Skip to main content
sharethis

 

22 เม.ย. 53 เมื่อเวลาประมาณ 14.30 น. ที่ห้องประชุมศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายสันติวิธีและเครือข่ายสันติประชาธรรมได้แถลงข่าวและออกแถลงการณ์ "ข้อเสนอต่อรัฐบาลและ นปช. เพื่อถอดสลักความรุนแรง"

จากนั้นเวลา 15.30 น. วันที่ 22 เม.ย. เครือข่ายสันติวิธีและเครือข่ายสันติประชาธรรม นำโดย นายโคทม อารียา นายยุกติ มุกดาวิจิตร อารย์คณะสังคมศาสตร์ และมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรมศาสตร์ และนายเกษม เพ็ญภินันท์ อ.อักษรศาสตร์จุฬาฯ เดินทางมาที่หลังเวทีปราศรัยของ นปช. ที่บริเวณแยกราชประสงค์ เพื่อยื่นข้อเสนอต่อ แกนำ นปช. โดยมีนายวีระ มุสิกพงษ์ และนายณัฐวุฒิ ใสยเกือ แกนำ นปช. มารับหนังสือด้วยตัวเอง

โดยเนื้อหาของข้อเสนอของเครือข่ายสันติวิธีและเครือข่ายสันติประชาธรรม มีดังนี้

ข้อเสนอต่อรัฐบาลและ นปช. เพื่อถอดสลักความรุนแรง

หลังจากวิกฤตทางการเมืองและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในวันที่ 10 เมษายน 2553 แล้วนั้น เหตุการณ์ยังไม่ได้คลี่คลายไปในทางที่ดี หากยังมีการเผชิญหน้า ความตึงเครียด และมีโอกาสที่จะเกิดความรุนแรงอีกรอบหนึ่งได้ ขณะนี้รัฐบาลมีความห่วงใยในเรื่องนิติรัฐและการบังคับใช้กฎหมาย การแก้ปัญหาที่เป็นพื้นฐานความขัดแย้ง และการแก้ไขปัญหาทางการเมืองซึ่งคำตอบอาจเป็นการยุบสภาผู้แทนราษฎรในเวลาที่เหมาะสมก็ได้ ส่วนแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้เสนอให้มีการยุบสภาโดยทันทีเพื่อเป็นการคืนอำนาจให้ประชาชน รวมทั้งการแก้ไขปัญหาความยากจนการเลือกปฏิบัติ และความเหลื่อมล้ำในสังคม แม้ทั้งสองฝ่ายอาจเห็นพ้องกันในเรื่องการยุบสภา แต่ยังมีข้อแตกต่างที่สำคัญในเรื่องเงื่อนเวลา องค์กรและกลุ่มที่มีรายชื่อข้างท้ายนี้ จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลและ นปช. เพื่อถอดสลักความรุนแรงดังนี้

1.รัฐบาลควรอธิบายให้ชัดเจนว่า มีภารกิจที่สำคัญประการใดที่จะปฏิบัติให้สำเร็จลุล่วงไปก่อนการยุบสภา เช่น การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในบางมาตรา (ถ้าจำเป็น) การดูแลให้กฎหมายงบประมาณผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา การแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจบางประการ ตลอดจนปัญหากระบวนการทางการเมืองอื่นๆ ทั้งนี้เพื่อขอความเข้าใจจาก นปช. และสังคม ขณะเดียวกันรัฐบาลก็พึงรับฟังข้อเรียกร้องของ นปช. ที่เร่งรัดการยุบสภาด้วย ดังนั้น ระยะเวลาการยุบสภาจึงไม่ควรเกินห้าเดือนหรือก่อนหน้านั้น โดยต้องเร่งรัดภารกิจที่ประสงค์จะกระทำ หรือยกให้เป็นภารกิจระยะยาวต่อไป

2.ทุกฝ่ายพึงร่วมมือกันลดการใช้สื่อสร้างความเกลียดชังและชักนำให้เกิดความรุนแรงและดำเนินการต่างๆ เพื่อให้การเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นหลังการยุบสภา เป็นไปโดยเสรี สุจริต เที่ยงธรรม และทุกฝ่ายยอมรับผล รัฐบาลต้องสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคประชาสังคม ในการสร้างจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสอดส่องดูแลการเลือกตั้ง

3.ทุกฝ่ายพึงปฏิบัติตามกฎหมาย หากผู้ใดถูกกล่าวหาว่าละเมิดกฎหมาย ก็ควรมีโอกาสต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรมปกติ หรือใช้ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์อันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสัจจะและการคืนดีกัน

4.รัฐบาลและ นปช. ควรร่วมมือกันพิสูจน์ความจริง และแสดงความรับผิดชอบ เรื่องการใช้ความรุนแรง บริเวณถนนดินสอและสี่แยกคอกวัวในคืนวันที่ 10 เมษายน 2553 ที่นำมาสู่ความสูญเสียชีวิต 25 คน และบาดเจ็บอีกกว่า 800 คน โดยคณะกรรมการที่เป็นกลางและได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายอย่างแท้จริง

5.รัฐบาลและ นปช. ควรร่วมมือกันและแสวงความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อสรรหาและแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อความเป็นธรรมและการปฏิรูปการเมืองเพื่อทำหน้าที่ในอันที่จะตอบสนองความต้องการพื้นฐาน และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคน ดังนี้
 
• ศึกษาและเสนอแนะการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมืองรวมทั้งการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

• ศึกษาและเสนอแนะการปฏิรูปกฎหมายเพื่อความเป็นธรรมในสังคมและลดช่องว่างระหว่างรายได้ เช่น การปฏิรูปที่ดิน การจัดเก็บภาษีที่ดิน การจัดเก็บภาษีแบบก้าวหน้า ภาษีมรดก ภาษีทรัพย์สิน และภาษีการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อนำมาจัดระบบสวัสดิการของประชาชน และเพื่อลดช่องว่างระหว่างประชาชนในชาติ อันเป็นสาเหตุสำคัญของความแตกแยกในปัจจุบัน

• ส่งเสริมการมีส่วนร่วม การใช้จินตนาการ และความร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาสังคมการเมือง

• สื่อสารกับสังคมอย่างสร้างสรรค์เพื่อสร้างพลังทางสังคมในการแปลงเปลี่ยนความขัดแย้งและการปฏิรูปสังคมการเมือง
 

6. เพื่อถอดสลักความรุนแรงที่กำลังเผชิญหน้าสังคมในขณะนี้ รัฐบาลและ นปช. จะต้องรีบประกาศให้ความเห็นชอบในหลักการกับข้อเสนอข้างต้น โดยรัฐบาลจะหยุดมาตรการเชิงรุกใดๆ เพื่อเตรียมยกเลิกประกาศการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ลดการชุมนุมที่อาจนำไปสู่การกระทบกระทั่งกันระหว่างผู้ชุมนุมต่างกลุ่ม และ นปช. พร้อมจัดระเบียบและย้ายที่ชุมนุม เพื่อนำไปสู่การชุมนุมโดยสงบและสลายการชุมนุมไปในที่สุด แล้วจัดตั้งคณะกรรมการร่วมที่มีหน้าที่พิจารณาทำความตกลงในรายละเอียดต่างๆ ต่อไป

เครือข่ายและองค์กรผู้ร่วมลงนาม
เครือข่ายสันติประชาธรรม
เครือข่ายสันติวิธี
เครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี
เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน
ศูนย์ข่าวสารสันติภาพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล
สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.)
มูลนิธิสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

วันที่ 22 เมษายน 2553 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net