Skip to main content
sharethis

กูเกิลเปิดตัวเลขจำนวนครั้งที่รัฐบาลประเทศต่างๆ ขอให้ลบเนื้อหา หรือขอข้อมูลผู้ใช้จากกูเกิล เพื่อแสดงความโปร่งใส แจงอาจไม่ได้ให้ภาพรวม เพราะข้อมูลมีความซับซ้อน โดยที่น่าสนใจคือ จีน ซึ่งไม่ระบุจำนวนครั้งที่มีการขอให้ลบเนื้อหา โดยกูเกิลชี้แจงว่าจีนให้เป็นความลับระดับชาติ

http://www.google.com/governmentrequests/


เมื่อวันที่ 20 เม.ย. กูเกิลเปิดเว็บไซต์ Government requests (http://www.google.com/governmentrequests/) แสดงจำนวนครั้งที่รัฐบาลประเทศต่างๆ ขอให้กูเกิลลบเนื้อหาจากผลการค้นหาของกูเกิลหรือผลิตภัณฑ์ของกูเกิล เช่น ยูทูบ (YouTube) และการขอข้อมูลบัญชีผู้ใช้กูเกิล เพื่อแสดงความโปร่งใส โดยวางแผนจะปรับปรุงข้อมูลทุกๆ 6 เดือน

อย่างไรก็ตาม กูเกิล ระบุว่า ตัวเลขเหล่านี้อาจไม่สมบูรณ์ และไม่ได้แสดงถึงภาพรวมของคำร้องขอจากรัฐบาลต่างๆ เนื่องจากบางคำขอเป็นการขอให้ลบเนื้อหาจำนวนมาก หรือขอข้อมูลบัญชีผู้ใช้มากกว่าหนึ่งรายการ ขณะที่อาจมีคำขอหลายครั้งที่ให้ลบเนื้อหาเดียวกัน หรือขอข้อมูลจากบัญชีผู้ใช้รายเดียวกัน ด้วยความซับซ้อนของคำขอเหล่านี้ จำนวนที่แสดงไว้จึงไม่สะท้อนจำนวนเนื้อหาที่ถูกขอให้ลบ หรือจำนวนบัญชีผู้ใช้ที่ถูกขอข้อมูล

นอกจากนี้ ในรายงานเบื้องต้นนี้ยังไม่ได้ให้รายละเอียดด้วยว่า กูเกิลยอมทำตามหรือคัดค้านคำขอหรือไม่ แม้ว่ากูเกิลจะแสดงข้อมูลเปอร์เซ็นต์ที่ยอมทำตามคำขอก็ตาม แต่ก็ยังหาวิธีแสดงข้อมูลเกี่ยวกับการยอมทำตามคำขอข้อมูลผู้ใช้ ในทางที่น่าจะเป็นประโยชน์ไม่ได้ แต่ก็วางแผนที่จะทำในอนาคต

ทั้งนี้ จากข้อมูลระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม - 31 ธันวาคม 2552 พบว่า ประเทศที่ขอข้อมูลผู้ใช้บริการมากที่สุดในโลกคือ บราซิล 3,663 ครั้ง ตามด้วยสหรัฐอเมริกา 3,580 ครั้ง และสหราชอาณาจักร 1,166 ครั้ง ส่วนประเทศไทยไม่ปรากฎว่ามีการขอข้อมูลนี้

ส่วนประเทศที่มีการขอให้ลบเนื้อหามากที่สุด คือ ประเทศบราซิล 291 ครั้ง ตามด้วยเยอรมนี 188 ครั้ง และอินเดีย 142 ครั้ง ขณะที่ประเทศไทยระบุว่า น้อยกว่า 10 ครั้ง ทั้งนี้ สาธารณรัฐประชาชนจีน มีเพียงเครื่องหมาย "?" พร้อมคำอธิบายว่า รัฐบาลจีนต้องการให้การขอเซ็นเซอร์เป็นความลับระดับชาติ

กูเกิลระบุว่า สำหรับบราซิลและอินเดียซึ่งมีคำขอจากรัฐบาลให้ลบเนื้อหาจำนวนมาก เกิดจากความนิยมในการใช้งานเว็บออกัต (http://www.orkut.com/) ซึ่งเว็บไซต์เครือข่ายทางสังคมของกูเกิล โดยส่วนมากเป็นคำขอให้ลบเนื้อหา ซึ่งเป็นการแอบอ้างชื่อและการหมิ่นประมาท

ส่วนเยอรมนี ส่วนใหญ่เป็นคำขอโดยคำสั่งศาลในประเด็นหมิ่นประมาท นอกจากนี้ กูเกิลยังได้รับบัญชียูอาร์แอลจากหน่วยงานคุ้มครองเยาวชน รัฐบาลกลาง ให้ลบเว็บที่มีเนื้อหาละเมิดกฎหมายคุ้มครองเยาวชนของเยอรมนี เช่น พูดถึงความทรงจำเกี่ยวกับนาซี สื่อลามกและเนื้อหาที่มีความรุนแรง โดยราว 11% ที่เยอรมนีขอให้ลบเนื้อหาเป็นเนื้อหาที่สนับสนุนลัทธินาซี หรือสนับสนุนการปฎิเสธการสังหารหมู่ (Holocaust) ซึ่งขัดกับกฎหมายเยอรมัน

 

 


ที่มา: http://www.google.com/governmentrequests/ และ http://googleblog.blogspot.com/2010/04/greater-transparency-around-government.html


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net