Skip to main content
sharethis

อาจารย์อานันท์บอกว่าอาจารย์ไม่ใส่เสื้อสีอะไรทั้งนั้น และก็ไม่คิดจะร่วมกับผู้ชุมนุมเสื้อแดงด้วย แต่อาจารย์เป็นหนึ่งใน 155 นักวิชาการที่เสนอให้มีการยุบสภาภายในสามเดือน และเป็นนักวิชาการที่ใช้เวลาอย่างยาวนานแล้วเรียกร้องให้นักต่างๆ ที่ศึกษาสังคมรู้จักคิด “เชิงซ้อน” ดังนั้นจึงน่าสนใจถึงจุดยืนและข้อเสนอเพื่อหาทางออกต่อวิกฤติการเมืองและสังคมไทยในเวลานี้

อาจารย์มองประเด็นทางการเมืองในเชิงซ้อน คือมีทั้งการเมืองในสภาและการเมืองภาคประชาชนซ้อนกันอยู่ ดังนั้นในช่วงเวลานี้ แม้การเสนอให้ยุบสภาคืนอำนาจให้กับประชาชนจะเป็นทางออกทางหนึ่งของวิกฤติการเมือง แต่มันไม่เพียงพอ เพราะเพียงตอบโจทย์การเมืองในสภาและแก้ปัญหาความไม่ชอบธรรมในที่มาของรัฐบาลเท่านั้น ซึ่งปัญหานี้ไม่ใช่ประเด็นใหญ่เมื่อเทียบกับข้อเสนออีกสองข้อที่เสื้อแดงเรียกร้อง นั่นคือเรื่องโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมในสังคมและเรื่องสองมาตรฐาน ซึ่งเรื่องนี้ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการยุบสภา

 

แล้วอะไรที่จะตอบโจทย์เรื่องโครงสร้างความไม่เป็นธรรมในสังคมและสองมาตรฐานได้ล่ะอาจารย์?

ก็เช่นการปฏิรูปการถือครองที่ดิน พรบ.ป่าชุมชน หรือแม้แต่เรื่องโฉนดชุมชน อันนี้เป็นตัวอย่างอันหนึ่งที่ชาวบ้านมีอำนาจในการจัดการทรัพยากรของตัวเอง ในชีวิตจริงๆของเขาเอง

 

แล้วยังไงต่อล่ะคะอาจารย์…ตอนนี้สถานการณ์คือมีการสลายการชุมนุมแล้วนะ?

ใช่ แต่ก็ยังมีการชุมนุมอยู่ เราเองต้องถือโอกาสนี้ ในช่วงลูกผีลูกคนอยู่นี้ให้เป็นประโยชน์ โดยการต่อรองให้พรรคการเมืองแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าวเสียก่อนที่จะให้มีการยุบสภา เพราะหากยุบสภาแล้วไม่มีทางที่พรรคการเมืองที่จัดตั้งรัฐบาลได้จะมาแก้ปัญหาเรื่องนี้  

 

เพราะอะไรคะ

เพราะเราเห็นมาทุกยุคทุกสมัยแล้ว นักการเมืองพอก้าวขึ้นสู่อำนาจแล้วมันไม่มาทำเรื่องการแก้ปัญหาโครงสร้างความไม่เป็นธรรมหรอก

 

แต่ข้อเรียกร้องเสื้อแดงแค่ให้ยุบสภาก็ยากจะแย่แล้วนะ

ผมถึงบอกไงว่าการชุมนุมแบบที่เสื้อแดงนี้ไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้  สภาน่ะภายในปีนี้ก็ต้องยุบแน่นอน ที่สำคัญกว่านั้นคือเรื่องที่ต้องทำก่อนการยุบสภา

 

แล้วกลไกการเคลื่อนไหวอะไรละคะที่จะทำให้เป็นจริงขึ้นมา?

ก็การเมืองภาคประชาชนไง นักวิชาการต้องสนับสนุนการเมืองภาคประชาชน มากกว่าที่จะมาพูดซ้ำกับม็อบเสื้อแดง ถ้าเช่นนั้นแล้วนักวิชาการก็เป็นแค่เบี้ยตัวหนึ่งที่รับใช้การเมืองของพรรคการเมืองเท่านั้น พอพวกเขาชนะการเลือกตั้ง ก็ไม่ได้แก้ปัญหาโครงสร้างความไม่เป็นธรรมทางสังคมอีกต่อไป เห็นมาเยอะแล้ว

 

(มีอีกเสียงหนึ่งมาขอแจมถามด้วยความสงสัย) อาจารย์กำลังแยกการเมืองภาคประชาชนออกจากการเมืองของกลุ่มคนเสื้อแดงที่อยู่ที่กรุงเทพเหรอคะ ทั้งๆที่ทั้งสองส่วนอาจจะเป็นกลุ่มคนๆ เดียวกันและก็เผชิญปัญหาเหมือนกันก็ได้?

(กลุ่มเสื้อแดงที่กรุงเทพฯ) รูปแบบอาจดูเป็นการเมืองภาคประชาชน แต่เนื้อหาข้อเรียนร้องต่างๆ ยังคงแนบแน่นกับการเมืองของพรรคการเมือง

 

แล้วภาคปฏิบัติขั้นเริ่มต้นสำหรับการเมืองภาคประชาชนที่เสนอให้มีการแก้ปัญหาโครงสร้างความไม่เป็นธรรมที่อาจารย์คิดในเวลานี้คืออะไร?

การผลักดันให้มีการปรับแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างบางประการเท่าที่จะทำได้เช่นออกกฎหมายเพื่อให้คนจนได้เข้าถึงทรัพยากรได้มากขึ้นเช่นที่ได้บอกไปแล้ว เป็นต้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net