Skip to main content
sharethis

แม้ชาวไทย, ผู้ดำรงชีวิตอยู่ในห้วงแห่งวิกฤติที่พาดผ่านราชอาณาจักรตั้งแต่ 2549, เสียหายไปเล็กน้อย... การเผชิญหน้าหลักยังดำรงอยู่ระหว่าง “เสื้อเหลือง”, ราชานิยม ผู้ปกป้องชนชั้นนำอำมาตย์และชนชั้นนำทางธุรกิจ แห่งกรุงเทพฯ กับ “เสื้อแดง”, ชาวชนบท ผู้ใช้แรงงาน คนที่หวลระลึกถึงทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และรวมไปถึงคนรักประชาธิปไตยผู้ไม่ยอมรับความชอบธรรมทางการเมืองของเหล่าชนชั้นนำที่ครองอำนาจอยู่

แต่ยังต้องนับรวม “เสื้อชมพู”, สีเหลืองแปลงร่างตั้งแต่พวกเขาถูกตั้งข้อสังเกตว่ามีเจตนารมณ์รุนแรงตกขอบเกินไป ต้องรวม “แตงโม”, “เขียวนอกแดงใน”, ทหารในเครื่องแบบที่ถูกสงสัยว่าเป็น “สีแดง” ผู้ตะขิดตะขวงใจในการร่วมปราบปราม ต้องรวมข่าวลือเรื่อง “เสื้อดำ”, กลุ่มกองกำลังไม่ทราบฝ่ายผู้ลั่นไกในเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน (เสียชีวิต 25 ราย) ต้องรวมการชุมนุมล่าสุดของ “เหลือง-ชมพู” หรือที่บางคนเรียกกันว่า “หลากสี” หรือเรียกให้ดูเจ้าบทเจ้ากลอนกว่านั้นว่า “สีรุ้ง” เพื่อ “สันติภาพระหว่างสี” สาวน้อยคนหนึ่งท่าทางอ่อนล้าตัดรำคาญด้วยการบอกเสียเลยว่า “ตาบอดสี”

ถ้าสงครามแห่งสีเป็นบ่อเกิดของเสียงหัวเราะ มันก็นำพามาซึ่งวิกฤติซ้ำแล้วซ้ำเล่า และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเผยถึงความแตกแยกร้าวลึกในสังคม เบื้องหลังความลึกลับของประชาชนเป็นหนึ่งเดียว เบื้องหลังขององค์อธิปัตย์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ภูมิพลอดุลยเดช ผู้น่าเคารพสักการะ, 82 พรรษา, ครองราชย์ 64 ปี เบื้องหลังการเมืองที่ขับเคลื่อนภายใต้การควบคุมของเหล่าทหารเสือราชินีแห่งรัฐประหาร ประเทศไทยได้แตกสลายเป็นเสี่ยง

ฝ่าย “สีแดง” ซึ่งชุมนุมในกรุงเทพฯตั้งแต่ 14 มีนาคม เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พ้นจากตำแหน่ง และให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พวกเขากู่ร้องตะโกนด้วยความโกรธ บนเสื่อแห่งการคัดค้าน, ซึ่งยึดครองพื้นที่เขตการค้าย่านราชประสงค์, ความทุกข์ยากลำเค็ญนอนแผ่เหยียดยาวอยู่ระหว่างห่อข้าวกับภาพถ่ายของทักษิณ และความคุ้มคลั่งปวดร้าวฟาดเข้าไปยังชนชั้นนำและระบบการเมือง-การทหารก็เป็นที่โต้เถียงกันอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

“เราต้องการประชาธิปไตย และมีชีวิตที่ดี” วิชา พวงแก้ว จากหมู่บ้านแห่งแม่ฮ่องสอน ในภาคเหนือกล่าว เขาเป็นกรรมกรในอาคารแห่งหนึ่ง ได้เงิน 300 บาท (7 ยูโร) ต่อเดือน เขาเสียดายรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ไม่เพียงเพราะว่ารัฐบาลนี้มาจากการเลือกตั้ง แต่เพราะ “แม้ทักษิณจะคอรร์รัปชั่น แต่เราก็มีชีวิตที่ดี” อดีตนายกรัฐมนตรี มหาเศรษฐีพันล้านมากอำนาจ ได้ริเริ่มนโยบายสังคมอย่างที่ประเทศนี้ไม่เคยรู้จักมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ธนาคารอย่างสะดวก นโยบายสุขภาพที่ให้คนไทยแต่ละคนได้รับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยเงิน 30 บาท

หลังการจากไปของทักษิณผู้ลี้ภัยอยู่ต่างแดนนับแต่รัฐประหาร 2549 นโยบายเหล่านี้ไม่ได้หยุดไป แต่รัฐบาลถูกโจมตีเรื่องขาดความชอบธรรม ตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจ ช่องว่างระหว่างเมืองหลวงและชนบทยิ่งถ่างออกกว้างขึ้น ความหยิ่งผยองของชนชั้นนำถูกป่าวร้องไปทั่ว การกระจายความมั่งคั่งไม่ปรากฏ

พระพงศ์ปรา ขันธะวีโร จากเลย จังหวัดหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าร่วมกับ “สีแดง” ด้วยความเมตตาต่อประชาชน “ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นปัญหาเรื่องการขาดความยุติธรรม” พระพงศ์ปรารำพึงรำพัน “สีแดงคือไพร่ของสังคมไทย” ชายในผ้าเหลืองผู้นี้หวังเช่นเดียวกับสีแดงทุกคน คือ ความยุติธรรม และความเสมอภาค

อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ที่ “เหลือง” “ชมพู” และ “หลากสี” รวมตัวกันอยู่เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลและกองทัพจัดการคนเสื้อแดง บรรยากาศแบบคนเมืองอย่างยิ่ง ผ่อนคลาย แต่กลับมีถ้อยคำที่โจมตีอย่างหนักหน่วง “คนเสื้อแดงทำลายชาติ” โอพิศ ผ่องภู่ นักกฎหมาย กล่าว “พวกเขายากจน ไร้การศึกษา ถูกใช้ ไม่มีความคิดอะไรเลยกับสิ่งซึ่งเป็นประชาธิปไตย พวกเขามาจากชนชั้นล่าง” จักกฤษณ์ นักศึกษา กล่าวข่ม

“คนเสื้อแดงจุดประเด็นท้าทายอย่างแท้จริงให้แก่สังคมนี้” ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ อาจารย์รัฐศาสตร์ ผู้ร่วมลงชื่อจดหมายเปิดผนึกของนักวิชาการอิสระกลุ่มสนับสนุนเสื้อแดง เพื่อเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งใหม่ “ต้องไม่ประเมินคนเสื้อแดงต่ำเกินไป ในคนเสื้อแดง ไม่ได้มีแต่คนยากคนจนจากชนบทภาคเหนือ แต่มีคนกรุงเทพฯและชนชั้นกลางจำนวนมากร่วมด้วย ทักษิณได้เปิดพื้นที่การเมืองให้แก่ชนชั้นนำใหม่ กลุ่มทุนใหม่ เขาได้เริ่มต้นปฏิวัติระบบ...”

แม้อาจเปลี่ยนแปลงมากไปบ้างและผิดพลาดบ้าง ทักษิณได้มีส่วนเปิดม่านที่ปกคลุมรอยร้าวของประเทศไทยซึ่งกังวลถึงความอยู่ดีมีสุขของคนไทย กังวลถึงบทบาททางจารีตประเพณีที่ตกทอดมายาวนานของกษัตริย์อันใช้ได้น้อยลง “สีเหลือง” ได้มีส่วนช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่การก่อตั้งของอำนาจซึ่งไม่ชอบธรรม และสีแดงมีส่วน, วันนี้, เปิดม่านด้วยการไม่ยอมทนอีกต่อไปของพวกเขา

แม้เสี่ยงอันตราย วิชาจะอยู่กรุงเทพฯกับมิตรสหายเสื้อแดงต่อไปจนกว่ารัฐบาลจะออกไป เอาเข้าจริง หากกล่าวอย่างอนุโลม เขาเดินทางไปกลับ 3 ครั้งแล้วเพื่อ “ดูว่าเมียของผมยังอยู่ที่บ้าน” เขาสารภาพพร้อมรอยยิ้มแหยๆ

ประเทศไทยค้นพบว่าตนเองไม่ได้สมัครสมานสามัคคี และบางทีอาจกลับมาสมานฉันท์กันไม่ได้อีกนาน และการปลดปล่อยเรื่องการพูด, ซึ่งโจมตีกระทบต่อรัฐบาล กองทัพ และบางครั้งรวมถึงวังด้วย, ไม่อาจย้อนกลับมาแก้ไขได้อีกแล้ว เสรีภาพนี้ ความลุ่มหลงนี้ นำมาทั้งความยินดีและความน่ากลัว และความไม่แน่นอนอย่างแท้จริงในอนาคต
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net