Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

                20 (+5) ศพ เป็น "ราคา" ที่ "แพงเกินไป" ที่จ่ายไปแล้ว กับสิ่งที่อาจจะได้มา คือยุบสภา หรือแม้แต่อภิสิทธิ์ออก (อาจจะไม่ได้อะไรเลยก็ได้) การที่ยังชุมนุมเสี่ยงชีวิตต่อไปอีกนี่เพื่ออะไรนะครับ? "ขาดทุน" ด้วยชีวิตคนเพิ่มมากขึ้นไปอีก?

                                                                     สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล (มติชนออนไลน์, 20 เม.ย.53)

และคำถามทิ้งท้ายในกระทู้เดียวกันนี้ของอาจารย์สมศักดิ์ คือ

                ใครที่คิดว่า ถ้าชุมนุมต่อ แล้วบีบให้ยุบสภา หรือแม้แต่ให้อภิสิทธิ์ออกได้ จะทำให้ถือได้ว่า การชุมนุมนี้เป็น "ชัยชนะ" ลองให้เหตุผลให้ผมดูหน่อยเถอะว่า การยุบสภา (และอภิสิทธิ์อาจจะออก) นี่มันมีคุณค่าสูงกว่า 20(+5) ชีวิตที่เสียไปอย่างไร? (ถามโดยยังไม่ต้องรวมถึงชีวิตที่อาจจะเสียไปอีกด้วยซ้ำ)

พลตรีจำลอง ศรีเมือง ให้สัมภาษณ์ ASTV ว่า

                “ถ้ารัฐบาลเข้มแข็ง ใช้กฎอัยการศึกจัดการกับคนเสื้อแดงซึ่งมีผู้ก่อการร้ายอยู่ในนั้น ผมรับรองว่าคนหมื่นสองหมื่นทหารสามารถสลายเรียบร้อยภายในสองชั่วโมง”

หากการสูญเสียชีวิต 25 ศพ (และอาจจะ +…) คือ ความพ่ายแพ้ของฝ่ายเสื้อแดงและเป็นความพ่ายแพ้ของรัฐบาลด้วย การเรียกร้องให้รัฐบาลใช้กองกำลังทหารสลายการชุมนุม กระทั่งใช้กฎอัยการศึกจัดการขั้นเด็ดขาดกับคนเสื้อแดงจำนวนมากที่ราชประสงค์ ของพันธมิตรฯ เสื้อสีชมพู เสื้อหลากสี คนสีลม ฯลฯ ก็คือการเร่งความพ่ายแพ้ให้มากขึ้นๆ จนไม่กล้าจินตนาการ

ความพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้นแล้ว (25 ศพ และบาดเจ็บอีกนับพัน) หรือความพ่ายแพ้เกินจินตนาการที่อาจเกิดตามมา คือผลพวงของความพ่ายแพ้ของสังคมไทยที่สั่งสมต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน เช่น

1. ความพ่ายแพ้ของชนชั้นนำในกลุ่มอำนาจตามจารีตเก่า ที่ไม่ยอมเรียนรู้และปรับตัวให้ทันความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยและสังคมโลก ชนชั้นนำกลุ่มนี้ประกอบด้วยคนชั้นสูง อำมาตย์ ทหาร เครือข่ายธุรกิจกลุ่มทุนเก่า สื่อ และนักวิชาการสายอนุรักษ์นิยม

พวกเขายังยึดมั่นในจินตนาการ “ความเป็นไทย” ภายใต้ความมั่นคงของสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ซึ่งมีลักษณะ “รวมศูนย์” ของอำนาจ อุดมการณ์ ความเชื่อ ความจงรักภักดี ไม่ยอมรับรู้ความเปลี่ยนแปลงทางความคิดที่มีจินตนาการความเป็นไทย ที่เปลี่ยนไปว่า “ความเป็นไทยคือความเป็นสังคมประชาธิปไตย” ที่มีเสรีภาพ ความเสมอภาค ความเป็นธรรมมากขึ้น แก่ “ทุกคน” ที่เป็น “ประชาชน” ของประเทศเหมือนๆ กัน

หรือความเป็นไทยที่มี “ประชาชนเป็นศูนย์กลาง” ของอุดมการณ์ อำนาจ ฉันทานุมัติในประเด็นสาธารณะต่างๆ อย่างอิสระ ไม่ถูกครอบงำ กำกับ ยัดเยียด เบี่ยงเบน โดยอำนาจอื่นใดที่ไม่ยึดโยงกับอำนาจของประชาชน

แต่บรรดาชนชั้นนำในกลุ่มอำนาจเก่าไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ เพราะกลัวการสูญเสียอำนาจและผลประโยชน์ที่เคยมี พวกเขาจึงพยายามกระทำทุกอย่างเพื่อสร้างภาพให้เห็นว่า ความคิดที่เปลี่ยนไปของสังคมไทยนั้นเป็นเรื่องอันตราย และพร้อมที่จะใช้กองกำลังทหาร (ที่กินเงินเดือนจากภาษีของประชาชน) จัดการกับประชาชนที่ออกมาเรียกร้องให้สังคมเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่พ้นไปจากอำนาจครอบงำกำกับของพวกเขา

ซึ่งในที่สุดแล้ว ความพยายามของชนชั้นนำกลุ่มนี้จะเร่งให้พวกเขาพ่ายแพ้เร็วขึ้น และเป็นความพ่ายแพ้บนความแตกแยกของคนในชาติ แต่ในระยะยาวคนในชาติจะตาสว่าง เข้มแข็งขึ้น และพวกเขาจะไม่มีวันชนะเหมือนในอดีตอีกต่อไป เพราะความรุ่งเรืองในอดีตย่อมคู่ควรกับอดีต ไม่อาจคู่ควรกับอนาคตที่มนุษย์ศรัทธาต่อเสรีภาพและความเสมอภาคเหนืออื่นใด

2. ความพ่ายแพ้ของชนชั้นนำกลุ่มทุนใหม่ ที่แม้พวกนี้จะอยู่ฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยก้าวหน้า ทุ่มทุนสนับสนุนการต่อสู้ของคนเสื้อแดง แต่พวกเขายังยึดติดอยู่ในอำนาจและผลประโยชน์ส่วนตัวมากเกินไป ต้องการชัยชนะเฉพาะหน้าทางการเมืองมากเกินไป ตามไม่ทันความคิดที่ก้าวหน้าในเรื่องการออกแบบกติกาประชาธิปไตยและโครงสร้างสังคมที่เป็นธรรม ให้ความสำคัญกับการปกป้อง “ชีวิต” ของประชาชนน้อยไป จึงไม่ได้มุ่งสร้างกระบวนการต่อสู้เพื่อ “ชัยชนะทางความคิด” อย่างแท้จริง

พวกเขาจึงเอาแต่เร่งเกมไปสู่ความสูญเสียและพ่ายแพ้ แต่ถึงเขาชนะทางการเมือง ทำให้เกิดการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ได้เสียงส่วนใหญ่ตั้งรัฐบาล หากเขายังตามไม่ทันความคิดที่ก้าวหน้าของประชาชน เขาก็จะพ่ายแพ้แม้ต่อประชาชนที่เคยสนับสนุน

3. ความพ่ายแพ้โดยรวมของสังคม หรือความพ่ายแพ้ของทุกสถาบันในสังคมที่มีจุดยืนและบทบาทผิดเพี้ยนไปจากหลักการ อุดมการณ์ และครรลองประชาธิปไตย ทำให้สถาบันเหล่านั้นลดความน่าเชื่อถือในสังคมลงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน พูดอะไรไม่มีใครฟัง เพราะเข้าตัวเอง เอียงไปตามอคติ มีมีพฤติกรรมพูดอย่างทำอย่างที่ใครๆก็รู้ทัน เพราะความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสารยุคโลกาภิวัตน์ บวกกับการที่คนรุ่นใหม่มีความคิดเป็นอิสระจากการชี้นำของความคิดแนวจารีตนิยมมากขึ้น

ฉะนั้น ทุกสถาบันในสังคม ไม่ว่าจะเป็นสถาบันกษัตริย์ ศาสนา กองทัพ มหาวิทยาลัย นักวิชาการ สื่อมวลชนล้วนแต่ถูกตั้งคำถามจากสังคมทั้งสิ้น สถาบันเหล่านี้ไม่อาจชี้นำ “ความถูกต้อง” ให้ประชาชน “เชื่อถือร่วมกัน” ได้อีกต่อไป เพราะล้วนแต่ตามไม่ทัน มีท่าทีกลัว กีดกัน ขัดขวางความก้าวหน้าทางความคิด ความต้องการการเปลี่ยนแปลง

หรือไม่สามารถตอบสนอง “อย่างสร้างสรรค์” (เช่น เปิดใจกว้าง เปิดพื้นที่ให้ความคิดฝ่ายก้าวหน้าได้แสดงต่อสาธารณะ และหรือร่วมถกเถียงแลกเปลี่ยนอย่างฉันมิตร ฯลฯ) ต่อความก้าวหน้าทางความคิด ความต้องการความเปลี่ยนแปลงที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น มีความเป็นธรรมมากขึ้น ทั้งที่คนชั้นกลางระดับล่าง และคนชั้นล่างของสังคมตื่นตัว และเดินนำไปก่อนแล้ว

(เช่น ความคิดของคนอย่าง “ยายไฮ ขันจันทา” เป็นความคิดที่ก้าวหน้ากว่าศาสตราจารย์บางคนของมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศนี้ เพียงแต่พวกเขามี “พื้นที่สื่อ” อธิบายความคิดของตนเองน้อยเกินไปเท่านั้นเอง)

การสั่งสมความพ่ายแพ้ โดยการกีดกัน ขจัดความความคิดที่ก้าวหน้า ด้วยการปิดสื่อ การเร่งเกมไปสู่ความรุนแรงและการสูญเสีย จึงเป็นบทบาทเก่าๆ ของ “ชนชั้นนำ” กลุ่มเดิมๆ และกลุ่มใหม่ (ที่แตกออกมาจากกลุ่มเดิม) บวกกับการสนับสนุนอย่างมืดบอดของนักวิชาการ สื่อ และคนมีการศึกษาในสังคมเมือง นี่คือสภาพความพ่ายแพ้โดยรวมของสังคมไทย!

เหยื่อของความพ่ายแพ้ คือ คนชั้นกลางระดับล่าง คนชนบทที่เรียกร้องความเป็นธรรม และพวกเขาจำเป็นต้องได้รับความเป็นธรรม ความเสมอภาคในความเป็นคน จากการต่อสู้เพื่อให้ประเทศมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น!

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net