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

นายสุธาชัย ให้สัมภาษณ์ถึงการยื่นฟ้องร้องต่อศาลในครั้งนี้ว่า จำเป็นต้องทำเพื่อปกป้องสิทธิของตัวเอง เนื่องจากไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใดๆ ตามที่ถูกกล่าวหาตามแผนผังของ ศอฉ. และโดยส่วนตัวก็ไม่เชื่อว่าจะ มีขบวนการนี้อยู่จริง เป็นเพียงการใส่ร้ายป้ายสีระหว่างที่รัฐพยายามจะสลายการชุมนุม อีกทั้ง เพื่อเป็นการระงับการกระทำดังกล่าวของรัฐซึ่งอาจเกิดขึ้นได้อีก

ส่วนการโยงใยว่าเป็นเครือข่ายฯ โดยอ้างหลักฐานเรื่องการเป็นนาย ประกันให้ ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ ดา ตอร์ปิโดนั้น นายสุธาชัย กล่าวว่า เป็นเรื่องไม่มีเหตุผล เพราะในขณะนั้นดารณีเป็นผู้ต้องหาคดีหมิ่นฯ ซึ่งจะต้องให้ศาลตัดสินว่าผิดจริง หรือไม่ และไม่ว่าศาลจะตัดสินอย่างไร นั่นก็ไม่ได้พิสูจน์ว่ามีกระบวนการล้มเจ้าอยู่จริง ทั้งนี้ การเป็นนายประกันไม่ได้หมายความว่า ต้องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพด้วย เพียงแต่ตนไม่เห็นด้วยกับการนำข้อหาดังกล่าวมาทำลายกัน ในประเด็นทางการเมือง อีกทั้ง เห็นว่าดารณีควรมีสิทธิที่จะออกมานอกคุกเพื่อต่อสู้คดีเหมือนคนทั่วไป สำหรับกรณีที่เป็นที่ปรึกษาหนังสือพิมพ์ Thai Red News และ Voice of Taksin นั้นก็เป็นเพียงตำแหน่งที่ปรึกษาของสื่อมวลชนอย่างที่หลายคนเป็นและตนก็ได้ส่งบทความไปลงบ้างเพียงเท่านั้น

นายสุธาชัยกล่าวแสดงความคิดเห็นด้วยว่า ส่วนตัวคิดว่า ศอฉ.ถูกตั้งขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์ในการการระงับ หรือป้องกันการกระทำผิดกฎหมายใน การชุมนุมของคนเสื้อแดง ตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ดังนั้น การทำแผนผังเครือข่ายขบวนการล้มเจ้าและเผยแพร่ต่อสื่อต่างๆ น่าจะเป็นการกระทำที่เกินกว่าอำนาจหน้าที่ของ ศอฉ.
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net