Skip to main content
sharethis

สบท.เผยแก๊งค์ต้มตุ๋นใช้มุขใหม่ลวงผู้ใช้โทรศัพท์ อ้างเป็นหนี้ค่าโทรและฐานข้อมูลถูกเจาะ หรือต้องเปลี่ยนโปรโมชั่นกระทันหัน ฯลฯ แต่เป้าหมายเหมือนเดิม คือหลอกเหยื่อกดตู้เอทีเอ็มโอนเงินให้ แนะผู้ใช้โทรศัพท์อย่าหลงเชื่อหากมีใครหลอกให้ทำธุรกรรมผ่านตู้เอทีเอ็ม


3 พ.ค.53 นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กลุ่มมิจฉาชีพทางโทรศัพท์มือถือได้เปลี่ยนกลยุทธ์ในการหลอกลวงผู้บริโภค จากเดิมที่ใช้ข้ออ้างประเภทว่า ถูกรางวัล เป็นหนี้บัตรเครดิต เป็นหนี้ธนาคาร ฯลฯ เพื่อหลอกให้ผู้รับโทรศัพท์ไปที่ตู้เอทีเอ็มและกดโอนเงินให้กับกลุ่มมิจฉาชีพนั้น ล่าสุดกลุ่มมิจฉาชีพได้ใช้ข้ออ้างใหม่เกี่ยวกับการใช้บริการโทรคมนาคม เช่น การแนะนำให้เปลี่ยนมาใช้โปรโมชั่นมือถือใหม่ที่เหมาะสมกับวัยหรือพฤติกรรม การชำระหนี้ค่าโทรศัพท์โดยมีส่วนลดให้ ฯลฯ ทั้งนี้ไม่ว่าจะอ้างเหตุผลใด แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ การหลอกล่อให้เหยื่อไปที่ตู้เอทีเอ็มเพื่อกดรหัสต่างๆ ซึ่งส่งผลในการโอนเงินให้แก่ผู้ที่โทรมา

“ผู้โทรมาจะอ้างประเด็นต่างๆ แต่ทั้งหลายทั้งปวงเพื่อวัตถุประสงค์เดียวคือ หลอกให้เราไปที่ตู้เอทีเอ็ม บอกว่าเป็นการกดเปลี่ยนโปรโมชั่น หรือกดจ่ายหนี้ให้บริษัทผู้ให้บริการ แต่ความจริงเป็นการกดโอนเงินให้กับผู้ที่โทรมา หลายคนโดนแล้วนะครับ“ ผอ.สบท.กล่าว

ผอ. สบท. ระบุว่า แม้ประเด็นการอ้างจะแตกต่างออกไป แต่วิธีการทั้งหมดและเป้าหมายนั้นไม่ต่างจากกรณีที่เป็นข่าวก่อนหน้านี้ เช่น กรณีที่อ้างว่าโทรมาจากธนาคาร บอกว่า ข้อมูลของคุณถูกเจาะระบบ ขอให้ไปแก้ไขข้อมูลที่ตู้เอทีเอ็ม ซึ่งผลที่สุดคือมีการโอนเงินออกไปกว่าแสนบาท โดยที่เหยื่อของการหลอกลวงเหล่านี้มีทั้งผู้มีความรู้และฐานะสูง เช่น ทันตแพทย์ ผู้พิพากษา ซึ่งสะท้อนว่าผู้โทรเข้ามาย่อมมีความสามารถในการสร้างเรื่องได้สมจริงอย่างยิ่ง

นายประวิทย์กล่าวต่อไปว่า เทคนิคการหลอกลวงในเรื่องนี้ จะมี 2 แนวทางคือ ทางหนึ่งอาศัยความโลภ เช่น บอกว่า ถูกรางวัล แต่ต้องไปจ่ายภาษีก่อน หรือจะรับเงินภาษีคืนต้องไปรับคืนที่ตู้เอทีเอ็ม แต่วิธีการเหล่านี้คนเริ่มรู้ทันมากขึ้น ทางที่สองจึงอาศัยความกลัว เช่น บอกว่าคุณเป็นหนี้บัตรเครดิต ข้อมูลกำลังถูกเจาะ หรือต้องเปลี่ยนโปรโมชั่นมือถือ เพราะที่ใช้เดิมจะยกเลิกแล้ว เดี๋ยวค่าใช้จ่ายจะพุ่งสูงขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้ผู้รับสายกลัวจนต้องไปแก้ไขข้อมูลที่ตู้เอทีเอ็ม

สำหรับลักษณะของเบอร์โทรเข้าของกลุ่มมิจฉาชีพนี้ ส่วนใหญ่จะใช้คำว่า เป็นเบอร์ส่วนตัว (private number) หรือ no caller id หรือบางครั้งบอกตัวเลขเพียง 2 หลักแรกที่เหลือเป็นตัวเลขแปลกๆ เช่น ขึ้นต้นด้วยตัวเลขที่ไม่ใช่ 0 นำหน้า หรือเป็นเบอร์ที่โทรผ่านอินเทอร์เน็ตด้วยระบบ voip ซึ่งจะขึ้นต้นด้วย 06  หรือมีเครื่องหมาย + นำหน้าเหมือนโทรจากต่างประเทศ เป็นต้น ดังนั้นหากมีสายโทรเข้าที่ปรากฏข้อความหรือเลขแปลกๆ ดังกล่าว ก็ควรจะตั้งหลักระมัดระวังไว้ชั้นหนึ่งก่อน อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญกว่าคือ สิ่งที่ผู้โทรเข้านำมาบอกกล่าว หากเป็นการพูดคุยเพื่อให้ไปทำธุรกรรมที่ตู้เอทีเอ็ม หรือเพื่อกดรหัสต่างๆ แล้ว ขออย่าได้ดำเนินการตาม เพราะไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกรรมใดย่อมมีช่องทางอื่นๆ ให้ทำได้

“ไม่ว่าจะมีบุคคลที่อ้างตัวว่าเป็นหน่วยงาน องค์กร หรือธุรกิจใด โทรมาเพื่อให้ผู้บริโภคไปทำธุรกรรมต่างๆ ผ่านตู้เอทีเอ็ม ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ทางที่ดีคืออย่าได้ทำตามเลยครับ ถ้าเรื่องที่กล่าวอ้างฟังดูมีมูล เราค่อยเป็นฝ่ายติดต่อกลับไปยังหน่วยงานเหล่านั้นเองจะดีกว่า” ผอ. สบท. กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net