Skip to main content
sharethis

สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ(USTR) ยังจัดอันดับไทยให้อยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ(PWL)  ชี้ต้องทำให้ระบบคุ้มครองสิทธิบัตรเข้มแข็งขึ้นถึงจะพิจารณาปรับสถานะให้ในปีหน้า หมอไร้พรมแดนประนามการจัดอันดับแบบนี้กระทบการเข้าถึงยาของประชาชน ผู้อำนวยมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ติงหน่วยงานไทยอย่าบ้าจี้ตาม นโยบายนี้จะหันกลับมาบังคับให้รัฐเลิกควบคุมราคายา

องค์การหมอไร้พรมแดนได้ออกแถลงการณ์ประนามการจัดอันดับประเทศที่ต้องจับตาในการดำเนินนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาว่า ส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยาจำเป็นของประชาชน

1 พ.ค.53 สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่วอชิงตัน ดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้จัดอันดับประเทศไทยให้คงอยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ (PWL) โดยระบุว่าประเทศไทยจะต้องทำให้ระบบคุ้มครองสิทธิบัตรเข้มแข็งขึ้นและมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ซึ่งนับจากนี้ประเทศไทยและฟิลิปปินส์จะต้องทำงานร่วมกับสหรัฐและทำให้สหรัฐฯ เห็นความก้าวหน้า จึงจะได้รับการพิจารณาปรับสถานะในการทำรายงานปีหน้า

องค์การหมอไร้พรมแดนได้ออกแถลงการณ์ประนามการจัดอันดับประเทศที่ต้องจับตาในการดำเนินนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาว่า ส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยาจำเป็นของประชาชน

“เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ที่สหรัฐญยังคงข่มขู่ประเทศกำลังพัฒนาที่ปรารถนาจะจัดหายาจำเป็นให้พลเมืองของตนตามสิทธิที่พึงทำได้ตามกฎหมายระหว่างประเทศ แต่สหรัฐฯกลับใช้กฎหมายทางการค้าของตัวเองรังแกประเทศเหล่านี้ตามข้อเรียกร้องที่อุตสาหกรรมยาข้ามชาติต้องการ แม้ว่านั่นจะหมายถึงชีวิตผู้คนหลายล้านที่ต้องการยาชื่อสามัญราคาถูก” เอมี่ แมคลีน ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์เข้าถึงยาจำเป็นองค์การหมอไร้พรมแดน สหรัฐฯกล่าว

ด้านนายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยมูลนิธิเข้าถึงเอดส์กล่าวว่า สหรัฐฯตอบสังคมไม่ได้ถึงความชอบธรรมในการจัดอันดับดังกล่าว ประเทศไทย บราซิล และอินเดีย ประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตยาชื่อสามัญและมุ่งมั่นที่จะจัดหายาจำเป็นเพื่อประชากรของตนเองต่างถูกข่มขู่ หรือจัดอยู่ในบัญชีที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ ขณะที่เอกวาดอร์ประเทศที่เพิ่งประกาศซีแอลกับยาต้านไวรัสสูตรสำรองของแอ๊บบอตก็ถูกขู่เช่นกัน นั่นแสดงให้เห็นว่า ไม่ว่ารัฐบาลไหนจะขึ้นมา ทางการสหรัฐฯ ก็ต้องยึดประโยชน์ของอุตสาหกรรมยาเป็นที่ตั้ง

“สำหรับรัฐบาลไทยคงต้องกลับไปทบทวนให้ดี และควรได้บทเรียนอันล้ำค่าว่า การเป็นเด็กดีของสหรัฐฯ ไม่ได้มีวันได้ขนม ให้เท่าไรก็ไม่พอ จนกว่าไทยจะอยู่ในโอวาททุกอย่าง แม้นั่นจะหมายถึงการแลกชีวิตผู้คนในชาติตัวเองก็ตาม ที่ผ่านมา การถูกจัดอยู่ใน PWL ไม่ได้มีผลกระทบอะไรกับประเทศ แต่หากรัฐบาลและข้าราชการไทยบ้าจี้ไปทำตามข้อเรียกร้องต่างๆของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบแน่นอน ซึ่งทางเครือข่ายภาคประชาสังคมที่ทำงานเรื่องการเข้าถึงยา จะติดตามตรวจสอบการหารือระหว่างผู้แทนการค้าสหรัฐฯ และความเคลื่อนไหวทางนโยบายในกรมทรัพย์สินทางปัญญาให้มากยิ่งขึ้น”

ส่วน ศ.ฌอน เฟลนน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโครงการความเป็นธรรมด้านข้อมูลและทรัพย์สินทางปัญญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอเมริกัน เห็นว่า รายงาน 301 พิเศษยังคงเป็นเครื่องมือของในการโจมตีประเทศที่หาญใช้ความยืดหยุ่นตามข้อตกลงทริปส์เพื่อการเข้าถึงยา แม้ว่าในหลายจุดของรายงานจะเห็นการพัฒนาขึ้น เช่นการเลิกเรียกร้องให้หน่วยงานด้านอาหารและยาทำหน้าที่ตำรวจสิทธิบัตร (Patent Linkage) ซึ่งจะขัดขวางยาชื่อสามัญเข้าสู่ตลาด ประเทศที่ถูกเรียกร้องมาตรการนี้ มีเฉพาะประเทศที่ทำเอฟทีเอกับสหรัฐแล้วเท่านั้น

ด้าน ศ.บรู๊ค เบเกอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยนอร์ทอีสเทิร์น บอสตัน กล่าวว่า นับจากนี้ ต้องระวังแรงกดดันของสหรัฐฯที่จะบังคับให้ประเทศต่างๆ เพิ่มมาตรการทางกฎหมายตรงด่านต่างๆ เพื่อขัดขวางยาชื่อสามัญ ซึ่งจะส่งกระทบต่อผู้ติดเชื้อกว่า 10 ล้านคนที่ต้องพึ่งยาที่ขนส่งจากอินเดีย

ทั้งนี้ นายจอห์น อี บัลดาคซี ผู้ว่าการรัฐเมน สหรัฐฯ ได้ทำหนังสือถึงผู้แทนการค้าสหรัฐฯ แสดงความกังวลที่รัฐบาลกลางสหรัฐฯ ใช้นโยบายการค้าไปกดดันประเทศต่างๆ ห้ามตรึงหรือลดราคายา ทั้งๆที่มีหลายมลรัฐในสหรัฐฯที่ใช้นโยบายนี้ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยา เช่น รัฐเมน และรัฐเวอร์มอนท์

“เราหวังว่า ผู้แทนการค้าสหรัฐฯจะปรับเปลี่ยนนโยบายดังกล่าว” ผู้ว่าการรัฐเมน เกรงว่า ต่อไปนโยบายนี้จะหันกลับมาใช้ในประเทศและบังคับให้แต่ละรัฐยกเลิกการควบคุมราคายา

สำหรับประเทศที่อยู่ใน PWL ประกอบไปด้วย แอลจีเรีย, อาร์เจนติน่า, แคนาดา, ชิลี, จีน, อินเดีย, อินโดนีเซีย, ปากีสถาน, รัสเซีย, ไทย และ เวเนซูเอล่า

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net